เจดีย์ (ภาษาบาลี : เจติย , ภาษาสันสกฤต : ไจติยะ) หรือ สถูป (ภาษาบาลี: ถูป , ภาษาสันสกฤต: สฺตูป) เป็นสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา พบได้ทั่วไปในอนุทวีปอินเดียและเอเชีย

พระปฐมเจดีย์ที่จังหวัดนครปฐม

เจดีย์ หมายถึงสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งของที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกถึงและเคารพบูชา

สถูป หมายถึงสิ่งก่อสร้างเหนือหลุมฝังศพ หรือสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้ลูกหลานและผู้เคารพนับถือได้สักการบูชา ถือกันว่ามีบุคคลที่ควรบรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูปเพื่อเป็นที่สักการะของมหาชนอยู่เพียง 4 พวก เรียกว่า ถูปารหบุคคล ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ์

สำหรับประเทศไทย คำว่า สถูป และ เจดีย์ เรามักรวมเรียกว่า “สถูปเจดีย์” หรือ “เจดีย์” มีความหมายเฉพาะ ถึงสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิ หรือเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป หรือเพื่อเป็นที่ระลึก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในสมัยหลังลงมาคงมีการสร้างสถานที่เพื่อบรรจุอัฐิธาตุ และเพื่อเคารพบูชาระลึกถึงพร้อมกันไปด้วย

ความหมายของเจดีย์ แก้

ตำราในพระพุทธศาสนากำหนดว่า พระเจดีย์ หรือ เจดีย์ มี 4 ประเภท [1]

  1. ธาตุเจดีย์ สิ่งก่อสร้างบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า พระมหากษัตริย์พระปรินิพพาน
  2. บริโภคเจดีย์ สังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า
  3. ธรรมเจดีย์ คาถาที่แสดงพระอริยสัจ หรือ คัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก
  4. อุเทสิกะเจดีย์ ของที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศแด่พระพุทธเจ้า ไม่กำหนดว่าจะต้องทำเป็นอย่างไร เช่น สร้างบัลลังก์ให้หมายแทนพระพุทธองค์

การที่เจดีย์มีความหมายครอบคลุมอย่างกว้างขวางดังที่กล่าวข้างต้น จึงพ้องกับความหมายของคำว่า สถูป ที่บ่งบอกถึงสิ่งก่อสร้างเหนือหลุมฝังศพ หรือสร้างเพื่อบรรจุอัฐิธาตุ ด้วยเหตุนี้ สถูปจึงใช้แทนเจดีย์เป็นเช่นนี้ในประเทศอินเดียสมัยโบราณมาแล้ว[2]

ในสมัยสุโขทัย คำว่าสถูปและเจดีย์ใช้ควบคู่กัน ดังปรากฏในจารึกบางหลัก เช่น พระยามหาธรรมราชา ก่อ พระธาตุ หรือกล่าวถึง พระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งล้วนมีความหมายเดียวกับเจดีย์ แม้ในปัจจุบันนักวิชาการก็ยังเรียกพระสถูปเจดีย์เป็นคำคู่[3]

พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐฯ เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2223 กล่าวถึงสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระศรีรัตนมหาธาตุ[4] ซึ่งย่อมหมายถึงพระเจดีย์ทรงปรางค์ องค์ที่เป็นประธานของวัดมหาธาตุ ซึ่งปัจจุบันยอดทลายลงแล้ว[5]

ทางภาคเหนือ มีเอกสารเขียนขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ได้ใช้คำว่า พระธาตุทรงปราสาท และมีการใช้คำว่า พระธาตุ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุหริภุญชัย[6]

ทางภาคอีสาน มีคำว่า พระธาตุ เช่น พระธาตุพนม พระธาตุเชิงชุม พระธาตุศรีสองรักษ์[7]

ทางภาคใต้ มีคำเรียกว่า พระบรมธาตุ เช่น พระบรมธาตุไชยา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช[8]

ส่วนคำว่า กู่ ก็หมายถึงสถูป หรือ เจดีย์ด้วยเช่นกัน มีที่ใช้ทางภาคเหนือ[9] เช่น กู่เจ้านายวัดสวนดอก ทางภาคอีสานก็มี[10] เช่น ปราสาทปรางค์กู่ ปรางค์กู่ กู่พระสันตรัตน์ กู่กาสิงห์ ยังมีที่ใช้ในประเทศพม่า ซึ่งหมายถึงเจดีย์แบบหนึ่งด้วย[11]

การสร้างเจดีย์นอกจากจะมีความหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีประเพณีบรรจุสิ่งของมีค่า รวมทั้งพระพิมพ์จำนวนมาก ไว้ในกรุขององค์เจดีย์ ซึ่งมีนัยว่าเป็นการสืบทอดพระศาสนา[12]

ตำแหน่งเจดีย์ แก้

เจดีย์ประธาน แก้

เจดีย์ที่สร้างเป็นหลักของวัด มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์องค์อื่นภายในวัด และสร้างอยู่ในตำแหน่งที่เด่นสมเป็นประธานแก่เจดีย์อื่น ด้วยเหตุนี้เองทำให้เรียกว่า เจดีย์ประธาน ไม่ได้หมายถึงรูปแบบของเจดีย์[13] ดังตัวอย่าง เจดีย์ทรงปรางค์ หรือ พระปรางค์ เป็นเจดีย์ประธานของวัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม หรือวัดพุทไธสวรรย์ เจดีย์ทรงระฆัง 3 องค์ เป็นเจดีย์ประธานของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นเจดีย์ประธานของวัดมหาธาตุ เจดีย์ทรงปราสาทยอด เป็นเจดีย์ประธานของวัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย เป็นต้น

เจดีย์ประจำมุม เจดีย์ประจำทิศ แก้

ระบุตำแหน่งของเจดีย์ว่าอยู่ประจำมุมทั้งสี่ หรือประจำกลางด้านทั้งสี่ของเจดีย์ประธาน

ชื่อเรียกระบุตำแหน่งที่ตั้งดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงรูปแบบของเจดีย์ คำว่าเจดีย์ประจำทิศยังมีอีกชื่อเรียกว่า เจดีย์ประจำด้าน (หากเจดีย์ประธานนั้นเป็นทรงสี่เหลี่ยม) ทั้งเจดีย์ประจำด้านและเจดีย์ประจำมุม ยังมีที่เรียกรวมว่า เจดีย์บริวาร อีกด้วย[14]

