วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

วัดในกรุงเทพมหานคร
(เปลี่ยนทางจาก วัดบวรนิเวศวิหาร)

วัดบวรนิเวศวิหาร (เดิมชื่อว่า วัดใหม่) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สถาปนาขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3[2]

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบวรนิเวศวิหาร
ที่ตั้งต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1]
นิกายเถรวาท ธรรมยุติกนิกาย
พระประธานพระพุทธชินสีห์ พระสุวรรณเขต พระศรีศาสดา
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิรรังษี (จิรพล อธิจิตฺโต)
ความพิเศษวัดประจำรัชกาลที่ 6 [ต้องการอ้างอิง] และรัชกาลที่ 9 [ต้องการอ้างอิง]
เว็บไซต์https://www.facebook.com/WatBovoranivesVihara
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดบวรนิเวศวิหาร
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000041
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชไทยถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์สายฝ่ายธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในประเทศ[3] และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และ 9[4][5]

พระประธานในพระอารามนี้มีความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ โดยทั่วไป คือ มีพระประธาน 2 องค์ และล้วนมีความสำคัญเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ ได้แก่ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก โดยอัญเชิญมาทั้งองค์ราวปี พ.ศ. 2373[6] และพระสุวรรณเขต หรือ "พระโต" หรือ หลวงพ่อเพชร พระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานไว้เบื้องหลังพระพุทธชินสีห์ เป็นพระประธานองค์แรกของอุโบสถวัดนี้ ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี[7]

ประวัติ

แก้

วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3)แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็สวรรคตเสียก่อน ถึงปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6)โปรดให้รวมวัดรังษีสุทธาวาสเข้าหาวัดบวรนิเวศวิหาร[8]

สถาปัตยกรรม

แก้

พระอุโบสถ

แก้
 
หน้าบันมุขหน้าพระอุโบสถ

สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 เดิมอาจมีเเนวคิดที่จะสร้างขึ้นเป็นพระอุโบสถจตุรมุขแบบพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส แต่ในการก่อสร้างจริงอาจมีการปรับเปลี่ยนผังอาคารบ่อยครั้งจนเป็นอาคารเเบบตรีมุขดังในปัจจุบัน[9] โดยงานช่างที่แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องมาจากศิลปกรรมพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือ การมีเสาพาไลเป็นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รับน้ำหนักหลังคาไม่มีคันทวยเเละบัวหัวเสา หน้าบันเป็นงานก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายกระเบื้องเคลือบลวดลายอย่างเทศ[9] ต่อมาได้มีการบูรณะเเต่งเติมโดยรัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชเเละเสด็จมาครองวัด ศิลปกรรมที่เพิ่มเติมในพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 4 คือ การประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์เป็นลวดลายดอกไม้แบบตะวันตกและประดับตราพระราชลัญจกรคือรูปพระมุงกุฏเเละพระขรรค์บนหน้าบันทั้ง 3 ด้าน เเละสร้างมุขลดเพิ่มที่ด้านหน้าเป็นมุขโถงมีการทำเสาเป็นเสาหินอ่อนสั่งทำจากประเทศอิตาลี เเกะสลักบัวหัวเสาเป็นลวดลายใบอะแคนทัสมีชื่อเรียกทางศิลปกรรมไทยว่า "ลายใบผักกาดเทศ"[9] ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นงานปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจกประดับลวดลายดอกไม้ใบไม้อย่างเทศ การประดิษฐานใบเสมาเป็นเสมาบนเเท่นประดิษฐานติดกับผนังพระอุโบสถ

 
หัวเสามุขลดพระอุโบสถเเกะสลักลวดลายใบอะเเคนทัส
 
พระพุทธชินสีห์ (หน้า) และพระสุวรรณเขต (หลัง) พระประธาน ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์เป็นประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพอัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และพระพุทธชินสีห์ ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเป็นฝีมือขรัวอินโข่ง ใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเคยผนวช ณ วัดแห่งนี้

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงผนวชและประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร โปรดเกล้าฯ ให้ประติมากรของกรมศิลปากรปั้นหุ่นและสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร โดยเสด็จพระราชดำเนินหล่อพระพุทธรูปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2499 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระพุทธนราวันตบพิตร"[10][11]

