ประเทศไทย
ประเทศไทย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐชาติอันตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดิมมีชื่อว่า "สยาม" รัฐบาลประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2482 ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีเนื้อที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร[9] และมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก คือ ประมาณ 70 ล้านคน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าทางทิศเหนือและตะวันตก ประเทศลาวทางทิศเหนือและตะวันออก ประเทศกัมพูชาทางทิศตะวันออก และประเทศมาเลเซียทางทิศใต้ กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินและนครใหญ่สุดของประเทศ และการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบเป็น 76 จังหวัด[10] แม้จะมีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ในปี 2475 แต่กองทัพยังมีบทบาทในการเมืองไทยสูง โดยมีรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557
ราชอาณาจักรไทย | |
---|---|
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | กรุงเทพมหานคร 13°45′N 100°29′E / 13.750°N 100.483°E |
ภาษาราชการ | ไทย[1] |
ภาษาถิ่น | |
กลุ่มชาติพันธุ์ (2562)[2] |
|
ศาสนา (2566)[3] |
|
เดมะนิม | ชาวไทย |
การปกครอง | รัฐเดี่ยว ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (โดยนิตินัย) ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา (โดยพฤตินัย) |
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
แพทองธาร ชินวัตร | |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภา |
• สภาสูง | วุฒิสภา |
• สภาล่าง | สภาผู้แทนราษฎร |
สถาปนา | |
1792 – 1981 | |
1893 – 7 เมษายน 2310 | |
6 พฤศจิกายน 2310 – 6 เมษายน 2325 | |
6 เมษายน 2325 | |
24 มิถุนายน 2475 | |
6 เมษายน 2560 | |
พื้นที่ | |
• รวม | 513,120 ตารางกิโลเมตร (198,120 ตารางไมล์) (อันดับที่ 50) |
0.4 (2,230 ตารางกิโลเมตร) | |
ประชากร | |
• 2566 ประมาณ | 71,715,119[4] (อันดับที่ 20) |
• สำมะโนประชากร 2553 | 64,785,909[5] (อันดับที่ 21) |
132.1 ต่อตารางกิโลเมตร (342.1 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 88) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | 2567 (ประมาณ) |
• รวม | 1.644 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 23) |
• ต่อหัว | 23,401 ดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 74) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | 2567 (ประมาณ) |
• รวม | 548.890 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 26) |
• ต่อหัว | 7,812 ดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 88) |
จีนี (2564) | 35.1[7] ปานกลาง |
เอชดีไอ (2565) | 0.803[8] สูงมาก · อันดับที่ 66 |
สกุลเงิน | บาท (฿) (THB) |
เขตเวลา | UTC+7 (ICT) |
รูปแบบวันที่ | วว/ดด/ปปปป (พ.ศ.) |
ขับรถด้าน | ซ้ายมือ |
รหัสโทรศัพท์ | +66 |
รหัส ISO 3166 | TH |
โดเมนบนสุด |
พบหลักฐานการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันตั้งแต่ 20,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวไทเริ่มอพยพเข้าสู่บริเวณนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 แล้วเข้ามาตั้งแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่สำคัญได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านนาและอาณาจักรอยุธยา นักประวัติศาสตร์มักถือว่าอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย ต่อมาอาณาจักรอยุธยาค่อย ๆ เรืองอำนาจมากขึ้นจนเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 แทนจักรวรรดิเขมร อาณาจักรอยุธยาสามารถผนวกสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนได้ การติดต่อกับชาติตะวันตกเริ่มด้วยผู้แทนทางทูตชาวโปรตุเกสในปี พ.ศ.2054 การสงครามกับพม่า(อาณาจักรพุกามในขณะนั้น) นำไปสู่การเสียกรุงในปี พ.ศ.2112 แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพในเวลา 15 ปี อาณาจักรรุ่งเรืองอย่างมากในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หลังจากนั้นค่อย ๆ เสื่อมอำนาจโดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการผลัดแผ่นดินที่มีการนองเลือดหลายรัชกาล จนสุดท้ายกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายสิ้นเชิงในปี 2310 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงรวบรวมแผ่นดินที่แตกออกเป็นก๊กต่าง ๆ และสถาปนาอาณาจักรธนบุรีที่มีอายุ 15 ปี ความวุ่นวายในช่วงปลายอาณาจักรนำไปสู่การสำเร็จโทษพระองค์โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาณาจักรสามารถรับมือกับภัยคุกคามจากชาติใกล้เคียง แต่หลังรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา ชาติตะวันตกเริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคเป็นอย่างมาก นำไปสู่การเข้าเป็นภาคีแห่งสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมหลายฉบับเริ่มจากสนธิสัญญาเบาว์ริง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระนั้น สยามไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกชาติใด มีการปรับให้สยามทันสมัยและรวมอำนาจปกครองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี 2460 ในปี 2475 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก สมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยไม่เสียเลือดเนื้อ คณะราษฎรมีบทบาทนำทางการเมือง และในพุทธทศวรรษ 2480 นายกรัฐมนตรี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายชาตินิยมเข้มข้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยเข้ากับฝ่ายอักษะ แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการประกาศสงคราม[11] จนในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐซึ่งสนับสนุนรัฐบาลทหาร รัฐประหารที่มีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นหัวหน้าคณะในปี 2500 นำประเทศเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารอย่างเบ็ดเสร็จ รัฐบาลฟื้นฟูพระราชอำนาจและดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ผลของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้เกิดประชาธิปไตยระบบรัฐสภาช่วงสั้น ๆ[12] แต่หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และรัฐประหารปี 2519 ทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่เผด็จการทหารและ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงปรับปรุงให้ ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2531[13] หลังพุทธทศวรรษ 2540 มีวิกฤตการเมืองระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรมาจนปัจจุบัน รวมทั้งเกิดรัฐประหารสองครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดในปี 2557 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560
ประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เอเปก และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน (จากอาเซียน ที่ตั้งของการประชุมโดยเป็นกรุงเทพมหานครเป็นเมืองก่อตั้ง) ประเทศไทยเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สนธิสัญญาซีโต้ในปี 2497 ถือเป็นประเทศอำนาจนำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอำนาจปานกลางในเวทีโลก[14]: 104 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-สูงและประเทศอุตสาหกรรมใหม่ มีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและบริการ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้มีการอพยพเข้าสู่เมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตามประมาณการในปี 2562 จีดีพีของประเทศไทยมีมูลค่าราว 516,662 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใหญ่เป็นอันดับที่ 25 ของโลก
ชื่อเรียก
ชาวต่างชาติเรียกอาณาจักรอยุธยาว่า "สยาม" เมื่อราวปี 2000[15]: 73 ยอร์ช เซเดส์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เขียนว่ามีการพาดพิงทาสหรือเชลยศึกซีเอม (Syam) ในจารึกอาณาจักรจามปาในคริสต์ศตวรรษที่ 11[16]: 190–191, 194–195 ทว่าคนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า "สยาม" หรือ "ชาวสยาม" เลย[17] ส่วนคำว่า "คนไทย" นั้น จดหมายเหตุลาลูแบร์ได้บันทึกไว้ชัดเจนว่า ชาวอยุธยาเรียกตนเองเช่นนั้นมานานแล้ว[15]: 217
เดิมประเทศไทยเคยใช้ชื่อว่า สยาม มาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยปรากฏใช้เป็นชื่อประเทศชัดเจนในปี 2399[18] ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 1 เปลี่ยนชื่อประเทศ พร้อมกับเรียกประชาชน และสัญชาติจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" ซึ่งจอมพล ป. ต้องการบอกว่าดินแดนนี้เป็นของชาวไทยมิใช่ของเชื้อชาติอื่นตามลัทธิชาตินิยมในเวลานั้น[19]: 57–8 ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อประเทศกลับเป็นสยามอีกช่วงสั้น ๆ เมื่อปี 2488 และเปลี่ยนกลับมาใช้ว่าไทยอีกครั้งเมื่อปี 2491 ซึ่งเป็นช่วงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ยังเปลี่ยนจาก "Siam" ในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เป็น "Thaïlande" ในภาษาฝรั่งเศส และ "Thailand" ในภาษาอังกฤษอย่างในปัจจุบัน[17] อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ
ในความหมายอย่างเคร่งครัด คำว่า "ไทย" หมายถึงประเทศไทยในช่วงหลังการเปลี่ยนชื่อประเทศหลังปี 2482 โดยเว้นช่วงสั้น ๆ ที่เปลี่ยนกลับไปเป็นชื่อ "สยาม" ระหว่างปี 2488–91 ดังกล่าวข้างต้น ทว่าในความหมายอย่างกว้าง คำว่า "ไทย" อาจใช้หมายถึงราชอาณาจักรทั้งหลายซึ่งนักประวัติศาสตร์กระแสหลักถือเป็นราชธานีของคนไทยตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคหินเก่าอย่างน้อยราว 20,000 ปี[21]: 4 พบหลักฐานการปลูกข้าวเก่าแก่สุดเมื่อ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล[20]: 4 ยุคสำริดเกิดขึ้นระหว่าง 1,250–1,000 ปีก่อนคริสตกาลโดยคาดว่ารับมาจากตอนใต้ของจีน[20]: 4 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในจังหวัดอุดรธานีจัดเป็นศูนย์การผลิตทองแดงและสำริดเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[22] ประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาลเริ่มปรากฏการใช้เหล็ก[20]: 5 อาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรแรกสุดและทรงอำนาจที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจริญขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล[21]: 5 ต่อมา ชาวมอญอาศัยช่วงที่ฟูนันเสื่อมลงตั้งอาณาจักรของตน คือ อาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรหริภุญชัยในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ส่วนชาวเขมรตั้งอาณาจักรใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ที่อังกอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 9[21]: 7 อาณาจักรตามพรลิงก์เป็นรัฐมลายูที่ควบคุมการค้าผ่านช่องแคบมะละกาที่ทรงอำนาจที่สุด เจริญขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 10[21]: 5
ไทยสยามจัดอยู่ในกลุ่มชาวไท (Tai people) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียแผ่นดินใหญ่ โดยมีภาษาร่วมกัน[23]: 2 หลักฐานจีนบันทึกถึงชาวไทครั้งแรกในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล เดิมมีแนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไทอยู่หลายแนวคิด เดวิด เค. วัยอาจ (David K. Wyatt) ระบุว่าบรรพบุรุษของชาวไทในประเทศลาว ไทย พม่า อินเดียและจีนปัจจุบันเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแถบเดียนเบียนฟูในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8[23]: 6 ราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 เริ่มมีคนไทมาอยู่อาศัยในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันซึ่งในเวลานั้นมีอาณาจักรมอญและเขมรอยู่[24] ทำให้วัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย มอญและเขมร[25]
อาณาจักรสุโขทัยและแคว้นต่าง ๆ
เมื่อจักรวรรดิขแมร์และอาณาจักรพุกามเสื่อมอำนาจเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทำให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน อาณาจักรของชาวไทกินอาณาบริเวณตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียปัจจุบันจนถึงทิศเหนือของลาว และลงไปถึงคาบสมุทรมลายู[23]: 38–9 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีประชากรชาวไทอาศัยอยู่มั่นคงในอดีตดินแดนแกนกลางของอาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรลพบุรี จนถึงดินแดนนครศรีธรรมราช แต่ไม่มีบันทึกรายละเอียดการเข้ามาของชาวไท[23]: 50–1 ประมาณคริสต์ทศวรรษ 1240 (ประมาณปี 1780) พ่อขุนบางกลางหาวรวบรวมกำลังกบฏต่อเขมร และราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์สุโขทัยพระองค์แรก[23]: 52–3 อาณาจักรสุโขทัยแผ่ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จรดน่านและหลวงพระบางทางทิศเหนือ นครศรีธรรมราชทางทิศใต้ พุกามและมะตะบันทางทิศตะวันตก[23]: 55 อย่างไรก็ดี อาณาเขตอันกว้างใหญ่นี้น่าจะเกิดจากการสวามิภักดิ์ของเจ้าท้องถิ่นมากกว่า[23]: 55–6 นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประดิษฐ์อักษรไทย มีเครื่องดินเผาสวรรคโลกเป็นสินค้าออกสำคัญ แต่เสถียรภาพของอาณาจักรได้อ่อนแอลงภายหลังการสวรรคตของพระองค์ ในรัชกาลพญาลิไท อาณาจักรรับอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์
ส่วนเหนือขึ้นไป พญามังรายซึ่งสืบราชสมบัติหิรัญนครเงินยางเชียงราว ทรงตั้งอาณาจักรล้านนาขึ้นในปี 1839 มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ ทรงรวบรวมแว่นแคว้นขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำปิง พระมหากษัตริย์ล้านนาล้วนสืบเชื้อสายจากพระองค์ต่อเนื่องกันกว่าสองศตวรรษ และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการแต่งงานกับเจ้าเมืองต่าง ๆ จรดแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออกและเหนือแม่น้ำโขงขึ้นไป[26]: 8 ส่วนบริเวณเมืองท่าบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีการตั้งสหพันธรัฐในบริเวณเพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรีและอยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ 11[26]: 8
อาณาจักรอยุธยาและธนบุรี
อาณาจักรอยุธยากำเนิดจากลพบุรีและสุพรรณบุรีที่อยู่ใกล้เคียง พระเจ้าอู่ทองทรงก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 1893 ในเขตเมืองอโยธยาเดิม[27]: 4 การปกครองของอาณาจักรอยุธยามีลักษณะเป็นเครือข่ายราชรัฐและจังหวัดบรรณาการที่สวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์อยุธยาตามระบบมณฑล[28]: 355 เนื่องจากขาดกฎสืบราชสมบัติ เมื่อใดที่มีการผลัดแผ่นดินจะมีเจ้าหรือขุนนางทรงอำนาจยกทัพเข้าเมืองหลวงเพื่ออ้างสิทธิ์ทำให้เกิดการนองเลือดบ่อยครั้ง[29] การขยายอาณาเขตช่วงแรกอาศัยการพิชิตดินแดนและการอภิเษกทางการเมือง[27]: 17 ในปี 1912, 1931 และ 1974 อาณาจักรอยุธยายกทัพไปตีเมืองพระนคร (นครธม) เมืองหลวงของจักรวรรดิขแมร์ ได้ทั้งสามครั้ง[27]: 26 ทำให้อาณาจักรอยุธยาเป็นมหาอำนาจแทนจักรวรรดิขแมร์ การเข้าแทรกแซงสุโขทัยอย่างต่อเนื่องทำให้สุโขทัยตกเป็นประเทศราชและส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาตามลำดับ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ ซึ่งบางส่วนได้ใช้มาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[27]: 31 และทรงสถาปนาระบบศักดินา ก่อให้เกิดระบบไพร่ซึ่งเป็นแรงงานเกณฑ์ให้ราชการปีละหกเดือน[30]: 107 อย่างไรก็ดี การพยายามขยายอำนาจไปยังรัฐสุลต่านมะละกาทางใต้[21]: 11, 13 และอาณาจักรล้านนาไม่ประสบความสำเร็จ
การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี 2054 ทำให้กรุงศรีอยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตก[30]: 131 การชิงความเป็นใหญ่ระหว่างอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรพม่าเหนือเชียงใหม่และมอญทำให้ทั้งสองขัดแย้งกัน[27]: 5 ขณะเดียวกัน ราชวงศ์ตองอูของพม่าเริ่มมีอำนาจมากขึ้น กระทั่งขยายดินแดนมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง หลังจากนั้น กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรตองอูในปี 2112[30]: 146–7 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้เวลา 15 ปีสร้างภาวะครอบงำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่ง[26]: 11
จากนั้น กรุงศรีอยุธยายังมุ่งเพิ่มความสัมพันธ์กับชาติยุโรปต่อมาอีกหลายรัชกาล[30]: 164–5 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอยุธยารุ่งเรืองขึ้นอย่างมากในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส ฮอลันดา และอังกฤษ ผู้เดินทางชาวยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ยกอาณาจักรอยุธยาว่าเป็นสามมหาอำนาจแห่งเอเชียร่วมกับจีนและอินเดีย[20]: ix อิทธิพลของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยาที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความเกลียดกลัวต่างชาติ จนลงเอยด้วยการปฏิวัติในปี 2231[30]: 185–6 อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์กับชาติยุโรปอื่นยังเป็นปกติและต่อมาบาทหลวงฝรั่งเศสก็กลับมามีอิสระในการเผยแผ่ศาสนา[30]: 186
อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมอำนาจลงราวพุทธศตวรรษที่ 24 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถือเป็น "สมัยบ้านเมืองดี" ในกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย[27]: 84 ความขัดแย้งภายในติด ๆ กันหลายรัชกาล และการสงครามกับราชวงศ์คองบอง (อลองพญา) จนส่งผลให้เสียกรุงครั้งที่สองเมื่อปี 2310 ซึ่งก่อนหน้านั้นกรุงศรีอยุธยาว่างเว้นจากศึกสงครามมากว่า 150 ปี[31]: 22 หลังจากนั้นบ้านเมืองแตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่ารวมทั้งสิ้น 5 ก๊ก ในปีเดียวกัน เจ้าตากได้รวบรวมไพร่พลขับไล่พม่า และย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี พระองค์ทรงรวบรวมแผ่นดินให้อยู่ภายใต้พระองค์ ด้านสงครามภายนอก กองทัพธนบุรีสามารถขับไล่พม่าออกจากล้านนาได้ในปี 2319[30]: 225 และยึดกรุงเวียงจันทน์ได้ในปี 2321[30]: 227–8 อาณาจักรธนบุรีมีอายุเพียง 15 ปีและสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว หลังเกิดความขัดแย้งช่วงปลายรัชกาล พระองค์และพระราชโอรสทั้งหลายทรงถูกสำเร็จโทษโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325
กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นและสมัยอาณานิคม
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรุงรัตนโกสินทร์สามารถป้องกันการเข้าตีของพม่าครั้งใหญ่ในปี 2328 และยุติการบุกครองของพม่า ก่อนพระองค์สวรรคตสามารถสถาปนาอำนาจปกครองเหนือพื้นที่ไพศาลอันเป็นที่ตั้งของประเทศลาวและกัมพูชาปัจจุบัน[32] ในปี 2364 จอห์น ครอว์เฟิร์ดถูกส่งมาเจรจาความตกลงการค้าฉบับใหม่กับกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นสัญญาณแรกของปัญหาที่จะครอบงำการเมืองสยามในคริสต์ศตวรรษที่ 19[33] ในปี 2369 กรุงเทพมหานครลงนามสนธิสัญญาเบอร์นี หลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่หนึ่งยุติลงด้วยชัยของอังกฤษ[30]: 281 ปีเดียวกัน เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ทรงก่อกบฏเพราะเข้าพระทัยว่าอังกฤษจะบุกกรุงเทพมหานคร แต่ถูกปราบปราม[30]: 283–5 ผลทำให้กรุงเวียงจันทน์ถูกทำลาย รวมทั้งมีการกวาดต้อนชาวลาวข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ในเขตที่ราบสูงโคราชจำนวนมาก[30]: 285–6 กรุงเทพมหานครยังทำสงครามแย่งชิงอิทธิพลเหนือกัมพูชากับญวน ทำให้กรุงเทพมหานครกลับมามีอิทธิพลเหนือกัมพูชาอีกครั้ง[30]: 290–2
ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สยามพยายามทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ภายในราชอาณาจักรให้อยู่ในฐานะอาณานิคม[30]: 308 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยตระหนักถึงภัยคุกคามจากชาติตะวันตก ราชสำนักจึงติดต่อรัฐบาลอังกฤษโดยตรงเพื่อลดความตึงเครียด[30]: 311 ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษส่งเซอร์จอห์น เบาริ่งเข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งเป็นสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมฉบับแรก ๆ อันนำมาสู่การทำสนธิสัญญากับชาติอื่นด้วยเงื่อนไขที่คล้ายกัน หากก็นำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานครและการค้าระหว่างประเทศ[34] การเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันของพระองค์ด้วยโรคมาลาเรียทำให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ สืบราชสมบัติทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการ[30]: 327
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรวมศูนย์อำนาจ ตั้งสภาช่วยราชการ การเลิกทาสและไพร่อันเป็นการยกเลิกระบบแรงงานเกณฑ์[30]: 329–30 วิกฤตการณ์วังหน้าในปี 2417 ทำให้ความพยายามปฏิรูปต้องหยุดชะงัก[30]: 331–3 ในคริสต์ทศวรรษ 1870–80 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้นโยบายผนวกหัวเมืองเหนือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร และต่อมาได้ขยายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้[30]: 334–5 ในปี 2430 มีการตั้งกรมจำนวน 12 กรมซึ่งต่อมาเป็นกระทรวงต่าง ๆ[30]: 347 ในปี 2436 เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เนื่องจากความขัดแย้งกับฝรั่งเศสทำให้มีการเรียกร้องเอาดินแดนลาวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง[30]: 350–3 ฝรั่งเศสและบริเตนตกลงให้สยามเป็นรัฐกันชนระหว่างเจ้าอาณานิคมทั้งสอง[35] ล่วงเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 20 สยามมุ่งเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริงรวมทั้งสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ต้องแลกมาด้วยการแลกเปลี่ยนดินแดนหลายครั้ง[30]: 358–9 ต่อมามีการเริ่มระบบมณฑลเทศาภิบาลซึ่งเป็นการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่[30]: 362–3 ในปี 2448 เกิดกบฏในหัวเมืองปัตตานีโบราณ อุบลราชธานี และแพร่เพื่อต่อต้านความพยายามลดทอนอำนาจของเจ้าผู้ปกครองท้องถิ่น[30]: 371–3
ในปี 2454 เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งคณะนายทหารพยายามล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช[30]: 397 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบโต้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อจนสิ้นรัชกาล[30]: 402 ทรงเผยแพร่แนวพระราชดำริว่าด้วยชาติไทย[30]: 404 ในปี 2460 รัฐบาลประกาศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยถือฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อตัดความกังวลที่ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรอาจจัดการกับประเทศเป็นกลางและต้องการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมต่าง ๆ[30]: 407 ผลทำให้สยามได้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพที่แวร์ซาย มีอำนาจอิสระในการเก็บภาษีและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต[30]: 408
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็น
สืบจากปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และราคาข้าวตกลงอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีการลดรายจ่ายภาครัฐอย่างมากทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่อภิชน[21]: 25 วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรนำปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาททางการเมือง ปลายปี 2476 เกิดกบฏบวรเดช ซึ่งหวังเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราช แต่ล้มเหลว[30]: 446–8 ปี 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลจึงทรงสละราชสมบัติในปี 2478 สภาผู้แทนราษฎรเลือกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์[30]: 448–9
เดือนธันวาคม 2481 พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาปราบปรามศัตรูทางการเมืองรวมทั้งต่อต้านราชวงศ์อย่างเปิดเผย[30]: 457 รัฐบาลมีแนวคิดชาตินิยมและปรับให้เป็นตะวันตก และเริ่มดำเนินนโยบายต่อต้านจีนและฝรั่งเศส[21]: 28 วันที่ 23 มิถุนายน 2482 มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" ในปี 2484 เกิดสงครามขนาดย่อมขึ้นระหว่างวิชีฝรั่งเศสกับไทย ทำให้ไทยได้ดินแดนเพิ่มจากลาวและกัมพูชาช่วงสั้น ๆ[30]: 462 วันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นบุกครองไทย และรัฐบาลลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐและสหราชอาณาจักร[30]: 465 มีการตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นทั้งในและต่างประเทศเพื่อต่อต้านรัฐบาลและการยึดครองของญี่ปุ่น[30]: 465–6 หลังสงครามยุติในปี 2488 ประเทศไทยลงนามความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงครามกับสหราชอาณาจักร
ในเดือนมิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างเป็นปริศนา และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดชทรงสืบราชสมบัติต่อมา รัฐประหารปี 2490 โดยฝ่ายนิยมเจ้าและทหารทำให้คณะราษฎรหมดอำนาจทางการเมือง และเข้าสู่ยุค "การเมืองสามเส้า" ในระหว่างปี 2490 ถึง 2500 โดยแปลก, สฤษดิ์ ธนะรัชต์, และเผ่า ศรียานนท์ คานอำนาจกัน ในปี 2497 ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโต้) เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ[30]: 493 ในปี 2500 ฝ่ายนิยมเจ้าและอนุรักษนิยมรัฐประหารโดยมีจอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้า จอมพลสฤษดิ์ปกครองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขาสร้างความชอบธรรมโดยตอกย้ำสภาพสมมติเทพของกษัตริย์ และผูกโยงความจงรักภักดีต่อรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์[30]: 511 รัฐบาลมุ่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา[30]: 514 และในปี 2504 หลังสหรัฐเข้าสงครามเวียดนาม เกิดสัญญาลับซึ่งสหรัฐให้การคุ้มครองไทย[30]: 523
สงครามเวียดนามเร่งให้เกิดการทำให้ทันสมัยและการกลายเป็นตะวันตกของสังคมไทย มีการอพยพจากชนบทสู่เมืองเพื่อหางาน ชาวนาในชนบทเกิดสำนึกเรื่องชนชั้นและรวมตัวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2507[30]: 528 การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการศึกษาทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีการศึกษา มีรายได้พอสำหรับการให้การศึกษาแก่บุตร และสามารถเปลี่ยนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้[30]: 534 ในเดือนตุลาคม 2514 มีการชุมนุมใหญ่ต่อต้านเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร และมีการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต[30]: 541–3 ที่เรียก "เหตุการณ์ 14 ตุลา" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีนับว่าพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรงครั้งแรกนับแต่ปี 2475[12] ผลของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดประชาธิปไตยระบบรัฐสภาช่วงสั้น ๆ[12] ที่มักเรียกว่า "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน"
ร่วมสมัย
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมทั้งการแพร่หลายของวรรณกรรมคอมมิวนิสต์[30]: 544, 546 ในช่วงนั้นรัฐบาลผสมหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชไม่มั่นคงและคอมมิวนิสต์ชนะทั้งในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา[30]: 547 สถาบันพระมหากษัตริย์ ชนชั้นนำและชนชั้นกลางจำนวนมากมองว่านักศึกษาฝ่ายซ้ายถูกคอมมิวนิสต์ชี้นำ ทำให้มีการสนับสนุนองค์การฝ่ายขวาต่าง ๆ[30]: 548 ปลายปี 2519 เกิดการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน "เหตุการณ์ 6 ตุลา"[30]: 548–9 เป็นการปิดฉากการทดลองทางประชาธิปไตย กองทัพกลับเข้ามามีอำนาจ และการแสดงออกถูกปิดกั้น[30]: 549 หลังจากนั้น รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร "กลับไปใช้อำนาจนิยมยิ่งกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช"[30]: 552 นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายหนีเข้าป่าและออกนอกประเทศจำนวนมาก รัฐบาลเริ่มเสียการสนับสนุนจากกองทัพ จนมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในปี 2520[30]: 552–3 รัฐบาลใหม่ของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่สามารถรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาผู้ลี้ภัยและการปะทะตามชายแดนกับเวียดนามทำให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน[23]: 553–4
การสู้รบกับคอมมิวนิสต์ยุติลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อปี 2523[19]: 60 รัฐบาลสามารถนำผู้ก่อการเริบกลับเข้าสู่สังคมและจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ในปี 2526[30]: 557 พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีแปดปีในระบอบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ซึ่งมีสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งและวุฒิสภาที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2531[13] ได้แก่ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เขาดูแลกองทัพที่เป็นพวกของตน ทำให้กองทัพอีกฝ่ายยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 นำโดยพลเอก สุจินดา คราประยูร ทีแรกเขาให้สัญญาว่าจะไม่รับอำนาจทางการเมืองแต่สุดท้ายเขาตระบัดสัตย์และเข้าเป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่[23]: 572–3 ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล เกิดการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิต เรียกเหตุการณ์นี้ว่า "พฤษภาทมิฬ" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรับสั่งให้พลเอกสุจินดาและพลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ประท้วง เข้าเฝ้า แล้วหลังจากนั้นพลเอกสุจินดาก็ลาออก
ปี 2540 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เรียกว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ยุติการเติบโตทางเศรษฐกิจ 40 ปีติดต่อกัน[36]: 3 ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง[30]: 576 รัฐบาลชวน หลีกภัยทำข้อตกลงกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ แต่ปัญญาชนหลายคนโจมตีว่าเป็นกองทุนช่วยเหลือคนรวย และไม่สนใจการฉ้อราษฎร์บังหลวง[30]: 576 ต่อมา ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 นโยบายของเขาประสบความสำเร็จในการลดความยากจนในชนบท[37] และริเริ่มระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า[38] ซึ่งทำให้เขาได้รับฐานเสียงขนาดใหญ่ในหมู่คนยากจน[39] ในปี 2547 เกิดคลื่นสึนามิพัดถล่มภาคใต้และเริ่มต้นความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้อีกครั้ง ในปี 2548 ทักษิณชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง โดยมีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดเป็นประวัติการณ์[40] ตั้งแต่ปลายปี 2548 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ประท้วงขับไล่เขาออกจากตำแหน่ง สุดท้ายมีรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณในเดือนกันยายน 2549 รัฐบาลทหารปกครองประเทศหนึ่งปีจนมีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปี 2550
พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปี 2550 และจัดตั้งรัฐบาล ต่อมา พธม. จัดการชุมนุมใหญ่ในปี 2551 ซึ่งมีการปิดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรครัฐบาล 3 พรรค หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ ชุมนุมประท้วงรัฐบาลในปี 2552 และ 2553 ซึ่งครั้งหลังนี้ยุติลงด้วยการเข้าสลายการชุมนุมของทหารทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70 คน ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง และเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล ในปีเดียวกัน เกิดมหาอุทกภัย มีพื้นที่ประสบภัย 65 จังหวัด นับเป็น "อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ"[41]
ปลายปี 2556 เกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ มีสาเหตุหลักจากสภาผู้แทนราษฎรผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ[42] เกิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้ง วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพยึดอำนาจการปกครองประเทศ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองพยายามจัดโครงสร้างการเมืองเพื่อสงวนอำนาจของอภิชน เพิ่มบทบาทและอำนาจของกองทัพขณะที่ลดอำนาจของประชาสังคมและการปกครองส่วนท้องถิ่นจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีการวางแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี และให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้ดำเนินการ[43]: 281–2 ซึ่งทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคที่กองทัพชี้นำประชาธิปไตย[44] หลังพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตในปี 2559 และเข้าสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กองทัพก้าวเข้ามาเป็นผู้ชี้นำการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ในช่วงหลังเปลี่ยนรัชกาลใหม่[43]: 286 ต่อมาในปี 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับล่าสุด หลังการลงประชามติเมื่อปีก่อน
หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติครองอำนาจยาวนานถึง 5 ปี 1 เดือน 3 สัปดาห์ 3 วัน คสช.ก็ยอมให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ผลทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา ในปี 2563 เริ่มเกิดการประท้วงในประเทศต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ตลอดจนมาตรการรับมือการระบาดทั่วของโควิด-19 ของรัฐบาล ในการประท้วงนั้นมีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์[45] รวมทั้งมีกระแสสาธารณรัฐนิยมมากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน[46]
ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายทหารสองพรรค[ต้องการอ้างอิง] ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เป็นอดีตประธานยุทธศาสตร์พรรค และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (อดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เป็นหัวหน้าพรรค ส่งผลให้พรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งกลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน
ภูมิประเทศ
ประเทศไทยตั้งอยู่กลางคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังอยู่บนคาบสมุทรมลายูด้วย อยู่ระหว่างละติจูด 5° ถึง 21° เหนือ และลองติจูด 97° ถึง 106° ตะวันออก มีพรมแดนด้านตะวันออกติดประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้เป็นแดนต่อแดนประเทศมาเลเซียและอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดประเทศพม่าและลาว มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 51 ของโลกและอันดับที่ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนีเซียและเมียนมาร์ ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล (maritime zone) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 กว่า 323,488 ตารางกิโลเมตร มีความยาวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามันรวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ รวมความยาวชายฝั่งทะเลในประเทศไทยทั้งสิ้น 3,148 กิโลเมตร[47]
ประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ภาคเหนือเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน จุดสูงที่สุดในประเทศไทย คือ ดอยอินทนนท์ ณ 2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล[48] รวมทั้งยังปกคลุมด้วยป่าไม้อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของที่ราบสูงโคราช สภาพของดินค่อนข้างแห้งแล้งและไม่ค่อยเอื้อต่อการเพาะปลูก ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งเกิดจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านที่ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ภาคกลางเป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด และถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก[19]: 103 ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรมลายู[49]: 22 ขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน มีจุดที่แคบลง ณ คอคอดกระ แล้วขยายใหญ่เป็นคาบสมุทรมลายู ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ส่วนภาคตะวันตกเป็นหุบเขาและแนวเทือกเขาซึ่งพาดตัวมาจากทางตะวันตกของภาคเหนือ
ภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของไทยส่วนใหญ่เป็นแบบ "ภูมิอากาศร้อนชื้นเขตร้อนหรือสะวันนา" ตามการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิปเปน[50] ส่วนปลายใต้สุดและตะวันออกสุดของประเทศมีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 18–34 °C[51]
ประเทศไทยมี 3 ฤดูกาล ฤดูแรกเป็นฤดูฝนหรือฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม) ฝนตกหนักที่สุดในเดือนสิงหาคมและกันยายน[52]: 2 ฤดูหนาวหรือฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีอากาศแห้งและอุณหภูมิไม่ร้อนมาก ยกเว้นภาคใต้ที่มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน[52]: 2 ส่วนฤดูร้อนหรือฤดูก่อนมรสุมกินเวลาตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคมซึ่งมีอากาศร้อน สำหรับภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลางและตะวันออกของประเทศไทย เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี ปกติอุณหภูมิมักสูงถึง 40 °C ยกเว้นพื้นที่ชายฝั่ง ในทางตรงข้าม การพัดของลมเย็นจากประเทศจีนทำให้อุณหภูมิต่ำลง ซึ่งบางกรณีอาจเข้าใกล้หรือต่ำกว่า 0 °C ได้[52]: 3 ภาคใต้มีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกลางคืนและระหว่างฤดูกาลน้อยเนื่องจากอิทธิพลของทะเล[52]: 3
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนตกเฉลี่ยทั้งปี 1,200 ถึง 1,600 มิลลิเมตร[52]: 4 แต่ในบางพื้นที่ที่เป็นฝั่งรับลมของภูเขา เช่น จังหวัดระนองและจังหวัดตราดมีปริมาณฝนกว่า 4,500 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนบริเวณแห้งแล้งคือฝั่งรับลมของหุบเขาภาคกลางและส่วนเหนือสุดของภาคใต้ซึ่งมีปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตร[52]: 4 ในภาคใต้ ฝนตกหนักเกิดทั้งในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีมากสุดในเดือนกันยายนในฝั่งตะวันตก และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคมในฝั่งตะวันออก[52]: 4
