ยักษ์ เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่งที่มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี ยักษ์ในความเชื่อของไทยมักได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ในขณะที่ความเชื่อในบริเวณอื่น ๆ ของโลกก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอมนุษย์ที่มีร่างกายใหญ่โต ชอบของสดคาว ซึ่งเทียบได้กับยักษ์ในความเชื่อของคนไทยเช่นกัน

รูปปั้นยักษ์ ทศกัณฐ์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นยักษ์จากเรื่องรามเกียรติ์

ยักษ์ในความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และพุทธ แก้

ยักษ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กล่าวว่า เมื่อครั้งที่พระพรหมสร้างโลกขึ้น เมื่อให้กำเนิดน้ำ พระองค์ต้องการให้มีผู้รักษาน้ำนั้น จึงทรงสร้างอมนุษย์ขึ้นมา 2 จำพวก พวกหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นร้องเรียกว่า หิว อยู่เป็นนิจ พระพรหมจึงเรียกอมนุษย์พวกนั้นว่า ยักษ์ แปลว่า ผู้หิว ส่วนอมนุษย์อีกจำพวก ทรงให้รักษาทางน้ำนั้น ทรงเรียกว่า รากษส แปลว่า ผู้รักษา ยักษ์และรากษสจึงเป็นอมนุษย์ที่เป็นพี่น้องกัน พวกยักษ์นั้น มีลักษณะเหมือนเทวดา แต่มีรัศมีและวรรณะทรามกว่า แต่ยักษ์นั้นเป็นผู้มีทรัพย์มาก มีความสามารถในการค้นหาและรักษาทรัพย์ เป็นผู้ชอบในการดื่มกินอาหาร มียักษ์อีกจำพวก มีลักษณะต่ำเตี้ยเหมือนคนแคระ พุงพลุ้ย ผมหยิก เรียกว่า คุหยัก เป็นผู้เฝ้ารักษาทรัพย์ตามถ้ำในป่าเขา ส่วนพวกรากษสนั้นมักอาศัยในป่าเขา ในน้ำ ในถ้ำ และจะเฝ้ารักษาอาณาเขตนั้น มีนิสัยดุร้ายกว่าพวกยักษ์ พวกยักษ์นั้นมีทั้งพวกที่ดีและชั่วร้าย ยักษ์ทั้งหลายปกครองโดยท้าวกุเวร อยู่ที่เมืองอลกา บนยอดเขาคันธมาทน์ แต่ยักษ์บางจำพวกก็ปกครองกันเอง บางพวกก็เป็นมิตรกับอสูร

ยักษ์ในศาสนาพุทธนั้น เป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา จะมีหลายระดับขึ้นกับบุญบารมี ยักษ์ชั้นสูง จะมีวิมานเป็นทอง เป็นแก้วมณี มีรูปร่างสวยงาม มีเครื่องประดับ มีรัศมี แต่ผิวจะดำ ดำอมเขียว อมเหลือง ดำแดงก็มี แต่ว่าดำเนียน มีอาหารทิพย์ มีบริวารคอยรับใช้ ปกติไม่เห็นเขี้ยว เวลาโกรธจึงจะมีเขี้ยวงอกออกมา มีความเป็นอยู่เสวยทิพยสมบัติดังเทวดา ยักษ์ชั้นกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นบริวารคอยรับใช้ของยักษ์ชั้นสูง ส่วนยักษ์ชั้นต่ำที่บุญน้อยก็จะมีรูปร่างน่าเกลียด ผมหยิก ตัวดำ ตาโปน ผิวหยาบ เหมือนกระดาษทราย นิสัยดุร้าย

ยักษ์เกิดได้ 4 แบบ คือ

  • เกิดแบบโอปปาติกะ เกิดแล้วโตทันที
  • เกิดแบบสังเสทชะ เกิดในเหงื่อไคล
  • เกิดแบบชลาพุชะ เกิดในครรภ์
  • เกิดแบบอัณฑชะ เกิดในไข่

