รามเกียรติ์ เป็นวรรณกรรมที่มีเค้าโครงมาจากเรื่องรามายณะซึ่งเป็นนิทานที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ ต่อมาอารยธรรมอินเดียได้แพร่สู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้าชาวอินเดียได้นำวัฒนธรรมและศาสนามาด้วย ทำให้รามายณะแพร่หลายไปทั่วภูมิภาค กลายเป็นนิทานที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นจนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติไป ดังปรากฏในหลายชาติ เช่น ไทย ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ล้วนมีวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เป็นวรรณคดีประจำชาติทั้งสิ้น

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์บนผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร

“รามเกียรติ์” มีเค้าโครงจากวรรณคดีอินเดียคือมหากาพย์รามายณะที่ ฤๅษีวาลมีกิ ชาวอินเดีย แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีเศษ เชื่อว่าน่าจะเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ จากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ฮินดู

ศัพทมูลวิทยา

แก้

รามเกียรติ์ แปลว่า เกียรติของพระราม[1] เป็นคำสมาสมาจากคำสันสกฤตว่า รามะ + กีรฺตี[2] โดยคำว่า รามะ (สันสกฤต: रमा, อักษรโรมัน: rāma) หมายถึง พระราม และคำว่า กีรฺตี (สันสกฤต: कीर्ति, อักษรโรมัน: kīrti) หมายถึง เกียรติ ชื่อเสียง[3]

คำ รามเกียรติ์ เกิดขึ้นจากอิทธิพลเรื่องรามายณะเข้ามาสู่ในดินแดนประเทศไทยผ่านอินโดนีเซีย[4] มายังอาณาจักรเจนละจนกระทั่งมาสู่เมืองโบราณศรีเทพ พบในจารึกเวียลกันเตล (K.359)[5] อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุ พ.ศ. 1141 สมัยพระเจ้าภววรมันที่ 1 และจารึกที่เมืองโบราณศรีเทพ[5] อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุพุทธศตวรรษที่ 12

รามเกียรติ์ในประเทศไทย

แก้

สำหรับเรื่องรามเกียรติ์ของไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

รามเกียรติ์ไทย มีต้นตอจากรามเกียรติ์เขมร[6] (รามเกียรติ์เป็นคำที่ไทยยืมจากเขมรซึ่งเขียนว่ารามเกรฺติ์ (อ่าน เรียม-เกร์) ส่วนรามเกียรติ์เขมรรับมาอีกทอดหนึ่งจากรามายณะฉบับทมิฬของอินเดียใต้ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังของชาวบ้าน แต่ไม่ใช่รามายณะฉบับที่นับถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ [จากหนังสืออุปกรณ์รามเกียรติ์ ของ เสฐียรโกเศศ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2495) สำนักพิมพ์ศยาม พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2550 หน้า 85-89]

โดยสรุปแล้ว รามเกียรติ์ไทยไม่ได้รับโดยตรงจากรามายณะฉบับวาลมิกิจากอินเดียเหนือ ตามข้อมูลกระแสหลักของทางการไทยใช้ในการเรียนการสอนทั่วประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้

แต่หลักฐานหลายด้านจากอินเดียบ่งชัดว่ารามเกียรติ์ไทยมีต้นตอจากรามายณะฉบับ “ทมิฬ” อินเดียใต้ แต่ผ่านกัมพูชา เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ในหมู่นักค้นคว้าสมัยก่อน และนักวิชาการบางคนสมัยปัจจุบันซึ่งรวมแล้วมีไม่มากนัก นอกจากนั้นทางการในระบบการศึกษาไทยยังใช้ข้อมูลชุดเดิมและกีดกันข้อมูลใหม่

1. มหากาพย์รามายณะของฤๅษีวาลมิกิ ซึ่งอยู่อินเดียเหนือ เป็นรากเหง้าดั้งเดิมที่รับรู้แพร่หลายทั่วโลก

2. “ทมิฬ” อินเดียใต้ รับมหากาพย์รามายณะของวาลมิกิไปแต่งเติมตามความเชื่อของคนอินเดียใต้ (ซึ่งต่างจากอินเดียเหนือ) โดยกวีชาวทมิฬด้วยการเพิ่มประเพณีสีสันสนุกสนานโลดโผนตามคติทมิฬ

3. บ้านเมืองในอุษาคเนย์โบราณใกล้ชิดวัฒนธรรม “ทมิฬ” อินเดียใต้ ผ่านการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทรกับสุวรรณภูมิ จึงรับรามายณะฉบับ “ทมิฬ” อินเดียใต้คล้ายคลึงกัน แล้วต่างดัดแปลงแต่งเติมตัดต่อตามต้องการของท้องถิ่นตน พร้อมกันนั้นมีการแลกเปลี่ยนกันเองด้วย รามเกียรติ์ไทยก็มีที่มาอย่างเดียวกับบ้านเมืองอุษาคเนย์อื่นๆ คือ มีต้นตอจาก “ทมิฬ” อินเดียใต้ โดยเข้าถึงกัมพูชาก่อน แล้วตกทอดถึงไทยในสมัยหลัง

