พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีและเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 53 ตามประวัติศาสตร์ไทย ครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ด้วยพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร จนสวรรคต เป็นประมุขแห่งรัฐที่ครองราชย์ยาวนานมากที่สุดตลอดกาลในประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปเอเชีย[1] พระองค์ยังเป็นประมุขแห่งรัฐที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในโลกในขณะทรงพระชนม์ นับตั้งแต่การสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะแห่งญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2532 กระทั่งสวรรคตใน พ.ศ. 2559[2] อีกทั้งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดตลอดกาลอันดับที่ 3 ของโลก ด้วยระยะเวลาในราชสมบัติทั้งสิ้น 70 ปี 126 วัน[1]
พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงพยาบาลเคมบริดจ์ (ปัจจุบัน โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น) เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และได้ทรงหยุดยั้งการกบฏ เช่น กบฏเมษาฮาวายใน พ.ศ. 2524 และกบฏทหารนอกราชการใน พ.ศ. 2528 กระนั้น ในสมัยของพระองค์ได้มีการทำรัฐประหารโดยทหารหลายคณะ เช่น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2500 กับพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ใน พ.ศ. 2549 ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ มีนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง 26 คน โดยเริ่มต้นที่ปรีดี พนมยงค์ และสิ้นสุดลงที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา[3]
ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่เคารพพระองค์[4][5][6] อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ และผู้ใดจะละเมิดมิได้ ส่วนประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ว่า การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เป็นความผิดอาญา[6] คณะรัฐมนตรีหลายชุดที่ได้รับการเลือกตั้งมาก็ถูกคณะทหารล้มล้างไปด้วยข้อกล่าวหาว่านักการเมืองผู้ใหญ่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[7][8] กระนั้น พระองค์เองได้ตรัสเมื่อ พ.ศ. 2548 ว่า สาธารณชนพึงวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้[9]
พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทยเกี่ยวกับพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคฟี แอนนัน เลขาธิการสหประชาชาติได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระองค์[10] ด้านสินทรัพย์ของพระองค์ นิตยสาร ฟอบส์ จัดอันดับให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชทรัพย์มากที่สุดในโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2556[11] เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 พระองค์มีพระราชทรัพย์ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ดูหมายเหตุด้านล่าง)[12] สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ใช้ทรัพย์สินเพื่อสวัสดิการสาธารณะ เช่น เพื่อพัฒนาเยาวชน แต่ได้รับการยกเว้นมิต้องจ่ายภาษีและให้เปิดเผยการเงินต่อพระองค์ผู้เดียว[13] พระองค์ยังทรงอุทิศพระราชทรัพย์ในโครงการพัฒนาประเทศไทยหลายโครงการ โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากรน้ำ สวัสดิการทางคมนาคม และสวัสดิการสาธารณะ[14]
พระชนม์ชีพช่วงต้น
พระราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ ที่โรงพยาบาลเคมบริดจ์ (ปัจจุบัน โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น) เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ อันเป็นที่ซึ่งพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ นพศก จ.ศ. 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา) และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ตะละภัฎ, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในกาลต่อมา) มีพระนามเมื่อแรกประสูติอันปรากฏในสูติบัตรว่า "เบบี สงขลา" (อังกฤษ: Baby Songkla)[15] ต่อมาคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช เมื่อได้รับพระราชทานนาม มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า "เล็ก"[16][17]
พระนามภูมิพลอดุลเดชนั้นพระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า "Bhumibala Aduladeja" ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า "ภูมิบาล"[16] ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า "ภูมิพลอดุลเดช" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเองทรงเขียนว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว "ย" สะกด[16][18]
พระนามของพระองค์มีความหมายว่า
- ภูมิพล - ภูมิ หมายความว่า "แผ่นดิน" และ พล หมายความว่า "พลัง" รวมกันแล้วหมายถึง "พลังแห่งแผ่นดิน"
- อดุลยเดช - อดุลย หมายความว่า "ไม่อาจเทียบได้" และ เดช หมายความว่า "อำนาจ" รวมกันแล้วหมายถึง "อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้"[19]
เมื่อ พ.ศ. 2471 ได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา
การศึกษา
พ.ศ. 2475 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 4 พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอลนูแวลเดอลาซุอิสรอม็องด์ (École Nouvelle de la Suisse Romande) เมืองชายี-ซูร์-โลซาน (Chailly-sur-Lausanne)
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478[20]
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 พระองค์ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึง พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จากโรงเรียนฌีมนาซกลาซิกก็องตอนาลเดอโลซาน (Gymnase Classique Cantonal de Lausanne) แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง[21]
พระมหากษัตริย์ไทย
ต้นรัชกาลและราชาภิเษกสมรส
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป[22] จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งในช่วงเวลานั้นพระองค์ยังทรงพระเยาว์และเสด็จพระราชดำเนินศึกษาต่อ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวในครั้งแรก ซึ่งได้แก่ พระสุธรรมวินิจฉัย (ชม วณิกเกียรติ), พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) และสงวน จูฑะเตมีย์ สมาชิกพฤฒสภา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา)[23][24] พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเล่าว่า ระหว่างประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้"[25][26] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา[27] หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จเยือนกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส เป็นครั้งแรก[28] ในขณะนั้น ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุ 21 พรรษาและ 15 พรรษาตามลำดับ ใน พ.ศ. 2490 พระองค์มีพระราชหัตถเลขาแสดงความพอพระราชพฤทัยในรัฐประหารในปีนั้น ซึ่งเป็นรัฐประหารของฝ่ายกษัตริย์นิยม[29]: 44
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ในระหว่างเสด็จประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซาน ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์พระเนตรขวาบอด จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากอาการประชวร อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[30][31][32] พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์[33]
วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ในโอกาสนี้พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี[34]
ผนวช
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้น พระองค์เสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[35] ระหว่างที่ผนวชนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[36] ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน[37] (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้เฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562)
ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่น ๆ เช่นในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในวันที่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
อนึ่ง ในการทรงพระผนวชครั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี | |
---|---|
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | |
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | |
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | |
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
ขัดแย้งกับรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม
หลังจากรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ตามมาด้วยยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 และกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 เพื่อเป็นการลดอำนาจพระมหากษัตริย์ พระองค์เจ้าธานีนิวัตทรงบันทึกปฏิกิริยาของพระองค์ว่า "ท่านกริ้วมาก ทรงตำหนิหลวงพิบูลอย่างแรงหลายคำ ท่านว่าฉันไม่พอใจมากที่คุณหลวงทำเช่นนี้"[29]: 48–9 ต่อมาทรงพยายามเจรจาต่อรองกับรัฐบาลขอให้เพิ่มเติมพระราชอำนาจบางอย่าง เช่น ให้ทรงเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้[29]: 49 ใน พ.ศ. 2496 พระองค์ขัดแย้งกับรัฐบาลเรื่องพระราชบัญญัติจำกัดการถือครองที่ดิน ทรงชะลอการลงพระปรมาภิไธย แต่สุดท้ายก็ผ่านเป็นกฎหมาย[29]: 50 [a] ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 จอมพล แปลก ได้จัดให้พระองค์และสมเด็จพระบรมราชินี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จเยือนภาคอีสานโดยทางรถไฟ ผลปรากฏชัดว่าพระองค์เป็น ที่นิยมของประชาชนจำนวน มาก ดังนั้น จอมพล แปลก จึงได้ตัดงบประมาณในการเสด็จ ครั้งต่อไป[38]
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่น่าจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายคือการรื้อฟื้นคดีสวรรคต ร. 8 และแผนนำปรีดี พนมยงค์กลับประเทศ[29]: 51 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2500 พระองค์และกลุ่มกษัตริย์นิยมเคลื่อนไหวเตรียมรัฐประหาร มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า พระองค์พระราชทานเงินสนับสนุนแก่พรรคประชาธิปัตย์ 700,000 บาท และมีรายงานว่าพระองค์เสด็จฯ ไปบ้านพักของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชในยามวิกาลอย่างลับ ๆ อยู่เสมอ[29]: 52
โดยเฉพาะในโอกาสฉลองพุทธศตวรรษ พ.ศ. 2500[39][40] รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระมหากษัตริย์เสด็จมาทรงเป็นประธานซึ่งก็ทรงตอบรับเป็นที่เรียบร้อย แต่ครั้นถึงวันงานทรงพระประชวรปัจจุบันทันด่วน ทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเป็นประธานเปิดพิธีเอง และในเดือนสิงหาคมปีดังกล่าว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาโจมตีรัฐบาลของจอมพล แปลก ว่าละเมิดพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งข่าวการระหองระแหงกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและรัฐบาลดังกล่าว ทำให้สาธารณะเริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากขึ้น[41]
เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล แปลก ได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อขอให้ทรงสนับสนุนรัฐบาล[42] พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเตือนจอมพล แปลก ว่าขอให้ลาออกจากตำแหน่งเสียเพื่อมิให้เกิดรัฐประหาร แต่จอมพล แปลก ปฏิเสธ[43] เย็นวันดังกล่าว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลทันที และสองชั่วโมงหลังจากการประกาศยึดอำนาจ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร[44] และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
สมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
เมื่อรัฐบาลทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เถลิงอำนาจแล้ว รัฐบาลได้ฟื้นฟูพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ โดยอนุญาตให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จออกประชาชนเป็นอันมาก ให้เสด็จประภาสในถิ่นทุรกันดาร และตั้งงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาที่พระองค์มีพระราชดำริริเริ่มด้วย โดยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศให้นำประเพณีหมอบกราบเข้าเฝ้า ซึ่งเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับมาใช้ใหม่ กับทั้งประกาศให้สถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้นซ้ำด้วย นอกจากนี้ นับตั้งแต่การปฏิวัติสยาม 2475 สืบมา ประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคก็ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อถวายผ้าพระกฐิน[45][46]
พิธีกรรมตามโบราณประเพณีหลายอย่างของราชวงศ์จักรี เช่นพิธีกรรมพืชมงคล ก็มีประกาศให้ฟื้นฟู[47] วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม) ก็ได้รับการประกาศให้เป็นวันชาติไทย แทนที่วันที่ 24 มิถุนายน อันตรงกับวันที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จด้วย[48]
เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 สำนักพระราชวังก็มีประกาศให้จัดการไว้ทุกข์ในพระราชวังเป็นเวลายี่สิบเอ็ดวัน และศพจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับพระราชทานฉัตรห้าชั้น ซึ่งปรกติเป็นเครื่องยศของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า กางกั้นตลอดระยะเวลาไว้ศพ ทั้งนี้ พระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล) องคมนตรี ได้กล่าวต่อมาว่า ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์เท่ากับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาก่อนเลย[49]
สมัยรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร
หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2506 จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดมา และจอมพล ถนอม กิตติขจร ก็สืบนโยบายราชานิยมของจอมพล สฤษดิ์ต่อมาอีกกว่าทศวรรษ ซึ่งเดือนตุลาคม 2516 ในการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาล และมีผู้ตายเป็นจำนวนมหาศาลอันเนื่องมาจากการปราบปรามของรัฐบาลนั้น พระองค์ได้มีพระบรมราชานุญาตให้เปิดพระทวารพระตำหนักจิตรลดารโหฐานรับผู้ชุมนุมที่หนีตายเข้ามา และพระราชทานพระราชโอกาสให้เหล่าผู้ชุมนุมเฝ้า เหตุการณ์ 14 ตุลาแสดงภาพลักษณ์ว่าผลประโยชน์ของนักศึกษาตรงกับผลประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์[50]: 76 แต่พระองค์ยังทรงรู้สึกว่าขบวนการนักศึกษาจะต้องถูกควบคุม และการเดินขบวนอย่างเปิดเผยเป็นสิ่งผิด[50]: 75
ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน
ต่อมา ก็ทรงตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้ลี้ภัยไปสหรัฐและสิงคโปร์ตามลำดับ ครั้งนั้น สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนสำเร็จเป็นครั้งแรก แต่ท่ามกลางปัจจัยทั้งในและนอกประเทศทำให้เกิดการสมคบกันรัฐประหารรอบใหม่ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ บุญชนะ อัตถากร เล่าว่าในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ นำความบ้านเมืองกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ว่าอาจมีความจำเป็นต้องรัฐประหาร บุญชนะบันทึกว่าสงัดได้สนทนากับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรดังนี้
- สงัด: อยากได้พรจากพระโอษฐ์ให้ทางทหารดำเนินการได้ตามที่คิดไว้
- ในหลวง: ให้คิดเอาเองว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป
...
