จังหวัดอุตรดิตถ์
อุตรดิตถ์ (ไทยถิ่นเหนือ: ᩏᨲ᩠ᨲᩁᨯᩥᨲ᩠ᨳ᩺, อุตฺตรดิตฺถ์) เป็นจังหวัดหนึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ได้ชื่อว่าเมืองท่าแห่งทิศเหนือ ในอดีตเป็นหัวเมืองชุมนุมการค้าที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ อุตรดิตถ์นั้นเป็นเมืองที่เรียกว่าเป็นเมืองรอยต่อทางวัฒนธรรม ทั้งวัฒนธรรมสยาม วัฒนธรรมล้านนา และวัฒนธรรมล้านช้าง มีเมืองโบราณในพื้นที่ 12 เมือง อันได้แก่ เมืองพิชัย เมืองทุ่งยั้ง เมืองตรอน เมืองน้ำปาด เมืองลับแล เมืองด่านนางพูน เมืองบางโพ เมืองพิพัต เมืองปัตตาบูร เมืองพิมูน เมืองฝาง และเมืองขุนกัน เมืองโบราณเหล่านี้ล้วนมีเอกสารเก่าแก่รองรับ เอกสารที่สำคัญที่สุดคือ เอกสารทูตตอบในสมัยสมเด็จพระนารายมหาราช พ.ศ. 2224 และแผนที่โบราณของชาวต่างชาติหลายฉบับ
จังหวัดอุตรดิตถ์ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Uttaradit |
คำขวัญ: เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก[1] | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดอุตรดิตถ์เน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ[2] (ตั้งแต่ พ.ศ. 2566) |
พื้นที่[3] | |
• ทั้งหมด | 7,838.592 ตร.กม. (3,026.497 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 25 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[4] | |
• ทั้งหมด | 439,629 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 59 |
• ความหนาแน่น | 56.08 คน/ตร.กม. (145.2 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 70 |
รหัส ISO 3166 | TH-53 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | บางโพธิ์ท่าอิฐ, พิชัย, ท่าเหนือ, เมืองลับแล |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | สัก |
• ดอกไม้ | ประดู่บ้าน |
• สัตว์น้ำ | ปลาตะโกก |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ถนนประชานิมิตร ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000 |
• โทรศัพท์ | 0 5541 1977 |
• โทรสาร | 0 5541 1537, 0 5541 1977 |
เว็บไซต์ | http://www.uttaradit.go.th |
จังหวัดอุตรดิตถ์ | |
ชื่อภาษาไทย | |
---|---|
อักษรไทย | อุตรดิตถ์ |
อักษรโรมัน | Uttaradit |
ชื่อคำเมือง | |
อักษรธรรมล้านนา | ᩏᨲ᩠ᨲᩁᨯᩥᨲ᩠ᨳ᩺ |
อักษรไทย | อุตฺตรดิตฺถ์ |
เดิมทีตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนี้เป็นเพียงตำบลชื่อ "บางโพธิ์ท่าอิฐ" แต่เพราะบางโพธิ์ท่าอิฐซึ่งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่านมีความเจริญรวดเร็ว เพราะเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าสำคัญในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ย้ายเมืองหลักมาจากเมืองพิชัยมายังตำบลบางโพธิ์ท่าอิฐ และยกฐานะขึ้นเป็นเมือง "อุตรดิตถ์" ซึ่งมีความหมายว่า ท่าน้ำแห่งทิศเหนือของสยามประเทศ [5] ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมืองอุตรดิตถ์มีความเจริญขึ้น เมืองอุตรดิตถ์จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด
จังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ทางใต้สุดของภาคเหนือ โดยสภาพภูมิศาสตร์จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่สูงสลับซับซ้อน ซึ่งจะอยู่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด เนื่องจากทำเลที่ตั้งดังกล่าวจึงทำให้จังหวัดอุตรดิตถ์มีอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน มีอากาศฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูฝน และมีช่วงฤดูแล้งคั่นอยู่อย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม เดือนที่ร้อนที่สุดคือเดือนเมษายน จังหวัดอุตรดิตถ์ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ปกติจะมีแหล่งกำเนิดบริเวณทะเลอันดามัน ทำให้จังหวัดอุตรดิตถ์มีช่วงฤดูฝนกินระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน โดยเดือนกันยายนเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงที่สุด
ประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99.66 นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท[6] โดยประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยใช้พื้นที่ในการทำการเกษตรประมาณร้อยละ 26.70 ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังประกอบอาชีพทางด้านปศุสัตว์ รวมทั้งมีการทำพืชไร่ปลูกผลไม้นานาชนิด โดยผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์คือลางสาด
ส่วนการเดินทางมายังจังหวัดอุตรดิตถ์สามารถใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง ทั้งทางรถไฟ ทางรถโดยสารประจำทาง และทางรถยนต์ส่วนบุคคล สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบิน จังหวัดอุตรดิตถ์เคยมีท่าอากาศยาน 1 แห่ง สำหรับการเดินทางพาณิชย์ แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว
สถานที่สำคัญภายในจังหวัดนั้น มีทั้งแหล่งโบราณสถาน เช่น วัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระฝางสว่างคบุรีมุนีนาถ วัดพระยืนพุทธบาทยุคล วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ซากเมืองโบราณสมัยอาณาจักรสุโขทัย แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน และแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมาย ทั้งน้ำตก เขื่อนสิริกิติ์ วัด พระพุทธรูปสำคัญของจังหวัด เป็นต้น
ศัพทมูลวิทยา
แก้ชื่อของจังหวัดมาจากคำว่า อุตร (อ่านว่า อุดดอน) หรือ อุตดร (อ่านว่า อุดตะระ) มาจากภาษาบาลี: อุตฺตร หมายถึง "ทิศเหนือ" รวมกับคำว่า ดิตถ์ บางทีเขียนเป็น ดิษฐ์ หรือ ดิฐ มาจากภาษาบาลี: ติตฺถ หรือภาษาสันสกฤต: ตีรฺถ หมายถึง "ท่าน้ำ" ทำให้มีความหมายเป็น "เมืองท่าแห่งทิศเหนือ" หรือ "ท่าเรือด้านทิศเหนือของสยามประเทศ"
ประวัติศาสตร์
แก้สมัยก่อนประวัติศาสตร์
แก้พื้นที่ตั้งตัวเมืองอุตรดิตถ์ในอดีต เป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบลุ่มอันเกิดจากดินตะกอนแม่น้ำพัดของแม่น้ำน่านที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและประกอบกสิกรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานบริเวณรอบที่ตั้งตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวและการตั้งถิ่นฐานของแหล่งชุมชนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี ดังการค้นพบเครื่องมือหินขัดและซากกระดูกมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบุ่งวังงิ้วซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามตำบลบางโพ-ท่าอิฐ และการค้นพบกลองมโหระทึกสำริด กาน้ำและภาชนะสำริดที่ม่อนศัลยพงษ์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลบางโพใน พ.ศ. 24701[8]
สมัยประวัติศาสตร์
แก้พื้นที่ตั้งตัวเมืองอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ในทำเลที่ตั้งอันเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังนั้นในบริเวณแถบนี้จึงมีการเคลื่อนไหวและย้ายถิ่นฐานของผู้คนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีท่าน้ำที่สำคัญ 3 ท่า คือ ท่าเซา ท่าอิด และท่าโพธิ์ ซึ่งมีความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยขอมปกครองท่าอิด ตั้งแต่ พ.ศ. 1400[9]
เมืองท่าการค้าขายสำคัญ
แก้ที่ตั้งของตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันมีที่มาจาก 3 ท่าน้ำสำคัญที่มีความสำคัญเป็นชุมทางค้าขายมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรขอม คือ
- ท่าอิด คือ บริเวณท่าอิฐบนและท่าอิฐล่างปัจจุบัน
- ท่าโพธิ์ คือ บริเวณวัดท่าถนน ตลาดบางโพ เนื่องจากมีต้นโพธิ์มาก มีคลองไหลผ่าน เรียกว่า คลองบางโพธิ์ (เพี้ยนมาเป็นบางโพ)
- ท่าเสา คือ บริเวณตลาดท่าเสา
วิบูลย์ บูรณารมย์ ผู้แต่งหนังสือตำนานเมืองอุตรดิษฐ์ ได้อธิบายว่าความหมายของชื่อ "ท่าอิด" และ "ท่าเสา" ไว้ว่า คำว่า "อิด" หรือ "อิฐ" ในชื่อท่าอิดเพี้ยนมาจากคำว่า "อิ๊ด" ในภาษาล้านนา แปลว่า "เหนื่อย" ส่วนคำว่า "เสา" ในชื่อท่าเสามาจากคำว่า "เซา" ในภาษาล้านนา แปลว่า "พักผ่อน" ทั้งสองคำนี้มีที่มาจากการเดินทางมาค้าขายที่ท่าอิดทางเรือ และทางบกของจังหวัดภาคเหนือ และภาคกลางสมัยโบราณ กว่าจะถึงก็เหนื่อยและต้องพักผ่อน[9]
