วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดในจังหวัดนครศรีธรรมราช

วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร[1]

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระบรมธาตุ หรือ วัดพระมหาธาตุ
ที่ตั้งถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
นิกายเถรวาท
พระประธานพระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช
พระพุทธรูปสำคัญพระเจ้าศรีธรรมโศกราช(ปางมารวิชัย), พระเหมชาลา(ปางห้ามญาติ), พระทนทกุมาร(ปางประทานอภัย)
เจ้าอาวาสพระธรรมวชิรากร (สมปอง ปญฺญาทีโป ป.ธ.๗)
ความพิเศษพระอารามหลวงชั้นเอก
กิจกรรมนมัสการพระบรมธาตุ โบราณสถานคู่เมืองภาคใต้ ขอพรองค์ท้าวจตุคามรามเทพ เทพารักษ์ผู้เฝ้าองค์พระมหาธาตุ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติของวัดพระธาตุ แก้

  • พ.ศ. 854 เจ้าชายทนทกุมารและพระนางเหมชาลา (พระโอรสธิดาในพระเจ้าโคสีหราชกับพระนางมหาเทวี ผู้ครองเมืองทันทบุรี) และบาคู (แปลว่า นักบวช) ชาวสิงหล ได้สร้างวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร เจดีย์องค์เดิมเจดีย์แบบศรีวิชัย คล้ายเจดีย์กิริเวเทระ ในเมืองโบโลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา
  • พ.ศ. 1093(รอตรวจสอบ) พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมกับการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ เป็นเจดีย์แบบศาญจิ
  • พ.ศ. 1770(รอตรวจสอบ) พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ และเป็นพระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ เจดีย์แบบลังกา ทรงระฆังคว่ำ หรือ โอคว่ำ มีปล้องไฉน 52 ปล้อง สูงจากฐานถึงยอดปลี 37 วา 2 ศอก ยอดปลีของปล้องไฉน หุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา (เท่ากับ 12 เมตร) 1 ศอก (เท่ากับ 0.50 เมตร) แผ่เป็นแผ่นหนา เท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 800 ชั่ง (เท่ากับ 960 บาท) รอบพระมหาธาตุ มีองค์เจดีย์ 158 องค์
  • พ.ศ. 1830 หลัง ตามพรลิงก์ล่มสลายเพราะโรคระบาด พระพนมศรีทะเลมเหสวัสดิทราชา (ท้าวพญาอู่ทอง ) กษัตริย์ผู้ปกครอง ราชวงค์เพชรบุรี-อยุธยา ได้ส่งพระโอรสธิดาลงมา 3 องค์มาสร้างเมืองนครศรีธรรมราช คือ 1.เจ้าศรีราชาคนโต ได้ครองนครศรีธรรมราช 2.คนรองพระนางสนตราเทวี ได้ครองเมืองตระนอม มีพระสวามีชื่อเจ้าอินทราชา 3.เจ้าอินทรกุมารได้ครองเมืองสระอุเลาหรือท่าทองกาญจนดิษฐ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 30 มกราคม พุทธศักราช 1830 ปีขาล โดยนางสนตราเทวี แม่เมืองขนอม ได้บุกเบิกสร้างนาตระนอม (อ.ขนอม) ตระชล(อ.สิชล) นาตระฉลอง อลอง(ต.ฉลอง) นาสระเพียง นากาญจนดิษ ไชยา และสร้างท่าเรือขนอมหรือเมืองกลอย ค้าขายข้าว พริก งาช้าง แร่ แล้วนำเงินไปบูรณะพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชที่ร้างมาหลายอายุคนเพราะเกิดโรคระบาดตามพระราชโองการของเจ้าอยู่หัวแห่งอยุธยา ร่วมกับเจ้าศรีราชา พระนางสนตราเทวีแม่เมืองตระนอมหรือขนอมยังได้บูรณะวัดเจดีย์หลวงที่สร้างจากปะการังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชถึงปัจจุบัน และลูกหลานของพระนางสนตราเทวี ได้ทำนุบำรุงสร้างอีกหลายวัดตลอดมาจนถึงสมัยพระคีรีศรีสงคราม(เจ้าหัวเมืองกลอยหรือเมืองขนอม) กับ แม่เมืองอ่ำแดงเอียด ในนครศรีธรรมราชอีกหลายวัด เช่น วัดกลาง วัดกระดังงา ในเมืองตระนอม เป็นต้น ลูกหลานได้ครองเมืองสืบมา จนอยุธยาเสียกรุง เมืองตระนอม และท่าทองจึงได้ไปรวมกับเมืองนครศรีธรรมราช สายเจ้าศรีราชา ในปี พ.ศ 2310 และสุดท้ายพระเจ้าตากสินลงมารวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่ทางใต้ ทั้ง3เมือง คือมืองตระนอมขนอม ,เมืองสระอุเลาท่าทอง ,เมืองนคร จึงขึ้นกับกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ 2312 ในที่สุด บ้านเมืองช่วงนี้มีภัยสงคราม การบูรณทำนุบำรุงวัดน้อยลง พระคีรีศรีสงครามได้เป็นกำลังต่อเรือที่เมืองไชยาเพื่อให้พระเจ้าตากสินใช้ในการสู้ศึกกับพม่าและแขก โดยลูกชายของพระคีรีศรีสงคราม คือหลวงไชยคีรีศรีสงคราม ได้รับใช้ชาติต่อมาเป็นทหารรักษาพระองค์หรือวังหน้าในสมัย ร.2 ตลอดจนได้รับความไว้วางใจเป็นทัพหน้าชนะศึกไทรบุรี เมื่อปี 2364 ในสมัย ร.3 และลูกหลานของพระคีรีศรีสงครามสืบตระกูลว่า "ขนอม" ตลอดมา
  • พ.ศ. 2155 และ พ.ศ. 2159 สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถมีการซ่อมแผ่นทอง ที่ปลียอดพระบรมธาตุ
  • พ.ศ. 2190 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ยอดพระบรมธาตุได้ชำรุดหักลง และได้มีการซ่อมสร้างขึ้นใหม่
  • พ.ศ. 2275 - 2301 สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการดัดแปลงทางเข้าพระสถูปพระบรมธาตุบริเวณวิหารพระทรงม้า
  • พ.ศ. 2312 สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปฏิสังขรณ์พระอารามทั่วไปภายในวัด และโปรดให้สร้างวิหารทับเกษตร ต่อออกจากฐานทักษิณรอบองค์พระบรมธาตุ
  • สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ได้บูรณะพระวิหารหลวง วิหารทับเกษตร พระบรมธาตุที่ชำรุด
  • ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บูรณะกำแพงชั้นนอก วิหารทับเกษตร วิหารธรรมศาลา วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน ปิดทองพระพุทธรูป
  • พ.ศ. 2457 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ติดตั้งสายล่อฟ้า ยอดองค์พระบรมธาตุเจดีย์
  • พ.ศ. 2515 - 2517 บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และพระอุโบสถ
  • พ.ศ. 2530 ซ่อมกลีบบัวทองคำ ที่ฉีกขาดเปราะบาง เสื่อมสภาพเป็นสนิม เสริมความมั่นคงแข็งแรงที่กลีบบัวปูนปั้น ในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จอัญเชิญแผ่นกลีบบัวทองคำ ขึ้นประดิษฐานบนองค์พระบรมธาตุเจดีย์
  • พ.ศ. 2537 - 2538 บูรณะปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์ และเสริมความมั่นคงปูนแกนในปลียอด ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 50 ล้านบาท สิ้นทองคำ 141 บาท (มาตราชั่ง ตวง วัด ของไทย 1 บาท เท่ากับ 15.2 กรัม)

