ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (บาลี: โพธิรุกฺข) เป็นต้นโพที่พระโคตมพุทธเจ้าเคยประทับและตรัสรู้ ดังปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาว่าต้นโพธิ์เปรียบได้กับพุทธอุเทสิกเจดีย์อย่างหนึ่ง ทำให้พันธ์ต้นโพกลายเป็นพันธ์ไม้ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธเสมอมานับแต่สมัยพุทธกาล ต้นโพธิ์ในพระพุทธประวัติสองต้นคือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ และต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งอานันทโพธิ์ยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยคำว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" นั้น อาจหมายถึงต้นที่อยู่ที่พุทธคยา ต้นโพธิ์ที่สืบมาจากหน่อโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา หรือต้นโพธิ์ที่เป็นอุเทสิกเจดีย์อื่น ๆ ก็ได้ เช่น ต้นโพตามวัดต่าง ๆ

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เหนือพระแท่นวัชรอาสนพุทธบัลลังก์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ต้นโพธิ์ที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ
ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ ที่จังหวัดปราจีนบุรี เชื่อว่าเป็นต้นโพต้นแรกในไทย อายุมากกว่า 2,000 ปี

ในปัจจุบันต้นพระศรีโพธิ์สำคัญที่ยังคงยืนต้นอยู่ในปัจจุบันมี 3 ต้นด้วยกัน คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา, ต้นพระชัยศรีมหาโพธิ์เมืองอนุราธปุระ, และต้นอานันทโพธิ์วัดพระเชตวันมหาวิหาร แต่ต้นโพธิ์พระเจ้าอโศกแห่งเมืองอนุราธปุระ ที่นำหน่อพันธ์มาจากพุทธคยา ได้รับการเคารพนับถือและปฏิบัติบูชาด้วยความเคารพอย่างสูงมาตลอดตั้งแต่สองพันปีโดยไม่ขาดช่วง มีการทำกำแพงทองคำและมีชาวพุทธผู้ศรัทธามาทำการสักการะตลอดเวลา ซึ่งต่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาที่ถูกทำลายและล้มลงตามธรรมชาติหลายครั้ง และต้นอานันทโพธิ์ที่วัดเชตวันที่ขาดช่วงการดูแลจากชาวพุทธหลังจากพระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย[1]

แม้ในประเทศไทย จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับต้นพระศรีมหาโพธิ์เท่ากับชาวพุทธในศรีลังกา แต่ปรากฏตามความเชื่อในประเทศไทยว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำปีเกิดสำหรับผู้ที่เกิดปีมะเส็ง สำหรับชาวล้านนายังมีความเชื่ออีกว่า ต้นโพธิ์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ช่วยขจัดความทุกข์ได้ จึงมีประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์ และเครื่องประกอบพิธีกรรม ใต้ต้นโพธิ์ โดยผูกคติกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่ใช่ความหมายเดิมของการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ตามคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตามต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่สืบหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้ในประเทศไทยยังคงมีอยู่หลายต้น เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดต้นศรีมหาโพธิ์ (ที่เชื่อว่านำเข้ามาปลูกสมัยทวาราวดี), วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร[2] วัดมณีชลขัณฑ์ (ปลูกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นต้น

แม้การทำลายต้นโพธิ์ตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจะระบุว่าเป็นการทำบาปและหลบหลู่พระรัตนตรัย แต่ในมหาสมณวินิจฉัย ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส[2] กล่าวว่าเฉพาะต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เป็นอุทเทสิกเจดีย์เท่านั้น ต้นโพที่งอกทั่วไปและไม่ได้เป็นอุเทสิกาเจดีย์ คือไม่มีผู้เคารพบูชาในฐานะตัวแทนของพระพุทธเจ้า (เช่นเดียวกับพระพุทธรูป)

