วัดมหาธาตุ (จังหวัดสุโขทัย)
วัดมหาธาตุ เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญในฐานะวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงในเขตพระราชวังราชธานีสุโขทัยในอดีต ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
วัดมหาธาตุ (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย) | |
---|---|
พระวิหารและเจดีย์มหาธาตุในปี พ.ศ. 2557 และเจดีย์มหาธาตุและเจดีย์บริวารเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ประเภท | วัดมหาธาตุ โบราณสถานในเขตกำแพงเมืองอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย |
สถาปัตยกรรม | สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย สถาปัตยกรรมหริภุญชัย-ล้านนา สถาปัตยกรรมขอม สถาปัตยกรรมลังกา สถาปัตยกรรมพุกาม[2] |
เมือง | ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เริ่มสร้าง | ราวพุทธศตวรรษที่ 18[1] |
ในกำกับดูแลของ | กรมศิลปากร |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | เสา: ศิลาแลงฉาบปูน ฐานและผนัง: ก่ออิฐถือปูน |
เกณฑ์พิจารณา: วัฒนธรรม: (i), (iii) เลขอ้างอิง: 0004056 |
วัดมหาธาตุเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมือง สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 หรือสมัยสุโขทัยตอนต้น ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835 (หลักที่ 1 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 23–26) ได้ระบุถึงอารามดังกล่าวว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปอันราม" ซึ่งหมายถึงวิหารหลวงทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดแบบสุโขทัย หน้าตักกว้าง 6.25 เมตร พระมหาธรรมราชาลิไทได้โปรดฯ ให้หล่อขึ้นและทำการฉลองเมื่อ พ.ศ. 1904
วัดมหาธาตุ ยังมีองค์ประกอบสำคัญคือเจดีย์มหาธาตุและเจดีย์บริวารทรงปรางค์จำนวน 8 องค์ซึ่งทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประจำด้าน (ทิศ) ได้อิทธิพลจากศิลปะขอมและมีลวดลายปูนปั้นแบบอิทธิพลศิลปะลังกา ส่วนเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดได้อิทธิพลของศิลปะพุกาม-หริภุญไชย-ล้านนา[2] ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างเจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยแท้ที่หลงเหลือในสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
วัดมหาธาตุได้รับการประกาศขึ้นทำเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
โบราณสถาน
แก้กลุ่มโบราณสถานพื้นที่บริเวณวัดกว้าง ยาว ด้านละ 200 เมตร มีพระเจดีย์มหาธาตุรูปดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นหลักของวัด ภายในรายรอบไปด้วยเจดีย์แบบต่าง ๆ ฐานวิหาร ฐานโบสถ์ และซุ้มคูหาพระพุทธรูป ประกอบด้วย
เจดีย์มหาธาตุ เป็นเจดีย์ประธานตั้งอยู่กลางวัด ลักษณะรูปทรงแบบดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ตั้งอยู่บนชั้นแว่นฟ้า 3 ชั้น รอบฐานชั้นล่างสุดมีปูนปั้นรูปพระสาวกเดินพนมมือโดยรอบ ขนาดของฐานเจดีย์ กว้างยาวด้านละ 27 เมตร สูง 29 เมตร บนฐานอันเดียวกันโดยรอบมีปรางค์ 4 องค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ และบริเวณที่มุม ทั้ง 4 ทิศ มีเจดีย์ทรงปราสาทแบบศรีวิชัยผสมลังกา 4 องค์ ตั้งอยู่เป็นเจดีย์บริวารของเจดีย์ประธาน มีเจดีย์รายจำนวน 200 องค์
ฐานวิหาร ขนาดต่าง ๆ กัน 10 แห่ง ได้แก่ วิหารพระศรีศากยมุนี ตั้งอยู่ด้านหน้า หรือตะวันออกของเจดีย์พระมหาธาตุ ซุ้มคูหา จำนวน 8 ซุ้ม ฐานโบสถ์ ตั้งอยู่ด้านเหนือของเจดีย์มหาธาตุ กว้าง 14 เมตร ยาว 25 เมตร ก่อด้วยอิฐ สระน้ำ 4 สระ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตก และมีกำแพงแก้ว ก่อด้วยอิฐ ล้อมรอบบริเวณวัดทั้ง 4 ด้าน กว้างยาวด้านละ 200 เมตร[4]
ระเบียงภาพ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "วัดมหาธาตุ". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 6 January 2024.
- ↑ 2.0 2.1 "วัดมหาธาตุ". กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 6 January 2024.
- ↑ ""สุโขทัย รุ่งอรุณแห่งความสุข" ตามเสด็จฯ ทัศนศึกษาสุโขทัย และกำแพงเพชร" (PDF). กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-12-27. สืบค้นเมื่อ 27 December 2023.
- ↑ "โบราณสถานในเขตกำแพงเมืองชั้นใน". อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย.
- ↑ วิโรจน์, ชีวาสุขถาวร. การศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมสุโขทัย กรณีศึกษาวัดมหาธาตุ ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545. p. 112. สืบค้นเมื่อ 6 January 2024.
- ↑ วิโรจน์, ชีวาสุขถาวร. การศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมสุโขทัย กรณีศึกษาวัดมหาธาตุ ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545. p. 178. สืบค้นเมื่อ 6 January 2024.