กรมศิลปากร ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และคณะกรรมการมรดกโลก มีมติในการประชุมคณะกรรมการสมัยที่ 37 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556 รับรองวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเข้าสู่บัญชีเบื้องต้นก่อนเสนอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก[2]

สถานที่สำคัญ แก้

 
เจ้าชายทนทกุมาร และพระนางเหมชาลา ชาวศรีลังกา ขณะทรงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ภาพประดับพระวิสูตรมณทปพระเขี้ยวแก้ว วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา
  • พระวิหารหลวง (พระอุโบสถ)
  • วิหารพระมหาภิเนษกรณ์ หรือวิหารพระทรงม้า
  • วิหารเขียน หรือวิหารพระเขียน
  • วิหารโพธิ์ลังกา และ ต้นศรีมหาโพธิ์
  • วิหารพระกัจจายนะ หรือวิหารพระแอด
  • วิหารพระปัญญา
  • พระเจดีย์ราย รอบพระบรมธาตุ
  • พระบรมธาตุเจดีย์
  • วิหารสามจอม หรือวิหารพระเจ้าศรีธรรมโศกราช
  • วิหารทับเกษตร หรือพระระเบียงตีนธาตุ
  • วิหารพระระเบียง หรือวิหารคด
  • วิหารธรรมศาลา[3]
  • วิหารโพธิ์พระเดิม
  • มณฑปพระพุทธบาทจำลอง
  • อนุสาวรีย์พระนางเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร
  • อนุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมโศกราช
  • อนุสาวรีย์แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว)

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ แก้

 
ขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์

ประเพณีผ้าขึ้นธาตุ หมายถึง การนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา ชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธานำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือ พระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช แก่นแท้อยู่ที่การบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทน

ตามตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีว่า ในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่า พระบฎ หรือ พระบต) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง จึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือนยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนครมีรอดชีวิต 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของพระบฎที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครสืบมาจนทุกวันนี้

ลำดับเจ้าอาวาส แก้

ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ มีดังนี้[4]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระครูวินัยธรนุ่ม (นุ่น) พ.ศ. 2458 พ.ศ. 2463
2 พระครูปลัดแก้วชิน (ชิน) พ.ศ. 2464 พ.ศ. 2467
3 พระเทพญาณเวที (ลือ ยติกเถระ) พ.ศ. 2468 พ.ศ. 2469
4 พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) พ.ศ. 2470 พ.ศ. 2521
5 พระธรรมรัตโนภาส (ประดับ โอภาโส) พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2543
6 พระธรรมวชิรากร (สมปอง ปญฺญาทีโป) พ.ศ. 2544 ปัจจุบัน

พิกัดแผนที่ แก้

8°24′40″N 99°57′58″E / 8.410985°N 99.966147°E / 8.410985; 99.966147

อ้างอิง แก้

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม แก้

  • อิทธิกร ทองแกมแก้ว. "มองพระปานผ่านวัดพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช." ใน จุดนัดพบ การข้ามแดน และไข้พื้นที่ในภาคใต้ของไทย เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เครือข่ายประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และสังคมวิทยาภาคใต้ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2561 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต. น. 78-93. ภูเก็ต: พีพี บุคส์ แอนด์ คอม, 2561.
  • กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ประวัติพระอารามหลวง เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2548. 622 หน้า. หน้า 313-314.