สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พระนามเดิม เจริญ คชวัตร ฉายา สุวฑฺฒโน (3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 – 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556) เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกที่มีพระชันษามากกว่าพระสังฆราชในอดีตและเป็นพระองค์แรกของไทยที่มีชันษา 100 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต[1]

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ดำรงพระยศ21 เมษายน พ.ศ. 2532 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 (24 ปี 186 วัน)
สถาปนา21 เมษายน พ.ศ. 2532
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
ก่อนหน้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
ถัดไปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)
พรรษา80
สถิตวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ประสูติ3 ตุลาคม พ.ศ. 2456
จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศสยาม
เจริญ คชวัตร
สิ้นพระชนม์24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 (100 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พระชนกน้อย คชวัตร
พระชนนีกิมน้อย คชวัตร
ลายพระนาม

พระประวัติ

แก้

ขณะทรงพระเยาว์

แก้

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 ที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนโตของพระชนกน้อย คชวัตร และพระชนนีกิมน้อย คชวัตร พระองค์มีน้องชาย 2 คน ได้แก่ นายจำเนียร คชวัตร และนายสมุทร คชวัตร พระชนกของพระองค์ป่วยเป็นโรคเนื้องอกและเสียชีวิตไปตั้งแต่พระองค์ยังเล็ก หลังจากนั้น พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของนางกิมเฮ้ง หรือกิมเฮงซึ่งเป็นพี่สาวของพระชนนีกิมน้อยที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู[2] และนางกิมเฮ้งจึงตั้งชื่อหลานชายผู้นี้ว่า "เจริญ"[3]

พระชนกน้อย คชวัตร เป็นบุตรคนที่สามจากทั้งหมดสี่คนของเล็ก กับแดงอิ่ม คชวัตร เป็นหลานปู่-หลานย่าของหลวงพิพิธภักดี ผู้เคยเป็นข้าราชการชาวกรุงเก่า[4] กับนางจีนผู้ภริยาหลวงพิพิธภักดีเป็นหลานยายของท้าวเทพกระษัตรี[5] ส่วนพระชนนีกิมน้อย หรือน้อย ซึ่งเคยเปลี่ยนชื่อเป็นแดงแก้วนั้น มีบิดาเป็นคนเชื้อสายจีนคือนายเฮงเล็ก แซ่ตั๊น กับมารดาเชื้อสายญวนชื่อนางทองคำ[4] ครั้นนายเฮงเล็กถึงแก่กรรม นางทองคำจึงสมรสใหม่กับนายสุข รุ่งสว่าง มีบุตรด้วยกัน 4 คน[5]

 
ด.ช.เจริญ คชวัตร ขณะศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนวิสุทธรังษี(พึงสังเกตได้ว่า ด.ช.เจริญสวมเครื่องชุดลูกเสือสามัญในตำแหน่งยศลูกเสือเอก)

เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2468 ในขณะที่มีพระชันษา 12 ปี หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน ทรงเล่าว่า "เมื่อเยาว์วัยมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย" จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น[2]

บรรพชาและอุปสมบท

แก้

เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ โดยมีอยู่คราวหนึ่งที่ทรงป่วยหนักจนญาติ ๆ ต่างพากันคิดว่าคงไม่รอดแล้วและได้บนไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน แต่เมื่อหายป่วยแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถม 5 แล้ว พระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนในปี พ.ศ. 2469 ขณะมีพระชันษาได้ 14 ปี ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทฺธโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล[2]

ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษา และได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมาคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี”[6] จนกระทั่งพระชันษาครบอุปสมบทจึงทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ. 2476 ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยและที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เอง พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2477) โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี (จู อิสฺสรญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม

แก้

พระองค์ทรงเริ่มเรียนพระปริยัติธรรมตามคำชักชวนของพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทฺธโชติ) พระอุปัชฌาย์ ที่ตั้งใจจะให้พระองค์กลับมาสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามและจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเตรียมไว้ให้ โดยพระอุปัชฌาย์นำพระองค์ไปฝากไว้กับพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสน่หา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2470 แล้วจึงเริ่มเรียนภาษาบาลีโดยมีพระเปรียญจากวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นอาจารย์สอน หลังจากนั้น จึงเดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร[6] พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473[7]

พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างมากในการสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค แต่ผลปรากฏว่าทรงสอบตก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้และคิดว่า "คงจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว" แต่เมื่อทรงคิดทบทวนและไตร่ตรองดูว่าทำไมจึงสอบตก ก็ทรงตระหนักได้ว่าเหตุแห่งการสอบตกนั้นเกิดจากความประมาทโดยแท้ กล่าวคือ ทรงทำข้อสอบโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว ทั้งยังมุ่งอ่านเฉพาะเนื้อหาที่เก็งว่าจะออกเป็นข้อสอบเท่านั้น ซึ่งพระองค์ทรงพบว่าเป็นวิธีการเรียนที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์สอบตก เมื่อพระองค์ทรงตระหนักได้ดังนี้แล้วจึงทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีเรียนแบบสม่ำเสมอและทั่วถึง พระองค์จึงสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค ในปี พ.ศ. 2475[7]

หลังจากนั้น พระองค์ทรงกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่โรงเรียนเทวานุกูล วัดเทวสังฆาราม เพื่อสนองพระคุณพระเทพมงคลรังษีเป็นเวลา 1 พรรษา แล้วจึงทรงกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป โดยทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค โดยในระหว่างที่ทรงอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระองค์ก็ยังคงกลับไปช่วยสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามอยู่เสมอ พระองค์ยังทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปี พ.ศ. 2484[7]

การปฏิบัติหน้าที่ด้านคณะสงฆ์

แก้

หลังจากที่พระองค์สอบได้เปรียญธรรม 9 แล้ว พระองค์ทรงเริ่มงานอันเกี่ยวเนื่องกับคณะสงฆ์อีกมากมาย ซึ่งนอกเหนือจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาของภิกษุสามเณรทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี รวมทั้งทรงเป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่งในฐานะเป็นพระเปรียญ 9 ประโยค ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2488 พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการสภาการศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์และรักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกาในกาลต่อมา นอกจากนี้ ยังทรงเป็นเลขานุการในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์อีกด้วย[8]

เมื่อมีพระชันษาได้ 34 ปี พระองค์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระโศภนคณาภรณ์ โดยพระองค์ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทบ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2499 ต่อมา ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ โดยราชทินนามทั้ง 2 ข้างต้นนั้นเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่พระองค์เป็นรูปแรก[9]

ในปี พ.ศ. 2504 พระองค์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาคและเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ในปีเดียวกันนี้เองพระองค์ได้รับการสถาปนาที่ พระสาสนโสภณ[9] พระองค์เข้ารับตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 นอกจากนั้น ยังได้ทรงนิพนธ์ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนาไว้มากมาย[10]

สมเด็จพระสังฆราช

แก้
 
พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532

พ.ศ. 2515 พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานสถาปนาสมเด็จพระอริยวงษญาณ (สุก ญาณสังวร) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2359 ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร จึงเป็นตำแหน่งพิเศษที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น[9]

เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2531 ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิมคือ สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งราชทินนามดังกล่าวนับเป็นราชทินนามพิเศษ กล่าวคือ สมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์นั้น โดยปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ บางพระองค์ ครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งครั้งมีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเพื่อเป็นการยกย่องพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์[9]

ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช

แก้
 
หนังสือ “ขอรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช” ที่ พศ 0006/3 วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2547

ในช่วงที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช มีศาสนกิจที่จะต้องเสด็จไปต่างประเทศ พระองค์จะมีพระบัญชาแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช โดยเมื่อครั้งพระองค์เสด็จประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำกราบทูลอาราธนาของทบวงศาสนกิจ ประเทศจีน และเสด็จปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศเนปาล พระองค์มีพระบัญชาแต่งตั้งให้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช[11][12] นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินเดีย พระองค์มีพระบัญชาแต่งตั้งสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช[13][14]

 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เข้าเฝ้าถวายเครื่องสักการะแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2553 ณ ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร ชั้น 6 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ช่วงปี พ.ศ. 2547 หลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ประชวรและประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[15] ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระบัญชาว่า “ทราบและเห็นชอบ” เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547 ต่อมา การแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงได้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โดยประกอบด้วยพระราชาคณะ รวม 7 รูป จากพระอาราม 7 วัด โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[16][17]

สิ้นพระชนม์

แก้
 
พระโกศกุดั่นใหญ่ ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์เนื่องจากการติดเชื้อในพระกระแสโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 19.30 น.[18]