เจดีย์ราย แก้

เจดีย์ราย คือ เจดีย์ที่มีขนาดเล็กสร้างเรียงรายรอบๆบริเวณเจดีย์ประธาน โดยอยู่ถัดออกมาจากเจดีย์ประธาน เจดีย์ประจำมุม และเจดีย์ประจำทิศ คำว่า เจดีย์ราย เป็นศัพท์เรียกระบุตำแหน่ง ไม่ได้หมายถึงรูปแบบ

รูปแบบหรือทรงต่าง ๆ ของเจดีย์ แก้

เจดีย์ทรงปราสาท แก้

ปราสาท หมายถึง รูปแบบของเรือนที่มีหลายชั้นซ้อนกัน (ชั้นซ้อน) หรือ ที่มีหลังคาลาดหลายชั้นซ้อนลดหลั่นกัน (หลังคาซ้อน)

ตอนกลางของเจดีย์ทรงปราสาทอาจมีหรือไม่มีห้องคูหาก็ได้ เรียกส่วนนี้ว่า เรือนธาตุ เป็นส่วนสำคัญที่ไว้ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ที่ คูหา หรือ ซุ้มจระนำ ที่ผนัง เรือนธาตุมักมีทรงสี่เหลี่ยมตั้งอยู่เหนือฐานเรือนธาตุเป็นชั้นซ้อน หากชั้นซ้อนนั้นเป็นหลังคาลาด ก็ต่อยอดเป็นกรวยและมีกมีทรงระฆังเป็นส่วนประกอบสำคัญ แม้ว่าปราสาทมีแต่เรือนชั้นโดยไม่จำเป็นต้องมียอดแหลม[15] แต่การทำหลังคาซ้อนและต่อยอดแหลม ก็เป็นปราสาทแบบหนึ่งด้วย เรียกว่า กุฎาคาร หรือ เรือนยอด[16]

เจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัย แก้

 
เจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัย หรือ เจดีย์กู่กุด อยู่ในวัดจามเทวี หรือ วัดกู่กุด จังหวัดลำพูน

ชื่อเรียกที่รู้จักกันดีคือ เจดีย์กู่กุด หรือ เจดีย์กู่กุฎ[17] อยู่ในวัดจามเทวี หรือ วัดกู่กุด จังหวัดลำพูน ที่เรียกกู่กุด เพราะมีส่วนยอดหลุดหรือหัก[18] มีลักษณะแปลกแตกต่างไปจากเจดีย์ทรงปราสาทในศิลปะล้านนาและศิลปะขอม คือ นับจากส่วนฐานทรงสี่เหลี่ยมมาเป็นเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมเช่นกัน ตั้งซ้อนกันลดขนาดเป็นลำดับขึ้นไป 5 ขั้น แต่ละชั้นมีเจดีย์ประดับทิศทั้งสี่ และด้านทั้งสี่ของแต่ละชั้น มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ และยอดแหลมที่หักหายคงเป็นกรวยเหลี่ยม

เจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัยอีกแบบหนึ่ง มีทรงแปดเหลี่ยม จึงนิยมเรียกตามทรงว่า เจดีย์แปดเหลี่ยม[19] เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก อยู่ในวัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ด้านทั้งแปดของเรือนธาตุเจดีย์องค์นี้ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนไว้ในซุ้มจระนำ เหนือเรือนธาตุเป็นหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นขึ้นรับทรงระฆัง เหนือขึ้นไปเป็นยอดซึ่งหักหายแล้ว เจดีย์ลักษณะนี้ได้พบแพร่หลายทางภาคกลางด้วย เช่น วัดพระแก้ว จังหวัดชัยนาท วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี และสืบเนื่องมาจนถึงตอนต้นของกรุงศรีอยุธยา[20]

เจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านนา แก้

เจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านนา แบ่งออกได้หลายรูปแบบ ทั้งที่มียอดเดียวและห้ายอด จึงอาจเรียกว่า เจดีย์ห้ายอด หรือ ปราสาทห้ายอด เจดีย์แบบนี้ล้วนเป็นเรือนยอดหรือกุฎาคาร เรียกรวมว่า เจดีย์ทรงปราสาทยอด เช่น เจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เจดีย์ทรงมณฑป หรือ กู่ทรงมณฑป ในวัดมหาโพธษราม ศิลปะล้านนา ก็จัดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดด้วยเช่นกัน[21]

เจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัย แก้

เจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัย มีลักษณบางประการคล้ายกับพระปรางค์ของกรุงศรีอยุธยา เพราะต่างได้รับแรงบันดาลใจมาจากปราสาทขอม แต่ลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นทำให้เจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยมีระเบียบที่ต่างไปจากเจดีย์ทรงปรางค์ของอยุธยา ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าเรียกเจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยว่าเป็นพระปรางค์ เพราะจะเกิดการสับสนกับเจดีย์ทรงปรางค์ในศิลปะอยุธยา[22]

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ ยอดส่วนบนของเจดีย์แบบสุโขทัยซ้อนกันน้อยชั้นกว่าเจดีย์แบบอยุธยา อีกทั้งยังไม่ปรากฏการสร้างเจดีย์ทรงนี้แบบขนาดใหญ่ หรือเป็นองค์ประธานของวัดเหมือนในอยุธยา นอกจากที่ วัดศรีสวาย ซึ่งยังมีปัญหาในการกำหนดอายุ การสร้าง และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในคราวบูรณะ ซึ่งเชื่อกันว่า มีไม่น้อยกว่า 2-3 ครั้ง ในสมัยสุโขทัยเอง[23]

เจดีย์ทรงปราสาทแบบอื่นที่สร้างในศิลปะสุโขทัย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านนาโดยตรง หรือจากศิลปะพุกามก็มีอยู่ด้วย[24] เจดีย์เหล่านี้ไม่มีชื่อเรียกเพื่อระบุลักษณะให้แตกต่างจากเจดีย์ปราสาทยอดแบบล้านนา คงเพราะลักษณะโดยส่วนรวมยังสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบจากแหล่งบันดาลใจที่ค่อนข้างชัดเจน ตัวอย่างเจดีย์แบบนี้มีอยู่หลายองค์ เช่น วัดเจดีย์เจ็ดแถว ศรีสัชนาลัย

