พระไตรปิฎก

คัมภีร์ของศาสนาพุทธ

พระไตรปิฎก (บาลี: तिपिटक ติปิฏก; สันสกฤต: त्रिपिटक ตฺริปิฏก) เป็นคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า[1] ไตรปิฎก แปลว่า ตะกร้า 3 ใบ เพราะเนื้อหาแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ คือ

  1. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยพระวินัยสิกขาบทต่าง ๆ ของภิกษุและภิกษุณี
  2. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระโคตมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่แสดงแก่บุคคลต่างชั้นวรรณะและการศึกษา ต่างกรรมต่างวาระกัน มีทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง
  3. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยพระอภิธรรมหรือปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นธรรมะขั้นสูง อธิบายด้วยหลักวิชาล้วน ๆ โดยไม่อ้างอิงเหตุการณ์และบุคคล

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในยุคแรกเรียกว่าพระธรรมวินัย จนกระทั่งการสังคายนาครั้ง 3 จึงแยกเนื้อที่เกี่ยวกับปรมัตถธรรมออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่งเรียกว่าพระอภิธรรมปิฎก

ในศาสนาพุทธยุคแรก แต่ละนิกายต่างมีคัมภีร์เป็นของตนเอง บางนิกายมี 5 ปิฎก บางนิกายมี 7 ปิฎก[2] แต่พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันมีเพียงพระไตรปิฎกภาษาบาลีของฝ่ายเถรวาท[3]

ในปัจจุบันคำว่าพระไตรปิฎก ใช้หมายถึงคัมภีร์ในศาสนาพุทธโดยรวม ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 3 สารบท ได้แก่[4]

  1. พระไตรปิฎกภาษาบาลี ใช้ในนิกายเถรวาท
  2. พระไตรปิฎกภาษาจีน ใช้ในนิกายมหายาน
  3. พระไตรปิฎกภาษาทิเบต ใช้ในศาสนาพุทธแบบทิเบต

อ้างอิง

แก้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 392
  2. Journal of the Pali Text Society, volume XVI, page 114
  3. Harvey, Introduction to Buddhism, Cambridge University Press, 1990, page 3.
  4. เสถียร โพธินันทะ, ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์, มรดกธรรมของเสถียร โพธินันทะ, 2548, หน้า 82-3