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะนั้นทรงเป็นพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[19]

อนึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทราบฝ่าละอองทุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 15 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ถึงวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 และโปรดถวายพระโกศกุดั่นใหญ่ทรงพระศพ ประดิษฐานพระศพไว้ ณ ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และถวายเกียรติตามราชประเพณีทุกประการ[20]

เมื่อถึงวาระที่จะพระราชทานเพลิงพระศพอันเป็นปัจฉิมวาระแห่งการพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดถวายพระโกศทองน้อยทรงพระศพโดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น กางกั้นพระโกศ ถวายเป็นเครื่องเพิ่มเติมพระเกียรติยศให้ปรากฏสืบไป[21]

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะนั้นทรงเป็นพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร[22] ประดิษฐานพระอัฐิ ณ ตำหนักเดิม วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และประดิษฐานพระสรีรางคาร ณ พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[23]

ในปี พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระอัฐิของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในฐานะพระราชกรรมวาจาจารย์เมื่อครั้งทรงผนวช ขึ้นเป็น "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร" ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ เชิญมาประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป[24]

พระกรณียกิจ

แก้

ด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ

แก้

พระองค์ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการมาโดยลำดับ ดังนี้

  • พ.ศ. 2509 ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ ได้เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ ในพิธีเปิดวัดพุทธประทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และดูกิจการพระธรรมทูตในประเทศอังกฤษและอิตาลี
  • พ.ศ. 2511 เสด็จไปดูการพระศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ อันเป็นผลให้ต่อมาได้มีการวางแผนร่วมกับชาวพุทธอินโดนีเซีย ในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น และได้ส่งพระธรรมทูตชุดแรกไปยังอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้ส่งพระภิกษุจากวัดบวรนิเวศ ออกไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2516, และตั้งสำนักสงฆ์ในปี พ.ศ. 2518
  • พ.ศ. 2514 เสด็จไปดูการพระศาสนา และการศึกษาในประเทศเนปาล และอินเดีย ปากีสถาน ตะวันออก (บังคลาเทศ) ทำให้เกิดงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเนปาล ในขั้นแรก ได้ให้ทุนภิกษุ สามเณรเนปาลมาศึกษาพระพุทธศาสนาในไทย ที่วัดบวรนิเวศฯ
  • พ.ศ. 2520 เสด็จไปบรรพชาชาวอินโดนีเซีย จำนวน 43 คน ที่เมืองสมารัง ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย
  • พ.ศ. 2528 ทรงเป็นประธานคณะสงฆ์ ไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ วัดจาการ์ต้าธรรมจักรชัย ณ ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการผูกพันธสีมาอุโบสถวัดพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นครั้งแรกของประเทศอินโดนีเซีย และในปีเดียวกันนี้ ได้เสด็จไปเป็นประธานบรรพชากุลบุตรศากย แห่งเนปาล จำนวน 73 คน ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
  • พ.ศ. 2536 เสด็จไปเจริญศาสนาสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เป็นครั้งแรก ที่ประเทศจีน ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลจีน
  • พ.ศ. 2538 เสด็จไปเป็นประธาน วางศิลาฤกษ์วัดไทย ณ ลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งรัฐบาลไทยจัดสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

ด้านสาธารณูปการ

แก้

ได้ทรงบูรณะซ่อมสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ

ปูชนียสถาน
ได้แก่ มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระบรมธาตุ เจดีย์ศรีนครินทรมหาสันติคีรี ดอยแม่สลอง

พระอาราม ได้แก่ วัดสันติคีรี ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย วัดรัชดาภิเศก อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี วัดล้านนาสังวราราม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพุมุด อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นอกจากนั้นยังทรงอุปถัมภ์วัดไทยในต่างประเทศอีกหลายแห่งคือ วัดพุทธรังสี นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย วัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร เมืองกิรติปูร เนปาล

โรงเรียน
ได้แก่ โรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร ยโสธร โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี
โรงพยาบาล
ได้แก่ การสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี, โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี, และโรงพยาบาลสกลมหาสังฆปรินายก เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ รวม 19 แห่ง ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วหลายแห่ง

