วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2325 เป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่พระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่ตั้งอยู่ในพระราชวังโบราณสมัยอาณาจักรอยุธยา นอกจากนี้ มีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาส ไม่มีส่วนสังฆาวาส
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม | |
---|---|
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มุมมองจากพระบรมมหาราชวัง | |
ชื่อสามัญ | วัดพระแก้ว |
ที่ตั้ง | ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร 10200 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นพิเศษ |
พระประธาน | พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระสัมพุทธพรรณี พระชัยหลังช้าง พระคันธารราษฎร์ พระนาก |
พระจำพรรษา | ไม่มี |
ความพิเศษ | พระอารามประจำพระบรมมหาราชวัง |
จุดสนใจ | สักการะพระแก้วมรกต ชมจิตรกรรมฝาผนัง ที่พระระเบียง |
กิจกรรม | เทศนาธรรม วันอาทิตย์และวันพระ |
การถ่ายภาพ | ไม่ควรใช้แฟลชในถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในพระอุโบสถ |
หมายเหตุ | เข้าชมเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องทำหนังสือขออนุญาต ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารเงินตรา ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0005574 |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพระอุโบสถ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด อาคารประธานของกลุ่มอาคารนี้ คือ พระอุโบสถ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิธาตุพิมาน หอพระราชพงศานุสรณ์ หอพระราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง และหอพระคันธารราษฎร์ กลุ่มที่สองคือ กลุ่มฐานไพที เป็นกลุ่มอาคารที่ประดิษฐานบนฐานยกพื้นขนาดใหญ่บริเวณลานด้านทิศเหนือของกลุ่มพระอุโบสถ รองรับปูชนียสถานและปูชนียวัตถุสำคัญ เช่น พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทพระเทพบิดร พระสุวรรณเจดีย์ และพระบรมราชานุสาวรีย์ กลุ่มที่สามคือกลุ่มอาคารประกอบ ประกอบด้วย หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงซึ่งมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
นาม
แก้คำว่า "พระศรีรัตนศาสดาราม" เป็นการสมาสสนธิระหว่างคำ คือ "ศรีรัตนศาสดา" กับ "อาราม" โดยคำว่าศรีรัตนศาสดา หมายถึงฉายาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นนามที่ใช้เรียกแทนพระองค์ว่าเป็นศาสดาที่เปรียบเป็นพระผู้ประเสริฐ เป็นศรีรัตน เปรียบได้กับแก้วอันประเสริฐ ซึ่งกล่าวว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเอกแห่งรัตนตรัย ซึ่งคือ แก้ว 3 ประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
คำว่า อาราม คือ วัด ดังนั้น "พระศรีรัตนศาสดาราม" หมายถึง วัดสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอารามซึ่งประดิษฐานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[1]
ประวัติ
แก้ภูมิหลัง
แก้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพิเคราะห์เห็นว่าชัยภูมิของกรุงธนบุรีไม่มั่นคงแข็งแรงสําหรับการต่อต้านข้าศึก สู้ชัยภูมิทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้เพราะเป็นที่แหลมมีแม่น้ำเป็นขอบเขตกว่าครึ่ง ซึ่งอาจอาศัยแม่น้ำเป็นปราการต้านข้าศึกได้เป็นอย่างดี มูลเหตุสําคัญอีกประการหนึ่งคือ มีพระบรมราโชบายที่จะสร้างพระมหานครใหม่ให้เจริญรุ่งเรืองละม้ายกรุงศรีอยุธยาราชธานีเดิมโดยเร็วที่สุด
โดยสถานที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่เดิมเป็นที่ดินซึ่งพระยาราชาเศรษฐีและบรรดาชาวจีนซึ่งเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารอยู่ในครั้งนั้นได้ตั้งเคหสถานบ้านเรือนอยู่แต่ก่อน จึงได้พระกรุณาโปรดเกล็าฯ ให้พระยาราชาเศรษฐีและบรรดาชาวจีนทั้งปวงยกย้ายไปตั้งเคหสถานบ้านเรือนไปอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง[2]
รัชกาลที่ 1
แก้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวังและการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2325 โดยสร้างตามประเพณีการสร้างพระอารามหลวงในเขตพระราชวังที่มีมาตั้งแต่อดีต เช่น วัดมหาธาตุในพระราชวังของอาณาจักรสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังโบราณของอาณาจักรอยุธยา ลักษณะสำคัญของพระอารามหลวงในพระราชวังคือมีเพียงเขตพุทธาวาส ไม่มีเขตสังฆาวาส
มูลเหตุแห่งการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นนั้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุตหรือประเทศลาว แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่โรงด้านหน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีแล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เข้ามาประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่ ในวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2327 แล้วพระราชทานนามพระอารามว่า "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม"[3] เมื่อแรกสถาปนามีปูชนียสถานอันเป็นหลักสำคัญของพระอารามพร้อมบริบูรณ์ คือ พระเจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหารและหอไตร
ส่วนพระระเบียงรอบบริเวณพระอารามนั้น น่าจะสร้างขึ้นแต่ในระยะแรกด้วย เป็นแนวระเบียงที่ต่างจากปัจจุบัน กล่าวคือ แนวพระระเบียงด้านตะวันออกและตะวันตกสร้างเป็นแนวตรง ยังมิได้ต่อคดขยายไป มีประตูเป็นทางเข้าออกสี่ด้าน ด้านตะวันออกมี 2 ประตู ตรงหน้าพระอุโบสถประตูหนึ่ง ตรงหน้าหอพระมณเฑียรธรรมออกมาตรงกับประตูสวัสดิโสภาที่กำแพงพระบรมมหาราชวังประตูหนึ่ง ด้านตะวันตกมี 3 ประตู ด้านเหนือมี 1 ประตู ใกล้กับประตูมณีนพรัตน์ที่กำแพงพระบรมหาราชวัง ด้านใต้มี 1 ประตู ได้รับพระราชทานนามว่า ประตูศรีรัตนศาสดา ผนังพระระเบียงเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นจนจบ[4]
บริเวณถัดจากหอพระมณเฑียรออกไปในแนวเดียวกันตรงที่เป็นพระวิหารยอดในปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเทพบิดร หรือพระเชษฐบิดร ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา แล้วพระราชทานนามพระวิหารตามพระพุทธรูปว่า หอพระเชษฐบิดร เรียกกันสามัญว่า วิหารขาว ด้านตะวันออกของหอพระมณเฑียร ทรงสร้างพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองปิดทอง 2 องค์ ประดิษฐานอยู่มุมชั้นทักษิณด้านตะวันออกของปราสาทพระเทพบิดร[5]
ในการสถาปนาระยะที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2331–2352 ได้สร้างพระมณฑปขึ้นแทนหอพระมณเฑียรธรรมหลังเดิม ด้านตะวันออกของพระมณฑปนั้น เดิมมีพระสุวรรณเจดีย์ 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ มีสระก่ออิฐอยู่ระหว่างพระสุวรรณเจดีย์ และมีการสร้างหอพระมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่ทางมุมพระระเบียงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อสร้างพระมณฑปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองเป็นการใหญ่ ต่อมามีการสร้างหอระฆังระหว่างพระอุโบสถกับพระระเบียงด้านใต้ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระนากขึ้นทางมุมพระระเบียงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ[6] หลังสถาปนาสิ่งต่าง ๆ ในพระอารามแล้วจึงมีงานสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2352
รัชกาลที่ 3
แก้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มิได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งใดในอาราม เพราะได้บูรณะตกแต่งครั้งใหญ่ไว้เมื่อใกล้สิ้นรัชกาลพระชนกาธิราช[7] ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดพระศรีรัตนศาสดารามเริ่มทรุดโทรม จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2374 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2391 การบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามในรัชกาลนี้ ทรงปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม โปรดให้กรมหมื่นศรีสุเทพและกรมหมื่นไกรสรวิชิต เป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ กรมขุนสถิตย์สถาพร ทรงตรวจการช่างต่าง ๆ พระยาศรีพิพัฒน์ และพระยาเพ็ชร์พิไชย เป็นนายงาน
ในจดหมายเหตุทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ของพระศรีภูมิปรีชา เจ้ากรมพระอารักษ์ในรัชกาลที่ 3 และนายมี ได้บรรยายไว้ว่า "มีพระศรีรัตนอุโบสถ พระมหามณฑป พระเสวตรเวชยันตะพิมานวิหารยอด แลหอพระมณเฑียรธรรม หอพระเชษฐบิดร แลพระมหาเจดีย์ 2 และพระอนุเจดีย์ 7 และพระอัษฎามหาเจดีย์ 8 พระองค์"[8]
พระอุโบสถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมใหม่ทั้งหลัง ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถยังคงเรื่องมารผจญและไตรภูมิไว้ นอกนั้นเขียนใหม่ทั้งหมด ผนังระหว่างหน้าต่างเดิมเป็นภาพเทพชุมนุม เขียนใหม่เป็นเรื่องปฐมสมโพธิ์และผนังหน้าต่างเดิมเป็นภาพปฐมสมโพธิ์ เขียนใหม่เป็นเรื่องชาดกต่าง ๆ ที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เดิมตั้งบุษบกทองคำต่อกับฐานชุกชี โปรดให้สร้างเบญจาสามชั้นหนุนบุษบกให้สูงสมทรงพระอุโบสถเช่นที่ปรากฏในปัจจุบัน[9]
พระมณฑป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์เครื่องบนและผนังภายนอก พระวิหารยอด โปรดให้รื้อหอพระเชษฐบิดร สร้างใหม่เป็นวิหารมีหลังคายอด โดยบานประตูด้านหน้าเป็นบานประดับมุก ฝีมือช่างสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นำมาจากบานประตูวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง ส่วนพระระเบียง ซ่อมเปลี่ยนเครื่องบนใหม่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังลบเขียนใหม่ทั้งหมด แต่คงเป็นเรื่องราวรามเกียรติ์แต่ต้นจนจบเช่นของเดิม ผู้ร่างต้นแบบเขียนในครั้งนี้เป็นพระสงฆ์ ชื่อพระอาจารย์แดง หอพระนาก โปรดให้ซ่อมแปลงหอพระนากหลังเก่า โดยสร้างขยายใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม[10] พระอัษฎามหาเจดีย์ สันนิษฐานว่า ในรัชกาลที่ 3 ทรงซ่อมทำใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม ดังลักษณะในปัจจุบัน แล้วโปรดให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้าบรรจุในพระปรางค์ด้วย และทรงโปรดให้สร้างเก๋งบอกพระปริยัติธรรมภายในกำแพงแก้วพระอัษฎามหาเจดีย์ สำหรับเป็นที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุสามเณร โปรดให้ปั้นรูปยักษ์ 6 คู่[11] โดยรูปยักษ์คู่ทศกัณฐ์กับสหัสเดชะนั้นปั้นโดยหลวงเทพรจนา (กัน) นอกจากนั้นยังได้ทรงสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2[12]
รัชกาลที่ 4
แก้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและสร้างปูชนียสถานเพิ่มเติม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมตัวไม้เครื่องบนของพระอุโบสถและเขียนภาพที่ฝาผนังใหม่ ยกเว้นภาพเรื่องมารผจญที่ผนังหุ้มกลองด้านหน้า และภาพเรื่องไตรภูมิที่ผนังหุ้มกลองด้านหลัง ฝีมือพระอาจารย์นาคแห่งวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารนั้นให้คงของเดิมไว้ พื้นพระอุโบสถเดิมปูเสื่อทองเหลือ ให้หล่อเป็นแผ่นอิฐทองเหลืองปูใหม่ บานหน้าต่างเดิมประดับมุกแกมเบื้อเปลี่ยนเป็นประดับมุกทั้งบาน รูปเซี่ยวกางที่บานประตูและรูปเทวดาที่ข้างหน้าต่าง เดิมเป็นลายเขียน แก้เป็นลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจก เชิงไพทีและเชิงผนังรองพระอุโบสถ ประดับแผ่นกระเบื้องลายใหม่[13]
พระมณฑป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมเปลี่ยนตัวไม้เครื่องบนที่ผุ พื้นข้างในเดิมปูดาดแผ่นเงินให้เปลี่ยนเป็นสานเสื่อเงินปูแทน ฐานไพทีที่ตั้งพระมณฑป ให้ถมที่ต่อลานและชั้นทักษิณพระมณฑปออกไปทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตกจนเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน มีกำแพงแก้วทำด้วยศิลาล้อมสองชั้น สร้างประตูซุ้มมณฑปและบันไดทางขึ้นบนฐานไพที 6 แห่ง พระระเบียง ต่อพระระเบียงย่อออกไปตรงด้านสะกัดฐานไพทีที่ต่อใหม่นั้นทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก ทางด้านตะวันออกโอบพระอัษฎาหาเจดีย์เข้าไว้ในวงพระระเบียง 2 องค์ ทำประตูซุ้มมงกุฎประดับกระเบื้อง และมีพลับพลาเปลื้องเครื่องอยู่ข้างประตูข้างละหลัง ทางด้านตะวันตกทำประตูซุ้มจัตุรมุขมีพลับพลาเปลื้องเครื่องข้างเหนือประตูหลังหนึ่ง ตัวพระระเบียง โปรดให้ซ่อมและเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ใหม่ แต่การเขียนภาพยังค้างอยู่ มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ 5 พระปรางค์ปราสาทบนลานทักษิณพระมณฑปที่ต่อใหม่ทางด้านตะวันออก ซึ่งเดิมเป็นสระนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทยอดปรางค์องค์หนึ่ง ด้วยทรงพระดำริจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และตั้งบุษบกให้ต่ำลงเพื่อจะได้ชมเนื้อแก้วได้ถนัด สร้างเสร็จรัชกาลที่ 5 แต่เนื่องจากสถานที่คับแคบไม่เหมาะแก่การพระราชพิธี จึงมิได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานไว้ดังพระราชดำริเดิม[14]
พระสุวรรณเจดีย์ 2 องค์ ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่บริเวณที่ต่อลานทักษิณออกไปใหม่นี้ โปรดให้ชะลอมาไว้ที่รักแร้ปราสาทพระเทพบิดรทั้งสองข้าง พระศรีรัตนเจดีย์บนลานทักษิณพระมณฑปที่ต่อใหม่ทางด้านตะวันตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่สูง 1 เส้นเท่ากับพระมณฑปตามแบบพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา สร้างแล้วเสร็จในรัชกาลแต่ยังมิได้ประดับกระเบื้องทอง และที่ลานทักษิณด้านเหนือพระมณฑป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสามภพพ่ายไปจำลองแบบนครวัดเพื่อสร้างถวายเป็นพุทธบูชา แต่การยังค้างอยู่จนสิ้นรัชกาล นครวัดจำลองที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นของสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 5 โปรดให้หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย เป็นผู้ทำ[15]
หอพระคันธารราษฎร์และมณฑปยอดปรางค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่มุมพระระเบียงหน้าพระอุโบสถ อาคารทั้งสองสร้างเสร็จและประดับผนังด้วยกระเบื้องเคลือบสีในรัชกาลที่ 5 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อหอระฆังเดิมครั้งรัชกาลที่ 1 แล้วสร้างใหม่ในที่เดียวกัน พระโพธิธาตุพิมานหลังพระอุโบสถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปยอดปรางค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทรงปรางค์ปิดทองของโบราณ ที่พระองค์ได้มาจากเมืองเหนือครั้งยังทรงผนวช สองข้างพระโพธิธาตุพิมาน สร้างหอน้อยข้างละหลัง พระราชทานนามว่า หอพระราชกรมานุสรและหอพระราชพงศานุสร[16]
รัชกาลที่ 5
แก้จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติไม่นาน จึงได้รีบเร่งสร้างและปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วให้สำเร็จทันวันฉลองพระนครครบร้อยปี ซึ่งมีงานฉลองในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425[17] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นนายงานทำการปฏิสังขรณ์พระอาราม โดยโปรดเกล้าให้จ่ายพระราชทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนพระคลังข้างที่ เป็นเงินในพระองค์ทรงจ่ายราชการฝ่ายใน ให้ทำวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนั้นให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระราชอุทิศไว้สำหรับซ่อมแซมพระอารามทั้งปวง[18]
ในการปฏิสังขรณ์ใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นการปฏิสังขรณ์ทั่วพระอารามคราวที่ 2 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลกรุงรัตนโกสินทร์ประดิษฐานไว้บนชั้นทักษิณพระพุทธปรางค์ปราสาท 3 แห่ง ประจำรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 แห่งหนึ่ง ประจำรัชกาลที่ 4 แห่งหนึ่ง ประจำรัชกาลที่ 5 แห่งหนึ่ง อนุสาวรีย์นั้นหล่อเป็นรูปตราแผ่นดินอยู่บนบุษบกตั้งบนฐานหินอ่อน และหล่อรูปพระยาช้างเผือกประจำรัชกาลตั้งรายที่ฐานอนุสาวรีย์ เป็นเครื่องประดับเหมือนกันทั้ง 3 แห่ง นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งโคลงจารึกแผ่นหินอ่อนประดับพระระเบียง โครงเรื่องรามเกียรติประดับตามเสาตรงกับห้องที่เขียนเรื่อง โคลงเรื่องนารายณ์สิบปางและอสุรพงศ์ วานรพงศ์ ประดับผนังตรงที่เขียนเรื่องและรูปนั้น โครงทั้งปวงนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการกับพระสงฆ์ซึ่งเป็นกวีรับไปแต่งถวายบ้างจนครบบริบูรณ์[19]
