พระไตรปิฎกภาษาทิเบต
พระไตรปิฎกทิเบต หมายถึง คัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่ได้รับการแปล และเขียนขึ้นในภาษาทิเบต ทั้งนี้ คำว่า พระไตรปิฏกที่ใช้ในบริบทนี้ มิได้หมายความว่า พุทธศาสนาแบบทิเบตแบ่งพระธรรมวินัยออกเป็น 3 หมวดหมู่ หรือเข้าใจง่าย คือ 3 ตะกร้า ตามธรรมเนียมของฝ่ายเถรวาท แต่เป็นการใช้คำว่าพระไตรปิฎกเพื่อเรียกคัมภีร์ทางพุทธศาสนาโดยรวม ที่พุทธศาสนาฝ่ายทิเบต หรือนิกายวัชรยานใช้ศึกษาพระธรรมวินัย อันประกอบด้วยพุทธวจนะ และปกรณ์ที่รจนาโดยพระคันถรจนาจารย์ต่าง ๆ
ประวัติ
แก้การแปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม และปกรณ์ต่าง ๆ จากภาษาถิ่นอินเดีย โดยเฉพาะภาษาสันสกฤต มาเป็นภาษาทิเบตเริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ศาสนาพุทธได้รับการเผยแผ่เข้าสู่แผ่นดินทิเบตครั้งแรก
โดยในชั้นต้นเป็นการแยกกันแปลโดยคณะต่างๆ กัน กระทำโดยคณะผู้แปลทั้งชาวอินเดียและชาวท้องถิ่น ทั้งนี้ กษัตริย์องค์แรกที่ทรงอุปถัมภ์การจัดระเบียบการแปลพระไตรปิฎก คือ พระเจ้าตริเดซงเซน (khri-lde srong-btsen) กษัตริย์ทิเบตองค์ที่ 39 ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 776-815
จนกระทั่งมาถึงช่วงศตวรรษที่ 9 กษัตริย์ทิเบตจึงทรงเริ่มให้การอุปถัมภ์การแปลอย่างจริงจัง และมีการจัดทำรายการบัญชีพระสูตรและศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้รับการแปลเป็นครั้งแรก รวมแล้วมีถึง 700 หัวเรื่อง[1]
กระแปลพระคัมภีร์ขาดช่วงไปในระหว่างการกวาดล้างศาสนาพุทธโดยบัญชาของพระเจ้าลังทัร์มะ (Glang dar ma) ในปี ค.ศ 842 แต่เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 10 กระบวนการแปลได้เริ่มต้นอีกครั้ง และเป็นไปอย่างคึกคัก กว้างขวาง พร้อม ๆ กับที่ศาสนาพุทธได้รับการเผยแผ่อย่างไพศาลทั่วแผ่นดินทิเบตนับแต่นั้น เรียกอย่างเป็นทางการว่า การประกาศพระศาสนาครั้งที่ 2 (phyi dar)[2]
นับแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา มีการจัดทำบัญชีรายชื่อพระคัมภีร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประจักษ์พยานของความยิ่งใหญ่ของกระบวนการแปล และการจัดระเบียบวรรณกรรมทางศาสนาของทิเบต จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 14 บูตน (Bu ston) พระนิกายสะจะ (Sakya) แห่งอารามชาลู ได้ทำการสำรวจและรวบรวม รวมถึงจัดทำบัญชีพระคัมภีร์เป็นครั้งสุดท้าย
ทั้งนี้ การจัดหมวดหมู่ ครั้งสำคัญเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 13 โดย จัมกักพักชี (Jam-gag pak-shi) นักบวชผู้มีสายเลือดราชนิกูลมองโกล ได้ร่วมกับอาจารย์ของท่าน ค้นคัมภีร์ต่าง ๆ ทุกเล่มที่มีอยู่ในทิเบตมารวบรวมไว้ จัดทำบัญชี และจัดหมวดหมู่ออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นแม่แบบให้กับการจัดหมวดหมู่พระไตรปิฎกทิเบตออกเป็น 2 กลุ่มดังที่เห็นในปัจจุบัน[3]
การจัดหมวดหมู่
แก้พระไตรปิฎกทิเบตออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่
กันจูร์ (หรือ bka'-'gyur) แปลว่า "พระสูตรแปล" ประกอบไปด้วยพุทธวจนะในรูปของพระสูตรต่าง ๆ เกือบทั้งหมดมีต้นฉบับเป็นภาษาสันสกฤต แต่ในบางกรณีได้รับการแปลจากภาษาจีน และภษาาอื่น ๆ ที่แปลมาจากพระสูตรภาษาสันสกฤตอีกทอด
