รามายณะ
รามายณะ (สันสกฤต: रामायण) เป็นวรรณคดีประเภทมหากาพย์ของอินเดีย เชื่อว่าเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป แต่ผู้ได้รวบรวมแต่งให้เป็นระเบียบครั้งแรกคือฤๅษีวาลมีกิ เมื่อกว่า 2,400 ปีมาแล้ว โดยประพันธ์ไว้เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ภาษาสันสกฤต เรียกว่า โศลก จำนวน 24,000 โศลกด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 7 ภาค (กาณฑ์ หรือ กัณฑ์) ดังนี้
- พาลกัณฑ์
- อโยธยากัณฑ์
- อรัณยกัณฑ์
- กีษกินธกัณฑ์
- สุนทรกัณฑ์
- ยุทธกัณฑ์
- อุตตรกัณฑ์
รามายณะเป็นวรรณคดีที่มีการดัดแปลง เล่าใหม่ และแพร่หลายไปในหลายภูมิภาคของเอเชีย โดยมีเนื้อหาแตกต่างกันไป และอาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปด้วย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระรามกับฝ่ายทศกัณฐ์ (รากษส) โดยพระรามจะมาชิงตัวนางสีดา (มเหสีของพระราม) ซึ่งถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวมา ทางฝ่ายพระรามมีน้องชาย ชื่อพระลักษมณ์และหนุมาน (ลิงเผือก) เป็นทหารเอกช่วยในการทำศึก รบกันอยู่นานท้ายที่สุดฝ่ายอสูรก็ปราชัย
รามายณะเมื่อแพร่หลายในหมู่ชาวไทย คนไทยได้นำมาแต่งใหม่ก็เรียกว่า รามเกียรติ์ ซึ่งมีหลายฉบับด้วยกัน ส่วนในหมู่ชาวลาวนั้น เรียกว่า พะลักพะลาม (พระลักษมณ์พระราม)
ภูมิหลัง
แก้รามายณ เป็นกวีนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “อาทิกาวฺย” หรือ “กาวฺยอันดับแรก” เป็นมหากาพย์ที่สำคัญและได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มชนที่นับถือศาสนาฮินดู รามายณ จัดเป็นวรรณคดีประเภท “อิติหาส” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานมาแล้ว
ผู้ประพันธ์ รามายณ มีเพียงผู้เดียวคือ “ฤษีวาลฺมีกิ” ก็ได้รับการยกย่องเป็น “อาทิกวี” หรือ “กวีคนแรก” ด้วยเช่นกัน จากในเนื้อเรื่องของ รามายณ แสดงให้เห็นว่า ฤษีวาลฺมีกิ เป็นบุคคลที่อยู่ในยุคสมัยกับ ราม ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของเรื่อง ฤษีวาลฺมีกิ ได้ประพันธ์ รามายณ เป็นบทกวีนิพนธ์ทั้งหมดโดยที่ไม่มีคำกล่าวที่ลักษณะเป็นร้อยแก้วเลย สถานที่เกิด รามายณ คือเมืองอโยธยาแห่งแคว้นโกศล
ตำนานการประพันธ์ รามายณ ของ ฤษีวาลฺมีกิ มีอยู่ว่า เทวฤษีนารท ได้เล่าเรื่องของ ราม ให้แก่ ฤษีวาลฺมีกิ ฟัง ซึ่งหลังจากที่ ฤษีวาลฺมีกิ ได้ยินเรื่องราวของ ราม ก็บังเกิดความประทับใจ เมื่อฟังจบ ฤษีวาลฺมีกิ ก็ได้ไปที่ริมฝั่งแม่น้ำตมสา (ตะ-มะ-สา) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำคงคา พร้อมกับศิษย์ทั้งหลายเพื่อที่จะอาบน้ำ ในบริเวณใกล้ ๆ นั้นฤษีได้มองเห็นนกเกราญจะ (เกฺราญฺจ คือ นกกินปลาประเภทหนึ่ง) คู่หนึ่งกำลังอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ขณะนั้นนายพรานนกคนหนึ่งได้มาที่นั้น แล้วใช้ธนูยิงลูกศรถูกนกตัวผู้ตกลงมาบนพื้นดิน ดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด นกตัวเมียมองเห็นนกตัวผู้เป็นเช่นนั้น ก็ส่งเสียงร้องออกมาอย่างน่าสงสาร ฤษีวาลฺมีกิ ได้มองเห็นภาพที่เกิดขึ้นก็บังเกิดความเศร้าโสกขึ้นภายในใจ จึงได้กล่าวคำพูดออกมาว่า
मा निषाद प्रतिष्ठां त्वमगमः शाश्वतीः समाः I
यत्क्रौंचमिथुनादेकमवधी काममोहितम् II
mā niṣāda pratiṣṭhāṁ tvamagamaḥ śāśvatīḥ samāḥ
yat krauñcamithunādekam avadhīḥ kāmamohitam
มา นิษาท ปฺรติษฺฐำ ตฺวมคมะ ศาศฺวตี สมาะ I
ยตฺ เกฺราญจมิถุนาเทกมวธีะ กามโมหิตมฺ II รามายณม 1.2.15
โอ นายพราน ! เพราะเจ้าได้สังหารนกเกราญจะตัวหนึ่งจากคู่ของมันขณะพวกมันกำลังเริงรักอยู่ เจ้าจงอย่าได้อยู่เป็นสุขตลอดกาลเทอญ
หลังจากที่ได้กล่าวคำพูด ฤษีวาลฺมีกิ ก็แปลกใจ เพราะเป็นคำกล่าวมีลักษณะเป็นฉันทลักษณ์แบบใหม่ เมื่อกลับมาที่อาศรมก็ยังคงคิดถึงเหตุการณ์และคำพูดนั้น ต่อมา พฺรหฺม ได้มาหมา ฤษีวาลมีกิ ที่อาศรม ฤษีวาลมีกิ จึงได้กล่าวถึงเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดกับนกคู่นั้นและคำพูดของตนเองที่กล่าวออกมาให้ พฺรหฺม ฟัง พฺรหฺม จึงกล่าวกับ ฤษีวาลมีกิ ว่า คำพูดที่ ฤษีวาลมีกิ กล่าวออกมาด้วยความโศกเศร้านั้น เป็นคำพูดที่อยู่ในรูปของร้อยกรอง “โศลก” และ พฺรหฺม ได้ให้ ฤษีวาลมีกิ ประพันธ์เรื่องราวของ ราม ที่ได้รับฟังจาก เทวฤษีนารท ด้วยรูปแบบฉันทลักษณ์ดังกล่าว
