ราชทินนาม

ชื่อที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน ใช้กำกับยศหรือบรรดาศักดิ์ขุนนางหรือสมณศักดิ์พระสงฆ์

ราชทินนาม [ราดชะทินนะนาม] หมายถึง นามที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามยศหรือตำแหน่งราชการ เพื่อให้เป็นเครื่องเสริมพระเกียรติยศ เพิ่มอิทธิพลและอำนาจ รวมถึงให้เกิดสิริมงคลแก่บ้านเมือง โดยมีใช้ตั้งแต่ทินนามพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ ขุนนาง พระพุทธรูป พระสังฆาธิการ ช้างม้าที่ขึ้นระวางเป็นช้างต้น ม้าต้น และเรือพระราชที่นั่ง[1] เช่น เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาเป็นยศ ยมราชเป็นราชทินนาม หรือกำกับสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จเป็นสมณศักดิ์ พระพุทธโฆษาจารย์เป็นราชทินนาม เป็นต้น

ที่มาของราชทินนาม พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) สันนิษฐานว่า ชื่อเดิมของขุนนางไทยฟังไม่ไพเราะ อีกประการหนึ่ง คือ เป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิมอยู่แล้ว กล่าวคือ เป็นธรรมเนียมมาแต่อดีตที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานราชทินนามต่อท้ายนามชั้นบรรดาศักดิ์แก่ขุนนางที่มีความดีความชอบหรือมีความสามารถในทางใดทางหนึ่ง เช่น ขุนวิจิตรอักษร ซึ่งหมายถึง ผู้มีความสามารถในการอักษร หรือ พระปราบพลแสน ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ปราบพ่ายพลลงได้เป็นจำนวนมาก เป็นต้น ราชทินนามอาจไม่ได้ตั้งตามความสามารถเท่านั้นแต่อาจตั้งตามชื่อบุคคลสำคัญในคัมภีร์ไสยศาสตร์ ในเนื้อเรื่องทางพุทธศาสนา หรือแม้แต่คุณลักษณะของขุนนาง เช่น ขุนซุกซนสังฆกรณ์ ราชทินนามที่มาจากความขี้ฟ้องของข้าราชการคนนั้น นอกจากนี้ยังมีราชทินนามที่ใช้ภาษาอังกฤษมาตั้ง อย่าง หลวงการ์เดนกิจบริรักษ์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้กับเจ้ากรมสวนสราญรมย์ เป็นต้น[2]

ราชทินนามของขุนนางอาจมีซ้ำกันได้ เนื่องจากราชทินนามโดยส่วนมากแล้ว คือนามที่ได้รับพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานตั้งตามตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้นหากขุนนางมีตำแหน่งหน้าที่การงานเดียวกันก็หมายความว่าจะมีราชทินนามเหมือนกันด้วย

ในคณะสงฆ์ไทยมีการพระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่พระเถรานุเถระ แบ่งเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่พระครู ไล่ขึ้นไปถึงพระราชาคณะชั้นสามัญ ชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม จนถึงสมเด็จพระราชาคณะ โดยในแต่ละชั้นก็จะมีราชทินนามประกอบด้วย ทำนองเดียวกับขุนนางศักดินา[3]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์". สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. p. 313.
  2. ""หลวงการ์เดนกิจบริรักษ์" ขุนนางสยาม ราชทินนามอังกฤษ สมัย ร.5". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. ศรัณย์ ทองปาน. "ยศ และ ราชทินนาม (ชื่อจริงและชื่อเล่น ตอนที่ 4)". สารคดี.