เตนจูร์ (bstan-'gyur) หรือ "ศาสตร์แปล" ประกอบไปด้วยอรรถกา ศาสตร์ และปกรณ์วิเศษต่าง ๆ รวมถึงคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม ของทั้งสายมหายาน และนอกสายมหายาน เตนจูร์ ประกอบไปด้วย 3626 คัมภีร์ แบ่งออกเป็น 224 เล่มสมุดทิเบต
กันจูร์ มีการจัดหมวดหมู่ที่ไม่เหมือนพระไตรปิฎกภาษาบาลี และภาษาจีน หรืออาจกล่าวได้ว่า ทั้ง 3 ฉบับมีการจัดหมวดหมู่ที่แตกต่างกันแทบจะโดยสิ้นเชิง ในส่วนของพากย์ภาษาทิเบตนั้น ในชั้นแรกมีการจัดหมวดหมู่โดย อัญเชิญพระสูตรฝ่ายมหายานขึ้นนำก่อน ตามด้วยพระสูตรฝ่ายเถรวาท ทั้งนี้ ในส่วนพระสูตรฝ่ายมหายานนั้น นำโดยพระสูตรหลักก่อน อาทิ พระสูตรปรัชญาปารมิตา ตามด้วยพระสูตรสายอวตังสกะ และพระสูตรสายรัตนกูฏ ติดตามด้วยพระสูตรปกิณกะ และปิดท้ายด้วยคัมภีร์ฝ่ายตันตระ และพระวินัย จากนั้นจึงตามด้วยพระสูตรฝ่ายเถรวาท การจัดพระสูตรในลักษณะนี้ ปรากฏขึ้นครั้งแรก ในการทำบัญชีพระคัมภีร์ครั้งแรกเมื่อราวศตวรรษที่ 7 เรียกว่าบัญชีดันการ์มะ (lDan kar ma)[4]
ในเวลาต่อมาการจัดหมวดหมู่ในกันจูร์เปลี่ยนไป โดยในช่วงศตวรรษที่ 14 - 15 มีการจัดหมวดหมู่ออกเป็น พระวินัย (Dul ba), พระสูตร (mDo) และ คัมภีร์ตันตระ (rGyud) การแบ่งในทำนองนี้ ทำให้กันจูร์ มีลักษณะคล้ายกับพระไตรปิฏกไปโดยปริยาย เพียงแต่เปลี่ยนจากพระอภิธรรม เป็น คัมภีร์ตันตระ
อย่างไรก็ตามการจัดหมวดหมู่ทำนองนี้ ยังมีนัยยะจากการจัดหมวดตามแนวคิดเรื่อง ยาน ทั้ง 3 กล่าวคือ ในทิศนะของชาวพุทธทิเบตนั้น พระวินัย หมายถึงครรลองของฝ่ายเถรวาท หรือหีนยาน พระสูตรหมายถึงครรลองฝ่ายมหายาน และตันตระหมายถึงครรลองฝ่ายวัชรยาน[5]
องค์ประกอบของกันจูร์
แก้จากแม่พิมพ์ของวัดเดเก ปาร์คัง (Dega Parkhang) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่จัดพิมพ์ และรวบรวมคัมภีร์ทางศาสนาของทิเบตที่สำคัญ พบว่า ตันจูร์ ประกอบไปด้วยพระธรรมวินัยที่แปลจากภาษาสันสกฤต 108 เล่ม แบ่งออกเป็น 9 ส่วนหลักรวบรวมพระธรรมวินัย 1,108 เรื่อง จำนวนทั้งหมด 3,707 หน้าสมุดทิเบต ดังต่อไปนี้
- พระวินัย - ว่าเหตุและวิบากกรรม, บัญญัติพระวินัย - 13 เล่ม 3944 หน้า
- พระสูตรสายปรัชญาปารมิตา - คำสอนหลักของมหายาน - 21 เล่ม 8565 หน้า
- พระสูตรสายอวตังสกะ - ว่าด้วยพุทธภาวะอันไพศาล - 4 เล่ม 1548 หน้า
- พระสูตรสายรัตนกูฏ - รากฐานแนวคิดเรื่องศูนยตา - 6 เล่ม 1757 หน้า
- พระสูตรปกิณกะ - รวมพระสูตรย่อยต่างๆ - 32 เล่ม 9741 หน้า
- คัมภีร์ตันตระ - คำสอนของสายมนตรยาน - 24 เล่ม 5995 หน้า
- ปรตันตระ - คำสอนตันตระของสายญิงมะ - 3 เล่ม 956 หน้า
- กาลจักร - คำสอนลี้ลับของฝ่ายมนตรยาน - 2 เล่ม 561 หน้า
- ธารณี - มนตราสำหรับบริกรรม - 2 เล่ม 469 หน้า
- บัญชีเรื่องกันจูร์ - ฉบับของ ซีถู โชจี จุงเน - 1 เล่ม 171 หน้า [6]
องค์ประกอบของเตนจูร์
แก้จากแม่พิมพ์ของวัดเดเก ปาร์คัง พบว่า เตนจูร์ประกอบไปด้วย คัมภีร์ต่าง ๆ 213 เล่ม แบ่งออกเป็น 17 ส่วนหลัก รวบรวมเอาอรรถกา ฎีกา คันถี ปกรณ์วิเศษ และสรรพศาสตร์ต่าง ๆ จำนวน 3,354 เรื่อง เป็นผลงานของพระคันถรจนาจารย์ 700 ท่าน รวมทั้งสิ้น 64,200 หน้าสมุดทิเบต ดังต่อไปนี้
- สโตรตะ - บทสรรเสริญพุทธคุณ
- อรรถกถาตันตระ - แก้ความในคัมภีร์สายตันตระ
- อรรถกถาปรัชญาปารมิตา - แก้ความในพระสูตรสายปรัชญาปารมิตา
- อรรถกถามาธยมิกะ - ศาสตร์ในนิกายมาธยมิกะ
- อรรถกถาจิตตมาตรา - ศาสตร์ในนิกายโยคาจาร
- พระอภิธรรม - ศาสตร์ว่าเกี่ยวอภิธรรมของพระคันถรจนาจารย์
- พระวินัย - อรรถกถาแก้ความในพระวินัย
- ชาตกะ - ว่าด้วยอดีตชาติของพระพุทธเจ้า
- เลขะ/ปริคาถา - จดหมายและจดหมายเหตุ
- ประมาณะ - ตรรกศาสตร์และญานวิทยา
- ศัพทวิทยา - ว่าด้วยภาษาศาสตร์
- จิกิตสะวิทยา - ว่าด้วยแพทยศาสตร์
- ศิลปวิทยา - งานช่างศิลป์เกี่ยวกับศาสนา
- นิติศาสตร์ - ว่าด้วยกฎหมายและการปกครอง
- วิศววิทยา – ว่าด้วยความรู้เบ็ดเตล็ด [7]
พระไตรปิฎกทิเบตฉบับต่าง ๆ
แก้พระไตรปิฎกทิเบตได้รับการเผยแพร่ผ่านระบบการพิมพ์ด้วยแม่พิพม์แกะไม้ (Woodcut) เป็นส่วนใหญ่ จึงมีความแพร่หลายระดับหนึ่ง หากจะแบ่งฉบับต่าง ๆ ตามสำนักพิมพ์แล้ว จะมี 3 แห่งที่สำคัญ คือ ฉบับโรงพิมพ์ที่กรุงลาซา ฉบับโรงพิมพ์ที่นาร์ทัง และฉบับโรงพิมพ์เดเก ปัจจุบันเหลือเพียงโรงพิมพ์ที่เดเก เท่านั้นที่ยังจัดพิมพ์คัมภีร์แบบเดิมอยู่ ส่วนที่นาร์ทัง ถูกทำลายไปในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ยังมีการจัดแบ่งฉบับต่าง ๆ ตามสถานที่ค้นพบ ผู้รวบรวม และสถานที่รวบรวมคัมภีร์ เช่น ฉบับหย่งเล่อ รวบรวมขึ้นในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิงของจีน (ค.ศ. 1410) ฉบับว่านหลี่ รวบรวมขึ้นในสมัยจักรพรรดิว่านหลี่แห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1606) ฉบับคังซี รวบรวมขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซี แห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1684–92)
นอกจากนี้ ยังมีฉบับอูรกา (Urga Kanjur) พบที่กรุงอูลัน บาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ฉบับโชเน (Cone Kanjur) พบที่เขตโชเน ทางตอนใต้ของทิเบต ฉบับมูตัง (Mustang Kangyur) พบที่แคว้นมูตัง ทางตอนเหนือของเนปาล เป็นต้น[8][9][10]
ข้อมูลเพิ่มเติม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Tibetan Literature: Studies in Genre, หน้า 70-94
- ↑ Tibetan Literature: Studies in Genre, หน้า 70-94
- ↑ Traditional Cataloguing and Classification of Tibetan Literature, หน้า 50-60
- ↑ Tibetan Literature: Studies in Genre, หน้า 70-94
- ↑ Tibetan Literature: Studies in Genre, หน้า 70-94
- ↑ The listing of scripture
- ↑ The listing of scripture
- ↑ 藏文《大藏经》知识答读者问
- ↑ 恢弘的藏文《大藏经》
- ↑ 几种藏文《大藏经》版本的异同比较
บรรณานุกรม
แก้- Jose Ignacio Cabezon (Editor). (1996). Tibetan Literature: Studies in Genre. Boston: Snow Lion.
- Traditional Cataloguing and Classification of Tibetan Literature" (English) Dharamsala: LTWA Tibetan Journal, XXX- no- 2, Summer 2005.
- The listing of scripture จาก http://www.degeparkhang.org/sutra-en.htm เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- 藏文《大藏经》知识答读者问
- 恢弘的藏文《大藏经》
- 几种藏文《大藏经》版本的异同比较