- สงัด: ถ้าทางทหารยึดอำนาจการปกครองได้แล้ว… ใครควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี
- ในหลวง: จะทำอะไรลงไปก็ควรปรึกษานักกฎหมาย คือ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเสียด้วย[51]: 162
การเดินทางกลับประเทศของจอมพล ถนอม โดยบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก่อให้เกิดการประท้วงเป็นวงกว้างในช่วงเดือนกันยายน วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ไม่อาจจัดการอะไรได้ จึงขอลาออก และเมื่อเวลา 21.30 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จไปวัดบวรนิเวศ[52] ไม่นานให้หลัง เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งกองกำลังติดอาวุธสังหารหมู่ผู้ประท้วงล้มตายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกล่าวหาว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าอยู่เบื้องหลัง "อาชญากรรม" ดังกล่าว[53]: 259 สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการและนักเคลื่อนไหว ถูกจำคุกฐานพิมพ์เผยแพร่บทความตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันในเหตุการณ์[54]: 278–9 อย่างไรก็ดี นักวิชาการต่างประเทศอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนส่งเสริมเหตุการณ์ เช่น การสนับสนุนลูกเสือชาวบ้านและการเสด็จฯ เยี่ยมพระถนอม[55]: 31 พระองค์มีพระราชดำรัสปลายปีเดียวกันนั้นว่า "...ประชาชนคนไทยมีการแสดงออกชัดเจนขึ้น ว่าต้องการอะไร เมื่อแสดงออกมาเช่นนี้ ก็ทำให้รู้ใจกัน และสามารถช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสิ่งที่ต้องการ มีจะมีอุปสรรค แม้ความยากลำบากขัดขวางอยู่ก็ทำได้ ขอเพียงให้ร่วมมือ ร่วมใจกันจริง ๆ..."[56]
สมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ในความโกลาหลครั้งนั้น ฝ่ายทหารก็เข้ายึดอำนาจอีกครั้ง และเสนอนามบุคคลสามคนให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประกอบด้วย ประกอบ หุตะสิงห์ ประธานศาลฎีกา, ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกา[57]
พระองค์มีพระราชดำรัสในพิธีประดับยศนายทหารชั้นนายพล เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ความตอนหนึ่งว่า
เช่นหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเขียนไว้และเจาะจงว่า นายพลไทยยึดอำนาจ นายพลไทยเป็นเผด็จการ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบของท่านนายพลไทยไม่ใช่น้อย เพราะว่าถ้าเผด็จการก็ต้องเผด็จให้ดี เพราะว่านายพลไทยและทหารไทยทั้งหลาย ไม่เคยเผด็จการเพื่อให้เป็นเผด็จการแบบฝรั่ง พยายามที่จะทำเพื่อประเทศชาติ เพราะทหารไทยถือชาติเป็นสูงสุด เป็นใหญ่ ฉะนั้น เมื่อมีการว่ากล่าวว่านายพลไทยเป็นเผด็จการ เราก็จะต้องพยายามเผด็จการให้ดี ให้เหมาะสมกับผู้ที่เป็นชายชาติทหารโดยแท้[58]
เดือนกันยายน 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พระอิสริยยศในขณะนั้น) และ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในจังหวัดภาคใต้
ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2520 เวลา 15.15 น. ขณะที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ประทับบนพลับพลาที่ประทับ ซึ่งมีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จฯ ราว 30,000 คน ก็ได้มีราษฏรที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ไปหยิบไฟแช็คดังกล่าวเป็นเหตุให้ระเบิดลูกแรกเกิดระเบิดขึ้น ราษฏรต่างพากันแตกตื่นและเหยียบกับระเบิดลูกที่สอง ทำให้ระเบิดลูกที่สองเกิดระเบิดขึ้น ระเบิดลูกแรกห่างจากพลับพลาที่ประทับ 60.15 เมตร ห่างจากลาดพระบาท 5.20 เมตร และระเบิดลูกที่สองห่างจากพลับพลาที่ประทับ 105.15 เมตร ห่างจากลาดพระบาท 6.00 เมตร แรงระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 คน บาดเจ็บสาหัส 11 คน[59] ขณะที่เกิดความโกลาหลนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาลูกเสือชาวบ้านได้เข้าระงับควบคุมฝูงชนอย่างฉับพลัน มีการใช้เครื่องขยายเสียงแบบมือถือที่เตรียมไว้แล้วปลอบโยนประชาชนมิให้ตื่นตระหนกและให้อยู่กับที่ ขณะเดียวกันก็มีการลำเลียงผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาล ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์มิได้ทรงรับบาดเจ็บใด ๆ
ขณะเกิดเหตุนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงยืนประทับอยู่กับที่และทอดพระเนตรมองเหตุการณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ยืนรายล้อมถวายการอารักขา ในขณะที่พิธีการต้องหยุดชะงักชั่วครู่
ทั้งนี้ก่อนหน้าเหตุระเบิดราวๆ 20 ชั่วโมง ก็ได้มีตำรวจขับรถจักรยานยนต์ฝ่าสัญญาณไฟจราจรพุ่งชนรถยนต์พระที่นั่งจนเกิดไฟลุกท่วม
ภายหลังเกิดเหตุ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่อไป โดยมิได้แสดงพระอาการปริวิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีพระราชดำรัสให้ทุกคนมีจิตใจเข้มแข็งไม่ตื่นเต้นต่อสถานการณ์ เมื่อจบคำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (สมเด็จเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา พระอิสริยยศในขณะนั้น) และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ พระอิสริยยศในขณะนั้น) ซึ่งประทับอยู่ในพลับพลาฯ ทรงนำเหล่าราษฎรร้องเพลง “เราสู้”[60] และภายหลังเสร็จพระราชกรณียกิจ เวลา 18.55 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลจังหวัดยะลา
ธานินทร์ กรัยวิเชียรมีแนวคิดขวาจัด ทำให้เหล่านักศึกษาหนีเข้าป่าไปรวมกลุ่มกับพวกคอมมิวนิสต์ รัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงถูกรัฐประหารนำโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ใน พ.ศ. 2523 และคณะรัฐประหารก็ตั้งพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ขณะนั้น กองกำลังที่ต่อต้านรัฐบาลได้เข้ายึดกรุงเทพมหานคร พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร การก่อการครั้งนี้จึงกลายเป็นกบฏที่รู้จักในชื่อ "กบฏเมษาฮาวาย" และนำไปสู่ "กบฏทหารนอกราชการ" ในเวลาต่อมา [61][62][63][64]
พฤษภาทมิฬ
รัฐประหารของคณะทหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบเผด็จการทหารอีกครั้ง ซึ่งหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว พรรคการเมืองที่มีจำนวนผู้แทนราษฎรมากที่สุดคือพรรคสามัคคีธรรม จำนวนเจ็ดสิบเก้าคน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเตรียมเสนอ ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนราษฎรมากที่สุดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่ามาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐ ได้แถลงว่า ณรงค์เป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอหนังสือเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด[65] พลเอก สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งเคยตกปากว่าจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ ภายหลังจากเลือกตั้งอีกเพื่อตัดข้อครหาบทบาทของทหารในรัฐบาลพลเรือน กลับยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสร้างความไม่พอใจท่ามกลางประชาชนเป็นอันมาก นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน โดยมีร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม เป็นแกนนำ ซึ่งรัฐบาลของพลเอก สุจินดาได้สั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงโดดเฉียบขาด กลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดในที่สุด และมีผู้คนเสียชีวิต เมื่อฝ่ายทหารเปิดการโจมตีผู้ชุมนุม เหตุการณ์ดิ่งสู่ความรุนแรงเรื่อย ๆ เมื่อกำลังทหารและตำรวจเข้าควบคุมกรุงเทพมหานครเต็มที่[66] และท่ามกลางเหตุการณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีพระบรมราชโองการเรียกพลเอก สุจินดา คราประยูร และหัวหน้ากลุ่มผู้ประท้วง (พลตรี จำลอง ศรีเมือง) เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ให้เฝ้า และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายทอดการนี้ออกอากาศสดได้ ในภาพทางโทรทัศน์ พระองค์ทรงขอให้คู่กรณียุติความรุนแรงและนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่สันติซึ่งทั้ง พลเอก สุจินดา คราประยูร และ พลตรี จำลอง ศรีเมือง เห็นพ้องต้องกันในการที่จะให้รัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศในสถานการณ์ดังกล่าว [67] ณ จุดสูงสุดของวิกฤติการณ์ ปรากฏภาพพลเอก สุจินดา คราประยูร และหัวหน้าผู้ประท้วง เฝ้าทูลละอองพระบาทโดยหมอบกราบ และที่สุดก็นำไปสู่การลาออกของพลเอก สุจินดา คราประยูร และการเลือกตั้งทั่วไป[68]
รัฐประหาร พ.ศ. 2549 และ 2557
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานสภาองคมนตรี และรัฐบุรุษ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายรายงานสถานการณ์ การปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อเวลา 00.19 น. วันพุธที่ 20 กันยายน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต[69]
พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันมีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้สึกรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ประชาชนส่วนหนึ่งเคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ แม้หลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้[70]
นอกจากนี้ ในวันที่ 22 กันยายน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก แพร่ภาพพิธีรับพระบรมราชโองการ แต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แก่พลเอก สนธิ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าประกาศฉบับดังกล่าว มีพลเอก สนธิเอง ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และลงวันที่ 20 กันยายน ขณะที่พิธีรับพระบรมราชโองการนั้น จัดให้มีขึ้นต่อมาในภายหลัง[71]
หลังจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ โดย หัวหน้า คปค. ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี[72]“
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้พระราชทานสัมภาษณ์ในรายการโดยอ้างว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเสียพระทัยต่อเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการเสียพระทัยจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองนำไปสู่พระอาการประชวรเป็นไข้ ใจความตอนหนึ่งว่า[73]
"จะเล่าไป ข้าพเจ้าเป็นคนไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ไม่อยากพูดถึงใครว่าใครดีใครเลว ไม่รู้ เพราะไม่เคยคบนักการเมือง แต่ว่า รู้แต่ว่า เหตุการณ์ปีที่แล้ว ที่มีการเผาบ้านเผาเมืองกัน อันนั้นนำความทุกข์มาสู่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหลือเกิน พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนี่ จากที่ทรงหัดเดินได้น่ะ ตอนนั้นน่ะ ทรงทรุดเลย เป็นไข้ต้องให้น้ำเกลือ นอนแบ็บเลย สมเด็จฯ ก็เสียพระทัยมากเหลือเกิน ท่านรับสั่งว่า 'คราวที่เราถูกเผาเมืองนั้น คือสมัยเสียกรุงต่อพม่า กรุงศรีอยุธยา แต่คราวนี้ สะเทือนใจยิ่งกว่า เพราะเป็นการที่คนไทยเผาเมืองไทยเอง"
อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมิได้ทรงตอบรับข้ออ้างของพระธิดาต่อสาธารณชนว่าเป็นจริงหรือเท็จนอกจากนี้พระองค์ก็ตรัสถึงการเมืองบ้างเล็กน้อยในบางโอกาส[2]
ในเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 พระองค์มีพิธีสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พระบรมราชโองการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหัวใจสร้างความชอบธรรมแก่รัฐประหาร[74] และถูกมองว่าเป็นการรับรองของพระองค์[75]
พระพลานามัยปลายพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระอาการประชวรเรื้อรังในส่วนของพระหทัยเต้นผิดปกติ มีสาเหตุจากการได้รับเชื้อไมโคพลาสมา ราวปี พ.ศ. 2530 เสด็จไปเยี่ยมประชาชนที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ คณะแพทย์ไม่อาจถวายการรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงถวายพระโอสถประคองพระอาการมาตลอด จนต้องทรงรับการผ่าตัดใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2538[76]
นับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเริ่มประชวร อันเนื่องมาจากพระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบ พระองค์แปรพระราชฐานจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปโรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้คณะแพทย์ถวายการรักษา[77] ต่อมาจนถึงเดิอนสิงหาคม พ.ศ. 2556 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเปลี่ยนพระอิริยาบถ[78]
จนกระทั่งวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมีพระอาการไข้[79] คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาจนพระอาการทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ[80] ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เพื่อเปลี่ยนพระอิริยาบถอีกครั้ง[81] แต่เสด็จฯ ไปประทับได้ไม่นาน ก็ทรงกลับมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช[82] ตลอดระยะเวลาที่ประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 พระอาการประชวรได้ดีขึ้นและทรุดลงเป็นครั้งคราว[83] โดยพระราชกรณียกิจครั้งสุดท้ายของพระองค์คือการพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้พิพากษาประจำศาลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558[84] และการปรากฏพระองค์ครั้งสุดท้ายคือการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559[85]
เสด็จสวรรคต
ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระบรมราชอิสริยยศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในขณะนั้น มีพระปรอทต่ำ หายพระทัยเร็ว มีพระเสมหะ พระปับผาสะซ้ายอักเสบ มีพระโลหิตเป็นกรด และพบว่ามีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มพระปัปผาสะเล็กน้อย[86] คณะแพทย์จึงทำการรักษาด้วยพระโอสถปฏิชีวนะ และใช้สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำเพื่อฟอกพระโลหิต แต่มีพระความดันพระโลหิตต่ำจึงใช้เครื่องช่วยหายพระทัย พระอาการไม่คงที่[87] ก่อนที่พระอาการจะทรุดลงไปอีก มีการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต[88] จนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระอาการประชวรได้ทรุดหนักลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 15.52 น. รวมพระชนมายุ 88 พรรษา ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี 4 เดือน 4 วัน[89][90]
วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชอิสริยยศในขณะนั้น พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเคลื่อนพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปยังพระบรมมหาราชวัง มีพระราชพิธีถวายสรงน้ำพระบรมศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา มีการเชิญพระบรมศพลงสู่พระหีบ ประดิษฐานหลังพระแท่นแว่นฟ้าทอง ประกอบพระโกศทองใหญ่ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง
รัฐบาลประกาศให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา 30 วัน และให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่รัฐไว้ทุกข์ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559[91] คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ[92] มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560[93] ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562[94] ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย คำอ่าน และสรรพนาม คำขึ้นต้น คำลงท้าย ในการกราบบังคมทูล กราบทูล ได้ระบุพระปรมาภิไธยอย่างย่อไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[95]
วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญของชาติไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, วันชาติไทย และวันพ่อแห่งชาติ[96] และเป็นวันหยุดราชการ
วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 คณะรัฐมนตรีได้กำหนดชื่อเรียกวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม ว่า วันนวมินทรมหาราช[97] ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการมาก่อนแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560[98]
สถานะพระมหากษัตริย์
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ จอมทัพไทย และอัครศาสนูปถัมภก และเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เดอะการ์เดียนรายงานเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ว่าในรัชสมัยของพระองค์ เกิดรัฐประหาร 15 ครั้ง เหตุการณ์กบฏ 9 ครั้ง เหตุการณ์การก่อการกำเริบโดยประชาชนจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล 2 ครั้งได้แก่ เหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ รัฐธรรมนูญ 16 ฉบับ และการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี 27 คน[99]
ตามรัฐธรรมนูญไทย พระองค์ทรง "ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้" ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"[100] แต่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2548 ว่า "...แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชไม่ดี รู้ได้อย่างไร ถ้าเขาบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพราะพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น ...ฉะนั้น ที่บอกว่าการวิจารณ์ เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูกประชาชนบ้อม คือ ขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกก็ไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิด ไม่ดี แต่เมื่อบอกไม่ให้วิจารณ์ ละเมิดไม่ได้ เพราะ รัฐธรรมนูญว่ายังงั้น ลงท้าย พระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก"[101]
บทบาททางการเมืองไทย
ในทางกฎหมาย พระมหากษัตริย์ไทยมีพระราชอำนาจจำกัดตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำลายพระราชอำนาจโดยพฤตินัย ธงทอง จันทรางศุ เขียนถึงพระราชอำนาจนี้ว่า "แม้ว่าพระราชอำนาจดังกล่าวจะมิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม แต่ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้าใจตรงกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่จริง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นพระราชอำนาจส่วนที่สำคัญที่สุดในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน"[102]: 461 มีการสร้างพระราชอำนาจนำเกิดขึ้นผ่านการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระองค์ทรงมีบทบาทในการเมืองไทยหลายครั้ง ได้ทรงหยุดยั้งการกบฏ เช่น กบฏยังเติร์ก ใน พ.ศ. 2524 และกบฏทหารนอกราชการ ใน พ.ศ. 2528 กระนั้น ในสมัยของพระองค์ได้มีการทำรัฐประหารโดยทหารหลายคณะ บทบาททางการเมืองที่สำคัญของพระองค์ เช่น สมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารในเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 และเมื่อรัฐบาลทหารของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เถลิงอำนาจ รัฐบาลได้ฟื้นฟูพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ โดยอนุญาตให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จออกประชาชนเป็นอันมาก ให้เสด็จประภาสในถิ่นทุรกันดาร และตั้งงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาที่พระองค์มีพระราชดำริริเริ่มด้วย นอกจากนี้วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม) ก็ได้รับการประกาศให้เป็นวันชาติไทย แทนที่วันที่ 24 มิถุนายน อันตรงกับวันที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จด้วย[103] ทั้งนี้ พระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล) องคมนตรี ได้กล่าวต่อมาว่า ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์เท่ากับ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาก่อนเลย[49]
และยังเป็นที่ทราบกันว่า พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในพฤษภาทมิฬ โดยมีพระบรมราชโองการเรียกพลเอก สุจินดา คราประยูร และหัวหน้ากลุ่มผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ให้เฝ้า และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายทอดการนี้ออกอากาศสดได้ ในภาพทางโทรทัศน์ พระองค์ทรงขอให้คู่กรณียุติความรุนแรงและนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่สันติ ซึ่งทั้งพลเอก สุจินดา คราประยูร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง เห็นพ้องต้องกันในการที่จะให้รัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศในสถานการณ์ดังกล่าว และที่สุดก็นำไปสู่การลาออกของพลเอก สุจินดา คราประยูร และการเลือกตั้งทั่วไป[104] [105]
ในเหตุการณ์ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงให้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยบันทึกภาพและเสียงระหว่างการเข้าเฝ้าของพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะ[106] หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีการตั้งคำถามและการวิจารณ์บทบาทของพระองค์ในวิกฤตการณ์การเมืองไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่อนานาชาติ[107] นอกจากนี้ พระองค์ก็ตรัสถึงการเมืองบ้างเล็กน้อยในบางโอกาส[2]
อำนาจตามรัฐธรรมนูญ
อำนาจตามรัฐธรรมนูญของพระองค์มักเป็นที่ถกเถียงกัน บางส่วนเพราะความเป็นที่นิยมอย่างล้นหลามของพระองค์และบางส่วนเป็นเพราะอำนาจของพระองค์มักถูกตีความขัดกันแม้จะมีนิยามอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นการแต่งตั้งจารุวรรณ เมณฑกาเป็นผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ทว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแต่งตั้งเธอขัดต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐสภาเลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนจารุวรรณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงปฏิเสธเขา[108] วุฒิสภาปฏิเสธลงคะแนนยกเลิกการยับยั้งของพระองค์[109] สุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้จารุวรรณกลับเข้ารับตำแหน่ง หนังสือพิมพ์ผู้จัดการอธิบายว่ากรณีนี้เป็นความพยายามของวุฒิสภาเพื่อบีบบังคับให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทำตามความปรารถนาของพวกตน[110] ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเฉพาะว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภา การพ้นจากตำแหน่งจึงต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเท่านั้น[110]