พระภารกิจ

แก้
 
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่พระสาสนโสภณ เมื่อ พ.ศ. 2504
  • พ.ศ. 2484 เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย และเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
  • พ.ศ. 2489 เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์ และเป็นกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2493 เป็นกรรมการเถรสมาคม คณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราว
  • พ.ศ. 2494 เป็นกรรมการอำนวยการมหามงกุฎราชวิทยาลัย และเป็นกรรมการแผนกตำราของมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2496 เป็นกรรมการตรวจชำระ คัมภีร์ฎีกา
  • พ.ศ. 2497 เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทถาวร
  • พ.ศ. 2499 เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งทรงพระผนวชและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมวราภรณ์ และรักษาการวินัยธรชั้นฎีกา
  • พ.ศ. 2501 เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ และเป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการพระศาสนา และมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)
  • พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง[25] สั่งการองค์การปกครองฝ่ายธรรมยุต
  • พ.ศ. 2504 เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้รักษาการณ์เจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค และเป็นพระอุปัชฌาย์
  • พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการเถรสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการชุดแรก ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
  • พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ
  • พ.ศ. 2517 เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุต
  • พ.ศ. 2521 เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในพระราชพิธีทรงผนวช พันตรี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[26]
  • พ.ศ. 2528 เป็นรองประธานกรรมการสังคีติการสงฆ์ ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก และเป็นสังฆปาโมกข์ปาลิวิโสธกะพระวินัยปิฎก เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • พ.ศ. 2531 รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย และเป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

พระนิพนธ์

แก้

ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา และทั่วไป พอประมวลได้ดังนี้:

ประเภทตำรา ทรงเรียบเรียง

ประเภทพระธรรมเทศนา มีอยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่พิมพ์เป็นเล่มแล้ว เช่น:

  • ปัญจคุณ 5 กัณฑ์
  • ทศพลญาณ 10 กัณฑ์
  • มงคลเทศนา
  • โอวาทปาฏิโมกข์ 3 กัณฑ์
  • สังฆคุณ 9 กัณฑ์

ประเภทงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ทรงริเริ่มและดำเนินการให้แปลตำราทางพุทธศาสนา จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการศึกษาพระพุทธศาสนา เช่น:

  • นวโกวาท
  • วินัยมุข
  • พุทธประวัติ
  • ภิกขุปาติโมกข์
  • อุปสมบทวิธี
  • ทำวัตรสวดมนต์

ประเภททั่วไป มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น:

  • การนับถือพระพุทธศาสนา
  • หลักพระพุทธศาสนา
  • พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านล้ำเลิศ
  • 45 พรรษาพระพุทธเจ้า
  • พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร (ไทย-อังกฤษ)
  • วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ
  • พระพุทธศาสนากับสังคมไทย
  • เรื่องกรรม ศีล (ไทย-อังกฤษ)
  • แนวปฏิบัติในสติปัฎฐาน
  • อาหุเณยโย
  • อวิชชา
  • สันโดษ
  • หลักธรรมสำหรับการปฏิบัติอบรมจิต
  • การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่
  • บัณฑิตกับโลกธรรม
  • แนวความเชื่อ
  • บวชดี
  • บุพการี-กตัญญูกตเวที
  • คำกลอนนิราศสังขาร
  • ตำนานวัดบวรนิเวศ
  • วิธีสร้างบุญบารมี
  • แสงส่องใจ
  • ความซับซ้อนของกรรม
  • พุทธวิธีแก้หลง

พระเกียรติยศ

แก้

ลำดับสมณศักดิ์

แก้
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณสังวร
 
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพะย่ะค่ะ/เพคะ
ลำดับโปเจียมเสมอศักดิ์พระอนุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ทรงกรม
  • พ.ศ. 2490 พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโศภณคณาภรณ์[27]
  • พ.ศ. 2495 พระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม
  • พ.ศ. 2498 พระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม
  • พ.ศ. 2499 พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกคุณวิภูสิต ธรรมวิทิตคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[28]
  • พ.ศ. 2504 รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า พระสาสนโสภณ วิมลญาณสุนทร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูสิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[29]
  • พ.ศ. 2515 สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ อุดมศีลจารวัตรสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี [30]
  • 21 เมษายน พ.ศ. 2532 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต[31] ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช[32]
ภายหลังการสิ้นพระชนม์
แก้
  • 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ทรงได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วชิราลงกรณราชาภินิษกรมณาจารย์ สุขุมธรรมวิธานธำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร [24]