รามายณ ทั้งหมดมีจำนวน 7 กาณฑะ (กาณฺฑ) ตามการยอมรับของนักกวีชาวอินเดียในสมัยโบราณ เช่น ภาส, กาลิทาส, ภวภูติ และ ทิงฺนาค และนักวิจารณ์ที่ยิ่งใหญ่ชาวอินเดียคือ อานนฺทวรฺธน ทั้งหมดยอมรับ พาล-กาณฺฑร และ อุตฺตร-กาณฺฑ เป็นส่วนดั้งเดิมของ รามายณ ที่ ฤษีวาลมีกิ ได้ประพันธ์ แต่อย่างไรก็ตามการยึดถือนี้ขัดแย้งกับการศึกษาเกี่ยวกับภูมิหลังของ รามายณ ของนักวิชาการทั้งหลายในยุคหลัง ซึ่งศาสตราจารย์ เอช. ชโคบี (Prof. H. Jacobi) ได้ให้ความเห็นว่า รามายณ จำนวนทั้งหมด 7 กาณฑะที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนั้นมีส่วนหนึ่งได้รับการประพันธ์เพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง รามายณ ฉบับดั้งเดิมนั้นมีเพียงแค่ 5 กาณฑะเท่านั้น (กาณฑะที่ 2 ถึงกาณฑะที่ 6) โดยเริ่มจาก อโยธฺยา-กาณฺฑ และจบลงด้วย ยุทธ-กาณฺฑ สำหรับกาณฑะที่เพิ่มเข้ามาภายหลังคือ กาณฑะที่ 1 พาล-กาณฺฑ และกาณฑะที่ 7 อุตฺตร-กาณฺฑ ซึ่งมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้
1. ใน พาล-กาณฺฑ และ อุตฺตร-กาณฺฑ กล่าวว่า ราม เป็นอวตารปางหนึ่งของ วิษณุ (นารายณ) แต่ในอีก 5 กาณฑะ (กาณฑะที่ 2–6) นั้น ถือกันเพียงว่า ราม คือ วีรบุรุษ เท่านั้น
2. ใน พาล-กาณฺฑ และ อุตฺตร-กาณฺฑ มีเรื่องอยู่หลายเรื่องที่ไม่ตรงกับโครงเรื่องสำคัญของ รามายณ ส่วนกาณฑะที่ 2-6 นั้น มีเรื่องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นเรื่องเดียวกัน
3. ในสรรคะที่ 1 ของพาล-กาณฺฑ ว่า ฤษีนารท ได้เล่าเรื่องย่อของรามให้ ฤษีวาลฺมีกิ ฟัง ไม่ได้อ้างถึงเหตุการณ์ที่ได้กล่าวไว้ใน พาล-กาณฺฑ และ อุตฺตร-กาณฺฑ เลย
4. โดยปกติแล้วกวีอินเดียจะนิพนธ์งานให้จบด้วยเรื่องราวที่มีความสุข เรื่องราชาภิเษกของ ราม ได้กล่าวบรรยายไว้ตอนสุดของ ยุทธ-กาณฺฑ (กาณฑะที่ 6) ซึ่งเป็นตอนที่แสดงถึงความสุขและแสดงการจบตามสภาพที่เป็นอยู่ของงานนิพนธ์ทั่วไปของอินเดีย ส่วนกาณฑะที่ 7 (อุตฺตร-กาณฺฑ) จบลงด้วยเรื่องที่นับว่า ไม่มีความสุขและไม่เป็นมงคล ดังนั้น ฤษีวาลฺมีกิ จะต้องประพันธ์เรื่องจบเพียงแค่ราชาภิเษกรามเท่านั้น
5. ใน พาล-กาณฺฑ และ อุตฺตร-กาณฺฑ มีบางเรื่องที่ขัดแย้งกับบางเรื่องในกาณฑะอื่นๆ เช่น ใน พาล-กาณฺฑ กล่าวว่า ลกฺษฺมณฺ วิวาห์กับ อูรฺมิลา แต่ใน อารณฺย-กาณฺฑ ว่า ราม ได้สั่งให้ ศูรฺปณขา ไปหา ลกฺษฺมณฺ โดยได้กล่าวว่า ลกฺษฺมณฺ ยังไม่ได้สมรส
ตัวละครหลัก
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ตัวละครเอกของมหากาพย์รามายณะ ผู้ถูกกล่าวถึงในฐานะอวตารชาติที่ 7 ของพระวิษณุ พระรามเป็นพระราชโอรสลำดับหัวปีและเป็นราชโอรสองค์โปรดของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งกรุงอโยธา และพระนางเกาศัลยา มีพระอุปนิสัยที่ยึดมั่นในคุณธรรมอย่างยิ่ง พระองค์ต้องออกเดินดงก่อนขึ้นครองราชสมบัติเป็นเวลา 14 ปี เพื่อรักษาสัจจวาจาของพระราชบิดาซึ่งได้ประทานพรแก่นางไกยเกยี ผู้เป็นมเหสีองค์กลาง ว่าจะประทานพรตามที่นางปรารถนา
มเหสีผู้เป็นที่รักยิ่งของพระรามและราชธิดาของท้าวชนกแห่งกรุงมิถิลา นางเป็นอวตารของพระลักษมี มเหสีแห่งพระวิษณุ
ราชาวานรผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะทหารเอกของพระราม และเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อพระรามมากที่สุด กำเนิดของหนุมานนั้นมีกล่าวถึงต่างๆ กันออกไป โดยมาถือว่าหนุมานเป็นโอรสของพระพาย แต่ในรามายณะของวาลมิกีกล่าวว่าเป็นโอรสของราชาวานรชื่อท้าวเกศรีกับนางอัญชนา ถือกำเนิดขึ้นจากการที่ท้าวเกศรีบำเพ็จตบะขอบุตรจากพระศิวะ บางแห่งจึงนับถือว่าหนุมานเป็นอวตารของพระศิวะด้วย
- พระลักษมณ์ (ลักษมณะ)
คือบัลลังก์นาค (พญาอนันตนาคราช) ของพระวิษณุ (พระนารายณ์) อวตารลงมาเป็นพระอนุชาของพระราม พระลักษมณ์เป็นโอรสของท้าวทศรถกับพระนางสุมิตรา ได้ช่วยพระรามทำศึกกับเหล่ายักษ์ เพื่อช่วยนางสีดา
พญารากษสเชื่อสายพรหมพงศ์เจ้ากรุงลังกา โอรสของพระวิศรวฤๅษีและนางแทตย์ชื่อไกกะษี มีนิสัยชอบก่อกวนการบำเพ็ญตบะของเหล่าฤๅษีและระรานเหล่าเทพและกษัตริย์ต่างๆ ให้ได้รับความเดือดร้อน การที่พระวิษณุต้องอวตารมาเป็นมนุษย์นั้น ก็เนื่องจากว่าราวณะได้รับพรจากพระพรหมหลังจากบำเพ็ญตบะนานนับหมื่นปีว่าจะไม่ถูกสังหารโดยทวยเทพ หมู่มาร และวิญญาณร้ายทั้งปวง ยกเว้นมนุษย์เท่านั้น