เจดีย์ทรงปรางค์ แก้

 
พระปรางค์ขนาดใหญ่เป็นองค์ประธานของวัดมหาธาตุ ซึ่งในปัจจุบันพังทลายลงมาหมดแล้ว
 
พระปรางค์ หรือ เจดีย์ทรงปรางค์ เป็นเจดีย์ประธานของวัดไชยวัฒนาราม

เจดีย์ที่มีทรงคล้ายดอกข้าวโพด ประกอบด้วยส่วนฐานรองรับส่วนกลางคือเรือนธาตุ และส่วนบนเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปดังกล่าวนี้ คลี่คลายมาจากรูปแบบของปราสาทขอม แต่เจดีย์ทรงปรางค์โปร่งเพรียวกว่าปราสาทแบบขอม[25] นิยมเรียกเจดีย์ทรงปรางค์อย่างสั้นๆว่า พระปรางค์ ทั้งยังใช้เรียกต้นแบบคือปราสาทขอมด้วย

การที่นิยมเรียกเจดีย์ทรงปรางค์อย่างสั้นๆว่า พระปรางค์ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าพระปรางค์ไม่ใช่เจดีย์ ซ้ำเรียกปราสาทแบบขอมว่าปรางค์เข้าด้วย ทำให้ชวนสับสนยิ่งขึ้น คำว่าปราสาทใช้เฉพาะศาสนสถานศิลปะขอม เช่น ปราสาทบายน ในประเทศกัมพูชา[26] ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา แต่ปราสาทสามยอดที่ลพบุรี กลับนิยมเรียกว่า พระปรางค์สามยอด ทั้งที่เป็นรูปแบบปราสาทขอม นับว่าเรียกตามปากที่คุ้นเคยกัน

ปรางค์กับปราสาทในวัฒนธรรมขอมโบราณไม่ใช่สิ่งก่อสร้างที่มีแบบเดียวกัน เพราะข้อความในจารึกทำขึ้นใน พ.ศ. 1664 กล่าวถึงการคุมศาสนสถานด้วยผ้าเพื่อประกอบพิธีอุทิศถวายว่า "...คลุมพระปราสาทปรางค์ และพระถนน..." [27] จารึกขอมอีกหลักหนึ่งทำขึ้นใน พ.ศ. 1682 กล่าวถึงการประดิษฐานรูปศังกรนารายณ์ไว้ในพระปรางค์[28] หากนึกภาพปราสาท พระปรางค์ และพระถนนให้เกี่ยวเนื่องกัน จะได้ว่าปราสาทคือส่วนที่มียอดชั้น ปรางค์คือส่วนที่ต่อเนื่องมามีหลังคาคลุม ประดิษฐานรูปเคารพ ต่อมาจึงเป็นทางเดินหรือถนน หากเป็นดังกล่าว ก็อาจเทียบกับปราสาทขอมบางองค์ได้ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์[29]

ข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่า ปรางค์ อาจจะมาจากคำว่า ชาลา[30] ก็น่าจะเป็นชาลาที่มีหลังคาคลุมเพื่อประดิษฐานรูปเคารพ และยังทรงสันนิษฐานต่อไปว่า ปรางค์กับปราสาท "เป็นของติดต่อปะปนกันอยู่ เลยทำให้เข้าใจกันผิดๆ คำว่า ปรางค์ แม้บัดนี้ก็ยังเข้าใจเป็นสองอย่าง ว่าที่อยู่ก็ได้ ว่ายอดรูปดอกข้าวโพดก็ได้..."[31] ชาวเขมรก็เรียกปรางค์กับปราสาทปะปนกันด้วย[32] แต่โดยทั่วไปมักใช้คำว่าปราสาท ชาวตะวันตกที่เชี่ยวชาญด้านศิลปะขอม ใช้คำว่าปราสาทกับศิลปะขอม และแยกใช้คำว่าปรางค์กับศิลปะไทย[33]

เกี่ยวกับปรางค์และปราสาทจากข้อสันนิษฐานข้างต้นยังเป็นความคลุมเครือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเรียกปราสาทแบบขอมที่วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย ไว้อย่างน้อยครั้งหนึ่งว่า ปราสาทหินวัดพระพายหลวง เพื่อทรงเน้นเนื้อความเกี่ยวกับอำนาจของขอมก่อนสถานากรุงสุโขทัย แต่มักทรงใช้คำว่าปรางค์เรียกทั้งปรางค์แบบไทย[34]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทีลายพระหัตถ์ถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความตอนหนึ่งว่า "ของโบราณทางพุทธศาสนาซึ่งสร้างไว้ทางเมืองเหนือ หม่อมฉันสังเกตอย่าง 1 ว่าถ้าสร้างในสมัยเมื่อขอมยังเป็นใหญ่ สร้างตามลัทธิมหายาน ยกตัวอย่างดังพระศรีรัตนมหาธาตุที่เมืองเชลียงก็เป็นปรางค์อย่างเดียวกับพระมหาธาตุเมืองลพพบุรี วัดพระพายหลวงที่เมืองสุโขทัยก็เป็นปรางค์สามยอดแบบเดียวกับปรางค์สามยอดที่เมืองลพบุรี"[35]

สำหรับปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง และปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรีนั้น มีรูปแบบเป็นอย่างปรางค์ไทยแล้ว[36] ส่วนปรางค์ที่วัดพระพายหลวง สุโขทัย มีที่เรียกว่าปราสาทดังกล่าวมาข้างต้น เพราะมีรูปแบบเป็นปราสาทแบบขอมในศิลปะลพบุรีเช่นกัน แต่เรียกตามความเคยชินว่าปรางค์สามยอดดังได้กล่าวมาแล้วเช่นกัน