สำหรับความหมายของท่าอิฐและท่าเสาในอีกความเห็นหนึ่งนั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากร กล่าวไว้ในหนังสือของท่านคัดค้านการสันนิษฐานความหมายตามภาษาคำเมืองดังกล่าว โดยกล่าวว่า คำว่าท่าอิฐและท่าเสานั้นเป็นคำในภาษาไทยกลาง เพราะคนท่าอิฐและท่าเสาเป็นกลุ่มชนสุโขทัยดั้งเดิมที่ใช้กลุ่มภาษาไทยกลุ่มเมืองในแคว้นสุโขทัย เช่นเดียวกับชาวสุโขทัย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร และเช่นเดียวกับกลุ่มคนในตำบลทุ่งยั้ง บ้านพระฝาง เมืองพิชัย บ้านแก่ง และบ้านคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นกลุ่มคนแคว้นสุโขทัยเดิมในจังหวัดอุตรดิตถ์เช่นเดียวกัน โดยคำว่าท่าเสานั้น มีความหมายโดยตรงเกี่ยวข้องกับการล่องซุงหมอนไม้ในสมัยโบราณเช่นเดียวกับชื่อนามหมู่บ้านหมอนไม้ (หมอนไม้ซุง) ซึ่งอยู่ทางใต้ของบ้านท่าอิฐ[10]
อย่างไรก็ดี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นว่าทั้งท่าอิฐและท่าเสานับเป็นท่าที่มีความเจริญทางการค้ามากกว่าทุกท่าในภาคเหนือ เป็นทั้งท่าจอดเรือ ค้าขายจากมณฑลภาคเหนือและภาคกลางรวมถึงเชียงตุง เชียงแสน หัวพันทั้งห้าทั้งหก สิบสองปันนา สิบสองจุไทย จนต่อมาแควน่านได้เปลี่ยนทางเดิน ทำให้หาดท่าอิดงอกออกไปทางตะวันออกมากทุก ๆ ปี ท่าอิดจึงเลื่อนตามลงไปเรื่อย ๆ เรียกว่าหาดท่าอิดล่าง ท่าอิดเดิมเรียกว่าท่าอิดบน ท่าอิดล่างก็ยังคงเป็นศูนย์การค้าสำคัญของภาคเหนือมาตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6[9]
ปลายกรุงศรีอยุธยา-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
แก้ในช่วงสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมืองฝาง ซึ่งอยู่เหนือน้ำเมืองอุตรดิตถ์ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมสำคัญของประชาชน เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากการสงครามระหว่างไทย-พม่า ทำให้เกิดชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองแถบนี้ ก่อนจะถูกปราบปรามลงได้ในภายหลัง
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยใช้เมืองท่าอิดเป็นที่พักทัพเมื่อกรีธาทัพผ่านมา [11] และใช้เป็นที่รวบรวมทัพก่อนขึ้นตีหัวเมืองฝ่ายเหนือและล้านนา สมัยก่อนนั้น การเดินทางและการขนส่งสินค้าเพื่อนำมาขายทางตอนเหนือมีสะดวกอยู่ทางเดียวคือ ทางน้ำ แม่น้ำที่สามารถให้เรือสินค้ารวมทั้งเรือสำเภาขึ้นลงได้สะดวกถึงภาคเหนือตอนล่างก็มีแม่น้ำน่านเท่านั้น เรือสินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ หรือกรุงศรีอยุธยาก็จะขึ้นมาได้ถึงบางโพท่าอิฐเท่านั้น เพราะเหนือขึ้นไปแม่น้ำจะตื้นเขินและมีเกาะแก่งมาก ฉะนั้นตำบลบางโพท่าอิฐจึงเป็นย่านการค้าที่สำคัญ [9]
กำเนิดนามเมืองอุตรดิตถ์
แก้โดยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อุตรดิตถ์เป็นหัวเมืองชุมนุมการค้าที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในภาคเหนือ ทำให้ในปี พ.ศ. 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของเมืองแห่งนี้ในฐานะศูนย์กลางการค้าขายของแถบภาคเหนือตอนล่าง หรือเมืองท่าที่ตั้งอยู่ปลายเหนือสุดของการควบคุมด้วยอำนาจโดยตรงของ อาณาจักร จึงพระราชทานนามเมืองท่าอิดไว้ว่า "อุตรดิฐ"[13] (อุตร-ทิศเหนือ, ดิตถ์-ท่าน้ำ) แปลว่า "ท่าน้ำแห่งทิศเหนือ" (คำนี้ต่อมาเขียนเป็น "อุตตรดิตถ์ "[14] และ "อุตรดิตถ์" ดังที่ใช้ในปัจจุบัน)
พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพิชัย ท่าอิด เมืองทุ่งยั้ง และเมืองลับแล ทรงเล็งเห็นว่าท่าอิดมีความเจริญ เป็นศูนย์ทางการค้า เป็นเมืองท่าสำคัญ รับสินค้าจากมณฑลพายัพ และหัวเมืองลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบกับมีเมืองลับแลอยู่ใกล้ ๆ เป็นเมืองรองลงไป การชำระคดีและการเรียกเก็บภาษีอากรสะดวกกว่าที่เมืองพิชัย แต่ท่าอิดในขณะนั้นยังคงมีฐานะเป็นเมืองท่าขึ้นต่อเมืองพิชัย ดังนั้น คดีต่าง ๆ ที่เกิดขั้นรวมทั้งการเก็บภาษีอากรส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ท่าอิด ราษฎรต้องลงไปเมืองพิชัยติดต่อกับส่วนราชการเป็นการไม่สะดวก จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองพิชัยมาตั้งที่บริเวณท่าอิด เปลี่ยนนามเมือง "พิไชย" เป็นเมือง "อุตรดิฐ" ส่วนเมืองพิชัยเดิมว่าเรียกว่า เมืองพิชัยเก่า (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2458)
ที่พักทัพปราบกบฏเงี้ยว
แก้พ.ศ. 2446 พวกเงี้ยวก่อการจลาจลที่เมืองแพร่ โดยมีประกาหม่องหัวหน้าเงี้ยวตั้งตนเป็นใหญ่[16][17][18] จับพระยาสุรราชฤทธานนท์ข้าหลวงประจำมณฑลกับข้าราชการไทย 38 คนฆ่าแล้วยกทัพลงมาจะยึดท่าอิด กองทัพเมืองอุตรดิตถ์โดยการนำของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ เป็นผู้บัญชาทัพ พระยาพิศาลคีรี (ทัพ) ข้าราชการเกษียณอายุแล้วเป็นผู้คุมกองเสบียงส่ง โดยยกทัพไปตั้งรับพวกเงี้ยวที่ปางอ้อ ปางต้นผึ้ง พระยาศรีสุริยราชฯ จึงมอบหมายพระยาพิศาลคีรี เป็นผู้บัญชาการทัพแทน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นผู้มีอาวุโสและกรำศึกปราบฮ่อที่หลวงพระบางมามาก พระยาพิศาลคีรีได้สร้างเกียรติคุณให้กองทัพไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยการปราบทัพพวกเงี้ยวราบคาบ ฝ่ายไทยเสียชาวบ้านที่อาสารบเพียงคนเดียว กอปรกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นแม่ทัพจากกรุงเทพฯ ยกมาช่วยเหลือ[19]
ยุคทางรถไฟถึงเมืองอุตรดิตถ์
แก้พ.ศ. 2448-2451 ทางรถไฟได้เริ่มสร้างทางผ่านท่าโพธิ์และท่าเซา ซึ่งขณะนั้นบริเวณนี้ยังเป็นป่าไผ่อยู่ ไม่เจริญเหมือนท่าอิด กรมรถไฟจึงได้สร้างทางรถไฟแยกไปที่หาดท่าอิดล่าง ในปี พ.ศ. 2450 สมัยพระยาสุจริตรักษา (เชื้อ) เป็นเจ้าเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 กรมรถไฟได้สร้างสถานีรถไฟถึงบางโพธิ์และท่าเซา ทำให้ท่าโพธิ์และท่าเซาเจริญทางการค้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับที่ท่าอิดน้ำท่วมบ่อย การคมนาคมทางน้ำเริ่มลดความสำคัญลง การค้าที่ท่าอิดเริ่มซบเซา พ่อค้าเริ่มอพยพมาตั่งที่ท่าโพธิ์และท่าเซาเพิ่มมากขึ้น ท่าอิดเมืองท่าที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 1400 ก็เสื่อมความนิยมลง และได้ย้ายศูนย์กลางการค้ามาที่ตลาดท่าโพธิ์และตลาดท่าเสาในเวลาต่อมา
ต่อมาหลังจากการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์สำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทำให้แหล่งชุมนุมการค้าย่านท่าเสาและท่าอิฐเริ่มหมดความสำคัญลง เพราะรถไฟสามารถวิ่งขึ้นเมืองเหนือได้โดยไม่ต้องหยุดขนถ่ายเสบียงที่เมืองอุตรดิตถ์ และประกอบกับการที่ทางราชการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ปิดกั้นแม่น้ำน่านในเขตอำเภอท่าปลาในปี พ.ศ. 2510 ทำให้การคมนาคมทางน้ำยุติลงสิ้นเชิง โดยในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 นั้น เส้นทางคมนาคมทางถนนในจังหวัดอุตรดิตถ์มีเพียงไม่กี่เส้นทาง และด้วยทำเลที่ตั้งและความไม่สะดวกในการคมนาคมทางถนนในช่วงนั้นดังกล่าว ทำให้ตัวเมืองอุตรดิตถ์ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภาคเหนือกลายเป็นเมืองในมุมปิด ไม่เหมือนเมื่อครั้งการคมนาคมทางน้ำรุ่งเรือง และด้วยภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยดังกล่าว จึงทำให้ในช่วงต่อมารัฐบาลได้หันมาพัฒนาเมืองพิษณุโลกให้เป็นศูนย์กลางแห่งภาคเหนือตอนล่างแทน[20]
อุตรดิตถ์ในปัจจุบัน
แก้จนในปี พ.ศ. 2522 ทางการได้ตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ทำให้เมืองอุตรดิตถ์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนามากขึ้นตามลำดับ เพราะทางเส้นนี้เป็นเส้นทางส่วนหนึ่งของถนนสายเอเชียที่ตัดผ่านมาจากจังหวัดพิษณุโลกผ่านนอกเมืองอุตรดิตถ์เข้าสู่จังหวัดแพร่ ทำให้เส้นทางนี้กลายเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกสายหลักของจังหวัดอุตรดิตถ์ และกลายเป็นทางผ่านสำคัญเพื่อเข้าสู่ภาคเหนือ
ตัวเมืองอุตรดิตถ์มีความเจริญขึ้นมาโดยลำดับเนื่องจากเป็นที่ตั้งของย่านสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ทำให้ใน พ.ศ. 2458 สมัยรัชกาลที่ 6 ได้ย้ายศูนย์ราชการจากเมืองพิชัยมาตั้งไว้ที่เมืองอุตรดิตถ์ และใน พ.ศ. 2495 เมืองอุตรดิตถ์จึงได้รับการยกฐานะจากเมืองอุตรดิตถ์ขึ้นเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ สืบจนปัจจุบัน
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