ก่อนจะสิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระพุทธปรางค์ปราสาทเป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง อันเนื่องจากเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 เวลา 22 นาฬิกาเศษ โดยทำเครื่องบนใหม่ทั้งหมดและทรงปฏิสังขรณ์ลวดลายประดับตกแต่งต่าง ๆ ไฟไหม้ครั้งนี้ทำให้พระประธานซึ่งอยู่ในพระพุทธปรางค์ปราสาทและพระพุทธรูปพระเทพบิดรซึ่งประดิษฐานอยู่ในมุขต้องละลายสูญไปด้วย จากนั้นพระพุทธปรางค์ปราสาทก็ว่างอยู่ตลอดรัชกาล[20]
รัชกาลที่ 6
แก้สืบเนื่องจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปรัชกาลต่าง ๆ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นที่พระบรมมหาราชวังเพื่อประดิษฐานพระบรมรูป ต่อมาเห็นว่าพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามว่างอยู่ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทแล้วอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งห้ารัชกาลมาประดิษฐานเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2461 และพระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร จากนั้นให้มีบรมราชโองการให้มีการกราบถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัติยาธิราชเป็นประจำปี กำหนดในวันที่ 6 เมษายน เป็นประเพณีสืบมา[21]
การบูรณะปราสาทพระเทพบิดร โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอพระสุวรรณเจดีย์ทั้งสององค์เลื่อนออกไปจากรักแร้ปราสาท ไปประดิษฐานไว้ที่มุมชั้นทักษิณด้านตะวันออกทั้งสองข้าง และรื้อซุ้มประตูกับบันไดขึ้นชั้นทักษิณปราสาทพระเทพบิดร ทั้งด้านตะวันออก เหนือ และใต้ ซึ่งสร้างแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ทำเป็นบันไดใหม่เป็นบันไดใหญ่ปูหินอ่อน ทางชั้นทักษิณขึ้นพระศรีรัตนเจดีย์ก็ได้ทำบันไดใหญ่แบบเดียวกันอีกบันไดหนึ่ง นอกจากนั้นยังได้ทำพนมหมากที่กำแพงแก้วปราสาทพระเทพบิดรอีก 6 พาน
พระอุโบสถซ่อมเครื่องทองคำ เช่นบุกษบกต่าง ๆ ซ่อมรูปจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถบ้างเล็กน้อย แก้บันไดทางขึ้นทั้ง 6 บันได พระมณฑลได้ปฏิสังขรณ์เครื่องบนทั้งหมด พระสุวรรณเจดีย์ได้ปฏิสังขรณ์ทั้งสององค์เป็นการใหญ่ นอกจากนี้ยังได้ซ่อมศาลาราย พลับพลาเปลื้องเครื่องรูปยักษ์ ซุ้มเสมา เป็นการเล็กน้อย[22]
รัชกาลที่ 7
แก้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นวาระกรุงรัตนโกสินทร์จะมีอายุได้ 150 ปี ใน พ.ศ. 2475 จึงได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2472 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นนายก คณะกรรมการได้ประมาณเงินค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเป็นจำนวน 600,000 บาท และกำหนดวิธีหาทุนดำเนินการด้วยการเปิดเรี่ยไรรับเงินบริจาคจากประชาชนทั่ววไปมาสมทบทุน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 200,000 บาท รัฐบาลออกเงินส่วนหนึ่ง 200,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือประชาชนได้บริจาคเข้ามา[23]
มีการบูรณปฏิสังขร์พระอุโบสถ ซุ้มเสมาและกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ศาลารายรอบพระอุโบสถ 12 หลัง พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทพระเทพบิดร พนมหมาก ซุ้มประตู และกำแพงแก้วรอบฐานไพที พระวิหารยอด หอพระมณเฑียรธรรม หอพระนาก หอพระราชกรมานุสร หอพระราชพงศานุสร หอพระคันธารราษฎร์ หอระฆัง พระระเบียง พลับพลาเกย 3 หลัง พระอัษฎามหาเจดีย์ สำหรับเก๋งบอกพระปริยัติธรรมในกำแพงแก้วพระอัษฎามหาเจดีย์ซึ่งสร้างมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ในชั้นแรกมีรายการว่าจะทรงปฏิสังขรณ์ด้วย แต่เนื่องจากมีความชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้รื้อออก ทั้งกำแพงแก้วล้อมพระอัษฎามหาเจดีย์ และยังได้รื้อศาลาเล็ก 2 หลัง ข้างพระวิหารยอดออกด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์พระอารามแล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงได้จัดงานพระราชพิธีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475[24]
รัชกาลที่ 8
แก้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีเพียงการปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม แต่ที่เป็นการสำคัญ คือ การซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง อันเกิดจากในรัชกาลก่อน มีการเจาะอิฐก่อเชิงผนังของเดิมออก แล้วหล่อเฟโรคอนกรีตประกอบเป็นเชิงผนังโดยรอบ เพื่อป้องกันมิให้น้ำซึมขึ้นไปยังผนังตอนบนได้ แต่กระนั้นความชื้นของผนังก็ยังชำรุดร่อนหลุดมาได้ โดยซ่อมแซมระหว่าง พ.ศ. 2482 จนถึงสิ้นรัชกาล[25]
รัชกาลที่ 9
แก้การบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเสด็จเสวยราชสมบัติ ระยะที่สอง คือ การปฏิสังขรณ์ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
การบูรณะในระยะแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงต่อจากในรัชกาลก่อน เป็นระยะ ๆ ถึง พ.ศ. 2509 สำนักพระราชวังซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการบำรุงรักษาพระอารามสนองพระบรมราชโองการได้เล็งเห็นว่าการบูรณะซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงทีละเล็กทีละน้อยที่ดำเนินการอยู่นั้นมิทันแก่การ จำเป็นต้องบูรณะปฏิสังขรณ์พระระเบียงและเขียน่อมภาพจิตรกรรมที่พระระเบียงทุกด้านพร้อมกันเป็นการใหญ่ ต่อมามีการแต่งตั้ง คณะกรรมการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเลขาธิการพระราชวัง นายกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการ โดยมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระระเบียงที่เครื่องบนและผนังชำรุดแตกร้าว แก้ไขป้องกันความชื้นผนังและเสริมความมั่นคงของพระระเบียง โดยปรับโครงสร้างหลังคาให้ตรงระดับ[26]
ส่วนการซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนัง ได้พยายามรักษาภาพของเดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่กระทำได้ จะลบภาพเดิมเขียนใหม่หรือแก้ไขภาพเดิมก็เมื่อภาพนั้นไม่มีคุณค่าในทางศิลปะเพียงพอ หรือภาพนั้นไม่ถูกลักษณะตามเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ หรือสีกายสีมงกุฎผิด เป็นต้น และยังเสริมความมั่นคงแก่ชั้นสี เพื่อยึดเหนี่ยวกับผนังหรือที่กำลังหลุดร่อน โป่งออก ไม่แนบแน่นกับผนัง การสรรหาช่างที่มีฝีมือเขียนซ่อมภาพในชั้นแรก ได้เชิญช่างเขียนที่เคยเขียนซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงมีครวปฏิสังขรณ์ใหญ่ในรัชกาลที่ 7 ที่ยังมีชีวิตอยู่ 15 คน และได้ทดสอบฝีมือช่างเขียนรุ่นใหม่ โดยคัดเลือกมาได้อีก 21 คน โดยได้ดำเนินซ่อมภาพจิตรกรรมเสร็จทันการฉลองเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยเรียบร้อย[27] ดังความว่า
กรมศิลปากร ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินการ และเหล่าช่างนายด้านทำการได้ลงมือ ปฏิสังขรณ์ตามโครงการ แต่เดือน ๙ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๓๓๙ ตรงกับพุทธศักราช ๒๕๒๐ สืบมาจนถึงวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ จุลศักราช ๑๓๔๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๕๒๕ ประมวลเวลาที่เหล่าช่างและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้ทำการมาด้วยความวิริยะอุตสาหะยิ่ง เป็นเวลาถึงกว่า ๔ ปี สิ้นเงิน ๓๕๐ ล้านบาท การแล้วเสร็จทุกสิ่งสรรพ สมดังพระราชประสงค์ทุกประการ
รัชกาลที่ 10
แก้เมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณะในชั้นต้นบางจุดสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562[29]
ผัง
แก้วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการสถาปนาขึ้นภายในเขตพระบรมมหาราชวังเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชกุศลต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ พิธีการต่าง ๆ ของพระบรมมหาราชวังรวมถึงพิธีกรรมทางศาสนาทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ ตำแหน่งของวัดจึงต้องอยู่ส่วนพระราชฐานชั้นนอกที่สามารถให้ราษฎรเข้ามานมัสการพระแก้วมรกตได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงส่วนประทับของพระมหากษัตริย์ได้[30]
การกำหนดทิศทางการหันทางเข้าด้านหน้าและตัวอาคารต่าง ๆ ยึดหลักตามหลักขนบธรรมเนียมประเพณีจึงหันทางหน้าวัดรับทิศตะวันออกและมีถนนสนามไชยเป็นถนนทางเข้าด้านหน้าวัดและยังถือหลักการวางตำแหน่งประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร โดยพระพุทธรูปหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สัมพันธ์กับเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนก่อนและตรัสรู้เป็นพระอรหันต์[31] อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าพระแก้วมรกตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองปกป้องรักษากรุงเทพมหานครให้พ้นจากผีร้ายภัยคุกคามจากภายนอก โดยหันพระพักตร์ทางทิศตะวันออกตรงกับประตูผี[32]