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกเดือด[53] มีอากาศร้อนในฤดูหนาว[54] รวมถึงมีปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากเอลนีโญ[55] ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะสุขภาพของประชากรไทยโดยรวม[56]
ความหลากหลายทางชีวภาพ
ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์อยู่มาก อันเป็นรากฐานอันมั่นคงของการผลิตในภาคเกษตรกรรม และประเทศไทยมีผลไม้เมืองร้อนหลากชนิด[19]: 103 พื้นที่ราว 29% ของประเทศเป็นป่าไม้ รวมไปถึงพื้นที่ปลูกยางพาราและกิจกรรมปลูกป่าบางแห่ง[57] ประเทศไทยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 50 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 56 แห่ง โดยพื้นที่ 12% ของประเทศเป็นอุทยานแห่งชาติ (ปัจจุบันมี 110 แห่ง) และอีกเกือบ 20% เป็นเขตป่าสงวน[57] ประเทศไทยมีพืช 15,000 สปีชีส์ คิดเป็น 8% ของสปีชีส์พืชทั้งหมดบนโลก[58] ในประเทศไทย พบนก 982 ชนิด นอกจากนี้ ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 1,715 สปีชีส์ซึ่งมีการบันทึก[59]
การลักลอบล่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ยังเป็นปัญหาสำคัญ นักล่ามักฆ่าสัตว์อย่างเสือโคร่ง เสือดาวและแมวใหญ่อื่นเพื่อเอาหนัง มีการเลี้ยงหรือล่าสัตว์หลายชนิดรวมทั้งเสือโคร่ง หมี จระเข้และงูจงอางเพื่อเอาเนื้อ แม้การค้าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ผิดกฎหมาย แต่ตลาดนัดจตุจักรในกรุงเทพมหานครยังขึ้นชื่อเรื่องการขายสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อยู่[60]
การเมืองการปกครอง
ราชธานีของคนไทยแต่โบราณล้วนปกครองระบอบราชาธิปไตยตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา มีการรวมอำนาจปกครองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบตะวันตก ครั้นวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงราชย์ตั้งแต่ปี 2559 ทรงถูกจำกัดพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญและมีสถานภาพเป็นประมุขแห่งรัฐในทางพิธีการ ทรงเป็นจอมทัพไทย กฎหมายบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงมีอำนาจแต่งตั้งรัชทายาท พระราชทานอภัยโทษ และพระราชทานพระบรมราชานุญาต อย่างไรก็ดี พระมหากษัตริย์ยังมีการแทรกแซงการเมืองไทยโดยตรงอยู่เป็นระยะ[a] และรัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยได้ตามประเพณี พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ และความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศ ทั้งนี้ มีผู้อธิบายพระราชอำนาจตามประเพณีหรือโดยพฤตินัยว่า "แม้ว่าพระราชอำนาจดังกล่าวจะมิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม แต่ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้าใจตรงกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่จริง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นพระราชอำนาจส่วนที่สำคัญที่สุดในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน"[61]: 461 ทัศนคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของชาวไทยแตกต่างกันไปตามรัชกาล[62][63]
ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ นับเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในทวีปเอเชีย ประเทศไทยขาดเสถียรภาพทางการเมืองสูงและมีรัฐประหารหลายครั้ง รัฐธรรมนูญมักถูกเปลี่ยนโดยผลของรัฐประหาร ประเทศไทยมีรัฐประหารมากที่สุดในโลกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย[64] ในปี 2558 "ประเทศไทยมีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศไทยเป็นเวลา 55 ปี จาก 83 ปีนับแต่ล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475"[65] รัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งผลพวงจากเหตุการณ์นั้นทำให้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564
ในทางพฤตินัย ปัจจุบันประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์การเมืองระบุว่าระบอบดังกล่าวมาจากการเลือกตั้งที่มีข้อบกพร่องและเป็นการสืบทอดอำนาจของกองทัพ[66] รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ระบุว่า ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หรือใช้ว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยกำหนดรูปแบบองค์กรบริหารอำนาจทั้งสามส่วนดังนี้
- อำนาจนิติบัญญัติ มีรัฐสภาซึ่งใช้ระบบสภาคู่เป็นผู้ใช้อำนาจ ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก 500 คนจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน มีวาระ 4 ปี โดยการเลือกตั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2566 และวุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งจำนวน 250 คน ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญมาตรา 269 มีวาระ 5 ปี รัฐสภายึดระบบเวสต์มินสเตอร์ และใช้สัปปายะสภาสถานเป็นที่ประชุม
- อำนาจบริหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขแห่งอำนาจและเป็นหัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา[เชิงอรรถ 1] และรัฐมนตรีอื่นไม่เกิน 35 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรบริหารอำนาจ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง
- อำนาจตุลาการ มีระบบศาล ซึ่งประกอบด้วยศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง เป็นองค์กรบริหารอำนาจ มีประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประมุขในส่วนของตน
กองทัพและอภิชนข้าราชการประจำควบคุมพรรคการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ปี 2489 ถึงคริสต์ทศวรรษ 1980 (ประมาณปี 2523)[67]: 16 พรรคการเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่มีความเป็นสถาบัน (institutionalize) ต่ำและแทบทั้งหมดมีอายุสั้น[68]: 246 ระหว่างปี 2535–2549 ประเทศไทยมีระบบพรรคการเมืองเป็นแบบสองพรรคหลัก[68]: 245 และมีแนวโน้มเป็นระบบพรรคเดียว (พรรคไทยรักไทย) มากขึ้นจนถึงปี 2549[68]: 244
ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 37 วันนับเป็นผู้บัญชาการทหารบกไทยคนที่ 11 ที่ได้ดำรงตำแหน่งหรือมีอำนาจเทียบเท่านายกรัฐมนตรี ก่อนที่รัฐสภาจะคืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่ พลเอกประยุทธ์ในเวลาต่อมาถึงแม้จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 แต่รัฐบาลยังคงรักษาการต่อไปอีก ส่งผลให้ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566 "ประเทศไทยมีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศไทยเป็นเวลา 63 ปี 3 เดือน จาก 91 ปีนับแต่ล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475[69]
อย่างไรจำนวนปีดังกล่าวไม่นับ ร้อยตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะซึ่งไม่ได้เป็นทหารอาชีพหลายตำราจึงให้เป็นนายกพลเรือนมากกว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากทหารหากนับจะเพิ่มเป็น 65 ปี 11 เดือน จาก 91 ปี จึงสรุปได้ว่าหากรวมร้อยตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่มียศทหารครองอำนาจร้อยละ 72 จากระยะเวลาทั้งหมด 91 ปี
อนึ่ง ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร 11 รายซึ่งสามรายจากสิบเอ็ดรายเป็นพลเรือน อาทิ ธานินทร์ กรัยวิเชียร อานันท์ ปันยารชุน พจน์ สารสิน โดยได้รับตำแหน่งภายหลังรัฐประหาร ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารหรืออดีตทหารที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารด้วยเช่นกัน อาทิ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และ ร้อยตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
พรรคการเมืองซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ชัยชนะของพรรคที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของตลอด 22 ปี ได้พ่ายแพ้เป็นครั้งแรกโดยพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ
อย่างไรก็ตามพรรคที่ทักษิณเป็นเจ้าของได้จัดตั้งรัฐบาลโดยเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งเป็นพรรคทหารที่ก่อการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557สร้างความตกใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมากเนื่องจากพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารกลับนำพรรคการเมืองที่มีส่วนในการรัฐประหารเชิญเข้าร่วมรัฐบาลและพร้อมเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้แก่บุคคลสำคัญของพรรค นับเป็นการตระบัดสัตย์อีกครั้งหนึ่งของบุคคลที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงเพื่อที่จะได้คะแนนเสียงจากวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12ที่มาจากทหารในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น
การแบ่งเขตการปกครอง
ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีการจัดระเบียบราชการออกเป็นสามระดับ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น การปกครองส่วนภูมิภาคจัดระเบียบเป็น 76 จังหวัด โดยจังหวัดเป็นการแบ่งเขตการปกครองระดับบนสุด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล[10] ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและปลัดอำเภอมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลกลาง จังหวัดล่าสุดของประเทศไทย คือ จังหวัดบึงกาฬซึ่งแยกจากจังหวัดหนองคายในปี 2554 ประเทศไทยมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล เมืองและนครรวม 7,852 แห่ง[70] สำหรับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ สำหรับปริมณฑลและภูมิภาคไม่ใช่การแบ่งเขตการปกครองตามกฎหมาย ทั้งนี้ มีการแบ่งประเทศไทยออกเป็น 4 ถึง 6 ภาค แล้วแต่แหล่งอ้างอิง
แผนที่ประเทศไทยแบบคลิกได้ เมื่อคลิกที่ชื่อจังหวัดแล้วจะลิงก์ไปบทความจังหวัดนั้น ๆ
การแบ่งจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยออกเป็น 6 ภาค ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2478[71]
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
อาณาจักรโบราณของไทยมีความสัมพันธ์เป็นรัฐบรรณาการของจีน ส่วนความสัมพันธ์กับรัฐใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่จะเน้นการรวบรวมอาณาจักรของคนไทซึ่งรวมทั้งสุโขทัย ล้านนา นครศรีธรรมราช และล้านช้าง ส่วนความสัมพันธ์กับพม่าและเวียดนามเป็นไปในลักษณะการทำสงครามเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ โดยมีการแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือกัมพูชากับเวียดนามตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนความสัมพันธ์ด้านการค้านั้น กรุงศรีอยุธยามีการค้าขายกับชาติในเอเชียและตะวันตกและเป็นเมืองท่าสำคัญ
นับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศสยามเผชิญกับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก นำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงซึ่งเป็นสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม รัฐบาลลงนามสนธิสัญญาทำนองเดียวกันกับชาติตะวันตกหลายประเทศเพื่อหวังสร้างความสัมพันธ์แบบพหุภาคีเพื่อให้ชาติเหล่านั้นถ่วงดุลกันเอง ประเทศสยามไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกซึ่งสาเหตุบางส่วนเนื่องจากบริเตนและฝรั่งเศสตกลงให้สยามเป็นรัฐกันชน ประเทศสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ได้แก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม และในสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น แต่กลับได้สถานะผู้ชนะสงครามไปด้วย จนได้ชื่อว่า "การทูตไม้ไผ่" หรือ "การทูตลู่ตามลม"[72]
การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วงสงครามเย็น[21]: 214 ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐมาตั้งแต่การลงนามองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2497 และดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น มีการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ไทยอนุญาตให้สหรัฐตั้งฐานทัพในประเทศ อย่างไรก็ดี หลังจากสหรัฐถอนกำลังออกจากเวียดนาม ประเทศไทยเปลี่ยนนโยบายไปปรับความสัมพันธ์กับประเทศจีนแทน จนมีการเลิกการอนุญาตให้สหรัฐตั้งฐานทัพในประเทศไทยและปรับความสัมพันธ์ทางทูตกับจีนอย่างเป็นทางการในปี 2518[21]: 216
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไทยลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับประเทศบาห์เรน จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ชิลี และเปรู และความตกลงการค้าเสรีกับประเทศอาเซียน และความตกลงการค้าพหุภาคี (ในฐานะอาเซียน) กับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์[73] สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่าประเทศไทยจะเลิกรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศและทำงานร่วมกับประเทศผู้บริจาคเพื่อช่วยพัฒนาประเทศพื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทักษิณมุ่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำภูมิภาค แต่เขาก็สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเผด็จการทหารพม่า รวมทั้งการให้สินเชื่อ[74] ในสมัยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเทศไทยมีข้อพิพาทกับประเทศกัมพูชาเหนือความเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหาร เกิดกรณีพิพาทพรมแดนระหว่างปี 2551–2554 หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับชาติตะวันตกเสื่อมลง และไทยหันไปเข้ากับประเทศจีนมากขึ้น[75]
กองทัพ
พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยโดยนิตินัย ในทางปฏิบัติ กองทัพอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงกลาโหม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้สั่งการ และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บัญชาการ กองทัพไทยแบ่งออกเป็น 3 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ทุกวันนี้กองทัพไทยมีกำลังทหารทั้งสิ้น 1,025,640 นาย และมีกำลังหนุนกว่า 200,000 นาย และมีกำลังกึ่งทหารประจำการกว่า 113,700 นาย[76] ในปี 2558 เครดิตสวิสจัดอันดับว่าประเทศไทยมีดัชนีกำลังทางทหารสูงเป็นอันดับที่ 16 ของโลก[77] งบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 78,100 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 207,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2559 คิดเป็นประมาณร้อยละ 1.5 ของจีดีพี[78][79]
ประเทศไทยมีการเกณฑ์ทหาร ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศอำนาจทางบกตามแบบที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ พร้อมทั้งกองทัพอากาศขนาดใหญ่พอสมควรและมีสมรรถนะกองทัพเรือที่เพิ่มขึ้น[80]: 26 อย่างไรก็ดี การซื้อเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือบรรทุกเครื่องบิน มีปัจจัยด้านเกียรติภูมิเข้ามาเกี่ยวข้องนอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอย[80]: 33 ประเทศไทยเคยส่งกำลังพลเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ประเทศติมอร์ตะวันออก และดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน[81]: 135
หน้าที่หลักของกองทัพไทยคือการรับมือภัยคุกคามในประเทศมากกว่านอกประเทศ[82] กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายการเมืองของกองทัพไทย โดยมีอำนาจหน้าที่ทางสังคมและเศรษฐกิจของราชการพลเรือนด้วย และยังมีภารกิจในการต่อต้านประชาธิปไตย[82] กองทัพไทยขึ้นชื่อเรื่องมีทหารทุจริต เช่น จากกรณีการซื้อยุทธภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานหรือแพงเกิน การลักลอบค้ามนุษย์[83] การปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์อย่างเลว[84] รวมทั้งการใช้เส้นสายฝากตั้งญาติเป็นนายทหาร[85]
อาชญากรรมและการบังคับใช้กฎหมาย
คดีอาชญากรรมรวมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละประมาณร้อยละ 1.3 ระหว่างปี 2540–2554 ในช่วงนโยบายปราบปรามยาเสพติดของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร (กุมภาพันธ์–เมษายน 2546) อาชญากรรมยาเสพติดลดลงร้อยละ 64.6 แต่การฆ่าคนและอาชญากรรมอื่นต่อบุคคลเพิ่มขึ้น[86]: 162 จังหวัดชลบุรีและภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีอาชญากรรมสูงสุดสองอันดับแรก แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่อาชญากรรมรุนแรง[86]: 162 อัตราชำระคดี (clear-up) ของตำรวจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 86.78 ระหว่างปี 2550–2554[86]: 163 อัตราอาชญากรรมถ่วงน้ำหนักแปรผันตรงกับจำนวนแรงงานเข้าเมืองมิชอบด้วยกฎหมาย แต่แปลผกผันกับคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ จำนวนพระภิกษุและความหนาแน่นของประชากร[86]: 163 ประเทศไทยมีปัญหาจำนวนอาวุธปืนมาก ชาวไทยประมาณร้อยละ 10 เป็นเจ้าของปืน และมีอัตราการเสียชีวิตเกี่ยวกับปืนที่มีรายงานสูงสุดในทวีปเอเชีย[87] สหประชาชาติวิจารณ์ประเทศไทยว่าไม่สามารถขจัดความเป็นทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคประมง[88]
สถิติปี 2555 พบว่าชาวไทยประสบเหตุอาชญากรรม 152,228 คน เป็นอาชญากรรมต่อทรัพย์สินมากที่สุด (ร้อยละ 92.5)[89]: v ทรัพย์สินที่ถูกขโมยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำติดตัวไปได้ นอกจากนั้นเป็นเครื่องใช้นอกและในบ้าน เครื่องประดับ เป็นต้น[89]: vi ประสบเหตุอาชญากรรมต่อชีวิตและร่างกาย 7,879 คน เป็นการถูกทำร้ายร่างกายมากที่สุด (ร้อยละ 79.8)[89]: vii ส่วนใหญ่ผู้ประสบเหตุอาชญากรรมไม่ได้แจ้งตำรวจ โดยเฉลี่ยร้อยละ 66.6 ยกเว้นอาชญากรรมทางเพศและอาชญากรรมต่อชีวิตและร่างกายที่มีการแจ้งตำรวจเกินครึ่ง (ร้อยละ 67.2 และ 55 ตามลำดับ)[89]: 26
มีรายงานว่า กำลังความมั่นคงบางครั้งใช้กำลังเกินกว่าเหตุและถึงตายต่อผู้ต้องสงสัยและมีวิสามัญฆาตกรรม การฆ่าคนตามอำเภอใจและการฆ่าคนไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมีการทรมานและทุบตีผู้ต้องสงสัยเพื่อรีดคำสารภาพ[90] ประเทศไทยมีผู้ต้องขังประมาณ 306,000 คนในปี 2559[90] ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดในอาเซียน และมากเป็นอันดับที่ 3 ของทวีปเอเชีย[91] ผู้ต้องขังก่อนพิจารณาคดีในศาลคิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรเรือนจำ ในปีงบประมาณ 2559 มีผู้เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว 762 คน[90] มีหลายกรณีที่กล่าวหาว่าตำรวจใช้อำนาจมิชอบ แต่ผู้ถูกกล่าวหามักไม่ถูกลงโทษ[90] ในศาลพลเรือน รัฐบาลจัดหาความช่วยเหลือทางกฎหมาย แต่มีรายงานว่าความช่วยเหลือดังกล่าวมีคุณภาพต่ำ[90]
ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงในหลายภาคส่วนของประเทศ[88] หลังรัฐประหารปี 2557 ฝ่ายตุลาการถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองอย่างสูง กระบวนการทางกฎหมายในประเทศไทยมักช้าและบางทีมีการใช้วิธีการนอกกฎหมายเพื่อมีผลต่อคำพิพากษา[88] ฝ่ายความมั่นคงในประเทศไทยมีชื่อเสียงว่าเป็นสถาบันที่ฉ้อฉลที่สุดในประเทศเนื่องจากความพัวพันกับการเมืองและระบบอุปถัมภ์[88] บริษัทที่ไม่จ่ายค่าอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการอาจเสียเปรียบด้านการแข่งขันเทียบกับบริษัทอื่น[88] มีการฮั้วประมูล[88] การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยมีความผันแปรและการดำเนินคดีการฉ้อราษฎร์บังหลวงระดับสูงอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง[88]
ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยมีการเรียกว่า "อาจเป็นกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทที่รุนแรงที่สุดในโลก"[92] และ "โหด"[93] องค์การนิรโทษกรรมสากลถือว่าผู้ถูกจำคุกฐานดังกล่าวเป็นนักโทษการเมือง[94] คณะทำงานว่าด้วยการกักขังโดยพลการของสหประชาชาติถือว่าการกักขังก่อนพิจารณาคดีถือว่าละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ[95]
เศรษฐกิจ
เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ | ||
---|---|---|
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในรูปตัวเงิน | 16.56 ล้านล้านบาท (2563) | [96] |
การเติบโตของจีดีพี | 3.9% (2560) | [97] |
ดัชนีราคาผู้บริโภค • ทั่วไป • พื้นฐาน |
1.23% (2564) 0.23% (2564) |
[98] |
อัตราการมีส่วนร่วมกำลังแรงงาน | 68.0% (2560) | [99]: 29 |
อัตราการว่างงาน | 1.2% (2560) | [97] |
หนี้สาธารณะรวม | 9.83 ล้านล้านบาท (ก.พ. 2565) | [100] |
ความยากจน | 8.61% (2559) | [99]: 36 |
ทรัพย์สินครัวเรือนสุทธิ | 20.34 ล้านล้านบาท (2553) | [101]: 2 |
ประเทศไทยมีเศรษฐกิจแบบผสม ประเทศไทยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนีเซีย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจัดให้ประเทศไทยเป็น "ผู้ประสบความสำเร็จสูง" ในเอเชียตะวันออก[103] ในปี 2556 ประเทศไทยมีดัชนีการรับรู้การทุจริตค่อนข้างต่ำ โดยอยู่อันดับที่ 102 จาก 177 ประเทศ[104] ธนาคารโลกจัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศมีรายได้ปานกลาง-สูงในปี 2554[105]
ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 24 ของโลก ในปี 2556 การส่งออกเป็นสัดส่วน 74% ของจีดีพี[106] ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนต่อจีดีพีมากที่สุดคือ 38.1% ภาคการค้าส่ง ค้าปลีกมีสัดส่วนต่อจีดีพี 13.4% ภาคการขนส่งและการสื่อสารมีสัดส่วนต่อจีดีพี 10.2% ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนต่อจีดีพี 8.3% ในปี 2552–2553 ประเทศไทยส่งชิ้นส่วนและส่วนประกอบออก ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ มูลค่า 48,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 25% ของมูลค่าการส่งสินค้าออก[103] มีมูลค่าการนำเข้าเป็นอันดับที่ 23 ของโลก ประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย ฮ่องกงและเกาหลีใต้[107] เครื่องจักรเป็นทั้งสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย[108] องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของไทย[109]
ประเทศไทยมีกำลังแรงงาน 39.38 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากที่สุด 15.41 ล้านคน หรือ 39.1% ของกำลังแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ค่าแรงขั้นต่ำทางการทุกจังหวัดเป็น 300 บาท อัตราการว่างงานของประเทศอยู่ที่ 1.2%[97] ซึ่งน้อยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่แนวโน้มแรงงานกว่าครึ่งประกอบอาชีพที่ไม่มั่นคงหรืออาชีพที่ไม่เป็นทางการ[110] กับทั้ง 40% มีปัญหาการทำงานต่ำระดับ[111] ในปี 2559 ประเทศไทยมีผู้ย้ายถิ่นขึ้นทะเบียนประมาณ 2 ล้านคน โดยหนึ่งในสามเป็นผู้ถือใบอนุญาตทำงานชั่วคราว ส่วนแรงงานไม่สม่ำเสมอคาดว่ามีอีกประมาณ 1–2 ล้านคน[112] หลังรัฐประหารปี 2557 แรงงานต่างด้าวกัมพูชาหลบหนีกลับประเทศจำนวน 180,000 คนหลังรัฐบาลประกาศปราบปราม[113] หลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้มีแรงงานต่างด้าวออกนอกประเทศหลายหมื่นคน[114] ในปี 2560 เศรษฐกิจไทยมีแรงงานนอกระบบ (คือแรงงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันสังคม) 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.2 ของผู้มีงานทำ[115]: iii
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยเป็นประเทศยากจนที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยซบเซามาอย่างน้อยหนึ่งศตวรรษ[36]: 3 ระหว่างปี 2508 ถึง 2539 ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้นต่อคนเติบโตร้อยละ 7 ต่อปี และระหว่างปี 2530 ถึง 2539 เรียกว่าเป็นช่วง "เศรษฐกิจบูม" เศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งมาจากการลงทุนระดับสูงมาก[36]: 3 การเติบโตของหุ้นเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจเติบโตกว่าครึ่ง[36]: 9 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วงเศรษฐกิจบูมเป็นการไหลเข้าของทุนระยะสั้นร้อยละ 23[36]: 12 วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 มีสาเหตุระยะยาวหลายอย่าง แต่ชนวนเหตุที่บั่นทอนความเชื่อมั่นเกิดจากการเติบโตของการส่งออกลดลงอย่างรุนแรงในปี 2539[36]: 21–2 จีดีพีของไทยหดตัวร้อยละ 10.5 ในปี 2541[36]: 30
ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินในปี 2546[36]: 53 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิของไทยล่าช้าเพราะขาดอุปทานรวม[36]: 32 ระหว่างปี 2542 ถึง 2550 จีดีพีไทยเติบโตระหว่างร้อยละ 2.1 ถึง 7.1 ต่อปี[116] ด้วยการขาดเสถียรภาพจากการประท้วงใหญ่ในปี 2553 การเติบโตของจีดีพีของประเทศไทยอยู่ที่ราวร้อยละ 4–5 ลดลงจากร้อยละ 5–7 ในรัฐบาลพลเรือนก่อน ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นสาเหตุหลักของการเสื่อมความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค[117] นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ที่เรียก ประชารัฐ ทำให้เกิดทุนนิยมแบบลำดับชั้นที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเชื้อสายจีนเข้าไปเลี้ยงดูและชี้นำธุรกิจในท้องถิ่น[43]: 300 เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 6.1 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 นับเป็นการหดตัวมากที่สุดนับแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง[118] หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสมัยประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 7 ปี (จนถึงเดือนพฤษภาคม 2564) รัฐบาลกู้เงินแล้ว 8.47 ล้านล้านบาท[119] และมีตัวเลขในเดือนมิถุนายน 2565 ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42.50 เป็นร้อยละ 60.58 ใน 8 ปี[120]
ความมั่งคั่ง ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
เปอร์เซนไทล์ | สัดส่วน |
---|---|
ต่ำสุดร้อยละ 20 | 0.5 |
ต่ำสุดร้อยละ 40 | 3.5 |
ต่ำสุดร้อยละ 60 | 12.5 |
สูงสุดร้อยละ 20 | 69.5 |
ประเทศไทยมีความมั่งคั่งมัธยฐานต่อผู้ใหญ่หนึ่งคน 1,469 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2559[121]: 98 เพิ่มขึ้นจาก 605 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2543[121]: 34 ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 55 ของดัชนีความมั่นคงทางอาหารโลกในปี 2560[122] หลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ภาคครัวเรือนยังมีสภาพคล่องดี และมีความสามารถในการดำรงการบริโภคได้ แม้มีรายได้สุทธิต่อค่าใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบกับปี 2549 แต่การบริโภคไม่ได้ลดลง[101]: 3 ในปี 2559 ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยอยู่ในอันดับที่ 87 [103] และดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่ปรับความเหลื่อมล้ำแล้วอยู่อันดับที่ 70[123] กรุงเทพมหานครซึ่งมีผลิตภัณฑ์จังหวัดสูงสุดมีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดเป็น 406.9 เท่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งมีน้อยที่สุด[เชิงอรรถ 2]
ในปี 2560 ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,946 บาท[125]: 1 ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็นร้อยละ 45.0 และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็นร้อยละ 7.1[125]: 4 กลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุดมีรายได้ต่ำกว่า 5,344 บาทต่อคนต่อเดือนมีจำนวน 26.9 ล้านคน[126]: 5 ในปี 2556 ผู้ประท้วงกลุ่ม กปปส. ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 32) มีรายได้ครัวเรือนเกิน 50,000 บาทต่อเดือน ส่วน นปช. ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 27) มีรายได้ครัวเรือน 10,000–20,000 บาทต่อเดือน[127]: 7
ในปี 2559 สถาบันการเงินเครดิตสวิสรายงานว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองจากประเทศรัสเซียและอินเดีย[128] คนรวยสุดร้อยละ 10 ถือครองทรัพย์สินร้อยละ 79 ของประเทศ[128] มหาเศรษฐีไทย 50 ครอบครัวแรกมีมูลค่าทรัพย์สินรวมคิดเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพีไทย[128]
ในปี 2559 ประเทศไทยมีคนยากจน 5.81 ล้านคน หรือร้อยละ 8.6 ของประชากร แต่หากนับรวม "คนเกือบจน" (near poor) ด้วยจะเพิ่มเป็น 11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.2 ของประชากร[126]: 1 ในปี 2559 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือมีสัดส่วนคนจนร้อยละ 12.96, 12.35 และ 9.83 ของประชากรในแต่ละภาคตามลำดับ[126]: 2 ในปี 2560 มีผู้มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย (รายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี) เพื่อรับสวัสดิการจากรัฐเป็นจำนวน 14 ล้านคน[128] ปลายปี 2560 ประเทศไทยมีหนี้สินครัวเรือน 11.76 ล้านล้านบาท[99]: 5 ในปี 2553 ครัวเรือนที่มีปัญหาล้มละลาย (ทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สิน) คิดเป็นร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งประเทศ[101]: 5 ในปี 2560 ครัวเรือนที่มีที่อยู่อาศัยถาวรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.69 ของครัวเรือนทั้งประเทศ[99]: 36 ในปี 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพประมาณการว่ามีคนไร้บ้านทั่วประเทศ 30,000 คน[129]
ปีพ.ศ. 2566 จำนวนผู้ที่ได้จับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนมีทั้งสิ้น 14.2 ล้านคน[130]
เกษตรกรรม
การพัฒนาการเกษตรตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ[131] ในพื้นที่ชนบท อาชีพเกษตรกรรมคิดเป็นกึ่งหนึ่งของการจ้างงาน[131] ในปี 2555 ประเทศไทยมีที่ดินเพาะปลูกได้ 165,600 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 32.3% ของพื้นที่ประเทศ[132] ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 55% ใช้ปลูกข้าว ในปี 2551 ประเทศไทยส่งข้าวออกราว 10 ล้านตัน คิดเป็นประมาณ 33% ของการค้าข้าวทั่วโลก[133] ข้าวเป็นพืชผลสำคัญสุดของประเทศ และประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งมาช้านาน จนประเทศอินเดียและเวียดนามแซงเมื่อไม่นานนี้[134]
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ที่สุดของโลก[135] คิดเป็นร้อยละ 40 ของยางธรรมชาติโลก[136] พืชที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุดอื่น ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง เนื้อไก่ เนื้อหมู มะม่วง มังคุด ฝรั่ง สัปปะรด รวมทั้งพวกผลไม้เขตร้อน[132] กุ้ง ข้าวโพดและถั่วเหลือง[137] ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก และเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก[138] ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่สุดในอาเซียน[139]
อุตสาหกรรม
บริษัทเกือบทั้งหมดของไทย กว่า 2.7 ล้านวิสาหกิจ คิดเป็นร้อยละ 99.7 จัดเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในปี 2560 SME คิดเป็นการจ้างงานร้อยละ 80.3 ของการจ้างงานทั้งหมด (13 ล้านคน) ในปี 2556 สัดส่วนต่อจีดีพีของ SME อยู่ที่ร้อยละ 37.4 มีรายงานว่า SME ร้อยละ 70 ปิดกิจการภายใน "ไม่กี่ปี"[140]:47
อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นภาคส่งออกใหญ่สุดของไทย คิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของการส่งออกทั้งหมด ในปี 2557 การส่งออกดังกล่าวรวมมูลค่า 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีคนงานประมาณ 780,000 คนในปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 12.2 ของการจ้างงานทั้งหมดในภาคการผลิต แต่ผู้ผลิตกำลังย้ายการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าประเทศไทย[141] อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใหญ่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก[142] โดยมีการจ้างงานประมาณ 417,000 ตำแหน่งในปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพีประเทศ[143]:12-13 คนงานกว่าร้อยละ 70 ในทั้งสองภาคมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียงานให้กับหุ่นยนต์[143]:39, xix
พลังงาน
ประเทศไทยเป็นผู้นำน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเข้าสุทธิ มีการผลิตและปริมาณสำรองน้ำมันน้อยและต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่เพื่อการบริโภค แม้ว่ามีปริมาณสำรองแก๊สธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วขนาดใหญ่ แต่ยังต้องนำเข้าเพื่อให้เพียงพอกับอุปทานในประเทศ การบริโภคพลังงานหลักของประเทศไทยมาจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ คิดเป็นกว่า 80% ของทั้งหมด ในปี 2553 ประเทศไทยบริโภคพลังงานจากน้ำมันมากที่สุด (39%) รองลงมาคือ แก๊สธรรมชาติ (31%) ชีวมวลและของเสีย (16%) และถ่านหิน (13%) ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศสิงคโปร์ เชื้อเพลิงดีเซลเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของผลิตภัณฑ์น้ำมัน และเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการขนส่ง[144] ในปี 2558 ประเทศไทยมีการนำเข้าซึ่งพลังงานขั้นต้นสุทธิเทียบเท่าน้ำมัน 1.253 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว และแก๊สธรรมชาติจากประเทศพม่า[145] ปัญหาราคาน้ำมันในไทยมีสาเหตุมาจากโครงสร้างราคาน้ำมันที่มีการเก็บภาษีและเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ถึง 35–60% ของราคาหน้าปั๊ม[146] การอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพที่แพงกว่าน้ำมันปกติ และการปล่อยให้เอกชนกำหนดค่ากลั่นน้ำมันได้เอง[147]
ในปี 2554 ประเทศไทยมีสมรรถภาพติดตั้งผลิตไฟฟ้าประมาณ 32.4 กิกะวัตต์ โดยผลิตจากแก๊สธรรมชาติมากที่สุด (71%) ประเทศไทยคิดสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์เพื่อลดการพึ่งพาแก๊สธรรมชาติ แต่หลังภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิในปีนั้น ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่เสนอถูกเลื่อนไปหลังปี 2569[144] ในปี 2565 มีการเปิดเผยว่าประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสูงถึง 40–60% แต่ค่าไฟฟ้ายังแพงอยู่เพราะมีค่าพร้อมจ่ายให้กับเอกชนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจนเป็นภาระของผู้บริโภค[148]
การขนส่ง
การขนส่งทางถนนเป็นภาคหลักของการขนส่งผู้โดยสารและค่าระวางในประเทศไทย[149]: 269 โดยคิดเป็นร้อยละ 85 และ 86 ของการขนส่งทางบกทั้งหมดตามลำดับ[150]: 25 ประเทศไทยมีทางหลวงความยาว 390,000 กิโลเมตร[151] และมีเครือข่ายถนน 462,133 สาย[152] เป็นเครือข่ายทางหลวง 51,776 กิโลเมตรที่เชื่อมภาคต่าง ๆ ของประเทศ มีทางด่วนสองเส้นทาง ซึ่งเชื่อมกรุงเทพมหานครกับเขตอุตสาหกรรมโดยรอบ รวมระยะทาง 150 กิโลเมตร[150]: 22 อุตสาหกรรมขนส่งค่าระวางในประเทศไทยอาศัยรถบรรทุกถึงร้อยละ 80[149]: 276 ในปี 2560 ประเทศไทยมียานพาหนะจดทะเบียน 37 ล้านคัน เป็นรถจักรยานยนต์ 20 ล้านคัน และมีที่ไม่ได้จดทะเบียนอีกหลายล้านคัน[152] ในปี 2555 ประเทศไทยมีอัตราเป็นเจ้าของยานพาหนะ 488 คันต่อประชากร 1,000 คน มากเป็นอันดับสองของอาเซียน[153]: 40 ในปี 2561 มีรถแท็กซี่ขึ้นทะเบียนทั่วประเทศ 80,647 คัน[154] และมีการดำเนินการรถตู้สาธารณะ 114 เส้นทางจากกรุงเทพมหานคร[155] ในปี 2559 ประเทศไทยเป็นประเทศที่การจราจรติดขัดมากที่สุดในโลก[156] สหประชาชาติจัดอันดับถนนในประเทศไทยว่าอันตรายสูงสุดเป็นอันดับสองของโลก โดยมียอดผู้เสียชีวิตจากยานพาหนะกว่า 30,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นอัตราต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศลิเบีย[151]
ประเทศไทยมีรางรถไฟยาว 4,034 กิโลเมตร และการขนส่งสินค้าทางรางคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของน้ำหนักบรรทุกทั้งหมดในปี 2558[151] ในปี 2555 มีผู้โดยสารทางราง 41 ล้านคน[153]: 59 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ดำเนินการเส้นทางรางแห่งชาติของประเทศ ซึ่งถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพและไม่ยอมเปลี่ยนแปลง รถไฟมักช้าและอุปกรณ์ส่วนใหญ่เก่าและมีการบำรุงรักษาไม่ดี ความพยายามของรัฐบาลในการจัดโครงสร้างใหม่และโอนเป็นของเอกชนถูกสหภาพคัดค้านอย่างหนักตลอดมา[157][158] ในช่วงปีหลัง มีความพยายามก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง
ประเทศไทยมีท่าอากาศยานพาณิชย์ 38 แห่ง[159]: 3 ในปี 2559 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมากที่สุดของประเทศและเป็นอันดับที่ 20 ของโลก[160] ประเทศไทยมีทางน้ำในประเทศที่ใช้เดินเรือได้ 1,750 กิโลเมตร ประเทศไทยท่าเรือน้ำลึกระหว่างประเทศ 8 แห่ง[150]: 31 ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักของประเทศไทย ส่วนท่าเรือแม่น้ำมีทั้งหมด 132 แห่ง ซึ่งใช้สำหรับการขนส่งสินค้าขั้นต้นและสินค้าเกษตรเป็นหลัก[150]: 32
การท่องเที่ยว
ในปี 2560 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 35.38 ล้านคน[161] จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดิมที่มีชาวต่างชาติ 336,000 ราย และทหารที่เข้ามาพัก 54,000 นายในปี 2510[162] ประเทศที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากที่สุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและลาว[161]
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศตั้งขึ้นในปี 2522[163] นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการจัดตั้งตำรวจท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ[161]
ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก 6 แหล่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจาน
ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2559[164] รายงานความสามารถแข่งขันการเดินทางและการท่องเที่ยวปี 2558 จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 141 ประเทศ โดยประเทศไทยมีคะแนนสูงในด้านทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐานบริการนักท่องเที่ยว แต่มีคะแนนต่ำในด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยและความมั่นคง[165]
การค้าประเวณีและการท่องเที่ยวทางเพศถือเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ ประมาณการในปี 2546 ระบุมูลค่าไว้ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณร้อยละ 3 ของเศรษฐกิจ[166] เชื่อว่าเงินนักท่องเที่ยวอย่างน้อยร้อยละ 10 ใช้ค้าประเวณี[167]
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ประเทศไทยจัดเป็นประเทศนวัตกรรมมากที่สุดอันดับที่ 45 ในดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กปี 2561[168] ในปี 2556 ประเทศไทยมีรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจีดีพี เป็นรายจ่ายจากภาครัฐร้อยละ 51.3 และจากภาคเอกชนร้อยละ 48.7 รัฐบาลมีแผนใช้สิ่งจูงใจภาษีเพื่อเพิ่มการลงทุนของเอกชน[169]: 74 การวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยมีสัดส่วนงานวิจัยประยุกต์สูงกว่างานวิจัยพื้นฐานมาก ข้อมูลในปี 2552 พบว่าประเทศไทยมีนักวิจัย 38,500 คนหรือเทียบเท่าเต็มเวลา (FTE) 22,000 คน[169]: 74 ประเทศไทยมีจำนวนงานวิจัยตีพิมพ์มากเป็นอันดับสามในอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์[169]: 75 ในปี 2553 มีผู้ขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทย 1,925 ฉบับ และมีการออกให้ 772 ฉบับ เกินครึ่งของผู้ขอจดสิทธิบัตรไม่ใช่พลเมือง และคิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของสิทธิบัตรที่ออกให้[169]: 75 ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ลงนามองค์การความร่วมมืออวกาศเอเชีย-แปซิฟิก (APSCO) ซึ่งมีประเทศจีนเป็นผู้นำ[169]: 79