แก้- ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ออกแบบโดย พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) ในปี พ.ศ. 2483 ตามนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น พระพรหมพิจิตรได้สนองนโยบายที่ให้นำปูชนียวัตถุสถานสำคัญของจังหวัดมาผูกเป็นตรา ท่านจึงได้นำรูปมณฑปประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ โบราณสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ มาประกอบผูกเข้าไว้เป็นตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ตราที่ผูกขึ้นใหม่นี้เขียนลายเส้นโดย นายอุณห์ เศวตมาลย์ ไม่มีรูปครุฑ, นามจังหวัดและลายกนกประกอบ ต่อมาทางราชการจึงได้เพิ่มรายละเอียดทั้งสามเข้าไว้ในตราจังหวัด ซึ่งตรานี้ยังคงใช้มาจนปัจจุบัน[21]
- คำขวัญประจำจังหวัด
เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก
— คำขวัญประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
คำขวัญประจำจังหวัดอุตรดิตถ์แต่งขึ้นในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้นได้นำนโยบายนี้เข้าสู่ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการและมีการคิดประกอบคำขวัญจังหวัดอุตรดิตถ์ขึ้นเป็นตัวอย่าง เพื่อมอบให้วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์กำหนดกรอบแนวคิดการประกวดคำขวัญประจำจังหวัดต่อไป อย่างไรก็ดี คำขวัญที่คิดในที่ประชุมส่วนราชการได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและเป็นที่รู้จักทั่วไป จึงไม่ได้มีการคิดประกวดคำขวัญใหม่ ทำให้คำขวัญดังกล่าวยังคงใช้เป็นคำขวัญประจำจังหวัดมาจนปัจจุบัน[21]
- วิสัยทัศน์ประจำจังหวัด
- เมืองแห่งคุณภาพชีวิต ผลผลิตปลอดภัย สืบสานวัฒนธรรมไทย ก้าวไกลสัมพันธ์เพื่อนบ้านยั่งยืน
- ต้นไม้ประจำจังหวัด
ต้นสัก
- ดอกไม้ประจำจังหวัด
ดอกประดู่บ้าน ดอกไม้ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ในราวปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ได้มีโครงการพัฒนาท้องถิ่นหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เน้นเรื่องเศรษฐกิจในชุมชนเป็นหลักเพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาส่วนหนึ่ง จังหวัดจึงมีนโยบายให้หน่วยงานราชการทุกแห่งปลูกไม้ประดับและไม้ยืนต้นในพื้นที่ของส่วนราชการทุกแห่ง และเสนอแนะให้ปลูกพันธุ์ไม้กัลปพฤกษ์และพันธุ์ไม้ประดู่บ้าน แต่พันธุ์ไม้ที่ปลูกทั้งสองชนิดมีเพียงดอกประดู่บ้านที่บานสะพรั่ง ทางจังหวัดจึงกำหนดให้ดอกประดู่บ้านเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
- สัตว์น้ำประจำจังหวัด
ปลาตะโกก (Cyclocheilichthys enoplos)
- เพลงประจำจังหวัด
เพลงประจำจังหวัดคือ "อุตรดิตถ์เมืองงาม"
อุตรดิตถ์เมืองงาม | |
ตัวอย่างบทเพลง อุตรดิตถ์เมืองงาม |
-
มณฑปประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ ตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
-
สัก (Tectona grandis) ต้นไม้ประจำจังหวัด
-
ดอกประดู่บ้าน ดอกไม้ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
-
ปลาตะโกก สัตว์น้ำประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
ภูมิศาสตร์
แก้ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้จังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ใต้สุดของภาคเหนือ โดยมีพื้นที่ประมาณ 7,854 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 25 ของประเทศ มีจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกัน ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศลาว มีเขตแนวพรมแดน 120 กิโลเมตร
- ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัย
ภูมิประเทศทางตอนเหนือและทางตะวันออกของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่สูง ทิวเขาเหล่านี้ต่อเนื่องมาจากจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน
ภูมิประเทศและภูมิอากาศ
แก้ข้อมูลภูมิอากาศของจังหวัดอุตรดิตถ์ | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 31.8 (89.2) |
34.5 (94.1) |
36.8 (98.2) |
38.2 (100.8) |
35.8 (96.4) |
33.6 (92.5) |
32.9 (91.2) |
32.5 (90.5) |
32.7 (90.9) |
32.8 (91) |
32.1 (89.8) |
31.1 (88) |
33.73 (92.72) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 16.3 (61.3) |
18.2 (64.8) |
21.0 (69.8) |
23.7 (74.7) |
24.6 (76.3) |
24.4 (75.9) |
24.1 (75.4) |
23.9 (75) |
23.7 (74.7) |
22.8 (73) |
20.2 (68.4) |
17.0 (62.6) |
21.66 (70.99) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 7.8 (0.307) |
9.9 (0.39) |
22.9 (0.902) |
71.5 (2.815) |
225.4 (8.874) |
196.2 (7.724) |
194.2 (7.646) |
259.7 (10.224) |
282.3 (11.114) |
134.2 (5.283) |
24.5 (0.965) |
4.0 (0.157) |
1,432.6 (56.402) |
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย | 1 | 2 | 3 | 7 | 15 | 17 | 19 | 22 | 19 | 11 | 3 | 1 | 120 |
แหล่งที่มา: Thai Meteorological Department |
ทรัพยากรธรรมชาติ
แก้จังหวัดอุตรดิตถ์มีทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีทรัพยากรแร่ธาตุหลายชนิด เช่น แร่พลวง เหล็ก ทองแดง ยิปซัม แร่ใยหิน ดินขาว ทัลก์ แต่ยังไม่ได้นำไปใช้ในทางเศรษฐกิจ และมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำน่าน ไหลผ่านเขตจังหวัดเป็นระยะความยาวถึง 160 กิโลเมตร แม่น้ำปาด ห้วยพูล คลองแม่พร่อง ห้วยน้ำพี้ คลองตรอน ห้วยน้ำลอก นอกจากนั้นมีเขื่อนและฝายกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน คือ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนดินช่องเขาขาดหรือแซดเดิล ฝายสมเด็จฯ และฝายหลวงลับแลซึ่งเป็นฝายแรกของประเทศไทย ในปี 2563 มีพื้นที่ป่าไม้จำนวน 3,300,045 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 67.36 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ป่าไม้แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
อุทยานแห่งชาติ
แก้วนอุทยาน
แก้จังหวัดอุตรดิตถ์ มีวนอุทยาน (Forest Park) ซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติที่รัฐจัดไว้ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด จำนวน 5 แห่ง ดังนี้
- วนอุทยานถ้ำจัน
- วนอุทยานเขาพลึง - บ้านด่าน
- วนอุทยานน้ำตกแม่เฉย
- วนอุทยานห้วยน้ำลี
- วนอุทยานวังยาว
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ป่าไม้รูปแบบอื่นอีก ดังต่อไปนี้
- สวนรุกขชาติ (Arboretum) - มีเพียงแห่งเดียว คือ สวนรุกชาติบ้านแพะ อำเภอทองแสนขัน
- ป่าสงวนแห่งชาติ (National Reserved Forest) มีทั้งหมด 15 แห่ง
- ป่าชุมชน (Community Forest) - เป็นป่าธรรมชาติ ที่ชาวบ้านช่วยกันป้องกันรักษาเอาไว้ สำหรับเป็นแหล่งซับน้ำและใช้สอย ปัจจุบันมีการสร้างป่าชุมชนขึ้นในพื้นที่สาธารณะ เพื่อใช้ประโยชน์ของชุมชน
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่า - มี 3 แห่ง คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาใหญ่ - เขาหน้าผาตั้ง และเขาตาพรม, เขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูสันเขียว และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยผึ้ง-วังยาว
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า - มี 4 แห่งคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง-ภูทอง, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าน้ำปาด และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา
การเมืองการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้การปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 67 ตำบล 613 หมู่บ้าน
- อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
- อำเภอตรอน
- อำเภอท่าปลา
- อำเภอน้ำปาด
- อำเภอฟากท่า
- อำเภอบ้านโคก
- อำเภอพิชัย
- อำเภอลับแล
- อำเภอทองแสนขัน
รายชื่อเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัด
แก้สมัยกรุงศรีอยุธยา
แก้ทำเนียบเจ้าเมืองพิชัย ระหว่างปี พ.ศ. 1893–2310 ขึ้นกับอาณาจักรอยุธยา มีฐานะเป็นเมืองชั้นตรี
ลำดับ | รายชื่อ | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | เจ้าพระยาพิชัย | 2089 - 2111 |
2 | พระยาพิชัย | 2111 - 2127 |
3 | พระยาพิชัย (พระองค์ทอง) | 2136 - ไม่ปรากฏ |
สมัยกรุงธนบุรี
แก้ทำเนียบเจ้าเมืองพิชัย ระหว่างปี พ.ศ. 2310–2325 มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี และเมืองหน้าด่าน
ลำดับ | รายชื่อ | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พระยาพิชัย (ทองดี วิชัยขัทคะ) | 2312–2324 สิ้นสุดราชวงศ์ธนบุรี พ.ศ. 2325 |
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
