สุภา ศิริมานนท์

สุภา ศิริมานนท์ (15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 — 15 มีนาคม พ.ศ. 2529) นามปากกา จิตติน ธรรมชาติ เป็นนักคิด นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์และนักวารสารศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทย และผู้สื่อข่าวสงครามคนแรกของประเทศไทย (ในสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง) เคยเป็นบรรณาธิการนิกรวันอาทิตย์” และ “อักษรสาส์น” เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ประจำสถานทูตไทย ณ ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป คือ สหภาพโซเวียต สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส เป็นผู้บริหารและฝ่ายวิชาการของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย และเป็นอาจารย์พิเศษที่ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สุภา ศิริมานนท์
สุภา ศิริมานนท์ และ จินดา ศิริมานนท์ ภริยา
สุภา ศิริมานนท์ และ จินดา ศิริมานนท์ ภริยา
เกิด15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457
อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
เสียชีวิต15 มีนาคม พ.ศ. 2529 (71 ปี)
นามปากกาจิตติน ธรรมชาติ
ษี บ้านกุ่ม
อาชีพนักเขียน นักแปล นักหนังสือพิมพ์
คู่สมรสจินดา ศิริมานนท์ (สุนทรโรหิต)

ประวัติ แก้

สุภา ศิริมานนท์ เกิดเมื่อวันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 ที่ ตำบลบ้านท้ายตลาด อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง บิดาคือ หลวงนฤมานสัณหวุฒิ มารดาชื่อ แม้น นฤมานสัณหวุฒิ เข้าศึกษาที่โรงเรียนสมเด็จเจ้าพระยา, โรงเรียนสวนกุหลาบ (ส.ก. 6153), ถึงแก่กรรมในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2529 โดยโรคมะเร็งในตับอ่อน

ผลงาน แก้

เป็นผู้แปล “แคปปิตอลลิซม์” (ทุนนิยม) ของ คาร์ล มาร์กซ์ เป็นภาษาไทย โดยใช้ชื่อว่า แคปิตะลิสม์ สุภาเป็นผู้แต่งหนังสือ “วรรณสาส์นสำนึก” (พิมพ์ในนิตยสารช่วง พ.ศ. 2492 - 2495 พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2529) ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน งานเขียน “ภาวะของศิลปะใต้ระบอบเผด็จการฟาสซีสม์” ของสุภา (ใช้นามปากกา จิตติน ธรรมชาติ) เคยถูกตีตราว่าเป็น "หนังสือต้องห้าม" ในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ถูกแต่งตั้งจาก คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งได้ออกรายชื่อหนังสือต้องห้ามกว่าสองร้อยรายการ ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารสิ่งตีพิมพ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง [3] แต่ในภายหลังก็ถูกยกเลิกไป

นอกจากงานเขียนเชิงวิชาการแล้ว สุภายังมีผลงานนวนิยาย (เรื่องเดียวในชีวิต ใช้นามปากกา "ษี บ้านกุ่ม") คือ “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?” โดยมีเค้าเรื่องจากบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ใช้เหตุการณ์จลาจลปลายสมัยกรุงธนบุรี นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอคำสอนพระราชาด้วยแนวคิดสังคมนิยม จึงแตกต่างกับวรรณกรรมคำสอนพระราชาทั่วไป ซึ่งมีแนวคิดแบบจารีตนิยม[4]

งานชิ้นสุดท้ายของ จิตร ภูมิศักดิ์ คือ "ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" ได้ฝากไว้กับเพื่อนนักเขียนผู้อาวุโสของเขา คือ สุภา คิริมานนท์ โดยบอกฝากไว้เพียงสั้น ๆ ว่า “ถ้าหากมีทุนและมีโอกาสก็ขอให้จัดพิมพ์ให้ด้วย รวมทั้งถ้าหากมีตรงไหนบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ก็ขอให้แก้ไขตกเติมให้ด้วย" คุณสุภา คิริมานนท์ได้เก็บต้นฉบับรักษาไว้เป็นอย่างดีเกือบ 10 ปี และเมื่อบรรยากาศทางการเมืองเริ่มจะเอื้ออำนวย กอรปทั้งมีคนเริ่มสนใจใฝ่รู้ในงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ มากขึ้น ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 งานของจิตร ภูมิศักดิ์ จึงถูกเสนอมายังทางมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสฅร์และมนุษยศาสตร์ ได้จัดตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2519 จำนวน 5000 เล่ม จึงได้ปรากฏต่อมหาชน

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม แก้

อ้างอิง แก้

  1. หนังสือ ยอดคนวรรณกรรม เขียนโดย ส. ทรงศักดิ์ศรี ระบุว่า มารดาของสุภา ศิริมานนท์ ชื่อ ผิน เป็นบุตรสาวของหลวงนฤมานสัณหวุฒิ (เดิมมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนไชยสุภา) ผิน พบรักและมีลูกกับลูกน้องของขุนไชยสุภาชื่อ นายเขียน ศิริบูรณ์ เมื่อคลอดได้ 9 เดือน นายเขียน ศิริบูลย์ บิดาที่แท้จริงเสียชีวิต ขุนไชยสุภาจึงได้จดทะเบียนรับหลานตัวมาเป็นลูกบุญธรรม และตั้งชื่อว่า "สุภา" ตามชื่อสร้อยของบรรดาศักดิ์ของตนในขณะนั้น
  2. ส. ทรงศักดิ์ศรี. ยอดคนวรรณกรรม. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, [ม.ป.ป.]. 208 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-602-642-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง เรื่องกำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง] ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ในวิกิซอร์ซ
  4. “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ของสุภา ศิริมานนท์ : วรรณกรรมคำสอนพระราชานอกกระแสจารีต บาหยัน อิ่มสำราญ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร