ท้าวกุเวร
ท้าวกุเวร[1] (สันสกฤต: कुबेर กุเบร, บาลี: कुवेर กุเวร, ทมิฬ: குபேரன் กุเปรัน) เป็นหนึ่งในสี่จาตุมหาราช ผู้ปกครองเหล่ายักษ์ รากษส คุหยัก กินนร กินรี เป็นชื่อของเทพแห่งความมั่งคั่ง ตามคติศาสนาฮินดู นับถือกันว่าพระองค์เป็นเทพประจำทิศอุดร ทิศเหนือ และเป็นเทพผู้คุ้มครองโลก (โลกบาล) ท้าวกุเวรเทียบเท่าได้กับ ท้าวเวสวัณ เป็นท้าวจตุโลกบาล
ท้าวกุเวร | |
---|---|
เทพผู้เป็นใหญ่เหนือยักษ์ รากษส และกินนร เทพแห่งทรัพย์สมบัติ โชคลาภ ความมั่งคั่ง | |
รูปสลักหินทรายท้าวกุเวร | |
ชื่อในอักษรเทวนาครี | कुबेर |
เป็นที่บูชาใน | ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน |
ส่วนเกี่ยวข้อง | เทพโลกบาล และยักษ์ |
ที่ประทับ | เมืองอลกา บนยอดเขาคันธมาทน์ ในกุเวรโลก |
อาวุธ | กระบองมหากาล คทา,ดาบ,หอก,ดอกบัว,ขวาน,ธนู,ศร,หีบแก้วมณี ฯลฯ |
พาหนะ | ม้า,มนุษย์,โค,แกะ,หมูป่า,พังพอน,ราชรถเทียมม้า,ราชรถเทียมพังพอน,ราชรถเทียมมนุษย์,บุษบกวิมาน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
คู่ครอง | พระนางภัทรา |
บุตร - ธิดา | พระนลกุวร,พระมณีภัทร,พระนางมีนากษี,คันธมาทน์ (วานรในรามายณะ) |
บิดา-มารดา |
|
พระกุเวรเมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตกแล้ว เทียบได้กับพลูตอสตามเทพปกรณัมกรีก
ในศาสนาฮินดู
แก้ฤคเวท
แก้ท้าวกุเวร ในฤคเวท เป็นยักษ์แคระ ถือเป็นเทพแห่งโจรและการลักทรัพย์ อาศัยอยู่ตามป่าเขา ถ้ำลึก คอยเฝ้าอัญมณีและทรัพย์สมบัติ พวกโจรนิยมบูชาท้าวกุเวร เพื่อให้ช่วยเหลือในการปล้น คอยปกป้องคุ้มภัยจากภูตผีปีศาจ และคอยเฝ้าทรัพย์สมบัติ
คัมภีร์ปุราณะ
แก้ท้าวกุเวร ในคัมภีร์ปุราณะ เป็นบุตรของพระวิศรวะมุนี กับนางอิลาวิฑา และเป็นหลานของฤๅษีปุลัสตยะ ในอดีตชาติ ท้าวกุเวร เกิดเป็นพราหมณ์ ชื่อ ยาคทัตต์ มีนิสัยชอบลักขโมย วันหนึ่งถูกเหล่าทหารไล่ตามจับ จึงได้เข้าไปหลบในเทวาลัยร้างของพระศิวะ และได้จุดไฟขึ้นบูชาพระศิวะ ทำให้พระศิวะทรงพอพระทัย หลังจากนั้นยาคทัตต์ก็ถูกทหารจับได้และต้องโทษประหาร หลังจากที่เขาตาย ยมทูตได้มารับวิญญาณของเขา แต่พระศิวะทรงส่งสาวกไปรับวิญญาณของเขา และส่งเขาไปเกิดใหม่ ยาคทัตต์ได้เกิดเป็นบุตรของท้าวอรินทมะ แห่งแคว้นกลิงคะ ชื่อว่า ทัมพกุมาร และได้ทำพิธีบูชาพระศิวะด้วยการจุดประทีปอยู่ทุกเวลา เมื่อเขาตายแล้วจึงได้มากำเนิดใหม่เป็นบุตรของพระวิศรวะมุนี มีนามว่า พระไวศรวัณ ได้บำเพ็ญตบะจนพระศิวะพอพระทัย และทรงแต่งตั้งให้เป็นเทพแห่งทรัพย์ และเป็นเทพโลกบาลประจำทิศเหนือ และได้ปกครองกรุงลงกา ต่อมาราวณะได้มาทำสงครามและแย่งเมืองลงกาและบุษบกวิมานไป พระศิวะจึงทรงมอบเมืองใหม่ให้ ชื่อว่า อลกา อยู่บนยอดเขาคันธมาทน์
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ท้าวกุเวร มีความอหังการว่า ตัวเองเป็นเทพที่มีทรัพย์สมบัติมาก และต้องการอวดความร่ำรวย จึงได้ทูลเชิญเหล่าเทพและพระพิฆเนศ มาร่วมงานฉลองที่พระราชวังของตน แต่ไม่ว่าท้าวกุเวรจะนำอาหารมาถวายพระพิฆเนศมากเท่าไร ก็ไม่อาจทำให้พระองค์อิ่มได้ พระพิฆเนศจึงกลืนกินทรัพย์สมบัติและพระราชวังของท้าวกุเวรจนหมดสิ้น พระกุเวรจึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากพระปารวตี พระนางทรงมอบข้าวให้ท้าวกุเวรถ้วยหนึ่งและทำให้พระพิฆเนศทรงอิ่ม และยอมคายทรัพย์สมบัติ และพระราชวังคืนให้แก่ท้าวกุเวร
บางตำราเรียกท้าวกุเวรว่า "ท้าวเวสวัณ" (สันสกฤต: वैश्रवण ไวศฺรวณ, บาลี: वेस्सवण เวสฺสวณ) ตามนามโคตรของท้าวกุเวรในศาสนาฮินดู
ในศาสนาพุทธ
แก้ท้าวกุเวร ในศาสนาพุทธ รู้จักกันมากในนามว่า ท้าวเวสวัณ หรือ ท้าวเวสสุวัณ เป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล อดีตชาติ ในยุคสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า ท้าวกุเวรเกิดเป็นพราหมณ์ ชื่อ กุเวรพราหมณ์ เขามีไร่อ้อยจำนวนมาก และมีหีบหนีบน้ำอ้อยถึง ๗ หีบ ทำให้เขามีรายได้มาก จนเขาร่ำรวยขึ้น เขาได้สร้างศาลาที่พักในเมืองถึง ๑๐ แห่ง และแจกน้ำอ้อยแก่ผู้ที่มาพัก และได้ทำทานตลอดชีวิต เป็นเวลา ๒๐,๐๐๐ ปี ตามอายุขัยของคนยุคนั้น และได้ไปเกิดเป็นท้าวกุเวร มีผิวกายดั่งสีน้ำอ้อย ปกครองพวกยักษ์ อยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ทางด้านทิศเหนือ นอกจากนี้ท้าวกุเวรยังมีกระบอง ชื่อว่า มหากาล ที่สามารถทำลายล้างโลกธาตุได้อีกด้วย ในทางพุทธศาสนา ฝ่ายวัชรยาน ท้าวกุเวร มีนามว่า พระชัมภละ ถือเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ส่วนในศาสนาเชนจะเรียกเทพองค์นี้ว่า ศารวนุภูติ (Sarvanubhuti) มี ๔ พักตร์ ๘ กร กายสีรุ้ง ทรงช้างเป็นพาหนะ
ลักษณะของท้าวกุเวร
แก้ท้าวกุเวร ในคติไทย เป็นยักษ์มีกายสีทอง หรือ สีเขียว มีกายใหญ่กำยำ นัยน์ตาเป็นประกายลุกดังเพลิง มี ๒ กร ๓ ขา ทรงกระบองเป็นอาวุธ ปากแสยะ ตาโพลง สวมมงกุฎน้ำเต้า สวมอาภรณ์สีทอง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและอัญมณี ทรงม้าเป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพบุรุษกายสีทอง บ้างก็ว่าสีแดง รูปร่างอ้วน ท้องใหญ่ ตัวเล็ก นัยน์ตาสีทอง มี ๒ กร กรหนึ่งทรงคทา กรหนึ่งอุ้มพังพอน สวมมงกุฎทองคำ มีรัศมีสีทอง สวมอาภรณ์สีทอง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและอัญมณี ประทับนั่งบนบัลลังก์ ทรงม้าเป็นพาหนะ บ้างก็ทรงมนุษย์ ท้าวกุเวร ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระไวศรวัณ,พระยักษราช,พระมยุราช,พระธนบดี,พระธเนศวร,พระธนัท,พระอิจฉาวสุ,พระรากษเสนทร์,พระรากษสาธิปติ,พระนรราช,พระนรวาหนะ,พระอีศะสขี
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- Hopkins, Edward Washburn (1915). Epic mythology. Strassburg K.J. Trübner. ISBN 0842605606.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - Sutherland, Gail Hinich (1991). The disguises of the demon: the development of the Yakṣa in Hinduism and Buddhism. SUNY Press. ISBN 0791406229.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help)
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 316