ปราสาทพระเทพบิดร
ปราสาทพระเทพบิดร เป็นปราสาทเพียงองค์เดียวในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นปราสาทจตุรมุข ยอดปรางค์มีนภศูล และมงกุฎอยู่บนยอด ประดับกระเบื้องเคลือบ องค์เดียวในประเทศไทย ภายในมีพระบรมรูปหล่อของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี 9 พระองค์
ปราสาทพระเทพบิดร | |
---|---|
ปราสาทพระเทพบิดร (ตรงกลางรูป) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖ | |
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ที่ตั้ง | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แขวงพระบรมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
ประเทศ | ประเทศไทย |
สถานะ | ปราสาทที่ประดิษฐานรูปเคารพของสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราช * ตั้งแต่ ร.๑ - ร.๙ |
การสร้าง | |
ผู้สร้าง | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
เป็นส่วนหนึ่งของ | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม |
เลขอ้างอิง | 0005574 |
ประวัติ
แก้ปราสาทพระเทพบิดร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2398 เดิมชื่อว่า พุทธปรางค์ปราสาท เมื่อแรกนั้นมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ แต่เมื่อสร้างเสร็จเห็นว่าคับแคบไม่เหมาะแก่การพระราชพิธี จึงมิได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานดังพระราชดำริ
ในปี พ.ศ. 2446 ได้มีการซ่อมแซมแล้วให้เปลี่ยนนามเป็น ปราสาทพระเทพบิดร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปพระบูรพกษัตริย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 5 องค์มาไว้[1] ทั้งมีพระบรมราชโองการให้มีการถวายบังคมพระบรมรูป เป็นประจำทุกปีในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งทรงกำหนดให้เป็นวันจักรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 เป็นต้นมา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะพระราชทานโอกาสเตือนน้ำใจแก่ประชาชน ได้ระลึกถึงความเดิมว่า ราชอาณาจักรไทยได้กลับเป็นอิสรภาพขึ้นดังโบราณกาล ด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และดำรงความเป็นอิสรภาพต่อมาด้วยพระบรมราโชบายแห่งสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าที่ได้สืบสนองพระองค์ ประกอบด้วยพระปรีชาญาณต่างๆ อันควรแก่สมัย ราชอาณาจักรไทยจึงดำรงความเป็นอิสรภาพสืบมา
ด้วยเหตุนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทั้ง ๕ รัชกาล ซึ่งเดิมประดิษฐาน ณ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ไปประดิษฐานยังปราสาทพระเทพบิดร แล้วให้มีการถวายบังคมพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในวันที่ 6 เมษายน เป็นประเพณีสืบไป
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกวันนี้ว่า “วันจักรี” เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จกรีฑาทัพกลับพระนคร ทรงรับอัญเชิญเสด็จขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ การถวายบังคมพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เนื่องในวันจักรี จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2462 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชบันทึกเหตุการณ์นี้ในบันทึกจดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช 2462 ความตอนหนึ่งว่า
“บ่ายวันนี้ได้เข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปที่ในปราสาทพระเทพบิดร ในเวลาที่เราไป ก็ยังมีข้าราชการและประชาชนอยู่มาก และได้ข่าวว่าตั้งแต่เช้ามีคนเข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปเป็นอันมาก...งานนี้นับว่าเป็นพระเกียรติยศงดงามดีมาก เพราะผู้คนไปอย่างแน่นหนา...เราได้ให้เรียกวันนี้ว่า วันจักรี”
นับแต่นั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์ทุกรัชกาลสืบมากระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชน เข้าถวายบังคมพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อความเจริญมั่นคง เป็นมูลฐานแห่งความผาสุกร่มเย็นของราชอาณาจักรไทยมาตราบเท่าทุกวันนี้
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมพระบรมรูป เป็นประจำทุกปีในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคล วันที่ 13-15 เมษายน เนื่องในวันสงกรานต์[2] หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ ในบางปี หรือทุกปี เช่น วันปิยมหาราช วันที่ 23 ตุลาคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2554[3]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดรสืบไปพร้อมกับการเททองหล่อ พระคันธารราษฎร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 และในอีกหนึ่งปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงประกอบพิธีประดิษฐาน และสมโภชพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ปราสาทพระเทพบิดร
ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ซึ่งวันฉัตรมงคลเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 4 พฤษภาคม ก็ยังคงธรรมเนียมการถวายบังคมพระบรมรูปอยู่ แม้ในปี พ.ศ. 2566 จะไม่มีการพระราชพิธีดังกล่าว แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดปราสาทพระเทพบิดรให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูปเช่นเดิม[4] นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปในวันนวมินทรมหาราช ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระบรมชนกนาถเพิ่มอีกหนึ่งวาระด้วย ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าถวายสักการะ ต้องแต่งกายสุภาพ สุภาพบุรุษห้ามสวมกางเกงยีนส์ สุภาพสตรีต้องสวมกระโปรงหรือผ้านุ่ง[5]
สัตว์หิมพานต์
แก้บนฐานไพทีด้านหน้า และรอบๆ ปราสาทพระเทพบิดรจะมีรูปหล่อโลหะเป็นรูปสัตว์หิมพานต์ ซึ่งหล่อในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างเป็นคู่ ตัวผู้ตัวเมีย รวม 7 คู่ ดังนี้
- อสูรวายุภักษ์ ท่อนบนเป็นยักษ์สวมมงกุฎ ท่อนล่างเป็นนก สองมือกุมกะบองเกลียว ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
- อัปสรสีห์ ท่อนบนเป็นนางอัปสร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ ยืนพนมมือ ตั้งอยู่เชิงบันไดกลางลานด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร
- สิงหพานร ท่อนบนเป็นพระยาวานร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ สองมือถือกระบอง ตั้งอยู่ที่บันไดลานทักษิณด้านตะวันตก
- กินนร และ กินรี ท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก มือหนึ่งแตะบั้นเอว มือหนึ่งยกระดับอก ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
- เทพปักษี เป็นเทวดา มีปีกและหางเป็นนก มือข้างหนึ่งถือพระขรรค์ อีกข้างหนึ่งจีบระดับอก ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
- เทพนรสิงห์ ท่อนบนเป็นเทวดา ท่อนล่างเป็นราชสีห์ มือหนึ่งแตะบั้นเอว อีกมือหนึ่งถือกิ่งไม้ชูระดับอก ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
- อสูรปักษี ท่อนบนเป็นยักษ์ สวมมงกุฎ ท่อนล่างเป็นนก มือหนึ่งแตะบั้นเอว อีกมือหนึ่งผายออกด้านข้าง
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธี เชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาไลยมหาปราสาท ประดิษฐาน ยังปราสาทพระเทพบิดร พระพุทธศักราช 2461, เล่ม 35, ตอน ง, 21 เมษายน พ.ศ. 2461, หน้า 116
- ↑ สำนักพระราชวัง, หมายกำหนดการพระราชพิธีสงกรานต์ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ สำนักพระราชวัง, หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราช พุทธศักราช ๒๕๕๔
- ↑ "สำนักพระราชวัง แจ้งการเปิดเข้าชมพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และปราสาทพระเทพบิดร เนื่องในวันฉัตรมงคล วันพฤหัสบดี ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖". หน่วยราชการในพระองค์. 2023-05-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-04. สืบค้นเมื่อ 2023-05-04.
- ↑ "สำนักพระราชวัง ขอแจ้งการเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันศุกร์ ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-09. สืบค้นเมื่อ 2023-10-12.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ปราสาทพระเทพบิดร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์