พ่อของพระราม พระลักษมณ์ พระพรต กับ พระสัตรุต กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา
โอรสของท้าวทศรถกับนางไกยเกยี (มเหสีองค์กลาง) ในรามายณะกล่าวว่าเป็นอวตารอีกภาคหนึ่งของพระวิษณุที่แบ่งภาคลงมาเกิดพร้อมกับพระราม ในระหว่างที่พระรามออกเดินดงนั้น พระภรตไม่ยอมขึ้นครองราชสมบัติแทนพระราม โดยยอมรับเป็นแต่เพียงผู้สำเร็จราชการกรุงอโยธยา เพื่อรอการกลับมาของพระรามอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น
โอรสองค์ที่ 4 ของท้าวทศรถ เกิดแต่นางสุมิตรา (มเหสีองค์ที่ 3 ของท้าวทศรถ) และเป็นฝาแฝดกับพระลักษมณ์ ในรามายณะกล่าวว่าเป็นอวตารอีกภาคหนึ่งของพระวิษณุเช่นเดียวกับพระรามและพระภรต
เรื่องราวโดยย่อ
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
พาลกัณฑ์
แก้ท้าวทศรถทรงเป็นกษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา เมืองหลวงแห่งอาณาจักรโกศล พระองค์มีพระมเหสี 3 องค์ คือ นางเกาศัลยา นางไกยเกยี และนางสุมิตรา แต่หามีราชโอรสเพื่อจะสืบราชสมบัติไม่ พระองค์จึงได้จัดให้มีพิธีบูชาไฟเพื่อขอบุตรขึ้น[1] พระองค์ได้ราชโอรส 4 องค์เรียงตามลำดับคือ พระราม (เกิดจากนางเกาศัลยา) พระภรต (เกิดจากนางไกยเกยี) พระลักษมณ์และพระศัตรุฆน์ (โอรสแฝดซึ่งเกิดจากนางสุมิตรา) [2][3] โอรสทั้งสี่นี้คือร่างแบ่งภาคของพระวิษณุ ซึ่งถูกเลือกให้เกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อปราบพญารากษสราวณะ ผู้ซึ่งเบียดเบียนทวยเทพทั้งหลายและได้รับพรว่าจะถึงแก่ความตายได้ก็ด้วยน้ำมือของมนุษย์เท่านั้น[4] กุมารทั้งสี่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างสมฐานะของโอรสกษัตริย์ และได้รับการสั่งสอนศิลปวิทยาการในแขนงต่างๆ ตามสมควรแก่วรรณะของตน เมื่อพระรามมีชันษาได้ 16 ปี พระฤๅษีวิศวามิตรได้มายังราชสำนักแห่งท้าวทศรถเพื่อขอให้พระรามผู้เป็นราชโอรสช่วยปราบอสูรที่คอยรบกวนการทำพิธีกรรมของเหล่าฤๅษีอยู่ตลอดเวลา ในการนี้พระลักษมณ์ได้ร่วมติดตามไปกับพระรามด้วย พระรามและพระลักษมณ์ได้รับคำสั่งสอนและอาวุธวิเศษจากพระฤๅษีวิศวามิตร และสามารถปราบอสูรร้ายเหล่านั้นลงได้[5]
ฝ่ายท้าวชนก กษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา วันหนึ่งพระองค์ได้ประกอบพิธีแรกนาขวัญ และทรงไถนาได้กุมารีนางหนึ่งซึ่งถือกำเนิดอยู่ในผืนดินที่พระองค์ประกอบพิธีอยู่ พระองค์ได้รับเลี้ยงกุมารีนั้นด้วยความดีพระทัยอย่างยิ่ง และทรงขนานนามเด็กหญิงนั้นว่า "สีดา" อันมีความหมายว่ารอยไถในภาษาสันสกฤต (สันสกฤต: सीता; สีตา) [6] นางสีดาเติบโตขึ้นเป็นหญิงงามและมีเสน่ห์อย่างไม่มีใครเทียบเทียมได้ และเมื่อนางมีอายุพอสมควรที่จะมีคู่ได้ ท้าวชนกจึงได้จัดพิธีสยุมพร เพื่อหาคู่ครองที่สมควรให้แก่ราชธิดาของพระองค์ ในพิธีครั้งนี้พระองค์ได้จัดให้มีการแข่งขันยกมหาธนูกปิล อันเป็นเทพอาวุธที่พระศิวะประทานให้แก่บรรพบุรุษของท้าวชนก โดยตั้งเงื่อนไขไว่ว่า ใครก็ตามที่สามารถยกธนูนี้ขึ้นได้ก็จะได้นางสีดาไปครอง พระวิศวามิตรได้แนะให้พระรามและพระลักษมณ์เข้าร่วมในงานสยุมพรดังกล่าว พระรามสามารถยกมหาธนูกปิลได้เพียงผู้เดียวและยังโก่งธนูดังกล่าวจนหักลง พิธีอภิเษกของพระรามกับนางสีดาจึงเกิดขึ้นพร้อมด้วยการอภิเษกของราชโอรสอีกสามองค์ของท้าวทศรถกับราชธิดาและและราชนัดดาองค์อื่น ๆ ของท้าวชนกที่นครมิถิลาและมีการเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร เมื่อสิ้นสุดงานแล้วบรรดาคู่บ่าวสาวจึงได้เดินทางกลับสู่กรุงอโยธยา[5]
อโยธยากัณฑ์
แก้หลังจากการอภิเษกสมรสของพระรามกับนางสีดาผ่านไปได้ 12 ปี ท้าวทศรถว่าตระหนักพระองค์ชราลงไปมากจึงดำริที่จะยกราชสมบัติให้พระรามเป็นผู้สืบทอดต่อไป บรรดาข้าราชบริพารต่างล้วนสนับสนุนพระดำริของท้าวทศรถเช่นกัน[7][8] ทว่าก่อนจะมีพีธีราชาภิเษกนั้น นางไกยเกยีซึ่งถูกยุยงจากนางทาสีหลังค่อมชื่อนางมันถรา ได้ทวงคำสัญญาจากท้าวทศรถที่เคยให้ไว้ในกาลก่อนว่าจะดลบันดาลให้ตามที่นางปรารถนา โดยพรที่นางขอคือให้เนรเทศพระรามออกจากเมืองไป 14 ปี และให้พระภรตซึ่งเป็นโอรสที่เกิดจากนางได้ครองราชสมบัติแทนในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น พระราชาจำต้องอนุมัติตามที่นางขอเพื่อรักษาสัจจวาจาที่พระองค์ให้ไว้ด้วยพระทัยที่แหลกสลาย[9] พระรามยอมรับต่อราชโองการนั้นโดยความอ่อนน้อมและความสุขุมเยือกเย็น ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพระองค์ที่จะปรากฏต่อไปตลอดเรื่อง [10] พระลักษมณ์และนางสีดาได้ของติดตามพระรามไปด้วย เมื่อพระรามได้กล่าวห้ามนางสีดา นางได้เอ่ยว่า "ผืนป่าที่พระองค์สถิตอยู่คือเมืองอโยธยาสำหรับหม่อมฉัน และเมืองอโยธยาที่ไร้พระองค์นั้นคือนรกอันแท้จริงของหม่อมฉัน"[11]
