รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500
รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เป็นรัฐประหารในประเทศไทย ถือได้ว่าพลิกโฉมการเมืองไทยไปอีกรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกับรัฐประหารใน พ.ศ. 2490[1]
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
![]() จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกหัวหน้าคณะรัฐประหาร | |||||||
| |||||||
คู่ขัดแย้ง | |||||||
![]() ![]() ![]() |
![]() | ||||||
ผู้บัญชาการหรือผู้นำ | |||||||
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ | ![]() ![]() |
สาเหตุแก้ไข
สืบเนื่องจากความแตกแยกกันระหว่างกลุ่มทหาร ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ที่ค้ำอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อมาท่านได้ทำการชายตัว
ประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่ปรากฏความไม่สุจริตค่อนข้างชัดเจน นับตั้งแต่มีการใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวโจมตีฝ่ายตรงข้าม ข่มขู่ชาวบ้าน ประชาชน ให้เลือกแต่ผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลา คือ พรรครัฐบาล หรือการเวียนเทียนมาลงคะแนน การสลับหีบบัตร การแอบหย่อนบัตรคะแนนเถื่อนเข้าไปในหีบ และต้องใช้เวลานับคะแนน 7 วัน ด้วยกัน ผลการเลือกตั้ง พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสียงข้างมาก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 30 ที่นั่ง
วันที่ 2 มีนาคม นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้ง มีการลดธงเหลือแค่ครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัย และเรียกร้องให้ พล.อ.ท.มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์ ซึ่งเป็น ส.ส.สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500[2] และแต่งตั้งให้ จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้ปราบปรามการชุมนุม แต่เมื่อฝูงชนเดินทางมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว จอมพลสฤษดิ์กลับเป็นผู้นำเดินขบวน พาฝูงชนข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยกล่าวว่า ทหารจะไม่มีวันทำร้ายประชาชน และเมื่อถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลได้เป็นผู้เปิดประตูทำเนียบ นำพาประชาชนเข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จนกระทั่งจอมพล ป. ต้องลงมาเจรจาด้วยตนเองที่บันไดหน้าตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อได้เจรจากันแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่า จอมพล ป. ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบมาพากลและจะจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ จึงได้พูดผ่านโทรโข่งขอให้ผู้ชุมนุมสลายตัวไปอย่างสงบ และขอให้อัญเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสาตามปกติ ซึ่งก็ได้เป็นไปตามอย่างที่ จอมพลสฤษดิ์ ร้องขอทุกประการ ซึ่งการเดินขบวนประท้วงครั้งนี้นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกของชาวไทยนับตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475[3]
ฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ ที่ได้มีท่าทีเช่นนี้ ได้สร้างความนิยมขึ้นอย่างมากในหมู่ประชาชน แต่ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ท้าทายอำนาจจอมพล ป. เพราะหลังจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ยังได้ประกาศด้วยตนเองผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเป็นนัยทิ้งท้ายโดยกล่าวถึงผู้ชุมนุมที่ผ่านมาว่า
|
จึงทำให้มีความแตกแยกและหวาดระแวงกันเองระหว่าง ฝ่ายทหารที่สนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ และฝ่ายทหารและตำรวจที่สนับสนุนจอมพล ป.