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงยับยั้งกฎหมายน้อยครั้ง พอล แฮนด์ลีย์เขียนใน เดอะคิงเนเวอร์สไมล์ ว่าในปี พ.ศ. 2519 เมื่อรัฐสภาลงคะแนนเสียงเห็นชอบเพื่อขยายการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยสู่ระดับอำเภอ พระองค์ทรงปฏิเสธลงพระปรมาภิไธยกฎหมาย[111] รัฐสภาไม่ยอมออกเสียงยกเลิกการยับยั้งของพระองค์ ในปี พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงยับยั้งกฎหมายปฏิรูปที่ดินที่รัฐสภาเห็นชอบสองครั้งก่อนทรงยินยอมลงพระปรมาภิไธย[112] บางทีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรไม่ทรงใช้พระราชอำนาจนี้ยับยั้งการตรากฎหมาย เช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มาตรา 107 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วย แต่ก็ไม่ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งโดยตรง เพียงแต่มีพระราชกระแสท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ไม่ทรงเห็นด้วยกับมาตรา 107 วรรค 2 แห่งร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะประธานองคมนตรีเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย[113] ซึ่งขัดกับหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งจะทำให้ประธานองคมนตรีอยู่ในสภาพเสมือนเป็นองค์กรทางการเมือง[114]
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญอภัยโทษอาชญากร แม้มีเกณฑ์หลายข้อสำหรับการได้รับพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งรวมอายุและโทษที่ยังเหลืออยู่ การอภัยโทษผู้ข่มขืนกระทำชำเราและช่างภาพเปลือยเด็กชาวออสเตรเลียผู้หนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดข้อโต้เถียง[115][116][117]
ภาพลักษณ์
พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระภัทรมหาราช" หมายความว่า "พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง" ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 มีการถวายใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช"[118] และ "พระภูมิพลมหาราช" อนุโลมตามธรรมเนียมเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า "พระปิยมหาราช"
ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า "ในหลวง" ซึ่งคาดว่าย่อมาจาก "ใน (พระบรมมหาราชวัง) หลวง" หรืออาจออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า "นายหลวง" ซึ่งแปลว่า "เจ้านายผู้เป็นใหญ่"
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงออกผนวช ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ทรงสร้างพระสมเด็จจิตรลดาด้วยพระองค์เอง[119] และนอกจากนี้ยังเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงเกื้อกูล ค้ำจุนทุกศาสนาอย่างเสมอภาค[120] ทรงสนับสนุนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อใช้แปลพระคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2505
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการ[121] นอกจากนี้ยังเสด็จเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญที่สุดจนทำให้พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทย คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง[10] ซึ่งพระองค์ได้ปฏิบัติพระองค์เองเป็นแบบอย่าง โปรดให้มีการการปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิลขึ้นในสวนจิตรลดา ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการประหยัด ตัวอย่างเช่น ทรงใช้ดินสอเดือนละ 1 แท่ง หรือการใช้ยาสีพระทนต์จดหมดหลอด นอกจากนั้นยังไม่ทรงโปรดสวมเครื่องประดับใด ๆ เลย ยกเว้นแต่นาฬิกาข้อมือ[122]
พระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ โรงเรียน องค์การและมูลนิธิต่าง ๆ มากกว่า 1000 แห่ง[123] ส่วนการพักผ่อนที่ทรงสนพระราชหฤทัยคือการเสด็จไปประทับ ณ วังไกลกังวลและสุนัขทรงเลี้ยง ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือคุณทองแดง สุนัขพันธุ์ไทยซูเปอร์บาเซนจิ[124] นอกจากนี้ ภาพพระราชอิริยาบถส่วนพระองค์ยามพักผ่อนและชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นครั้งคราว เช่น การที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสวยพระกระยาหารร่วมกัน[125]
ความนิยมในพระองค์ปรากฏให้หลังเหตุจลาจลในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ปี พ.ศ. 2546 เมื่อผู้ประท้วงชาวไทยหลายร้อยคนซึ่งโกรธจากข่าวลือว่าผู้ก่อจลาจลชาวกัมพูชาย่ำพระบรมฉายาลักษณ์ ชุมนุมนอกสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาในกรุงเทพมหานคร สถานการณ์จบลงอย่างสันติก็เมื่อพลตำรวจเอก สันต์ ศรุตานนท์ บอกฝูงชนว่าเขาได้รับโทรศัพท์จากราชเลขานุการ อาสา สารสิน ถ่ายทอดว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงขอให้สงบ ฝูงชนจึงสลาย[126]
ชีวิตส่วนพระองค์
กีฬา
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทยแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อม และทรงได้รับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬา ซึ่งพระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510[127] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงออกแบบและประดิษฐ์เรือใบยามว่างหลายรุ่น พระองค์พระราชทานนามเรือใบประเภทม็อธ (Moth) ที่ทรงสร้างขึ้นว่า เรือใบมด เรือใบซูเปอร์มด และเรือใบไมโครมด ถึงแม้ว่าเรือใบลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงต่อคือ เรือโม้ค (Moke) เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 เรือใบซูเปอร์มดยังถูกใช้แข่งขันในระดับนานาชาติที่จัดในประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งสุดท้าย คือ เมื่อปี พ.ศ. 2528 ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13[128]
ดนตรี
พระองค์ทรงดนตรีได้หลายชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คราริเน็ต ทรัมเป็ต กีตาร์ และเปียโน โปรดดนตรีแจ๊สเป็นอย่างมาก และพระองค์ได้ประพันธ์หลายเพลง เช่น เพลงพระราชนิพันธ์แสงเทียน เป็นเพลงแรก สายฝน ยามเย็น ใกล้รุ่ง ลมหนาว ยิ้มสู้ ค่ำแล้ว ไกลกังวล ความฝันอันสูงสุด และเราสู้ หรือพรปีใหม่ เป็นต้น[129][130] พระองค์ทรงเคยมีกระแสพระราชดำรัสที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของดนตรี อันได้แก่ “ดนตรีทุกชนิดเป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่ง มนุษย์เกือบทั้งหมดชอบและรู้จักดนตรี ตั้งแต่เยาว์วัยคนเริ่มรู้จักดนตรีบ้างแล้ว ความรอบรู้ทางดนตรีอย่างกว้างขวางย่อมขึ้นกับเชาวน์ และสามารถในการแสดงของแต่ละคน อาศัยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าในระหว่างศิลปะนานาชนิด ดนตรีเป็นศิลปะที่แพร่หลายกว่าศิลปะอื่น ๆ และมีความสำคัญในด้านการศึกษาของประชาชนทุกประเทศด้วย” กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายหลังที่สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรเกียรติคุณชั้นสูง ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2507 โดยเป็นพระราชดำรัสตอบในภาษาเยอรมัน (ม.ล.เดช สนิทวงศ์ แปลและถ่ายทอดเป็นภาษาไทย) [131]
พระราชทรัพย์
พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของที่ดินและหุ้น โดยแบ่งออกได้เป็นส่วน ๆ ได้โดยสังเขป คือทรัพย์สินส่วนพระองค์ พระคลังข้างที่ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์อุทิศพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งเพื่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวน 4,741 โครงการ มูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพัฒนาภายในประเทศในด้านกสิกรรม เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย การส่งเสริมอาชีพ สาธารณูปโภค และการศึกษา[132]
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ส่วนใหญ่ ได้แก่ ที่ดินและหุ้น[133] โดยในปี 2550 พระองค์ทรงได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอบส์ ให้เป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีทรัพย์สินราว 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[134][135] ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ชี้แจงว่า บทความดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากว่าทรัพย์สินที่บทความนำมาประเมินนั้น ในความเป็นจริงมิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ แต่เป็นของแผ่นดิน ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นที่บทความดังกล่าวไม่ได้จัดอันดับ[136]
รถยนต์พระที่นั่ง
- มายบัค 62 สีครีม เลขทะเบียน ร.ย.ล.1 ทรงใช้เป็นรถยนต์พระที่นั่ง โดยได้จัดซื้อมาใช้ แทนรถยนต์พระที่นั่ง โรลส์-รอยซ์ แฟนทอม ซิกซ์ (VI) ที่ใช้เป็นรถยนต์พระที่นั่งทรงมานานถึง 30 ปี[125]
- มายบัค 62 สีครีม เลขทะเบียน 1ด-1992 ทรงใช้เป็นรถยนต์พระที่นั่งสำรอง[125]
- คาดิลแลค ดีทีเอส เลขทะเบียน ร.ย.ล.960 ทรงใช้ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์[125]
- มายบัค 62 สีน้ำเงิน ตัดด้วยสีทอง เลขทะเบียน 1ด-1991[125]
- โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์ T5 TDi เลขทะเบียน 1ด-3901[125]
- โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์ T5 TDi เลขทะเบียน 1ด-4901[125]
- โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์ T4 TDi เลขทะเบียน 1ด-0968[125]
การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
ทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เฉพาะที่ถือครองหุ้นเกิน 0.5% (มูลค่า ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558)
บริษัท | ถือครองโดย | จำนวนหุ้น | มูลค่า | |
---|---|---|---|---|
ชื่อ | อักษรย่อ | |||
ปูนซิเมนต์ไทย | SCC[137] | สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ | 360,000,000 | 165,600 ล้านบาท |
บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด | 19,220,000 | 8,841 ล้านบาท | ||
สำนักงานพระคลังข้างที่ | 15,473,000 | 7,117 ล้านบาท | ||
ธนาคารไทยพาณิชย์ | SCB[138] | สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ | 722,941,958 | 86,391 ล้านบาท |
บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด | 82,367,800 | 9,842 ล้านบาท | ||
ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล | MINT[139] | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | 87,689,741 | 3,178 ล้านบาท |
บริษัท สัมมากร | SAMCO[140] | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | 171,219,800 | 612 ล้านบาท |
ไทยประกันภัย | TIC[141] | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | 5,382,654 | 150 ล้านบาท |
สำนักงานพระคลังข้างที่ | 1,139,671 | 31 ล้านบาท | ||
อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง |
AMARIN[142] | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | 3,157,895 | 31 ล้านบาท |
เครือโรงแรมดุสิตธานี | DTC[143] | สำนักงานพระคลังข้างที่ | 495,000 | 34 ล้านบาท |
ซิงเกอร์ประเทศไทย | SINGER[144] | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | 1,383,770 | 12 ล้านบาท |
มูลค่ารวม | 281,845 ล้านบาท |
พระพุทธรูปประจำพระองค์
พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ภายใต้ฉัตร 5 ชั้น หน้าตักกว้าง 7 นิ้ว ความสูงยอดพระรัศมี 9 นิ้ว ทรงพัดแฉก หล่อด้วยเงิน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2506 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม[145]