หลังจากพระรามเสด็จออกจากรุงอโยธยา ท้าวทศรถได้สวรรคตด้วยความตรอมพระทัย[12] ขณะเดียวกัน พระภรตผู้เสด็จไปเยี่ยมพระมาตุลาที่ต่างเมืองก็ได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอโยธยา พระองค์จึงปฏิเสธที่จะขึ้นครองเมืองตามที่พระมารดาของตนได้ขอไว้และเสด็จไปติดตามพระรามในป่า โดยร้องขอให้พระรามกลับคืนเมืองและขึ้นครองราชย์ตามพระประสงค์อันแท้จริงของพระราชบิดา แต่พระรามต้องการรักษาสัจจวาจาของพระราชบิดาไว้จึงตอบปฏิเสธไป พระภรตจึงทูลขอฉลองพระบาทของพระรามและเชิญไปประดิษฐานยังพระราชบัลลังก์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ ส่วนพระภรตคงอยู่รักษาเมืองอโยธยาต่อไปในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น[9][12]
อรัณยกัณฑ์
แก้พระราม นางสีดา และพระลักษมณ์เดินทางลงใต้เลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำโคทาวารี และตั้งอาศรมพำนักและใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนั้น ที่ป่าปัญจวดีนั้นทั้งสามได้พบกับนางรากษสีชื่อ "ศูรปนขา" น้องสาวของพญารากษสีราวณะ นางพยายามยั่วยวนสองพี่น้องให้มาเป็นสวามีและคิดจะฆ่านางสีดาให้ได้ พระลักษมณ์จึงหยุดนางด้วยการจับนางมาเชือดหูตัดจมูกเสีย เมื่อพญาขร พี่ชายของนางศูรปนขา ได้รู้เรื่องดังกล่าว จึงนำกองทหารมาจัดการกลุ่มของพระราม ทว่าพระรามกลับสามารถจัดการพญาขรกับกองทหารทั้งหมดลงได้ [13]
เรื่องความอับอายของนางศูรปนขาและความตายของพญาขรได้รู้เข้าไปถึงหูของพญาราวณะ พญายักษ์จึงหาวิธีทำลายพระรามโดยอาศัยความช่วยเหลือจากมารีศ มารีศได้แปลงร่างเป็นกวางทองมาล่อลวงนางสีดาให้หลงใหล นางสีดาเมื่อได้เห็นกวางทองแล้วจึงร้องขอให้พระรามช่วยจับกวางนั้นมาเลี้ยง แม้จะระแวงอยู่ว่ากวางนั้นเป็นยักษ์แปลงมาก็ตาม แต่พระรามขัดนางสีดาไม่ได้ จำต้องออกไปตามกวางตามความประสงค์นั้น โดยฝากให้พระลักษมณ์ช่วยคุ้มกันนางสีดาแทนตน เวลาผ่านไปนางสีดาได้ยินเสียงเหมือนกับว่าพระรามเรียกพระลักษมณ์ให้ตามไปช่วย นางจึงบอกให้พระลักษมณ์ไปช่วยพระรามด้วย พระลักษมณ์ได้ทูลเตือนพระพี่นางของตนว่าพระรามนั้นแข็งแกร่งไม่มีใครทำร้ายได้ และตนจะต้องเชื่อฟังคำสั่งของพระราม นางสีดาจึงคร่ำครวญด้วยความอึดอัดใจว่า คนที่ต้องการความช่วยเหลือในตอนนี้ไม่ใช่นาง แต่เป็นพระรามต่างหาก พระลักษมณ์เมื่อเห็นว่าจะขัดนางไม่ได้จึงจำต้องออกไปตามหาพระราม แต่ว่าพระลักษมณ์เองก็ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ว่านางสีดาจะต้องไม่ออกจากเขตอาศรม และออกไปต้อนรับคนแปลกหน้าเป็นอันขาด เมื่อบริเวณอาศรมพระรามเปิดโล่งเช่นนี้ ราวณะจึงได้แปลงกายเป็นฤๅษี กระทำภิกขาจารขออาหารจากนางสีดา ครั้นสบโอกาสในขณะที่นางสีดาไม่ระวังตัว ราวณะจึงลักพาตัวนางสีดาไปจากอาศรมได้[13][14]
พญาแร้งตนหนึ่งชื่อชฏายุได้พยายามช่วยนางสีดาจากเงื้อมมือของราวณะ แต่พลาดท่าเสียทีถูกราวณะทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสและไม่อาจช่วยเหลือนางสีดาได้ ราวณะได้พาตัวนางสีดามาไว้ยังกรุงลังกาและให้บรรดานางรากษสีคอยดูแลคุ้มกันนางอย่างเข้มงวด ราวณะะได้พยายามเกี้ยวนางสีดาเป็นชายา แต่นางสีดาไม่ยอมรับ และยังภักดีมั่นต่อพระรามเท่านั้น [12] พระรามและพระลักษมณ์หลังจัดการมารีศแล้วก็ได้ทราบเรื่องนางสีดาถูกลักพาตัวจากนกชฏายุก่อนจะสิ้นใจ ทั้งสองจึงเดินทางออกตามหานางสีดาทันที [15] ระหว่างการเดินทาง ทั้งสององค์ได้ยักษ์ชื่อ "กพันธะ" และนางดาบสีนีชื่อ "ศพรี" ชี้ทางให้เดินทางไปพบพญาวานรสุครีพและหนุมาน [16][17]
กีษกินธากัณฑ์