ที่อยู่ของยักษ์ มักอยู่ตามถ้ำ ตามเขา ในน้ำ ในดิน พื้นมนุษย์ ในอากาศ และมีวิมานอยู่ที่เขายุคนธรในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกยักษ์จะอยู่ในการปกครองของท้าวเวสสุวัณ หรือท้าวกุเวรมหาราชผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศเหนือ เหตุที่มาเกิดเป็นยักษ์เพราะทำบุญเจือด้วยความโกรธ มักหงุดหงิดรำคาญใจ

ยักษิณี แก้

ยักษิณี หรือ นางยักษ์ ogress หมายถึงยักษ์เพศหญิง ซึ่งมีบทบาทอยู่ในวรรณกรรมและตำนานต่าง ๆ มากมายหลายเรื่อง ในเย น กาหนฺติ โอวาทํ พระพุทธเจ้าท่านตรัสถึงนางยักษิณีว่า

ดูก่อนภิกษุ ธรรมดาหญิงเหล่านี้ เล้าโลม ชายด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และด้วยมารยาหญิง กระทำให้อยู่ในอำนาจของตน เขาเรียกว่านางยักษิณี เพราะ เล้าโลมชายด้วยกรีดกราย ครั้นรู้ว่าชายนั้นตกอยู่ในอำนาจแล้ว ก็จะให้ถึงความพินาศแห่งศีล และความพินาศแห่งขนบประเพณี

ยักษิณีที่ปรากฏในตำนานและนิทานพื้นบ้านของไทยมีหลายเรื่อง ได้แก่

  1. นางยักษิณีเจ้ามารยา (เตลปตฺตชาตกํ)
  2. นางยักษิณี เมืองสิริสวัตถุ เกาะตามพปัณณิ (วลาหกัสสชาดกที่ 6)
  3. นางยักษิณี ในทศชาติชาดก เรื่องมโหสถบัณฑิต
  4. นางยักษิณี ใน สานุสามเณร
  5. นางยักษิณีหน้าเหมือนม้า ใน ปทกุสลมาณวชาดก
  6. นางยักษิณีปุตนะใน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
  7. นางสำมนักขา น้องสาวคนเดียวของทศกัณฐ์
  8. นางอากาศตะไลเสื้อเมืองกรุงลงกา รักษาด่านลงกาทางอากาศ
  9. นางผีเสื้อสมุทร รักษาด่านกรุงลงกาด้านหลังสมุทร
  10. นางอัศมุขี ยักษิณีมีหน้าคล้ายสัตว์
  11. นางผีเสื้อสมุทรในพระอภัยมณี[1]
  12. นางพันธุรัตใน สังข์ทอง
  13. นางยักษ์สันธมาลา ในพระรถ-เมรีหรือ นางสิบสอง
  14. นางยักษิณีผีเสื้อน้ำ ในเรื่องพระสุวรรณหงส์[2]
  15. ตำนานบุญข้าวสาก หรือ ตำนานสลากภัต[3]
  16. ยักโข เสวยทิพย์วิมานอยู่ชั้นดุสิต
  17. ยักขเทวี เสวยทิพย์วิมานอยู่ชั้นดุสิต ได้แก่ นางยักขเทวีสันธมาลา และนางยักขเทวีพันธุรัตน์
  18. ท้าวกายฆาต ในเรื่องแก้วหน้าม้า

ยักษ์ในความเชื่อของศาสนาอื่น ๆ แก้

อ้างอิง แก้

  1. [1] เก็บถาวร 2008-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[2][3] เก็บถาวร 2009-09-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[4] เก็บถาวร 2009-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. [5][ลิงก์เสีย][6] เก็บถาวร 2012-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[7] เก็บถาวร 2012-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-07. สืบค้นเมื่อ 2010-04-23.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้