มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยนเรศวร (อังกฤษ: Naresuan University; อักษรย่อ: มน. – NU) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ถือกำเนิดมาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2510 และพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก ก่อนที่จะแยกตัวเป็นเอกเทศจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเมื่อปี พ.ศ. 2533 มาเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยชื่อ "นเรศวร" นั้น ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องด้วยพระองค์ประสูติที่เมืองพิษณุโลก และทรงเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกมาก่อน มหาวิทยาลัยนเรศวรนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ของภาคเหนือ ถัดจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ 17 ของประเทศไทย โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทำการเรียนการสอนมาแล้วกว่า 57 ปี

มหาวิทยาลัยนเรศวร
Naresuan University
ตราช้างศึก
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมวิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก
(พ.ศ. 2510–2517)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก
(พ.ศ. 2517–2533)
ชื่อย่อมน.[1] / NU
คติพจน์มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533; 34 ปีก่อน (2533-07-29)
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการ
งบประมาณ2,383,548,000 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
นายกสภาฯศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา
อธิการบดีรองศาสตราจารย์ ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี (รักษาการ)
อาจารย์1,494 คน (พ.ศ. 2567)[3]
บุคลากรทั้งหมด4,971 คน (พ.ศ. 2567)[3]
ผู้ศึกษา26,745 คน (พ.ศ. 2566)[4]
ที่ตั้ง
วิทยาเขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัย
เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยนเรศวร
ต้นไม้เสลา
สี
มาสคอต
ช้างศึก
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนของประเทศไทย[5] โดยมีการเรียนการสอนครอบคลุมครบทุกสาขาวิชาทั้งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทุกระดับการศึกษาทั้งสิ้น 184 หลักสูตร[6] มีจำนวนนิสิตประมาณ 25,000 คน[7] และมีอาจารย์ประจำกว่า 1,500 คน[8]

ประวัติ

แก้
 
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

มหาวิทยาลัยนเรศวรมีประวัติการก่อตั้งและพัฒนาโดยแบ่งได้เป็น 3 ยุคสมัย คือ ยุคที่ 1 วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก ยุคที่ 2 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก และยุคปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร[9][10]

ยุควิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

แก้

วงการการศึกษาได้ประสบปัญหาเข้ามาอีกทั้งภาวะการขาดแคลนครูเป็นอันมากและวุฒิการศึกษาครูสูงที่สุดคือ วุฒิ ป.ม. (ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม) ซึ่งเทียบเท่ากับอนุปริญญาเท่านั้น ทำให้เกิดความล้าหลังในอาชีพครู[11] อีกทั้งครู ป.ม. บางคนเมื่อศึกษาเพิ่มเติมสูงขึ้นได้ปริญญาทางด้านอื่นแล้วต่างลาออกไปประกอบอาชีพใหม่ที่เข้าใจว่ามีความก้าวหน้ามากกว่า ผู้บริหารในวงการศึกษาจึงได้มีการปรึกษาหารือและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตามลำดับ แต่ความเข้าใจในเวลานั้นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคคลในพรรครัฐบาล จึงต้องใช้ความพยามยามอย่างมาก

ดร. สาโรช บัวศรี เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เข้าชี้แจงให้คณะรัฐบาลเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะดำเนินการและสิ่งที่เกิดขึ้น หากให้สามารถเปิดสอนครูถึงระดับปริญญา และสามารถชี้แจงจนเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมจึงได้มีมติยอมรับ และในที่สุดก็ผ่านพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ในปี พ.ศ. 2497[12] แต่กว่าที่จะได้มีการยอมรับนั้นค่อนข้างพบอุปสรรคพอสมควร

อย่างไรก็ตามในที่สุดก็สามารถตราพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้สำเร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2497[11] ในระหว่างนั้น อาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อธิบดีกรมการฝึกหัดครู (พ.ศ. 2500 –2513) และเป็นคณะกรรมการร่วมของโครงการพัฒนาการศึกษาด้วย ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญกับงานฝึกหัดครูอย่างมาก จากแนวคิดในการดำเนินการขยายการฝึกหัดครูระดับปริญญาไปสู่ส่วนภูมิภาคนั้น จึงได้มีการขยายวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งขณะนั้นยังสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และมีความคล้ายคลึงทั้งในที่มา จุดประสงค์และการดำเนินการเพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพครู เหมือนกับกรมการฝึกหัดครู โดยแนวคิดของอาจารย์บุญถิ่น อัตถากรนั้น คือ[13][14]

หลังจากนั้นจึงได้มีการขยายวิทยาเขตไปสู่ภาคต่าง ๆ ทุกภาค โดยได้เปิดสอนแห่งเดียวในแต่ละภาค คือ ภาคเหนือเปิดที่พิษณุโลก (25 มกราคม 2510) ภาคใต้ที่สงขลา (1 ตุลาคม 2511) ภาคตะวันออกที่ชลบุรี (8 กรกฎาคม 2498) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาสารคาม และกรุงเทพมหานครที่บางเขน (27 มีนาคม 2512)

ยุคมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก

แก้

ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ในราชกิจจานุเบกษา[15] ซึ่งเป็นการรวมวิทยาลัยเขตทั้งหมด เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโอนสถานะไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และเรียกชื่อมหาวิทยาลัยและชื่อวิทยาเขตตามสถานที่ตั้งของวิทยาเขตต่อท้าย ยกเว้นวิทยาเขตพระนครให้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน

ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้นั้น ทางวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์ ดร. สุดใจ เหล่าสุนทร เข้าดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา และเห็นว่าการบริหารงานของวิทยาลัยนั้นขาดความคล่องตัวอยู่มาก เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายประการจะเป็นปัญหาระยะยาวในการขยายผลด้านการศึกษาในอนาคตต่อไป ท่านจึงได้ร่างพระราชบัญญัติเพื่อขอยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยต่อสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา โดยในระหว่างนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สุดใจ เหล่าสุนทร ได้ออกเอกสารที่เรียกว่า 'เอกสารปกขาว' เพื่อชี้แจงหลักการและเหตุผลดังกล่าวแก่ผู้ที่สนใจรับทราบว่า

เมื่อได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามลำดับ โดยเป็นการดำเนินการตามวิธีที่ถูกต้องและขั้นตอนระเบียบแบบแผนของทางราชการ เริ่มตั้งแต่สภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นเรื่องได้หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่ไม่เอื้อในเวลานั้น การดำเนินการจึงได้มายุติโดยการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515

จากการที่วิทยาลัยโดยความร่วมมือทั้งอาจารย์และนิสิตได้พยายามดำเนินการมาตามลำดับอย่างสม่ำเสมอและด้วยความจริงจัง กระทั่งในวันที่ 16 มกราคม 2517 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ กระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517[15]

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยให้เป็นมงคลนามและพระราชทานความหมายว่า " มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร " โดย ' วิโรฒ ' มาจาก ' วิรูฒ ' (ภาษาสันสกฤต) ' วิรุฬห์ ' (ภาษาบาลี) ซึ่งแปลว่า " เจริญ , งอกงาม "

