พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง คือ วัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าจำนวนในบัญชีเป็นพระอารามหลวง[1]

ประวัติ

แก้

แต่เดิมนั้นยังไม่มีการจัดแบ่งพระอารามหลวงอย่างเป็นทางการ เพียงแต่มีการจัดแบ่งพระอารามหลวงออกเป็นหลายชั้นตามความรู้สึกหรืออาศัยการคาดเดาตามสถานการณ์ เช่น ดูจากการพระราชทานเทียนพรรษาขี้ผึ้งหรือไม้เล่มเดียวหรือมากกว่านั้น หรือดูจากการบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานแก่เจ้าพนักงานผู้คุมเลกข้าพระ เป็นต้น หลังจากนั้น กระทรวงธรรมการร่วมกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้จัดระเบียบพระอารามหลวงเพื่อประมาณค่าบำรุงวัดหลักจากเลิกเลขวัด แต่ไม่ได้นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดระเบียบพระอารามหลวง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีการจัดระเบียบพระอารามหลวงขึ้นอย่างเป็นระบบตั้งแต่นั้นมา[2] โดยในการประกาศครั้งแรก มีพระอารามหลวงในกรุงเทพ 76 วัด พระอารามหลวงในหัวเมือง 41 วัด รวมเป็น 117 วัด[3] ข้อมูล พ.ศ. 2564 มีพระอารามหลวงรวม 310 วัด[4]

โดยในครั้งนั้น วัดที่จัดว่าเป็นพระอารามหลวงนั้น คือ วัดอันสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้าง ทรงปฏิสังขรณ์เป็นส่วนพระองค์หรือทรงในนามท่านผู้อื่น และอารามอันพระบรมวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่สร้างปฏิสังขรณ์ทรงรับไว้ในความบำรุงของแผ่นดิน[2] ภายหลังจึงหมายรวมถึงวัดราษฎร์ที่ที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์ แล้วทรงพิจารณาเห็นสมควรยกย่องเป็นพิเศษก็ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง[5]

การแบ่งพระอารามหลวง

แก้

แบ่งตามระดับชั้น

แก้

การจัดลำดับชั้นของพระอารามหลวง เริ่มมีขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2458 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบแบ่งชั้นพระอารามหลวงออกเป็นสามชั้น แต่ละชั้นยังแยกระดับออกไปอีกหลายระดับ โดยมีสร้อยต่อท้ายชื่อวัดตามฐานะดังนี้

  1. พระอารามหลวงชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานบรรจุพระบรมอัฐิ หรือเป็นวัดที่มีเกียรติสูง มี 3 ชนิด คือ
    • ชนิดราชวรมหาวิหาร
    • ชนิดราชวรวิหาร
    • ชนิดวรมหาวิหาร
  2. พระอารามหลวงชั้นโท ได้แก่ วัดที่มีเจดียสถานสำคัญ มี 4 ชนิด คือ
    • ชนิดราชวรมหาวิหาร
    • ชนิดราชวรวิหาร
    • ชนิดวรมหาวิหาร
    • ชนิดวรวิหาร
  3. พระอารามหลวงชั้นตรี ได้แก่ วัดประจำหัวเมือง หรือวัดที่มีความสำคัญชั้นรอง มี 3 ชนิด คือ
    • ชนิดราชวรวิหาร
    • ชนิดวรวิหาร
    • ชนิดสามัญ (ไม่มีสร้อยนามต่อท้าย โดยส่วนใหญ่จะต่อท้ายว่า พระอารามหลวง)

แบ่งตามฐานันดรศักดิ์

แก้
  • ราชวรมหาวิหาร หมายถึง พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ โดยมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่โตสมพระเกียรติ
  • ราชวรวิหาร หมายถึง พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์
  • วรมหาวิหาร หมายถึง พระอารามในลักษณะเดียวกับชนิดราชวรวิหาร แต่มีความสำคัญน้อยกว่าและทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์แล้วพระราชเกียรติแก่ผู้อื่น
  • วรวิหาร หมายถึง พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์พระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมา อาจเป็นวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์ และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงและยกเป็นเกียรติยศ

การขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง

แก้

วัดราษฎร์สามารถยกฐานะเป็นพระอารามหลวงได้ โดยมีข้อกำหนดพิเศษในการพิจารณาเป็นพระอารามหลวง ได้แก่ เป็นวัดที่มีถาวรวัตถุ และปูชนียวัตถุ มีกิจกรรมเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นวัดที่หน่วยงานราชการประกอบพิธีกรรมเป็นประจำ ต้องมีอายุ 50 ปี ขึ้นไป มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาตั้งแต่ 20 รูปขึ้นไป ติดต่อกัน 5 ปี จนถึงปีปัจจุบัน มีการจัดการศึกษาแผนกธรรมและบาลีและแสดงสถิติผลการจัดการศึกษาย้อนหลัง 5 ปี และมีการจัดระบบภายในวัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการศึกษาและเผยแผ่พุทธศาสนาที่เป็นหลักฐาน[6]

เจ้าอาวาส

แก้

จากประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่องจัดระเบียบพระอารามหลวง ระบุสมณศักดิ์ของเจ้าอาวาส ว่า พระอารามหลวงในกรุงเทพ ชั้นเอก มีเจ้าอาวาสเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ขึ้นไป (ตั้งแต่ชั้นราชขึ้นไป) พระอารามหลวงชั้นโท มีเจ้าอาวาสเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญขึ้นไป พระอารามหลวงชั้นตรี มีเจ้าอาวาสเป็นเป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไป ส่วนพระอารามหลวงชั้นหัวเมือง ชั้นเอกมีเจ้าอาวาสเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญขึ้นไป ชั้นโทมีเจ้าอาวาสเป็นพระครูชั้นสูงขั้นไป ชั้นตรีมีเจ้าอาวาสเป็นพระครูชั้นต่ำขึ้นไป[3]

รายชื่อพระอารามหลวงชั้นเอก

แก้
ชื่อวัด จังหวัด ภูมิภาค นิกาย เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ประสฤทธิ์ เขมงฺกโร)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย พระพรหมวชิราธิบดี (พีร์ สุชาโต)
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย พระพรหมวชิรมุนี (เชิด จิตฺตคุตฺโต)
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย พระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท)
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร สระบุรี ภาค 2 มหานิกาย พระธรรมปิฎก (ชวลิต อภิวฑฺฒโน)
วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร นครปฐม ภาค 14 มหานิกาย พระพรหมเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม)
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 ธรรมยุต พระพรหมวชิรรังษี (จิรพล อธิจิตฺโต)
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 ธรรมยุต พระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 ธรรมยุต สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย พระธรรมวชิราธิบดี (ฉ่ำ ปุญฺญชโย)
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 มหานิกาย พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช)
วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา ภาค 2 ธรรมยุต พระเทพมงคลโสภณ (โสภณ ปุญฺญโสภโณ)
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา ภาค 2 มหานิกาย พระเมธีวชิรธาดา (เวชยันต์ เวชยนฺโต)
วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา ภาค 2 ธรรมยุต พระราชวชิรสารสุธี (เอนก มนุญฺโญ)
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร สุโขทัย ภาค 5 มหานิกาย พระเทพวชิรเวที (บุญโรจน์ จนฺทปญฺโญ)
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร สุราษฎร์ธานี ภาค 16 มหานิกาย พระครูพิทักษ์เจติยานุกูล (สุเทพ สุเทโว) (ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส)[7]
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาค 1 ธรรมยุต พระพรหมมุนี (บุญเรือง ปุญฺญโชโต)
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี ภาค 13 ธรรมยุต พระโสภณคณาภรณ์ (ไชยวัฒน์ ชยวฑฺฒโน)
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นครพนม ภาค 10 มหานิกาย พระธรรมวชิรโสภณ (สำลี ปญฺญาวโร)
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่ ภาค 7 มหานิกาย พระเทพสิงหวราจารย์ (โสภณ โสภโณ)
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ลำพูน ภาค 7 มหานิกาย พระเทพรัตนนายก (จำรัส ทตฺตสิริ)
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พิษณุโลก ภาค 5 มหานิกาย พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย)
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช ภาค 16 ธรรมยุต พระธรรมวชิรากร (สมปอง ปญฺญาทีโป)

รายชื่อพระอารามหลวงชั้นโท และ ตรี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  2. 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๘๔
  3. 3.0 3.1 "ตำนานพระอารามหลวง" (PDF). กรมศิลปากร.
  4. "พระอารามหลวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  5. ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พ.ศ. 2518[ลิงก์เสีย]
  6. "แบบรายงานการขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง".
  7. ตามคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ 01/2565 ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2565

ดูเพิ่ม

แก้