แก้ทำเนียบผู้สำเร็จราชการเมือง และผู้ว่าราชการจังหวัดระหว่างปี พ.ศ. 2325–ปัจจุบัน
ทำเนียบผู้สำเร็จราชการเมือง
แก้เมืองพิชัยมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกฐานะเป็นหัวเมืองชั้นโท พ.ศ. 2325–2437
ลำดับ | รายชื่อ | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โต ปานะดิษฐ์) | 2325 -ไม่ปรากฏ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
2 | พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (สังข์ ศิริปาลกะ) | ไม่ปรากฏ |
3 | พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (บุญมี) | ไม่ปรากฏ |
4 | พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (มงคล พิชัยมงคล) | ไม่ปรากฏ |
5 | พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ต่าย พิชัยแพทย์) | 2401-2411 |
6 | พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ดิฐ ดิษฐานนท์) | 2424-2427 |
7 | พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (มิ่ง มิ่งศรีพิชัย) | 2427-2428 |
8 | พระยาศรีธรรมศุกราช (ครุธ หงสนันท์) | 2428–2432 |
9 | พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (เชย กัลยาณมิตร) | 2432-2437 |
ทำเนียบผู้ว่าราชการเมือง
แก้สิ้นสุดตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองพิชัยเปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองขึ้นกับเป็นมณฑลพิษณุโลก ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2437–2476
ลำดับ | รายชื่อ | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พระยาดัษกรปลาศ (ทองอยู่ โรหิตสเถียร) | 2437 (17 วัน) |
2 | พระยาศรีธรรมศุกราช (ครุธ หงสนันท์) | 2437–2439 |
3 | พระบริรักษ์โยธี (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) | 2439-2440 |
4 | พระยาอุตรกิจพิจารณ์ (สุด สาระสุทธิ์) | ไม่ปรากฏ - 2442 |
5 | พระเทพเยนทร์ (ถนอม อินทุสุต) | 2442 |
6 | พระสีหสงคราม (โพ เนติโพธิ์) | ไม่ปรากฏ - 2444 |
รายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์
แก้พ.ศ. 2444 ย้ายศาลากลางจังหวัดจากเมืองพิชัยมาอยู่ที่เมืองอุตรดิตถ์ และได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2476–ปัจจุบัน
ลำดับ | รายชื่อ | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพ เนติโพธิ์) | พ.ศ. 2444–2446 |
2 | พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม เทพานนท์) | พ.ศ. 2446–2449 |
3 | พระยาสุจริตรักษา (เชื้อ กัลยาณมิตร) | พ.ศ. 2449–2450 |
4 | พระยาสุริยราชวราภัย (จร รัตนบิณฑะ) | พ.ศ. 2450–2454 |
5 | พระยาวจีสัตยรักษ์ (ดิศ นามะสนธิ) | พ.ศ. 2454–2459 |
6 | พระยาพิษณุโลกบุรี (สวัสดิ์ มหากายี) | พ.ศ. 2459–2459 |
7 | พระยาวโรดมภักดีศรีอุตรดิตถ์นคร (อั้น หงสนันท์) | พ.ศ. 2459–2467 |
8 | พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) | พ.ศ. 2467–2469 |
9 | พระยาวิเศษฤๅชัย (หม่อมหลวงเจริญ อิศรางกูร) | พ.ศ. 2469–2471 |
10 | พระยาวิเศษภักดี (หม่อมราชวงศ์กมล นพวงษ์) | พ.ศ. 2471–2474 |
11 | พระยาอัธยาศัยวิสุทธิ์ (โชติ กนกมณี) | พ.ศ. 2474–2476 |
12 | พระประสงค์เกษมราษฎร์ (ชุ่ม สุวรรณคุปต์) | พ.ศ. 2476–2478 |
13 | พระสนิทประชานันท์ (อิน แสงสนิท) | พ.ศ. 2479–2481 |
14 | หลวงอุตรดิตถาภิบาล (เนื่อง ปาณิกบุตร) | พ.ศ. 2481–2482 |
15 | พระสมัครสโมสร (เสงี่ยม บุรสมบูรณ์) | พ.ศ. 2483–2485 |
16 | ขุนพิเศษนครกิจ (ชุบ กลิ่นสุคนธ์) | พ.ศ. 2486–2487 |
17 | ขุนระดับคดี (ปัญญา รมยานนท์) | พ.ศ. 2487–2488 |
18 | ขุนอักษรสารสิทธิ์ (ละมัย สารสิทธิ์) | พ.ศ. 2488–2490 |
19 | ขุนสนิทประชาราษฎร์ (สนิท จันทร์ศัพท์) | พ.ศ. 2490–2491 |
20 | นายพ่วง สุวรรณรัฐ | พ.ศ. 2491–2492 |
21 | นายเกษม อุทยานิน | พ.ศ. 2492–2492 |
22 | ร้อยโท ถวิล ระวังภัย | พ.ศ. 2492–2493 |
23 | ขุนจรรยาวิเศษ (เที่ยง บุญยนิตย์) | พ.ศ. 2493–2495 |
24 | ขุนรัฐวุฒิวิจารย์ (สุวงศ์ วัฎสิงห์) | พ.ศ. 2495–2497 |
25 | ขุนสนิทประชากร (กุหลาบ ศกรมูล) | พ.ศ. 2497–2501 |
26 | นายสง่า ศุขรัตน์ | พ.ศ. 2501–2506 |
27 | นายประกอบ ทรัพย์มณี | พ.ศ. 2506–2509 |
28 | พลตำรวจตรี สามารถ วายวานนท์ | พ.ศ. 2509–2510 |
29 | นายเวทย์ นิจถาวร | พ.ศ. 2510–2513 |
30 | นายเวียง สาครสินธุ์ | พ.ศ. 2513–2515 |
31 | นายดิเรก โสตสถิตย์ | พ.ศ. 2515–2516 |
32 | นายวิจิน สัจจะเวทะ | พ.ศ. 2516–2518 |
33 | พลตำรวจตรี ศรีศักดิ์ ธรรมรักษ์ | พ.ศ. 2518–2519 |
34 | นายเลอเดช เจษฎาฉัตร | พ.ศ. 2519–2522 |
35 | นายกาจ รักษ์มณี | พ.ศ. 2522–2526 |
36 | นายธวัช มกรพงศ์ | พ.ศ. 2526–2530 |
37 | นายธวัชชัย สมสมาน | พ.ศ. 2530–2531 |
38 | นายสุพงศ์ ศรลัมพ์ | พ.ศ. 2531–2532 |
39 | นายศรีพงศ์ สระวาสี | 1 มิถุนายน 2532 – 30 กันยายน 2534 |
40 | นายชัยวัฒน์ อรุโณทัยวิวัฒน์ | 1 ตุลาคม 2534 – 30 กันยายน 2536 |
41 | นายสมบัติ สืบสมาน | 5 ตุลาคม 2536 – 30 มีนาคม 2540 |
42 | นายนิรัช วัจนะภูมิ | 31 มีนาคม 2540 – 5 เมษายน 2541 |
43 | นายชัยพร รัตนนาคะ | 16 เมษายน 2541 – 30 กันยายน 2542 |
44 | นายสิทธิพร เกียรติศิริโรจน์ | 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2545 |
45 | นายปรีชา บุตรศรี | 1 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2548 |
46 | ร้อยตำรวจโท อุปฤทธิ์ ศรีจันทร์ | 1 ตุลาคม 2548 – 12 พฤศจิกายน 2549 |
47 | นายสมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ | 13 พฤศจิกายน 2549 – 30 กันยายน 2550 |
48 | นายธวัชชัย ฟักอังกูร | 1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2552 |
49 | นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ | 1 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2555 |
50 | นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน | 12 พฤศจิกายน 2555 – 30 กันยายน 2556 |
51 | นายชัช กิตตินภดล | 1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2558 |
52 | นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ | 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 |
53 | นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ | 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 |
54 | นายเสฐียรพงศ์ มากศิริ | 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561 |
55 | นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล | 1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2563 |
56 | นายผล ดำธรรม | 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2565 |
57 | นายสมหวัง พ่วงบางโพ | 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 |
58 | นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ | 17 ธันวาคม 2566 – ปัจจุบัน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ และภายในจังหวัดยังแบ่งออกเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับพื้นฐานจำนวน 89 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลตำบล 25 แห่ง และ องค์การบริหารส่วนตำบล 63 แห่ง โดยเทศบาลสามารถจำแนกได้ตามอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ดังนี้
|
|
ความมั่นคง
แก้- ค่ายพิชัยดาบหัก มณฑลทหารบกที่ 35, กองพันทหารม้าที่ 7, กรมทหารม้าที่ 2 อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
- ค่ายพระศรีพนมมาศ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 20 อำเภอลับแล
เศรษฐกิจ
แก้จังหวัดอุตรดิตถ์มีผลผลิตสาขาที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของจังหวัดคือ สาขาการเกษตร รองลงไปคือการอุตสาหกรรม การประมง และการพาณิชย์
- พืชเศรษฐกิจของจังหวัดที่สำคัญคือ ลางสาดมีการปลูกมากที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ก็มีทุเรียน เงาะ มังคุด สับปะรด ลำไย ส่วนพืชไร่ที่เป็นพืชเศรษฐกิจคือ ข้าว อ้อย ข้าวโพด กระเทียม ถั่วต่าง ๆ และยาสูบ เป็นต้น
- มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากเพราะมีโรงงานน้ำตาลถึง 2 แห่ง มีโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง โรงงานผลิตไวน์ลางสาด โรงงานผลิตเส้นหมี่ โรงงานผลิตดินขาว โรงงานถลุงแร่ขนาดเล็ก เป็นต้น
- มีการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนหลายอย่างเช่น การทำไม้กวาดตองกง การทอผ้า การจักสานเครื่องใช้ไม้ไผ่ การทำเครื่องปั้นดินเผา การตีเหล็กทำเครื่องใช้เกษตรกรรมและทำมีด เป็นต้น