อาคารต่าง ๆ แบ่งตามกลุ่ม
แก้กลุ่มพระอุโบสถ
แก้พระอุโบสถ
แก้พระอุโบสถ ตั้งอยู่ส่วนใต้ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมารวม 8 ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327[33]
พระอุโบสถมีขนาด 15 ห้อง มีทางขึ้นพระอุโบสถ 6 ทาง ราวบันไดก่ออิฐฉาบปูนตอนปลายทำเป็นเสาเม็ดทรงมัณฑ์ และระดับพื้นพระอุโบสถมีบันไดทางขึ้นมุขทิศตะวันออกและตะวันตกด้านละ 3 ทาง บันไดกลางตรงกับพระทวารใหญ่เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินโดยเฉพาะ ส่วนบันไดอีก 2 ข้าง สำหรับประชาชนทั่วไป บริเวณพื้นเฉลียงสองข้างบันไดตั้งสิงห์สำริด ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปะแบบขอม มีทั้งสิ้น 6 คู่ ตัวพระอุโบสถมีระเบียงเดินได้โดยรอบ มีหลังคาเป็นพาไลคลุม รับด้วยเสานางรายปิดทองประดับกระจกทั้งต้น พนักระเบียงรับเสานางราย ทำเป็นลูกฟักประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีแบบจีน ตัวพระอุโบสถมีฐานปัทม์รองรับ ประดับครุฑยุดนาคหล่อด้วยโลหะปิดทอง จำนวน 112 ตน[34] มีเสารายเทียนหล่อด้วยทองแดงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน[35]
หลังคาพระอุโบสถลด 4 ระดับ 3 ซ้อน มีช่อฟ้า 3 ชั้น ปิดทองประดับกระจก มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันเป็นไม้จำหลักลายรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ โดยมีลายกระหนกเครือเถาปิดทองเป็นลายก้านขด ปลายลายเป็นรูปเทพนมประดับอยู่โดยรอบ
ผนังพระอุโบสถ ในรัชกาลที่ 1 เขียนลายรดน้ำบนพื้นชาดแดง ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ปิดทองประดับกระจก เพื่อให้เข้ากับผนังมณฑป ปิดทองประดับกระจก ฝาผนัง รอบนอกเป็นลายรดน้ำปิดทองรูปกระหนกเครือแย่งทรงข้าวบิณฑ์ดอกในบนพื้นสีชาด ฝาผนังด้านในเหนือประตูด้านสกัดเป็นภาพเรื่องมารวิชัยและเรื่องไตรภูมิ ส่วนฝาผนังด้านยาวเขียนภาพเทพชุมนุมตามแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา ฝาผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเรื่องปฐมสมโพธิ พระทวารกลาง เป็นพระทวารใหญ่สูง 8 ศอกคืบ กว้าง 4 ศอกคืบ ตัวบานเป็นบานประดับมุกลายช่องกลม ส่วนพระทวารข้างเป็นทวารรองสูง 7 ศอก กว้าง 3 ศอก 1 คืบ 10 นิ้ว ตัวบานเป็นบานประดับมุกกลายเต็ม ซึ่งบานพระทวารทั้ง 2 แห่งนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประทานความเห็นว่า "เป็นฝีมือที่น่าชมยิ่ง ตั้งใจทำแข่งกับบานที่ทำครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งอยู่ที่วิหารยอด"
ผนังด้านในโดยรอบเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยสีฝุ่นผสมกาว เหนือกรอบประตูหน้าต่างรอบพระอุโบสถ เขียนภาพปฐมสมโพธิ แสดงภาพพระพุทธประวัติของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ผนังหุ้มกลองด้านหน้า ปรากฏภาพมารผจญ ภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม และทรงชนะพญามาร ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผนังทางด้านทิศเหนือตั้งต้นจากด้านหน้า เป็นเรื่องต่อเนื่อง จากตอนตรัสรู้ เรื่อยมาจนถึงเสด็จปรินิพพาน และการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ผนังหุ้มกลองด้านหลัง เป็นภาพไตรภูมิ โดยเขียนเฉพาะเรื่องกามภพหรือกามาวจรภูมิ ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพทศชาติชาดก ขอบล่างหน้าต่างตอนล่างด้านทิศเหนือเป็นภาพกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ด้านทิศใต้เป็นภาพกระบวนพยุหยาตราชลมารค เหนือกรอบประตูหน้าต่างประดับภาพจิตรกรรมพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เขียนบนแผ่นกระจกใส่กรอบไม้ฉลุลายปิดทอง ประดับไว้กลุ่มละ 3 ภาพ รวมทั้งสิ้น 72 ภาพ[36]
พระพุทธรูปสำคัญภายในพระอุโบสถ
แก้-
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในเครื่องทรงฤดูร้อน
-
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในเครื่องทรงฤดูฝน
-
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในเครื่องทรงฤดูหนาว
-
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
-
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
-
พระสัมพุทธพรรณี (องค์ด้านหลัง)
-
พระแก้ววังหน้า ประดิษฐานที่ฐานด้านหน้าพระแก้วมรกต
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองกรุงรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนับแต่ พ.ศ. 2327[37] เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนตอนต้น ทำจากหินหยกสีเขียวเข้มทึบแสง ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก 43 เซนติเมตร สูง 55 เซนติเมตร[38]
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างอุทิศให้กับรัชกาลที่ 1 และ 2 ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร สูง 3 เมตร ทรงเครื่องต้นพระจักรพรรดิราช เป็นพระพุทธรูปสำริดหุ้มทองคำลงยาราชาวดี เครื่องต้นประดับเนาวรัตน์[39]
พระสัมพุทธพรรณี รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างใน พ.ศ. 2373 ตามอย่างพุทธลักษณะที่พระองค์ทรงสอบสวนได้ สร้างจากกะไหล่ทองคำ ปางสมาธิหน้าตักกว้าง 49 เซนติเมตร สูงถึงพระรัศมี 67.5 เซนติเมตร มีการเปลี่ยนพระรัศมีเป็นสีต่าง ๆ ตามฤดูกาล พร้อมกับการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต[40]
พระแก้ววังหน้า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 37 เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ 58 เซนติเมตร สูงรวมฐาน 83 เซนติเมตร ทำจากหินสีหม่น ประดิษฐานหน้าฐานชุกชีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร[41]
ปูชนียวัตถุที่สำคัญภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม | ||
---|---|---|
|
ศาลาราย
แก้ศาลารายสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นศาลาโถงไม่มีฝา ตั้งอยู่รายรอบพระอุโบสถ ศาลารายทั้ง 12 หลังนี้มีลักษณะเหมือนกันทั้งรูปร่าง ขนาดและความสูง ลักษณะเป็นศาลาโถงขนาด 2 ห้อง หลังคาทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี หน้าบันเป็นรูปเทพนมปิดทองบนพื้นกระจกสีขาว ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และนาคสะดุ้ง พื้นทำเป็น 2 ระดับ ปูด้วยหินอ่อน ใช้สำหรับนักเรียนสวดโอ้เอ้ในเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[36]
หอพระราชกรมานุสรณ์และหอพระราชพงศานุสรณ์
แก้หอพระราชกรมานุสรณ์และหอพระราชพงศานุสรณ์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว ด้านหลังพระอุโบสถทางทิศเหนือ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประจำรัชกาลต่าง ๆ ในสมัยอยุธยาหอหนึ่ง และในสมัยรัตนโกสินทร์อีกหอหนึ่ง
ลักษณะหอพระราชกรมานุสรณ์เป็นอาคารทรงไทยขนาดย่อม กว้าง 4.5 เมตร ยาว 8 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้สัก หลักคาทำเป็น 3 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ปั้นลมเป็นแบบนาคสะดุ้ง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักประดับกระจกสี หน้าบันแกะสลักเป็นรูปพานประดิษฐานพระมหามงกุฎอยู่ท่ามกลางลายกระหนก ทั้งหน้าบันและกระจังฐานพระลงรักปิดทองร่องลายประดับกระจกสี เชิงชายประดับกระจกสี คันทวยรับเต้าปีกนกโดยรอบ มีซุ้มหน้าต่าง 7 ซุ้ม ซุ้มประตู 1 ซุ้ม ลักษณะแบบซุ้มเรือนแก้วแบบไทย ตกแต่งซุ้มด้วยลายปูนปั้นแบบไทยผสมฝรั่ง ภายในเขียนภาพพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นฝีมือของขรัวอินโข่ง[42]
ลักษณะหอพระราชพงศานุสรณ์มีขนาดอาคารและรูปลักษณ์เท่ากับหอพระราชกรมานุสรณ์ ภายในมีภาพจิตรกรรมของขรัวอินโข่งเป็นภาพพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ และประดิษฐานพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี ในการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จะตั้งเครื่องสักการบูชาพระพุทธรูปในหอพระราชพงศานุสรณ์เป็นพิเศษอีกแห่งหนึ่ง[43]
พระโพธิธาตุพิมาน