ภายหลังทางวิทยาลัยโดยความร่วมมือทั้งอาจารย์และนิสิต ได้พยายามดำเนินการมาตามลำดับ ทั้งนี้โดยตระหนักจากการพิจารณาองค์ ประกอบความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของวิทยาลัยและประโยชน์อันจะเกิดขึ้นต่อ วิทยาลัยและในวงกว้างทางการศึกษาและประเทศชาติต่อไป ทางวิทยาลัย จึงได้มีการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้ดังนี้

  1. วิทยาลัยวิชาการศึกษามีความพร้อมโดยสมบูรณ์ที่จะเติบโต เป็นมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ทางวิทยาลัยมีความพร้อมของอุปกรณ์ประกอบการสอน อาจารย์ และอาคารสถานที่เพียงพอที่จะเปิดสอนสาขาอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น
  2. ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาลัยวิชาการศึกษา
  3. ความคล่องตัวในการบริหารงาน
  4. ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการความหลากหลายทางการศึกษาที่ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

หลังจากที่ได้ยกฐานะแล้ว ทางมหาวิทยาลัยฯได้นำวิธีสอบคัดเลือกนิสิต เข้าศึกษาใน 2 ระดับ คือชั้นปีที่ 1 และ 3 ซึ่งในปีการศึกษานี้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลกยังคงรับนิสิตภาคปกติที่จบป.กศ. สูงเข้าศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยวิธีการสอบคัดเลือกเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ คือได้เปิดรับสมัครสอบนิสิตชั้นปีที่ 1 เข้าเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีเป็นปีแรกโดยใช้ วิธีการสอบผ่านทบวงมหาวิทยาลัย โดยรับทั้งสิ้น 63 คน สำหรับวิชาเอกที่เปิดในปีการศึกษา 2517 มีดังนี้ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา และการประถมศึกษาซึ่งได้ใช้วิธีการสอบแข่งขันในการคัดเลือกผู้มาเรียนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 แล้ว วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหารของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับวิทยาลัยวิชาการการศึกษาอื่น ๆ อีก 8 แห่ง การจัดการเรียนการสอนในสมัยนั้นเปิดสอนเพียง 5 คณะ คือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย[10] โดยสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกยังคงใช้สถานที่เดิมของวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – พ.ศ. 2524) ที่กำหนดให้จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองศูนย์กลางและเมืองหลักของภาคเหนือตอนล่าง ทางวิทยาเขตจึงขออนุญาตกระทรวงมหาดไทย ในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับอนุญาตในปี พ.ศ. 2527 โดยเป็นช่วงเดียวกับที่ทางทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้นประกาศโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ของรัฐในส่วนภูมิภาคอีก 5 แห่ง โดยที่ดินที่ได้รับการจัดสรรใหม่นี้อยู่บริเวณทุ่งหนองอ้อ – ปากคลองจิก ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ยุคมหาวิทยาลัยนเรศวร

แก้

ช่วงปี พ.ศ. 2527–2531 ทางวิทยาเขตได้เตรียมแผนสำหรับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ และในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 400 ปี ของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รัฐบาลในสมัยของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้ยกฐานะวิทยาเขตพิษณุโลก ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้ว่า "มหาวิทยาลัยนเรศวร" ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย[10]

ภายหลังจากการยกฐานะของมหาวิทยาลัยนเรศวรแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งอาคาร สถานที่และบุคลากร โดยมุ่งหวังที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive University)[16] จึงมีการจัดตั้งคณะ วิทยาลัยต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา และจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพในด้านการเรียนการสอน และการทำวิจัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ทางมหาวิทยาลัยมีมติจัดตั้งวิทยาเขตที่จังหวัดพะเยา[17] โดยปัจจุบันได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา[18] และในปี พ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร[19] เพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศในระดับมัธยมให้กับนักเรียนในเขตภาคเหนือตอนล่าง

การศึกษา

แก้

มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกครอบคลุมทั้งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรภาคปกติ ภาคพิเศษ และหลักสูตรนานาชาติรวมทั้งสิ้น 184 หลักสูตร แบ่งเป็นระดับระดับประกาศนียบัตร 2 หลักสูตรระดับ ปริญญาตรี 76 หลักสูตร ระดับปริญญาโท 62 หลักสูตร ระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง 1 หลักสูตร และระดับปริญญาเอก 43 หลักสูตร[6]

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนเรศวรมีหน่วยงานในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 16 คณะ 6 วิทยาลัย (ไม่รวมบัณฑิตวิทยาลัย)[20] ดังต่อไปนี้

กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

แก้

กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แก้

กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ

แก้

การก่อตั้งคณะ

แก้
ปีที่ก่อตั้ง คณะ
2510 คณะวิทยาศาสตร์คณะศึกษาศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์
2520 บัณฑิตวิทยาลัย
2536 คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2537 คณะแพทยศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์คณะวิศวกรรมศาสตร์วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน
2539 คณะพยาบาลศาสตร์คณะสหเวชศาสตร์
2543 คณะทันตแพทยศาสตร์
2544 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบวิทยาลัยนานาชาติ
2546 คณะนิติศาสตร์คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสารคณะสังคมศาสตร์คณะสาธารณสุขศาสตร์วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ต กริดเทคโนโลยี
2559 วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ
2563 คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน

ศูนย์วิทยบริการ

แก้

แต่เดิมมหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดตั้งศูนย์วิทยบริการเพื่อขยายเครือข่ายการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาไปยังจังหวัดต่าง ๆ ประกอบด้วย เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ ตาก สุโขทัย อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้สนใจศึกษาต่อที่ไม่สามารถมาเรียนโดยตรงที่มหาวิทยาลัยได้ และให้บัณฑิตวิทยาลัย กำกับดูแลและควบคุมมาตรฐานการศึกษา รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนของศูนย์วิทยบริการมหาวิทยาลัยทั้งหมด ต่อมาจึงได้จัดตั้งสถานการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบศูนย์วิทยบริการโดยเฉพาะ[22]

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ได้มีมติให้ปิดศูนย์วิทยบริการ และปิดหลักสูตรการเรียนการสอนของศูนย์วิทยบริการทั้งหมดเมื่อนิสิตในปัจจุบันสำเร็จการศึกษาแล้ว และให้ดำเนินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งเพียง 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรเภสัชศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมชุมชน (จัดการเรียนการสอนโดยคณะเภสัชศาสตร์ ณ เภสัชสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์) และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการคลังและการบริหารหลักประกันสุขภาพ (หลักสูตรนานาชาติ) (จัดการเรียนการสอนโดยคณะแพทยศาสตร์ ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.))[23] และในการประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติปิดสถานที่จัดการเรียนการสอน ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกแห่งหนึ่ง คงเหลือแต่เภสัชสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์เพียงแห่งเดียว[24]

การวิจัย

แก้
 
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

จากการที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้วางเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยเป็น "มหาวิทยาลัยวิจัย (Research University) "[16] จึงได้มีการจัดตั้งกองบริหารการวิจัย โดยเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานอธิการบดี เพื่อบริหารจัดการ ประสานงานและรวบรวมงานวิจัยต่าง ๆ ของคณาจารย์และนิสิตของมหาวิทยาลัย