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีความเห็นมาก่อนแล้วว่าปรางค์เป็นปราสาทเหมือนกัน แต่คำว่า ปรางค์แบบไทย นั้นบ่งถึงรูปแบบที่มีอยู่ในศิลปะไทย ปราสาทแบบขอม เมื่อจะเรียกว่าปรางค์ก็ควรเรียกให้เต็มเช่นกันว่า ปรางค์แบบขอม หากจะเรียกปรางค์แบบไทยว่า ปรางค์ และปรางค์แบบขอมว่า ปราสาท ก็ไม่ผิด แต่คำว่าปราสาทที่ชาวเขมรปัจจุบันหรือนักวิชาการตะวันตกเรียกกันนั้น มักไม่นิยมใช้เรียกกันในหมู่นักวิชาการไทย คงเพราะคำว่าปราสาทที่ไทยเราใช้กัน หมายถึงที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เช่น พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทของกรุงศรีอยุธยา พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทของกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่างจากปราสาทที่เป็นศาสนสถาน

ในศิลปะไทยยังมีสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของปรางค์ คือ ปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง เช่นที่เป็นเจดีย์รายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี[37] ปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง หรือ "ปรางค์อย่างที่ทำยอดเป็นเฟือง...ได้คิดเมื่อได้เห็นเหมือนกันว่าเป็นอะไร ก็ตกลงในใจว่าเป็นหลังคาลูกฟูกโดยตั้งใจจะทำเป็นเรือนชั้นเดียวยอดแหลมนั่นเอง จะว่าเป็นแบบไทยก็ควรเพราะในเมืองเขมรไม่เห็นมีเลย"[38]

คำว่าปรางค์ ประกอบเป็นชื่อ พุทธปรางค์ปราสาท ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เริ่มสร้างและตั้งชื่อในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต ครั้นรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนมาเรียก ปราสาทพระเทพบิดร เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของอดีตพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี[39] ยอดของปราสาทองค์นี้เป็นทรงปรางค์ หมายความว่าที่เรียกพุทธปรางค์ปราสาทเรียกตามรูปแบบของยอด ส่วนที่เรียกว่า ปราสาทพระเทพบิดร เรียกเพราะเป็นที่ซึ่งประดิษฐานพระบรมรูป

เจดีย์ทรงระฆัง แก้

 
เจดีย์ช้างล้อม เป็นเจดีย์ประธานของวัดช้างล้อม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ลักษณะองค์ระฆังที่มีช้างล้อมที่ฐานเชื่อกันว่าเป็นอิทธิพลศิลปะที่แพร่หลายมาจากศิลปะลังกา

เจดีย์ที่มี องค์ระฆัง เป็นลักษณะเด่น โดยมีแท่นฐานรองรับอยู่ส่วนล่าง เหนือองค์ระฆังเป็นส่วนยอด มี บัลลังก์ รูปสี่เหลี่ยมต่อขึ้นไปเป็นทรงกรวยเป็น ปล้องไฉน และปลี

คำว่า ทรงระฆัง มีที่เรียกว่า ทรงลอม หรือ ทรงลอมฟาง[40] เรียกว่า รูปบาตร ก็มี[41] แต่ไม่เป็นที่คุ้นเคยกันเหมือนทรงระฆัง เพราะรูปคลี่คล้ายมาใกล้กับระฆัง[42]

คำขยายดังกล่าวล้วนบ่งบอกถึงลักษณะสำคัญของเจดีย์ ที่มาของคำแสดงลักษณะของเจดีย์ดังกล่าว มีต้นเค้าคือพูนดินเหนือหลุมฝังศพ[43] พัฒนามาโดยก่อให้ถาวร เช่น พระมหาสถูปสาญจี ประเทศอินเดีย ครั้นพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกมา รูปแบบของเจดีย์นั้นก็ติดมาเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศที่รับนับถือพระพุทธศาสนาด้วย เจดีย์ทรงระฆังมีคำแทนโดยใช้ เจดีย์ทรงลังกา หรือ เจดีย์แบบลังกา เพราะมีทรงระฆังที่เด่นชัดเหมือนกัน และสอดคล้องกับที่ทราบกันว่าพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมาว่าแพร่หลายมาจากลังกา[44] แต่หากเรียกเจดีย์ทรงระฆังก็จะไม่เป็นการเจาะจงว่าเกี่ยวข้องกับอิทธิพลศิลปะจากลังกา เพราะมีตัวอย่างอยู่มากมายที่แสดงให้เห็นว่า เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย ล้านนา และกรุงศรีอยุธยา เป็นรูปแบบของท้องถิ่น โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับอิทธิพลศิลปะจากแหล่งอื่น นอกเหนือจากศิลปะลังกา เช่น ศิลปะพุกาม[45]

เจดีย์ทรงระฆังที่มีช้างล้อมที่ฐาน เช่น เจดีย์ช้างล้อม วัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอิทธิพลศิลปะที่แพร่หลายมาจากศิลปะลังกา[46] ก็ไม่นิยมเรียกกันว่าเจดีย์แบบลังการ หรือ เจดีย์ทรงลังกา แต่กลับเรียกเจดีย์ช้างล้อม ตามลักษณะเด่นชัดที่มีช้างล้อมที่ฐาน

เจดีย์ทรงระฆังที่ทำกลีบเล็กๆเป็นแนวตั้งไว้โดยรอบองค์ระฆังก็มี ที่เรียกว่า ยอดเจดีย์ทรงกลีบมะเฟือง[47] ส่วนเจดีย์ทรงระฆังที่เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม ยกมุม หรือ เพิ่มมุม ก็ตาม นิยมเรียกรวมๆว่า เจดีย์ย่อมุม[48]

เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แก้

 
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นเจดีย์ประธาน วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพราะลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดของเจดีย์ เป็นสัญลักษณ์ของแคว้นสุโขทัย รูปแบบโดยรวมของเจดีย์ เกิดจากการคลี่คลายมาจากเจดีย์ทรงระฆังและปราสาทแบบขอม

ชื่อของเจดีย์ทรงนี้เรียกกันหลายอย่าง ที่เรียกตามลักษณะของยอดโดยตรงซึ่งคล้ายกับดอกบัวตูม ดังบางองค์ทำกลีบบัวประดับทรงดอกบัวตูมนี้ด้วย รูปทรงของเจดีย์เพระยอดสอบขึ้นจากส่วนล่าง เรื่อยขึ้นไปตามจังหวะของชุดฐานที่ซ้อนลดหลั่นกันเพื่อรับเรือนธาตุทรงแท่ง และยอดทรงดอกบัวตูม[49]

