สถาปัตยกรรมไทย
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สถาปัตยกรรมไทย หมายถึงศิลปะการก่อสร้างของไทย อันได้แก่ วัด อาคาร บ้านเรือน โบสถ์ วิหาร วัง สถูป และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ มีลักษณะแตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ และคตินิยม สถาปัตยกรรมไทยมีมานานตั้งแต่ที่คนไทยเริ่มตั้งถิ่นฐาน และได้พัฒนาและปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ
รูปแบบ
แก้สามารถจัดหมวดหมู่ ตามลักษณะการใช้งานได้ 2 ประเภท คือ
- สถาปัตยกรรมที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเรือน ตำหนักวัง และพระราชวัง เป็นต้น บ้านหรือเรือนเป็นที่อยู่อาศัยของสามัญชน ธรรมดาทั่วไป ซึ่งมีทั้งเรือนไม้ และเรือนปูน เรือนไม้มีอยู่ 2 ชนิด คือ เรือนเครื่องผูก และ เรือนเครื่องสับ
ตำหนัก และวัง เป็นเรือนที่อยู่ของชนชั้นสูง พระราชวงศ์ หรือ ใช้เรียกที่ประทับชั้นรอง ของพระมหากษัตริย์
- สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องศาสนา
ได้แก่ โบสถ์, วิหาร, กุฏิ, หอไตร, หอระฆังและหอกลอง, สถูป, เจดีย์
สถาปัตยกรรมไทยสมัยประวัติศาสตร์
แก้ยุคทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12–16)
แก้จะปรากฏอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย แถบจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี ราชบุรี และ ยังกระจายไปอยู่ทุกภาคประปราย เช่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกและ ใต้ สถาปัตยกรรมแบบทวาราวดีมักก่ออิฐและใช้สอดิน เช่น วัดพระเมรุ และเจดีย์จุลปะโทนวัดพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม บางแห่งมีการใช้ศิลาแลงบ้าง เช่นก่อสร้างบริเวณฐานสถูป การก่อสร้างเจดีย์ในสมัยทวาราวดีทีพบทั้งเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ มียอดแหลมอยู่ด้านบน
ยุคศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13–18)
แก้พบในภาคใต้ ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยไม่ทราบแน่ชัด ในประเทศไทยจะพบร่องรอยการ สร้างสถูปตามเมืองสำคัญ เช่น เมืองครหิ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองตามพรลิงก์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย คือการสร้างสถูปทรงมณฑปให้มีฐานและเรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนยอดเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ส่วนฐานปากระฆังสร้างเป็นชึ้นลดหลั่นกันไป มีเจดีย์ประดับมุมและซุ้มบันแถลงในแต่ละทิศ ตัวอย่างเช่น พระบรมธาตุไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี
ยุคลพบุรี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12–18)
แก้พบบริเวณ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรูปแบบคล้ายศิลปะขอม เช่น เทวาลัย ปราสาท พระปรางค์ ต่างๆ นิยมใช้อิฐ หินทรายและศิลาแลง โดยใช้อิฐและหินทรายสำหรับสร้างเรือนปราสาทและใช้ศิลาแลง สร้างส่วนฐาน ต่อมาก็สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง สถาปัตยกรรมที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่เช่น ปรางค์วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย และ พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี
ยุคเชียงแสน (ราวพุทธศตวรรษที่ 16–23)
แก้พบในภาคเหนือ สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่สร้างเพื่อเป็นศาสนสถาน อาณาจักรเชียงแสนได้รับเอาศิลปวัฒนธรรมมาจากดินแดนแห่งอื่นเข้าผสมผสาน ทั้งศิลปะสุโขทัย ศิลปะทวาราวดี ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะพม่า เชียงแสนนั้นเคยเป็นเมืองหลวงของล้านนาต่อเนื่องจากเวียงกุมกาม เชียงแสนที่มีศิลปะหลายอย่างรวมกันนั้นเพราะว่า ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองที่มีศิลปะนั้น ๆ เช่น วัดพระธาตุจอมสวรรค์และวัดล้างหมายเลข 13 นอกเมืองเป็นต้น พบว่าได้มีศิลปะพม่าผสมผสานอยู่ด้วย