- สภาพความคล่องตัวของเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอลับแล อำเภอพิชัย มีธนาคารพาณิชย์คอยให้บริการอยู่หลายแห่ง จากสภาพทั่วไปแล้วจังหวัดอุตรดิตถ์มีค่าครองชีพของประชากรอยู่ในระดับปานกลาง
ทางด้านอุตสาหกรรมของจังหวัดอุตรดิตถ์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน คือ อุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมทอผ้า และอุตสาหกรรมน้ำปลา ส่วนในเรื่องของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่น เหมืองแร่ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ยังไม่เกิดขึ้นในจังหวัดอุตรดิตถ์ ถึงแม้อุตรดิตถ์จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ต่าง ๆ ก็ตาม
ประชากร
แก้ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในจังหวัด ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์เป็นทางผ่านสำคัญมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมดองซอน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาจากที่ต่าง ๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชก และเมืองพิชัย และด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทำให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบันคือไทยสยามจากอาณาจักรสุโขทัยที่อาศัยอยู่ในแถบอำเภอพิชัย และไทยวนจากอาณาจักรล้านนาที่อพยพจากเชียงแสนมาอาศัยอยู่ในแถบอำเภอลับแล ชนสองกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานขึ้นเป็นเมืองอย่างมั่นคงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
จนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากทั้งเมืองเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดมากขึ้น ได้แก่บริเวณอำเภอน้ำปาก อำเภอฟากท่า และอำเภอบ้านโคกในปัจจุบัน และได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลำดับ จึงทำให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข[20]
จำนวนประชากรในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ (ปี 2551 จังหวัดอุตรดิตถ์มีประชากรทั้งสิ้น 464,205 คน ประชากรชาย 229,207 คน ประชากรหญิง 234,998 คน) | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ชาวทุ่งยั้ง หน้าวัดพระแท่นศิลอาสน์ ภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 | |||||||
อันดับ | อำเภอ | จำนวนประชากร |
| ||||
1 | อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ | 85,124 | |||||
2 | อำเภอพิชัย | 73,119 | |||||
3 | อำเภอลับแล | 37,142 | |||||
4 | อำเภอท่าปลา | 42,951 | |||||
5 | อำเภอตรอน | 30,888 | |||||
6 | อำเภอน้ำปาด | 29,558 | |||||
7 | อำเภอทองแสนขัน | 28,021 | |||||
8 | อำเภอฟากท่า | 14,359 | |||||
9 | อำเภอบ้านโคก | 10,618 |
ศาสนา
แก้ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด นับถือผีที่เป็นความเชื่อแบบโบราณเป็นหลัก สังเกตได้จากร่องรอยการใส่ภาชนะและข้าวของเครื่องใช้ลงในหลุมฝังศพตามความเชื่อในเรื่องโลกหน้าของคนโบราณในหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบ้านบุ่งวังงิ้ว
อย่างไรก็ตามศาสนาแรกที่ชาวอุตรดิตถ์รับมานับถือสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธศาสนา เพราะปรากฏหลักฐานโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดที่ พระมหาสถูปแห่งเมืองฝาง จากตำนานที่กล่าวว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระทันตธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้รับมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระสมณทูตคือพระโสณะและพระอุตตระมาประกาศพระศาสนาที่สุวรรณภูมิ และแม้ว่าตำนานนี้อาจจะเป็นเรื่องที่แต่งเสริมความศรัทธาในภายหลัง แต่พระมหาสถูปแห่งเมืองฝางก็คงสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พร้อม ๆ กับการสถาปนาเมืองฝางสวางคบุรีให้เป็นเมืองหน้าด่านทิศตะวันออกสุดแห่งอาณาจักรสุโขทัย (สวางคบุรี-เมืองที่รับแสงอรุณแห่งแรกของอาณาจักรสุโขทัย) [20]
ปัจจุบัน ประชากรของจังหวัดอุตรดิตถ์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ประมาณร้อยละ 99.66 มีจำนวนวัดในพระพุทธศาสนาถึง 312 วัด พระสงฆ์สามเณรกว่าพันรูป[22] นอกจากนั้นยังมีศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ในภายหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นคนนอกพื้นที่ ที่อพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดอุตรดิตถ์ในช่วงไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมา
การศึกษา
แก้จังหวัดอุตรดิตถ์นับได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนกระทั่งถึงระดับอุดมศึกษา ในระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษานั้น ดูแลโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุตรดิตถ์ แบ่งออกเป็น 2 เขต โดยแต่ละเขตจะรับผิดชอบการศึกษาของแต่ละอำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนระดับมัธยมศึกษานั้น ดูแลโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการเรียนในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ดังต่อไปนี้
- ระดับอุดมศึกษา
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน่วยวิทยบริการจังหวัดอุตรดิตถ์ (วัดหมอนไม้)
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศูนย์สอบจังหวัดอุตรดิตถ์ (โรงเรียนอุตรดิตถ์)
- มหาวิทยาลัยรามคำแหง ศูนย์สอบจังหวัดอุตรดิตถ์ (โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี)
- วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดอุตรดิตถ์
- ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ (สถาบันร่วมผลิตแพทย์แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร)
- อาชีวศึกษา
- วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์
- วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์
- วิทยาลัยการอาชีพพิชัย
- วิทยาลัยการอาชีพรัตนประสิทธิ์วิทย์
- วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตรดิตถ์
- โรงเรียนอุตรดิตถ์บริรักษ์
- มัธยมศึกษา
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ (เฉพาะในจังหวัดอุตรดิตถ์) และ โรงเรียนเอกชน
- อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
- โรงเรียนอุตรดิตถ์
- โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า อุตรดิตถ์
- โรงเรียนทุ่งกะโล่วิทยา
- โรงเรียนน้ำริดวิทยา
- โรงเรียนแสนตอวิทยา
- อำเภอตรอน
- โรงเรียนตรอนตรีสินธุ์
- อำเภอทองแสนขัน
- โรงเรียนทองแสนขันวิทยา
- อำเภอท่าปลา
- โรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศ
- อำเภอน้ำปาด
- โรงเรียนน้ำปาดชนูปถัมภ์
- โรงเรียนสหคริสเตียน
- อำเภอพิชัย
- โรงเรียนพิชัย
- โรงเรียนบ้านโคนพิทยา
- โรงเรียนดาราพิทยาคม
- อำเภอฟากท่า
- โรงเรียนฟากท่าวิทยา
- อำเภอบ้านโคก
- โรงเรียนบ้านโคกวิทยาคม
- อำเภอลับแล
- โรงเรียนลับแลพิทยาคม
- โรงเรียนลับแลศรีวิทยา
- โรงเรียนด่านแม่คำมันพิทยาคม
ประถมศึกษา
โรงพยาบาล
แก้จังหวัดอุตรดิตถ์มีสถานบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิก โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลทหาร และโรงพยาบาลเอกชน โดยมีโรงพยาบาลศูนย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุขประจำจังหวัด คือ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม คือ โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก โรงพยาบาลเอกชนในเครือ Principal Capital คือ โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ และมีโรงพยาบาลประจำอำเภอ ดังต่อไปนี้
- โรงพยาบาลตรอน อำเภอตรอน
- โรงพยาบาลทองแสนขัน อำเภอทองแสนขัน
- โรงพยาบาลท่าปลา อำเภอท่าปลา
- โรงพยาบาลน้ำปาด อำเภอน้ำปาด
- โรงพยาบาลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก
- โรงพยาบาลพิชัย อำเภอพิชัย
- โรงพยาบาลฟากท่า อำเภอฟากท่า
- โรงพยาบาลลับแล อำเภอลับแล
ประเพณีและวัฒนธรรม
แก้สภาพพื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ในเขตรอยต่อ 3 วัฒนธรรม คือล้านนา ล้านช้าง และไทยกลาง เป็นผลให้ลักษณะวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภาษาถิ่นและงานประเพณีพื้นบ้านต่าง ๆ มีลักษณะผสมผสาน บางส่วนพูดภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) [ต้องการอ้างอิง] บางส่วนพูดภาษาไทยภาคกลาง บางส่วนพูดภาษาลาว และบางส่วนพูดภาษาท้องถิ่นของตน เช่น บ้านทุ่งยั้ง เป็นต้น