รูปแบบของเจดีย์เกิดขึ้นในสมัยศิลปะสุโขทัย นิยมสร้างกันเพียงในช่วงเวลาสมัยศิลปะสุโขทัยเท่านั้น ความที่เจดีย์แห่งนี้มีลักษณะเฉพาะของศิลปะสุโขทัย ไม่เหมือนเจดีย์แห่งอื่นใด และได้รับความนิยมในช่วงที่กรุงสุโขทัยเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ ทำให้คิดว่าเป็นเพราะลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดของเจดีย์ เป็นสัญลักษณ์ของแคว้นสุโขทัย เป็นเหตุให้ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไปภายหลังที่สุโขทัยหมดอำนาจและถูกรวมไว้ภายใต้อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอาจนับเป็นเหตุผลทางการเมืองอย่างหนึ่งก็เป็นได้[50]

ลักษณะเฉพาะของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เกิดจากการที่นำเอาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมชนิดต่างๆ มาปรับปรุงเข้าด้วยกันให้เป็นเจดีย์ทรงใหม่ ส่วนล่างประกอบด้วยฐาน 2 ชนิด คือ ฐานเขียงซ้อนลดหลั่นเป็นชุด สอบขึ้นรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซึ่งปรับทรงให้สูงขึ้น ต่อจากนั้นไปเป็นส่วนกลางหรือเรือนธาตุ ประกอบด้วยฐานทำซ้อน 2 ฐาน โดยปรับปรุงลักษณะมาจากปราสาทขอมมาก่อน แต่บีบทรงให้ยืดเพรียว มีการประดับกลีบขนุนตามุมด้านบนของเรือนธาตุตามแบบแผนของทรงปราสาทขอมอีกด้วย ส่วนยอดซึ่งเป็นทรงดอกบัวตูมอาจคลี่คลายมาจากทรงระฆัง โดยบีบส่วนล่างของทรงระฆังให้สอบเพื่อตั้งบนเรือนธาตุ ทรงดอกบัวตูมต่อยอดแหลมเรียวให้เป็นรูปกรวย ส่วนล่างของกรวยควั่นเป็นปล้อง ต่อขึ้นไปคือกรวยเรียบอีกอันเป็นส่วนยอดสุดของเจดีย์ เทียบได้กับส่วนยอดของเจดีย์ทรงระฆัง คือ ปล้องไฉน และ ปลี[51]

เจดีย์ทรงเครื่อง แก้

เจดีย์ทรงเครื่อง คือ เจดีย์ทรงระฆังกลม หรือ ทรงระฆังเหลี่ยมย่อมุมก็ตาม ที่มีลักษณะเฉพาะที่เจดีย์ย่อมุมแบบอื่นไม่มี รวมทั้งการตกแต่งด้วยลายปูนปั้นไว้ตามองค์ประกอบต่างๆ คงเกิดขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 มีการประดับลวดลายปูนปั้นที่ฐานซึ่งเป็นชุดฐานสิงห์มี บัวกลุ่ม รองรับองค์ระฆัง ตัวองค์ระฆังเองก็มักมีลวดลายประดับอยู่ด้วย เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ไม่มีลักษณะพิเศษแต่อย่างใด ต่อขึ้นไปคือ บัวกลุ่มเถา และปลี ลักษณะดังกล่าวบ่งถึงความแตกต่างจากเจดีย์ทรงระฆังกลม และเจดีย์ทรงระฆังเหลี่ยมย่อมุมโดยทั่วไป ที่ไม่มีบัวกลุ่มรับองค์ระฆัง และไม่มีบัวกลุ่มเถาแทนปล้องไฉน[52]

เจดีย์ทรงเครื่องยังมักมีลวดลายประดับที่เรียกว่า บัวคอเสื้อ ประดับอยู่ที่ส่วนบนขององค์ระฆัง[53] การประดับเช่นนี้ อาจเริ่มมีช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 โดยประดับที่ส่วนบนขององค์ระฆังรูปกลีบมะเฟือง สืบต่อมามีการสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยต่อเนื่องมาในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย

เจดีย์ย่อมุม แก้

เจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยมย่อมุม การที่เรียกเจดีย์ย่อมุม แสดงถึงลักษณะสำคัญที่แตกต่างเจดีย์ทรงระฆังกลม จำนวนมุมที่ย่อก็มักระบุอยู่ด้วย เช่น เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ

ชื่อเรียก เจดีย์ย่อมุม ซึ่งสะท้อนลักษณะที่เปลี่ยนไปของทรงระฆัง จากกลมก็กลายมาเป็นเหลี่ยม ยังทั้งขนาดขององค์ระฆังเหลี่ยมก็เล็กลง ทำให้ได้รูปทรงเจดีย์ที่โปร่งเพรียวยิ่งกว่า การที่คำว่าเจดีย์ย่อมุม มีคำว่า ไม้ ต่อท้ายอยู่ด้วย เกิดจากการที่ยืมคำของงานไม้มาใช้ แต่เจดีย์ล้วนเป็งงานก่อ จึงทำให้เข้าใจกันสับสน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงใช้คำที่เป็นงานช่างไม้แทนงานก่อ เช่น ทรงใช้คำว่า ฟัน เป็นกริยาของงานก่อ ดังตัวอย่างที่ทรงกล่าวถึง งานก่ออิฐของพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง ตรงส่วนของบัวเชิง และบัวรัดเกล้า ซึ่งทรงเรียกว่า บัวต้นเสา และบัวปลายเสาว่า "...ปลายเสานั้นเหนได้ว่าที่ฟันหลายชั้นเพราะเปนของใหญ่..."[54] หรือแม้ภาพปราสาทหรือเรือนแก้วที่ครงคัดลอกมาจากงานจิตรกรรมที่ผนังคูหาปรางค์วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี พระองค์ก็ทรงใช้คำว่า ฟันไม้ ดังนี้ "...ซุ้มเรือนแก้ว...ได้ขีนเส้นฟันไม้ทรงนอกมาดูนี่แล้ว..."[55]