แก้พระโพธิธาตุพิมานเป็นที่ประดิษฐานพระปรางค์ของโบราณ ซึ่งทรงอัญเชิญมาจากเมืองเหนือขณะผนวช ภายในพระปรางค์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและบรรจุพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา ลักษณะเป็นบุษบกยอดทรงมงกุฎประดับกระเบื้อง ยอดเป็นทรงมงกุฎกลม ประดับลวดลายเป็นลายดอกไม้และใบไม้ด้วยกระเบื้องถ้วยเคลือบ ยอดบุษบกเนื้อเม็ดน้ำค้างเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ทำด้วยโลหะปิดทอง[44]
หอระฆัง
แก้หอระฆังตั้งอยู่ข้างกำแพงแก้วด้านข้างพระอุโบสถด้านทิศใต้ มีลักษณะเป็นบุษบกตั้งอยู่บนฐานทักษิณแบบปรางค์ ย่อมุมไม้สิบสอง ประดับกระเบื้องเคลือบสี ต่อจากฐานปรางค์เป็นอาคารย่อเหลี่ยมประดับกระเบื้องถ้วย ภายในอาคารมีบันไดขึ้นสู่บุษบกอันประดิษฐานระฆัง องค์บุษบกประดับด้วยลายปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจก เพดานปิดทองฉลุลาย ในปัจจุบันไม่ได้มีการย่ำระฆังนี้แล้ว[45]
หนังสือ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในการฉลองพระนครครบรอบ 200 ปี พุทธศักราช 2525 ระบุว่า ระฆังขุดพบคราวทรงปฏิสังขรณ์วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร บ้างก็ว่ามาจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อย่างไรก็ดีในกลอนเพลงยาวของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ระบุว่า ระฆังหล่อมาได้นาน 17 ปี ดังความว่า
ถึงจะทุ่มหนักเบาก็บันดาล | ส่งกังวานเสนาะลั่นไม่พลิกแพลง | |
แต่แรกหล่อมาก็นานจนปานนี้ | สิบเจ็ดปีที่เป็นนิตย์ไม่ผิดกระแสง | |
จึงสันนิษฐานว่า เป็นระฆังใหม่ซึ่งคงไม่ได้เอามาจากวัดสระเกศหรือวัดระฆัง[46]
หอพระคันธารราษฎร์และมณฑปพระเจดีย์โบราณ
แก้หอพระคันธารราษฎร์ตั้งอยู่ที่มุมพระระเบียงด้านตะวันออกเฉียงใต้ หน้าพระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศเหนือ ตัวอาคารเป็นหอขนาดย่อมก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานทักษิณด้านหน้ามณฑปพระเจดีย์โบราณ อาคารเป็นทรงจัตุรมุขยอดปรางค์แบบรัตนโกสินทร์ ทางเข้าด้านหน้าทำเป็นมุขลด 3 ชั้น ตัวอาคารประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีพื้นเรียบ 2 สี สลับกัน หน้าบันทุกด้านมีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ เป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบ หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องถ้วยชามเป็นลวดลายเครือเถาดอกพุตตน ส่วนยอดอาคารประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีและกระเบื้องถ้วย ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้วประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเช่นเดียวกับซุ้มหน้าบันมุข บานประตูหน้าต่างแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ภายในหอพระคันธาราษฎร์เป็นภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระราชพิธีพรุณศาสตร์และพืชมงคล[47]
มณฑปพระเจดีย์โบราณตั้งอยู่มุมพระระเบียงด้านตะวันออกเฉียงใต้ หน้าพระอุโบสถ หลังหอพระคันธารราษฎร์ มีลักษณะเป็นมณฑปยอดปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง ผนังและยอดประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสลับสี ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้นตรงกับหอพระคันธารราษฎร์ กำแพงพนักฐานทักษิณเป็นกำแพงมีลูกกรงเป็นลูกมะหวดเคลือบ ตัวมณฑปเจาะโปร่งเป็นซุ้มโค้งวงหยักทั้ง 4 ด้าน มีพนักลูกกรงที่ตอนล่างของซุ้มทุกซุ้ม ยกเว้นซุ้มที่เป็นทางขึ้น ภายในมณฑปประดิษฐานพระเจดีย์โลหะโบราณ[48]
กลุ่มฐานไพที
แก้พระศรีรัตนเจดีย์
แก้พระศรีรัตนเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานไพทีด้านทิศตะวันตก เป็นเจดีย์ทรงลังกา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2398 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามแบบพระมหาเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ทรงได้มาจากลังกา ต่อมาในคราวฉลองพระนครครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เสริมพอกแก้รูปทรงพระศรีรัตนเจดีย์ และประดับกระเบื้องทองภายนอกทั้งองค์[36] ภายในองค์พระเจดีย์เป็นห้องโถงกลม ผนังโบกปูนทาสีขาวสอบไปตามความสูงของพระเจดีย์ ตรงกลางห้อยฉัตรสีขาวตรงกับพระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตรงกลางห้องประดิษฐานพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ฐานล่างเป็นรูปแปดเหลี่ยมมีมุขสี่มุข ฐานบนเป็นฐานบัวหงาย องค์เจดีย์มีลักษณะเหมือนกับพระศรีรัตนเจดีย์ทุกประการ ยกเว้นแต่เป็นเจดีย์ลงรักสีดำทั้งองค์[49]
พระมณฑป
แก้พระมณฑปสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2332 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตรงตำแหน่งที่ตั้งของหอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิมที่ถูกเพลิงไหม้เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกใบลานฉบับทองใหญ่[50] โดยสร้างขึ้นตามคติเขาพระสุเมรุ ส่วนยอดมณฑป 7 ชั้นซ้อน[51]
บันไดทั้ง 4 ด้าน ตกแต่งด้วยพลสิงห์รูปนาคจำแลง คือ นาคที่มีหน้าเป็นมนุษย์สวมมงกุฎ ตัวนาคปั้นปูนปิดทองประดับกระจก หัวนาคทั้ง 5 หัวและหางนาคเป็นโลหะหล่อลงรักปิดทอง ปลายพลสิงห์ บันไดก่อเป็นฐานบัวประดับหินอ่อนตั้งประติมากรรมรูปยักษ์ถือกระบอง หน้ากระดานฐานปัทม์ตอนล่างประดับด้วยหิน ต่อจากนั้นเป็นกระจังและกระหนกเท้าสิงห์ประดับด้วยกระจกสี หลังกระจังเป็นครุฑพนมและอสูรทรงเครื่องนั่งพนมมือสลับกัน เหนือขึ้นไปมีเทพนมทรงเครื่องหล่อด้วยทองแดงปิดทอง ซึ่งสร้างตามคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุเช่นเดียวกัน
ซุ้มพระทวารเป็นซุ้มยอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจก บานแผละเขียนลายกำมะลอมีพื้นสีม่วงลายทองเป็นรูปเซี่ยวกางถือหอกและตรียืนเหยียบหลังสิงโต บานพระทวารด้านนอกเป็นบานประดับมุก มีแม่ลายเป็นกระหนกก้านขดนกคาบ ตรงกลางเป็นราชสีห์ บานพระทวารนี้มีภาพจับเป็นลายประดับมุกที่สำคัญอยู่ในกรอบวงกลม 8 ดวง ด้วยกันทั้ง 2 บาน ผนังด้านในเป็นลายรดน้ำปิดทองทรงข้าวบิณฑ์ บนพื้นสีชาด พื้นพระมณฑปปูด้วยเสื่อเงินสานเต็มทั้งห้องถึงฐานตู้ที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก ตรงกลางห้องประดิษฐานตู้พระไตรปิฎกประดับมุกทรงมณฑปใหญ่ บรรจุพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์[49]
บริเวณฐานพระมณฑปทั้ง 4 มุม ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลามุมละ 1 องค์ พระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิพระหัตถ์ทำมุทราต่าง ๆ กัน มีพุทธลักษณะตามคติมหายาน มีประภามณฑลรูปเสมาขอบ สลักลายบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระพุทธรูปศิลาเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาจากชวา เมื่อครั้งเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2439[52]
ปราสาทพระเทพบิดร
แก้ปราสาทพระเทพบิดรตั้งอยู่บนฐานไพทีด้านทิศตะวันออก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2398 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระพุทธปรางค์ปราสาท เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน สร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2425 พร้อมกับงานฉลองพระนครครบ 100 ปี แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วทรงเห็นว่ามีขนาดไม่เพียงพอกับพระราชพิธีต่าง ๆ จึงมิได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐาน แต่โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเจดีย์กาไหล่ทองที่เคยตั้งเป็นประธานในพระพุทธมณเฑียรมาประดิษฐานแทน
ต่อมาเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 ทำให้ครื่องบนหลังคารวมทั้งพระเจดีย์กาไหล่ทองถูกเพลิงไหม้และหลอมไปด้วย ขณะเพลิงไหม้ได้ถอดบานพระทวารและพระบัญชรประดับมุกออกทั้งหมด ต่อมาได้มีการซ่อมแซมหลังคาและส่วนที่เสียหาย ส่วนบานพระทวารและพระบัญชรประดับมุก โปรดเกล้าฯ ให้นำไปประดับที่พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[53] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์จนสำเร็จบริบูรณ์แล้วได้ตกแต่งภายใน และแก้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ทั้ง 5 พระองค์ และให้แปลงนามเรียกว่า "ปราสาทพระเทพบิดร"[54]