งานเทศกาล และงานประจำปี
แก้- อำเภอลับแล
- งานเทศกาลแห่น้ำขึ้นโฮง สรงน้ำเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร จัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี
- งานเทศกาล "มหัศจรรย์ทุเรียนหลง-หลิน ลับแล"
- งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ จัดในระหว่างวันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
- งานประเพณี “อัฏฐมีบูชา” วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จัดในระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถึง วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6
- งานประเพณีสงกรานต์เมืองลับแล ระหว่างวันที่ 12 - 15 เมษายน ของทุกปี
- อำเภอเมือง
- งานเทศกาล "พระยาพิชัยดาบหัก และงานกาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์" ระหว่างวันที่ 7 - 16 มกราคม ของทุกปี
- งานเทศกาล "ลางสาดลองกองหวาน เมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้ และสินค้า OTOP จังหวัดอุตรดิตถ์"
- งานนมัสการหลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน
- งานนมัสการพระฝางทรงเครื่องจำลอง วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
- งานนมัสการหลวงพ่อสัมฤทธิ์ และงานประจำปีวัดหมอนไม้
- งานหอการค้าแฟร์ จังหวัดอุตรดิตถ์
- งานเทศกาลดนตรี "ม่วนเน๊อะ เฟสติวัล "
- งานประเพณี "วันสงกรานต์ ประจำปี 2567" และ Uttaradit Songkran Music Festival
- อำเภอตรอน
- งานประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติฯ และพิธีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำ วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี
- งานย้อนรำลึกเส้นทางประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองตรอนตรีสินธุ์ วัดหาดสองแคว
- งานฮ่วมแอ่วงาน เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ไท-ยวน บ้านน้ำอ่าง สืบสานวิถีไทย ระหว่างวันที่ 12 - 14 เมษายน ของทุกปี
- อำเภอน้ำปาด
- งานพญาปาด เทศกาล หอม กระเทียม และของดีอำเภอน้ำปาด
- อำเภอบ้านโคก
- งานสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ก่อเจดีย์บุญกองข้าวใหญ่
- อำเภอพิชัย
- งานนมัสการหลวงพ่อโต และของดีเมืองพิชัย
- อำเภอฟากท่า
- งานประเพณีมะขามหวานและของดีอำเภอฟากท่า
- อำเภอท่าปลา
- งานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีและของดีอำเภอท่าปลา
การละเล่นพื้นบ้าน
แก้จังหวัดอุตรดิตถ์ ยังมีการละเล่นดนตรีพื้นบ้านที่ยังคงมีผู้สืบต่อมาจนปัจจุบัน ถึงสามวัฒนธรรม ทั้งภูมิปัญญาในการทำเครื่องดนตรีและการละเล่น เช่น ดนตรีมังคละ (มีการละเล่นกันอยู่ในอำเภอพิชัย (กองโค) อำเภอเมือง (พระฝาง หมอนไม้ คุ้งตะเภา) และอำเภอลับแล (ทุ่งยั้ง ไผ่ล้อม)) กลองยาวทุ่งยั้ง และวงปี่พาทย์ไทยเดิม และมีการละเล่นตามแบบวัฒนธรรมล้านช้าง เช่น ตับเต่า รวมถึงการละเล่นซะล้อ ซอ ซึง จ๊อย ค่าว ตามแบบวัฒนธรรมล้านนา เช่น ซอล่องน่าน มวยเจิง (อำเภอท่าปลา) และฟ้อนนางโยน ฟ้อนดอกเจิง ซอลับแลง (อำเภอลับแล)
การขนส่ง
แก้ทางราง
แก้จังหวัดอุตรดิตถ์มีทางรถไฟผ่านจำนวน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอพิชัย และอำเภอตรอน อีกทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์ยังเป็นที่ตั้งของย่านสถานีรถไฟที่สำคัญในภาคเหนือ ได้แก่ สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ และสถานีรถไฟศิลาอาสน์ ที่มีขบวนรถไฟจากสถานีรถไฟกรุงเทพ สถานีรถไฟพิษณุโลก และสถานีรถไฟเชียงใหม่มายังจังหวัดอุตรดิตถ์ทุกวัน วันละ 22 ขบวน(เที่ยวขึ้นและเที่ยวล่อง) ทั้งรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว และรถท้องถิ่น
ทางถนน
แก้ทางรถโดยสารประจำทาง
แก้จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) มีรถยนต์โดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศจากกรุงเทพฯ สู่อุตรดิตถ์ทุกวัน วันละหลายเที่ยว เช่น บ.เชิดชัยทัวร์ จ.บ. สุโขทัย วินทัวร์ (วินทัวร์) บ. นครชัยแอร์ บ. นครชัยทัวร์ และของบขส. เป็นต้น บริษัทที่ให้บริการเดินทางรถประจำทางทั้งรถปรับอากาศชั้นที่ 1 ชั้น 2 ทั้งรถมาตราฐานชั้นที่ 4 ก, ข (รถสองชั้น) และรถโดยสารธรรมดา นอกจากนี้จากสถานีขนส่งอุตรดิตถ์ สามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย ดังนี้
- ภาคเหนือตอนบน
- ปลายทาง เชียงใหม่ ผ่าน เด่นชัย ลำปาง ลำพูน
- ปลายทาง แม่สาย ผ่าน เด่นชัย แพร่ พะเยา เชียงราย
- ปลายทาง เชียงของ ผ่าน แพร่ เชียงคำ เทิง
- ปลายทาง ทุ่งช้าง น่าน ผ่าน แพร่
- "ปลายทาง" เชียงราย ผ่าน เด่นชัย งาว ดอกคำใต้
- ภาคเหนือตอนล่าง
- ปลายทาง ตาก กำแพงเพชร ผ่าน ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก สุโขทัย
- ปลายทาง นครสวรรค์ ผ่าน พิษณุโลก พิจิตร
- ปลายทาง พิษณุโลก
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ปลายทาง หนองคาย นครพนม บึงกาฬ ผ่าน เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร
- ปลายทาง ขอนแก่น ผ่าน หล่มสัก ชุมแพ
- ปลายทาง นครราชสีมา ผ่าน อ.สากเหล็ก อ.เขาทราย(พิจิตร) โคกสำโรง(ลพบุรี) สีคิ้ว(นครราชสีมา)
- ปลายทาง อุบลราชธานี ผ่าน ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร
- ภาคตะวันออก
- ปลายทาง พัทยา ระยอง ผ่าน สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา
- ภาคใต้
- ปลายทาง ภูเก็ต ผ่าน สิงห์บุรี บางบัวทอง เพชรบุรี ชะอำ หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา
- ปลายทาง ด่านนอก ชายแดนมาเลเซีย ผ่าน หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ทุ่งสง พัทลุง หาดใหญ่
ทางรถยนต์ส่วนบุคคล
แก้- สายที่ 1 จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 เข้าพิษณุโลก แล้วเดินทางตามเส้นทางสายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) จนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์
- สายที่ 2 จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1ผ่านสระบุรี แยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ผ่านลพบุรี เพชรบูรณ์ จนถึงอำเภอหล่มเก่า เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) 8 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 จนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์
- สายที่ 3 จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1จนถึงกำแพงเพชร เลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ผ่านสุโขทัย จนถึงอำเภอศรีสัชนาลัย แล้วแยกขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 จนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์
ระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัดอุตรดิตถ์
แก้- ท่ารถประจำทาง
- รถประจำทางสายอุตรดิตถ์-ตรอน-พิชัย (ท่ารถอยู่ข้างวัดท่าถนนฝั่งริมน้ำน่าน)
- รถประจำทางสายอุตรดิตถ์-ฟากท่า-บ้านโคก (ท่ารถหน้าสถานีรถไฟอุตรดิตถ์เก่า)
- รถประจำทางสายอุตรดิตถ์-ทองแสนขัน-น้ำปาด (ท่ารถอยู่ข้างวัดท่าถนนฝั่งริมน้ำน่าน)
- คิวรถสองแถว
- รถสองแถวสายอุตรดิตถ์-ลับแล (คิวรถอยู่หน้าร้านอุตรดิตถ์เมืองทอง และร้านเพชรนพเก้า)
- รถสองแถวสายอุตรดิตถ์-หาดงิ้ว (คิวรถอยู่ฝั่งตรงข้ามนาซ่าแลนด์)
- รถสองแถวสายอุตรดิตถ์-ห้วยฉลอง (คิวรถอยู่ตึกแถวข้างตลาดเทศบาล 3)
- รถสองแถวสายอุตรดิตถ์-น้ำปาด (คิวรถอยู่หน้าสนามแบดมินตันเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์(ตลาดโต้รุ่ง))
- รถสองแถวสายอุตรดิตถ์-น้ำหมัน-วังดิน (คิวรถอยู่หน้าสนามแบดมินตันเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์(ตลาดโต้รุ่ง))
- รถสองแถวสายอุตรดิตถ์-ท่าปลา (คิวรถอยู่ข้างวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์)
- รถแท๊กซี่ มีจุดจอดรับส่งอยู่ที่ สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ และสถานีขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์
- รถสองแถวรอบเมือง มีจุดจอดรับส่งอยู่ที่สถานีขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ,โลตัสอุตรดิตถ์ ตลาด และเกาะกลาง
- รถตุ๊กตุ๊กรับจ้าง มีจุดจอดรับส่งที่สถานีขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์