ในแต่ละปี กองบริหารการวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัด "การประชุมวิชาการนเรศวรวิจัย (Naresuan Research Conference)" ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยและผู้ที่สนใจนำเสนอผลงานวิจัยและการสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 นี้ การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 9[ลิงก์เสีย] จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ โดยมีหัวข้อการประชุม เรื่อง "ความรู้สู่เชิงพาณิชย์ นำเศรษฐกิจไทยก้าวไกลอาเซียน (Research-Based Commercialization for ASEAN Economic Development)"

ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล ISI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 – พ.ศ. 2548 มีทั้งสิ้น 112 เรื่อง[25] ส่วนในปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับทุนวิจัยรวมทั้งสิ้น 280 โครงการ[26] โดยแบ่งตามสาขาดังนี้

การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

แก้

ระดับปริญญาตรี

แก้

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[27]

  • ระบบ Admission กลาง โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ความถนัดทั่วไป (GAT) และ ความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) [ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2553 เป็นต้นไป] โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  • ระบบรับตรง (โควตา) มหาวิทยาลัยดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี และ 1 จังหวัดภาคกลาง คือ ชัยนาท
  • โครงการพิเศษ ดังนี้
    • โครงการรับนิสิตแพทย์ในระบบคัดเลือกส่วนกลางร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)
    • โครงการนักเรียนที่มีผลการเรียนเป็นเลิศ
    • โครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ (สอวน.)
    • โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน
    • โครงการที่รับนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากการประกวดโครงงานวิทยานิพนธ์รุ่นเยาว์ (YSC)
    • โครงการผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านกีฬา
    • โครงการผู้มีความสามารถพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรม (ลูกพระฆเนศ)
    • โครงการผู้ที่มีความสามารถทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์
    • โครงการผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านทัศนศิลป์
    • โครงการผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านนาฏศิลป์ ดนตรี
ดูเพิ่มเติม การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

ระดับปริญญาโท

แก้

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท[28] ดังนี้

  • การสอบคัดเลือก เป็นการสอบคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบเอง
  • การคัดเลือก เป็นการคัดเลือกครูประจำการที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาวิชาต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนในภาคฤดูร้อน

ระดับปริญญาเอก

แก้

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาวิชาต่าง ๆ โดยการพิจารณาของมหาวิทยาลัย หรือสามารถสมัครสอบผ่านทางเว็บไซต์ได้[28]

อันดับและมาตรฐานมหาวิทยาลัย

แก้

การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย

แก้
อันดับมหาวิทยาลัย
อันดับในประเทศ (อันดับนานาชาติ)
สถาบันที่จัด อันดับ
CWUR (2023) -
Nature Index (2022-2023) 12 (-)
QS (World) (2024) 9 (1201-1400)
QS (Asia) (2023) 13 (401-500)
RUR (2023) -
SIR (2023) 13 (2572)
THE (World) (2023) 11 (1501+)
THE (Asia) (2023) 13 (601+)
UI Green Metric (2022) 16 (231)
uniRank (2023) 15 (2287)
URAP (2022-2023) 12 (1917)
U.S. News (World) (2022-2023) 10 (1835)
U.S. News (Asia) (2022-2023) 10 (716)
Webometrics (2023) 10 (1316)

ในปี พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย"[29] โดยในภาพรวมด้านการวิจัยนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเยี่ยมและเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 9 ของประเทศไทย

อันดับมหาวิทยาลัย

แก้

นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่

การจัดอันดับโดย SCImago Institutions Rankings

แก้

อันดับมหาวิทยาลัยโดย SCImago Institutions Rankings หรือ SIR ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ โดยผลการจัดอันดับสถาบันการศึกษา Scimago Institutions Rankings 2021 ประเภทภาพรวม (Overall Rank) ที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ [30] นั้น ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยในไทยติดอันดับจำนวน 27 แห่ง สำหรับมหาวิทยาลัยนเรศวรติดอันดับที่ 10 ของประเทศไทย และอันดับที่ 760 ของโลก[31] ซึ่งมีรายละเอียดในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • 1. ด้านการวิจัย ติดอันดับที่ 8 ของประเทศไทย อันดับที่ 420 ของโลก
  • 2. ด้านนวัตกรรม ติดอันดับที่ 12 ของประเทศไทย อันดับที่ 501 ของโลก
  • 3. ด้านสังคม ติดอันดับที่ 8 ของประเทศไทย อันดับที่ 241 ของโลก

Scimago Institutions Rankings เป็นการจัดอันดับจากองค์การในประเทศสเปน ทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาจากผลงาน 3 ด้าน[32] ได้แก่

  • 1. ด้านการวิจัย อ้างอิงผลข้อมูลจาก Scopus
  • 2. ด้านนวัตกรรม พิจารณาข้อมูลมาจาก PATSTAT
  • 3. ด้านสังคม ข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ

การจัดอันดับโดย Times Higher Education

แก้

เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกโดยนิตยสารไทมส์ไฮเออร์เอดยูเคชัน (Times Higher Education (THE)) ซึ่งมีการจัดอันดับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ ใน 5 มิติ คือ การเรียนการสอน ความเป็นสากล นวัตกรรม งานวิจัย และการอ้างอิงผลงานวิจัย สำหรับในภาพรวม (Overall) ของปี พ.ศ. 2565 นั้น มหาวิทยาลัยนเรศวรติดอันดับ 6 ร่วมของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยอยู่ในอันดับ 1,201+ ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก[33] เมื่อพิจารณาในแต่ละมิติแล้ว มหาวิทยาลัยนเรศวรติดอันดับของประเทศไทยดังนี้

  • 1. ด้านการเรียนการสอน ติดอันดับที่ 6 ของประเทศไทย
  • 2. ด้านความเป็นสากล ติดอันดับที่ 7 ของประเทศไทย
  • 3. ด้านนวัตกรรม ติดอันดับที่ 14 ของประเทศไทย
  • 4. ด้านวิจัย ติดอันดับที่ 14 ของประเทศไทย
  • 5. ด้านการอ้างอิงผลงานวิจัย ติดอันดับที่ 11 ของประเทศไทย

นอกจากนี้ Times Higher Education ยังได้มีการจัดอันดับในสาขาวิชาต่างๆ อีกด้วย โดยในปี พ.ศ. 2565 มีสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการจัดอันดับดังต่อไปนี้

  • 1. วิศวกรรมศาสตร์ ติดอันดับ 4 ร่วมของประเทศไทย อันดับที่ 801-1,000 ของโลก
  • 2. วิทยาศาสตร์สุขภาพ (แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์) ติดอันดับ 4 ร่วมของประเทศไทย อันดับที่ 601+ ของโลก
  • 3. วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (เกษตรศาสตร์ ชีววิทยา) ติดอันดับ 7 ร่วมของประเทศไทย อันดับที่ 801+ ของโลก
  • 4. วิทยาศาสตร์กายภาพ (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี) ติดอันดับ 7 ร่วมของประเทศไทย อันดับที่ 1,001+ ของโลก