ปราสาทพระเทพบิดรเป็นอาคารจัตุรมุขทรงไทย ยกยอดปราสาทเป็นทรงปรางค์ ประดับนพศูลรูปพระมหามงกุฎอยู่บนยอดปรางค์ หน้าบันมุขด้านทิศตะวันออกและมุขลด ประดิษฐานพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 4 หน้าบันมุขด้านทิศเหนือเป็นรูปอุณาโลม พระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1 มุขด้านทิศใต้เป็นรูปครุฑยุดนาค พระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 2 มุขด้านทิศตะวันตกเป็นรูปพระวิมาน พระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 3
ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มยอดทรงมงกุฎปิดทองประดับกระจก บานแผละทั้ง 2 ข้างปั้นปูนปิดทองเป็นลายพระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1–5 เพดานของซุ้มเป็นลายดวงดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ดวง มีดารานพรัตน์เป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยดาราจักรี ดาราจุลจอมเกล้า ดาราช้างเผือก และดารามงกุฎไทยบนพื้นกระจกสีขาว ภายในปราสาทพระเทพบิดรเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระราชวงศ์จักรี เพดานเหนือพระบรมรูปแขวนพระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น[49]
พระสุวรรณเจดีย์
แก้พระสุวรรณเจดีย์มี 2 องค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นอุทิศถวายสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และพระราชมารดา มีขนาดและความสูงเท่ากัน เป็นพระเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมไม้ยี่สิบหุ้มด้วยแผ่นทองแดงหรือที่เรียกว่าทองจังโก แล้วลงรักปิดทองทับอีกชั้นหนึ่ง ฐานของพระเจดีย์เป็นรูปแปดเหลี่ยมบุด้วยหินอ่อน เหนือฐานแปดเหลี่ยม ตั้งประติมากรรมรูปยักษ์แบกและลิงแบกด้านละ 3 ตน และทุกย่อมุมอีกมุมละ 2 ตน รวมทั้งหมด 20 ตน เฉพาะตัวกลางทั้ง 4 ด้านที่ไม่สวมรองเท้าเป็นลิง นอกจากนั้นเป็นยักษ์หมด แต่ละตนมีใบหน้า เครื่องแต่งตัวและสีของกายเป็นไปตามลักษณะในเรื่องรามเกียรติ์[49]
พนมหมาก
แก้พนมหมากสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชา พนมหมากเป็นเครื่องตกแต่งฐานไพทีตรงส่วนย่อมุมด้านทิศตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งสิ้น
18 พุ่ม ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมประดับด้วยหินอ่อน พนมหมากสร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูน ประดับกระเบื้องถ้วย ลักษณะคล้ายกรวยใบตอง ตั้งบนพานแว่นฟ้าย่อมุมไม้สิบสอง 2 ชั้น[36]
พระเจดีย์ทรงเครื่อง
แก้พระเจดีย์ทรงเครื่อง 4 องค์ มีลักษณะเป็นพระเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูนทรงเครื่องย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานสิงห์ 3 ชั้น ฉาบปูนทาสีขาว มีฐานบัวหงายรอบรับองค์พระเจดีย์ซึ่งปิดทองประดับกระจก ตอนบนเป็นบัวกลุ่ม 7 ชั้น เหนือบัวกลุ่มเป็นปลีมีลูกแก้วคั่นถึงเม็ดน้ำค้างประดับกระจก[36]
นครวัดจำลอง
แก้นครวัดจำลองตั้งอยู่บนฐานไพทีทางด้านเหนือตรงข้ามกับพระมณฑป เพื่อจะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นของมหัศจรรย์[55] ทำด้วยศิลาทั้งสิ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระสามภพพ่ายออกไปถ่ายแบบปราสาทที่นครวัดและจำลองขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[56] แต่ไม่เสร็จสิ้นในรัชกาล สร้างแล้วเสร็จในคราวฉลองสมโภชพระนคร ครบ 100 ปี นครวัดจำลองได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525[57]
พระบุษบก
แก้ตั้งอยู่รอบพระมณฑปทั้ง 4 มุม เป็นบุษบกสร้างด้วยโลหะลงรักปิดทองประดับกระจก รอบบุษบกประดับด้วยฉัตร 7 ชั้น และ 5 ชั้น และรูปช้างยืนแท่นหล่อด้วยโลหะรมดำ ภายในประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์และพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า โดยด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ด้านตะวันตกเฉียงใต้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 4 ด้านตะวันออกเฉียงใต้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 5[58] และในการปฏิสังขรณ์ใหญ่เนื่องในการพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ได้สร้างบุษบกพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 9 เพิ่มขึ้น โดยประดิษฐานไว้ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
รูปสัตว์หิมพานต์
แก้ปรากฏหลักฐานการสร้างรูปสัตว์หิมพานต์ชนิดแรก คือ สิงห์ 12 ตัว ซึ่งปัจจุบันย้ายไปตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ และนาคที่พลสิงห์บันไดชั้นทักษิณเดิม 6 คู่ ซึ่งบัดนี้เป็นพลสิงห์บันไดปราสาทพระเทพบิดร สัตว์หิมพานต์เท่าที่ตั้งประดับบนลานทักษิณในปัจจุบันมี เทพปักษี เทพนรสิงห์ อัปสรสีห์ กินนร อสุรปักษี สิงหาพานรและอสุรวายุภักษ์ อย่างละคู่ รูปสัตว์หิมพานต์เหล่านี้หล่อโลหะปิดทองประดับกระจก ยืนบนแท่นหินอ่อนสีเทาเข้ม[59]
-
เทพปักษี
-
เทพนรสิงห์
-
สิงหพานร
-
อัปสรสีห์
-
อสุรปักษี
-
กินนร
-
อสุรวายุภักษ์
กลุ่มอาคารประกอบ
แก้กลุ่มอาคารและสิ่งประดับอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากกลุ่มอาคารทั้งสองกลุ่ม ประกอบด้วย หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงซึ่งมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
พระอัษฎามหาเจดีย์
แก้พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือ พระปรางค์ 8 องค์ ตั้งเรียงกันทางทิศตะว้นออกด้านหน้าวัด พระปรางค์ 8 องค์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 9.40 เมตร
พระมหาเจดีย์ทั้ง 8 องค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่นอน ภายนอกพระระเบียง 6 องค์ ภายในพระระเบียง 2 องค์ พระอัษฎามหาเจดีย์เป็นชื่อที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อฉลองพระนครครบ 200 ปี มีมติให้เรียกชื่อรวมเป็นทางการตามชื่อที่ปรากฏในการบูรณปฏิสังขรณ์สมัย รัชกาลที่ 3 ของพระศรีภูริปรีชาวัตถุประสงค์ในการสร้างพระมหาเจดีย์เหล่านี้ก็เพื่ออุทิศ เป็นพระพุทธเจดีย์องค์หนึ่ง พระธรรมเจดีย์องค์หนึ่ง พระปัจเจกเจดีย์องค์หนึ่ง พระสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระภิกขุนีสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระชาฎกโพธิสัตว์องค์หนึ่ง พระสงฆเจดีย์องค์หนึ่ง และพระยาจักรเจดีย์องค์หนึ่ง
ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ประดับกระเบื้องเคลือบสีที่พระมหาเจดีย์ทั้ง 8 องค์ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 เป็นการซ่อมส่วนที่ชำรุดเสียหายแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างแต่ประการใด
พระปรางค์ 8 องค์ มีชื่อเรียกเรียงตามลำดับนับจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ ดังนี้[60]
- ปรางค์องค์สีขาว ชื่อ พระสัมมาสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- ปรางค์สีขาบหรือสีฟ้าหม่น ชิ่อ พระสัทธรรมปริยัติวรมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระธรรม
- ปรางค์สีชมพู ชื่อ พระอริยสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระอริยสงฆ์
- ปรางค์สีเขียว ชื่อ พระอริยสาวิกาภิกษุสังฆมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระภิกษุณี
- ปรางค์สีเทา ชื่อ พระปัจเจกโพธิสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าในอดีตชาติ
- ปรางค์สีฟ้าอมเทา ชื่อ พระบรมจักรวรรดิราชามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์
- ปรางค์สีแดง ชื่อ พระโพธิสัตว์กฤษฎามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระโพธิสัตว์
- ปรางค์สีเหลือง ชื่อ พระศรีอริยเมตตะมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าในอนาคต
หอพระนาก
แก้หอพระนากเป็นอาคารทรงไทย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีขนาด 7 ห้อง ทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทำเป็นชาลากว้าง ประตูทางเข้ามีประตูเดียว เป็นซุ้มทรงมณฑปที่เน้นความสำคัญของทางเข้า แต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระนาก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อและแผลงด้วยนาก อัญเชิญมาจากพระนครศรีอยุธยา และใช้เป็นที่เก็บอัฐิเจ้านายฝ่ายในตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา และถือพระนากเป็นพระประธาน ในการพิธีเปรตพลีหรือการอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบูรณะซ่อมแซม แล้วประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ หลายองค์ ส่วนพระอัฐิเจ้านายนั้นเก็บอยู่ในตู้ผนังข้างหลังพระวิหาร ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำพระโกศทรงพระอัฐิในหอพระนากทั้งหมด ส่วนพระพุทธรูปทั้งหมดที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระนากโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระวิหารยอด แต่ยังคงเรียกว่าหอนี้ว่า หอพระนากตามเดิม[36]
