พฤกษ์

สปีชีส์ของพืช

พฤกษ์, ซึก, มะรุมป่า หรือ จามจุรีทอง (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เรียกว่า จามจุรี; ชื่อวิทยาศาสตร์: Albizia lebbeck) พฤกษ์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยจึงพบว่าเป็นต้นไม้ พื้นบ้านที่พบขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ทุกภาคของประเทศไทย ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Indian Walnut หรือ Siris น่าสังเกตว่า พฤกษ์ มีชื่อซ้ำกับพืชชนิดอื่นที่เรารู้จักกันดีด้วย คือ จามจุรี และก้ามปู อันเป็นต้นไม้อยู่ในวงศ์เดียวกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Samanea saman (Jacq.) Merr. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Rain Tree ความจริงจามจุรี (ก้ามปู, ฉำฉา) เป็นต้นไม้มาจากทวีปอเมริกาใต้ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ ชื่อจามจุรี หรือก้ามปูก็นำไปจากชื่อของต้นพฤกษ์นี้เอง เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะลักษณะดอกที่มีเกสรยาวเป็นฝอย ต่างกันที่สีดอกพฤกษ์มี สีขาวเหลือง แต่ดอกจามจุรี(ใหม่) สีออกชมพูแดง จึงเรียกในสมัยแรกๆ ว่าจามจุรีแดง เพื่อให้เห็นความแตกต่างจากจามจุรีเดิม(พฤกษ์) ซึ่งมี ดอกสีขาวเหลือง ต่อมาเรียกสั้น ลงว่าจามจุรี (เฉยๆ) ไม่มีคำว่าแดง ตามหลัง และไม่มีเรียกต้นพฤกษ์ ว่าจามจุรีหรือก้ามปูอีกมาจนถึงปัจจุบัน

พฤกษ์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: โรสิด
อันดับ: ถั่ว
วงศ์: ถั่ว
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยราชพฤกษ์
เคลด: Mimosoid clade
สกุล: สกุลถ่อน
(L.) Benth.
สปีชีส์: Albizia lebbeck
ชื่อทวินาม
Albizia lebbeck
(L.) Benth.
ชื่อพ้อง

See Taxonomy

ในอดีตที่คนไทยภาคกลางเรียกพฤกษ์ว่าจามจุรีหรือจามรี น่าจะเป็นเพราะลักษณะดอกเป็นฝอย และมีสีออกเหลืองคล้ายแส้ขนจามรี (จามจุรี) ที่ใช้ในพิธีมงคลนั่นเอง ส่วนที่ได้ชื่อว่าก้ามปู ก็เพราะลักษณะตอนปลายช่อใบคล้ายก้ามปูทะเล จึงเรียกว่า ต้นก้ามปู ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของต้นพฤกษ์ ก็คือ กลางคืนใบจะหุบลีบติดกัน เหมือนนอนหลับและแผ่ออกจากกันตอนเช้าไปจนตลอดวัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

พฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ทรงพุ่มกว้างพอสมควร ด้านบนพุ่มค่อนข้างแบน เปลือกสีเทาเข้มหรือน้ำตาลอมเหลือง ผิวเปลือกขรุขระมักแตกเป็นร่องยาว เปลือกด้านในมีสีแสดแดง ใบเป็นรูปขนนก สองชั้นเรียงสลับกัน ก้านช่อใบยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีขนละเอียดปกคลุม ช่อใบแขนงยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใบย่อยทรงยาวรี กว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร ใบร่วงในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม (ผลัดใบ) แตกยอดอ่อนราวปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม ดอกเกิดที่ปลายกิ่งและโคนก้านใบ ออกเป็นช่อยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรยาวเป็นฝอยมีสีขาวอมเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม มักออกดอกในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ฝักแบนโตคล้ายฝักกระถิน สีขาวอมเหลือง กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10 ถึง 30 เซนติเมตร มีเมล็ด 4-12 เมล็ดต่อฝัก

การใช้ประโยชน์ แก้

 
เปลือกไม้ของพฤกษ์

พฤกษ์มีการนำมาปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ [2] ในอินเดียและปากีสถานใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ เนื้อไม้ของพฤกษ์มีความหนาแน่น 0.55-0.66 g/cm3 หรือสูงกว่า[3]

พฤกษ์เป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย อยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนานจึง ย่อมถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างรอบด้าน เช่น ด้านสมุนไพรรักษาโรค โดยใช้ส่วนต่างๆของพฤกษ์ ดังนี้

เมล็ดและเปลือก : มีรสฝาด เป็นยาสมาน เช่น รักษาแผลในปาก, ในลำคอ, เหงือกหรือฟันผุ, ริดสีดวงทวารหนัก, แก้ท้องร่วง, ห้ามเลือดตกใน

เมล็ด : รักษากลากเกลื้อน, โรคเรื้อน, ทำยารักษาเยื่อตาอักเสบ

ใบ : ใช้ดับพิษร้อน ทำให้เย็น

พฤกษ์เป็นต้นไม้โตเร็วและทนทาน เหมาะสำหรับปลูกในที่เสื่อมโทรมและแห้งแล้งสามารถปรับปรุงสภาพดินให้สมบูรณ์ขึ้นได้ เนื่องจากเป็นพืชตะกูลถั่วจึงสามารถจับไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยไนเตรตได้ดี เนื้อไม้พฤกษ์เหนียว แข็งแรง ทนทานปานกลาง เลื่อยไสกบได้ง่าย มีสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ เป็นมัน เป็นไม้ที่ใช้ค้าขายระหว่างประเทศด้วยชื่อทางการค้าคือ Indian Walnut Siris และ Kokko

เนื่องจากพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์และผูกพันกับคนไทยมากชนิดหนึ่ง จึงได้รับการพิจารณาให้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงโปรดพระราชทานกล้าไม้มงคลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดนำไปปลูกเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นไม้มงคลประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด โดยจังหวัดมหาสารคาม ได้รับพระราชทานต้นพฤกษ์เป็นไม้มงคลประจำจังหวัด ดังนั้นต่อไปนี้คนไทยที่ปลูกต้นพฤกษ์นอกจากจะได้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ผัก, สมุนไพร, ร่มเงา, เนื้อไม้ ฯลฯ แล้วยังจะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวอีกด้วย[4]

ความเป็นพิษ แก้

ฝุ่นจากไม้มีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อน อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูกและลำคอของคนงานโรงเลื่อย เปลือกใช้เป็นยาเบื่อปลา สีย้อมสีแดงจากเปลือกไม้ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ฝักมีซาโปนินและกินไม่ได้มาก[5]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Plummer, J. (2020). "Albizia lebbeck". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T18435916A18435924. สืบค้นเมื่อ 9 March 2023.
  2. International Legume Database & Information Service (ILDIS) (2005): Albizia lebbeck (L.) Benth.. Version 10.01, November 2005. Retrieved 2008-MAR-30.
  3. Brown, Sandra. (1997): Appendix 1 - List of wood densities for tree species from tropical America, Africa, and Asia. In: Estimating Biomass and Biomass Change of Tropical Forests: a Primer. FAO Forestry Papers 134. ISBN 92-5-103955-0 HTML fulltext
  4. https://khaolan.redcross.or.th/%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C/
  5. https://gdpark.asia/seed/tree/2080
  • เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552

แหล่งข้อมูลอื่น แก้