การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2500 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 7 ของราชอาณาจักรไทย ผลคือชัยชนะของพรรคเสรีมนังคศิลา ที่นำโดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งได้ 86 ที่นั่ง จากทั้งหมด 160 ที่นั่ง โดย ส.ส. ที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 123 คนจากรัฐสภาชุดที่แล้วยังคงทำหน้าที่ต่อไป ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้สูงกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี พ.ศ. 2495 ถึง 57.5% (สถิติครั้งก่อนคือ 41.5% ในปี พ.ศ. 2476) ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีการฉ้อฉลอย่างหนัก[1] และถูกกล่าวถึงว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย[2]
| ||||||||||||||||
จำนวนทั้งหมด 160 ที่นั่งใน รัฐสภาไทย ต้องการ 81 ที่นั่งจึงเป็นฝ่ายข้างมาก | ||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ผู้ใช้สิทธิ | 57.5% | |||||||||||||||
| ||||||||||||||||
|
การเลือกตั้ง
แก้ก่อนหน้าเลือกตั้งจะเกิดขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ประกาศจะจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้บริสุทธิ์ ถวายเป็น "พุทธบูชา" เนื่องในโอกาสครบรอบวาระกึ่งพุทธกาล
แต่ก่อนการเลือกตั้งนั้น ได้มีการข่มขู่สารพัดจากบรรดานักเลง อันธพาล ที่ทางรัฐบาลเรียกว่า "ผู้กว้างขวาง" โดยบังคับให้ชาวบ้านเลือกแต่ผู้สมัครจากพรรครัฐบาล มีการใช้อุจจาระป้ายตามประตูบ้าน รวมทั้งใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวประณามพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ด้วย[3]
เมื่อวันเลือกตั้งมาถึง ปรากฏว่า มีการใช้คนฝ่ายรัฐบาลเวียนเทียนกันลงคะแนน เรียกว่า "พลร่ม" เมื่อปิดหีบแล้วมีการยัดบัตรลงคะแนนเถื่อนเข้าไป เรียกว่า "ไพ่ไฟ" ตลอดจนแอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้งในที่ลับตาคน และมีการเหตุขลุกขลักขึ้นในหลายพื้นที่ รุนแรงถึงขนาดมีการฆาตกรรมคนที่สนับสนุนผู้สมัครบางคนด้วย อีกทั้งการนับคะแนนยังใช้เวลานับกันยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน ด้วยกัน[3]
ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2498 เพื่อที่จะรองรับการเลือกตั้งครั้งนี้โดยเฉพาะ ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้รับเสียงข้างมากที่สุด ถึง 85 ที่นั่ง เฉพาะในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี อันเป็นเมืองหลวง ได้ถึง 8 ที่นั่ง โดย จอมพล ป. ได้รับเลือกมาด้วยคะแนนเป็นลำดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 137,735 ตามมาด้วย พันตรี ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านคู่แข่งสำคัญ ด้วยคะแนน 118,457 ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียงแค่ 4 ที่นั่งเท่านั้น คือ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นาวาโท พระประยุทธชลธี ของจังหวัดพระนคร และ นายไถง สุวรรณทัต กับ นายมนัส สุวรรณทัต ของจังหวัดธนบุรี และทั่วประเทศได้เพียง 31 ที่นั่งเท่านั้น
ดังนั้น ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้จากประชาชน ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเริ่มขบวนที่ท้องสนามหลวง และเดินไปเรื่อยโดยมีทำเนียบรัฐบาลเป็นจุดหมาย มีการลดธงชาติครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้ง โดยหมายจะให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ชี้แจงการเลือกตั้งครั้งนี้ให้จงได้โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันเดียวกันนั้น[4] ต่อมาเมื่อขบวนผู้ชุมนุมมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ทางจอมพล ป.แต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมดูแลสถานการณ์ กลับถอดหมวกโบกรับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยกล่าวว่าทหารจะไม่มีวันทำร้ายประชาชน และนำพาผู้ชุมนุมเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเจรจากับ จอมพล ป.เอง ที่สุด จอมพล ป.ต้องลงมาเจรจาด้วยตนเองที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า และได้ข้อสรุปว่า จอมพล ป.ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์และจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ การชุมนุมจึงสลายตัวไป และมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2500[5]