การจัดอันดับโดย UI Green Metric World University Ranking

แก้

เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวที่จัดโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ในรอบ พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 16 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 278 ของโลก[34]

การจัดอันดับโดย uniRank

แก้

uniRank เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานไม่แสวงหากำไร IREG Observatory ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษาจากหลายสถาบัน และจดทะเบียนหน่วยงานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อันดับของ uniRank จะอาศัยการรวบรวมข้อมูลตัววัดเว็บ (web metrics) 5 ฐานข้อมูลได้แก่ 1. Moz Domain Authority 2. Alexa Global Rank 3. SimilarWeb Global Rank 4. Majestic Referring Domains 5. Majestic Trust Flow โดยการจัดอันดับประจำปี พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ในอันดับที่ 8 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 1,605 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก [35]

การจัดอันดับโดย Webometrics

แก้

การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ในอันดับที่ 4 ของมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค โดยเป็นอันดับที่ 9 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย อันดับ 32 ของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับ 1,318 ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก[36]

พื้นที่มหาวิทยาลัย

แก้

พื้นที่การศึกษา

แก้

มหาวิทยาลัยนเรศวร แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 2 ส่วนดังนี้

มหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนสนามบิน

แก้

หรือที่เรียกว่า "มน.ใน" ส่วนนี้เป็นสถานที่ตั้งแรกเดิมของมหาวิทยาลัย มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพิษณุโลก ณ เลขที่ 1 ถนนสนามบิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ในปัจจุบันคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ย้ายไปยังพื้นที่ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน "ไภษัชยศาลา" คณะเภสัชศาสตร์ และศูนย์สุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยนเรศวร (สนามบิน) คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนใหญ่เพื่อเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม


มหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนหนองอ้อ

แก้
 
ป้ายมหาวิทยาลัยนเรศวร
ภาพถ่ายทางอากาศของมหาวิทยาลัยนเรศวร

หรือที่เรียกว่า "มน.นอก" ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันของมหาวิทยาลัย มีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่ ณ เลขที่ 99 หมู่ 9 ถนนพิษณุโลก-นครสวรรค์ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก แต่เดิมนั้นที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ดินสาธารณะโดยชาวบ้านเรียกว่า "ทุ่งหนองอ้อ - ปากคลองจิก" เนื่องจากเคยเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยต้นอ้อ และมีต้นจิกปกคลุมไปทั่ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ทางมหาวิทยาลัยได้เข้าใช้พื้นที่และทำการปรับรูปที่ดินและถมหนองน้ำต่าง ๆ ซึ่งการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยนั้นอาศัยแผนแม่บท (Master Plan) ที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี พ.ศ. 2527[10]

การก่อสร้างอาคารของแต่ละคณะและแต่ละหน่วยงานนั้นคำนึงถึงกลุ่มสาขาวิชาเป็นหลัก โดยมีถนนนเรศวร และถนนเอกาทศรถเป็นถนนสายหลักล้อมรอบมหาวิทยาลัย เชื่อมกันด้วยถนนสุพรรณกัลยา นอกจากนี้มีถนนเชื่อมต่อเข้าสู่อาคารต่าง ๆ และมีประตูเข้า-ออกโดยรอบมหาวิทยาลัย 6 ประตู ซึ่งกลุ่มอาคารในมหาวิทยาลัยแบ่งเป็น 6 กลุ่มดังต่อไปนี้

  • กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย
  1. กลุ่มอาคารคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
    1. อาคารสิรินธร
    2. อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา 1
    3. อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา 2
    4. อาคารที่จอดรถ
  2. อาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
  3. กลุ่มอาคารคณะทันตแพทยศาสตร์ - คณะพยาบาลศาสตร์ - คณะสหเวชศาสตร์
  4. อาคารโรงพยาบาลทันตกรรม
  5. กลุ่มอาคารคณะเภสัชศาสตร์
  6. กลุ่มอาคารสาธารณสุข (อาคารคณะสาธารณสุขศาสตร์ - อาคารเรียนรวมวิทยาศาสตร์สุขภาพ - อาคารที่จอดรถ)
  • กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย
  1. กลุ่มอาคารคณะวิทยาศาสตร์
  2. กลุ่มอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์
  3. อาคารวิทยาลัยพลังงานทดแทน
  4. กลุ่มอาคารคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  5. อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
  6. อาคารคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน
  • กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย
  1. อาคารคณะศึกษาศาสตร์
  2. อาคารวิทยาลัยนานาชาติ (อาคารสำนักหอสมุดเดิม)
  3. กลุ่มอาคารคณะศึกษาศาสตร์ - คณะมนุษยศาสตร์
  4. กลุ่มอาคารอุตสาหกรรมบริการ (อาคารคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร - อาคารคณะสังคมศาสตร์ - อาคารคณะนิติศาสตร์ - อาคารปราบไตรจักร 2 (อาคารเรียนรวม) - อาคารที่จอดรถ)
  • อาคารส่วนกลาง ประกอบด้วย
  1. อาคารมิ่งขวัญ
  2. อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา บรมราชินีนาถ (สำนักงานอธิการบดี)
  3. อาคารเอกาทศรถ
  4. อาคารมหาธรรมราชา
  5. อาคารปราบไตรจักร 1
  6. อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินินาถ (อาคารเรียนรวมและโรงละคร)
  7. อาคารอเนกประสงค์
  8. อาคารสำนักหอสมุด อาคารแสงเทียน (อาคารหลังเดิม)
  9. อาคารสำนักหอสมุด อาคารเรียนรู้ (อาคารหลังใหม่)
  10. อาคารศูนย์บริการเทคโนโลยีและการสื่อสาร[37]
  11. อาคารวิสุทธิกษัตริย์
  12. อาคารเพราพิลาส
  13. อาคารบัณฑิตวิทยาลัย
  14. กลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์ชีวิต
  15. อาคารสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยนเรศวร
  • อาคารหอพักอาจารย์และนิสิต หอพักอาจารย์มีทั้งหมด 8 หลัง โดยมน.นิเวศ 1 - 4 และ มน.นิเวศ 5,6 อยู่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัย ส่วนหอพักอาจารย์ มน.นิเวศ 7,8 จะอยู่บริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัย ส่วนหอพักนิสิตซึ่งประกอบด้วยอาคารขวัญเมือง และหอพักนิสิต 1 - 16 อยู่บริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหอพักนิสิตแพทย์ซึ่งตั้งอยู่หลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร บริเวณข้าง มน.นิเวศ 6 อีกด้วย
  • ศูนย์กีฬา ประกอบด้วย สนามกีฬากลาง สนามเทนนิส สนามบาสเกตบอล สนามวอลเล่ย์บอล สนามตะกร้อ สนามเปตอง สนามฟุตบอล สนามซอฟต์บอล สนามกีฬาในร่ม โรงละครศิลป์ศาลา (โรงละครกลางแจ้ง) อาคารกิจกรรม และสระว่ายน้ำสุพรรณกัลยา
ดูเพิ่มเติม แผนที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยนเรศวร เก็บถาวร 2012-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

สถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัย

แก้

อาคารและสถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร มีดังนี้

  • อาคารมิ่งขวัญ เป็นที่ตั้งของหน่วยงานส่วนใหญ่ในสังกัดสำนักงานอธิการบดี แต่ตัวสำนักงานอธิการบดีอยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา บรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ โดยตั้งอยู่ตรงข้ามกับอาคารมิ่งขวัญ
 
ลานพระบรมราชานุสาวรีย์
  • ลานสมเด็จฯ คือลานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของนิสิตและบุคลากรทั้งมหาวิทยาลัย
 
หอพระเทพรัตน์
  • โดม เป็นชื่อเรียกของอาคารอเนกประสงค์โดยมีหลังคาคล้ายโดม ซึ่งภายในเป็นห้องอเนกประสงค์และลานกีฬาในร่มสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้อาคารอเนกประสงค์ยังเป็นที่ตั้งของห้องพระราชทานปริญญาบัตร พิพิธภัณฑ์ผ้า กองกิจการนิสิต รวมทั้งชมรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยด้วย
  • พิพิธภัณฑ์ผ้า โครงการพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก[39] โดยประกอบด้วย 2 หน่วยงานคือ
    • พิพิธภัณฑ์ผ้า ตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารอเนกประสงค์ โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของผ้าจากชนชาติต่าง ๆ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับเครื่องนุ่งห่มและการแต่งกาย นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมและนิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายและของประดับเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งปี และมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าชนิดต่าง ๆ และของที่ระลึกของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
    • พิพิธภัณฑ์ชีวิต ประกอบด้วยกลุ่มอาคารทรงไทยที่อยู่ข้างสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งภายในจะให้ความรู้ในด้านความเป็นมาของผ้าและการทอผ้า
  • โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ โดยเป็นศูนย์การแพทย์ระดับตติยภูมิขั้นสูง (Super tertiary care) ในภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง นอกจากเป็นสถานพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรยังเป็นศูนย์ประชุม ศูนย์การวิจัยและสถานที่ทำการเรียนการสอนนิสิตในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น ศูนย์วิจัย หรือสถาบันวิจัย
  • ตึก CITCOMS เป็นชื่อเรียกของอาคารสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือตอนล่าง สถานพัฒนาวิชาการด้านภาษา
    • กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นศูนย์ฝึกอบรม รวมทั้งเป็นศูนย์ควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของมหาวิทยาลัย สังกัดสำนักงานอธิการบดี ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงกลุ่มอาคารต่าง ๆ พ.ศ. 2539 และต่อมาใน พ.ศ. 2540 ได้ทำการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัย เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการระบบเครือข่าย วิเคราะห์ออกแบบติดตั้งและพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่นิสิตของมหาวิทยาลัย รวมทั้งศูนย์พิมพ์เอกสาร และสตูดิโอถ่ายภาพ
    • สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือตอนล่าง เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอธิการบดี ดำเนินการจัดตั้งเพื่อพัฒนาและประยุกต์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จัดตั้งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2544 โดยศูนย์แห่งนี้เป็น 1 ใน 5 ศูนย์ภูมิภาคทั่วประเทศไทย ร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบัณฑิตวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตร อันได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
  • ตึก QS เป็นชื่อเรียกของอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบไปด้วยอาคารเรียนรวมและอาคารโรงละคร นอกจากนี้ สำนักงานกองบริการการศึกษาและสำนักงานไปรษณีย์ยังตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารเรียนรวมอีกด้วย
  • สวนเทเลทับบี้ เป็นสวนสาธารณะกลางมหาวิทยาลัยโดยตั้งอยู่ระหว่างอาคารสำนักหอสมุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ โดยชื่ออย่างเป็นทางการของสวนนี้คือ "กรีน แอเรีย" (Green Area) หรือ "โอเอซิส" (Oasis) จนกระทั่งมีภาพยนตร์สำหรับเด็กเรื่อง "เทเลทับบี้" เข้ามาฉายในประเทศไทย ซึ่งลักษณะของสวนมีความคล้ายคลึงกับสวนในภาพยนตร์ นิสิตจึงเรียกกันเล่น ๆ ว่าสวนเทเลทับบี้จนติดปาก
  • สวนพลังงาน ตั้งอยู่ภายในวิทยาลัยพลังงานทดแทน โดยเป็นสวนตัวอย่างที่เป็นแหล่งสาธิตการใช้งานจริงของระบบพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ชีวมวล และมีศูนย์ธุรกิจที่เป็นแหล่งของความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการดำเนินการส่งเสริมธุรกิจทางด้านพลังงานทดแทน[40]

ชีวิตในมหาวิทยาลัย

แก้

การเรียนในมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นจะใช้เวลาในการเรียนต่างกันตามแต่ละหลักสูตรในแต่ละคณะ โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาในการเรียน 4 ปี แต่สำหรับคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์​ และคณะสหเวชศาสตร์​ สาขาทัศนมาตรศาสตร์​ จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 6 ปี ส่วนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และหลักสูตรคู่ขนานของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 5 ปี[27] นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้นิสิตได้เข้าร่วมเพื่อที่จะได้พบปะและทำความรู้จักนิสิตในคณะอื่น ซึ่งมีการจัดหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี

กิจกรรมและประเพณีของมหาวิทยาลัย

แก้
  • พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมหรือเดือนมีนาคม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ในกิจการของมหาวิทยาลัยนเรศวร
  • รับน้องเฟรชชี่และบีกินนิ่งแคมป์ (Beginning Camp) กิจกรรมรับน้องใหม่ก่อนเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 1 สำหรับนิสิตใหม่ชั้นปีที่ 1 โดยจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อให้นิสิตใหม่รู้จักมหาวิทยาลัยมากขึ้นและให้ปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างน้อง-พี่
  • กิจกรรมประชุมเชียร์ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 1 เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีของนิสิตชั้นปีที่ 1 และเป็นการสอนร้องเพลงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 1 ซึ่งภายหลังกิจกรรมประชุมเชียร์แล้ว แต่ละคณะมักจะให้มีการซ้อมการแสดงสแตนเชียร์ต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ ก่อนการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย โดยกิจกรรมประชุมเชียร์นี้จะจัดขึ้นในห้องเชียร์ ของแต่ละคณะ
  • หนองอ้อเกมส์ กีฬาภายในของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตคณะต่าง ๆ ซึ่งนอกจากการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังมีจุดที่น่าสนใจที่สุดของงานก็คือ การแสดงสแตนเชียร์ของแต่ละคณะ โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี
  • งานเปิดโลกกิจกรรมและเฟรชชี่ ไนท์ (Freshy Night) กิจกรรมที่ให้นิสิตชั้นปีที่ 1 เลือกเข้าชมรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ส่วนในตอนกลางคืนจะมีการแสดงดนตรี การแสดงของนิสิตแต่ละคณะ และการประกวดดาวและเดือนของมหาวิทยาลัย โดยจัดขึ้น ณ อาคารเอนกประสงค์
  • "Power Cheer" งานร้องเพลงมหาวิทยาลัย ภาคภูมิใจนเรศวร เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตรุ่นพี่และรุ่นน้อง ให้นิสิตใหม่เกิดความรักและภาคภูมิใจในสถาบัน โดยมีกิจกรรมการแสดงละครกลางแจ้ง ประกอบแสง สี เสียง เรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช การแสดงประกอบจินตลีลา จากนั้นเป็นการร่วมกันร้องเพลงมหาวิทยาลัยประกอบการแปรอักษรอันแสดงถึงความสามัคคี และความภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยนเรศวร
  • งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ของทุกปีในคณะต่าง ๆ ในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ภายในงานจะมีนิทรรศการความรู้และกิจกรรมเสริมสร้างความรู้มากมาย
  • งานลอยกระทง เทิดไท้องค์ราชันย์ มิ่งขวัญนเรศวร งานประเพณีลอยกระทงของมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นทุกปีในวันลอยกระทง โดยภายในงานจะมีขบวนแห่กระทงยักษ์ของแต่ละคณะ งานจัดร้านขายของและซุ้มเกมส์ของนิสิตแต่ละคณะ รวมทั้งงานแสดงมหรสพอีกมากมาย
  • งานกีฬาเฮลธ์ไซนซ์ (Health Sciences Games) เป็นการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะ ในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ 7 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ของทุกปี
  • เอ็นยู วอยซ์ มิวสิก คอนเทสต์ (NU. Voice Music Contest) งานประกวดการขับร้องเพลงไทยสากลและเพลงสากลประจำปีของมหาวิทยาลัย โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมหรือมกราคม ของทุกปี
  • วงดนตรีลูกทุ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร NU Band การแสดงความสามารถด้านการร้อง การเต้น และการเล่นดนตรี ของนิสิต/นักศึกษา จากระดับปริญญาตรีคณะต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งคัดเลือกนิสิต/นักศึกษาจากผู้มีความสามารถในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยจะพิจารณาจากด้านความสามารถพิเศษ ภายใต้ "โครงการผู้ที่มีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปวัฒนธรรม (โครงการลูกพระฆเนศ)" และชมรมส่วนกลางของมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าร่วมวงดนตรีลูกทุ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร NU Band โดยวงดนตรีลูกทุ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร NU Band ได้รับงานแสดงจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้้งภาครัฐและภาคเอกชน หรือการแข่งขันระดับอุดมศึกษาเวทีต่าง ๆ
  • ดาวรุ่งลูกทุ่งนเรศวร เป็นการแข่งขันประกวดวงดนตรีลูกทุ่งพร้อมหางเครื่อง ระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่งทีมที่ชนะการแข่งขันจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี

งานเทางามสัมพันธ์

แก้

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมภายในของแต่ละคณะ และกิจกรรมระหว่างคณะของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัย

ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัย

แก้

รายนามนายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร นับแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร
รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ดร.อนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 – 24 มกราคม พ.ศ. 2534
2. นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ 25 มกราคม พ.ศ. 2534 – 13 มกราคม พ.ศ. 2545
3. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย 29 มิถุนายน พ.ศ. 2545 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2547
4. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2547 – 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553
5. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
6. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา 12 กันยายน พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน

ทำเนียบผู้บริหารและอธิการบดี

แก้

รายนามผู้บริหารและอธิการบดีตั้งแต่สมัยวิทยาลัยวิชาการศึกษาจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้[10]

วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์ กันยายน พ.ศ. 2510 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2526
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ กินาวงศ์ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2526 – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
3. รองศาสตราจารย์ ฉัตรชัย อรณนันท์ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 – 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532
4. รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรง ศิริเจริญ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 – 23 เมษายน พ.ศ. 2533
5. ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทอง เมษายน พ.ศ. 2533 – 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 (รักษาการ)
มหาวิทยาลัยนเรศวร
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
5. ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทอง 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 – 24 มกราคม พ.ศ. 2534 (รักษาการ)
6. ศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ 25 มกราคม พ.ศ. 2534 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2534 (รักษาการ)
25 มีนาคม พ.ศ. 2534 – 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535
7. ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน 1 เมษายน พ.ศ. 2535 – 19 มกราคม พ.ศ. 2536 (รักษาการ)
20 มกราคม พ.ศ. 2536 – 19 มกราคม พ.ศ. 2544
20 มกราคม พ.ศ. 2552 – 19 มกราคม พ.ศ. 2560
8. ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกร ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี 20 มกราคม พ.ศ. 2544 – 19 มกราคม พ.ศ. 2552
9. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี 20 มกราคม พ.ศ. 2560 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2560 (รักษาการ)
13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 (รักษาการ) [41]
18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 [42]
10. รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560 – 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 (รักษาการ)
11. รองศาสตราจารย์ ดร.บุญญรัตน์ โชคบันดาลชัย 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2565 (รักษาการ) [43]
12. รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี 25 มีนาคม พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน (รักษาการ) [44]

การพักอาศัยของนิสิต

แก้
 
อาคารขวัญเมืองและหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

เนื่องจากมหาวิทยาลัยตั้งอยู่นอกเขตตัวเมือง ทำให้นิสิตส่วนใหญ่ทั้งที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดพิษณุโลก และนิสิตที่มาจากจังหวัดอื่น ๆ มีความจำเป็นในการพักอาศัยในหอพักบริเวณมหาวิทยาลัย ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงได้สร้างหอพักนิสิตภายในมหาวิทยาลัย โดยมีนโยบายให้นิสิตชั้นปี 1 ทุกคณะ พักอาศัยอยู่ภายในหอพักนิสิตของมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเพื่อนนิสิตคณะอื่น ๆ ซึ่งหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรตั้งอยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยบริเวณข้างอ่างเก็บน้ำ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นอาคาร 4 ชั้น มีทั้งสิ้น 15 อาคาร โดยมี "อาคารขวัญเมือง" เป็นอาคารบริการและอาคารอเนกประสงค์ของหอพักนิสิต การพักอาศัยในหอพักของมหาวิทยาลัยนั้นจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายรายปี[45] และในส่วนของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ทางคณะมีหอพักให้สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปี 2 - 6 โดยเก็บค่าใช้จ่ายรายปี

สำหรับนิสิตชั้นปีอื่น ๆ สามารถเช่าหอพักเอกชนภายนอกมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งมีอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย[46]

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

แก้

นับแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยนเรศวร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ในกิจการของมหาวิทยาลัยนเรศวร และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นประจำทุกปี

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทรงราชย์ สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรสืบมาจวบจนกาลปัจจุบัน โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยจัดขึ้น ณ ห้องประชุมมหาราช ศูนย์แสดงนิทรรศการและจัดการประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง

แก้

มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กำหนดครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง ไว้เป็นชุดพิธีการสำหรับสำหรับใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ดังนี้