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองระยะแรกยังมีมุมขนาดใหญ่ นิยมในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[56] ต่อมาเมื่อนานเข้าจึงคลี่คลายจนมุมมีขนาดเล็กลง และทำจำนวนมุมเพิ่มขึ้นเป็น ไม้สิบหก ไม้ยี่สิบ อาจมาถึง ไม่สามสิบหก เจดีย์บางองค์ก่อมีการประดับประดา เรียกว่า เจดีย์ทรงเครื่อง และยังมีชื่อเรียกเปรียบเทียบเจดีย์ทรงนี้ที่เพรียวชะลูดว่า ทรงจอมแห

คำอธิบาย ย่อมุม โดยพิจารณาแผนผังของเจดีย์ คือการแตกมุมใหญ่แต่ละมุมให้เป็นมุมย่อยๆ มุมที่แตกออกนี้มีขนาดเท่ากัน เช่น หากแตกมุมย่อยเป็นจำนวนสามมุม รวมมุมใหญ่สี่มุม แตกเป็นมุมย่อยทั้งหมดสิบสองมุม มีขนาดของมุมเท่าๆกัน เรียกว่า เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เป็นตัน แต่คำว่า ย่อมุม นั้นความจริงเป็นการ ยกมุม ดังลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า "ไม้สิบสอง ซึ่งเราเรียกกันว่าบากเป็นไม้สิบสองนั้นเข้าใจผิด ที่จริงเดิมไม่ใช่บากเป็นเสาสิบสองต้น...ธรรมดาเรือนจะต้องเป็นสี่เหลี่ยมทั้งนั้น...เมื่อยกมุขออกมาสี่ด้สน ก็เป็นเสาเพิ่มขึ้นอีกแปดต้น รวมทั้งเสาเรือนเดิมสี่ เป็นสิบสองต้น..."[57] อย่างไรก็ดีที่บางครั้งพระองค์กลับทรงใช้คำว่า ย่อมุม แทน ยกมุม ด้วยคงมีพระประสงค์จะอนุโลมตารมปากช่างที่เรียกกันมาจนติดปากแล้ว แผนผังยกมุมหรือเพิ่มมุม เกิดจากเจดีย์ที่มีเรือนธาตุเป็นห้องสี่เหลี่ยม โดยเพิ่มพื้นที่ที่ย่านกลางของด้านทั้งสี่ ทำให้เกิดเป็นมุมเพิ่มขึ้นเป็นมุมขนาดเล็กขนาบมุมเดิมซึ่งเป็นมุมประธาน มุมขนาดเล็กที่ขนาบข้างมุมประธานมีจำนวนข้างละเท่าๆกัน และมีระเบียบชัดเจนแน่นอน คือ ต้องเป็นกลุ่มมุมที่มีจำนวนคี่ ซึ่งต่างขากแผนผังที่เรียกว่า ย่อมุม ที่อาจมีกลุ่มมุมเป็นจำนวนคี่หรือคู่ก็ได้ และมุมทุกมุมนั้นมีขนาดเท่ากัน[58] แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกมุมเดิมเป็นแบบแผยตายตัวสำหรับปราสาทแบบขอม สืบต่อมาเป็นกฎเกณฑ์สำหรับแผนผังของปรางค์ที่สร้างขึ้นในระยะแรกของกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเจดีย์องค์อื่นๆในพุทธศตวรรษที่ 22 เช่น เจดีย์ศรีสุริโยทัย

องค์ประกอบของเจดีย์ แก้

 
เจดีย์ทรงโอคว่ำ
 
เจดีย์ทรงลังกา แบบสุโขทัย
 
เจดีย์ทรงลังกา แบบอยุธยา

เจดีย์ทรงโอคว่ำ แก้

เจดีย์ทรงโอคว่ำ หรือเจดีย์แบบสาญจี เป็นเจดีย์รูปแบบแรก ๆ ของพุทธศาสนา มีองค์ประกอบพื้นฐานครบถ้วน คือ

  1. ฐาน (บางแห่งอาจไม่มี) เพื่อยกระดับว่า เจดีย์นี้สูงศักดิ์กว่าหลุมศพธรรมดา
  2. เรือนธาตุ บางแห่งทึบตัน บางแห่งกลวงเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป รูปเคารพ หรือบรรจุสิ่งของ
  3. บัลลังก์ แสดงถึงวรรณะกษัตริย์ (พระพุทธเจ้าเกิดในวรรณะกษัตริย์)
  4. ฉัตร (บางแห่งอาจไม่มี) เป็นเครื่องประดับบารมี

เจดีย์ทรงลังกาแบบสุโขทัย แก้

เมื่อพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ได้เข้ามาประดิษฐานในกรุงสุโขทัย จึงได้มีการสร้างเจดีย์ตามวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา แต่ได้มีการประดับตกแต่ง ตามแบบของสุโขทัย โดยยังมีองค์ประกอบสำคัญครบถ้วน และมีองค์ประกอบอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา

  1. ฐานเขียง ฐานชั้นล่างสุด ยกพื้นเจดีย์ให้สูงกว่าพื้นดิน
  2. ฐานปัทม์ หรือฐานบัว (ปทุม) แสดงถึงดอกบัวที่รองรับพระพุทธเจ้าในทุกอิริยาบถของพระพุทธองค์
  3. บัวถลา เป็นลักษณะที่รับมาจากลังกาแต่เอาชั้นบัวหงายออก
  4. บัวปากระฆัง เป็นฐานบัวชั้นบน
  5. องค์ระฆัง หรือ เรือนธาตุ บรรจุพระพุทธรูป หรือพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมอัฐิ และพระอัฐิ
  6. บัลลังก์ คงความหมายเดิม
  7. ก้านฉัตร เป็นก้านของฉัตร (ตามความหมายเดิม)
  8. บัวฝาละมี บัวคว่ำด้านบน กางกั้นฉัตรให้เรือนธาตุ
  9. ปล้องไฉน เปรียบเสมือนตัวฉัตร (ตามความหมายเดิม)
  10. ปลียอด ชี้ขึ้นฟ้า เส้นทางสู่พระนิพพาน
  11. หยาดน้ำค้าง หมายถึงรัตนะ

