วัดคุ้งตะเภา
วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณในเขตการปกครองของคณะสงฆ์มหานิกาย และเป็น 1 ใน 9 วัดศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์[4] ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ใกล้กับจุดตัดสี่แยกคุ้งตะเภา บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 (ถนนสายเอเชีย) เป็นวัดประจำตำบลคุ้งตะเภา[5]
วัดคุ้งตะเภา | |
---|---|
ภาพจากบนลงล่าง, ซ้ายไปขวา: อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดินหน้าวัดคุ้งตะเภา, ซุ้มประตูวัด, อุโบสถและศาลาการเปรียญ, พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี, ซากอิฐโบราณบริเวณค่ายพระตำหนักหาดสูง, สมุดข่อยกฎหมายพระอัยการเมืองเมืองสวางคบุรีในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา | |
ชื่อสามัญ | วัดคุ้งตะเภา |
ที่ตั้ง | 285 หมู่ที่ 4 บ้านคุ้งตะเภา ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (ถนนสายเอเชีย) ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย (เถรวาท) |
พระประธาน | พระพุทธสุวรรณเภตรา |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี (หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์) [1] |
เจ้าอาวาส | พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ[2] |
พระจำพรรษา | 15 รูป (พรรษาปี 2554)[3] |
เวลาทำการ | 06.30 น.–18.30 น. |
จุดสนใจ | พระพุทธรูป, พระบรมสารีริกธาตุ, พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและสวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา |
กิจกรรม | "เทศกาลไหว้พระปิดทองสองมหาพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์วัดคุ้งตะเภา" |
หมายเหตุ | เว็บไซด์วัดคุ้งตะเภา www.watkungtapao.thmy.com |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดคุ้งตะเภาเป็นวัดโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับสถาปนาขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อปี 2313[6][7][8] เป็นวัดแห่งเดียวในปริมณฑลเมืองพิชัยและสวางคบุรี ที่ปรากฏหลักฐานการสถาปนาวัดในปีนั้น[9] ตำนานเล่าสืบกันมาว่า พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายคนกลับมาตั้งครัวเรือน สร้างวัดและศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ณ ริมคุ้งสำเภา พร้อมทั้งตรัสเรียกชื่อวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า "วัดคุ้งตะเภา"[10][11] ปัจจุบันทางราชการได้นำชื่อคุ้งตะเภาไปใช้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบลคุ้งตะเภาสืบมาจนปัจจุบัน
วัดเคยเป็นที่สถิตย์ของพระครูสวางคมุนี เจ้าคณะใหญ่เมืองฝางมาตั้งแต่โบราณ[12] อีกทั้งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ พระพุทธสุวรรณเภตรา และ พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภาเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น[13] เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 (สำนักปฏิบัติธรรมภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม)[14][15][16] และเป็นวัดประจำตำบลที่มีสถิติพระภิกษุสามเณรจำพรรษามากที่สุดในตำบลคุ้งตะเภา[3] เป็นศูนย์กลางทางด้านศาสนศึกษาในคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา และมีอายุเก่าแก่ที่สุดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา[17] ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สำนักศาสนศึกษาประจำตำบล และหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา (อปต.) ซึ่งเป็นหน่วยอบรมฯ ที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัดอุตรดิตถ์[18][19] โดยมี พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) เป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา (จร.) [2]
ประวัติ
แก้การตั้งวัด
แก้วัดคุ้งตะเภาเป็นวัดโบราณ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มสร้างมาแต่สมัยใด จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณวัด เช่น เศษกระเบื้องหลังคาตะขอดินเผาแกร่งแบบไม่เคลือบ เศษภาชนะกระเบื้องเคลือบสมัยราชวงศ์ชิง และเศษอิฐโบราณอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22–23 ในบริเวณวัด สันนิษฐานว่าพื้นที่ตั้งวัดคุ้งตะเภาน่าจะเริ่มมีพระภิกษุจำพรรษามาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา ในชั้นเอกสารมีเพียงหลักฐานสืบค้นชั้นเก่าสุดระบุว่าได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดในสมัยธนบุรี พ.ศ. 2313 อันเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ณ เมืองสวางคบุรี พร้อมโปรดเกล้าฯ ให้จัดการการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ ซึ่งในคราวนั้นพระองค์ได้ประทับอยู่จัดการคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ ณ เมืองสวางคบุรี ตลอดฤดูน้ำหลาก ซึ่งวัดคุ้งตะเภาเป็นวัดเพียงแห่งเดียวในแถบย่านเมืองพิชัยและสวางคบุรี ที่ปรากฏหลักฐานการสถาปนาวัดขึ้น เมื่อคราวที่พระองค์ทรงชำระคณะสงฆ์หัวเมืองเหนือใหม่ในปีศักราชนั้น ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)[20][21]
อย่างไรก็ตามจากหลักฐานตำนานของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา ทำให้ทราบว่าวัดคุ้งตะเภามีอายุมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หากแต่เป็นวัดที่พักสงฆ์ในชุมชนขนาดเล็ก ไม่มีศาสนสถาน จึงอาจตกสำรวจการขึ้นทะเบียนของกรมการเมืองในสมัยอยุธยา หรืออาจเป็นไปได้ว่าหลักฐานได้สูญหายไปเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแล้ว ทำให้นามวัดเพิ่งมีในทะเบียนใน พ.ศ. 2313[22] พระองค์สถาปนาวัดคุ้งตะเภา และสร้างศาลาบอกมูลฯ ขึ้นในคราวเดียวกันเพื่อให้เป็นศูนย์รวมชุมชนและเป็นที่พำนักสั่งสอนของพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมที่ทรงอาราธนานิมนต์มาจากกรุงธนบุรี เนื่องจากความสำคัญยิ่งที่วัดคุ้งตะเภาเป็นวัดในชุมชนคนไทยดั้งเดิม ที่มีที่ตั้งอยู่เหนือสุด ท้ายพระราชอาณาเขตกรุงธนบุรีในสมัยนั้น ตามสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มาแต่โบราณ[23]
วัดคุ้งตะเภาสร้างติดอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก เดิมชื่อ "วัดคุ้งสำเภา" (หรือโค้งสำเภา) จากตำนานที่เชื่อกันมาว่าในสมัยก่อนได้เคยมีเรือสำเภาอัปปางลงในบริเวณนี้ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าเสา ขึ้นกับเมืองพิไชย ต่อเมื่อผ่านเวลานานมาในสมัยธนบุรี จากตำนานหมู่บ้านกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเปลี่ยนชื่อเป็น คุ้งตะเภา[24]
สภาพวัดในอดีต
แก้ปรากฏหลักฐานตามประวัติกรมการศาสนาว่า ในสมัยอาณาจักรธนบุรี วัดคุ้งตะเภามีศาลาการเปรียญอยู่ริมแม่น้ำหลังหนึ่ง ใช้สำหรับบำเพ็ญกุศลสำหรับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านในย่านนี้ ต่อมาภายหลังแม่น้ำน่านเปลี่ยนทิศทางเดินออกไปไกลจากวัดมากกว่า 1 เส้น จึงเกิดแผ่นดินงอกขึ้นมาหน้าวัดซึ่งเป็นท้องน้ำเดิม ขณะเดียวกันก็มีเกาะเกิดขึ้นหน้าวัดด้วยตรงบริเวณหน้าค่ายพระยาพิชัยดาบหักปัจจุบัน