  • ครุยวิทยฐานะ
    • ครุยดุษฎีบัณฑิต เป็นครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดรอบขอบและที่ปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง ถัดมาเป็นแถบสีประจำมหาวิทยาลัย กว้าง 2 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้างและถัดมาอีกเป็นแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดเป็นพื้นสักหลาดสีดำ กว้าง 2 เซนติเมตร ที่ต้นแขนมีสำรดรอบต้นแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง ถัดมาเป็นแถบสีเทา กว้าง 1 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง ตอนกลางมีแถบทับสีแสด กว้าง 1 เซนติเมตร จำนวน 3 แถบ โดยห่างจากแถบสีเทา 1 เซนติเมตร และระหว่างแถบสีแสดห่างกัน 0.5 เซนติเมตร
    • ครุยมหาบัณฑิต มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยดุษฎีบัณฑิต แต่สำรดรอบต้นแขนพื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง ถัดมาเป็นแถบสีเทา กว้าง 1 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง ตอนกลางมีแถบทับสีแสด กว้าง 1.5 เซนติเมตร จำนวน 2 แถบ โดยห่างจากแถบสีเทา 1 เซนติเมตร และระหว่างแถบสีแสดห่างกัน 1 เซนติเมตร
    • ครุยบัณฑิต มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยมหาบัณฑิต แต่สำรดรอบต้นแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง ถัดมาเป็นแถบสีเทา กว้าง 1 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง ตอนกลางมีแถบทับสีแสด กว้าง 2 เซนติเมตร จำนวน 2 แถบ โดยห่างจากแถบสีเทา 2 เซนติเมตร
  • เข็มวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นตรามหาวิทยาลัยซึ่งมีลักษณะเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคารหลั่งทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพ ตอนล่างพระแท่นมีอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ภายในป้ายชายธง และมีอักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ทำด้วยโลหะสีเงิน สูง 5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรดบนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง
  • ครุยประจำตำแหน่ง
    • นายกสภามหาวิทยาลัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี เป็นครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดรอบขอบและที่ต้นแขนกับปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้างถัดมาเป็นแถบสีเทา กว้าง 2 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง และถัดมาอีกเป็นแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดมีแถบทับสีแสด กว้าง 2 เซนติเมตร และมีตรามหาวิทยาลัยซึ่งมีลักษณะเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคารหลั่งทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพ ตอนล่างพระแท่นมีอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ภายในป้ายชายธง ทำด้วยโลหะสีทองสูง 5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรดบนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง และมีสายสร้อยทำด้วยโลหะสีทอง พร้อมด้วยเครื่องหมายประจำคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยตามแบบที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดประดับระหว่างตรามหาวิทยาลัยทั้งสองข้าง
    • กรรมการสภามหาวิทยาลัย มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยประจำตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี แต่ไม่มีสายสร้อยประดับ
    • คณาจารย์ของมหาวิทยาลัย เป็นครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดรอบขอบและที่ต้นแขนกับปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง ถัดมาเป็นแถบทอง กว้าง 0.5 เซนติเมตร จำนวน 2 แถบ ทับทั้งสองข้าง ระหว่างแถบทองห่างกัน 0.5 เซนติเมตร ตอนกลางสำรดเป็นแถบสีประจำมหาวิทยาลัย ด้านในเป็นแถบทับสีเทา กว้าง 1 เซนติเมตร ด้านนอกเป็นแถบทับสีแสด กว้าง 1 เซนติเมตร และมีตรามหาวิทยาลัยซึ่งมีลักษณะเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคารหลั่งทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพ ตอนล่างพระแท่นมีอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ภายในป้ายชายธง ทำด้วยโลหะสีทอง สูง 5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรดบนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง


การเดินทางสู่มหาวิทยาลัย

แก้

หากเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 (นครสวรรค์ - พิษณุโลก) มหาวิทยาลัยนเรศวรจะตั้งอยู่ทางขวามือช่วงกิโลเมตรที่ 117 - 118 สำหรับการเดินทางจากภายในตัวเมืองพิษณุโลกมาที่มหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น สามารถทำได้โดย

  • รถโดยสารประจำทาง สาย 12 (สองแถวป้ายสีฟ้าและสีแดง) ซึ่งจะมีจุดจอดอยู่ที่ สถานีรถไฟและสถานีขนส่งพิษณุโลก
  • รถสามล้อรับจ้าง
  • รถแท๊กซี่รับจ้าง

ส่วนจุดจอดรถโดยสารประจำทาง สาย 12 ในมหาวิทยาลัยนั้นจะจอดที่ป้ายรถโดยสารประจำทางเยื้องหอพักอาจารย์ มน.นิเวศ 7,8

สำหรับการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยจะมี "โครงการขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยนเรศวร (ขสมน.) " ซึ่งเป็นรถประหยัดพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าบริการรอบมหาวิทยาลัยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่เวลา 7.00 น. ถึง 21.00 น.

ดูเพิ่มเติม แผนที่เส้นทางเดินรถไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร จากเว็บไซต์โครงการขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัยนเรศวร เก็บถาวร 2017-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

บุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยนเรศวร

แก้
ดูบทความหลักที่ รายนามบุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยนเรศวร

บุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เป็นคณาจารย์และผู้บริหารทั้งในอดีต และปัจจุบัน รวมทั้งศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก สมัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก จนกระทั่งถึงสมัยมหาวิทยาลัยนเรศวร มีหลากหลายตั้งแต่บุคคลสำคัญในด้านการเมืองการปกครอง นักวิชาการ ศิลปิน ข้าราชการและคณาจารย์ เช่น

การเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล

แก้

การออกนอกระบบเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลของมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น มีที่มาตั้งแต่การนำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ต่อสภามหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2542 และผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี พ.ศ. 2547[47] ต่อมาคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ได้มีมติเห็นชอบให้นำร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549[48]

หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ชะลอการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ฉบับออกไป แต่ต่อมาภายหลังจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยทักษิณ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เรียบร้อยแล้ว ทางศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นได้เสนอนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 เพื่อพิจารณาให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับข้างต้นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และต่อมาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[48] จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สอบถามมายังสภามหาวิทยาลัยเพื่อยืนยันการเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้ง ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยได้ทำการประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 มีมติเห็นชอบและให้การสนับสนุนด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 7[49][50]

รัฐบาลจึงได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าบรรจุเป็นวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทั้ง 2 ฉบับ ส่วนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ให้ชะลอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้งในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[47]

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ได้มีกลุ่มนิสิตของมหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์แสดงความเคลือบแคลงสงสัยในขั้นตอนการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... โดยอ้างว่าทางมหาวิทยาลัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยน้อยเกินไป ทำให้นิสิตไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังขาดกระบวนการทำประชาพิจารณ์ที่ถูกต้อง โดยนิสิตที่เข้าร่วมเสนอข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวมีจำนวนน้อยเกินไป ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของนิสิตในการประชุมเสนอความเห็น เพียงแต่บอกข้อดี ข้อเสีย และความไม่โปร่งใสเนื่องจากมีการเข้าวาระการพิจารณาอย่างเร่งด่วน[51] และในวันเดียวกันนั้นได้มีนิสิตประมาณ 500 คนเดินขบวนประท้วงรอบมหาวิทยาลัยเพื่อต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย[52]