เจดีย์ทรงลังกาแบบอยุธยา แก้

ในสมัยอยุธยา พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น เจดีย์เองก็มีการพัฒนาการขึ้น และมีองค์ประกอบอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา รวมถึงเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบบางอย่างให้เข้ากับวัฒนธรรม โดยรวมมีความหมายเดิม

  1. ฐานเขียง ฐานชั้นล่างสุด ยกพื้นเจดีย์ให้สูงกว่าพื้นดิน
  2. ฐานปัทม์ หรือฐานบัว (ปทุม) แสดงถึงดอกบัวที่รองรับพระพุทธเจ้าในทุกอิริยาบถของพระพุทธองค์
  3. บัวถลา เป็นลักษณะที่รับมาจากลังกาแต่เอาชั้นบัวหงายออก
  4. บัวปากระฆัง เป็นฐานบัวชั้นบน
  5. องค์ระฆัง หรือ เรือนธาตุ บรรจุพระพุทธรูป หรือพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมอัฐิ และพระอัฐิ
  6. บัลลังก์ คงความหมายเดิม
  7. ก้านฉัตร เป็นก้านของฉัตร (ตามความหมายเดิม)
  8. บัวฝาละมี บัวคว่ำด้านบน กางกั้นฉัตรให้เรือนธาตุ
  9. ปล้องไฉน เปรียบเสมือนตัวฉัตร (ตามความหมายเดิม)
  10. ปลียอด ชี้ขึ้นฟ้า เส้นทางสู่พระนิพพาน
  11. หยาดน้ำค้าง หมายถึงรัตนะ

เจดีย์สำคัญในประเทศไทย แก้

จอมเจดีย์ แก้

ในสมัยที่สยามกำลังเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอารยะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ทรงเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปหรือปฏิวัติระเบียบแบบแผนทางประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดมายาวนานไปในรูปร่างและทิศทางใหม่ที่สอดคล้องกับอุดมคติใหม่จากโลกตะวันตก การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ดังกล่าวนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังองค์ประกอบทุกส่วนในสังคมสยามไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและการดำรงชีวิต รวมถึงงานสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะวัดเบญจมบพิตรได้รับการอธิบายแต่เพียงว่าได้มีการผสมผสานวัสดุและเทคนิคบางอย่างจากตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนประกอบเช่น มีการใช้หินอ่อนจากอิตาลีมาเป็นวัสดุบุผิวนอกอาคารหรือการเขียนสีบนกระจกหน้าต่างพระอุโบสถ อันส่งผลทำให้การรับรู้คล้ายกับบานกระจกสีของโบสถ์แบบฝรั่ง แต่สิ่งที่แผงอยู่ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรยังแสดงถึงความเชื่อ ค่านิยม และอุดมคติของสังคม ณ ช่วงเวลานั้นไว้ด้วย[59]

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดในลักษณะนี้ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากภาพจิตรกรรมที่ถูกเขียนขึ้นภายใต้แบบแผนอย่างใหม่ภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ถือเป็นภาพสะท้อนอุดมคติเรื่องพื้นที่และเขตแดนสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาพเขียนภายในช่องคูหาผนังทั้ง 8 เป็นภาพเขียนที่เกิดจากความคิดของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถือว่าเป็นชนชั้นนำและความคิดก้าวหน้าสมัยแรกในยุคสมัยนั้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้บัญญัติคำว่า จอมเจดีย์ ขึ้นมา โดยตรัสแก่สมเด็จพระวันรัต (กิตตโสภโณเถระ) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อ พ.ศ. 2485 ว่า "การที่ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งพระบวรพุทธศาสนา ทำให้มีพุทธสถานกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีอายุและแบบศิลปกรรมแตกต่างกันตามคตินิยมและยุคสมัย ในบรรดาปูชนียสถานนับร้อยนับพันมีเพียง 8 แห่งเท่านั้นที่ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็น จอมเจดีย์ แห่งสยาม"[60]

จอมเจดีย์ ที่สำคัญของสยามทั้งหมด 8 องค์ โดยกำหนดให้เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 โดยว่าจ้างให้กรมศิลปากรออกแบบและเขียน แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2489 ภาพสถูปเจดีย์ทั้ง 8 องค์ ที่กำหนดให้เขียนขึ้นมีดังนี้

  1. พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
  2. พระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
  3. พระมหาธาตุศรีสัชนาลัย
  4. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  5. พระศรีรัตนมหาธาตุละโว้
  6. พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  7. พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
  8. พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิได้ทรงมีอรรถาธิบายถึงเหตุผลแห่งการนำคำว่า จอม มาใช้ หากแต่เราทราบกันดีว่าเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชบิดาของพระองค์ ราวกับว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้คัดเลือกปูชนียสถานที่ทรงคิดว่าสำคัญที่สุดของไทย แล้วเฉลิมนามว่า จอมเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพระเกียรติแด่พระบรมราชชนก

เกณฑ์การคัดเลือกจอมเจดีย์มีเงื่อนไขใดบ้าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงอธิบายถึงความสำคัญของจอมเจดีย์แต่ละองค์ ประกอบเหตุผลไว้โดยย่อดังนี้

  1. พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในแคว้นล้านนาไทย
  2. พระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เหตุเพราะเป็นเจดีย์องค์แรกในการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
  3. พระเจดีย์ช้างล้อม ศรีสัชนาลัย เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติ
  4. พระธาตุพนม เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในภาคอีสาน
  5. พระศรีรัตนมหาธาตุละโว้ เหตุเพราะเป็นสถูปองค์แรกในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสยามประเทศ
  6. พระเจดีย์ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติเมื่อครั้งทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยเหนือพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี
  7. พระปฐมเจดีย์ เหตุเพราะสร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในสยามประเทศ
  8. พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศาสนาลังกาวงศ์สถาปนาในสยามประเทศ