สถาปัตยกรรมยุคเชียงแสน เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ทั้งโบสถ์ วิหาร เจดีย์ โดยโบสถ์และวิหารสร้างด้วยไม้ เสาและฝาทำจากไม้ ฝาทำเป็นแบบฝาปะกน หลังคาเป็นหลังคาซ้อนหลายชั้น กระเบื้องมุงหลังคาทำจากกระเบื้องดินเผาและไม้ ไม่นิยมตีฝ้าเพดาน มีทางขึ้นทางด้านด้านหน้า และทางลงทางด้านข้าง
ยุคสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 18–20)
แก้ศิลปะสุโขทัยเริ่มต้นราว พ.ศ. 1780 เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนากรุงสุโขทัย สถาปัตยกรรมจะเป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิหินยานเป็นส่วนใหญ่ การวางแผนผังอาคารที่เป็นวัดในสมัยสุโขทัยจะใช้แกนทิศตะวันออก–ตะวันตก เกือบทั้งหมด โดยหันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างที่เป็นหลักจะประกอบด้วยอาคารที่เป็นวิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ มณฑป หรือพระปรางค์ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างใช้อิฐและศิลาแลงเป็นหลัก อาจใช้หินชนวนบ้าง ศิลาแลงที่มีขนาดใหญ่และใช้ก่อส่วนฐานอาคารจะใช้วิธีเรียงทับตามแบบอิทธิพลเขมร โดยไม่มีตัวประสาน ส่วนศิลาแลงขนาดเล็กจะใช้ดินเป็นตัวประสานเช่นเดียวกับอิฐ เมื่อก่อวัสดุเสร็จแล้วจะฉาบปูนทับอีกชั้นหนึ่ง ปูนที่ใช้ฉาบผนังหรือทำลวดลายประดับประกอบด้วย ปูนขาว ทราย น้ำอ้อย หนังสัตว์เคี่ยวจนเปื่อยเป็นน้ำเหนียว
อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คือ วิหารและอุโบสถ วิหาร นิยมสร้างขนาดใหญ่ และตั้งอยู่ในแกนหลักของวัด ส่วนโบสถ์เป็นอาคารที่พระสงฆ์ใช้ประกอบกิจจะมีขนาดเล็ก มักจะตั้งอยู่นอกคูน้ำหรือนอกกำแพงวัด มีใบเสมาหินชวนปักคู่ 8 ตำแหน่ง แผนผังอาคารทั้งสองประเภทเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกฐานสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีขนาดตั้งแต่ 4–11 ห้อง (ช่วงเสา) ด้านกว้างหรือด้านสกัดจะมีช่วงเสากลางตามความกว้างของห้องและมีช่วงเสาเล็กที่รับชายคา ฐานและเสาก่อด้วยอิฐหรือศิลาแลง เสาจะมีทั้งแบบกลมและแปดเหลี่ยม โครงสร้างหลังคาใช้ไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบขอเต็มลดหลั่นไล่กันเป็นทอด ๆ มีการทำเครื่องสังคโลกมาประดับส่วนหลังคา ตัวอย่างวิหารยุคนี้ เช่น วิหารหลวงวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย[1]
สำหรับสถาปัตยกรรมที่ใช้สักการะในรูปสัญลักษณ์ ได้แก่ เจดีย์ มณฑป และปรางค์ มี 3 รูปแบบ
- เจดีย์แบบสุโขทัยแท้ หรือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น จากนั้นทำเป็นฐานบัว ถัดขึ้นไปเป็นชั้นแว่นฟ้าย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบซ้อนกัน 2 ชั้น ขึ้นไปเป็นเรือนธาตุย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ
- เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ฐานล่างทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 2–3 ชั้น จากนั้นคือ ฐานบัวหนึ่งชั้นหรือสองชั้น ถัดไปเป็นมาลัยเถาเรียงซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น (อาจเรียกว่า บัวถลา) ถือเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ทรงกลมแบบสุโขทัย ถัดไปคือ องค์ระฆังซึ่งบริเวณส่วนล่างจะมีบัวปูนปั้นประดับ เรียกกันว่า บัวปากระฆัง องค์ระฆังรองรับส่วนที่เป็นบัลลังก์ เหนือบัลลังก์ขึ้นไปเป็นส่วนแกน แล้วเป็นปล้องไฉนปลียอด จนถึงเม็ดน้ำค้างเป็นที่สุด
- เจดีย์แบบศรีวิชัย หรือ เจดีย์ทรงปราสาท ฐานทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ ตรงมุมของเรือนธาตุ ประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็กทั้งสี่มุม ต่อจากเรือนธาตุขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆัง แล้วจึงเป็นปลียอด
มณฑป มี 2 แบบ คือ มณฑปที่มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังด้านข้างก่อหนา มีทางเข้าทางเดียว โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนเป็นชั้น ๆ ใช้กระเบื้องดินเผามุงหลังคา แบบที่ 2 คือ มณฑปโถง ตรงกลางจะมีแท่นทึบเพื่อรับส่วนหลังคา และมีพระพุทธรูปประดับผนังทั้งสี่ด้าน
ยุคอู่ทอง (ราวพุทธศตวรรษที่ 17–20)