เจดีย์ประธาน

แก้
 
เจดีย์ประธาน

เริ่มสร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพแต่เสร็จเพียงเเค่ฐานพระองค์ได้ทิวงคตลงก่อนจึงได้สร้างต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ทรงระฆังศิลปะอยุธยาเป็นต้นแบบให้กับเจดีย์ทรงระฆังที่จะสร้างขึ้นตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 4[9] ลักษณะองค์เจดีย์มีการยกฐานสูงมีลานประทักษิณ 2 ชั้น แต่ละชั้นมีกำแพงเเก้วล้อมรอบ บริเวณมุมของฐานประทักษิณชั้นเเรกสร้างเป็นศาลาทรงจีน บริเวณมุมของฐานประทักษิณชั้นที่สองสร้างเป็นเจดีย์ประจำมุมเป็นรูปทรงเเบบ "มณฑปยอดปรางค์"[9] องค์เจดีย์ประธานเเละเจดีย์ประจำมุมหุ้มกระเบื้องสีทอง บริเวณลานประทักษิณชั้นที่สองด้านทิศเหนือของเจดีย์ประธานประดิษฐาน พระไพรีพินาศ เเละในทางขึ้นลานประทักษิณชั้นที่ 2 ด้านทิศตะวันออกมีมณฑปยอดปรางค์ภายในประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประติมากรรมซุ้มทางเข้าเจดีย์ประธาน

แก้

บริเวณเหนือซุ้มทางเข้าเจดีย์ประธานมีรูปประติมากรรมลอยตัวรูปช้าง สิงโต นกอินทรี เเละม้า ซึ่งแทนความหมายของศูนย์กลางจักรวาลที่อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงโดยศูนย์กลางคือสยามประเทศ โดย

  • ช้าง - เเทนถึงดินแดนล้านช้างเเละล้านนา ตั้งอยู่บนซุ้มทิศตะวันออกเฉียงเหนือ[9]
  • สิงโต - เเทนสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่บนซุ้มทิศตะวันออกเฉียงใต้[9]
  • นกอินทรี - แทนสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่บนซุ้มทิศตะวันตกเฉียงเหนือ[9]
  • ม้า - เเทนจักรวรรดิฝรั่งเศส ตั้งอยู่บนซุ้มทิศตะวีนตกเฉียงใต้[9]

วิหารพระศรีศาสดา

แก้

ตัวอาคารเป็นงานศิลปกรรมที่สืบทอดมาจากศิลปกรรมพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 โดยมีส่วนเพิ่มเติมที่เป็นอิทธิพลศิลปะตะวันตก ตัวอาคารมีเสาพาไลทึบทรงสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ไม่มีคันทวยเเละบัวหัวเสา หน้าบันก่ออิฐถือปูนแบบเก๋งจีนผสมทรงวิลันดาที่มีการประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์แบบลวดลายตะวันตกคือทำเป็นรูปกิงก้านของดอกไม้ใบไม้ กลางหน้าบันประดับพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4 ขนาบด้วยฉัตร 7 ชั้น ล้อมรอบด้วยลวดลายปูนปั้นดอกโบตั๋นพร้อมด้วยก้านและใบที่มีขนาดใหญ่เเละมีสีเเตกต่างกัน ซุ้มประตูเเละหน้าต่างเป็นงานผสมผสานระหว่างศิลปะไทยประเพณีคือโครงเป็นกรอบซุ้มโค้งแบบซุ้มเรือนเเก้วเเละมียอดซุ้มเหมือนยอดทรงปราสาทและประดับลายอย่างเทศคือบัวหัวเสาทำเป็นลายใบอะเเคนทัส ส่วนกลางซุ้มประดับพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4