แต่ต่อมาเหตุการณ์ได้ขยายตัวและบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มทหารและตำรวจที่สนับสนุน จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก จนกลายเป็นการรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ในที่สุด
การเลือกตั้งในครั้งกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ทั้งหมด 160 คน เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตจังหวัด มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 9,859,039 คน ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 5,668,566 คน คิดเป็นร้อยละ 57.50 โดยจังหวัดที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากที่สุด คือ จังหวัดสระบุรี คิดถัวเฉลี่ยร้อยละ 93.30 และจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุดคือ จังหวัดสุพรรณบุรี คิดถัวเฉลี่ย 42.06[6]
การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้ง
แก้หลังผลการเลือกตั้งออก สื่อมวลชนได้ประนามว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก แต่จอมพล ป.พิบูลสงครามได้แถลงต่อหนังสือพิมพ์ว่า อย่าเรียกว่าการเลือกตั้งสกปรกเลย ควรจะเรียกว่าเป็น “การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย”[7]
ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ชักธงชาติลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้ง จากนั้นนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยการศึกษา และ วิทยาลัยเทคนิค รวมทั้งประชาชนได้รวมตัวกันประท้วงการเลือกตั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีข่าวเตรียมเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชนทางหนังสือพิมพ์
ภายหลังเหตุการณ์รัฐบาลจึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 โดยมีใจความสำคัญว่า "มีคณะบุคคลจากการสนับสนุนของชาวต่างชาติจะก่อกวนให้เกิดความไม่สงบเพื่อจะฉวยโอกาสยึดครองประเทศ จึงขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ" หลังจากนั้นก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในแถลงการณ์ฉบับที่ 2 และในแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีมติคณะรัฐมนตรีให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหารรับผิดชอบจัดการรักษาความสงบ[8] ด้วยทั้งนี้เป้าหมายของรัฐบาลนั้นต้องการป้องกันการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาและประชาชน
แต่การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังดำเนินต่อได้กลับก่อให้เกิดปฏิกิริยาให้นักศึกษาดำเนินการเดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเข้มข้นจริงจังขึ้นมาอีก จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางมาที่จุฬาลงกรณ์เพื่อกล่าวปราศรัยและรับทราบความไม่พอใจของนักศึกษาและประชาชน ซึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมได้ขออนุญาตจอมพลสฤษดิ์เดินขบวนประท้วง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้อนุญาต จึงทำให้จอมพลสฤษดิ์เริ่มได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากเหล่านิสิตนักศึกษาและประชาชนมากขึ้น ในขณะที่ความนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอก เผ่า ถูกลดความนิยมลง