ภาพเขียนสถูปเจดีย์ทั้ง 8 เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อ คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะของจิตรกรรมจากที่เคยเขียนภาพในลักษณะเป็นอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง กลายมาเป็นเขียนภาพของเหตุการณ์ สถานที่ที่มีอยู่จริง มีสัดส่วนที่เหมือนจริง และการใช้สี รูปภาพสถูปเจดีย์ทั้งหมดนั้นต่างล้วนเป็นสถูปเจดีย์ที่มีอยู่จริงในพื้นที่ตามเมืองต่าง ๆ มิใช่สถูปเจดีย์ในอุดมคติหรือความเชื่อในตำนานอีกต่อไปเช่นที่มักเขียนตามฝาผนังพระอุโบสถทั่วไปในอดีต เช่น กรุงลงกา ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ พระเจดีย์จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นต้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็คงทรงมีแนวคิดและความเชื่อดังกล่าวอย่างเต็มที่เช่นกัน จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่มีอยู่จริงในประเทศสยามมากกว่าที่จะเป็นรูปสถูปเจดีย์ที่สำคัญเพียงในจินตนาการแบบอดีต [61]

อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงในคติการครองพื้นที่ คือเมื่อเป็นเจ้าของสถานที่สำคัญในเมืองต่าง ๆ ก็หมายถึงการเป็นเจ้าของเมืองนั้นด้วย เจดีย์ที่ถูกวาดขึ้นยังถือว่าเป็นจอมเจดีย์ที่สำคัญในประเทศสยาม ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับมุมความคิดในเรื่องพื้นที่ถือครองและขอบเขตพระราชอาณาจักรตามอุดมคติแบบใหม่ที่ยึดขอบเขตดินแดนตามที่เป็นจริง มิใช่ขอบเขตที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเพียงแต่ในนาม ภาพเขียนสถูปเจดีย์ทั้ง 8 เป็นภาพสะท้อนการถือครองพื้นที่ในอุดมคติใหม่ของสยามที่แสดงขอบเขตของอาณาจักอย่างชัดจริง ภาพสถูปเจดีย์ทั้งหมดจึงเป็นการแสดงอุดมคติเรื่องพื้นที่และอาณาเขตที่เป็นจริงตามความคิดแบบตะวันตก เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระราชอำนาจและพระราชอาณาเขตของประเทศสยาม โดยใช้สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมทางศาสนาที่สำคัญของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นตัวชี้ ถึงแม้ว่าจะมิได้เป็นตัวการกำหนดชี้ชัดลงไปในรายละเอียดที่ถูกต้องแบบแผนที่ก็ตาม[62]

พระธาตุเจดีย์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานพุทธเจดีย์, พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2518. หน้า 7-10
  2. Snodgrass, Adrian. The Symbolism of The Stupa. New York : Cornell University, 1985. Page 156
  3. ศิลปากร, กรม. จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, 2526. หน้า 29-30
  4. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ "พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์" พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ : คลังวิทยา. 2515. หน้า 444
  5. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 4
  6. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 4
  7. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 4
  8. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 4-5
  9. เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2526. หน้า 16
  10. น. ณ ปากน้ำ (นามแฝง). พจนานุกรมศิลป, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552. หน้า 44
  11. Aung Thaw. Historical Sites in Burma. The Ministry of Union Culture, Government of Union of Burma : sarpay Beikman Press, 1972. Page 48
  12. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 5
  13. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 18-19
  14. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 21
  15. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; อนุมานราชธน, พระยา. บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ พิมพ์ครั้งที่ 2, เล่มที่ 3 กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2521. หน้า 128
  16. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 21
  17. เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2526. หน้า 16
  18. เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2526. หน้า 16
  19. เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2526. หน้า 19
  20. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 25
  21. เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2526. หน้า 33
  22. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 28
  23. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 29
  24. สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะเชียงแสน (ศิลปะล้านนา) และศิลปะสุโขทัย. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2534. หน้า 168, 173
  25. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 34
  26. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 15. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 9
  27. ศิลปากร, กรม. จารึกในประเทศไทย, เล่มที่ 4. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, 2529. หน้า 84, 93
  28. ศิลปากร, กรม. จารึกในประเทศไทย, เล่มที่ 4. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, 2529. หน้า 43, 46
  29. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 34-35
  30. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 259
  31. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 259
  32. Carbonnel, J.P. "Le Stupa Camboddien Actuel" Arts Asiatiques. Tome XXVI, 1973. Page 228
  33. Parmentier, Henri. "L'art pseudo Khmère du Siam et le Prang" Repr. From The Journal of the Greater India Society. Vol. IV, No.1, 1937. Page 10
  34. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 24. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 12-13
  35. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 25. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 106
  36. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปในประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528. หน้า 32
  37. น. ณ ปากน้ำ (นามแฝง). พจนานุกรมศิลป, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2522. หน้า 32
  38. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 24. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 67
  39. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 4. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 4-6
  40. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 5. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 334
  41. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 199
  42. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 40
  43. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 5. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 334
  44. สงวน รอดบุญ. ศิลปกรรมไทย. กรุงเทพฯ : การศาสนา, 2529. หน้า 85
  45. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 40
  46. สุภัทรดิศ ดิศกุล, มฬจฬ ประวัติย่อศิลปลังกา ชวา ขอม. นครหลวงกรุงเทพธนบุรี 2 : กรุงสยาม, 2515. หน้า 2
  47. น. ณ ปากน้ำ (นามแฝง). ความเป็นมาของสถูปเจดีย์ในสยามประเทศ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2529. หน้า 157
  48. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 42
  49. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 43
  50. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 44
  51. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 46
  52. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 46
  53. โชติ กัลยาณมิตร. พจนานุกรมสถาปัตบกรรม และศิลปเกี่ยวเนื่อง. พระนคร : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ, 2518. หน้า 440
  54. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา. จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการฉลองวันประสูติครบ 100 ปี วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2506). พระนคร : พระจันทร์. 2506. หน้า 75
  55. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา. จดหมายระยะทางไปมณฑลราชบุรี. พระนคร : ศิวพร. 2516. หน้า 22
  56. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ.ศิลปในประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 8 กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528. หน้า 37
  57. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505. หน้า 101-102
  58. สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552. หน้า 53
  59. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-18. สืบค้นเมื่อ 2012-10-24.
  60. http://botkwamdee.blogspot.com/2011/03/vs-12.html
  61. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-18. สืบค้นเมื่อ 2012-10-24.
  62. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-18. สืบค้นเมื่อ 2012-10-24.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้