รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2501

รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เกิดขึ้นหลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วได้มอบหมายให้พจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำ สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง และมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ต่อมา วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 พลโท ถนอม กิตติขจร จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2501

ประกาศคณะปฏิวัติ ในการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501
วันที่20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (65 ปีที่แล้ว)
สถานที่
ผล
คู่สงคราม
คณะปฏิวัติ พรรคประชาธิปัตย์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พันตรี ควง อภัยวงศ์

สาเหตุ แก้

ทว่า การเมืองในรัฐสภาไม่สงบ เนื่องจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องเอาผลประโยชน์และมีการขู่ว่าหากไม่ได้ตามที่ร้องขอจะถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล เป็นต้น[1] พลโท ถนอม กิตติขจรก็ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ ประกอบกับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ก็ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อรักษาโรคประจำตัว เมื่อเดินทางกลับมา ในเช้าวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พลเอก ถนอม กิตติขจรจึงเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรกราบถวายบังคมทูลลาออกในเวลาเที่ยงของวันเดียวกันแต่ยังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกันกระทั่งเวลา 20.45 น. จึงได้มีการประกาศเรื่องพลเอกถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากนั้นในเวลา 21.00 น.[2] จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม[3] โดยมีคำสั่งคณะปฏิวัติให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกสถาบันทางการเมือง ได้แก่ พรรคการเมือง เป็นต้น[4]

ผลลัพธ์ แก้

จากนั้นตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502 คณะปฏิวัติได้มีประกาศคณะปฏิวัติออกมาทั้งหมด 57 ฉบับ มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการแต่งตั้งไม่ใช่เลือกตั้ง มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งมีเพียงสั้น ๆ 20 มาตราเท่านั้น ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพียง 14 คนเท่านั้น โดยไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง

รัฐประหารครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น การยึดอำนาจตัวเอง ก็ว่าได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ส่งผลให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีจัดการกับบุคคลที่ก่อความไม่สงบได้ทันที แล้วจึงค่อยแจ้งต่อสภา ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ในการควบคุมสถานการณ์ของประเทศ เช่น การปราบปรามฝิ่น มีการเผาฝิ่นที่ท้องสนามหลวงเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2502 และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน มีเหตุเพลิงไหม้ติดกันถึง 3 ครั้ง เป็นที่ฝั่งธนบุรี 2 ครั้ง และที่บางขุนพรหมอีก 1 ครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้อำนวยการดับเพลิงเอง ต่อมาได้มีการจับกุมผู้วางเพลิงได้ทั้งหมด 3 ราย เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งทั้งหมดยอมรับว่ารับจ้างมาเพื่อวางเพลิง จึงมีคำสั่งตามมาตรา 17 ให้ประหารชีวิตบุคคลทั้ง 3 ในที่สาธารณะ

จากมาตรา 17 นี้ ได้ประหารบุคคลที่สงสัยว่าจะก่อความไม่สงบหลายรายหรือข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน เช่น ศิลา วงศ์สิน และศุภชัย ศรีสติ ในข้อหาผีบุญ, ครอง จันดาวงศ์ และทองพันธ์ สุทธิมาศในข้อหาเดียวกัน ที่สนามบินอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นต้น ซึ่งจากเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เป็นการกดดันชาวบ้าน ประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาล จึงทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องหลบเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "วันเสียงปืนแตก" เมื่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (พกค.) ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยปืนเป็นครั้งแรกที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508

คณะปฏิวัติสิ้นสุดลงเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอชื่อจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502

สภาร่างรัฐธรรมนูญ แก้

 
พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานสภา (2502 - 2511)
 
นายทวี บุณยเกตุ ประธานสภา (2511)

สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญคณะที่ 2 ของประเทศไทยแต่งตั้งขึ้นตามอำนาจแห่ง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร

สภาร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 240 คนเปิดประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2502 โดยสมาชิกส่วนมากประกอบไปด้วยทหารและข้าราชการโดยมีพลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร นายทหารคนสนิทของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสภาคนแรก

หลังจากร่างได้ 9 ปีกว่าพลเอกสุทธิ์ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมในปีพ.ศ. 2511 นาย ทวี บุณยเกตุ รองประธานสภาจึงขึ้นเป็นประธานสภาแทน

ในวันที 21 มิถุนายน พ.ศ. 2511 รัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้ประกาศใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงสิ้นสุดลง

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้