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 นายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรได้มายื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนหน้าที่จะเข้าสู่วาระประชุมในสภา เพื่อขอให้ชะลอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... โดยให้เหตุผลว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้นิสิตมีส่วนร่วมในร่างนี้ ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับมาทำความเข้าใจตกลงร่วมกันกับประชาคมภายในมหาวิทยาลัยให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกันก่อน[50] ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ใหม่อีกครั้งในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550[53] แต่ต่อมาได้ยกเลิกโดยให้เหตุผลว่าการทำความเข้าใจกับบุคลากรและนิสิตอย่างทั่วถึง จะต้องใช้เวลาพอสมควรหากจะดำเนินการในระยะเวลาสั้น ๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาดังเช่นที่ผ่านมาขึ้นอีกได้ จึงเห็นควรชะลอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ไปจนกว่าจะทำความเข้าใจกับประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรให้มีความเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายจึงจะดำเนินการนำเสนอต่อไป[54][55]

จากนั้นในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอถอนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากได้เลื่อนการพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง[56]

ต่อมาในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการบรรจุร่างพระราชบัญญัติปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในแผนนิติบัญญัติ โดยเป็นไปตามความสมัครใจของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554 มีมติไม่ประสงค์เสนอร่างพระราชบัญญัติการปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยดังกล่าว [57]

อ้างอิง

แก้
  1. การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออกของ กระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เก็บถาวร 2021-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๑๙, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. 3.0 3.1 "สถิติบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ วันที่ 21/10/2024". กองการบริหารงานบุคคล สำนักงานอธิการบดี. มหาวิทยาลัยนเรศวร. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. สรุปจำนวนนิสิต แยกตามระดับ ประจำปีการศึกษา 2563
  5. "บทบาทของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลกที่เกี่ยวกับนโยบายการลงทุน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-01. สืบค้นเมื่อ 2008-03-05.
  6. 6.0 6.1 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2015-08-28.
  7. สรุปจำนวนนิสิต แยกตามระดับ ประจำปีการศึกษา 2563
  8. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ สถิติบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ วันที่ 7/10/2021
  9. "ประวัติมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-23. สืบค้นเมื่อ 2007-07-27.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 รังสรรค์ วัฒนะ. อนุทินของการเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา, 2547.
  11. 11.0 11.1 สมาคมศิษย์เก่า มศว. (2501). หนังสือที่ระลึก ประสานมิตรบัณฑิต รุ่น 5.
  12. ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. 2497, มาตรา เล่ม ๗๑ ตอนพิเศษ ๖๑ ประกาศใช้เมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2497. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2559.
  13. กรมฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ (2535). แนวคิดและผลงานศาสตราจารย์บุญถิ่น อัตถากร. p. 139.
  14. สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (2554). "รวบรวมครูเทพศิรินทร์ตั้งแต่อดีต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. 15.0 15.1 ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗, มาตรา เล่ม ๙๑ ตอนพิเศษ ๑๑๒ ประกาศใช้เมื่อ 28 มิถุนายน 2517. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561.
  16. 16.0 16.1 "เป้าหมายในการบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-28. สืบค้นเมื่อ 2008-02-17.
  17. "ประวัติมหาวิทยาลัยพะเยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-15. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.
  18. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553
  19. "ประวัติโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-15. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.
  20. "หน่วยงานของมหาวิทยาลัย - คณะ วิทยาลัย สถาบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-15. สืบค้นเมื่อ 2008-03-05.
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การรับวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๖, ตอน ๑๖๔ ง, ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒, หน้า ๑
  22. ประวัติสถานการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยนเรศวร[ลิงก์เสีย]
  23. "มติที่ประชุมโดยย่อ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 165 (8/2554)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2012-01-25.
  24. "มติที่ประชุมโดยย่อ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 176 (10/2555)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2012-11-21.
  25. Update on Thai Publications in ISI Databases (1999-2005)
  26. ระบบฐานข้อมูลงานวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร[ลิงก์เสีย]
  27. 27.0 27.1 คู่มือนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีการศึกษา 2551
  28. 28.0 28.1 คู่มือนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีการศึกษา 2551
  29. "ฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-20. สืบค้นเมื่อ 2021-08-20.
  30. https://www.scimagoir.com
  31. [https://www.scimagoir.com/rankings.php?country=THA&sector=Higher%20educ. SCImago Institutions Rankings
  32. https://www.scimagoir.com/rankings.php?country=THA&sector=Higher%20educ
  33. https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/2022/world-ranking#!/page/0/length/25/locations/THA/sort_by/rank/sort_order/asc/cols/stats
  34. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-18. สืบค้นเมื่อ 2022-02-18.
  35. https://www.4icu.org/reviews/4496.htm
  36. Ranking web of universities: Thailand
  37. "ข้อมูลอาคาร มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยกองอาคารสถานที่". office.nu.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-05. สืบค้นเมื่อ 2021-04-01.
  38. วารสาร ม.นเรศวรสัมพันธ์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 88 เดือนกรกฎาคม 2551
  39. "ประวัติพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-17. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.
  40. "สวนพลังงาน วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-20. สืบค้นเมื่อ 2008-04-04.
  41. สภามหาวิทยาลัยนเรศวร มติเห็นชอบให้ “ศ.พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี” นั่งอธิการบดี
  42. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ , เล่ม ๑๓๕, ตอนพิเศษ ๔๐ ง, ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑, หน้า ๑๐
  43. คำสั่งมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ 5/2565 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร
  44. "ม.นเรศวร จัดพิธีการรับส่งงานในหน้าที่ราชการอธิการบดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-24. สืบค้นเมื่อ 2022-03-25.
  45. "หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-21. สืบค้นเมื่อ 2021-08-20.
  46. "รายชื่อหอพักเอกชนรอบบริเวณมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-15. สืบค้นเมื่อ 2008-02-26.
  47. 47.0 47.1 เอกสารชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... (ในกำกับของรัฐ) วันที่ 27 พฤศจิกายน 2550
  48. 48.0 48.1 "แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ... เพื่อเปลี่ยนเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2550". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-03. สืบค้นเมื่อ 2008-03-15.
  49. "คณะกรรมการสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีมติสนับสนุนมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-01. สืบค้นเมื่อ 2008-03-15.
  50. 50.0 50.1 กม.ดัน ม.นเรศวร ออกนอกระบบชะงัก “วิจิตร” ขอถอนกลับไปตั้งหลักใหม่ เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2550
  51. "กลุ่มนิสิต ม.นเรศวร ยื่นแถลงการณ์คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-18. สืบค้นเมื่อ 2008-03-15.
  52. กองทัพนิสิต มน. กว่าครึ่งพันเดินขบวนถามหาความโปร่งใส
  53. หนังสือ ศธ 0527.01.01/617 เรื่องขอเชิญร่วมประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ...
  54. "มติที่ประชุมโดยย่อ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 133 (6/2550)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14. สืบค้นเมื่อ 2007-10-17.
  55. กับดักร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร
  56. ครม.ไฟเขียวถอนร่างพ.ร.บ.มน. ดันมช.-สจล.-จุฬาฯออกนอกระบบ
  57. "มติที่ประชุมโดยย่อ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 164 (7/2554)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2011-11-29.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

16°44′23″N 100°11′26″E / 16.739784°N 100.190506°E / 16.739784; 100.190506