สภาพโดยทั่วไปแล้วในเวลานั้น บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะของความวุ่นวาย นักเลง อันธพาล อาละวาดป่วนเมืองราวกับไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ที่เหล่าอันธพาลสามารถก่ออาชญากรรมได้ตามใจเพราะมีตำรวจ โดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ สนับสนุนอยู่[4] และจากนั้นมา ทหารและตำรวจก็เกิดความแตกแยกกัน โดยไฮปาร์คโจมตีกันบนลังสบู่ที่ท้องสนามหลวงสลับกันวันต่อวัน ในบางครั้ง ทหารชั้นประทวนก็ยกพวกล้อมสถานีตำรวจจนเกิดเหตุทำร้ายร่างกายตำรวจบ้าง แต่ก็ไม่เกิดเหตุรุนแรงไปกว่านั้น
13 มีนาคม รัฐบาลประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน[5]
14 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิด 60 ปี ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าอวยพรวันเกิดและนำลูกสุนัขตัวหนึ่งมอบให้เป็นของขวัญ พร้อมกล่าวว่าจะจงรักภักดีต่อจอมพล ป. เช่นเดียวกับสุนัขตัวนี้ เพื่อเป็นการสยบความขัดแย้ง[6]
ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2500 รัฐมนตรีดังต่อไปนี้ได้ขอกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรี ศิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ พลโท ถนอม กิตติขจร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลโท ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลอากาศโท เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์[7]
15 กันยายน จอมพล ป. หลังกลับจากเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วยสีหน้าไม่สู้ดีเมื่อมีสื่อมวลชน โดยนาย ทองใบ ทองเปาด์ ได้ถามว่ามีความขัดแย้งกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจริงหรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้นในงานฉลองกึ่งพุทธกาล และงานวิสาขบูชา ที่ทางรัฐบาลได้จัดเป็นงานครั้งใหญ่ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มิได้เสด็จมา จึงทำให้มีการวิจารณ์ไปทั่วว่า รัฐบาลมีความขัดแย้งกับทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ทางจอมพล ป. ปฏิเสธ และได้รีบขึ้นรถยนต์จากไป ต่อมา จอมพลสฤษดิ์และคณะนายทหารในบังคับบัญชา มีแถลงการณ์ขอให้จอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ลาออก ซึ่งหลังจากแถลงการณ์อันนี้ออกมาแล้ว มีรายงานที่เชื่อถือได้ว่า สมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาเสนอให้จอมพล ป. จัดการอย่างเด็ดขาดกับ จอมพลสฤษดิ์ และกลุ่มทหารในวันพรุ่งนี้ เท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ จอมพลสฤษดิ์ ตัดสินใจชิงรัฐประหารแน่นอน[3] [8]
รัฐประหารแก้ไข
รัฐประหารเกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พล.ท.ประภาส จารุเสถียร แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ใช้รถถัง รถหุ้มเกราะและกำลังพล กระจายกำลังออกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่น หอประชุมกองทัพบก ที่ถนนราชดำเนินนอก เป็นต้น ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจกองปราบ ที่สามยอด ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ได้รับคำสั่งให้ยึดให้ได้ภายใน 120 นาที ก็สามารถยึดได้โดยเรียบร้อย โดย ร.ท.เชาว์ ดีสุวรรณ ในขณะที่ พล.จ.กฤษณ์ สีวะรา รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ พ.ต.เรืองศักดิ์ ชุมะสุวรรณ พ.อ.เอื้อม จิรพงษ์ และ ร.อ.ทวิช เปล่งวิทยา นำกำลังตามแผนยุทธศาสตร์ "เข้าตีรังแตน" โดยนำกองกำลังทหารราบที่ 1 พัน 3 บุกเข้าไปยึดวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นจึงติดตามด้วยกองกำลังรถถัง ในขณะที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.หลวงชำนาญอรรถยุทธ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งวิทยุเรียกเรือรบ 2 ลำ ยึดท่าวาสุกรี และส่งกำลังส่วนหนึ่งยึดบริเวณหน้าวัดราชาธิวาส เพื่อประสานงานยึดอำนาจ จนกระทั่งการยึดอำนาจผ่านไปอย่างเรียบร้อย [9]
ขณะที่ฝ่าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม รู้ล่วงหน้าก่อนเพียงไม่กี่นาที จึงตัดสินใจหลบหนีโดยไม่ต่อสู้ โดยเดินทางไปโดยรถยนต์ประจำตัวนายกรัฐมนตรียี่ห้อฟอร์ด รุ่นธันเดอร์เบิร์ด พร้อมกับคนติดตามเพียง 3 คน เท่านั้นคือ นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัว พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจติดตามตัว และ พ.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ ทั้งหมดได้หลบหนีไปทางจังหวัดตราด และว่าจ้างเรือประมงลำหนึ่งเดินทางไปที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ก่อนลงเรือ จอมพล ป. ได้ให้ พ.ท.บุลศักดิ์ นำรถไปคืนสำนักนายกรัฐมนตรี และเข้าพบหัวหน้าคณะปฏิวัติ คือ จอมพลสฤษดิ์ ว่า ทั้ง 3 ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ขออย่าได้ติดตามไปเลย[10]
ขณะที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยังมิได้หลบหนีไปเหมือนจอมพล ป. แต่ถูกควบคุมตัวเข้ากองบัญชาการคณะปฏิวัติ พร้อมกับกล่าวว่า "อั๊วมาแล้ว จะเอาอย่างไรก็ว่า" แต่ในวันรุ่งขึ้นก็ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสวิตเซอร์แลนด์ [11]
รัฐประหารครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร[12]เป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ โดยไม่ได้เป็นพระบรมราชโองการผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศ ณ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500
ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทูลเกล้า พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของราชอาณาจักรไทย
ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2500 23.00 น. ทรงมีพระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึกในบางจังหวัด โดยทรงยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งหมด 46 จังหวัด และให้คงกฎอัยการศึกไว้ทั้งหมด 26 จังหวัด[13]จากทั้งหมด 72 จังหวัด โดยนาย พจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 พลโทถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของราชอาณาจักรไทย ตามมติสภาผู้แทนราษฎร
ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2501 6.00 น.ทรงมีพระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึก ใน 26 จังหวัด ที่ยังคงให้ประกาศกฎอัยการศึกไว้[14]เป็นอันจบเหตุการณ์เนื่องจากยกเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันและเวลาดังกล่าว โดยมีพลโท ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
เหตุการณ์ภายหลังแก้ไข
รัฐประหารครั้งนี้ เป็นรัฐประหารอีกครั้งที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปโดยสิ้นเชิง เพราะขจัดฐานอำนาจเก่าของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างเด็ดขาด และหลังจากนั้น อำนาจทั้งหมดก็ตกอยู่ที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต่อมาก็ได้รัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม ในปีต่อมา เมื่อไม่สามารถควบคุมความวุ่นวายในสภา ฯ ได้ และเป็นที่มาของการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ที่มอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสามารถส่งการให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อผู้ที่กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐได้ทันที
ในส่วนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากหลบหนีไปทางกัมพูชาแล้ว ก็ลี้ภัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นจึงเดินทางไปบวชที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย อุปสมบท ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2503 และขอลี้ภัยการเมืองเข้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น จอมพล ป. และครอบครัวได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นถือว่าจอมพล ป. มีบุญคุณต่อประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นผู้อนุมัติให้ทหารญี่ปุ่นสามารถยกพลเข้าสู่ประเทศไทยได้โดยง่าย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากมิต้องล้มตาย และจอมพล ป. ก็ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างเงียบ ๆ ที่บ้านพักย่านชานกรุงโตเกียว จนถึงแก่กรรม ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ด้วยอายุ 67 ปี ต่อมา ครอบครัวได้ทำการฌาปนกิจที่นั่น และนำอัฐิกลับสู่ประเทศไทยในวันที่ 27 มิถุนายน ปีเดียวกัน ท่ามกลางพิธีรับจากกองทหารเกียรติยศจากทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศ[15]
ดูเพิ่มแก้ไข
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: |
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ ส.คลองหลวง, 2543: หน้า 152-155
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/A/022/2.PDF
- ↑ 3.0 3.1 เอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ, บทที่ ๒๙ : ก่อนสฤษดิ์ปฏิวัติ (ต่อ) โดย วิมลพรรณ ปิติธวัชชัย : หน้า 2 เดลินิวส์ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
- ↑ ส.คลองหลวง, 2543: หน้า 145-151
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/A/027/1.PDF
- ↑ วินทร์ เลียววาริณ, 2540: หน้า 208
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/A/076/1374.PDF
- ↑ หน้า 73, กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 (พ.ศ. 2554) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดร. ISBN 978-974-228-070-3
- ↑ วินทร์ เลียววาริณ, 2540: หน้า 419-420
- ↑ วินทร์ เลียววาริณ, 2540: หน้า 421
- ↑ นักการเมืองไร้แผ่นดินจากไทยรัฐ
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/A/076/2.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/A/084/8.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2501/A/004/6.PDF
- ↑ วินทร์ เลียววาริณ, 2540: หน้า 228
บรรณานุกรมแก้ไข
- เลียววาริณ, วินทร์ (2540). ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. ดอกหญ้า. ISBN 974-85854-7-6.
- คลองหลวง, ส. (2543). 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย. เคล็ดไทย.