แก้เรื่องราวของกีษกินธากัณฑ์เกิดขึ้นในนครกีษกินธา เมืองแห่งวานร พระรามและพระลักษณ์ได้พบกับหนุมาน ขุนทหารวานรผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นผู้ติดตามของสุครีพ อุปราชแห่งนครกิษกินธาผู้ถูกพี่ชาย (พญาพาลี กษัตริย์แห่งกิษกินธา) ขับออกจากเมืองของตน[18] พระรามได้ผูกมิตรกับพญาสุครีพและให้ความช่วยเหลือสุครีพในการสังหารพญาพาลีเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนในการให้ความช่วยเหลือพระรามในการตามหานางสีดา[19]
เมื่อพาลีสิ้นชีวิตและนครกิษกินธาตกอยู่ในความปกครองของสุครีพแล้ว สุครีพกลับลืมคำสัญญาดังกล่าวและมัวเพลิดเพลินอยู่กับการเสวยสุขในนคร พระลักษมณ์โกรธสุครีพมากจึงจะตรงไปทำลายนครวานรเสีย นางตาราผู้เป็นชายาของสุครีพได้เกลี้ยกล่อมให้สุครีพทำตามคำสัญญาที่ไว้แก่พระราม เพื่อบรรเทาความโกรธของพระลักษมณ์และรักษาเกียรติยศของตัวสุครีพเอง สุครีพจึงได้ส่งกองทหารวานรออกไปสืบหาข่าวของนางสีดาในทั้งสี่ทิศ[20] ผลปรากฏว่ามีเพียงกองทหารที่ส่งไปหาข่าวทางทิศใต้ (ภายใต้การนำขององคตและหนุมาน) ที่ประสบความสำเร็จ โดยกองทหารชุดดังกล่าวได้ข่าวจากพญาแร้งสัมปาติว่านางสีดาถูกนำตัวไปยังกรุงลังกา[20][21]
สุนทรกัณฑ์
แก้เนื้อหาของสุนทรกัณฑ์นับได้ว่าเป็นหัวใจหลักของมหากาพย์รามายณะฉบับวาลมิกี[22] และประกอบด้วยรายละเอียดการผจญภัยของหนุมานอันน่าตื่นเต้น[18] เรื่องราวจับความตั้งแต่เมื่อกองทหารวานรทราบข้อมูลเกี่ยวกับนางสีดา หนุมานจึงได้แปลงร่างของตนให้สูงใหญ่และกระโจนข้ามมหาสมุทรไปยังเกาะลังกา ณ ที่นี้ หนุมานได้พบนครของเหล่ารากษส และได้สืบข่าวของพญายักษ์ราวณะจนกระทั่งทราบว่าราวณะได้พาตัวนางสีดาไปไว้ยังป่าอโศกและพยายามเกี้ยวพาราสีนางสีดาให้เป็นชายาของตน หนุมานจึงลอบเข้าไปถวายแหวนของพระรามแก่นางสีดา เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าพระรามยังปลอดภัยดี และยังได้เสนอที่จะพานางสีดากลับไปพบพระรามด้วย แต่นางได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ เพราะไม่ประสงค์จะให้บุรุษอื่นนอกจากสวามีของตนสัมผัสตัวของนางอีก นางสีดาได้ฝากข้อความไปยังพระรามด้วยว่าขอให้พระองค์มาช่วยนางและล้างอายที่นางต้องถูกราวณะลักพามาด้วย[18]
หลังเสร็จการเข้าเฝ้านางสีดา หนุมานก็ได้ก่อความวุ่นวายขึ้นในกรุงลังกาด้วยการทำลายต้นไม้และอาคารต่างๆ พร้อมทั้งสังหารทหารของราวณะจำนวนมาก เมื่อราวณะส่งอินทรชิตมาจับตัวหนุมาน หนุมานก็แกล้งยอมให้ถูกจับโดยง่ายและถูกคุมตัวให้ไปพบกับพญายักษ์ราวณะ หนุมานได้เอ่ยปากให้ราวณะปล่อยตัวนางสีดาเสีย ราวณะจึงสั่งให้ทหารจุดไฟเผาหางของหนุมานเป็นการลงโทษ ทันทีที่ไฟติดหาง หนุมานก็ได้สะบัดตัวหลุดออกจากพันธนาการแล้วเผากรุงลังกาจนพินาศย่อยยับ จากนั้นจึงได้กลับไปยังฝั่งแผ่นดินใหญ่สมทบกับกองทัพวานร เพื่อกลับไปแจ้งข่าวดีที่นครกิษกินธาต่อไป[18][23]
ยุทธกัณฑ์
แก้ยุทธกัณฑ์เป็นกัณฑ์ที่ว่าด้วยสงครามระหว่างพระรามกับท้าวราวณะ หลังจากพระรามได้ทราบข่าวของนางสีดาจากหนุมานแล้ว พระองค์พร้อมด้วยพระลักษมณ์และกองทัพวานรก็ได้เดินทางมุ่งตรงไปยังชายฝั่งทะเลทางทิศใต้ ณที่นั้นทั้งหมดได้พบกับวิภีษณะ น้องชายของราวณะผู้คัดค้านการลักพาตัวนางสีดาจนถูกขับไล่ออกจากกรุงลังกา ซึ่งได้ขอเข้าร่วมทัพกับพระราม กองทัพพระรามได้ยกไปยังกรุงลังกาโดยใช้สะพานหินซึ่งมีขุนพลวานร "นละ" กับ "นีละ" เป็นแม่กองในการสร้าง สงครามดำเนินไปเป็นระยะเวลานานและจบลงด้วยการที่พระรามสามารถประหารพญายักษ์ราวณะได้ พระรามจึงแต่งตั้งให้วิภีษณะเป็นกษัตริย์ครองกรุงลังกาแทนสืบไป[24]
เมื่อได้พบกับนางสีดา พระรามได้ขอร้องให้นางสีดาเข้าพิธีลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนาง เพราะนางได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของยักษ์มาเป็นเวลานานหลายปี ทันทีทีนางได้ย่างเท้าเข้าสู่กองไฟในพิธีลุยไฟนั้น พระอัคนีผู้เป็นเทพแห่งไฟได้ทูนนางขึ้นไปยังบัลลังก์โดยหาได้ทำอันตรายแก่นางแต่อย่างใดไม่ แสดงถึงการยืนยันในความบริสุทธิ์ในตัวนางสีดาอย่างชัดแจ้ง[25] เรื่องราวในตอนพิธีลุยไฟนี้กล่าวความต่างกันในรามายณะฉบับของวาลมิกีและฉบับของตุลสิทาส[26] เนื้อความที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นเป็นเรื่องจากฉบับของวาลมิกี ส่วนในรามายณะฉบับรามจริตมนัสของตุลสิทาสกล่าวว่า นางสีดาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระอัคนี จึงเป็นการจำเป็นที่จะเชิญนางออกจากความคุ้มครองของพระอัคนีก่อนกลับมาอยู่ร่วมกับพระรามอีกครั้ง เมื่อวาระแห่งการเดินดง 14 ปี สิ้นสุดลง พระรามพร้อมด้วยนางสีดาและพระลักษมณ์ก็ได้กลับคืนสู่กรุงอโยธยา พระภรตได้ถวายราชสมบัติคืนและจัดพิธีราชาภิเษกพระรามขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรโกศล[24]