ชาวบ้านย่านตำบลนี้อาศัยศาลาวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่เล่าเรียนมาโดยตลอด มีพระสงฆ์เป็นอาจารย์บอกหนังสือมูลทั้งจินดามณีและมูลบทบรรพกิจรวมไปถึงเลขคณิตต่าง ๆ วัดแห่งนี้มีความเจริญมาโดยลำดับในสมัยรัตนโกสินทร์ จนในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดคุ้งตะเภาได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปกครองของคณะสงฆ์ในแถบนี้ โดยปรากฏหลักฐานว่า ใน พ.ศ. 2431 เจ้าอธิการจัน เจ้าอาวาสวัดในสมัยนั้น ได้รับพระราชทานตาลปัตรพุดตาลทองแผ่ลวด ตั้งสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ พระครูสวางคมุนี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง พร้อมได้รับพระราชทานพัดรองโหมด ย่ามสักลาด บาตรถุงสักลาด กาน้ำถ้วยกระโถนถ้วยร่มรองเท้า เป็นเครื่องยศประกอบตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางอีกด้วย[25] ในปี พ.ศ. 2442 ปรากฏรายงานการศึกษามณฑลพิศณุโลก ได้ระบุว่า วัดคุ้งตะเภา มีพระ 8 รูป ศิษย์วัด 6 คน มีเจ้าอธิการรอดเป็นเจ้าอาวาส และผู้ใหญ่ชื่น เป็นมรรคนายก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดคุ้งตะเภาในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี[26]
จนต่อมาในปี พ.ศ. 2465 มีการจัดการศึกษาใหม่ วัดคุ้งตะเภาจึงมีครูเป็นฆราวาสสอนแทน เรียกว่าโรงเรียนวัดคุ้งตะเภา แต่ยังตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาดุจเดิม โดยแบ่งเป็น 4 ชั้น ตั้งแต่ประถม 1 ถึง 4 ซึ่งโรงเรียนวัดคุ้งตะเภานี้นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของตำบลคุ้งตะเภาและแถบย่านแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก
ในช่วงหลังมา แม่น้ำน่านในฤดูน้ำหลากได้ขึ้นกัดเซาะตลิ่งวัดพังจนเกือบถึงตัวศาลาการเปรียญ ชาวบ้านเกรงศาลาจะได้รับความเสียหาย จึงปรึกษากันย้ายศาลาการเปรียญเมื่อปี พ.ศ. 2472 อย่างไรก็ดี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทิศทางจากวัดไปมากแล้ว ทำให้วัดในช่วงหลังตั้งอยู่ไกลจากแม่น้ำ ความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ทำให้ทราบว่าในสมัยนั้นหาดหน้าวัดได้งอกจากตลิ่งแม่น้ำเดิมไปมากแล้ว และคงมีสะพานไม้ทอดยาวลงไปหาแม่น้ำน่านมาก่อนหน้านั้น โดยในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2444 พระองค์ทรงสังเกตว่าวัดคุ้งตะเภาแปลกกว่าวัดอื่นตรงที่มีสะพานไม้ทอดยาวมาหาแม่น้ำน่าน ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า[27]
...แลเห็นพุ่มไม้วัดแลบ้านลิบ ๆ แต่ในการที่จะมาต้อนรับนั้น ต้องมาตกแต่งซุ้มแลปรำบนหาดซึ่งไม่มีต้นไม้แต่สักต้นเดียว แดดกำลังร้อนต้องมาจากบ้านไกลเปนหนักเปนหนา วัด (คุ้งตะเภา) ที่ตั้งอยู่บนตลิ่งหลังหาดต้องทำตพานยาวนับด้วยเส้น ลงมาจนถึงหาดที่ริมน้ำ แต่ถ้าน่าแล้งเช่นนี้ ตพานนั้นก็อยู่บนที่แห้ง แลยังซ้ำห่างน้ำประมาณเส้น ๑ หรือ ๑๕ วา ถ้าจะลงเรือยังต้องลุยน้ำลงมาอีก ๑๐ วา ๑๕ วา...
ด้วยเหตุที่แม่น้ำเปลี่ยนทิศไปไกลจากวัดในภายหลัง ทำให้แม่น้ำน่านหน้าวัดกลายเป็นที่งอก แต่ก็ยังคงสภาพเป็นตลิ่งเก่าที่กลายเป็นตลิ่งลำมาบของแม่น้ำน่านในฤดูฝน มีบุ่งน้ำขังในช่วงหน้าแล้งบ้าง พระสงฆ์และชาวบ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นจึงสร้างสะพานไม้ยาวต่อจากวัดลงข้ามมาลงบุ่งคุ้งตะเภาและลงไปแม่น้ำน่านเพื่อการสัญจรและอุปโภคบริโภค
สภาพวัดในปัจจุบัน
แก้ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 หมู่บ้านคุ้งตะเภาประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายมาก ประกอบกับเส้นทางคมนาคมโดยแม่น้ำน่านได้ถูกลดความสำคัญในฐานะเส้นทางคมนาคมค้าขายสำคัญของภูมิภาคลงมาก่อนหน้านั้นแล้ว จาการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์ใน พ.ศ. 2459 ทำให้ชาวบ้านคุ้งตะเภาย้ายที่ตั้งหมู่บ้านขึ้นมาตั้งในที่ดอนจนถึงปัจจุบัน
และหลังจากการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์ที่ทำให้แหล่งชุมนุมการค้าย่านท่าเสาและท่าอิฐหมดความสำคัญลงดังกล่าว ได้มาประกอบกับการที่ทางราชการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ปิดกั้นแม่น้ำน่านในเขตอำเภอท่าปลาในปี พ.ศ. 2510 ทำให้การคมนาคมทางน้ำของชาวบ้านคุ้งตะเภายุติลงสิ้นเชิง ชาวบ้านและพระสงฆ์จึงต้องเปลี่ยนมาใช้เส้นทางคมนาคมทางบกเป็นหลัก โดยใช้เส้นทางเลียบแม่น้ำน่านที่ตั้งอยู่หน้าศาลาการเปรียญหลังเก่า (หลังที่ย้ายจากริมน้ำขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2472) เป็นเส้นทางสัญจร ปัจจุบันหลังจากมีการตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 ผ่านหลังวัดคุ้งตะเภาในประมาณปี พ.ศ. 2522[28] ทำให้บริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภาที่ใช้เส้นทางสัญจรมาตั้งแต่สมัยอยุธยาต้องเปลี่ยนมาเป็นหลังวัด และพื้นที่ด้านหลังวัดในสมัยก่อนกลายมาเป็นหน้าวัดดังในปัจจุบัน
ปูชนียวัตถุ
แก้-
พระพุทธสุวรรณเภตราเป็นพระประธานในอุโบสถ
-
พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานในหอพระ บนอาคารศาลาการเปรียญ
วัดคุ้งตะเภามีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จำนวน 2 องค์ และมีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 2 องค์ ได้แก่ พระพุทธสุวรรณเภตรา (หลวงพ่อสุวรรณเภตรา) เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญ 9 องค์แห่งอุตรดิตถ์ องค์พระหล่อด้วยโลหะปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 47 นิ้ว สูง 62 นิ้ว (ตลอดถึงพระรัศมี) มีพุทธลักษณะสมัยสุโขทัย สถาปนาโดยพระครูธรรมกิจจาภิบาล อดีตพระครูเกจิในอดีต องค์พระได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา และ พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี (หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์) เป็นพุทธลักษณะปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ หน้าตักกว้างศอกเศษ มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบอย่างสกุลช่างสุโขทัย-เชียงแสน เดิมองค์พระถูกพอกปูนลงรักปิดทองอารักขาภัยไว้ ตัวองค์พระสำริดดังปรากฏในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยแรกก่อตั้งกรุงสุโขทัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18
พระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภา
แก้-
พระบรมสารีริกธาตุ ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงประทานให้
-
บุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสามประเทศ ณ วัดคุ้งตะเภา
-
ผอบหินสบู่และองค์พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย ที่ประดิษฐานในวัดคุ้งตะเภา
วัดคุ้งตะเภามีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้ภายนอกพระมหาเจดีย์ปิด โดยได้รับมอบประทานมาจากสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระสังฆนายกจากทั้งในและต่างประเทศ ทุกส่วนล้วนมีเอกสารและหนังสือกำกับพระบรมสารีริกธาตุแสดงว่าเป็นของพระบรมสารีริกธาตุส่วนดั้งเดิมแท้ที่รักษาสืบทอดมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยพุทธกาล ปัจจุบันสถิตย์ภายในผอบแก้วภายในพระรัตนเจดีย์แก้ว ประดิษฐานบนพระแท่นบุษบกบรมคันธกุฎีภายในรัตนกุฎีพุทธวิหาร กลางอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา เปิดให้ประชาชนสักการบูชาได้ทุกวัน
ส่วนที่ได้รับมาจากสมเด็จพระสังฆนายกแห่งประเทศพม่านั้น วัดได้รับมอบถวายต่อมาจากพระธรรมธีรราชมหามุนี (เที่ยง อคฺคธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, เจ้าคณะภาค 11 (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์) ซึ่งมีจำนวน 3 พระองค์[29] (ปัจจุบันเสด็จเพิ่มมาอีก 1 พระองค์ รวมเป็น 4 พระองค์) เป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนวิปปกิณณธาตุ ซึ่งเป็นของเดิมที่รัฐบาลพม่านำโดย อูนุ นายกรัฐมนตรีคนแรก ค้นพบ[30]