ต้นโพธิ์ในพุทธกาลต่าง ๆ

แก้
พระพุทธเจ้า ต้นโพธิ์
พระทีปังกรพุทธเจ้า ดีปลี (บาลี: ปิปฺผลี)
พระโกณฑัญญพุทธเจ้า สาละ (บาลี: สาล)
พระมังคลพุทธเจ้า กากะทิง/บุนนาค (บาลี: นาค)
พระสุมนพุทธเจ้า กากะทิง/บุนนาค (บาลี: นาค)
พระเรวตพุทธเจ้า กากะทิง/บุนนาค (บาลี: นาค)
พระโสภิตพุทธเจ้า กากะทิง/บุนนาค (บาลี: นาค)
พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า อรชุน (บาลี: อชฺชุน)
พระปทุมพุทธเจ้า อ้อยช้าง (บาลี: โสณ)
พระนารทพุทธเจ้า อ้อยช้าง (บาลี: โสณ)
พระปทุมุตรพุทธเจ้า เกี๊ยะ (บาลี: สลฬ)
พระสุเมธพุทธเจ้า สะเดา (บาลี: นิมฺพ)
พระสุชาตพุทธเจ้า ไผ่ (บาลี: เวฬุ)
พระปิยทัสสีพุทธเจ้า สมอเทศ (บาลี: กกุธ)
พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า จำปา (บาลี: จมฺปก)
พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า มะพลับ (บาลี: ติมฺพชาล)
พระสิทธัตถพุทธเจ้า กะหนานปลิง (บาลี: กณฺณิการ)
พระติสสพุทธเจ้า รกฟ้า (บาลี: อสน)
พระปุสสพุทธเจ้า มะขามป้อม (บาลี: อามลก)
พระวิปัสสีพุทธเจ้า แคฝอย (บาลี: ปาฏลี)
พระสิขีพุทธเจ้า มะม่วงบุณฑริก (บาลี: ปุณฑรีก)
พระเวสสภูพุทธเจ้า สาละ (บาลี: สาล)
พระกกุสันธพุทธเจ้า พฤกษ์ (บาลี: สิรีส)
พระโกนาคมนพุทธเจ้า มะเดื่อชุมพร (บาลี: อุทุมฺพร)
พระกัสสปพุทธเจ้า นิโครธ (บาลี: นิโคฺรธ)
พระโคตมพุทธเจ้า โพ (บาลี: อสฺสตฺถ)
พระเมตไตรยพุทธเจ้า กากะทิง/บุนนาค (บาลี: นาค)[3]
พระรามสัมพุทธเจ้า จันทน์ (บาลี: จนฺทน)[4]
พระธรรมราชาสัมพุทธเจ้า กากะทิง/บุนนาค (บาลี: นาค)[5]
พระธรรมสามีสัมพุทธเจ้า สาละ (บาลี: สาล)[6]
พระนารทสัมพุทธเจ้า จันทน์ (บาลี: จนฺทน)[7]
พระรังสีมุนีสัมพุทธเจ้า ดีปลี (บาลี: ปิปฺผลี)[8]
พระเทวเทพสัมพุทธเจ้า จำปา (บาลี: จมฺปก)[9]
พระนรสีหสัมพุทธเจ้า แคฝอย (บาลี: ปาฏลี)[10]
พระติสสสัมพุทธเจ้า นิโครธ (บาลี: นิโคฺรธ)[11]
พระสุมังคลสัมพุทธเจ้า กากะทิง/บุนนาค (บาลี: นาค)[12]

อ้างอิง

แก้
  1. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา.ตำนานพุทธเจดีย์[ลิงก์เสีย]. กรุงเทพ: โรงพิมพ์ไทยพิทยา. ๒๔๙๐
  2. 2.0 2.1 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส. พระมหาสมณวินิจฉัย. พิมพ์ครั้งที่ ๕ กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕
  3. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์, หน้า 20
  4. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์, หน้า 29
  5. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์, หน้า 31
  6. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์, หน้า 34
  7. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์, หน้า 39
  8. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์, หน้า 42
  9. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์, หน้า 47
  10. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์, หน้า 50
  11. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์, หน้า 53
  12. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์, หน้า 63
บรรณานุกรม
  • ประภาส สุระเสน. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2553. 198 หน้า. ISBN 974-580-742-7

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

24°41′45.29″N 84°59′29.29″E / 24.6959139°N 84.9914694°E / 24.6959139; 84.9914694