อุตตรกัณฑ์
แก้อุตตรกัณฑ์กล่าวถึงเรื่องราวในช่วงบั้นปลายชีวิตของพระราม นางสีดา และเหล่าอนุชาของพระราม ซึ่งเรื่องราวในกัณฑ์นี้ถูกมองว่าเป็นส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาต่อจากรามายณะฉบับดั้งเดิมที่วาลมิกีรจนาไว้ และมีเนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อกัน[27] เนื้อความในกัณฑ์นี้ประกอบด้วยเรื่องอสุรพงศ์ ราวณะเยี่ยมพิภพ การประพฤติพาลและการสงครามของราวณะ วานรพงศ์ เหตุบันดาลให้ราวณะลักนางสีดา การส่งกษัตริย์มาช่วยงานราชาภิเษกพระราม พระรามเนรเทศนางสีดา พระรามเล่านิยายโบราณสอนพระลักษมณ์ คุณของพระราม พระศัตรุฆน์ปราบลพณาสูร นางสีดาประสูติโอรส พระรามประกอบพิธีอัศวเมธและรับนางสีดาคืนเมือง ศึกพระภรต เนรเทศพระลักษมณ์ และพระรามพร้อมด้วยบริวารกลับสวรรค์[ต้องการอ้างอิง]
ส่วนที่ต่อเนื่องจากยุทธกัณฑ์เริ่มจับความตั้งแต่หลังจากการขึ้นครองราชย์ของพระราม พระองค์ได้ครองคู่กับนางสีดาอย่างมีความสุขเป็นเวลาหลายปี ทว่าแม้นางสีดาได้ได้ผ่านพิธีลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนแล้วก็ตาม แต่ชาวอโยธยาก็ยังคงมีข้อครหาต่อความบริสุทธิ์ของนางอยู่ตลอด[28] พระรามจำต้องยอมตามความเห็นของมหาชนและเนรเทศนางสีดาออกไปจากเมือง แม้จะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของนางอยู่ก็ตาม นางสีดาจึงได้ไปอาศัยอยู่สำนักอาศรมของพระฤๅษีวาลมิกี จนกระทั่งนางได้ประสูติโอรสแฝดที่ติดพระครรภ์ 2 องค์ คือ เจ้าชายลวะและเจ้าชายกุศะ พระกุมารทั้งสองต่อมาได้เล่าเรียนศิลปวิทยาการจากพระฤๅษีวาลมิกีและได้เติบโตขึ้นโดยที่ยังไม่ทราบถึงสถานะที่แท้จริงของตนเอง
พระฤๅษีวาลมิกีได้รจนามหากาพย์รามายณะและสวดให้สองกุมารสวดหนังสือเรื่องนี้ ต่อมาเมื่อพระรามได้กระทำพิธีอัศวเมธ พระวาลมิกีจึงได้เข้าร่วมพิธีโดยพาสองกุมารไปด้วย และให้กุมารทั้งสองสวดเรื่องรามายาณะท่ามกลางมหาสมาคมต่อเบื้องพระพักตร์ของพระราม เมื่อสองกุมารสวดไปถึงตอนพระรามเนรเทศนางสีดา พระรามได้กันแสงออกมา พระวาลมิกีจึงได้เชิญนางสีดาออกมาพบพระราม ณ ที่นั้น นางได้ประกาศถึงความบริสุทธิ์ของตนโดยอ้างเอาแม่พระธรณีเป็นพยาน โดยกล่าวว่าหากนางเป็นผู้บริสุทธิ์จริงของให้แผ่นดินรับเอานางไปอยู่ด้วย เมื่อจบคำประกาศแล้ว แผ่นดินก็ได้แหวกเป็นช่องให้นางลงไปเบื้องล่างและหายไปกับผืนดินที่ปิดสนิท[28][29] หลังจากนั้นพระรามจึงได้รับเอาโอรสทั้งสองของพระองค์เข้ามาเลี้ยงดูในวังสืบมา จนกระทั่งเมื่อบรรดาเทพเจ้าบนสวรรค์ได้ส่งข่าวผ่านพระยมว่าภารกิจการอวตารของพระองค์สิ้นสุดแล้ว พระรามจึงจัดการแบ่งราชสมบัติให้พระโอรสทั้งสองปกครอง และทำพิธีกลับคืนสู่สวรรค์พร้อมเหล่าพระอนุชาและขุนพลวานร[25]
ความแตกต่างจากรามเกียรติ์
แก้ความแตกต่างระหว่างรามายณะและรามเกียรติ์ มีหลายประการ เช่น
1. ในรามายณะ หนุมานเป็นอวตารปางหนึ่งของพระอิศวร ชื่อรุทรอวตาร หนุมานในรามายณะไม่เจ้าชู้เหมือนหนุมานในรามเกียรติ์ซึ่งแสดงค่านิยมของชายไทยโบราณอย่างเห็นได้ชัด
2. ในรามายณะ ชาติก่อน ทศกัณฐ์กับกุมภกรรณเป็นนายทวารเฝ้าที่อยู่ของพระนารายณ์ชื่อชัยกับวิชัย ซึ่งพระนารายณ์ห้ามไม่ให้ใครเข้าในเวลาที่ทรงเกษมสำราญ ต่อมามีฤๅษีมาขอเข้าพบพระนารายณ์ นายทวารทั้งสองไม่ยอมให้เข้า ฤๅษีจึงสาปให้ชัยกับวิชัยต้องไปเกิดในโลกมนุษย์ได้รับความทรมาน พวกเขาจึงไปขอความเมตตาจากพระนารายณ์เพราะตนเพียงแต่ทำตามคำสั่งเท่านั้น พระนารายณ์บอกว่าแก้คำสาปฤๅษีไม่ได้แต่บรรเทาให้เบาบางลงได้ โดยให้ทั้งสองไปเกิดเป็นยักษ์เพียงสามชาติ และทั้งสามชาติพระนารายณ์จะลงไปสังหารทั้งสองเองเพื่อให้หมดกรรม ชาติแรกชัยกับวิชัยเกิดเป็นหิรันตยักษ์กับหิรัณยกศิปุ พระนารายณ์อวตารเป็นหมู(วราหะ) และนรสิงห์ไปปราบ ชาติที่สองนายทวารทั้งสองเกิดเป็นทศกัณฐ์กับกุมภกรรณ พระนารายณ์อวตารเป็นพระรามไปปราบ ชาติที่สามนายทวารทั้งสองเกิดเป็นพญากังสะ และศิศุปาล พระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะไปปราบ
3. กุมภกรรณในรามายณะมีลักษณะคล้ายกุมภกรรณในรามเกียรติ์ ตรงที่มีความซื่อสัตย์เที่ยงธรรม แต่ในรามายณะ กุมภกรรณได้เคยขอพรพระพรหมให้ตนเองมีสภาพคล้ายพระวิษณุ คือนอนหลับอยู่เป็นเวลานานจึงตื่นเพียงวันเดียว และหยั่งรู้ความเป็นไปของโลกในการนอนหลับนั้น ดังนั้นเมื่อทศกัณฑ์ปลุกกุมภกรรณให้ไปรบกับพระนารายณ์นั้น เขาย่อมรู้ว่าพระรามนั้นที่แท้คือพระวิษณุและเขาไม่มีทางรบชนะเด็ดขาด แต่ด้วยหน้าที่ของการเป็นทหาร กุมภกรรณยังคงตัดสินใจไปรบโดยทูลทศกัณฐ์ว่า ถ้าตนตายในการรบก็ขอให้ทศกัณฑ์ยอมแพ้เสีย เพราะถ้าตนรบชนะไม่ได้ก็ย่อมไม่มีใครในลงการบชนะพระรามได้
4. ในรามายณะไม่มีตัวละครหลายตัวที่รามเกียรติ์แต่งเพิ่มขึ้นมา เช่น ท้าวจักรวรรดิ ท้าวสหัสเดชะ มูลพลัม ไมยราพณ์ท้าวมหาชมพู และมีตัวละครหลายตัวที่ถูกรวมเป็นตัวเดียว เช่น สุกรสารในรามเกียรติ์ มาจากสายลับของกรุงลงกาสองคนชื่อสุก กับ สรณะ
5. ทศกัณฐ์ในรามเกียรติ์ เป็นพญายักษ์ แต่ในรามายณะ เป็นพญารากษส
6.นางสีดาในรามายณะเป็นธิดาแท้ๆของท้าวชนก กษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา แต่นางสีดาในรามเกียรติ์เป็นธิดาของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ โดยตอนนางสีดาประสูตินั้น ได้ร้องว่าผลาญราพณ์ถึง 3 ครั้ง จนทศกัณฐ์ให้พิเภกทำนายดวงชะตา แล้วพบว่าเป็นกาลกิณีต่อชาวอสูรลงกา ทศกัณฐ์จึงสั่งให้พิเภกนำธิดาใส่พะอบแล้วลอยไปยังแม่น้ำ ต่อมาฤาษีชนกได้พบพะอบแล้วเปิดดู ปรากฏว่ามีเด็กผู้หญิงอยู่ในพะอบ แต่เนื่องจากตนครองเพศอยู่นั้น จึงฝากพะอบให้พระแม่ธรณีเลี้ยงดู จนกระทั่งผ่านไป 16 ปี ฤาษีชนกลาเพศดาบส จึงขุดพะอบแล้วพบพระธิดาที่มีรูปร่างงดงามกว่าเทวดานางฟ้า จึงตั้งชื่อว่า สีดา แปลว่า รอยไถ แล้วพากลับกรุงมิถิลา
7.ในการสังหารทศกัณฐ์ ในรายมณะพระรามจะเป็นผู้ยิงศรใส่สะดือซึ่งเป็นน้ำอมตะของราวณะ ทำให้ราวณะสิ้นชีพทันที แต่ในรามเกียรติ์ พระรามได้แผลงศรปักอกทศกัณฐ์ ทำให้งาช้างที่พระอิศวรซัดใส่อกหลุดออกจากอกทศกัณฐ์ สำนึกสุดท้ายของทศกัณฐ์ได้ขอขมาพระรามและสั่งเสียแก่พิเภกให้ปกครองกรุงลงกาแทนตน หลังจากนั้นหนุมานได้ขยี้กล่องดวงใจของทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์ได้สิ้นชีวิตทันที
ในวัฒนธรรมปัจจุบัน
แก้- มหากาพย์รามเกียรติ์ ภาค 1 ตอน ทศกัณฐ์ลักนางสีดา มหากาพย์รามเกียรติ์ ภาค 2 ตอน พระรามครองเมือง ภาพยนตร์ขนาดยาวที่กล่าวถึงรามายณะอย่างละเอียด
- มหากาพย์ภาพยนตร์ รามเกียรติ์ ภาพยนตร์แอนิเมชันของอินเดียที่กล่าวถึงรามายณะโดยสรุป
- ทศกัณฐ์ ละครโทรทัศน์ที่กล่าวถึงประวัติของ ทศกัณฐ์ โดยมีเรื่องราวเบื้องหลังอิงมาจากรามายณะเช่นกัน
- สีดา ราม ศึกรักมหาลงกา ละครโทรทัศน์ที่กล่าวถึงรามายณะเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันกำลังออกอากาศที่ช่อง 8
เชิงอรรถ
แก้- ↑ Keshavadas 1988, p.27
- ↑ Keshavadas 1988, p.29
- ↑ Buckvan Nooten 2000, p.16
- ↑ Goldman 1990, p.7 "These sons, are infused with varying portions of the essence of the great Lord Vishnu who has agreed to be born as a man in order to destroy a violent and otherwise invincible demon, the mighty rakshasa Ravana who has been oppressing the Gods, for by the terms of a boon that he has received, the demon can be destroyed only by a mortal."
- ↑ 5.0 5.1 Goldman 1990, p.7
- ↑ Bhattacharji 1998, p.73
- ↑ Buckvan Nooten 2000, pp.60-61
- ↑ Prabhavananda 1979, p.82
- ↑ 9.0 9.1 Goldman 1990, p.8
- ↑ Brockington 2003, p.117
- ↑ Keshavadas 1988, pp.69-70
- ↑ 12.0 12.1 12.2 Prabhavananda 1979, p.83
- ↑ 13.0 13.1 Goldman 1990, p.9
- ↑ Buckvan Nooten 2000, p.166-168
- ↑ Keshavadas 1988, pp.112-115
- ↑ Keshavadas 1988, pp.121-123
- ↑ Buckvan Nooten 2000, p.183-184
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 Goldman 1990, p.10
- ↑ Buckvan Nooten 2000, p.197
- ↑ 20.0 20.1 Goldman 1994, p.4
- ↑ Kishore 1995 , pp.84-88
- ↑ Goldman 1996, p.3
- ↑ Goldman 1996, p.4
- ↑ 24.0 24.1 Goldman 1990, pp. 11-12
- ↑ 25.0 25.1 Prabhavananda 1979, p.84
- ↑ Rajagopal, Arvind (2001). Politics after television. Cambridge University Press. pp. 114–115. ISBN 9780521648394.