- รถจักรยานยนต์รับจ้าง มีจุดจอดรับส่งที่ ตรงข้ามตลาดโต้รุ่ง หน้าห้างฟรายเดย์ หน้าวัดท่าถนนฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟอุตรดิตถ์
- รถสามล้อรับจ้าง
ทางอากาศ
แก้จังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่มีสนามบินเปิดให้บริการ แต่สามารถใช้บริการสนามบินใกล้เคียงเพื่อเดินทางทางอากาศมาจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แก่ สนามบินพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก และสนามบินสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
การเดินทางสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
แก้จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพรมแดนติดกับเมืองปากลาย แขวงไชยบุรี ประเทศลาว ทางอำเภอบ้านโคกและน้ำปาด เมือปี 2552 ทางคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกระดับช่องภูดู่ ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก เป็นด่านชายแดนสากล ดังนั้นในปัจจุบัน การเดินทางผ่านแดนเข้าออกสู่ประเทศลาวสามารถทำได้อย่างสะดวก ณ ที่ทำการด่าน ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศลาว
การเดินทางสู่ประเทศลาวเริ่มจาก จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ถึงเมืองหลวงพระบาง เป็นระยะทางประมาณ 320 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชั่วโมง
- ด่านภูดู่ -ปากลาย 30 กิโลเมตร
- ปากลาย-ไชยบุรี 168 กิโลเมตร
- ไชยบุรี-ท่าเรือเฟอร์รี 30 กิโลเมตร (ข้ามแม่น้ำโขง)
- ท่าเรือเฟอร์รี-เชียงเงิน 60 กิโลเมตร
- เชียงเงิน-หลวงพระบาง 27 กิโลเมตร
ในปัจจุบันทางส่วนใหญ่ได้ปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตที่สามารถเดินทางได้ทุกฤดูกาลจนถึงเชียงเงิน จากนั้นเป็นทางลาดยางจนถึงหลวงพระบาง ในปีพ.ศ. 2555 เส้นทางดังกล่าวได้ถูกพัฒนาเป็นถนนระหว่างประเทศระดับมาตรฐาน (R4 Highway) เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในการเดินทางจากพรมแดนประเทศไทยสู่หลวงพระบาง
สถานที่สำคัญ
แก้- โบราณสถาน
- วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
- วัดพระแท่นศิลาอาสน์
- วัดพระยืนพุทธบาทยุคล
- วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
- บ่อเหล็กน้ำพี้
- วัดดงสระแก้ว
- พระอารามหลวง
- พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดอุตรดิตถ์
- หลวงพ่อเพ็ชร (วัดท่าถนน) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์
- พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี (วัดคุ้งตะเภา)
- หลวงพ่อพุทธรังสี (วัดพระยืนพุทธบาทยุคล)
- หลวงพ่อธรรมจักร (วัดพระแท่นศิลาอาสน์)
- พระเจ้าทันใจ (วัดพระแท่นศิลาอาสน์)
- หลวงพ่อเชียงแสน (วัดธรรมาธิปไตย)
- หลวงพ่อสุวรรณเภตรา (วัดคุ้งตะเภา)
- หลวงพ่อสัมฤทธิ์ (วัดหมอนไม้)
- หลวงพ่อโต (วัดหน้าพระธาตุ อำเภอพิชัย)
- พระฝางทรงเครื่อง (จำลอง) (วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ)
- หลวงพ่อประธานเฒ่า (วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง)
- เขื่อน
สถานที่ท่องเที่ยว
แก้- อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
- วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
- วัดท่าถนน
- วัดใหญ่ท่าเสา
- วัดกลางธรรมสาคร
- วัดธรรมาธิปไตย
- อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัยดาบหัก (ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์)
- เขื่อนทดน้ำผาจุก
- อำเภอลับแล
- วัดพระแท่นศิลาอาสน์
- วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
- แหล่งประวัติศาสตร์เวียงเจ้าเงาะ
- อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ
- บ้านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์
- พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล และซุ้มประตูเมืองลับแล
- พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวนลับแล
- พิพิธภัณฑ์เรือนลับแลโบราณ เลอ ลับแลง
- บ้านผาจก 200 ปี
- น้ำตกแม่พูล
- หนองพระแล
- อำเภอพิชัย
- วัดหน้าพระธาตุ
- ศาลเจ้าพ่อพระยาพิชัยดาบหัก
- ศาลเจ้าแม่ทับทิม
- พิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก
- สะพานปรมินทร์
- อำเภอตรอน
- วัดบ้านแก่งใต้
- อำเภอน้ำปาด
- อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาปาด
- อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว
- อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่
- อำเภอท่าปลา
- เขื่อนสิริกิติ์
- อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน
- อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- แก่งทรายงาม
- อำเภอทองแสนขัน
- วัดพลอยสังวรนิรันดร์
- พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้
- อำเภอฟากท่า
- โคกธาตุ
- สุสานหอยล้านปี
- อำเภอบ้านโคก
- จุดผ่านแดนถาวรภูดู่
- ภูแลลาว
ดูเพิ่มได้ที่ รายชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดอุตรดิตถ์
บุคคลที่มีชื่อเสียง
แก้- เกจิคณาจารย์ชื่อดังของจังหวัดอุตรดิตถ์
- พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
- พระนิมมานโกวิท (ทองดำ ฐิตวณฺโณ) พระเกจิอาจารย์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
- หลวงพ่อกล่อม พรหมสโร พระเกจิอาจารย์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่ากะพี้ ต้นตำรับพระปิดตาสายภาคเหนือ ที่โด่งดังระดับประเทศ
- หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต
- พระครูนิกรธรรมรักษ์ ติสฺสโร (หลวงพ่อไซร์ วัดช่องลม)
- พระครูพิชัยธรรมคุณ (หลวงพ่อจรูญ จนฺทสโร) พระสุปฏิปันโนแห่งเมืองพิชัย
- ด้านการเมืองการปกครอง
- เจ้าพระฝาง
- พระยาพิชัยดาบหัก
- พระยาราชฤทธานนท์พหลพลภักดี (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) อดีตข้าหลวงเมืองแพร่
- พระศรีพนมมาศ (ทองอิน แซ่ตัน)
- พึ่ง ศรีจันทร์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ 4 สมัย
- เกรียง กีรติกร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์
- ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
- วารุจ ศิริวัฒน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ 2 สมัย
- เปรม มาลากุล ณ อยุธยา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ 5 สมัย
- วิโรจน์ แสงสนิท อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- บุญยง วัฒนพงศ์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ 5 สมัย
- ปาน พึ่งสุจริต อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- กฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 60 ของไทย)
- ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
- พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ
- พลเอก ฉลองชัย ชัยยะคำ อดีต รองเสนาธิการทหาร และอดีตแม่ทัพภาคที่ 3
- พันตำรวจเอก วชิรา ยาวไทยสงค์ (ผกก.เบิ้ม) อดีตผู้กำกับ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง
- ด้านการศึกษา
- ศาตราจารย์พิเศษ นาวาเอก ดร.เจริญ เจริญรัชต์ภาคย์ นักวิทยาศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา
- ด้านกีฬา
- นางหงส์ เลี้ยงประเสริฐ นักกีฬามวยไทยอาชีพ
- เสมาเพชร ส.เชาวลิต นักกีฬามวยไทยอาชีพ
- พันตำรวจโท นที ทองสุขแก้ว อดีตนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย อดีตกัปตันทีมชาติไทย
- ด้านสื่อมวลชน/ดารา/นักแสดง/ศิลปิน
- สุนทร คมขำ (กล้วย เชิญยิ้ม) ดาราตลก
- ไพโรจน์ ใจสิงห์ นักแสดง และผู้กำกับภาพยนตร์
- ชูศักดิ์ ราษีจันทร์ (ต๊ะ ท่าอิฐ) นักเขียน
- ยิ่งใหญ่ อายะนันท์ นักแสดง
- อาณัติ สายทวี ศิลปิน และนักแสดง
- อรรณพ ทองบริสุทธิ์ (ปอ) AF คนที่ 7 ของประเทศไทย จากรายการ True Academy Fantasia Season 7
- สุรวุฑ ไหมกัน (หนุ่ม) นักแสดง และพิธีกร
- ศรายุทธ บุญหวา (อาร์ม) ศิลปิน
- ครุสุดา วันมา (ฝันดี) พิธีกรช่อง 2 และช่อง 8
- ฐิติมา อินกล่ำ (ต้อม) ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี
- กรกช แข็งขัน (ก้อย) นักแสดง
- สมพร ศรีวิชัย (สมพร เมืองลับแล) ศิลปิน
- นางงาม/นางแบบ
- กัญญารัตน์ พงศ์กัมปนาท รองอันดับ 1 Miss Universe Thailand ปี 2011 และนักแสดงช่อง 7
- วรวลัญช์ พุฒกลาง รองอันดับ 3 Miss Universe Thailand ปี 2023 และชนะเลิศ Miss Planet International ปี 2023 คนแรกของประเทศไทย