พระวิหารยอด
แก้พระวิหารยอด แต่เดิมเป็นที่ตั้งของหอพระเชษฐบิดร หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วิหารขาว สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อประดิษฐานพระเทพบิดร ซึ่งแต่เดิมเป็นเทวรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1[61] ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อลง เนื่องจากทรุดโทรมมาก แล้วโปรดฯ ให้สร้างใหม่เป็นวิหารมีหลังคายอดทรงมงกุฎ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เรียกว่า พระเศวตรเวชยันตะพิมานวิหารยอด บ้าง พระบวรมหาเศวตกุฎาคารวิหารยอด บ้าง และยังได้ย้ายพระนากจากหอพระนาก มาประดิษฐานภายในพระวิหารแห่งนี้[49]
เมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในโอกาสฉลองสมโภชพระนครครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารยอด โดยซ่อมแซมหลังคาและยอดมงกุฎประดับกระเบื้องถ้วยขึ้นใหม่ ซ่อมซุ้มประตูและบานหน้าต่างภายนอกและภายในพร้อมทั้งประดับพระปรมาภิไธยย่อ "จปร." ภายใต้พระเกี้ยวยอดบนยอดโค้งแหลมของซุ้มโค้งรอบพระวิหาร มีประตูทางเข้าทางเดียวคือทางทิศเหนือ เป็นซุ้มยอดทรงมงกุฎ ประดับกระเบื้องถ้วยเช่นเดียวกับซุ้มหน้าต่าง บานประตูประดับมุกลายช่องกลม ฝีมือช่างสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้นำมาจากวิหารพระนอนวัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง บานประตูด้านในเขียนลายรดน้ำเป็นรูปเซี่ยวกาง ซึ่งแต่งตัวแบบไทย[36]
หอพระมณเฑียรธรรม
แก้หอพระมณเฑียรธรรมตั้งอยู่หอพระมณเฑียรธรรม สร้างขึ้นหลังจากที่หอพระมณเฑียรธรรมเดิมซึ่งอยู่กลางสระน้ำถูกเพลิงไหม้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่ เมื่อสร้างเสร็จโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ที่เหลือจากพระมณฑป พระไตรปิฎกฉบับครูเดิม และฉบับอื่น ๆ
หอพระมณเฑียรธรรมเป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเฉลียงรอบ หลังคาซ้อน 2 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันประดับกระจกสีขาวหน้าบันเป็นไม้ จำหลักลาย ตอนบนเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ ตอนล่างเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ล้อมรอบด้วยกระหนกก้านขดปลายลายเป็นเทพนม ส่วนที่แผงแรคอสองมีเทพนม 5 องค์ ผนังด้านทิศตะวันตกมีซุ้มประตู 3 ซุ้ม โดยมีซุ้มใหญ่ทรงมณฑปอยู่กลาง บานประตูประดับมุกเป็นลายพระพรหมทรงหงส์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระนารายณ์ทรงครุฑ ประกอบลายกระหนกก้านขด ปลายลายเป็นสัตว์หิมพานต์ ซุ้มประตูเล็กสองข้างเป็นซุ้มทรงบันแถลงทางด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นหน้าต่างในซุ้มทรงบันแถลงเช่นเดียวกัน[49]
ภายในมีตู้ประดับมุกเรียงรายอยู่ 2 แถว รวมทั้งหมด 9 ตู้ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตอนบนเหนือหน้าต่างเป็นรูปเทพชุมนุมบนพื้นสีดำสลับกับสีแดง ส่วนที่ชิดฝ้าเพดานเป็นรูปฤๅษีถือดอกบัว ถัดลงมาเป็นรูปเทวดาและนางฟ้าสลับกันเป็นคู่ ๆ คั่นด้วยตาลปัตร ระหว่างหน้าต่างตอนบนเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดาประนมมือ ตอนล่างเป็นรูปพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ต่าง ๆ เพดานประดับด้วยดาวเพดานปิดทองประดับกระจกมีดวงใหญ่อยู่กลาง มีดวงเล็ก 8 ดวงเป็นบริวาร[36]
พระระเบียง
แก้พระระเบียงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ หรือการสร้างเพิ่มเติมในแต่ละสมัย พระระเบียงสร้างแบบโอบล้อมทุกอาคารเพื่อให้แยกจากเขตพระราชฐานของพระบรมมหาราชวัง (ยกเว้นพระปรางค์ 6 องค์ทางทิศตะวันออก) มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์อยู่รอบพระระเบียง บางสมัยเขียนซ่อมแซม บางสมัยเขียนทับของเดิม สำหรับภาพรามเกียรติ์มีทั้งหมด 178 ภาพ เริ่มตั้งแต่ประตูทิศเหนือ เวียนไปถึงทิศตะวันตก นอกจากนั้นยังปรากฏภาพพระนารายณ์ปางต่าง ๆ และตัวละครสำคัญในรามเกียรติ์ ด้านล่างของภาพปรากฏชื่อและโคลงที่ข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ร่วมนิพนธ์ทุกภาพ[62]
ยักษ์ 6 คู่
แก้รูปยักษ์ 6 คู่ หรือ 12 ตน อยู่ภายในวงพระระเบียง โดยตั้งอยู่สองข้างประตูทางเข้าประตูละ 1 คู่ ประตูด้านทิศตะวันออก 2 คู่ คือ รูปสุริยาภพและอินทรชิต อยู่ริมประตูพระระเบียงตรงบันไดขึ้นฐานไพที รูปมังกรกัณฐ์และวิรุฬหก อยู่ริมประตูพระระเบียงด้านหน้าพระอุโบสถ ประตูด้านทิศตะวันตก 3 คู่ เรียงจากเหนือไปใต้ คือ รูปวิรุณจำบังและไมยราพ อยู่ริมประตูที่เข้ามาจากสนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม รูปทศกัณฐ์และสหัสเดชะ อยู่ริมประตูที่เข้ามาจากพลับพลาเปลื้องเครื่องข้างศาลาสหทัยสมาคม รูปจักรวรรดิและอัศกรรณมาลาสูร อยู่ริมประตูพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ ประตูด้านทิศใต้ ใกล้มุมพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ ซึ่งเป็นประตูผ่านเข้าไปสู่บริเวณพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง มี 1 คู่ คือ ทศคีรีธรและทศคีรีวัน[63]
ยักษ์ทวารบาล 6 คู่นี้ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 จำนวน 4 คู่ และสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 5 อีก 2 คู่ ยักษ์ทวารบาลทั้งหมดได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อ พ.ศ. 2525[64]
-
สุริยาภพ
-
อินทรชิต
-
มังกรกัณฐ์
-
วิรุฬหก
-
ทศคีรีธร
-
ทศคีรีวัน
-
จักรวรรดิ
-
อัศกรรณมาลาสูร
-
ทศกัณฐ์
-
สหัสเดชะ
-
ไมยราพ
-
วิรุณจำบัง
พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แก้พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง เดิมเป็นโรงกษาปณ์ใช้ผลิตเงินตราเพื่อใช้ในประเทศ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสำนักงานพระคลังข้างที่ ดูแลรับผิดชอบตั้งแต่ พ.ศ. 2439[65] เป็นอาคารรูปแบบตะวันตก
ในปี พ.ศ. 2525 ในวาระการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาๆ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองบูรณะจึงขอพระราชทานอาคารโรงกษาปณ์มาเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้[66] ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีสิ่งน่าสนใจหลายอย่าง เช่น ปืนใหญ่ที่ตั้งแสดงไว้ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ตุ๊กตาจีนที่ตั้งไว้หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ ฉากลายรดน้ำ รูปพระราชพิธีอินทราภิเษก พระแท่นมนังคศิลาบาตรที่นำมาจากสุโขทัย พระแท่นที่ประทับของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งรัชกาลที่ 4 ชะลอมาไว้ที่อาณาจักรรัตนโกสินทร์
พระราชพิธี
แก้ในหนึ่งปีมีพระราชพิธีมากมายที่กระทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระราชพิธีประจำที่มีหมายกำหนดการแน่นอน เริ่มจากเดือนมกราคมมีพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมมีพระราชพิธีกุศลมาฆบูชาและพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน เดือนเมษายนมีวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์และพระราชพิธีสงกรานต์ เดือนพฤษภาคมมีพระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา เดือนกรกฎาคมมีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน พระราชพิธีอุปสมบทนาคหลวง พิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา เดือนพฤศจิกายนมีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว และเดือนธันวาคมมีพระราชพิธีวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
นอกจากนี้ยังมีพระราชพิธีซึ่งไม่มีหมายกำหนดแน่นอน ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏพระราชลัญจกร ประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การตั้งสมณศักดิ์และสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชพิธีสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธสิหิงค์ และพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล เป็นต้น[67]
การท่องเที่ยว