- ↑ Sundararajan 1989
- ↑ 28.0 28.1 Goldman 1990, p.13
- ↑ Dutt 2002, "Aswa-Medha" p.146
อ้างอิง
แก้- Arya, Ravi Prakash (ed.).Ramayana of Valmiki: Sanskrit Text and English Translation. (English translation according to M. N. Dutt, introduction by Dr. Ramashraya Sharma, 4-volume set) Parimal Publications: Delhi, 1998, ISBN 81-7110-156-9
- Bhattacharji, Sukumari (1998). Legends of Devi. Orient Blackswan. p. 111. ISBN 978-81-250-1438-6.
- Brockington, John (2003). "The Sanskrit Epics". ใน Flood, Gavin (บ.ก.). Blackwell companion to Hinduism. Blackwell Publishing. pp. 116–128. ISBN 0-631-21535-2.
- Buck, William; van Nooten, B. A. (2000). Ramayana. University of California Press. p. 432. ISBN 978-0-520-22703-3.
- Dutt, Romesh C. (2004). Ramayana. Kessinger Publishing. p. 208. ISBN 978-1-4191-4387-8.
- Dutt, Romesh Chunder (2002). The Ramayana and Mahabharata condensed into English verse. Courier Dover Publications. p. 352. ISBN 978-0-486-42506-1.
- Fallon, Oliver (2009). Bhatti's Poem: The Death of Rávana (Bhaṭṭikāvya). New York: New York University Press, Clay Sanskrit Library. ISBN 978-0-8147-2778-2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-16. สืบค้นเมื่อ 2010-09-08.
- Goldman, Robert P (1984). The Rāmāyaṇa of Vālmīki: An Epic of Ancient India. Princeton University Press. ISBN 81-208-3162--4.
- Keshavadas, Sadguru Sant (1988). Ramayana at a Glance. Motilal Banarsidass. p. 211. ISBN 978-81-208-0545-3.
- Goldman, Robert P. (1990). The Ramayana of Valmiki: An Epic of Ancient India: Balakanda. Princeton University Press. ISBN 978-0-691-01485-2.
- Goldman, Robert P. (1994). The Ramayana of Valmiki: An Epic of Ancient India: Kiskindhakanda. Princeton University Press. ISBN 978-0-691-06661-5.
- Goldman, Robert P. (1996). The Ramayana of Valmiki: Sundarakanda. Princeton University Press. ISBN 978-0-691-06662-2.
- B. B. Lal (2008). Rāma, His Historicity, Mandir, and Setu: Evidence of Literature, Archaeology, and Other Sciences. Aryan Books. ISBN 978-81-7305-345-0.
- Mahulikar, Dr. Gauri. Effect Of Ramayana On Various Cultures And Civilisations, Ramayan Institute
- Rabb, Kate Milner, National Epics, 1896 – see eText in Project Gutenberg
- Murthy, S. S. N. (พฤศจิกายน 2003). "A note on the Ramayana" (PDF). Electronic Journal of Vedic Studies. New Delhi. 10 (6): 1–18. ISSN 1084-7561. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 8 สิงหาคม 2012.
- Prabhavananda, Swami (1979). The Spiritual Heritage of India. Vedanta Press. p. 374. ISBN 978-0-87481-035-6. (see also Wikipedia article on book)
- Raghunathan, N. (transl.), Srimad Valmiki Ramayanam, Vighneswara Publishing House, Madras (1981)
- Rohman, Todd (2009). "The Classical Period". ใน Watling, Gabrielle; Quay, Sara (บ.ก.). Cultural History of Reading: World literature. Greenwood. ISBN 978-0-313-33744-4.
- Sattar, Arshia (transl.) (1996). The Rāmāyaṇa by Vālmīki. Viking. p. 696. ISBN 978-0-14-029866-6.
- Sachithanantham, Singaravelu (2004). The Ramayana Tradition in Southeast Asia. Kuala Lumpur: University of Malaya Press. ISBN 9789831002346.
- Sundararajan, K.R. (1989). "The Ideal of Perfect Life : The Ramayana". ใน Krishna Sivaraman; Bithika Mukerji (บ.ก.). Hindu spirituality: Vedas through Vedanta. The Crossroad Publishing Co. pp. 106–126. ISBN 978-0-8245-0755-8.
- A different Song – Article from "The Hindu" 12 August 2005 – "The Hindu : Entertainment Thiruvananthapuram / Music : A different song". Hinduonnet.com. 12 August 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 October 2010. สืบค้นเมื่อ 1 September 2010.
{{cite web}}
: CS1 maint: unfit URL (ลิงก์) - Valmiki's Ramayana illustrated with Indian miniatures from the 16th to the 19th century, 2012, Editions Diane de Selliers, ISBN 9782903656768
- Iyer T.K.R. "A Short History of Sanskrit Literatue". 1984. India. R.S. Vadhyar & Sons
- ผศ.ดร.สถิตย์ ไชยปัญญา ประวัติวรรณคดีสันสกฤต สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2563
ดูเพิ่ม
แก้หนังสืออ่านเพิ่มเติม
แก้- เอกสารต้นฉบับ แม่แบบ:Sa icon
- GRETIL etext เก็บถาวร 2009-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (input by Muneo Tokunaga)
- रामायण (ฉบับอักษรเทวนาครี ภาษาสันสกฤต ในวิกิซอร์ส)
- ฉบับแปล
- Valmiki Ramayana translated by Ralph T. H. Griffith (1870–1874) ( Project Gutenberg )
- Complete Ramayana Translation (7 kandas) by R.C. Dutt (1899)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เอกสารลายมือมีภาพประกอบเรื่องรามายณะ โดย Maharana Jagat Singh ที่เว็บไซต์หอสมุดบริเตน (British Library) เก็บถาวร 2012-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ฉบับแปลภาษาอังกฤษ
แก้- Word to Word Translation of Valmiki Ramayanam with Sanskrit Text and Audio
- Site with Valmiki Ramayana Text with Meaning แม่แบบ:Sa icon/(อังกฤษ)
- Ramacharita manas (Tulsidas' Ramayana) เก็บถาวร 2010-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ฮินดี)/(อังกฤษ)
บทความวิจัย
แก้- Siddhinathananda, Swami. "The Role of the Ramayana in Indian Cultural Lore". Vedanta Kesari.