ส่วนพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ตั้งการฉลองสมโภชพระพุทธรูปประจำประชนมวาร ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[146] เมื่อเสร็จการแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ประดิษฐานไว้กับพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร ปัจจุบันอัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชพิธีสงกรานต์ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นปางประจำวันจันทร์[147]
พระราชกรณียกิจ
ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี
พ.ศ. 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่หลังจากที่ได้เลิกร้างไปตั้งแต่ พ.ศ. 2479[148] และประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคก็ได้รับการฟื้นฟูเป็นครั้งแรกเพื่อถวายผ้าพระกฐิน[45][46]
ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย สถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ การดนตรีและศิลปะอื่น ๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดทำโน้ตเพลงไทยตามระบบสากลและจัดพิมพ์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยหาระดับเฉลี่ยมาตรฐานของเครื่องดนตรีไทย ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย[149]
ด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชนิพนธ์บทความ แปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เรื่อง ทองแดง เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น[150]
ด้านการพัฒนาชนบท
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ตลอดรัชสมัยไปกับการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2497[151] โดยเฉพาะในแทบที่ชนบททุรกันดาร เพื่อทรงเยี่ยมเยียน ซักถามเรื่องความเป็นอยู่และสารทุกข์สุกดิบของประชาชน นอกจากนี้พระองค์จะทรงศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองด้วยแผนที่หรือเอกสารต่าง ๆ ทำให้ทรงรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากนั้นพระองค์ก็จะทรงคิดค้นแนวทางพระราชดำริเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆในแต่ละพื้นที่[152]
พระองค์จะทรงพัฒนาชนบทในรูปโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจุดประสงค์ คือ การพัฒนาบทเพื่อให้ราษฎรในชนบทได้มีความเป็นอยู่ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงครอบครัวให้ดีขึ้น[153] แนวพระราชดำริที่สำคัญในเรื่องการพัฒนาชนบท คือมีพระราชประสงค์ช่วยให้ชาวชนบทสามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ โดยการสร้างพื้นฐานหลักที่จำเป็นต่อการผลิตให้แก่ราษฎรเหล่านั้น[154] ทรงส่งเสริมให้ชาวชนบทมีความรู้ในการประกอบอาชีพตามแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ยังทรงหาทางนำเอาวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์กับภูมิปัญญาชาวบ้าน[155]
ด้านการเกษตรและชลประทาน
ในด้านชลประทาน พระองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยทรงคิดค้นโครงการตามพระราชดำริของพระองค์ มีทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสีย เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พระองค์ได้ทรงวิจัยและริเริ่มโครงการฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน[156] เมื่อคราวเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2538 พระองค์มีพระราชดำริเรื่องแก้มลิง ควบคุมการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ลำคลองต่าง ๆ ลงสู่อ่าวไทย[157] พระองค์ทรงประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ กังหันน้ำชัยพัฒนา ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจน เป็นสิ่งประดิษฐ์หนึ่งของพระองค์ที่ได้รับสิทธิบัตรจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์[158]
ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ตลอดจนการศึกษาแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง [159] นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรควรมีรายได้จากกิจกรรมอื่นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง[160] พระองค์ยังทรงคิดค้นการแก้ปัญหาทรัพยากรทางการเกษตรหลายอย่างที่สำคัญ เช่น การแกล้งดิน เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวหรือดินเป็นกรด จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ การปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ[161] พระองค์ทรงส่งเสริมการเลี้ยงปลานิล ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ขยายโครงการเพาะเลี้ยงและเผยแพร่พันธุ์ปลานิล เพื่อความยั่งยืนด้านอาหารให้แก่ประเทศโมซัมบิก ในช่วงปีที่ผ่านมา [162] ทรงจัดตั้งโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อวิจัยพันธุ์ข้าว พันธุ์พืชและปศุสัตว์ รวมถึงการการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การผลิตเอทานอล แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล[163]
ด้านการแพทย์
โครงการของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในระยะแรกล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข[164] ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่าง ๆ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และล้วนเป็นอาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์พร้อมให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้[165]
นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทานซึ่งเป็นพระราชดำริให้ทันตแพทย์อาสาสมัครเดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันโดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทางไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย[166][167]
ด้านการศึกษา
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพระราชทานทุนแก่นิสิตนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นในด้านต่าง ๆ ให้นิสิตนักศึกษาเหล่านั้นได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้วิชาการชั้นสูงในต่างประเทศ และนำความรู้นั้นกลับมาใช้พัฒนาบ้านเมือง [168]
ส่วนในประเทศพระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์ในด้านต่าง ๆ เช่น พระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนของโรงเรียน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์มีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดการบริหารทางการศึกษา แบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในลักษณะทั้งอยู่ประจำและไปกลับ[168]แบ่งเป็น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 26 โรงเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 14 โรงเรียน[168]
พระองค์ยังได้จัดสร้างมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯเพื่อเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ในวิชาการทุกสาขา ได้จัดทำหนังสือสารานุกรมไทยที่บรรจุความรู้ใน 7 สาขาวิชา โดยแต่ละเล่มได้จัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ตามพื้นฐานของตน[169]
นอกจากนี้ตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เหล่านิสิตผู้สำเร็จการศึกษา[170]
ด้านการต่างประเทศ
ในระหว่างปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวม 27 ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้นให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและเพื่อนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปมอบให้กับประชาชนในประเทศต่าง ๆ โดยเสด็จเยือนประเทศเวียดนามใต้ อย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรก อีกหนึ่งประเทศสำคัญที่พระองค์ได้เสด็จเยือนในช่วงเวลาดังกล่าวคือสหรัฐ โดยในการเสด็จสหรัฐครั้งนั้น ทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ขบวนพาเหรดของพระองค์ในนครนิวยอร์กมีผู้เฝ้าชมพระบารมีกว่า 750,000 คน นอกจากนี้ พระองค์ยังได้มีพระราชดำรัสต่อรัฐสภาสหรัฐแสดงจุดยืนว่าอเมริกาเป็นมหามิตรของไทย [171] ซึ่งหลังจากการเสด็จเยือนประเทศแคนาดา เมื่อปี พ.ศ. 2510 พระองค์ก็มิได้เสด็จเยือนประเทศไหนอีกเลย กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2537 เสด็จเยือนประเทศลาว ซึ่งนับเป็นการเสด็จเยือนต่างประเทศเป็นครั้งสุดท้ายของพระองค์[172]
ในภายหลังพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินออกให้การต้อนรับราชอาคันตุกะจากประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยหลายครั้ง ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้บรรดาทูตานุทูตเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสาส์นตราตั้งในการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทยและถวายบังคมทูลลาเมื่อครบวาระ รวมทั้งพระองค์จะมีพระราชสานส์ถึงผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั้งการแสดงความยินดีและแสดงความเสียพระราชหฤทัย[173]
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายในประเทศทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและแก้ไขปัญหาระยะยาว[174]ทรงเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495[175] ตลอดรัชสมัยมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด 4,741 โครงการ[176] โดยมีหน่วยงานราชการ[177]ที่ประสานงานโครงการ คือ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โดยแต่ละโครงการจะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป โครงการเพื่อการส่งเสริมและวิจัย เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิโครงการหลวง, โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการเกี่ยวกับน้ำ เช่น โครงการแก้มลิง, โครงการฝนหลวง, กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการเกี่ยวกับการเกษตร เช่น โครงการแกล้งดิน โครงการอื่น ๆ เช่น มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะแถบชนบท[178] นอกจากนี้โครงการหลวงยังได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขา Peace and International Understanding เมื่อ พ.ศ. 2531 อีกด้วย[179][180]
พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ
ธรรมเนียมพระยศของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | |
---|---|
พระราชลัญจกร | |
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
ธงประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้าขอรับ/เพคะ |
พระบรมราชอิสริยยศ
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)
- สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489)
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493)[181]
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559)
ภายหลังการสวรรคต
- พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[182]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่แผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และตามรัฐธรรมนูญของไทยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งปวง โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระองค์ได้รับ มีดังนี้
- พ.ศ. 2505 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ (ร.ม.ภ.)