ตำแหน่งที่ได้รับการถวาย

แก้
 
เอกสารถวายตำแหน่งผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา
  • ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา (Supreme Holiness of World Buddhism) อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับการทูลถวายจากผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศเข้าร่วมประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุด รวมทั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแห่งประเทศไทย ผู้สอนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ในพระปัญญาธรรมและพระกรุณาธรรมนำ ไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมีพระบารมีปกแผ่ไพศาลไปทั่วราชอาณาจักรไทยและทั่วโลก นับเป็นแบบอย่างของสากลโลก ซึ่งเป็นการมอบตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกของโลก[33][34][35]

ปริญญากิตติมศักดิ์

แก้
   
ตราประจำพระองค์ในขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช (ภาพซ้าย) และดำรงพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ภาพขวา)

พระองค์ได้รับการถวายปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษา ดังต่อไปนี้[36][37]

สถานที่เนื่องด้วยพระนาม

แก้

งานฉลองพระชันษา 96 ปี (8 รอบ)

แก้

3 ตุลาคม พ.ศ. 2552 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชันษาครบ 96 ปี รัฐบาลจัดให้มีการบำเพ็ญกุศล และงานฉลองเนื่องในโอกาสมงคลนี้[44]

งานฉลองพระชันษา 100 ปี

แก้

งานแสดงมุทิตาจิต ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ณ ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[45]

  • เวลา 08.00 น. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จฯ ออกทรงรับบาตรจากศิษยานุศิษย์ และ ประชาชนทั่วไป
  • เวลา 09.00 น. ศิลปิน ดารา นักร้อง ที่จะมาร่วมรณรงค์รับบริจาคเงิน เพื่อโดยเสด็จพระกุศล สมเด็จพระสังฆราชให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรและรับประทานเกียรติบัตร และออกรณรงค์รับบริจาคตามคลินิกผู้ป่วยนอก / หอผู้ป่วยพิเศษ / สำนักงาน
  • เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล ณ ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร ชั้น 5
  • เวลา 13.00 น. การบรรยายพิเศษ “ใส่บาตรอย่างไร ได้บุญ ไกลโรค” ณ ห้องประชุมเฉลิม พรมมาส ตึก อปร.
  • เวลา 13.30 น. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับน้ำสรงพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และบรมวงศานุวงศ์ทุก พระองค์ เนื่องในงานฉลองพระชันษา 100 ปี
  • เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานทอดผ้าป่าสามัคคี 84,000 กอง
  • เวลา 15.30 - 16.45 น. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โปรดฯ ให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร
  • เวลา 17.00 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์แสดงมุทิตาจิตฉลองสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในงานฉลองพระชันษา 100 ปี
  • เวลา 18.00 น. พิธีลาบวชเนกขัมมบารมี 101 คน