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยก้าวหน้าอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2551 องค์กรส่งเสริมการวิจัยสำคัญอย่าง สวทช., สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ช่วยประสานงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัท อุตสาหกรรมการผลิตของไทยส่วนใหญ่พึ่งพาการผลิตท้องถิ่นของบริษัทต่างชาติ ทำให้มีผลลัพธ์การวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อย[169]: 80
จุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยอยู่ในสายอาหาร-เทคโนโลยีชีวภาพ-ชีววิทยาศาสตร์-เกษตรศาสตร์ เทคโนโลยีพลังงาน และการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์[170]: 103
ประชากรศาสตร์
ประชากร
ปี | ประชากร | ±% |
---|---|---|
2453 | 8,131,247 | — |
2462 | 9,207,355 | +13.2% |
2472 | 11,506,207 | +25.0% |
2480 | 14,464,105 | +25.7% |
2490 | 17,442,689 | +20.6% |
2503 | 26,257,916 | +50.5% |
2513 | 34,397,371 | +31.0% |
2523 | 44,824,540 | +30.3% |
2533 | 54,548,530 | +21.7% |
2543 | 60,916,441 | +11.7% |
2553 | 65,926,261 | +8.2% |
แหล่งที่มา: [1] สำนักงานสถิติแห่งชาติ |
กระทรวงมหาดไทยประมาณว่า ประเทศไทยมีประชากร 69,183,173 คน[171] ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก แต่คาดว่าประชากรจะลดลงก่อนปี 2563[172]: i ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อัตราเจริญพันธุ์ลดลงเร็วที่สุดในโลก ระหว่างปี 2513 ถึง 2533 อัตราเจริญพันธุ์ระหว่างประเทศลดลงจาก 5.5 เหลือ 2.2 สาเหตุจากการคุมกำเนิด ขนาดครอบครัวที่ปรารถนาลดลง สัดส่วนผู้สมรสลดลง และการสมรสช้า[172]: i ในปี 2552 อัตราเจริญพันธุ์รวมของไทยอยู่ที่ 1.5[172]: 4 ในปี 2553 อัตราการเกิดอย่างหยาบอยู่ที่ 13 ต่อ 1,000[172]: 31 คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ภายในปี 2573[172]: 32 จำนวนประชากรในวัยทำงานทั้งหมดจะเริ่มลดลงหลังปี 2563[172]: 7
จำนวนการเกิดของวัยรุ่นสูงขึ้น โดยสถิติหญิงอายุ 15–19 ปีที่เคยสมรสในปี 2553 มีประมาณ 330,000 คน[172]: 28 และในปี 2552 มีจำนวนการเกิดจากแม่อายุไม่เกิน 19 ปีจำนวน 765,000 คน[172]: 31 ในปี 2549–2552 มีการทำแท้งชักนำเกิน 60,000 คนต่อปี[172]: 28
ประเทศไทยถือว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ราวร้อยละ 75–95 ของประชากรเป็นชาติพันธุ์ไท ซึ่งรวมสี่ภูมิภาคหลัก คือ ไทยกลางร้อยละ 30 อีสานหรือลาวร้อยละ 22 ล้านนาร้อยละ 9 และใต้ร้อยละ 7 และมีไทยเชื้อสายจีนร้อยละ 14 ของประชากร ที่เหลือเป็นไทยเชื้อสายมลายู ชาวมอญ ชาวเขมร และชาวเขาหลายเผ่า ไทยที่มีบรรพบุรุษจีนบางส่วนมีถึง ร้อยละ 40 ของประชากร[173] ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐบาลรับรอง 62 กลุ่ม[174] ทั้งนี้ ไทยเชื้อสายจีนจัดเป็นชนชั้นอภิชนของไทย และเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ[175]: 179–83
ในปี 2553 ประเทศไทยมีการมีลักษณะแบบเมืองร้อยละ 34 ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีเครื่องชี้ภาวะการพัฒนาพอ ๆ กัน[172]: 14 การเคลื่อนย้ายของประชากรส่วนใหญ่เป็นแบบชั่วคราวตามฤดูกาล[172]: 14 กรุงเทพมหานครเป็นตัวอย่างสุดโต่งของความเป็นเอกนคร (urban primacy) โดยในปี 2536 กรุงเทพมหานครมีประชากรมากกว่านครใหญ่ที่สุดสามอันดับถัดมารวมกันระหว่าง 7.5 ถึง 11 เท่า[172]: 14 ผู้ย้ายออกชาวไทยส่วนมากเป็นลูกจ้างทักษะต่ำ โดยเดินทางไปประเทศปลายทางเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้อยลง แต่ตะวันออกกลางและประเทศตะวันตกเพิ่มขึ้น[172]: ix เมื่อปลายปี 2550 มีประมาณการว่าคนต่างด้าวที่อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยมี 2.8 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้รวมผู้มีใบอนุญาตทำงานในประเทศ นักเรียนนักศึกษา ผู้มีคู่สมรสชาวไทยและผู้ตั้งถิ่นฐานหลังเกษียณ ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่อยู่เกินวีซ่า[172]: ix
เมื่อปี 2553 ในประชากรอายุมากกว่า 13 ปี มีผู้สมรส 38,001,676 คน หม้าย 3,833,699 คน หย่า 670,030 คน และไม่เคยสมรส 16,957,651 คน[176]
นครใหญ่
ศาสนา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ระบุศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพลเมืองไทยทุกคน แต่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท กฎหมายห้ามกล่าวหมิ่นประมาทศาสนาพุทธรวมถึงพระสงฆ์ และคุ้มครองศาสนสถานและศาสนพิธีของศาสนาอื่น[179] ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า "รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท [...] และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด" ในช่วงปีหลังมีการเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แม้ว่าประเทศไทยไม่มีรายงานการละเมิดทางสังคมหรือการเลือกปฏิบัติจากศาสนา[180] แต่กฎหมายไทยบางส่วนได้รับอิทธิพลจากความเชื่อแบบพุทธ เช่น การงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลในวันหยุดทางศาสนา[181]
กฎหมายรับรองห้ากลุ่มศาสนาหลัก ได้แก่ พุทธ อิสลาม คริสต์ ฮินดูและซิกข์[182] การสำรวจของเครือข่ายอิสระทั่วโลก/สมาคมแกลลัประหว่างประเทศ (WIN/GIA) ในปี 2560 พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่นับถือศาสนามากที่สุดในโลก โดยมีผู้ระบุตนว่าเป็นศาสนิกชนร้อยละ 98 ไม่เป็นศาสนิกชนร้อยละ 1 และผู้เชื่ออเทวนิยมอีกร้อยละ 1[183]
ตามสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2557 ประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ 94.6[178] ส่วนใหญ่นับถือนิกายเถรวาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยโดยพฤตินัย ทั้งนี้ ประเทศไทยถือได้ว่ามีผู้นับถือศาสนาพุทธมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศจีน[184] ในปี 2559 ประเทศไทยมีวัดทั้งสิ้น 40,580 วัด[185] มีพระสงฆ์ 33,749 รูป และสามเณร 6,708 รูปทั่วประเทศ[186] นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศไทยจากอินเดียในรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์โมริยะในช่วงคริสต์สหัสวรรษที่ 1[187]: 157 ศาสนาที่มีจำนวนผู้นับถือรองลงมา ได้แก่ ศาสนาอิสลาม มีผู้นับถือประมาณร้อยละ 4.2[178] เป็นนิกายซุนนีร้อยละ 99[188] มุสลิมอาศัยอยู่ในจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสตูล มากที่สุด[188] แต่มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คิดเป็นเพียงร้อยละ 18 ของมุสลิมในประเทศไทย[188] ทั่วประเทศมีมัสยิด 3,943 แห่ง[189] มุสลิมในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู ซึ่งสะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกับประเทศมาเลเซีย[188] เชื่อว่ามีการเผยแผ่ศาสนาอิสลามสู่คาบสมุทรมลายูโดยพ่อค้าอาหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 13[188] มีชาวไทยนับถือศาสนาคริสต์ประมาณร้อยละ 1.1[178] ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 54.56) นับถือนิกายโปรเตสแตนต์[เชิงอรรถ 3] ศาสนาคริสต์เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อมิชชันนารีชาวโปรตุเกสจากมะละกาเข้ามาเผยแผ่ศาสนา[190] นอกจากนี้ ยังมีผู้นับถือศาสนาอื่นอีก เช่น ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ ศาสนายูดาห์ ศาสนาบาไฮ รวมประมาณร้อยละ 0.1[178] ชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนพอสมควรยังคงถือศาสนาของชาติพันธุ์จีน รวมทั้งเต๋า ขงจื๊อ และศาสนาพื้นบ้านจีน (เช่น อนุตตรธรรมและเต๋อเจี่ยฮุ่ย) ศาสนาเหล่านี้ไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ และในการศึกษาทางสถิตินับสาวกเป็นพุทธเถรวาท[191] สำหรับประชาคมชาวยิวนั้น มีประวัติยาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17
ภาษา
ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาทางการ เป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อสื่อสาร การศึกษาและเป็นภาษาพูดที่ใช้กันทั่วประเทศ โดยใช้อักษรไทยเป็นรูปแบบมาตรฐานในการเขียน นอกเหนือจากภาษาไทยกลางแล้ว ภาษาไทยสำเนียงอื่นยังมีการใช้งานในแต่ละภูมิภาคเช่น ภาษาไทยถิ่นเหนือ ถิ่นใต้ และถิ่นอีสาน รัฐบาลรับรอง 5 ตระกูลภาษา 62 ภาษาในประเทศไทย
นอกเหนือจากภาษาไทยแล้ว ในประเทศไทยยังมีการใช้ภาษาของชนกลุ่มน้อยเช่น ภาษาจีนโดยเฉพาะสำเนียงแต้จิ๋ว ภาษาลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งบางครั้งนิยามว่าภาษาลาวสำเนียงไทย ภาษามลายูปัตตานีทางภาคใต้ นอกจากนี้ก็มีภาษาอื่นเช่น ภาษากวย ภาษากะยาตะวันออก ภาษาพวน ภาษาไทลื้อ ภาษาไทใหญ่ รวมไปถึงภาษาที่ใช้กันในชนเผ่าภูเขา ประกอบด้วยตระกูลภาษามอญ-เขมร เช่น ภาษามอญ ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม และภาษามลาบรี; ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน เช่น ภาษาจาม; ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เช่น ภาษาม้ง ภาษากะเหรี่ยง และภาษาไตอื่น ๆ เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาแสก เป็นต้น
สถิติสหประชาชาติปี 2543[192] | |
ภาษา | จำนวนผู้พูด (คน) |
---|---|
ภาษาไทย | 52,325,037 |
ภาษาเขมร | 1,291,024 |
ภาษามลายู | 1,202,911 |
ภาษากะเหรี่ยง | 317,968 |
ภาษาจีน | 231,350 |
ภาษาม้ง | 112,686 |
การศึกษา
การศึกษาภาคบังคับในประเทศไทยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี 2464[193]: 104 กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่าแก่ประชาชนเป็นเวลา 12 ปี ส่วนการศึกษาภาคบังคับกำหนดไว้ 9 ปี (ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3) ในปีการศึกษา 2555 มีผู้เรียนในและนอกระบบโรงเรียน 16,376,906 คน แบ่งเป็นในระบบ 13,931,095 คน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 2,445,811 คน นักเรียน นิสิต นักศึกษาในระบบโรงเรียนมีสัดส่วนในสถานศึกษารัฐบาลมากกว่าเอกชน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาเอกชนอยู่จำนวนมาก โดยมีโรงเรียนนานาชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในชาติอาเซียน[194]
ผู้เรียนร้อยละ 99 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 85 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น[195] ประมาณร้อยละ 75 เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย[196]:46 สำหรับนักเรียนทุก 100 คนในโรงเรียนประถม มี 85.6 คนศึกษาต่อระดับ ม. 1; 79.6 คนศึกษาต่อถึงชั้น ม. 3 และเพียง 54.8 คนศึกษาต่อถึงระดับ ม. 6 หรือสถาบันอาชีวะ[197] ประเทศไทยยังคงเป็นไม่กี่ประเทศที่ยังมีการกำหนดให้แต่งเครื่องแบบจนถึงระดับมหาวิทยาลัย การเรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องแบบยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมปัจจุบัน
อัตรารู้หนังสือของไทยอยู่ที่ร้อยละ 93.5[198] แม้ว่ามหาวิทยาลัยของไทย 5 แห่งติดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยดีที่สุดในทวีปเอเชีย[199] และในปีงบประมาณ 2556 งบประมาณการศึกษาไทยเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.9 ของจีดีพี และร้อยละ 20.6 ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน แต่คุณภาพการศึกษาไทยถูกวิจารณ์อยู่เนือง ๆ รูปแบบการสอนยังคงเน้นการท่องจำมากกว่าให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างบ่อยครั้ง เช่นเดียวกับเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมาหลายปี สภาเศรษฐกิจโลกจัดให้คุณภาพการศึกษาของไทยต่ำสุดใน 8 ประเทศอาเซียนที่พิจารณา[200] ในปี 2563 ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 89 จาก 100 ประเทศในเรื่องความสามารถภาษาอังกฤษ[201] นักเรียนไทยกว่าครึ่งในโรงเรียนไม่ได้ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อความสำเร็จของตนและการพัฒนาประเทศ ยูเนสโกและโออีซีดีแนะนำให้ประเทศไทยมีการทบทวนหลักสูตร เพิ่มการกวดขันกระบวนการพัฒนาการทดสอบมาตรฐาน ให้ครูใช้ยุทธศาสตร์การสอนและประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งเพิ่มเวลาสอนและลดหน้าที่บริหาร[202]: 15–16 โรงเรียนกวดวิชาได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ในการสำรวจเด็กไทย 72,780 คนระหว่างเดือนธันวาคม 2553 ถึงมกราคม 2554 ในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนชาวไทยมีระดับเชาวน์ปัญญาเฉลี่ย 98.53 (ค่ามัธยฐาน 100) นายแพทย์ อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต ว่า ไม่ควรโทษระบบการศึกษาไทยว่าทำให้เยาวชนไทยมีเชาวน์ปัญญาต่ำ เพราะสาเหตุหลักเกิดจากการพร่องไอโอดีน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอย่างขาดความอบอุ่นในครอบครัว ถูกแยกจากธรรมชาติและอาหารไม่เหมาะสม[203] ผลการศึกษาล่าสุดเสนอว่าความบกพร่องทางสติปัญญาในพื้นที่ชนบทบางแห่งอาจสูงถึงร้อยละ 10[204] สถานที่เกิดเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการทำนายความสำเร็จทางการศึกษาในประเทศไทย นักเรียนจากครอบครัวยากจนในพื้นที่ทุรกันดารมีการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพต่ำกว่านักเรียนในเมือง[195] คาดว่าเกิดจากการจัดสรรทรัพยากรศึกษาอย่างไม่เท่าเทียม การฝึกครูที่อ่อน ความยากจน และการไม่รู้ภาษาไทยกลางในกรณีของชนกลุ่มน้อย[205][206][207]
ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะประกาศว่าโรงเรียนกว่า 27,000 แห่งมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในโรงเรียน[208] แต่โครงสร้างของประเทศยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนการสอนทางไกล เพราะโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลยังได้รับผลกระทบหลังมาตรการงดการเรียนการสอนในชั้นเรียนระหว่างการระบาดของโควิด-19[209]
ประเทศไทยเป็นจุดหมายการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาใหญ่สุดอันดับสามของอาเซียน โดยมีนักศึกษาต่างชาติกว่า 20,000 คนในปี 2555 ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน พม่า กัมพูชาและเวียดนาม[210]
สาธารณสุข
ในปี 2558 ประเทศไทยมีความคาดหมายคงชีพเมื่อเกิด 75 ปี (ชาย 71 ปี หญิง 79 ปี)[211] ในปี 2558 ประเทศไทยมีอัตราตายทารก 10.8 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน[212]
ระหว่างปี 2552–56 พบว่าชายไทยอายุน้อยกว่า 60 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด รองลงมาเป็นการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โรคมะเร็งตับ และโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนหญิงไทยอายุน้อยกว่า 60 ปีเสียชีวิตจากเอชไอวี/เอดส์มากที่สุด ส่วนสาเหตุหลักอันดับรองลงมาได้แก่ อุบัติเหตุทางถนน โรคหลอดเลือดสมอง และเบาหวาน[213]: 141 ในปี 2557 สาเหตุการป่วยของผู้ป่วยนอกที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ, โรคระบบย่อยอาหาร และโรคของปากและฟัน[213]: 144 ประเทศไทยมีอุบัติการณ์มะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในโลก[214] ในปี 2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ทุก 1,000 การคลอดมีชีพ เกิดจากมารดาวัยรุ่น 60 การคลอด[215]: 1
ในปี 2555 ประเทศไทยมีรายจ่ายด้านสาธารณสุขคิดเป็นร้อยละ 3.9 ของจีดีพี หรือร้อยละ 14.2 ของรายจ่ายภาครัฐทั้งหมด[216] ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งครอบคลุมคนไทยร้อยละ 99[217] ในปี 2552 รายจ่ายด้านสาธารสุขของประเทศร้อยละ 75.8 มาจากภาครัฐ และร้อยละ 24.2 มาจากภาคเอกชน ในปี 2547 ประเทศไทยมีความหนาแน่นของแพทย์อยู่ที่ 2.98 ต่อประชากร 10,000 คน[218] ตั้งแต่ปี 2533 กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่ไม่ได้ทำงานรับราชการต้องส่งเงินเข้า สำนักงานประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมจะกำหนดสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตนเลือกในแต่ละปี ปัจจุบัน โรงพยาบาลที่สังกัดสำนักงานประกันสังคมมีไม่เพียงพอต่อผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบดังกล่าว กล่าวคือ ผู้ประกันตนจำนวนกว่า 13 ล้านคน แต่มีโรงพยาบาลเพียง 159 โรง[219] ข้าราชการและครอบครัวสายตรงมีสิทธิใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่บางอย่างบัตรทองและประกันสังคมได้รับสิทธิ์ที่ดีกว่า เช่น การดูแลแบบประคับประคองบัตรทองดีที่สุด[220] และในกรณีหาเตียง ทั้งบัตรทองและประกันสังคมจะดีกว่าราชการ[221]ประเทศไทยมีปัญหาในการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากมีชาวต่างชาติประสบอุบัติเหตุและโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา โดยให้เหตุผลว่าไม่รู้จะเบิกอย่างไร จนในที่สุดเสียชีวิต สร้างความน่าอับอายให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้แสดงความเสียใจอย่างยิ่ง[222] [223] รัฐบาลกำลังพิจารณาทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ[224]ขณะที่แอป 1669 ใช้การไม่ได้ ระบบแจ้งเหตุขาดประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการรอดชีวิต[225][226] ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กัญชาทางการแพทย์ชอบด้วยกฎหมาย[227]
วัฒนธรรม
วัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลหลักจากวัฒนธรรมอินเดีย จีน ขอม ตลอดจนวิญญาณนิยม ศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู วัฒนธรรมชาติของไทยเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ มีอายุได้เพียงประมาณหนึ่งร้อยปี สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพิบูลสงครามสนับสนุนการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยกลางเป็นวัฒนธรรมแห่งชาตินิยามและยับยั้งมิให้ชนกลุ่มน้อยแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของตน วัฒนธรรมพลเมืองของไทยปัจจุบันนิยามว่าประเทศไทยเป็นดินแดนของคนไทยกลาง มีศาสนาเดียวคือ พุทธนิกายเถรวาท และปกครองโดยราชวงศ์จักรี[228]: 589–90 วัฒนธรรมไทยปัจจุบันเป็นสิ่งสร้างทางสังคมจากสมัยรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเน้นว่า คนส่วนใหญ่ไม่สามารถตรัสรู้และไปถึงนิพพาน และดีที่สุดที่ทำได้คือ การสะสมบุญผ่านการปฏิบัติที่เป็นพิธีกรรมอย่างสูง เช่น การถวายอาหารพระสงฆ์และการบริจาคเงินเข้าวัด คำสอนทางศาสนาถูกเลือกให้สนับสนุนมุมมองทางโลกแบบศาสนาขงจื๊อใหม่ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่สามเสาหลัก ศาสนาพุทธของไทยยังรวมการบูชาวิญญาณของกัมพูชาและความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ อีกทั้งเน้นรูปแบบมากกว่าแก่นสาร[228]: 595–6
