พระลักษมณ์
พระลักษมณ์ (สันสกฤต: लक्ष्मण, อักษรโรมัน: Lakṣmaṇa, แปลตรงตัว 'ผู้ที่มีลักษณะดี') เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นอวตารของพญาอนันตนาคราช แท่นบรรทมของพระนารายณ์กับสังข์ของพระนารายณ์ มีพระวรกายสีเหลืองดั่งทองทา เป็นโอรสของท้าวทศรถและนางสมุทรชา มีพระอนุชาฝาแฝด คือ พระสัตรุด[1]
พระลักษมณ์ | |
---|---|
ตัวละครใน รามเกียรติ์ | |
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
เพศ | ชาย |
ตำแหน่ง | อุปราชเมืองอโยธยา |
ญาติ | ท้าวทศรถ (บิดา) นางสมุทรชา (มารดา) พระราม (เชษฐาต่างมารดา) พระพรต (เชษฐาต่างมารดา) พระสัตรุด (อนุชาร่วมมารดา) |
มิตรสหาย | หนุมาน, สุครีพ, องคต, ชมพูพาน, พิเภก |
ศัตรู | ทศกัณฐ์, กุมภกรรณ, อินทรชิต, ขร, ทูษณ์, ตรีเศียร |
พระนามของพระลักษมณ์มาจากภาษาสันสกฤตว่า ลกฺษมณ (อ่านว่า ลัก-สะ–มะ-นะ) แปลว่าผู้มีเครื่องหมายอันเป็นมงคล หรือผู้ที่มีลักษณะดี ในภาษาไทย เขียนว่า ลักษมณ์[2]
ประวัติ
แก้พระลักษมณ์เคยได้ไปร่วมพิธียกธนูโมลีที่มิถิลา ได้ลองยกศรก่อนพระราม เมื่อจับศรแล้วศรขยับแต่แกล้งทำเป็นยกไม่ได้เพราะรู้ว่าพระรามหลงรักนางสีดาตั้งแต่แรกเห็น อีกทั้งพระลักษมณ์ก็ไม่ได้รักนางสีดาแบบชู้สาว พระรามจึงได้อภิเษกสมรสกับนางสีดา
พระลักษมณ์มีความจงรักภักดีต่อพระรามมาก เป็นผู้ที่อยู่เคียงคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระรามเสมอ เมื่อพระรามต้องออกเดินป่าถึง 14 ปี พระลักษมณ์ก็ได้ขอติดตามไปเพื่ออารักขาและปรนนิบัติ อีกทั้งยังช่วยออกรบกับกองทัพของกรุงลงกาอย่างกล้าหาญหลายครั้งหลายหน ร่วมผจญหมู่มารและเหล่าศัตรูเคียงคู่พระราม พระลักษมณ์ออกรบจนถูกอาวุธได้รับบาดเจ็บเกือบสิ้นพระชนม์ถึง 5 ครั้ง จากหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ ศรนาคบาศกับศรพรหมาสตร์ของอินทรชิต หอกแก้ววราวุธของมูลพลัม และหอกกบิลพัทของทศกัณฐ์ แต่ฝีมือก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร พระลักษมณ์ได้สังหารกุมภกาศ อินทรชิต มูลพลัม จิตรไพรี ทศคีรีวัน ทศคีรีธร
หลังเสร็จศึกกรุงลงกา ในขั้นแรกเสนาปรึกษากันว่าจะปูนบำเหน็จให้พระลักษมณ์ไปครองเมืองโรมคัล แต่หนุมานคัดค้านว่าเมืองโรมคัลเป็นเมืองยักษ์ไม่ควรให้พระลักษมณ์ไปครอง ควรจะอยู่ใกล้ชิดพระรามจะดีกว่า พระลักษมณ์ก็เห็นด้วย จึงได้เป็นอุปราชฝ่ายหน้าของเมืองอโยธยา
เมื่อพระรามเข้าใจผิดว่านางสีดายังรักใคร่ทศกัณฐ์ ก็สั่งให้พระลักษมณ์นำนางไปประหารแล้วควักดวงใจมาให้ดู พระลักษมณ์ไม่อยากทำแต่นางสีดาบอกให้ทำตาม เมื่อประหารแล้วนางไม่สิ้นชีวิต พระลักษมณ์จึงให้นางสีดาหนีไปและควักหัวใจเนื้อทรายไปถวาย เมื่อพระรามต้องเดินดงเป็นครั้งที่ 2 เพื่อสะเดาะเคราะห์ พระลักษมณ์ก็ได้ทูลขอตามเสด็จไปด้วยอีกครั้ง
ลักษณะและสี
แก้สีทอง 1 หน้า 2 มือ มงกุฏเดินหน มงกุฏชัย หรือพระมหามงกุฏ ตอนทรงพรตสวมชฎายอดฤษี
ในรามายณะ
แก้พระลักษมณ์มีชายาชื่อนางอุรมิลา (Urmila) ธิดาท้าวชนก แต่งงานพร้อมกันกับพระรามและนางสีดา เมื่อพระลักษมณ์ออกจากเมืองไปอยู่ในป่ากับพระราม ได้ขอพรกับนิทราเทวีให้ตนสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องนอนตลอด 14 ปี เพื่ออุทิศตนปรนนิบัติพี่ชายและพี่สะใภ้ โดยให้นางอุรมิลาที่รอคอยอยู่ที่เมืองเป็นผู้หลับแทน ทำให้นางอุรมิลาเข้าสู่นิทรายาวนานจนครบ 14 ปี ทั้งสองมีโอรสสององค์ คือ อังกาต (Angada) และจันทรเกตุ (Chandraketu)[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ www.wisdomlib.org (2012-06-29). "Lakshmana, Lakṣmaṇa, Lakṣmaṇā: 34 definitions". www.wisdomlib.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-12-23.
- ↑ บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.
- ↑ Ramayana – Conclusion, translated by Romesh C. Dutt (1899)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Lakshmana
- บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช https://vajirayana.org/บทละครเรื่องรามเกียรติ์