แก้เป็นศิลปะที่เกิดจากการรวมกันของศิลปะทวาราวดี และอารยธรรมขอม มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานิกายหินยาน เอกลักษณ์เช่น วิหารไม่เจาะหน้าต่าง แต่สร้างเป็นทรงยาว ชั้นหลังคาเตี้ย ลักษณะเจดีย์แบบยุคอู่ทอง คือ ลักษณะฐาน 8 เหลี่ยม เรือนฐาน 8 เหลี่ยม มีซุ้มจรนำรับฐานบัวลูกแก้วและองค์ระฆัง[2] ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมอู่ทองเช่น พระปรางค์องค์ใหญ่ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี
ยุคอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 20–23)
แก้เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในยุคนี้ คือการออกแบบให้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ ร่ำรวย สถาปัตยกรรมจึงมีขนาดและรูปร่างสูงใหญ่ ตกแต่งด้วยการแกะสลักปิดทอง โบสถ์วิหารในกรุงศรีอยุธยาไม่นิยมสร้างให้มีชายคายื่นออกมาจากหัวเสามากนัก ส่วนใหญ่มีบัวหัวเสาเป็นรูปบัวตูม และนิยมเจาะผนังอาคารให้เป็นลูกกรงเล็กๆแทนช่องหน้าต่าง ลักษณะเด่นของการก่อสร้างโบสถ์วิหารอีกอย่างคือ การปล่อยแสงให้สาดเข้ามาในอาคารมากขึ้น โดยจะออกแบบให้แสงเข้ามาทางด้านหน้าและฉายลงยังพระประธาน
สมัยอยุธยาตอนปลาย รูปแบบสถาปัตยกรรมถือว่าอยู่ในจุดสูงสุด คือเป็นสถาปัตยกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ทุกประการ และมีความงดงามอ่อนช้อยตามลักษณะแบบไทยๆ แต่การพัฒนาทางสถาปัตยกรรมต้องหยุดลงหลังกรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทั้งด้านการปกครอง ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านวัฒนธรรม ฯลฯ
สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
แก้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นยุคทองแห่งศิลปะจีน มีการใช้การก่ออิฐถือปูนและใช้ลวดลายดินเผาเคลือบประดับหน้าบันแทนแบบเดิม
สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น มีการสร้างอาคารต่างชนิดเพื่อรองรับกิจกรรมทางธุรกิจนอกเหนือจากที่อยู่อาศัยและวัดวาอารามในอดีต ได้แก่ โรงงาน โรงสี โรงเลื่อย ห้างร้านและที่พักอาศัยของชาวตะวันตก นอกจากนี้การสร้างอาคารของทางราชการ กระทรวงต่าง ๆ และพระราชวังที่มีรูปแบบตะวันตกผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น[3] วัดที่มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกเช่น วัดนิเวศธรรมประวัติ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศิลปะแบบกอธิค
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้แบ่งประเภท ของบ้านเรือนในกรุงเทพตามแบบวัฒนธรรมออกเป็น 3 แบบ คือ [4]
- แบบเดิม คือ แบบเรือนของผู้มีฐานะ (ระดับ) เดียวกัน เคยทำมาอย่างไรก็ทำมาอย่างนั้น มิได้คิดเปลี่ยนแปลงยกตัวอย่างเช่น วังเจ้าบ้านนายขุน
- แบบผสม คือ เอาอาคารแบบตะวันตกหรืออาคารแบบจีนมาสร้างแทรกเข้าบ้าง เข้าใจว่าเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 และต่อมาจนต้นรัชกาลที่ 5 ดังตัวอย่างที่มีเก๋ง และ การแก้ไขตำหนักที่วังท่าพระ เป็นต้น
- เปลี่ยนเป็นอย่างใหม่ คือ เลิกสร้างเรือนแบบไทยเดิม อาคารแบบตะวันตก และอาคารแบบจีน คิดทำเป็นอาคารแบบตะวันตกทีเดียว เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
อย่างไรก็ตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมในสมัยนั้นก็คงเอกลักษณ์ไทยเอาไว้บ้าง เช่นการนำหน้าตาสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาใส่ด้านหน้าของตึก ไม่ว่าจะเป็น ลายฉลุไม้ หลังคาทรงจั่ว
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "ประวัติความเป็นมาของเมืองสุโขทัย". กระทรวงวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "ศิลปะสมัยอู่ทอง พุทธศตวรรษที่ 17 -20". หน้าจั่ว. p. 70. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "วิวัฒนาการและรูปแบบการประกอบอาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทย". วารสารสภาสถาปนิก ฉบับเดือนธันวาคม 2552 หน้า 23-27
- ↑ บ้านในกรุงเทพ:รูปแบบการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี, ผุสดี ทิพทัส, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้