ภายในพระวิหารประดิษฐานพระศรีศาสดาซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านทิศใต้ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี ได้อัญเชิญพระศรีศาสดาจากเมืองพิษณุโลกมาไว้ที่วัด เนื่องจากเห็นว่าวิหารที่ประดิษฐานพระศรีศาสดาอยู่เดิมนั้นชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)ทราบเรื่อง จึงให้อัญเชิญพระศรีศาสดาจากวัดบางอ้อยช้างมาไว้ที่วัดประดู่ฉิมพลี ต่อมาพุทธศักราช 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่ามีการชะลอพระศรีศาสดามายังกรุงเทพมหานคร จึงมีพระราชดำริว่าพระศรีศาสดานั้นสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ ซึ่งเมื่อครั้งอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกก็เคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดเดียวกันมาก่อน พระศรีศาสดาก็ควรประดิษฐานอยู่ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหารเช่นเดียวกับพระพุทธชินสีห์ เสมือนเป็นพระพุทธรูปผู้พิทักษ์พระพุทธชินสีห์ แต่ยังมิได้สร้างสถานที่ประดิษฐานจึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังมุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามไปพลางก่อน ครั้นสร้างพระวิหารพระศาสดาจวนแล้วเสร็จจึงโปรดให้อัญเชิญพระศรีศาสดามาประดิษฐาน เมื่อพุทธศักราช 2407 นอกจากนี้ภายในพระวิหารยังประดิษฐานพระพุทธไสยาซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพานซึ่งอัญเชิญมาจากวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย[9]

การเรียกชื่อวัด

แก้

การเรียกชื่อวัดที่ถูกต้อง จะต้องเรียกว่า วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งมาจากคำนิวิจฉัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในขณะที่การเรียกชื่อว่าวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จะใช้สำหรับลงในเอกสารในการแต่งตั้งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์เท่านั้น[12]

ลำดับเจ้าอาวาส

แก้

นับตั้งแต่ใช้ชื่อวัดว่าวัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามแห่งนี้มีเจ้าอาวาสมาแล้วทั้งสิ้น 8 พระองค์/รูป[13] ได้แก่

ลำดับที่ รูป รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1   พระวชิรญาณเถร
(พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
พ.ศ. 2380 พ.ศ. 2394
2   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พ.ศ. 2394 พ.ศ. 2435
3   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พ.ศ. 2435 พ.ศ. 2464
4   สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พ.ศ. 2464 พ.ศ. 2501
5   พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2504
6   สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พ.ศ. 2504 พ.ศ. 2556
7   สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) พ.ศ. 2558 พ.ศ. 2565
8 พระพรหมวชิรรังษี (จิรพล อธิจิตฺโต) พ.ศ. 2566 ปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๘๔
  2. ประวัติวัดบวรนิเวศวิหาร – Wat Bowonniwet Vihara, https://watbowon.org/ .สืบค้นเมื่อ 09/07/2561
  3. "ประวัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-22. สืบค้นเมื่อ 4 December 2023.
  4. บุนนาค, โรม. "วัดประจำรัชกาล" คำที่เรียกขานกันไปเอง! กษัตริย์ที่ไม่เคยสร้างวัดก็มีวัดประจำรัชกาล!!". สำนักพิมพ์ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 4 December 2023.
  5. "เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย". คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 4 December 2023.
  6. วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร - กรุงเทพมหานคร : เว็บไซต์ธรรมะไทย, dhammathai.org .สืบค้นเมื่อ 09/01/2561
  7. วัดบวรนิเวศวิหาร เก็บถาวร 2017-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, http://www.watbowon.com/ เก็บถาวร 2017-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน .สืบค้นเมื่อ 09/07/2561
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี เรื่อง รวมวัดรังษีสุทธาวาศเข้าหาวัดบวรนิเวศวิหาร, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ง, ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๓๖๖
  9. 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2566). คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.
  10. วัดบวรนิเวศวิหาร, ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร สมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, กรุงเทพฯ : วัดบวรนิเวศวิหาร, 2503, หน้า 119-120
  11. สุดยอดในประวัติศาสตร์ "พระ" สำคัญในรัชกาลที่๙ "พระพุทธนราวันตบพิธ" มวลสารจากเส้นพระเจ้า(พระเกศา)และจีวรตอนทรงผนวช
  12. [1]
  13. วัดบวรนิเวศวิหาร, กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2546, หน้า 13-32