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. "พุทธศาสนิกชนร่ำไห้ "สมเด็จพระสังฆราช" สิ้นพระชนม์ลงแล้ว!". มติชน. 24 ตุลาคม 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2013.
  2. 2.0 2.1 2.2 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 1) เก็บถาวร 2013-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556
  3. บวรธรรมบพิตร พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, หน้า 21
  4. 4.0 4.1 บวรธรรมบพิตร พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, หน้า 20
  5. 5.0 5.1 5.2 บวรธรรมบพิตร พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, หน้า 18-19
  6. 6.0 6.1 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 2) เก็บถาวร 2013-08-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556
  7. 7.0 7.1 7.2 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 3) เก็บถาวร 2013-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556
  8. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 4) เก็บถาวร 2013-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 5) เก็บถาวร 2013-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556
  10. พระศาสนกิจทางการคณะสงฆ์ เก็บถาวร 2011-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สังฆราชดอตคอม, เข้าถึงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร), เล่ม ๑๑๐, ตอน ๘๙ ง, ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๓๘
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร), เล่ม ๑๑๒, ตอน พิเศษ ๔๓ ง, ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๑๗
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม ๑๑๕, ตอนพิเศษ ๓๒ ง, ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๓
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม ๑๑๖, ตอน ๒๗ ง, ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒, หน้า ๓๔
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑, ตอนพิเศษ ๓ง, ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗, หน้า ๒๘
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๐/๒๕๔๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, เล่ม ๑๒๑, ตอนพิเศษ ๗๙ ง, ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗, หน้า ๑
  17. ผู้จัดการออนไลน์, สำนักนายกฯแถลง “สมเด็จญาณฯ” ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชแต่เพียงพระองค์เดียว เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 3 พฤศจิกายน 2548
  18. "แถลงการณ์สำนักพระราชวังเรื่องสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์". www.thairath.co.th. 2013-10-25.
  19. "'พระบรมฯ'ถวายน้ำสรงพระศพ'พระสังฆราช'". คมชัดลึกออนไลน์. 2013-10-25.
  20. "แถลงการณ์สำนักพระราชวังเรื่องสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์". www.thairath.co.th. 2013-10-25.
  21. "โปรดเกล้าฯถวายพระโกศทองน้อยทรงพระศพสมเด็จพระสังฆราช". dailynews. 2015-12-14.
  22. "'สมเด็จพระบรมฯ' เสด็จพระราชทานเพลิงพระศพ 'พระสังฆราช'". www.thairath.co.th. 2015-12-16.
  23. "เผย "พระสุสาน" ของสมเด็จพระสังฆราช". mgronline.com. 2015-12-16.
  24. 24.0 24.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (40 ข): 2. 28 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2019.
  25. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่ม 77, ตอนที่ 41, 17 พฤษภาคม 2503, หน้า 1437-9
  26. หมายกำหนดการ พระราชพิธีทรงผนวช พันตรี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑
  27. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๖๔, ตอน ๒๗ ง, ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐, หน้า ๑๕๒๖
  28. ราชกิจจานุบเกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๔, ตอน ๖ ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๑
  29. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, ตอนที่ 104, เล่ม 78, วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2504, หน้า 13-16
  30. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ (พระสาสณโสภณ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ), ตอนที่ 102, เล่ม 89, วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2515, หน้า 1-5
  31. "แก้คำผิด จดหมายเหตุพระราชพิธีสถาปนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (16 ง): 1080. 28 มกราคม 1992. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2013.
  32. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช, ตอนที่ 63, เล่ม 106, วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532, หน้า 1-7
  33. "ผู้นำชาวพุทธ 32 ประเทศทูลถวายพระเกียรติยศอันสูงสุด สมเด็จพระสังฆราช ให้เป็น "ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา" เป็นครั้งแรกของโลก". สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์. 10 กันยายน 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2013.
  34. ถวาย "ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพุทธ", ไทยรัฐออนไลน์, เข้าถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556
  35. สมเด็จพระสังฆราช“ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา”, เดลินิวส์ออนไลน์, เข้าถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556
  36. ปริญญาดุษฎีบัณฑิต เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สังฆราชดอตคอม, เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
  37. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 12) เก็บถาวร 2014-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
  38. รายพระนามและรายนามผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2511 - ปัจจุบัน เก็บถาวร 2012-07-18 ที่ archive.today, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
  39. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เก็บถาวร 2008-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
  40. "รายพระนามและรายนามปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2544". จดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-04. สืบค้นเมื่อ 2021-11-04. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564.
  41. "ม.ราชภัฏมหาสารคามทูลถวายดุษฎีบัณฑิตแด่สมเด็จพระสังฆราช". ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2013.
  42. บำเพ็ญพระกุศล สังฆราช 98 พรรษา, ไทยรัฐออนไลน์, เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
  43. มมร.ทูลถวายปริญญาเอกพุทธศาสน์ศึกษาแด่พระสังฆราช ฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มติชนออนไลน์, เข้าถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556
  44. ""ในหลวง" โปรดฯ ให้ถอดคำเทศน์ใน "สังฆราช" เป็นซีดีและ MP3 ให้เข้าถึงวัยรุ่น". ผู้จัดการออนไลน์. 24 กันยายน 2009. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2021.
  45. "ฉลอง 100 ปีสังฆราชประชาชนแห่ทำบุญ". โพสต์ทูเดย์. 3 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2021.
  46. พระองค์ที่ ๑๙: สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ถัดไป
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ    
สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(พ.ศ. 2532 – 2556)
  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ   ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
(พ.ศ. 2532 – 2556)
  สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)
พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)    
เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
(พ.ศ. 2504 – 2556)
  สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)
ไม่มี    
ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
(พ.ศ. 2525 – 2556)
  พระธรรมบัณฑิต (อภิพล อภิพโล)