- พ.ศ. 2481 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายหน้า)[183]
- พ.ศ. 2489 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2489 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.)
- พ.ศ. 2489 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 เสนางคะบดี (ส.ร.)
- พ.ศ. 2489 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2489 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2534 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
- พ.ศ. 2530 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
- พ.ศ. 2500 – เหรียญกล้าหาญ (ร.ก.)[184]
- พ.ศ. 2489 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))
- พ.ศ. 2512 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 (ส.ช.)
- พ.ศ. 2497 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)
- พ.ศ. 2489 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2507 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1
- พ.ศ. 2481 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1 (อ.ป.ร.1)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. 2475 – เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
- พ.ศ. 2489 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
ประเทศ | ปีที่ได้รับ | ชื่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ | แพรแถบย่อ |
---|---|---|---|
สวีเดน | 2493[185] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซราฟีม | |
กัมพูชา | 2497[186] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระราชอาณาจักรกัมพูชา ชั้นมหาเสรีวัฒน์ | |
เวียดนามใต้ | 2502[187] | เครื่องอิสริยาภรณ์คิมคานห์ ชั้นที่ 1 | |
พม่า | 2503 | เครื่องอิสริยาภรณ์สิริสุธรรมะ ชั้นอัครมหาสิริสุธรรมะ | |
เยอรมนี | 2503[188] | เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ชั้นประถมาภรณ์ | |
อาร์เจนตินา | 2503 | เครื่องอิสริยาภรณ์นายพลซานมาร์ตินผู้ปลดปล่อย ชั้นประถมาภรณ์ | |
สหรัฐ | 2503[189] | ลีเจียนออฟเมอริต ชั้นหัวหน้าผู้บัญชาการ | |
บริเตนใหญ่ | 2503 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์รอยัลวิกตอเรียนเชน | |
โปรตุเกส | 2503[190] | สายสะพายแห่งสามเครื่องเสนาอิสริยาภรณ์ | |
เดนมาร์ก | 2503[191] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไอยรา | |
นอร์เวย์ | 2503 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญโอลาฟ ชั้นประถมาภรณ์ | |
อิตาลี | 2503[192][193] | เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสาธารณรัฐอิตาลี ชั้นสูงสุด | |
นครรัฐวาติกัน | 2503[194] | เครื่องอิสริยาภรณ์ปิอุสที่ 9 ชั้นสายสร้อย | |
เบลเยียม | 2503 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์เลโอโปลด์ ชั้นประถมาภรณ์ | |
ฝรั่งเศส | 2503[195] | เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นประถมาภรณ์ | |
ลักเซมเบิร์ก | 2503 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์สิงโตทองแห่งราชวงศ์นัสเซา | |
เนเธอร์แลนด์ | 2503 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์สิงโตเนเธอร์แลนด์ ชั้นประถมาภรณ์ | |
สเปน | 2503[196] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์กิตติคุณฝ่ายพลเรือน ชั้นสายสร้อย | |
สเปน | 2503 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์อิซเบลลาชาวคาทอลิก ชั้นสายสร้อย | |
อินโดนีเซีย | 2504[197] | เครื่องอิสริยาภรณ์ดาราแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ชั้นอธิปุรณา | |
บราซิล | 2504 | เครื่องอิสริยาภรณ์ดาวกางเขนใต้ ชั้นสายสร้อย | |
ปากีสถาน | 2505 | เครื่องอิสริยาภรณ์แห่งปากีสถาน | |
มาเลเซีย | 2505[198][199] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎแห่งราชอาณาจักร | |
ญี่ปุ่น | 2506[200] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงส่งยิ่งดอกเบญจมาศ ชั้นสังวาล | |
ไต้หวัน | 2506[201] | เครื่องอิสริยาภรณ์หยกเจิดจรัส | |
กรีซ | 2506 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์ผู้ไถ่บาป ชั้นสายสร้อย | |
ลาว | 2506[202] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาว ชั้นประถมาภรณ์ | |
ลาว | 2506[203] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎขัตติยาภรณ์ ชั้นประถมาภรณ์ | |
ฟิลิปปินส์ | 2506[204] | เครื่องอิสริยาภรณ์ซิกาตูนา ชั้นสายสร้อย | |
ออสเตรีย | 2507[205] | เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ชั้นมหาดารา | |
เกาหลีใต้ | 2509[206] | เครื่องอิสริยาภรณ์มูกูฮวา | |
จักรวรรดิอิหร่าน | 2510[207] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชวงศ์ปาห์ลาวี | |
เอธิโอเปีย | 2511[208] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชินีชีบา | |
ฟิลิปปินส์ | 2511[209] | ลีเจียนออฟออเนอร์ ชั้นหัวหน้าผู้บัญชาการ | |
เม็กซิโก | 2514 | เครื่องอิสริยาภรณ์นกอินทรีแอซเท็ก ชั้นสายสร้อย | |
ยูโกสลาเวีย | 2522 | เครื่องอิสริยาภรณ์ดารายูโกสลาฟ | |
เกาหลีใต้ | 2524[210] | เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณสำหรับการสร้างชาติ ชั้นที่ 1 | |
ชิลี | 2524 | เครื่องอิสริยาภรณ์คุณธรรม ชั้นสายสร้อย | |
เนปาล | 2529 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์เนปาล ประตาป ภาสกระ | |
สเปน | 2530[211] | เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระเจ้าการ์โลสที่ 3 ชั้นสายสร้อย | |
บรูไน | 2533 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎแห่งบรูไน | |
ลาว | 2535[212] | เครื่องอิสริยาภรณ์โพธิ์ชัยล้านช้าง | |
เช็กเกีย | 2537 | เครื่องอิสริยาภรณ์ราชสีห์ขาว ชั้นที่ 1 | |
แอฟริกาใต้ | 2538 | เครื่องอิสริยาภรณ์กู๊ดโฮป ชั้นประถมาภรณ์ | |
เปรู | 2539[213] | เครื่องอิสริยาภรณ์พระอาทิตย์แห่งเปรู ชั้นประถมาภรณ์ | |
ฟินแลนด์ | 2539 | เครื่องอิสริยาภรณ์กุหลาบขาวแห่งฟินแลนด์ ชั้นประถมาภรณ์ (พร้อมสายสร้อย) | |
โปรตุเกส | 2542 | เครื่องอิสริยาภรณ์อิงฟังตึ เด. เอ็งรีกึ ชั้นสายสร้อย | |
โรมาเนีย | 2543[214] | เครื่องอิสริยาภรณ์ดาราแห่งโรมาเนีย | |
สเปน | 2549 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำ (สเปน) |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ภายใต้สุลต่านแห่งมาเลเซีย
รัฐ | ปีที่ได้รับ | ชื่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ | แพรแถบย่อ |
---|---|---|---|
รัฐเซอลาโงร์ | 2542 | เครื่องอิสริยาภรณ์ราชวงศ์สลังงอร์ ชั้นที่ 1 | |
รัฐตรังกานู | 2552 | เครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชวงศ์ตรังกานู |
รางวัล
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและเกียรติยศต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากบุคคลและคณะบุคคลในประเทศและต่างประเทศ อันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจและพระราชอัธยาศัยในการแสวงหาความรู้ ที่สำคัญเป็นต้นว่า
- ประธานรัฐสภายุโรปและสมาชิกร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวาย "เหรียญรัฐสภายุโรป" (19 กรกฎาคม พ.ศ. 2519)[215]
- ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อสันติภาพของสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ ทูลเกล้าฯ ถวาย "รางวัลสันติภาพ" (9 กันยายน พ.ศ. 2529)[215]
- สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ทูลเกล้าฯ ถวาย "เหรียญทองเฉลิมพระเกียรติคุณในการนำชนบทให้พัฒนา" (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2530)[215]
- ผู้อำนวยการใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย "เหรียญทองประกาศพระเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม" (4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535)[215]
- ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ทูลเกล้าฯ ถวาย "เหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน" (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535)[215]
- คณะกรรมการสมาคมนิเวศวิทยาเชิงเคมีสากล (International Society of Chemical Ecology) ทูลเกล้าฯ ถวาย "เหรียญรางวัลเทิดพระเกียรติในการสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ" (26 มกราคม พ.ศ. 2536)[215]
- หัวหน้าสาขาเกษตร ฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชียของธนาคารโลก ทูลเกล้าฯ ถวาย "รางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด" สดุดีพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและน้ำ (30 ตุลาคม พ.ศ. 2536)[215]
- ผู้อำนวยการบริหารของยูเอ็นดีซีพี (UNDCP) แห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย "เหรียญทองคำสดุดีพระเกียรติคุณด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด" (12 ธันวาคม พ.ศ. 2537)[215]
- องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวาย "เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณในด้านการพัฒนาการเกษตร" (6 ธันวาคม พ.ศ. 2539)[215]
- สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย "รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์" จากการที่ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและทรงพระวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาตลอดพระชนม์ชีพ (26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549)[216]
- ในปี พ.ศ. 2550 องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) แถลงข่าวการทูลเกล้าฯ ถวาย "เหรียญรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา" (Global Leaders Award)[217] โดยนายฟรานซิส เกอร์รี่ ผู้อำนวยการใหญ่เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ณ พระราชวังไกลกังวล ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552 เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงมีบทบาทและผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่โดดเด่น และพระองค์ทรงเป็นผู้นำโลกคนแรกที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลดังกล่าว[218]
- วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555 สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences-IUSS) นำโดยอดีตเลขาธิการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist)[219] เป็นพระองค์แรกของโลก[220]
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเป็นผู้ที่ได้รับมอบถวายปริญญากิตติมศักดิ์มากเป็นสถิติโลกถึง 176 ฉบับ [221]ใน พ.ศ. 2555[222] โดยทรงได้รับมอบถวายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่
พระยศทหาร
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | |
---|---|
รับใช้ | ไทย |
แผนก/ | กองทัพบกไทย กองทัพเรือไทย กองทัพอากาศไทย |
ประจำการ |
|
ชั้นยศ |
พระบรมราชานุสรณ์
พระราชสันตติวงศ์
พระปรมาภิไธย/พระนาม | พระราชสมภพ/ประสูติ | เสกสมรส | พระราชบุตร/พระบุตร | พระราชนัดดา/พระนัดดา | |
---|---|---|---|---|---|
ช่วงปี | คู่สมรส | ||||
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี | 5 เมษายน พ.ศ. 2494 | 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 หย่า พ.ศ. 2541 |
ปีเตอร์ แลดด์ เจนเซน | ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน เจนเซน | แม็กซิมัส วีลเลอร์ |
