พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เดิมมีนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เดิมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อทำการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีตรุษสารท พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ เป็นต้น หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2330 พระองค์เสด็จไปยังเชียงใหม่ และไดัอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมา พระองค์จึงทรงพระราชอุทิศพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ปัจจุบัน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566
ประเภทพระที่นั่ง
ที่ตั้งแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
สร้างเมื่อพ.ศ. 2338[1]
สร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
การใช้งานดั้งเดิมท้องพระโรงสำหรับพระราชวังบวรสถานมงคล
บูรณะโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
สถานะยังมีอยู่
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
ผู้ดูแลกรมศิลปากร
ขึ้นเมื่อ9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519
เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล
เลขอ้างอิง0000015
พระพุทธสิหิงค์ องค์จริงจากสมัยอาณาจักรสุโขทัย ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ประวัติ

แก้

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สร้างพระที่นั่งขึ้น เดิมมีพระดำริว่าจะใช้สำหรับเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีตรุษสารท พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ ในระหว่างนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระบรมราชโองการให้พระองค์เสด็จขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่เพื่อสำรวจการสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้ประชาชนอยู่ได้ตามปกติ ซึ่งในขณะนั้น เมืองเชียงใหม่อาจจะถือได้ว่าเป็นเมืองร้างเนื่องจากเกิดศึกสงครามอยู่บ่อยครั้ง ประชาชนส่วนใหญ่จึงอพยพลี้ภัยไปอาศัยอยู่เมืองอื่น ในระหว่างการสำรวจนั้น พระองค์ได้พบพระพุทธสิหิงค์ และทรงระลึกได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่เคยประดิษฐาน ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาที่พระนคร แล้วทรงพระราชอุทิศพระที่นั่งองค์นี้ พร้อมทั้งสร้างปราสาททองห้ายอดถวายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และประทานนามพระที่นั่งว่า "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์"

ภายหลังการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชดำริว่า "พระพุทธรูปเงินทองและของพุทธบูชามีอยู่ในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มาก หากทิ้งไว้ผู้ร้ายจะลักเอาไปเสีย" ดังนั้น จึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปอื่น ๆ มาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่นั้นมา

ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระองค์โปรดให้รื้อปราสาททองห้ายอดซึ่งเคยประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ออก แล้วให้ตั้งพระแท่นเศวตฉัตรแทนเพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกแขกเมือง และพระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนา

ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงปฏิสังขรณ์พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ใหม่ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า การปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้เป็นที่น่าชมอย่างหนึ่งที่ของเดิมสิ่งใดดีเอาไว้หมดทุกอย่าง เป็นแต่ซ่อมแซมที่ชำรุด จึงยังแลเห็นของเดิมที่ทำโดยประณีตบรรจงมาจนทุกวันนี้ พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงเปลี่ยนนาม "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" เป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" อาจจะด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่

  1. เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีชื่อที่ใกล้เคียงกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ดังนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพจึงเปลี่ยนนามพระที่นั่งเพื่อให้แตกต่างไป
  2. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยขึ้นใหม่ ดังนั้น จึงได้เปลี่ยนชื่อพระที่นั่งเป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์" เพื่อให้ชื่อคล้องจองกัน
  3. หลังจากการสร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระองค์ทรงให้ย้ายพระแท่นเศวตฉัตรซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ไปไว้ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระองค์คงมีพระราชดำริให้พระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดังที่เคยเป็น จึงเปลี่ยนพระที่นั่งใหม่เป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์"

หลังจากนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับที่พระบวรราชวัง พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กลับมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ดังเดิม

อ้างอิง

แก้
  • แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525
  • สุนิสา มั่นคง, วังหน้า รัตนโกสินทร์, สำนักพิมพ์มติชน, 2543, ISBN 974-322-030-5
  • ไทยน้อย, วิญญาณของจอมทัพวังหน้ายัง "เฮี้ยน" อยู่ในธรรมศาสตร์, สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2520

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  1. Thailand's World Thai : พระที่นั่งพุทไธสวรรย์, thailandsworld.com .สืบค้นเมื่อ 07/07/2561