คนไทยเน้นและให้คุณค่ารูปแบบมารยาทภายนอกอย่างยิ่งเพื่อรักษาความสัมพันธ์ สังคมไทยเป็นสังคมไม่เผชิญหน้าที่เลี่ยงการวิจารณ์ในที่สาธารณะ การเสียหน้าเป็นความเสื่อมเสียแก่คนไทย จึงมุ่งประนีประนอมในสถานการณ์ลำบาก[229]: 7 การไหว้เป็นแบบการทักทายและแสดงความเคารพของผู้น้อยต่อผู้ใหญ่ (ทั้งคิดจากวัยวุฒิและคุณวุฒิ) ตามประเพณีและมีแบบพิธีเข้มงวด[229]: 7 คนไทยเคารพความสัมพันธ์แบบมีลำดับชั้น เมื่อคนไทยพบคนแปลกหน้าจะพยายามจัดให้อยู่ในลำดับชั้นทันทีเพื่อให้ทราบว่าควรปฏิบัติด้วยอย่างไร มักโดยถามเรื่องที่วัฒนธรรมอื่นมองว่าเป็นคำถามส่วนตัวอย่างยิ่ง สถานภาพมีเสื้อผ้า ลักษณะปรากฏทั่วไป อายุ อาชีพ การศึกษา นามสกุลและความเชื่อมโยงทางสังคมเป็นตัวกำหนด[229]: 11 ความสัมพันธ์ดังนี้ยังปรากฏในรูปราชาศัพท์ซึ่งเป็นคำที่ใช้แก่คนในชนชั้นต่าง ๆ กันด้วย
ความสนุกเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตประจำวันของคนไทย คนไทยมีอารมณ์ขันในเกือบทุกสถานการณ์ บางคนมองว่าความสนุกเป็นการแสดงออกซึ่งปัจเจกนิยมในสังคมที่มีการทำตามกันอย่างสูง รวมทั้งเป็นสิ่งรบกวนจากเรื่องที่จริงจังในชีวิต เช่น อนิจจังและความรับผิดชอบ[230]: 146
กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มอำนวยการเปลี่ยนแปลงระหว่างวัฒนธรรมเดิม วัฒนธรรมชาติไทยและอิทธิพลของวัฒนธรรมโลก จีนโพ้นทะเลในไทยเป็นส่วนสำคัญของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในและรอบ ๆ กรุงเทพมหานคร พวกเขาสามารถบูรณาการเข้ากับสังคมไทยจนมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง เครือข่ายธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายไผ่ (bamboo network)[231]
ศิลปะ
ศิลปะไทยมีลักษณะที่ยืมหรือรับมาจากศิลปะอื่น เช่น อินเดีย มอญ-เขมร สิงหล จีน เป็นต้น มีคุณสมบัติเอกลักษณ์หลายอย่าง ศิลปะและงานฝีมือของอินเดียเป็นต้นแบบของศิลปะพุทธในประเทศไทย นอกจากนี้ ศิลปะพุทธในประเทศไทยยังเป็นผลของเชื้อชาติต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มาแต่โบราณ ศิลปะทวารวดีเป็นสำนักศิลปะพุทธแรกในประเทศไทย[232]: 59 ศิลปะพุทธในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นห้าสำนักตามยุค ได้แก่ เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยาและกรุงเทพมหานคร ศิลปะพุทธไทยยังมีร่องรอยของศิลปะทวารวดี สุวรรณภูมิและลพบุรีอยู่บ้าง แต่ศิลปะพุทธไทยมีความเป็นปัจเจกและเอกเทศ นอกจากนี้ ศิลปะพุทธไทยยังได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียเพียงบางส่วน มิใช่ทั้งหมดดังศิลปะก่อนไทยช่วงแรก[232]: 70
ศิลปะไทยสมัยใหม่เริ่มด้วยการทำลายรูปแบบเดิมของสังคมหลังการปฏิวัติปี 2475 อิทธิพลศิลปะในสมัยใหม่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของศิลป์ พีระศรี วัฒนธรรมอเมริกันยังมีอิทธิพลต่อศิลปินไทยที่ศึกษาในสหรัฐและภาพยนตร์ฮอลลีวูด ศิลปินสมัยใหม่อย่างกมล ทัศนาญชลีรวมความคิดแบบอเมริกันเข้าสู่ศิลปะไทย[21]: 113
เครื่องปั้นเผาของไทยเป็นส่วนสำคัญของการค้าระหว่างคนไทยและอาณาจักรใกล้เคียงในยุคเจ้าขุนมูลนาย เครื่องปั้นเผาเก่าแก่สุดของไทย ได้แก่ เครื่องปั้นเผาบ้านเชียง มีอายุกว่า 3,600 ปี
อาหาร
ปัจจุบันข้าวและพริกเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของอาหารไทย[233] ส่วนประกอบอื่น เช่น กระเทียม น้ำมะนาว และน้ำปลา อาหารไทยมีข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือเป็นพื้น[138] อาหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของคนไทย คือ น้ำพริกปลาทู พร้อมกับเครื่องเคียงที่จัดมาเป็นชุด[193]: 45 อาหารไทยหลายชนิดใส่กะทิและขมิ้นสดคล้ายกับอาหารอินเดีย มาเลเซียและอินโดนีเซีย[234] อาหารไทยหลายชนิดเดิมเป็นอาหารจีน เช่น โจ๊ก ซาลาเปา ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าและข้าวขาหมู เต้าเจี้ยว ซอสถั่วเหลืองและเต้าหู้[235] อาหารไทยกินกับน้ำจิ้มและเครื่องปรุงหลายชนิด เช่น พริกน้ำปลา พริกป่น น้ำจิ้มไก่ พริกน้ำส้ม ด้านเดวิด ทอมป์สัน พ่อครัวชาวออสเตรเลีย กล่าวว่า อาหารไทยไม่เรียบง่าย แต่เน้น "การจัดเรียงส่วนที่ไม่เข้ากันให้เกิดอาหารที่กลมกล่อม"[236]
ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องอาหารข้างถนน อาหารข้างถนนมีลักษณะเป็นอาหารตามสั่งที่ประกอบได้รวดเร็ว เช่น ผัดกะเพรา ผัดคะน้า ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เป็นต้น เมื่อปี 2554 เว็บไซต์ CNNgo ได้จัดอันดับ 50 เมนูอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกโดยการลงคะแนนเสียงทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า แกงมัสมั่นได้รับเลือกให้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก[237] และในของหวานดีที่สุด 50 อันดับที่ซีเอ็นเอ็นรวบรวมไว้ ยังปรากฏชื่อของข้าวเหนียวมะม่วงและทับทิมกรอบซึ่งระบุว่ามาจากไทยด้วย[238]
-
แกงมัสมั่นไก่
-
ผัดไทยกุ้ง
วงการบันเทิง
ภาพยนตร์ไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกถ่ายทำในประเทศไทย คือ เรื่อง นางสาวสุวรรณ ในปี 2470 ภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น เป็นภาพยนตร์ขนาด 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ ไม่มีเสียง ได้รับการยอมรับให้เป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงเพื่อการค้าเรื่องแรกที่คนไทยสร้าง[239] ช่วงหลังปี 2490 ถือเป็นช่วงยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ไทย สตูดิโอถ่ายทำและภาพยนตร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์ไทยก็ซบเซาลง กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ กิจการภาพยนตร์ในประเทศไทยค่อย ๆ ฟื้นตัว ได้เปลี่ยนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาด 16 มิลลิเมตรแทน และเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะคับขัน ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้แสดงบทบาทของตนในฐานะกระจกสะท้อนปัญหาการเมืองและสังคมระหว่างปี 2516–2529 ต่อมาภาพยนตร์ไทยในช่วงปี 2530–2539 โดยในตอนต้นทศวรรษวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ นอกจากภาพยนตร์ประเภทวัยรุ่นแล้ว หนังผี และหนังบู๊ รวมทั้งหนังโป๊ และหนังเกรดบี ก็มีการผลิตมามากขึ้น
ประเทศไทยมีภาพยนตร์ที่มุ่งสู่ตลาดโลก เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ต้มยำกุ้ง (2548) ที่ติดอันดับบ็อกซ์ออฟฟิสในสหรัฐ และยังมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่เป็นที่ยอมรับในเทศกาลภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (2553) ได้รับรางวัลปาล์มทองคำในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้[240] ภาพยนตร์เรื่อง พี่มาก..พระโขนง ที่ออกฉายในปี 2556 เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดในประเทศ ภาพยนตร์ไทยมีการส่งออกไปยังตลาดยุโรป ประเทศที่พูดภาษาจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[241] อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เกี่ยวกับการเมืองหรือศาสนาพุทธบางเรื่องถูกสั่งห้ามฉายโดยอ้างเหตุเรื่องความเหมาะสม
อุตสาหกรรมบันเทิงของไทยมีจีดีพีคิดเป็นประมาณ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ก่อให้เกิดการจ้างงาน 86,600 ตำแหน่ง[242] ละครโทรทัศน์ไทยมีชื่อเสียงในประเทศเพื่อนบ้านและจีน[243][244] อย่างไรก็ดี ละครโทรทัศน์ไทยมักมีลักษณะตายตัว เช่น มีความเป็นละครประโลมโลกสูง มีเกย์เล่นตลก[245] และมีนางอิจฉา[246][247]
ดนตรีและนาฏศิลป์
ดนตรีไทยเดิมช่วงแรกได้รับอิทธิพลจากดนตรีจีน อินเดีย และเขมร ต่อมา รับเอาลักษณะของดนตรีชาติใกล้เคียงอย่างพม่าและมลายูเข้ามาด้วย อิทธิพลสมัยหลังมาจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศตะวันตก[248]: 1 "เถา" เป็นเทคนิคการประพันธ์ที่สำคัญที่สุดและใช้บ่อยที่สุดในดนตรีไทยเป็นเวลาหลายร้อยปี เป็นเทคนิคที่รับมาจากปัลลาวีในภาคใต้ของอินเดีย[248]: 3 ดนตรีไทยเดิมมีสามกลุ่มวงหลัก ได้แก่ วงปี่พาทย์ วงเครื่องสายและวงมโหรี ดนตรีไทยสมัยสุโขทัยเครื่องสายเรียบง่าย ปี่ไม้ไผ่ กลองและการขับลำนำ[248]: 3 มนตรี ตราโมทเขียนว่า ชาวอยุธยาทุกคนเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกและกิจกรรมยามว่าง นอกจากนี้ ในสมัยอยุธยาเกิดเครื่องดนตรีใหม่ ได้แก่ ระนาดและฆ้องวง[248]: 13 ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1800 (ประมาณปี 2340) ถึงปี 2475 ถือเป็นสมัย "คลาสสิก" ของดนตรีไทยเดิม[248]: 15 ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 ประเทศตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น และรัฐบาลขัดขวางหรือปิดกั้นการบรรเลงดนตรีไทยในที่สาธารณะ[248]: 16 หลังจากนั้นมีความพยายามรื้อฟื้นดนตรีไทย มีการแสดงละครที่ใช้ดนตรีไทยในโรงละครแห่งชาติทุกปีแต่ผู้ชมเป็นคนต่าวด้าวมากกว่าคนไทย[248]: 17
รำไทยแบ่งได้เป็นสองชนิดหลัก คือ รำพื้นบ้านและรำคลาสสิก รำพื้นบ้านมีความแตกต่างกันในสี่ภาค รำคลาสสิกมีท่าเคลื่อนไหว 108 ท่า[249]: 46 ละครรำถือกำเนิดจากรามเกียรติ์ ในสมัยอยุธยา โขนเป็นละครรำของไทยที่มีชื่อเสียงที่สุด โขนมีการเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉงและเป็นทางการ มีเครื่องแต่งกายสีสันวิจิตร และสวมหน้ากาก ส่วนละครเป็นรำไทยที่เป็นทางการน้อยกว่า แบ่งชนิดหลักได้เป็นละครชาตรี ละครนอกและละครใน สังข์ทอง เป็นตัวอย่างละครที่มีลักษณะของละครรำที่ดี คือ โรแมนซ์ ความรัก สงคราม การแก้แค้น เหนือธรรมชาติและการไถ่บาป[230]: 62–3 ละครรำพื้นบ้าน ได้แก่ ลิเกและมโนห์รา การแสดงหุ่นกระบอกของไทยเก่าแก่กว่าละครรำทุกชนิด[230]: 64 ตัวอย่างเช่น หนังใหญ่และหนังตะลุง รำพื้นบ้าน เช่น ฟ้อนเทียนในภาคเหนือ ฟ้อนภูไท รำวงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนงิ้วก็ยังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
เทศกาลประเพณี
สมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชวังจัดประเพณีหลวงทุกเดือน เรียก "พระราชพิธีสิบสองเดือน" เช่น พิธีจรดพระราชนังคัล (พิธีแรกนา), พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม วันสงกรานต์ เป็นต้น พระราชพิธีสิบสองเดือนมีการรับศาสนาฮินดูเข้ามาผสมผสาน ส่วนประเพณีราษฎร์มีเกือบตลอดปี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก "ฮีตสิบสอง" นอกจากนี้ ยังมีประเพณีขอฝนต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ขอฝน พิธีแห่นางแมว พิธีจุดบั้งไฟ เป็นต้น ประเพณีหลวงส่วนใหญ่ยกเลิกไปแล้ว ประเพณีราษฎร์ที่ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องมาอยู่ เช่น ประเพณีขอฝน ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น[250]
ประเทศไทยจัดเทศกาลพุทธที่สำคัญและเป็นวันหยุดราชการ ได้แก่ มาฆบูชาในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม วิสาขบูชาในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน อาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาในเดือนกรกฎาคม ออกพรรษาในเดือนตุลาคม มีเทศกาลทำบุญ คือ ทอดกฐินในช่วงออกพรรษา และวันสารทเดือนสิบในกลางเดือนกันยายน[230]: 137–9
นอกจากนี้ ยังมีเทศกาลที่ริเริ่มใหม่ที่กลุ่มสังคมและองค์การธุรกิจสนับสนุน ทั้งเป็นการแสดง นิทรรศการ งานบันเทิงต่าง ๆ เช่น งานช้างสุรินทร์ที่เริ่มในคริสต์ทศวรรษ 1960 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังส่งเสริมงานจัดแสดงสินค้าท้องถิ่น[251]: 122
วรรณกรรม
วรรณกรรมไทยสามารถแบ่งได้เป็นสี่สมัยใหญ่ ๆ ตามราชธานี วรรณกรรมสุโขทัยเน้นกล่าวถึงวัฒนธรรมและศาสนาเป็นหลัก จารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นงานวรรณกรรมแรกที่ใช้อักษรไทย ไตรภูมิพระร่วงแจกแจงปรัชญาพุทธจากคัมภีร์ต่าง ๆ และอาจถือได้เป็นวาทนิพนธ์วิจัยแรกของไทย[252]: 65 ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีร้อยกรองรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น ลิลิต กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ กลอนกลบทและเพลงยาว งานวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยนี้ เช่น ลิลิตยวนพ่าย, ลิลิตพระลอ, จินดามณีซึ่งเป็นตำราเรียนแรกของไทย, ตำนานศรีธนนชัย รวมทั้งงานวรรณคดีนาฏกรรมอย่างอิเหนาและรามเกียรติ์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีงานเกี่ยวกับสงคราม เช่น การแปลสามก๊กและราชาธิราช[252]: 68 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์นักกวี ทรงประพันธ์และทำให้แพร่หลายซึ่งละครและนิยายพื้นบ้านหลายเรื่องอย่างอิเหนา ไกรทอง และสังข์ทอง พระอภัยมณีเป็นผลงานสำคัญของกวีเอกสุนทรภู่ นอกจากนี้งานสำคัญอื่น เช่น เสภาขุนช้างขุนแผน ต่อมา ในห้วงที่มีการตั้งแท่นพิมพ์ในปี 2387 พบการเขียนลีลาตะวันตกในนิตยสารและบทความหนังสือพิมพ์ เรื่องสั้น นวนิยายและการแปลวรรณกรรม[252]: ุ69–70 หลังการปฏิวัติสยามปี 2475 วรรณกรรมเปลี่ยนเป็นวรรณกรรมประชานิยม (popular literature) โดยนวนิยายได้รับความนิยมอย่างมาก[252]: 70 นักเขียนสมัยใหม่ที่สำคัญ เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน, สุภา สิริสิงห, กัณหา เคียงศิริ (ก.สุรางคนางค์), จิระนันท์ พิตรปรีชา, จิตร ภูมิศักดิ์, ชาติ กอบจิตติ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)[253]: 227
กีฬา
มวยไทยเป็นกีฬาประจำชาติไทย นักมวยไทยมักจะเป็นแชมเปียนระดับไลท์เวทของสมาคมมวยโลกเสมอ[251]: 107 ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประเทศไทยรับเอากีฬาจากชาติตะวันตกเข้ามาหลายชนิด โดยเริ่มมีการแข่งขันในโรงเรียนในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตามมาด้วยในระบบการศึกษาสมัยใหม่[254]: 38
ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมที่สุดในประเทศไทย โดยทีมชาติไทยได้แชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 7 สมัย แต่ยังไม่เคยผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ทีมชาติไทยเคยเข้ารอบรองชนะเลิศเอเชียนคัพในปี 1972 และเข้ารอบสองศึกเอเชียนคัพ ในปี 2019 นำโดยศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย และในปี 2023 นำโดยมาซาตาดะ อิชิอิ ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย ผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกหญิงได้สองครั้ง ในปี 2015 และปี 2019 นักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงของไทยมีมากมายในระดับสากล เช่น ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ธีรศิลป์ แดงดา, ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีราทร บุญมาทัน เป็นต้น
สนุกเกอร์ แบดมินตัน เทนนิส รักบี้ กีฬาขี่ม้าและกีฬาทางน้ำได้รับความนิยมรองลงมา สำหรับกีฬาไทยเดิมที่ได้รับความนิยมนั้น ได้แก่ ว่าวพนัน (kite fighting) แข่งเรือและตะกร้อ[255]
ประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกใน ค.ศ. 1952 และกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวใน ค.ศ. 2002 ประเทศไทยทำผลงานดีที่สุดในกีฬาชกมวย[256] นักมวยสากลสมัครเล่น สมรักษ์ คำสิงห์เป็นนักกีฬาคนแรกที่คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกฤดูร้อน 1996 นักกีฬาไทยทำผลงานได้ดีในกีฬาซีเกมส์[256] ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 4 ครั้ง (ค.ศ. 1966, 1970, 1978 และ 1998) และซีเกมส์ 6 ครั้ง นอกจากนี้ยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนคัพและฟุตบอลโลกหญิงเยาวชนอีกด้วย
สื่อมวลชน
ในรายงานเสรีภาพสื่อปี 2558 ของฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าสื่อไทย "ไม่เสรี" และจัดอยู่ในอันดับที่ 166 จาก 199 ประเทศในด้านเสรีภาพสื่อ[257] หลังรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 สื่อไทยถูกจำกัดและมีการตรวจพิจารณา
ปัจจุบันโทรทัศน์เป็นสื่อยอดนิยมในประเทศไทย ประมาณการว่าชาวไทยเกือบร้อยละ 80 ยึดโทรทัศน์เป็นแหล่งข่าวหลัก[258] สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินจำนวนหกแห่งมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ ทั้งหมดแพร่สัญญาณในระบบดิจิทัลหลังยุติการแพร่สัญญาณระบบแอนะล็อกทั้งหมดในปี 2563[259]
ประเทศไทยมีหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายร้อยฉบับทุกสัปดาห์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมียอดจำหน่ายประมาณ 1 ล้านฉบับต่อวัน[260] ส่วน มติชน มียอดขาย 900,000 ฉบับ[260] จำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารลดลง โดยชาวไทยอายุ 15–24 ปี ร้อยละ 50.1 ระบุว่าตนอ่านนิตยสารในปี 2558 ลดลงจากร้อยละ 61.7 ในปี 2556 การบอกรับสมาชิกสิ่งพิมพ์ลดลงเมื่อมีผู้อ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น[261]
ในปี 2559 ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ประมาณ 43.87 ล้านคน[262] รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2560 พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน[263]: 30 ในปี 2559 พบว่า ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปใช้โทรศัพท์อัจฉริยะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด (90.4%) รองลงมาได้แก่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (50.1%) คอมพิวเตอร์พกพา (24.9%) และแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ (15.2%)[264]: 8
เชิงอรรถ
- ↑ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้มีอำนาจร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- ↑ ในปี 2558 กรุงเทพมหานครมีผลิตภัณฑ์จังหวัด 4,437,405 ล้านบาท ส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีผลิตภัณฑ์จังหวัด 11,448 ล้านบาท[124]
- ↑ ดู สถิติคริสต์ศาสนิกชนและคริสตจักรในประเทศไทย
- ↑ เช่น รัชกาลที่ 9 ทรงสนับสนุนนักศึกษาในปี พ.ศ. 2516 แล้วทรงเปลี่ยนมาสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาในปี พ.ศ. 2519 และรัฐบาลธานินทร์ จนสู่รัฐบาลพลเอกเปรม ปรากฏชัดในครั้งกบฏยังเติร์กในปี พ.ศ. 2524 ที่ทรงประกาศสนับสนุนรัฐบาลพลเอกเปรมทำให้กบฏล้มเหลว[23]: 558–9
อ้างอิง
- ↑ Thailand, The World Factbook.
- ↑ John Draper; Joel Sawat Selway (January 2019). "A New Dataset on Horizontal Structural Ethnic Inequalities in Thailand in Order to Address Sustainable Development Goal 10". Social Indicators Research. 141 (4): 284. doi:10.1007/s11205-019-02065-4. S2CID 149845432. สืบค้นเมื่อ 6 Feb 2020.
- ↑ "Global Religion – Religious Beliefs Across the World" (PDF). Ipsos. May 2023. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 May 2023. สืบค้นเมื่อ 23 August 2023.
- ↑ "Thailand". The World Factbook (2024 ed.). Central Intelligence Agency. สืบค้นเมื่อ 24 September 2022. (Archived 2022 edition)
- ↑ (ในภาษาไทย) National Statistics Office, "100th anniversary of population censuses in Thailand: Population and housing census 2010: 11th census of Thailand" เก็บถาวร 12 กรกฎาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. popcensus.nso.go.th.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 "World Economic Outlook Database, April 2024 Edition. (Thailand)". imf.org. International Monetary Fund. 16 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 April 2024. สืบค้นเมื่อ 16 April 2024.
- ↑ "Gini Index". World Bank. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2018. สืบค้นเมื่อ 12 August 2021.
- ↑ "Human Development Report 2023/2024" (PDF). United Nations Development Programme. 13 March 2024. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 13 March 2024. สืบค้นเมื่อ 13 March 2024.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. (2545). อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1. ราชบัณฑิตยสถาน. หน้า 4.
