วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดพระศรีมหาธาตุ ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2484 และเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2485[1] สร้างในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้สร้างวัดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นอนุสรณ์การปกครองระบอบประชาธิปไตย และกำหนดให้แล้วเสร็จทันวันชาติ คือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สร้างวัดขึ้นโดยให้ชื่อว่า วัดประชาธิปไตย ระหว่างการก่อสร้างพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ขณะมียศเป็นนาวาเอก หลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์) ได้เดินทางไปขอพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย รวมทั้งกิ่งพระศรีมหาโพธิ 5 กิ่ง จากต้นที่สืบเนื่องมาจากต้นที่พระโคตมพุทธเจ้าเสด็จประทับ และตรัสรู้ พร้อมดินจากสังเวชนียสถานคือสถานที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่แสดงปฐมเทศนา และที่ปรินิพพาน รัฐบาลได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ กิ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์และดินดังกล่าวมาประดิษฐานที่วัดซึ่งกำลังสร้างนี้ ได้มีการตั้งนามวัดว่า วัดพระศรีมหาธาตุ และถวายเป็นเสนาสนะเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485

วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
วัดที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระศรีมหาธาตุ
ที่ตั้งถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระประธานพระศรีสัมพุทธมุนี
พระพุทธรูปสำคัญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย
เจ้าอาวาสพระพรหมมุนี (บุญเรือง ปุญฺญโชโต)
เวลาทำการทุกวัน 8.00 - 20.00 น.
เว็บไซต์www.watphrasri.org
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระศรีมหาธาตุมีถาวรวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจดีย์ศรีมหาธาตุซึ่งภายในมีเจดีย์องค์เล็กประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและที่ผนังมีช่องบรรจุอัฐิของผู้ทำประโยชน์แก่ประเทศซึ่งรัฐบาลและสภาผู้แทนเห็นสมควร และยังมีพระศรีสัมพุทธมุนี เป็นพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัยซึ่งเดิมประดิษฐานที่วังหน้า

นอกจากนี้ในพื้นที่วัด ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ด้วย

ประวัติ แก้

 
ป้ายทางเข้าวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เริ่มสร้างเมื่อปี พุทธศักราช 2483 ที่ริมถนนพหลโยธิน ตรงหลักกิโลเมตรที่ 18 แขวงอนุสาวรีย์ (เดิมชื่อตำบลกูบแดง) เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เปิดเป็นเสนาสนะแห่งพระภิกษุสงฆ์ เป็นรัฐพิธี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นประธาน เชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงยศ และบรรดาศักดิ์ เป็นพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติเงินเพื่อสร้างวัด เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และประสงค์จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ คือ 24 มิถุนายน 2484 สถานที่ที่จะสร้างนั้นควรอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ โดยท่านมีเหตุผลว่าชาติกับศาสนานั้นเป็นของคู่กัน จะแยกจากกันมิได้ และหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรสร้างวัดขึ้นใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ ซึ่งอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้จารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปราบกบฏบวรเดชเมื่อปี พ.ศ. 2476 และประสงค์จะให้ชื่อว่า "วัดประชาธิปไตย"

ในขณะที่กำลังดำเนินการพิจารณาอยู่นั้น เกิดศุภนิมิตรอันประเสริฐโดยที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ส่งคณะทูตพิเศษ อันมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็นนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอินเดีย (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อินเดียยังไม่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ) คณะทูตได้ติดต่อขอดังนี้

  1. พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  2. ขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ 5 กิ่ง จากต้นที่สืบเนื่องมาแต่เดิม ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับ ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ พุทธคยาประเทศอินเดีย
  3. ขอดินจากสังเวชนียสถาน 4 แห่งคือ จากที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

รัฐบาลอินเดียได้พิจารณาเห็นว่า ประชาชนที่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนานั้นมีมาก แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ แต่มีประเทศเดียวเท่านั้นในโลกนี้ (พ.ศ. 2484) ที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาทางราชการเป็นศาสนาประจำชาติ[ต้องการอ้างอิง] เป็นประเทศเอกราช มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศและทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก "ประเทศนั้นคือ" ประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลอินเดียจึงพิจารณามอบให้ คือ

  1. พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบค้นพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
  2. มอบกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ให้ตามที่รัฐบาลไทยเสนอขอ 5 กิ่ง
  3. และมอบดินจากสังเวชนียสถานให้ตามความประสงค์

รัฐบาลไทยจึงตกลงที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดที่สร้างใหม่นี้ และเห็นว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระบรมสารีริกธาตุเป็นมหาสิริมงคลแก่วัดที่จะสร้างใหม่ ซึ่งได้รับมาในโอกาสเดียวกันกับที่จะสร้างวัดพอดี จึงตกลงตั้งนามวัดว่า "วัดพระศรีมหาธาตุ"