แก้การท่องเที่ยววัดพระศรีรัตนศาสดารามรวมถึงพระบรมมหาราชวัง เริ่มเกิดขึ้นราว พ.ศ. 2463 ในช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยแผนกโฆษณาการกรมรถไฟหลวงเป็นเจ้าหน้าที่นำนักท่องเที่ยวเข้าชมสถานที่ อันเนื่องจากนักท่องเที่ยวเดินทางมาโดยรถไฟ ซึ่งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ขออนุญาตกระทรวงวัง โดยยังไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม จน พ.ศ. 2501 สำนักพระราชวังได้กําหนดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันจันทร์และวันพฤหัสบดี แต่เนื่องจากสถานที่อยู่ในระหว่างการบูรณะซ่อมแซม จึงกำหนดให้นักท่องเที่ยวถ่ายได้เฉพาะอาคารที่ไม่ได้อยู่ในระหว่างการซ่อมแซม ส่วนพระอุโบสถห้ามถ่ายภาพ นอกจากได้รับพระบรมราชานุญาต เพราะถือว่าเป็นสถานที่ควรเคารพ จึงควรมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการถ่ายภาพ[68]
ต่อมากรมโฆษณาการเลิกหน้าที่นำนักท่องเที่ยว โดยนับแต่ พ.ศ. 2502 สำนักพระราชวังรับหน้าที่ได้มารับหน้าที่นี้แทน[69] นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2520 เปิดให้เข้าชมทุกวัน สถิตินักท่องเที่ยวเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เริ่มบันทึกตั้งแต่ พ.ศ. 2526 ในปีนั้นมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 94,759 คน อีก 30 ปีถัดมาคือ พ.ศ. 2556 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 4,671,567 คน[70]
อ้างอิง
แก้- ↑ การศึกษาพัฒนาการการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, 271.
- ↑ รณกร เจริญศรี. "การจัดการการท่องเที่ยวในพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 7.
- ↑ โชติ กัลยาณมิตร, ทฤษฎีการกำหนดองค์ประกอบในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย (กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท., ม.ป.ป.), 59.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 10.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 13.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 20.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 33.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 34.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 35.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 37.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 41.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 43.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 47.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 49.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 50.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 53.
- ↑ "รัชกาลที่ 5 ทรงเร่งสร้าง "วัดพระแก้ว" ให้เสร็จทันฉลองกรุง 100 ปี". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 61.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 69.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 90.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 91.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 93.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 94.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 103.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 128.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 130.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 133.
- ↑ "การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
- ↑ "บูรณะวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก". โพสต์ทูเดย์.
- ↑ การศึกษาพัฒนาการการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, 272.
- ↑ การศึกษาพัฒนาการการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, 274.
- ↑ "พระแก้วมรกต พบที่เชียงราย ฝีมือช่างล้านนา ไม่มาจากอินเดีย". มติชน.
- ↑ "พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
- ↑ ศรัณย์ ทองปาน. "ดาวดึงส์ ณ วัดพระแก้ว – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 88". สารคดี.
- ↑ "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี.
- ↑ 36.0 36.1 36.2 36.3 36.4 36.5 36.6 36.7 ธีระวัฒน์ ชะอุ่ม. "การจัดการความรู้ทรัพยากรวัฒนธรรม : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ พระสุชาติ วชิรปญฺโญ (นาอุดม). "ศึกษาวิเคราะห์พระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของไทย" (PDF). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. pp. ก.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)". ศูนย์ข้อมูลกลางด้านศาสนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-19. สืบค้นเมื่อ 2023-11-19.
- ↑ "พระพุทธรูปฉลองพระองค์". คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก.
- ↑ เผ่าทอง ทองเจือ. "มงคลการบูชาพระพุทธสัมพรรณี". ไทยรัฐ.
- ↑ ธีระวัฒน์ ชะอุ่ม. "การจัดการความรู้ทรัพยากรวัฒนธรรม : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 84.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 247.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 256.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 250.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 259.
- ↑ ส.พลายน้อย. "เถียงไปเถียงมา! "ระฆัง" วัดพระแก้ว เอามาจากไหนกันแน่?". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 263.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 265.
- ↑ 49.0 49.1 49.2 49.3 49.4 49.5 ธีระวัฒน์ ชะอุ่ม. "การจัดการความรู้ทรัพยากรวัฒนธรรม : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว". สำนักพระราชวัง.
- ↑ โชติ กัลยาณมิตร, ทฤษฎีการกำหนดองค์ประกอบในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย (กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท., ม.ป.ป.), 328.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 190.
- ↑ สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง, 276.
- ↑ เสมียนอัคนี. ""ปราสาทพระเทพบิดร" ที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "ตามรอย 10 สุดยอดงานศิลป์ที่ซ่อนตัวอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม". เดอะคลาวด์.
- ↑ สถาปัตยกรรม นครวัดจำลอง
- ↑ ส.สต. "นครวัดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ในวัดพระแก้ว". โพสต์ทูเดย์.
- ↑ "สถาปัตยกรรม". พระบรมมหาราชวัง.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 174.
- ↑ "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร.
- ↑ สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง, 268
- ↑ ""อินทรชิตดูดนมนางมณโฑ" และภาพกาก เกร็ดน่ารู้ในวัดพระแก้ว ที่ไม่ได้มีแค่พระแก้วมรกต". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 272.
- ↑ "ยักษ์วัดพระแก้ว". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
- ↑ "สมบัติของชาติล้ำค่าน่าชม! พิพิธภัณฑ์พระแสงปืนโบราณ ในพระบรมมหาราชวัง!!". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม". มิวเซียมไทยแลนด์.
- ↑ ศิริพร บัวพันธุ์ชั้น. "ความหมายและการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมกรณีศึกษา : วัดพระแก้ว" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 114.
- ↑ ชิวห์ บุญนาค. (2525). เรื่องวัดพระศรีรัตนศาสดารามกับเรื่องพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร. กรุงเทพฯ: กิตติวรรณ ปิ่นเกล้า
- ↑ สํานักพระราชวัง. (2531). ประวัติสํานักพระราชวัง. กรุงเทพฯ: กิตติวรรณ ปิ่นเกล้า.
- ↑ รณกร เจริญศรี. "การจัดการการท่องเที่ยวในพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 74.
บรรณานุกรม
แก้- กรมศิลปากร, จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525. (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น จำกัด, 2525),
- สำนักราชเลขาธิการ, สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984), 2531).
- สรรพศิริ, ชาญวิทย์. การศึกษาพัฒนาการการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้พิกัดแผนที่
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์