- ↑ 10.0 10.1 "ประกาศกรมการปกครอง เรื่อง แจ้งข้อมูลทางการปกครอง" (PDF). กรมการปกครอง. 2020-03-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-05-20. สืบค้นเมื่อ 2018-03-04.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "The postwar crisis and the return of Phibunsongkhram". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2018-03-11.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 "The 1973 revolution and its aftermath". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2018-03-11.
- ↑ 13.0 13.1 "Partial democracy and the search for a new political order". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2018-03-11.
- ↑ Ping, Jonathan H. (2005). Middle Power Statecraft: Indonesia, Malaysia, and the Asia Pacific. Ashgate. ISBN 0754644677.
- ↑ 15.0 15.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2548). คนไทยมาจากไหน?. สำนักพิมพ์มติชน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน). ISBN 9743236236.
- ↑ Cœdès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- ↑ 17.0 17.1 "ประเทศไทย หรือประเทศสยาม". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-31. สืบค้นเมื่อ 2010-05-07.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 974-08-4124-4. หน้า 183.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 19.3 ศักดิ์ศิริสัมพันธ์, ชนิดา (1999). ท่องเที่ยวไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง จำกัด. ISBN 974-86261-9-9.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2017). A History of Ayutthaya. Cambridge University Press. ISBN 9781107190764.
- ↑ 21.00 21.01 21.02 21.03 21.04 21.05 21.06 21.07 21.08 21.09 Barbara Leitch LePoer (1989). Thailand: A Country Study. Federal Research Devision, Library of Congress. ISBN 978-0739715666.
- ↑ Higham, Charles; Higham, Thomas; Ciarla, Roberto; Douka, Katerina; Kijngam, Amphan; Rispoli, Fiorella (10 December 2011). "The Origins of the Bronze Age of Southeast Asia". Journal of World Prehistory. 24 (4): 227–274. doi:10.1007/s10963-011-9054-6. สืบค้นเมื่อ 10 February 2018 – โดยทาง Researchgate.net.
- ↑ 23.00 23.01 23.02 23.03 23.04 23.05 23.06 23.07 23.08 23.09 Wyatt, David K. (1984). Thailand: A Short History. New Haven and London: Yale University Press. ISBN 0300030541.
- ↑ E. Jane Keyes; James A. Hafner (2018). "Thailand: History". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2018.
- ↑ Charles F. Keyes (1997), "Cultural Diversity and National Identity in Thailand", Government policies and ethnic relations in Asia and the Pacific, MIT Press, p. 203
- ↑ 26.0 26.1 26.2 Baker, Christopher; Phongpaichit, Pasuk (2014). A History of Thailand. Singapore: C.O.S Printers Pte Ltd. ISBN 978-1-107-42021-2.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 27.5 เกษตรศิริ, ชาญวิทย์ (2005). อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9786167202808.
- ↑ Higham, Charles (1989). The Archaeology of Mainland Southeast Asia. Cambridge, England: Cambridge University Press. ISBN 0-521-27525-3. สืบค้นเมื่อ 6 September 2009.
- ↑ "The Aytthaya Era, 1350–1767". U. S. Library of Congress. สืบค้นเมื่อ 25 July 2009.
- ↑ 30.00 30.01 30.02 30.03 30.04 30.05 30.06 30.07 30.08 30.09 30.10 30.11 30.12 30.13 30.14 30.15 30.16 30.17 30.18 30.19 30.20 30.21 30.22 30.23 30.24 30.25 30.26 30.27 30.28 30.29 30.30 30.31 30.32 30.33 30.34 30.35 30.36 30.37 30.38 30.39 30.40 30.41 30.42 30.43 30.44 30.45 30.46 30.47 30.48 30.49 30.50 Wyatt, David K. (2013). Thailand: A Short History [ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป] (ภาษาอังกฤษ). แปลโดย ละอองศรี, กาญจนี. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย. ISBN 978-616-7202-38-9.
- ↑ Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2009). A history of Thailand (2 ed.). Cambridge University Press. ISBN 0521767687.
- ↑ "The Greenwood Encyclopedia of International Relations: S-Z by Cathal J. Nolan". Google Books. สืบค้นเมื่อ November 21, 2015.
- ↑ "The Crawford Papers — A Collection of Official Records relating to the Mission of Dr. John Crawfurd sent to Siam by the Government of India in the year 1821". Cambridge.org. Cambridge Journals Online. 1971. p. 285. สืบค้นเมื่อ 27 September 2015.
- ↑ "Ode to Friendship, Celebrating Singapore - Thailand Relations: Introduction". National Archives of Singapore. 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-03. สืบค้นเมื่อ 2007-04-24.
- ↑ เพ็ญศรี ดุ๊ก. (2542). การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. บริษัท เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด. หน้า 3.
- ↑ 36.0 36.1 36.2 36.3 36.4 36.5 36.6 36.7 36.8 Warr, Peter (2007). Thailand Beyond the Crisis. Routledge Curzon. ISBN 9781134541515.
- ↑ "Thailand Economic Monitor, November 2005" (PDF). สืบค้นเมื่อ 19 February 2010.
- ↑ NaRanong, Viroj, Na Ranong, Anchana, Universal Health Care Coverage: Impacts of the 30-Baht Health Care Scheme on the Rural Poor in Thailand, TDRI Quarterly Review, September 2006
- ↑ Protesters Jam Bangkok, but Rural Thais Love the Leader. The New York Times, 6 March 2006
- ↑ Thitinan, Pongsudhirak. "Victory places Thaksin at crossroads". Bangkok Post.
- ↑ Skulpichetrat, Jutarat; Prak Chan Thul (4 October 2011). Alan Raybould (บ.ก.). "Thai floods kill 224, inundate World Heritage Site". Reuters. สืบค้นเมื่อ 5 October 2011.
- ↑ "Protests as Thailand senators debate amnesty bill". The Guardian. 11 November 2013. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
- ↑ 43.0 43.1 43.2 Kongkirati, P., & Kanchoochat, V. (2018). The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand. TRaNS: Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia, 6(2), 279-305. doi:10.1017/trn.2018.4
- ↑ Montesano, Michael J. (2019). "The Place of the Provinces in Thailand's Twenty-Year National Strategy: Toward Community Democracy in a Commercial Nation?" (PDF). ISEAS Perspective. 2019 (60): 1–11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 13 September 2020. สืบค้นเมื่อ 23 August 2020.
{{cite journal}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "[Full statement] The demonstration at Thammasat proposes monarchy reform". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). 11 August 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 August 2020. สืบค้นเมื่อ 23 August 2020.
- ↑ Cunningham, Philip J. "An unexpectedly successful protest". Bangkok Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 November 2020. สืบค้นเมื่อ 24 September 2020.
- ↑ อาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล. สืบค้น 28-8-61.
- ↑ "Doi Inthanon National Park". Tourism Authority of Thailand (TAT). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 May 2015. สืบค้นเมื่อ 21 July 2015.
- ↑ Tourism Authority of Thailand. (1996). The 'Personality' of Thailand. Darnsitha Press Co., Ltd. ISBN 974-8236-29-5.
- ↑ Dr. Susan L. Woodward (1997–2014). "Tropical Savannas". Biomes of the World. S. L. Woodward. สืบค้นเมื่อ 23 February 2014.
- ↑ "ข้อมูลประเทศไทย - ภูมิอากาศ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-19. สืบค้นเมื่อ 2010-05-07.
- ↑ 52.0 52.1 52.2 52.3 52.4 52.5 52.6 "The Climate of Thailand" (PDF). Thai Meteorological Department. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-08-01. สืบค้นเมื่อ 18 August 2016.
- ↑ "รู้จัก "โลกเดือด" สัญญาณวิกฤติของภาวะโลกร้อน ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ". ไทยรัฐ. 2023-08-22. สืบค้นเมื่อ 2024-01-10.
- ↑ "'ร้อนหน้าหนาว'ปรากฎการณ์ใหม่ฤดูหนาว 2566". ไทยโพส. 2023-12-17. สืบค้นเมื่อ 2024-01-10.
- ↑ "เตือน PM2.5 กลับมาสูงขึ้น สธ.ชี้อาจลากยาวถึงปลายเม.ย." infoquest. 2023-11-22. สืบค้นเมื่อ 2024-01-10.
- ↑ "ThaiHealth issues warnings on fine dust pollution, food security in latest report". Thai Health Promotion Foundation cited in nationthailand. 2023-12-31. สืบค้นเมื่อ 2024-01-10.
- ↑ 57.0 57.1 "Thai Forests > Dept. National Parks, Wildlife & Plants" (ภาษาอังกฤษ). Thai Society for the Conservation of Wild Animals. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
- ↑ "Thai Forests > Geography of the Forest Regions" (ภาษาอังกฤษ). Thai Society for the Conservation of Wild Animals. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
- ↑ "THAILAND: Environmental Profle" (ภาษาอังกฤษ). Mongabay.com. สืบค้นเมื่อ 2010-07-26.
- ↑ "Bangkok market a hub for illegal international trade in freshwater turtles and tortoises". International Union for Conservation of Nature (IUCN). 2008-04-25. สืบค้นเมื่อ 28 July 2016.
- ↑ ชิตบัณฑิตย์, ชนิดา. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (1 ed.). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 9789748278575.
- ↑ Head, Jonathan (5 December 2007). "Why Thailand's king is so revered". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 February 2009. สืบค้นเมื่อ 17 October 2015.
- ↑ Denby, Kenneth. "Thai protests: The king who made himself a gift to republicans". The Times (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 31 July 2021.
- ↑ Fisher, Max (December 3, 2013). "Thailand has had more coups than any other country. This is why". Washington Post. สืบค้นเมื่อ August 28, 2018.
- ↑ Gray, Denis D. (23 August 2015). "Deadly bombing in military-ruled Thailand adds to mounting woes in one-time 'Land of Smiles'". U.S. News & World Report. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 23 August 2015.
- ↑ "Thailand's military-backed PM voted in after junta creates loose coalition". Guardian. สืบค้นเมื่อ 2019-07-17.
- ↑ Teehankee, Julio; Tiulegenov, Medet; Wang, Yi-ting; Ciobanu, Vlad; Lindberg, Staffan I. "Party System in South and Southeast Asia: A Thematic Report Based on Data 1900–2012". V-Dem Thematic Report Series, No. 2, October 2013.
- ↑ 68.0 68.1 68.2 Croissant, Aurel; Völkel, Philip (21 December 2010). "Party system types and party system institutionalization: Comparing new democracies in East and Southeast Asia". Party Politics. 18 (2). doi:10.1177/1354068810380096. S2CID 145074799.
- ↑ Gray, Denis D. (23 August 2015). "Deadly bombing in military-ruled Thailand adds to mounting woes in one-time 'Land of Smiles'". U.S. News & World Report. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 23 August 2015.
- ↑ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. กระทรวงมหาดไทย. "สรุปข้อมูล อปท ทั่วประเทศ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dla.go.th/work/abt/index.jsp 2556. สืบค้น 21 ตุลาคม 2557.
- ↑ Mundus. Wissenschaftliche Verlagsgesellschaft. 1981. p. 65. สืบค้นเมื่อ 17 January 2012.
- ↑ Peera Charoenvattananukul (March 2017). "Rethinking Approaches to the Study of Thai Foreign Policy Behaviours". Kyoto Review. สืบค้นเมื่อ 2019-10-08.
- ↑ FTA by country/economy. Asian Regional Integration Center. สืบค้น 1-3-61
- ↑ Thaksin to face charges over Burma telecom deal. ICT News, August 2, 2007 url: http://www.burmait.net/ict-news/2007/aug07/thaksin-to-face-charges-over-burma-telecom-deal/ เก็บถาวร 2009-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Prashanth Parameswaran. (2014). Thailand Turns to China. The Diplomat. Accessed 3-1-2018.
- ↑ Mongabay.com. COUNTRY PROFILES Thailand: NATIONAL SECURITY. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2553.
- ↑ O’Sullivan, Michael; Subramanian, Krithika (2015-10-17). The End of Globalization or a more Multipolar World? (Report). Credit Suisse AG. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-15. สืบค้นเมื่อ 2017-07-14.
- ↑ "Bullets, cluster bombs at Thai arms fair despite censure over junta rule". Agence France Presse. 2015-11-04. สืบค้นเมื่อ 8 November 2015.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Thailand Raises Defence Budget 5%". Defense Studies. 2014-07-17. สืบค้นเมื่อ 8 November 2015.
- ↑ 80.0 80.1 Tan, Andrew (January 2004). "Force Modernisation Trends in Southeast Asia" (PDF). Institute of Defence and Strategic Studies, Singapore. สืบค้นเมื่อ 2018-08-27.
- ↑ Howe, Brendan; Kondoch, Boris (2016). Peacekeeping and the Asia-Pacific. BRILL. ISBN 9004322051.
- ↑ 82.0 82.1 "Thailand's Deep State—The Military". Asia Sentinel. 2017-11-14. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.
- ↑ "Thailand's Crooked Army". Asia Sentinel. August 20, 2014. สืบค้นเมื่อ August 29, 2018.
- ↑ ""เราก็แค่ของเล่นของพวกเขา" เปิดรายงานการล่วงละเมิดทหารเกณฑ์ในไทย". BBC ไทย. 23 March 2020. สืบค้นเมื่อ 27 March 2021.
- ↑ ""บิ๊กติ๊ก"ตั้งลูก ติดยศทหาร อ้างให้งานทำ". โพสต์ทูเดย์. 2016-04-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-20. สืบค้นเมื่อ 2018-08-29.
- ↑ 86.0 86.1 86.2 86.3 Punyasavatsut, Arunee (February 2016). "Determinants of the Weighted Crime Rate in Thailand" (PDF). Journal of Economics, Business and Management. 4 (2). สืบค้นเมื่อ 2018-03-04.
- ↑ Peh Shing Huei (2016-02-18). "Thailand has highest reported rate of gun-related deaths in Asia: Report". Channel NewsAsia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-27. สืบค้นเมื่อ 2018-03-04.
{{cite news}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ 88.0 88.1 88.2 88.3 88.4 88.5 88.6 "Thailand Corruption Report". GAN Business Anti Corruption. GAN Business Anti Corruption. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-15. สืบค้นเมื่อ 2018-03-04.
- ↑ 89.0 89.1 89.2 89.3 "สรุปผลที่สำคัญการสำรวจข้อมูลสถิติอาชญากรรมภาคประชาชน พ.ศ. 2555 (อาชญากรรมที่เกิดระหว่างเดือนตุลาคม 2553 – กันยายน 2554)" (PDF). สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2012. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
- ↑ 90.0 90.1 90.2 90.3 90.4 "Country Reports on Human Rights Practices for 2016: Thailand". US Department of State. US Department of State. 2016. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
- ↑ วงษ์ปัญญา, ธนกร (2018-01-12). "ไทยติดอันดับ 10 ของโลก รั้งอันดับ 3 เอเชีย ประเทศที่มีนักโทษมากที่สุด". The Standard. สืบค้นเมื่อ 2018-08-29.
- ↑ "How powerful people use criminal-defamation laws to silence their critics". The Economist. 13 July 2017. สืบค้นเมื่อ 14 July 2017.
- ↑ "Thailand lese majeste: 'More arrests' due over Crown Prince plot". BBC. 28 October 2015. สืบค้นเมื่อ 2018-08-29.
- ↑ Bangkok Post, All eyes on Article 112, 18 September 2011
- ↑ "World Report 2014: Thailand". Human Rights Watch. สืบค้นเมื่อ 29 August 2018.
- ↑ "รายได้ประชาชาติของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ แบบปริมาณลูกโซ่". Office of the National Economic and Social Development Board. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-26. สืบค้นเมื่อ 2018-04-23.
- ↑ 97.0 97.1 97.2 "ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2560 และแนวโน้มปี 2561". สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค. 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-27. สืบค้นเมื่อ 2018-04-23.
- ↑ "สรุปดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2565" (PDF). สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า. สืบค้นเมื่อ 20 April 2022.
- ↑ 99.0 99.1 99.2 99.3 "ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2560" (PDF). สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-04-26. สืบค้นเมื่อ 2018-04-23.
- ↑ "หนี้สาธารณะพุ่งชน 10 ล้านล้าน ทะลุ 60% ของจีดีพี". โพสต์ทูเดย์ (ภาษาอังกฤษ). 3 April 2022. สืบค้นเมื่อ 20 April 2022.
- ↑ 101.0 101.1 101.2 เสรีวรวิทย์กุล, ชนาภรณ์; รุ่งเจริญกิจกุล, ภูริชัย (July 2011). "ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและผลของความมั่งคั่งต่อการบริโภค" (PDF). ธนาคารแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-10-10. สืบค้นเมื่อ 2018-04-24.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ Naudin, Thierry, บ.ก. (2010). The State of Asian Cities 2010/11 (PDF). United Nations Human Settlements Programme. ISBN 978-92-1-132274-3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 19 January 2013. สืบค้นเมื่อ 25 September 2012.
- ↑ 103.0 103.1 103.2 UNDP Report lists Thailand among Asia’s fastest growing UNDP Report lists Thailand among Asia’s fastest growing เก็บถาวร 2013-04-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน UNDP. สืบค้น 4-9-2557.
- ↑ Corruption Perceptions Index 2013 เก็บถาวร 2013-12-03 ที่ archive.today. Transparency International. สืบค้น 4-9-2557.
- ↑ Thailand Overview. The World Bank. สืบค้น 4-9-2557.
- ↑ Exports of goods and services (% of GDP). The World Bank. สืบค้น 8-9-2557.
- ↑ ระบบรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทย เก็บถาวร 2014-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้น 4-9-2557.
- ↑ ธนาคารแห่งประเทศไทย. สินค้าออกและสินค้าเข้าจำแนกตามกลุ่มสินค้า เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ข้อมูลหนี้ต่างประเทศจำแนกตามแหล่งเงินกู้. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ. สืบค้น 24-4-2561.
- ↑ TNSO The National Statistical Office of Thailand. "over half of all Thailand’s workers are in vulnerable employment (defined as the sum of own-account work and unpaid family work) and more than 60 per cent are informally employed, with no access to any social security mechanisms." Thailand. A labour market profile, International Labour Organization, 2013.
- ↑ Fernquest, Jon (2015-02-04). "Why Thailand's unemployment rate is ridiculously low". สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
- ↑ "Labor Migration Trends in Thailand" (PDF). International Organization of Migration. สืบค้นเมื่อ 28 August 2018.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Cambodia ramps up criticism of Thailand's junta". BBC. BBC. 18 June 2014. สืบค้นเมื่อ 24 April 2018.
- ↑ "แรงงานต่างด้าวยังทะลักออกจากไทยไม่หยุด ด้านรองนายกฯ เผยอาจใช้ ม.44 ชะลอการใช้กฎใหม่ 120 วัน". บีบีซีไทย. 3 July 2017. สืบค้นเมื่อ 28 August 2018.
- ↑ "การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2560" (PDF). สำนักงานสถิติแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-09-21. สืบค้นเมื่อ 2018-08-27.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "Thailand". World Economic Outlook Database. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 24 April 2018.
- ↑ Phisanu Phromchanya (24 February 2012). "Thailand Economy To Rebound Strongly In 2012,". Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 26 April 2012.
- ↑ Kaendera, Stella; Leigh, Lamin. "Five Things to Know About Thailand's Economy and COVID-19". IMF (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "7 ปี ประยุทธ์ กู้ 8.47 ล้านล้าน แก้โควิด-โปะหนี้จำนำข้าว "รัฐบาลยิ่งลักษณ์"". ประชาชาติธุรกิจ. 31 May 2021. สืบค้นเมื่อ 20 April 2022.