ลีโอนาร์โด วีลเลอร์ | |||||
อเล็กซานดรา วีลเลอร์ | |||||
คุณพุ่ม เจนเซน | |||||
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน | |||||
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 | 3 มกราคม พ.ศ. 2520 หย่า 12 สิงหาคม พ.ศ. 2534 |
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ | สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา | |
พ.ศ. 2537 หย่า พ.ศ. 2539 |
สุจาริณี วิวัชรวงศ์ | จุฑาวัชร วิวัชรวงศ์ | |||
วัชรเรศร วิวัชรวงศ์ | |||||
จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ | |||||
วัชรวีร์ วิวัชรวงศ์ | |||||
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา | |||||
10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 หย่า 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557 |
ศรีรัศมิ์ สุวะดี | สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร | |||
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 | สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี | ||||
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | 2 เมษายน พ.ศ. 2498 | มิได้อภิเษกสมรส | |||
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี | 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 | 7 มกราคม พ.ศ. 2525 หย่า พ.ศ. 2539 |
วีระยุทธ ดิษยะศริน | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ | |
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ |
พงศาวลี
พงศาวลีของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
แผนผัง
(1) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(2) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(3) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว | (4) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าปิ๋ว | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส | (5) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ | สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ | กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ | (6) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ | สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา | สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย | (7) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(8) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | (9) พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(10) พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ดูเพิ่ม
เชิงอรรถ
- ↑ อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ยกเลิกไปหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 "A Royal Occasion speeches". Worldhop.com Journal. 1996. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-12. สืบค้นเมื่อ 5 July 2006.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "Thailand's King Bhumibol Adulyadej, world's longest-reigning monarch, dies". The Hindu. Reuters. 13 October 2016. สืบค้นเมื่อ 14 October 2016. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "autogenerated1" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน - ↑ Redmond, Brien (13 October 2016). "Thailand's King Bhumibol Dies, Triggering Anguish and Fears of Unrest". The Daily Beast. สืบค้นเมื่อ 14 October 2016.
- ↑ Aphornsuvan, Thanet (2004), "Bhumibol Adulyadej", Southeast Asia: A Historical Encyclopedia, From Angkor Wat to East Timor, ABC-CLIO, p. 232
- ↑ Nimanandh, Kongphu; Andrews, Tim G. (2009), "Socio-cultural context", The Changing Face of Management in Thailand, Taylor & Francis, p. 73
- ↑ 6.0 6.1 "News". UK: BBC. 5 December 2007. สืบค้นเมื่อ 3 February 2010.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help);|contribution=
ถูกละเว้น (help) - ↑ Handley, Paul M. (2006). The King Never Smiles. Yale University Press. pp. 136–137. ISBN 0-300-10682-3.
- ↑ Thak Chaloemtiarana (1979). Thailand: The Politics of Despotic Paternalism. Social Science Association of Thailand. p. 98.
- ↑ "Royal Birthday Address: 'King Can Do Wrong'". National Media. 5 December 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
- ↑ 10.0 10.1 UN Secretary-General office. THAI KING’S DEVELOPMENT AGENDA, VISIONARY THINKING INSPIRATION TO PEOPLE EVERYWHERE, SAYS SECRETARY-GENERAL TO BANGKOK PANEL
- ↑ * Serafin, Tatiana (17 June 2009). "The World's Richest Royals". Forbes.
- Tatiana Serafin, "The world’s richest royals เก็บถาวร 2013-01-02 ที่ archive.today", Forbes, 7 July 2010.
- "The World's Richest Royals". Forbes. Forbes LLC. 29 April 2011. สืบค้นเมื่อ 26 January 2014.
- Joshua Kurlantzick (24 January 2012). "Forbes Looks into the King of Thailand's Wealth". Council on Foreign Relations. Council on Foreign Relations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-03. สืบค้นเมื่อ 26 January 2014.
- "The Top 10 Richest Royals in the World". The Richest. CelebrityNetWorth.com. 25 August 2013. สืบค้นเมื่อ 26 May 2014.
- ↑ Chris Kohler (24 April 2014). "The business of royalty: The five richest monarchs in the world". Business Spectator. Business Spectator Pty Ltd. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-05. สืบค้นเมื่อ 6 May 2014.
- ↑ The Crown Property Bureau – Youth Development เก็บถาวร 2012-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ถูกบันทึกไว้ 10 สิงหาคม 2554 ที่ WebCite
- ↑ Some information about HM King Bhumibol Adulyadej เก็บถาวร 2011-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[ลิงก์เสีย]
- ↑ "THE MAKING of a MONARCH" (Press release) (ภาษาอังกฤษ). Bangkok Post. 5 ธันวาคม พ.ศ. 2005. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2012.
{{cite press release}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 16.0 16.1 16.2 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา. เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์. กรุงเทพ : ซิลค์เวอร์ม บุคส์, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549. 450 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7047-55-1
- ↑ "The Illustrious Chakri Family". Tudtu. สืบค้นเมื่อ 2006-08-13.
- ↑ Wimuttanon, Suvit (ed.) (2001). Amazing Thailand (special collector's edition). World Class Publishing. pp. Page 33. ISBN 974-91020-3-7.
{{cite book}}
:|author=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Biography of His Majesty King Bhumibol Adulyadej(อังกฤษ)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระเกียรติยศพระราชปิตุจฉา พระเชษฐภคินี และพระอนุชา เก็บถาวร 2011-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๒, ตอน ๐ง, ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘, หน้า ๑๑๗๘
- ↑ "Biography of His Majesty King Bhumibol Adulyadej". The Golden Jubilee Network. Kanchanapisek Network. 1999. สืบค้นเมื่อ 2006-08-05.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์, เล่ม๖๓, ตอน ๓๙ ก ฉบับพิเศษ, ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙, หน้า ๔
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-04-11. สืบค้นเมื่อ 2018-08-13.
- ↑ พฤฒสภา_(ขัตติยา_ทองทา)[ลิงก์เสีย]
- ↑ ภปร., พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2511, ไม่มีเลขหน้า.
- ↑ "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้" กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ แม้วันนี้ก็ยังทรงไม่ละทิ้งพสกนิกรตามสัญญา ข่าววาไรตี้ สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2560
- ↑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์", วงวรรณคดี (สิงหาคม 2490).
- ↑ "Bhumibol Adulyadej". The Encyclopedia of Asian History the Asia Society 1988. Asia Source. 1988. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-24. สืบค้นเมื่อ 2007-09-25.
- ↑ 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 ใจจริง, ณัฐพล (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (1 ed.). ฟ้าเดียวกัน. ISBN 9786167667188.
- ↑ "A Royal Romance". Srinai Tripod.com. สืบค้นเมื่อ 2006-07-12.
- ↑ "The Making of a Monarch". Bangkok Post. December 5, 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-15. สืบค้นเมื่อ 2006-07-12.
- ↑ Handley, Paul M. (2006). The King Never Smiles. Yale University Press, Page 104. ISBN 0-300-10682-3.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พุทธศักราช ๒๔๙๓, เล่ม ๖๗, ตอน ๒๓ง, ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๑๖๙๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี (ทรงสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าราชินีสิริกิติ์ พระบรมราชินี), เล่ม 67, ตอน 26 ก ฉบับพิเศษ, 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493, หน้า 10
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๑๕/๒๔๙๙ พระราชพิธีผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙, เล่ม ๗๓, ตอน ๘๔ ง, ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๓๑๘๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่ผนวช เก็บถาวร 2011-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 73, ตอน 76 ก, 25 กันยายน พ.ศ. 2499, หน้า 1035
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเฉลิมพระอภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, เล่ม 73, ตอน 103 ก, 11 ธันวาคม พ.ศ. 2499, หน้า 1640
- ↑ สิทธิพล เครือรัฐติกาล (2015). สถาบันพระมหากษัตริย์กับนโยบายต่างประเทศของไทยยุคสงครามเย็น. ฟ้าเดียวกัน. pp. Page ปีที่ 6 ฉบับที่ 4 น.163.
- ↑ Handley, Paul M. (2006). The King Never Smiles. Yale University Press. pp. Page 129–130, 136–137. ISBN 0-300-10682-3.
- ↑ Thak Chaloemtiarana (1979). Thailand: The Politics of Despotic Paternalism. Social Science Association of Thailand. pp. Page 98.
- ↑ Thak Chaloemtiarana (1979). Thailand: The Politics of Despotic Paternalism. Social Science Association of Thailand, Page 98. (อังกฤษ)
- ↑ Suwannathat-Pian, Kobkua (1995). Thailand's Durable Premier. Oxford University Press. pp. Page 30. ISBN 967-65-3053-0.
- ↑ Suwannathat-Pian, Kobkua (1995). Thailand's Durable Premier. Oxford University Press, Page 30. ISBN 967-65-3053-0. (อังกฤษ)
- ↑ พระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกษาทั่วราชอาณาจักร. (2500, 16 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่มที่ 74, ตอน 76). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: Link. (4 มิถุนายน 2551).