การสร้างวัดจึงได้เริ่มต้นขึ้น และรัฐบาลพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การสร้างวัดนี้ควรเป็นงานของชาติ ประชาชนควรได้มีส่วนร่วมด้วย รัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริจาคทรัพย์ จึงมีประชาชนจำนวนมากมหาศาล ที่บริจาคที่ดิน บริจาคเงิน บริจาคทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เป็นอันมาก โดยที่วัดนี้จะเป็นการสร้างวัดอย่างเป็นทางการวัดแรก ในระบอบประชาธิปไตยและยังประสงค์จะให้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์อีกด้วย ดังนั้นเพื่อเชิดชูพระพุทธศาสนา และรักษาศิลปของไทย รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ร่วมมือกันสร้าง ในขั้นต้นได้มอบให้พลเอกจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็น พันเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ์ และอีกท่านหนึ่งคือพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นผู้ออกแบบ นายช่างกรมศิลปากรและกรมรถไฟ เป็นนายช่างก่อสร้าง และเชิญผู้มีเกียรติที่มีความรู้ทางเทคนิค เฉพาะทางอีกหลายท่านมาร่วมด้วยจนสำเร็จ กระทำพิธีเปิดและถวายเป็นเสนาสนะแห่งภิกษุสงฆ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485

พื้นที่ แก้

ที่ดินของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รวมเนื้อที่ทั้งหมด 246 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา ด้านหน้าติดถนน พหลโยธิน แบ่งออกเป็นที่ตั้งวัด 83 ไร่เศษ และที่ธรณีสงฆ์เหลือจากที่ตั้งวัดอีก 163 ไร่เศษ ได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นที่สำนักสงฆ์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2484 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2484

พระอุโบสถ แก้

พระอุโบสถเป็นแบบพระที่นั่งจตุรมุข ต่อจากมุขด้านเหนือและใต้เป็นวิหารคตล้อมตัวอุโบสถอยู่อีกชั้นหนึ่ง ด้านหลังเป็นศาลาการเปรียญ ตรงหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งพระมหาเจดีย์ สูง 38 เมตร มีนามว่าพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ ได้มีพระราชพิธียกฉัตรยอดเจดีย์ เมื่อ 25 เมษายน พ.ศ. 2484 พระมหาเจดีย์นี้เป็น 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นเจดีย์ใหญ่ ชั้นในเป็นเจดีย์องค์เล็กอยู่ตรงกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในระหว่างผนังด้านในของเจดีย์องค์ใหญ่กับองค์เล็กมีเนื้อที่กว้าง 2 เมตรครึ่ง เป็นทางเดินได้รอบ มีประตูเข้าออก 4 ด้าน สำหรับให้ประชาชนเข้าไปนมัสการ ผนังด้านในของพระเจดีย์องค์ใหญ่ได้ทำเป็นช่องไว้ 112 ช่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2484 ให้ใช้สำหรับบรรจุอัฐิผู้ที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นสมควร กล่าวคือผู้ที่ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ เช่นเดียวกับของฝรั่งเศส ตรงหน้าพระเจดีย์ออกไปทั้ง 2 ข้าง ด้านตะวันออกทำเป็นเกาะรูปกลมมีน้ำล้อมรอบ สำหรับเป็นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ กิ่งพระศรีมหาโพธิ์นั้นทางรัฐบาลอินเดียมอบให้มา 5 กิ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานประกอบพิธีปลูกไว้ ณ เกาะกลมนั้น ตรงที่สุดของคูทั้งสอง 2 ข้าง ทางทิศตะวันออก เกาะละต้น เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2484 และกิ่งที่เหลือนำไปปลูก ณ วัดในภาคต่าง ๆ

ลำดับเจ้าอาวาส แก้

วัดพระศรีมหาธาตุ มีลำดับเจ้าอาวาสดังนี้[2]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) พ.ศ. 2485 พ.ศ. 2499
2 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2517
3 พระเทพสุเมธี (แสวง วิมโล) พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2521
4 พระเทพรัตนดิลก (สมัย ปภสฺสโร) พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2539
5 พระพรหมมุนี (บุญเรือง ปุญฺญโชโต) พ.ศ. 2539 ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดให้วัดพระศรีมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก, เล่ม 58, ตอน 0 ง, 7 กรกฎาคม 2484, หน้า 2154
  2. คณะศิษยานุศิษย์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร. ที่ระลึก วันบุรพาจารย์ "๔๔". กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], 2544. 112 หน้า. หน้า 7, 11, 25, 29.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

หนังสือและบทความ แก้

  • ชาตรี ประกิตนนทการ. “วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน: วัดสัญลักษณ์ประชาธิปไตยยุคคณะราษฎร.” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. หน้า 195–217. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.
  • วิศรุต บวงสรวง. “‘พระพุทธสิหิงค์รัชกาลที่ 1’ กับการเมืองไทยสมัยคณะราษฎร ทศวรรษ 2470–90.” ศิลปวัฒนธรรม 41, 2 (ธันวาคม 2562): 66–83.

เว็บไซต์ แก้

13°52′27″N 100°35′35″E / 13.874288°N 100.592923°E / 13.874288; 100.592923