- ↑ "8 ปี หนี้สาธารณะเฉียด 10 ล้านล้าน ประยุทธ์ สมานแผลเศรษฐกิจ หรือสร้างแผลเป็น?". ประชาชาติธุรกิจ. 2 June 2022. สืบค้นเมื่อ 30 September 2022.
- ↑ 121.0 121.1 121.2 Global Wealth Report 2016. Zurich: Credit Suisse AG. November 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-15. สืบค้นเมื่อ 1 July 2017.
{{cite book}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "Global Food Security Index". London: The Economist Intelligence Unit. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12. สืบค้นเมื่อ 24 April 2018.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "Table 3: Inequality-adjusted Human Development Index". Human Development Report Office, United Nations Development Programme. สืบค้นเมื่อ 25 April 2018.
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. สำนักนายกรัฐมนตรี. "ตารางสถิติผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัด (2547-2558). Table of Gross Regional and Provincial Product (2004-2015) (Excel) ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.nesdb.go.th/main.php?filename=gross_regional เก็บถาวร 2018-04-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2558. สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2560.
- ↑ 125.0 125.1 "บทสรุปผู้บริหาร การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2560" (PDF). สำนักงานสถิติแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-04-26. สืบค้นเมื่อ 2018-04-25.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ 126.0 126.1 126.2 "รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้าในประเทศไทย ปี 2559" (PDF). ส้านักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม ส้านักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-04-26. สืบค้นเมื่อ 2018-04-24.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "Profile of the Protestors: A Survey of Pro and Anti-Government Demonstrators in Bangkok on November 30, 2013" (PDF). Asia Foundation. December 2013. สืบค้นเมื่อ 24 April 2018.
- ↑ 128.0 128.1 128.2 128.3 พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ (18 มิถุนายน 2017). "ยิ่งนานยิ่งถ่าง ช่องว่างทางรายได้ ปัญหาใหญ่ที่รอ คสช. แก้". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2018.
- ↑ "สสส. เผยสถานการณ์คนไร้บ้าน ทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นคน". โพสต์ทูเดย์. 2017-06-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-07. สืบค้นเมื่อ 2018-04-25.
- ↑ 6 ปี 'ประยุทธ์' เทงบฯบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวม 3.3 แสนล้าน อุ้ม 'คนจน' 14 ล้านคน
- ↑ 131.0 131.1 Henri Leturque and Steve Wiggins 2010.Thailand's progress in agriculture: Transition and sustained productivity growth เก็บถาวร 2011-04-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. London: Overseas Development Institute
- ↑ 132.0 132.1 Country profile เก็บถาวร 2014-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. FAOSTAT. สืบค้น 4-9-2557. (อังกฤษ)
- ↑ Thailand. IRRI. สืบค้น 4-9-2557. (อังกฤษ)
- ↑ International Grains Council. "Grain Market Report (GMR444)", London, 14 May 2014. Retrieved on 13 Jun 2014.
- ↑ Thailand Leads World in Rubber Production and Advance R&D เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Bank of Thailand. สืบค้น 4-9-2557.
- ↑ Boonthanom, Surapan (20 January 2017). "Thai floods harm key region for world's rubber". Reuters. สืบค้นเมื่อ 21 January 2017.
- ↑ Mydans, Seth (18 July 2010). "Wasps to Fight Thai Cassava Plague". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 3 May 2018.
- ↑ 138.0 138.1 เอกลักษณ์ประจำชาติของไทย. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. สืบค้น 9-12-2553.
- ↑ Thongnoi, Jitsiree (2015-10-18). "Milking the system". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 18 October 2015.
- ↑ Getting Back on Track; Reviving Growth and Securing Prosperity for All; Thailand Systematic Country Diagnostic (PDF). Washington: World Bank Group. 2016-11-07.
- ↑ "LG Electronics to move Thailand TV production to Vietnam". Reuters. 2015-03-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-28. สืบค้นเมื่อ 23 Mar 2015.
- ↑ "Production Statistics". OICA (International Organization of Motor Vehicle Manufacturers). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 November 2013. สืบค้นเมื่อ 26 November 2012.
- ↑ 143.0 143.1 Chang, Jae-Hee; Rynhart, Gary; Huynh, Phu (July 2016). ASEAN in transformation: How technology is changing jobs and enterprises (PDF) (Bureau for Employers' Activities (ACT/EMP) working paper; No. 10 ed.). Geneva: International Labour Office, Bureau for Employers' Activities (ACT/EMP). ISBN 978-92-2-131142-3. สืบค้นเมื่อ 1 April 2017.
- ↑ 144.0 144.1 Thailand – Analysis – U.S. Energy Information Administration (EIA). EIA. (02-20-2013). Retrieved on 5-9-2014.
- ↑ "Energy Situation in year 2015 and trend in year 2016". Energy Policy and Planning office, Ministry of Energy. 31 March 2016. สืบค้นเมื่อ 2018-08-27.
- ↑ "ส่องโครงสร้างราคาน้ำมันไทย ใน 1 ลิตร คนไทยต้องจ่ายอะไรบ้าง?". กรุงเทพธุรกิจ. 20 March 2022. สืบค้นเมื่อ 30 September 2022.
- ↑ "ราคาน้ำมันไทย ทำไม ขึ้นแล้ว ลงยาก". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 30 September 2022.
- ↑ "จาก "ไฟฟ้าสำรองล้นเกิน" ถึง "ค่าไฟแพง" บันทึกความเปลี่ยนแปลงทางพลังงานช่วงรอยต่อปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 30 September 2022.
- ↑ 149.0 149.1 "Chapter 12 Road Transport in Thailand". The Impacts and Benefits of Structural Reforms in Transport, Energy and Telecommunications Sector. APEC. APEC Secretariat, APEC Policy Support Unit. January 2011.
- ↑ 150.0 150.1 150.2 150.3 "Chapter 2 Transport Sector". Thailand Infrastructure Annual Report 2008. World Bank. World Bank.
- ↑ 151.0 151.1 151.2 Janssen, Peter (23 January 2017). "Thailand's expanding state 'threatens future growth'". Nikkei Asian Review. สืบค้นเมื่อ 23 January 2017.
- ↑ 152.0 152.1 Head, Jonathan (19 January 2017). "Life and death on Thailand's lethal roads". BBC News. สืบค้นเมื่อ 19 January 2017.
- ↑ 153.0 153.1 ASEAN-Japan Transport Statistics Book December 2013. AJTP Information Center. สืบค้น 30-8-2561.
- ↑ "The meter is ticking" (Opinion). Bangkok Post. 14 November 2018. สืบค้นเมื่อ 14 November 2018.
- ↑ Mahittirook, Amornrat (7 November 2016). "Public vans likely to offer 10% fare cut". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 7 November 2016.
- ↑ "ไทยรถติดที่ 1 ของโลก-ผลสำรวจชี้ไม่มีทางกำจัดปัญหาได้ถาวร". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 2018-08-03.
- ↑ Mahitthirook, Amornrat; Marukatat, Saritdet (22 December 2010). "Getting on track needs strong political will". Bangkok Post.
- ↑ Bowring, Philip (23 October 2009). "Thailand's Railways: Wrong Track". Asia Sentinel. Asia Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-06. สืบค้นเมื่อ 22 August 2012.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "Airports of Thailand Plc. for the Fiscal Year 2014 (Oct 2013-Sep 2014)" (PDF). AOT Investor Relations Center. Airports of Thailand (AOT) PLC. สืบค้นเมื่อ 16 Feb 2015.
- ↑ "2016 Annual Airport Traffic Report" (PDF). Port Authority of New York and New Jersey. 2017-04-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-05-25. สืบค้นเมื่อ 2017-05-10.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ 161.0 161.1 161.2 "สถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ปี 2560 (จำนวนยอดสะสมเบื้องต้น)". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-27. สืบค้นเมื่อ 2018-03-02.
- ↑ Ouyyanont, Porphant (2001). "The Vietnam War and Tourism in Bangkok's Development, 1960–70" (PDF). Southeast Asian Studies. 39 (2): 157–187.
- ↑ "เกี่ยวกับ ททท". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 2018-03-02.
- ↑ "UNWTO Tourism Highlights: 2017 Edition | World Tourism Organization" (ภาษาอังกฤษ). doi:10.18111/9789284419029. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-01. สืบค้นเมื่อ 2018-03-02.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help); ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ The Travel & Tourism Competitiveness Report 2015. Geneva: World Economic Forum (WEF). 2015. pp. 323–325. ISBN 978-92-95044-48-7. สืบค้นเมื่อ 7 May 2015.
- ↑ Thailand mulls legal prostitution. The Age, 26 November 2003
- ↑ Martin, Lorna. "Paradise Revealed". Taipei Times. สืบค้นเมื่อ 29 January 2015.
- ↑ Jamrisko, Michelle; Lu, Wei (January 23, 2018). "The U.S. Drops Out of the Top 10 in Innovation Ranking". Bloomberg Technology. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
- ↑ 169.0 169.1 169.2 169.3 169.4 169.5 "Current Status on Science and Technology in ASEAN Countries (Tentative Edition)" (PDF). Overseas Research Project. September 2015. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
- ↑ ASEAN. "Study on the State of S&T Development in ASEAN" (PDF). 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-06-27. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help); ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ [http://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/dashboard/index.php?statType=1 ข้อมูลประชากรและบ้าน คณะกรรมการบูรณาการ ฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย]
- ↑ 172.00 172.01 172.02 172.03 172.04 172.05 172.06 172.07 172.08 172.09 172.10 172.11 172.12 172.13 Impact of Demographic Change in Thailand. United Nations Population Fund. 2011. ISBN 978-974-680-287-1.
- ↑ Theraphan Luangthomkun (2007). "The Position of Non-Thai Languages in Thailand". Language, Nation and Development in Southeast Asia. ISEAS Publishing: 191.
- ↑ Draper, John (2016-01-03). "2016: The Year of Thailand's Quantum Ethnic Communities?". Prachathai. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
- ↑ Chua, Amy (2003). World on Fire: How Exporting Free Market Democracy Breeds Ethnic Hatred and Global Instability (Paperback). Doubleday. ISBN 978-0-385-72186-8. สืบค้นเมื่อ 27 April 2020.
- ↑ ตารางที่ 11 ประชากรอายุ 13 ปีขึ้นไป จำแนกตามสถานภาพสมรส กลุ่มอายุ เพศ และเขตการปกครอง[ลิงก์เสีย]. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สืบค้น 7-9-2557.
- ↑ สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ระบบสถิติทางการทะเบียน : รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้านประจำปี พ.ศ. 2560." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age_disp.php
- ↑ 178.0 178.1 178.2 178.3 178.4 การสำรวจสภาวะทางสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทย พ.ศ. 2557[ลิงก์เสีย], สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2557, สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สืบค้น 4 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ "International Religious Freedom Report, Thailand". US Department of State. 2006.
- ↑ United States Bureau of Democracy, Human Rights and Labor. Thailand: International Religious Freedom Report 2007. The article incorporates text from this source, which is in the public domain.
- ↑ "No alcohol sales today - Makha Bucha Day". Thaiger (ภาษาอังกฤษ). 8 February 2020. สืบค้นเมื่อ 31 July 2021.
- ↑ "2018 Report on International Religious Freedom: Thailand". US Department of State. สืบค้นเมื่อ 28 June 2021.
- ↑ "Wayback Machine" (PDF). 2017-11-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-11-14. สืบค้นเมื่อ 2018-02-27.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "Buddhists". Pew Research Center's Religion & Public Life Project. 18 December 2012. สืบค้นเมื่อ 13 March 2015.
- ↑ "จำนวนวัด จำแนกตามนิกาย พ.ศ. 2552 - 2559". สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
- ↑ "จำนวนพระภิกษุ สามเณร ในศาสนาพุทธ จำแนกเป็นรายภาค และจังหวัด พ.ศ. 2550 - 2559". สำนักงานสถิติแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-01. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
- ↑ Thakur, Upendra (1986). Some Aspects of Asian History and Culture. Abhinav Publications. ISBN 8170172071.
- ↑ 188.0 188.1 188.2 188.3 188.4 "Muslim in Thailand". Royal Thai Embassy, Riyadh, Saudi Arabia. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
- ↑ กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง. อ้างถึงใน สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย. 7 มีนาคม 2561. สถิติจำนวนมัสยิดที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย ทั่วราชอาณาจักร. จาก https://www.cicot.or.th/th/news/detail/260/0/สถิติจำนวนมัสยิดที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย-ทั่วราชอาณาจักร
- ↑ "ศาสนาคริสต์". สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-02. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ Kataoka, Tatsuki (December 2012). "Religion as Non-religion: The Place of Chinese Temples in Phuket, Southern Thailand". Southeast Asian Studies. Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University. 1 (3): 461–485.
- ↑ Population by language, sex and urban/rural residence, UNSD Demographic Statistics, United Nations Statistics Division, UNdata, last update 5 July 2013.
- ↑ 193.0 193.1 คณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือเมืองไทยของเรา เล่ม 2. (2535) เมืองไทยของเรา ฉบับที่สอง. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. ISBN 974-7771-27-6.
- ↑ "Education in Thailand". WENR. 6 February 2018.
- ↑ 195.0 195.1 Mala, Dumrongkiat (7 January 2018). "Govt seeks to close the great class divide". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 1 February 2018.
- ↑ Education in Thailand: An OECD-UNESCO Perspective; Reviews of National Policies for Education (PDF ed.). Paris: OECD/UNESCO. 2016. ISBN 9789264259119. สืบค้นเมื่อ 1 February 2018.
- ↑ Wipatayotin, Apinya (2018-01-07). "Ex-education chief urges reform". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 1 February 2018.
- ↑ BTI 2014 | Thailand country Report เก็บถาวร 27 กรกฎาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ QS University Rankings: Asia | Top Universities
- ↑ อึ้ง!การศึกษาไทยรั้งท้ายอาเซียน เก็บถาวร 2016-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. คมชัดลึก. 3-9-2556. สืบค้น 8-9-2557.
- ↑ "English skills drop again". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ OECD/UNESCO (2016). "Education in Thailand: An OECD-UNESCO Perspective, Reviews of National Policies for Education" (PDF). OECD Publishing, Paris. สืบค้นเมื่อ 2018-03-04.
- ↑ MOPH reports low IQ among Thai youth. NNT. สืบค้น 8-9-2557.
- ↑ Maxwell, Daniel; Kamnuansilpa, Peerasit (2015-06-06). "Low IQ levels a wake-up call for Thailand". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 6 June 2015.
- ↑ Draper, John (2012). "Revisiting English in Thailand". Asian EFL Journal. 14 (4): 9–38. ISSN 1738-1460. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-12. สืบค้นเมื่อ 2018-03-04.
{{cite journal}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ Draper, John (12 December 2011). "Solving Isaan's education problem". The Isaan Record. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-26. สืบค้นเมื่อ 2018-03-04.
- ↑ Draper, John (21 February 2014). "PISA Thailand regional breakdown shows inequalities between Bangkok and Upper North with the rest of Thailand". The Isaan Record. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-12. สืบค้นเมื่อ 2018-03-04.
- ↑ "Thailand Provides 27,231 Schools With Internet". 11 March 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 July 2014. สืบค้นเมื่อ 30 January 2015.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "Covid hinders education again". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "สถิติอุดมศึกษา Higher Education Statistics 2558–2560" (PDF). Ofice of The higher Education Commission. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-10-25. สืบค้นเมื่อ 2021-08-10.
- ↑ "Global Health Observatory Data Repository: Life expectancy – Data by country" (CSV). Geneva, Switzerland: World Health Statistics 2015, World Health Organization, WHO. 2015. สืบค้นเมื่อ 2015-05-21.
the technical health information is based on data accurate with respect to the year indicated (2013)
- ↑ "Thailand statistics summary (2002 - present)". WHO. WHO. 2017-11-24. สืบค้นเมื่อ 2018-05-03.
- ↑ 213.0 213.1 บทที่ 5 สถานสุขภาพและปัญหาสุขภาพของคนไทย เก็บถาวร 2018-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก การสาธารณสุขไทย ๒๕๕๔-๒๕๕๘. กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้น 29-8-2561.
- ↑ Vatanasapt, V; Sriamporn, S; Vatanasapt, P (2002). "Cancer control in Thailand". Japanese journal of clinical oncology. 32 Suppl: S82–91. PMID 11959881.
- ↑ "Situation Analysis of Adolescent Pregnancy in Thailand: Synthesis Report 2015" (PDF). UNICEF. สืบค้นเมื่อ 2018-03-03.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Thailand statistics summary (2002 - present). WHO. สืบค้น 7-9-2557.
- ↑ Country Cooperation at a Glance: Thailand. WHO. สืบค้น 7-9-2557.
- ↑ "Thailand - Country statistics". Global Health Observatory. World Health Organization. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-26. สืบค้นเมื่อ 21 December 2011.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ ""สุรเดช"แจง"สปส."ควรมี"รพ."เป็นของตัวเองจริงหรือ!". คม ชัด ลึก. 2017-03-14. สืบค้นเมื่อ 2018-08-29.
- ↑ "เทียบกันชัดๆ 3 กองทุนสุขภาพ ดูแลประคับประคอง-วาระท้ายของชีวิต 'บัตรทอง' ครอบคลุมที่สุด และ 'ดีที่สุด'". thecoverage. 2023-02-20. สืบค้นเมื่อ 2023-02-24.
- ↑ "ข้อย่อย 1 '...รักษาโรงพยาบาลเอกชนเงินหมดแล้ว จะย้ายเข้ารพ.รัฐบาลก็ย้ายไม่ได้เพราะทุกแห่งก็อ้างเตียงไอซียู.เต็มหมด จะทำอย่างไร...' ในบทความหลัก'อยากอายุยืน ต้องเล่นกล้าม'". นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์. 2016-05-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-24. สืบค้นเมื่อ 2023-12-24.
- ↑ "สุดาวรรณ สั่งดูแลญาตินักท่องเที่ยวไต้หวัน ถูกรถชน รพ.ปฏิเสธรักษา จนเสียชีวิต เร่งทำประกันภัยสกัดซ้ำรอย". มติชน. 2023-12-12. สืบค้นเมื่อ 2023-12-24.
- ↑ "ไทยฉาว ! สื่อ ตปท.โจมตี รพ.ปัดรักษาคนไข้จนเสียชีวิต". สำนักข่าวโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7. 2023-12-12. สืบค้นเมื่อ 2023-12-24.
- ↑ "ทุกคน! นายกฯ สั่งทำประกันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงปีใหม่". ไทยพีบีเอส. 2023-12-20. สืบค้นเมื่อ 2023-12-24.
- ↑ "ผมต้องขอโทษด้วย แอ็พ EMS 1669 เขาคงจะเจ๊งเสียแล้ว". นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์. 2023-12-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-26. สืบค้นเมื่อ 2023-12-26.
- ↑ "สพฉ.แจงยกเลิก สายด่วน "1669" ใช้เบอร์ "191" ขอความช่วยเหลือแทน". thethaiger. 2023-10-20. สืบค้นเมื่อ 2023-12-26.
- ↑ Paddock, Richard C. (26 December 2018). "Thailand to Allow Medical Marijuana, a First in Southeast Asia". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 26 December 2018.
- ↑ 228.0 228.1 Otto F. von Feigenblatt. The Thai Ethnocracy Unravels: A Critical Cultural Analysis of Thailand’s Socio-Political Unrest[ลิงก์เสีย]. Journal of Alternative Perspectives in the Social Sciences. สืบค้น 7-9-2557.
- ↑ 229.0 229.1 229.2 "Thai Cultural Profile 2012" (PDF). Tablelands R