- ↑ 45.0 45.1 Evans, Dr. Grant (1998). "The Politics of Ritual and Remembrance: Laos since 1975". Laosnet.org. สืบค้นเมื่อ 5 July 2006.
{{cite web}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|coauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|author=
) (help) - ↑ 46.0 46.1 Evans, Dr. Grant (1998). The Politics of Ritual and Remembrance: Laos since 1975. University of Hawaii Press. pp. 89–113. ISBN 0-8248-2054-1.
- ↑ Klinkajorn, Karin. "Creativity and Settings of Monuments and Sites in Thailand: Conflicts and Resolution" (PDF). International Council on Monuments and Sites. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-07-23. สืบค้นเมื่อ 5 July 2006.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพ เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 77 ตอน 43 24 พฤษภาคม 2503 หน้า 1452
- ↑ 49.0 49.1 Thongthong Chandrangsu, A Constitutional Legal Aspect of the King's Prerogatives (M.A. thesis) Chulalongkorn University, 1986, page 160
- ↑ 50.0 50.1 Sripokangkul, Siwach (2019). "Understanding the Social Environment Determinants of Student Movements: A Consideration of Student Activism in Thailand And The Thai "Social Cage"". IJPAS. 15 (1).
- ↑ เจียมธีรสกุล, สมศักดิ์ (2544). ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก. ISBN 9745728772.
- ↑ ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. (2544). กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ต.ค 2519. หน้า 70-71.
- ↑ Thongchai Winichakul (2002). "Remembering/ Silencing the Traumatic Past". In Shigeharu Tanabe and Charles F. Keyes eds., Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos. Honolulu: University of Hawaii Press.
- ↑ Haberkorn, Tyrell (2017). "The Anniversary of a Massacre and the Death of a Monarch" (PDF). The Journal of Asian Studies. 76 (2): 269. doi:10.1017/S0021911817000018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 3 April 2020.
- ↑ อึ๊งภากรณ์, ใจ; ยิ้มประเสริฐ, สุธาชัย; และคณะ (2544). อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง (PDF). คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. ISBN 9748858626. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-08-12.
- ↑ เผยพระราชดำรัส 'รัชกาลที่9' ประกอบ MV เพลงสรรเสริญพระบารมี
- ↑ "His Gracious Majesty". The Nation. 2 February 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-13. สืบค้นเมื่อ 25 September 2007.
- ↑ "พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีประดับยศนายทหารชั้นนายพล ณ พระที่นั่งบรมพิมาน วันอังคาร ที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๙" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-12-30.
- ↑ คดีพยายามลอบปลงพระชนม์ ร.๙ และพระราชินี คดีประวัติศาสตร์, บุญร่วม เทียมจันทร์ 2555[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
- ↑ “เราสู้” หลัง 6 ตุลา
- ↑ กบฏฮาวายเก็บถาวร 2020-11-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แก้ไขเมื่อ 20 ส.ค. 2561
- ↑ Michael Schmicker, Asian Wall Street Journal, 23 December 1982
- ↑ สุลักษณ์ ศิวรักษ์, "ลอกคราบสังคมไทย", กรุงเทพฯ: หนังสือไทย, 2528
- ↑ Anonymous, "The Chakri Dynasty and Thai Politics, 1782–1982", cited in Handley, Paul M. (2006). The King Never Smiles. Yale University Press. pp. 298. ISBN 0-300-10682-3.
- ↑ "Development Without Harmony". Southeast Asian Ministers of Education Organization. 2000. สืบค้นเมื่อ 2007-09-26.
- ↑ "Development Without Harmony". Southeast Asian Ministers of Education Organization. 2000. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
- ↑ William Stevenson, Robinson (2001). The Revolutionary King: the True-Life Sequel to the King and I. p. 225.
- ↑ "BIOGRAPHY of Chamlong Srimuang". The 1992 Ramon Magsaysay Award for Government Service. Ramon Magsaysay Award Foundation. 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
- ↑ "Coup as it unfolds". The Nation. September 20, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-09-25.
- ↑ McGeown, Kate (September 21, 2006). "Thai king remains centre stage". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2007-09-25.
- ↑ ประกาศ แต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากวิกิซอร์ซ
- ↑ McGeown, Kate (21 September 2006). "Thai king remains centre stage". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2007-09-25.
- ↑ การพระราชทานสัมภาษณ์ เก็บถาวร 2013-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในรายการ "วู้ดดี้ เกิดมาคุย"
- ↑ "Thai coup: Leader Gen Prayuth receives royal endorsement". BBC. 2014-05-26. สืบค้นเมื่อ 2014-05-26.
- ↑ "Thailand coup gets King Adulyadej approval as junta dissolves senate". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 25 May 2014.The Guardian ใช้คำว่า 'approval' รับรอง และ 'royal backing' ในความหมายถึงการสนับสนุน
- ↑ "สาเหตุโรคพระหทัยของในหลวง: ในหลวงของฉัน". แนวหน้า. 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2558.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ Female First,King Bhumibol to remain in hospital, 12 August 2010
- ↑ "ปีติในหลวง-ราชินีเสด็จประทับวังไกลกังวล แพทย์เผยพระอาการปกติ". แนวหน้า. 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ ""ในหลวง-ราชินี" เสด็จฯ กลับเข้าประทับ รพ.ศิริราช อีกครั้ง". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-01. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "แถลงการณ์ฉบับที่5พระอาการ'ในหลวง'". คมชัดลึก. 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-15. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "'ในหลวง'เสด็จฯ กลับไกลกังวล". คมชัดลึก. 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ ""ในหลวง"เสด็จ"รพ.ศิริราช" แพทย์ถวายตรวจพระอาการ". เดลินิวส์. 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "ลำดับแถลงการณ์ประชวรในหลวง ร.9". เดลินิวส์. 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ ""ในหลวง"พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้พิพากษา-อัยการเฝ้าฯ ถวายสัตย์ก่อนเข้ารับหน้าที่". ประชาชาติ. 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "'ในหลวง'เสด็จฯ สวนจิตรลดา". คมชัดลึก. 11 มกราคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "แถลงการณ์พระอาการ "ในหลวง" ฉบับที่ 36". มติชน. 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "แถลงฉบับที่ 37-พระอาการ "ในหลวง" คณะแพทย์เฝ้าติดตามถวายการรักษาใกล้ชิด". ข่าวสด. 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "แถลงการณ์ ฉ.38 ในหลวงพระโลหิตติดเชื้อ พระอาการไม่คงที่ ถวายรักษาใกล้ชิด". ไทยรัฐ. 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ ประกาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต[ลิงก์เสีย], สำนักพระราชวัง, เข้าถึงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559
- ↑ วิษณุ ชี้ เริ่มรัชสมัยรัชกาลใหม่ตั้งแต่ 13 ต.ค. พระราชพิธีราชาภิเษกทำหลังการถวายพระเพลิง, มติชน, เข้าถึงวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต,ราชกิจจานุเบกษา, เข้าถึงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559
- ↑ การพิจารณากำหนดวันหยุดราชการประจำปีเพิ่ม (นร ๐๕๐๗/ว ๑๗๘)[ลิงก์เสีย]
- ↑ ครม.เห็นชอบวันถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร. 9 บีบีซีไทย, เข้าถึงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
- ↑ "ประกาศสถาปนา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (15ข): 1. 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-05. สืบค้นเมื่อ 2019-05-05.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "ประกาศ เรื่อง พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย คำอ่าน และสรรพนาม คำขึ้นต้น คำลงท้าย ในการกราบบังคมทูล กราบทูล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (177 ง): 1. 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-11. สืบค้นเมื่อ 2019-05-19.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง การกำหนดวันสำคัญของชาติไทย (วันที่ ๕ ธันวาคม)
- ↑ "ครม.เห็นชอบประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น'วันนวมินทรมหาราช'". แนวหน้า. 26 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "มติ ครม.ยกเลิกวันหยุด 5 พ.ค. เพิ่ม 28 ก.ค.และ 13 ต.ค.เป็นวันหยุดราชการ". ไทยพีบีเอส. 2017-04-11. สืบค้นเมื่อ 2023-09-26.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Doherty, Ben (15 October 2009). "Fears for Thai monarch set stockmarket tumbling for second day". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 13 April 2010.
- ↑ "กฎหมายไทย โดย กฎหมายดอตคอม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-18. สืบค้นเมื่อ 2012-07-06.
- ↑ "พระบรมราโชวาท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-01. สืบค้นเมื่อ 2012-07-06.
- ↑ ชิตบัณฑิตย์, ชนิดา. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (1 ed.). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 9789748278575.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพ เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 77 ตอน 43 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 หน้า 1452
- ↑ "BIOGRAPHY of Chamlong Srimuang". The 1992 Ramon Magsaysay Award for Government Service. Ramon Magsaysay Award Foundation. 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14. สืบค้นเมื่อ 26 September 2007.
- ↑ The Revolutionary King: the True-life Sequel to the King and I |page=225
- ↑ ย้อนรอย รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 “ปรากฏการณ์” และ “เบื้องลึก”[ลิงก์เสีย]
- ↑ * ABC News, Thai power base useless in bridging social divide, 28 November 2008
- International Herald Tribune, Thai protesters gird for a crackdown เก็บถาวร 2008-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 28 November 2008
- Reuters, Q+A-Thailand's intractable political crisis, 27 November 2008
- Asia Times, More turmoil in beleaguered Bangkok เก็บถาวร 2009-04-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 November 2008
- Reuters, Welcome to Bangkok airport – no passport needed, 29 November 2008
- 'The Australian, Embarrassed citizens plan retaliation เก็บถาวร 2008-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1 December 2008
- MSNBC, Thailand's Political Maze—A Beginners Guide เก็บถาวร 2009-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 26 November 2008
- ↑ "'My govt serves His Majesty'". The Nation. 9 September 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-09. สืบค้นเมื่อ 14 August 2006.
- ↑ "Senate steers clear of motion on Jaruvan". The Nation. 11 October 2005. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-28. สืบค้นเมื่อ 14 August 2006.
- ↑ 110.0 110.1 "ต้องหยุดยั้งการละเมิดในหลวง!". ASTV ผู้จัดการ. 17 พ.ค. 2548. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 15 มิ.ย. 2558.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Handley, Paul M. (2006).