สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

(เปลี่ยนทางจาก สมเด็จพระสังฆราชไทย)

ในประเทศไทย สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก คือประมุขแห่งคณะสงฆ์หรือพระราชาของคณะสงฆ์ ซึ่งตามกฎหมายคณะสงฆ์บัญญัติให้ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก[2] ที่มาและอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505[3] และเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง

สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
พระเศวตฉัตร 3 ชั้น ประจำองค์สมเด็จพระสังฆราช
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)
ตั้งแต่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
(7 ปี 246 วัน)
การเรียกขานฝ่าพระบาท
จวนพระอารามหลวง
ผู้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์ไทย ทรงสถาปนา
สนองพระบรมราชโองการรัฐบาลไทย
วาระตลอดพระชนม์ชีพ
ผู้ประเดิมตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
สถาปนาพ.ศ. 2325 (242 ปี)
เงินตอบแทน34,200 บาท[1]

พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลไทย

แก้

สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จารึกคำว่าสังฆราชไว้ด้วย สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นตำแหน่งสมณะศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ราชอาณาจักรไทย ทรงเป็นองค์ประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้น่าจะมีที่มาจากคณะสงฆ์ไทย นำแบบอย่างมาจาก ลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงอัญเชิญพระเถระผู้ใหญ่ของลังกา ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นสกลมหาสังฆปริณายก มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี เป็นพระสังฆราชขวา สมเด็จพระวันรัตเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่า ก็ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป มีความชอบมาก เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี และมาเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ ในสมัยกรุงธนบุรี และได้ใช้ต่อมาจนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" ซึ่งได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ตามทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่มีตำแหน่งสังฆปริณายก 2 องค์ ที่เรียกว่า พระสังฆราชซ้าย/ขวา ดังกล่าวแล้ว ยังมีคำอธิบายอีกประการหนึ่งว่า สมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวาว่า คณะเหนือ พระพนรัตน์เป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้ายว่า คณะใต้ มีพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามเมื่อทรงตั้งทั้ง 2 พระองค์ แต่ที่สมเด็จพระพนรัตน์ โดยปกติไม่ได้เป็นสมเด็จ ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวานั้นเป็นสมเด็จทุกพระองค์ จึงเรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นมหาสังฆปริณายก มีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายซ้าย ที่พระพนรัตน์แต่เดิม ทรงยกพระเกียรติยศเป็นสมเด็จแต่บางองค์ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเป็นสมเด็จทุกพระองค์

เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี วิธีการปกครองพระราชอาณาจักรในครั้งนั้น หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลจากราชธานี เป็นเมืองประเทศราชโดยมาก แม้เมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ราชธานี ก็ตั้งเจ้านายในพระราชวงศ์เสด็จออกไปครองเมือง ทำนองเจ้าประเทศราช เมืองใหญ่แต่ละเมือง จึงน่าจะมีพระสังฆราชพระองค์หนึ่ง เป็นสังฆปรินายกของสังฆบริษัทในเมืองนั้น ดังปรากฏเค้าเงื่อนในทำเนียบชั้นหลัง ยังเรียกเจ้าคณะเมืองว่าพระสังฆราชอยู่หลายเมือง จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงเปลี่ยนมาเป็นสังฆปาโมกข์

พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือฝ่ายที่พำนักอยู่ใกล้เมืองเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เรียกว่าคามวาสี อีกฝ่ายหนึ่งบำเพ็ญสมณธรรมในที่สงบเงียบตามป่าเขา ห่างไกลจากบ้านเมืองเรียกว่าอรัญวาสี ภิกษุแต่ละฝ่ายยังแบ่งออกเป็นคณะ แต่ละคณะจะมีพระราชาคณะปกครอง หัวหน้าพระราชาคณะเรียกว่าสมเด็จพระราชาคณะ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนพระอิสริยยศสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า[4] ทรงเศวตฉัตร 5 ชั้น พระราชวงศ์ชั้นรองลงมา เท่าที่ปรากฏ มีชั้นหม่อมเจ้าผู้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีคำนำหน้า พระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชหนึ่งพระองค์ ตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ในการนี้ นายกรัฐมนตรีจะเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ แต่ถ้าสมเด็จพระราชาคณะดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ จะเสนอสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นตามลำดับสมณศักดิ์และความสามารถในการทำหน้าที่แทน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กำหนดให้ "มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

เครื่องยศของสมเด็จพระสังฆราช

แก้
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระสังฆราช
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
 
ตราประจำพระองค์
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม
พะย่ะค่ะ/เพคะ

สมเด็จพระสังฆราชจะทรงมีเครื่องพระยศประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระสังราช ดังนี้[5]

  • พระแท่นภายใต้เศวตฉัตร 3 ชั้น
  • พัดยศสมเด็จพระสังฆราช
  • บาตร พร้อมฝาบาตร เชิงบาตรถมปัด
  • พานพระศรี ถมปัด
  • ขันน้ำและพานรอง ถมปัด
  • คณโฑ ถมปัด
  • พระสุพรรณศรี ถมปัด
  • พระสุพรรณราช ถมปัด
  • หีบตราพระจักรี ถมปัด
  • ปิ่นโตทรงกลม 4 ชั้น ถมปัด
  • กาทรงกระบอก ถมปัด
  • หม้อลักจั่น ถมปัด
  • กระโถน ถมปัด

เมื่อสิ้นพระชนม์จะทรงได้รับเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ได้แก่

  • พระโกศกุดั่นน้อย (หรือชั้นที่สูงกว่า)
  • พระเศวตฉัตร 3 ชั้นกางกั้นพระโกศ (หรือชั้นที่สูงกว่า)
  • เสด็จสรงน้ำพระศพ
  • พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ 100 วัน
  • พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเช้า-เพล 100 วัน
  • ริ้วกระบวนพระอิสริยยศเชิญพระโกศพระศพไปยังพระเมรุ
  • พระเมรุผ้าขาว สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพ (ปัจจุบันใช้พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส)
  • เสด็จพระราชทานเพลิงพระศพ บำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ ตลอดจนฉลองพระอัฐิ
  • เศวตฉัตร 3 ชั้นสุมพระอัฐิบนพระเมรุ (หรือชั้นที่สูงกว่า)
  • เครื่องประโคมสังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง กลองชนะ จ่าปี่ จ่ากลอง
 
พระโกศกุดั่นใหญ่ประกอบพระอิสริยยศพระศพสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)

รายพระนาม

แก้

คณะสงฆ์อื่น หน่วยงานในการกำกับดูแลของสมเด็จพระสังฆราช

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. "บัญชีนิตยภัต ฉบับปรับปรุงใหม่ เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2554 เป็นต้นไป". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต. 27 เมษายน 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-18. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 1,167
  3. "พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-27. สืบค้นเมื่อ 2013-10-26.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ก ,๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๑๐
  5. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 319
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้