มีสิ่งบ่งชี้ว่ารามเกียรติ์ของไทยเกี่ยวข้องกับรามายณะฉบับอินเดียใต้ ดังเห็นจากชื่อตัวละคร, ชื่อสถานที่ และเรื่องราวเฉพาะบางตอนในรามเกียรติ์ของไทย ที่ต่างไปจากรามายณะฉบับวาลมิกิ (จากบทความเรื่อง Thai Rãmakien : Its Close Link with South India by Chirapat Prapandvidya พิมพ์ในหนังสือ 65 ปีโบราณคดี โดยสมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2564 หน้า 31-74 แปลเก็บความและอธิบายความเพิ่มเติมโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ พิมพ์ในมติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม 2564 หน้า 13)

1. รามเกียรติ์ของไทย พระราชนิพนธ์ในแผ่นดิน ร.1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คงโครงเรื่องเดิมของรามายณะฉบับวาลมิกิเอาไว้ แต่มีรายละเอียดแตกต่างออกไปมากมาย

2. ยกย่องพระศิวะเป็นเทพสูงสุด แสดงให้เห็นว่ารามเกียรติ์ของไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดียใต้ที่นับถือพระศิวะในฐานะเดียวกันนี้มาอย่างยาวนานจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

3. หนุมานในรามเกียรติ์ของไทยเกิดจากน้ำกามของพระศิวะที่ฤๅษี 7 ตนรวบรวมจากยอดใบไม้, การมีตรีเป็นอาวุธ, มีขนสีขาว แสดงให้เห็นถึงความเอนเอียงไปทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แบบไศวนิกาย ในอินเดียใต้

4. ชื่อตัวละครและสถานที่ในรามเกียรติ์ของไทย มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาทมิฬ ในอินเดียใต้

5. รายละเอียดต่างๆ ในรามเกียรติ์ของไทย แสดงให้เห็นว่าถูกสร้างขึ้นจากคำถ่ายทอดของผู้มีถิ่นกำเนิดหรือสืบทอดเชื้อสายมาจากอินเดียใต้ สอดคล้องกับกลุ่มพราหมณ์ในไทยที่มีถิ่นกำเนิดมาจากทางตอนใต้ของอินเดีย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้ละครหลวงเล่น โดยได้ทรงเลือกมาเป็นตอนๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยใช้ฉบับของอินเดีย (รามายณะ) มาพระราชนิพนธ์ ใช้ชื่อว่า "บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์"

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. บุญเตือน ศรีวรพจน์, กรมศิลปากร. (2552). โขน: อัจฉริยลักษณ์แห่งนาฎศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการ กรมศิลปากร. หน้า 91. ISBN 978-974-4-17109-2
  2. University of Yangon, Universities Historical Research Centre (URC). (2003). Texts and Contexts in Southeast Asia: Proceedings of the Texts and Contexts in Southeast Asia Conference, 12-14 December 2001, Partie 2. Yangon: Universities Historical Research Centre. p. 79. "Rama story is known in Cambodia as Reamker, the form derived from Sanskrit word Rama Kerti , denoting the Glory of Rama, like that of Thai Ramakien."
  3. 'रम', 'कीर्ति'. LearnSanskrit.cc Dictionary. Retrieved on 25 October 2024.
  4. Satya Vrata Shastri, Moolamall Sachdev Foundation, Amarnath Sachdev Foundation, Bangkok. (1998). "SRINAMAKIRTIMAHAKAVYAM," Prācī-Jyoti: Digest of Indological Studies, Institute of Sanskrit and Indological Studies, Kurukshetra University, Volume 28-29 (1998): 258. ISSN 0551-7587
  5. 5.0 5.1 จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา. "อุดมคติที่ปรากฏในตัวพระรามซึ่งสะท้อนให้เห็นในวาลมีกิรามายณะ," วรรณวิทัศน์ 22(1)(มกราคม-มิถุนายน 2565): 21-23.
  6. รามเกียรติ์ไทย เพื่อความจงรักภักดี | สุจิตต์ วงษ์เทศ

หนังสืออ่านเพิ่ม

แก้
  • Thai Ramayana (abridged) as written by King Rama I, ISBN 974-7390-18-3
  • The story of Ramakian - From the Mural Paintings along the Galleries of the Temple of the Emerald Buddha, ISBN 974-7588-35-8

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้