โดยในเวลา 15.00 นาฬิกา ในวันเดียวกันนั้นคลื่นมหาชนที่ร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เดินขบวนเรียกร้องไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอพบพระยารามราชภักดีในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ปลัดกระทรวงมอบหมายหลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมมหาดไทยออกมาชี้แจงแทน ซึ่งกลุ่มผู้เดินขบวนได้ยื่นข้อเรียกร้องรวม 6 ข้อ โดยมีจุดประสงค์สำคัญให้รัฐบาลประกาศให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะและให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยขอให้รัฐบาลให้คำตอบภายในวันเดียวกัน ต่อมาจึงเดินขบวนต่อไปที่ท้องสนามหลวงและเปิดไฮด์ปาร์คโจมตีรัฐบาล[9]
จนในเวลา 17.30 นาฬิกา ก็เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอันเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญเพื่อไปเรียกร้องกับนายกรัฐมนตรีเมื่อขบวนผ่านถนนราชดำเนินกลางก็มีประชาชนมาสมทบจนขบวนใหญ่ขึ้นทุกที โดยมีทหารเตรียมสกัดอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ไม่ให้ประชาชนผ่านไปยังทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่ทหารและประชาชนประจันหน้ากันอยู่อย่างตึงเครียดนั้น สุดท้ายฝ่ายทหารก็ยอมเปิดทางให้ประชาชนเดินขบวนต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยฝูงชนได้พังประตูทำเนียบเข้าไป และได้พบรัฐบาลหลายคนรวมทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็อยู่ในที่นั้นด้วย ผู้เดินขบวนได้เรียกร้องโดยตรงกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ชี้แจงถึงการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเมื่อจอมพล ป. พูดไม่ยอมรับปากจะจัดการให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ประชาชนจึงเกิดไม่พอใจและได้โห่จอมพล ป.และขอให้จอมพลสฤษดิ์ชี้แจงแทนซึ่งเมื่อไม่สามารถทัดทานเสียงเรียกร้องของประชาชนได้ จอมพล ป.จึงยอมให้จอมพลสฤษดิ์ชี้แจงแทนโดยขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาความสงบ ส่วนปัญหาที่ทางผู้ชุมนุมเรียกร้องนั้นจอมพลสฤษดิ์รับปากว่าจะขอรับไปนำเสนอเพื่อแก้ไขในคณะรัฐบาลภายหลัง ประชาชนจึงพอใจและสลายการชุมนุมและเหตุการณ์ก็คืนสู่ภาวะปกติ จนรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2500
พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร
แก้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีจำนวน 23 พรรค ได้แก่
ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ประเภทที่ 1)
แก้พรรค | หัวหน้าพรรค | จำนวน |
เสรีมนังคศิลา | จอมพล ป. พิบูลสงคราม | 84 |
ประชาธิปัตย์ | พันตรี ควง อภัยวงศ์ | 31 |
เสรีประชาธิปไตย | เมธ รัตนประสิทธิ์ | 11 |
ธรรมาธิปัตย์ | ร้อยตำรวจเอก เปี่ยม บุณยะโชติ | 9 |
เศรษฐกร | เทพ โชตินุชิต | 9 |
ชาตินิยม | เนตร พูนวิวัฒน์ | 3 |
ขบวนการไฮด์ปาร์ค | เพทาย โชตินุชิต | 2 |
อิสระ | เกตุ วงศ์กาไสย | 2 |
(ผู้สมัครอิสระ) | - | 9 |
รวม | 160 |
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิงและเชิงอรรถ
แก้- ↑ Dieter Nohlen, Florian Grotz & Christof Hartmann (2001) Elections in Asia: A data handbook, Volume II, p279 ISBN 0-19-924959-8
- ↑ 26 กุมภาพันธ์ 2500 – เลือกตั้งสกปรกที่สุดในประวัติศาสต์การเมืองไทย
- ↑ 3.0 3.1 ""เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน." ดูกลเบื้องหลังเลือกตั้งสกปรก 2500". ศิลปวัฒนธรรม. 15 February 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
- ↑ การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
- ↑ นรนิติ เศรษฐบุตร (2011-03-25). "เลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์". เดลินิวส์.
- ↑ สารเสรี, 3 มีนาคม 2500 อ้างจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500), กรุงเทพฯ: พี. เพรส, 2550, หน้า 369.
- ↑ คำแถลงการณ์ฉบับที่ 1”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 74 ตอนที่ 22 (ฉบับพิเศษ) วันที่ 2 มีนาคม 2500, หน้า 1.
- ↑ การอภิปรายการทำงานของรัฐบาล เดิมเป็นการอภิปรายปัญหาแบบเรียนเบสิคของหลวงพรหมโยธี โดยในช่วงรัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงครามหลังจากกลับจากอเมริกา มีการรณรรงค์ประชาธิปไตยและฟังเสียงประชาชนมากขึ้น