- พิชญา ลักษณา ชนะเลิศนางสาวอุตรดิตถ์ ปี 2560 และนักแสดงละคร กล่อมรัก ทางช่อง 5
- น้ำหนึ่ง แวนเดอเวน รองอันดับ 4 Miss Thailand 2024
ของดีจังหวัดอุตรดิตถ์
แก้อำเภอเมือง
แก้- ขนมเทียนเสวย
- กล้วยกวน
- ผลิตภัณฑ์ลูกตาวเชื่อม
อำเภอลับแล
แก้- ข้าวแคบ
- ข้าวพันผัก
- หมี่พัน
- ลอดช่องเค็ม
- ข้าวเกรียบว่าว
- ข้าวหลามทุ่งยั้ง
- ทุเรียนหลงลับแล ทุเรียนหลินลับแล
- ลางสาด ลางกอง
- ผ้าซิ่นตีนจกลับแล
- ไม้กวาดตองกง
อำเภอพิชัย
แก้- ไส้กรอกใหญ่รสเด็ดโบราณพิชัย
- แกงหอยขม
อำเภอตรอน
แก้- ขนมสาลี่มะพร้าว
- อั่วบักเผ็ด
อำเภอท่าปลา
แก้- ผลิตภัณฑ์เม็ดมะม่วงหิมพานต์
- ปลาซิวแก้ว
อำเภอน้ำปาด
แก้- สับปะรดห้วยมุ่น
- กระเทียมน้ำปาด
- มะขามหวาน
อำเภอทองแสนขัน
แก้- ผลิตภัณฑ์จากแร่เหล็กน้ำพี้
อำเภอฟากท่า
แก้- มะขามหวาน
อำเภอบ้านโคก
แก้- มะขามหวาน
เชิงอรรถ
แก้หมายเหตุ 1: นายแจ้ง เลิศวิลัย เป็นผู้พบกลองมโหระทึกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังกล่าว โดยได้ขุดพบที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2470 และได้ส่งมอบให้แก่ทางราชการ ปัจจุบันกลองมโหระทึกดังกล่าวตั้งแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร[23]
อ้างอิง
แก้- ↑ สัญลักษณ์และเพลงประจำจังหวัด เก็บถาวร 2011-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 318 ง หน้า 15 วันที่ 19 ธันวาคม 2566
- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2565.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเปลี่ยนนามเมืองพิไชยเปนเมืองอุตรดิฐ เก็บถาวร 2008-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 32, 22 สิงหาคม พ.ศ. 2458, หน้า 178
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2552). ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์-พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. แหล่งข้อมูล : http://utt.onab.go.th/download/serviceutt/128.doc เก็บถาวร 2011-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลเมื่อ 13-6-52
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2545). ศาสนาการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
- ↑ ชิน อยู่ดี และสุด แสงวิเชียร. (2517). อดีต. กรุงเทพฯ: ฝ่ายวิชาการนักศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 170-171
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 วิบูลย์ บูรณารมย์. (2540). ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. อุตรดิตถ์: โรงพิมพ์พี.ออฟเซ็ทอาร์ท.
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2530). วัดใหญ่ท่าเสา : รายงานการสำรวจและแนวทางการสงวนรักษาอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร. อัดสำเนา.
- ↑ _______. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐ เก็บถาวร 2011-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.).
- ↑ Karl Doehring. (1920). The Country and People of Siam. London : White Lotus Co Ltd. ISBN 978-974-8434-87-2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเปลี่ยนนามเมืองพิไชยเปนเมืองอุตรดิฐ เก็บถาวร 2008-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๒๗๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ ในเขตเทศบาลเมืองอุตตรดิตถ์ จังหวัดอุตตรดิตถ์ พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๓, ตอน ๓๘ ก, ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๕๘๒
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2465). พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ ในรัชกาลที่ 5 นับในหนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆเปนภาคที่ 5. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทย.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศห้ามไม่ให้ราษฎรตกตื่นในการเล่าลือต่าง ๆ (ข่าวลือเกิดศึกสงครามต่าง ๆ และชี้แจงเหตุปราบผู้อ้างตนเป็นผีบุญในมณฑลอิสาณหลอกลวงชาวบ้าน ,การปราบโจรเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ ในมณฑลพายัพ), เล่ม ๑๙, ๑๐ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๑, หน้า ๓๘๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศถอดเจ้าพิริยเทพวงษ์ออกจากเจ้าผู้ครองนครแพร่, เล่ม ๑๙, ๕ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๑, หน้า ๕๓๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศถอดเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้านครแพร่ออกจากสมาชิกเครื่องราชอิศริยาภรณ์, เล่ม ๑๙, ๑๒ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๑, หน้า ๕๖๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศข่าวราชการมณฑลพายัพ (ข่าวการส่งกองทัพยกขึ้นไปปราบโจรเงี้ยวที่ปล้นเมืองแพร่), เล่ม ๑๙ แผ่นที่ ๑๐, ๑๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๑, หน้า ๓๘๕
- ↑ 20.0 20.1 20.2 เทวประภาส มากคล้าย. (2553). วัดคุ้งตะเภาจากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อและภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงเพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ISBN 9789743648847
- ↑ 21.0 21.1 สำนักงานคลังจังหวัดอุตรดิตถ์. (2551). คำขวัญจังหวัดอุตรดิตถ์ เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก. [ออน-ไลน์]. แหล่งข้อมูล : http://klang.cgd.go.th/utt/utt2.htm เก็บถาวร 2011-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2552). สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. [ออน-ไลน์]. แหล่งข้อมูล : http://utt.onab.go.th/download/serviceutt/128.doc เก็บถาวร 2011-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "หวน พินพันธุ์, ผศ.. (2529). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ: กระทรวงมหาดไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-28. สืบค้นเมื่อ 2009-10-08.
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
แก้- จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับกระทรวงมหาดไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: บริษัทพิฆเณศพริ้นท์ติ้งเซนเตอร์จำกัด, 2545.
- เดช บุนนาค. การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435–2458. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามลดา, 2548.
- ธเนศวร์ เจริญเมือง. "การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นในระยะผ่าน (1)." หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ, ปีที่ 2 ฉบับที่ 48, 23-29 กันยายน 2545.
- ธเนศวร์ เจริญเมือง. คนเมือง. เชียงใหม่: ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, 2544.
- บุญวรรณี วิริยะชัยวงศ์. กระบวนการสร้างบ้านแปงเมืองในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูนสมัยราชวงศ์มังราย พ.ศ. 1800-2030. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2539.
- มณเฑียร ดีแท้. มรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ: วิเทศธุรกิจการพิมพ์, 2523.
- วิบูลย์ บูรณารมย์. ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. อุตรดิตถ์: โรงพิมพ์พี.ออฟเซ็ทอาร์ท, 2540.
- สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด, 2539.
- หวน พินธุพันธุ์. ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ: กระทรวงมหาดไทย, 2529.
- หวน พินธุพันธุ์. อุตรดิตถ์ของเรา. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, 2521.
- อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. "ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในสังคมเชียงใหม่ (พ.ศ. 1839-2439)." วารสารสังคมศาสตร์, ปีที่ 5 ฉบับที่ 1, เมษายน-กันยายน 2524.
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้
ข้อมูลจังหวัดอุตรดิตถ์ของหน่วยงานราชการ
ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวและประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัด
|
ประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุตรดิตถ์
ข้อมูลสื่อวีดิทัศน์
|
17°38′N 100°06′E / 17.63°N 100.1°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดอุตรดิตถ์
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย