ทองใบ ทองเปาด์
ทองใบ ทองเปาด์ (12 เมษายน พ.ศ. 2469 – 24 มกราคม พ.ศ. 2554) ทนายความ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539[1] และสมาชิกวุฒิสภา[2]
ทองใบ ทองเปาด์ | |
---|---|
เกิด | 12 เมษายน พ.ศ. 2469 จังหวัดมหาสารคาม ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 24 มกราคม พ.ศ. 2554 (84 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
นามปากกา | ศรีสารคาม, ธิดา ประชารักษ์, รังสรรค์ ภพไพบูลย์ |
อาชีพ | นักหนังสือพิมพ์ ทนายความ |
คู่สมรส | ประทุม ทองเปาด์ (ศรีสุภา) วาสนา ทองเปาด์ (คล้ายแจ้ง) |
บุตร | 3 คน |
ประวัติ
แก้ทองใบ ทองเปาด์ เกิดที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คนของ หนู และเหง่า มีอาชีพทำนา จบชั้นมัธยม 6 ที่จังหวัดมหาสารคาม และมาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าเรียนที่คณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วลาออกมาเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างศึกษาในกรุงเทพ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน จึงอาศัยเป็นเด็กวัด อยู่วัดชนะสงครามมาตลอด
หลังจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มทำงานเป็นทนายความ ว่าความให้กับนักหนังสือพิมพ์ในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2496 พร้อมกับทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่" ร่วมกับ สุภา ศิริมานนท์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ "พิมพ์ไทย" ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ย้ายไป "สยามนิกร" "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" และ "ข่าวภาพ" โดยมีหน้าที่เขียนข่าวการเมือง มีฉายาว่า "บ๊อบการเมือง" (เนื่องจากขณะนั้น ทองใบไว้ผมยาว ทรงบ๊อบ) [3]
ในปี พ.ศ. 2501 ได้เดินทางร่วมคณะหนังสือพิมพ์ไปประเทศจีน ร่วมกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ สุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อกลับมาจึงถูกจับขังคุกหลายปีโดยไม่มีความผิด ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2509 ออกมาทำงานเป็นทนายความ และนักข่าวหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
ทองใบ ทองเปาด์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - 2529 [4] และได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527 แต่ทองใบปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากต้องรับรางวัลจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งในขณะนั้นมีภาพของผู้นำเผด็จการ และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารเบนิกโน อากีโน จูเนียร์ (สามีของคอราซอน อากีโน) เมื่อ พ.ศ. 2526 [3]
ชีวิตครอบครัว
แก้ทองใบสมรสครั้งแรก ประทุม ทองเปาด์ (ศรีสุภา) มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 3 คน ได้แก่ ปัทมาวดี ทองเปาด์, ปัทมธิดา ทองเปาด์, นิพนธ์ ทองเปาด์ แต่ก็ได้หย่าร้างกัน ทองใบจึงสมรสครั้งที่สอง วาสนา ทองเปาด์ (คล้ายแจ้ง) ไม่มีบุตรด้วยกัน
เสียชีวิต
แก้ทองใบ ทองเปาด์ ได้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554 งานศพถูกจัดขึ้น ณ ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2547 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[5]
- พ.ศ. 2545 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ ประกาศรัฐสภา เรื่อง ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอน 2ง วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2540
- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เขตเลือกตั้งจังหวัดมหาสารคาม (นายทองใบ ทองเปาด์)[ลิงก์เสีย]
- ↑ 3.0 3.1 แถมสิน รัตนพันธุ์. ตำนาน "ลึก(ไม่)ลับ"' ฉบับ ทระนง ฅนหนังสือพิมพ์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, พ.ศ. 2548. 160 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-9785-33-9
- ↑ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. เสี้ยวศตวรรษ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สามัคคีสาร (ดอกหญ้า), พ.ศ. 2539. 263 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-89658-0-5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓๕, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๖๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