ส่วนที่ได้รับมอบประทานมาจากพระสังฆราชไทย มีจำนวน 9 พระองค์ เป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก[31] ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่รักษาสืบมาตั้งแต่เริ่มมีการเผยแผ่ศาสนาพุทธในแผ่นดินไทย
พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดียเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระโคตมพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ โดยวัดคุ้งตะเภาได้รับมอบถวายจาก พระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ Phrakru Paladsuvatanaputthikun (Dr.Visine Vajiravungso) ประธานสงฆ์วัดไทยสิริราชคฤห์ อำเภอนาลันทา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย[32]
สถาปัตยกรรมสำคัญ
แก้วัดคุ้งตะเภาปรากฏหลักฐานโบราณสถานภายในวัดมีสถาปัตยกรรมแบบไทยกลาง
สถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง
แก้ศาลาการเปรียญไม้เครื่องสับโบราณ
แก้ศาลาประธานวัดคุ้งตะเภาหลังนี้เป็นอาคารทรงโรงเครื่องสับแบบภาคกลางโบราณ จากประวัติหลักฐานการสถาปนาวัดคุ้งตะเภากล่าวว่าใน พ.ศ. 2313 ระบุว่าวัดมีศาลาการเปรียญเก่าแก่อยู่หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ย้ายโครงสร้างศาลาดังกล่าว มา ณ ที่ตั้งปัจจุบันในปี พ.ศ. 2472 โดยคงรูปแบบเก่าแต่ครั้งธนบุรีไว้ด้วย
ภูมิสภาปัตยกรรมมีรูปแบบศาลาโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีโครงสร้างคล้ายกับศาลาการเปรียญวัดใหญ่ท่าเสา โดยความเก่าแก่ของโครงสร้างและรูปแบบศาลาลักษณะนี้ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากรกล่าวว่า เป็นรูปแบบโครงอาคารศาลาการเปรียญที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
จากที่ตั้งของตัวศาลานั้น เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ ทำให้ทราบลักษณะการอยู่อาศัยและสัญจรของคนโบราณในแถบนี้ได้ เพราะที่ตั้งของตัวศาลาวัดในสมัยก่อนนั้นมักตั้งอยู่ริมแม่น้ำ (ปัจจุบันแม่น้ำน่านได้ตื้นเขินห่างจากตลิ่งศาลาวัดไปมากกว่า 1 กิโลเมตร) เป็นหลักฐานยืนยันถึงความเป็นวัดและหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์อัน ยาวนานกว่าวัดและหมู่บ้านอื่นในแถบนี้ เดิมนั้น ก่อนสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ตัวศาลาเดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน อันเป็นทางสัญจรคมนาคมในสมัยก่อน ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าศาลาในที่ตั้งเดิมนั้นสร้างในสมัยใด (คาดว่าอาจจะสร้างมาแต่ครั้งแรกตั้งวัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย)
จากหลักฐานบ่อน้ำข้างบันไดศาลาทำให้ทราบว่าศาลาหลัง นี้ย้ายที่ตั้งขึ้นมาจากริม แนวแม่น้ำน่านเดิมบริเวณต้นโพธิ์หลังวัดมาตั้งในพื้นที่ปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2472 โดยตัวโครงศาลาประธานในปัจจุบันที่ย้ายมานี้น่าจะมีอายุเกือบร้อยปีแล้ว
ศาลาการเปรียญหลังนี้ก่อนบูรณะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยภาคกลาง สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง เสาทุกต้นเป็นเสาสี่เหลี่ยม เป็นอาคารทรงโรงขนาดกลาง หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ปูนปั้น หน้าบันเป็นพื้นไม้เรียบ เดิมเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน มีชายยื่นออกมารับทางขึ้นศาลาทางทิศเหนือ อักษรข้างบันไดศาลาระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. 2483
ศาลาหลังนี้ใช้เป็นอาคารสำหรับบำเพ็ญกุศลหลักของวัด มีการบูรณะและต่อเติมจากตัวโครงศาลาเดิมมาเป็นระยะ ต่อมาได้มีการต่อเติมปิดทึบเฉพาะด้านหอพระ ห้องเก็บของของโรงครัวด้านทิศตะวันออกและตะวันตกบางส่วน และมีการสร้างบันไดใหม่ทางด้านทิศตะวันตกหลังจากมีการสร้างถนนสายเอเชีย ในยุคหลัง พ.ศ. 2500
ในปลายปี พ.ศ. 2549 ทางวัดคุ้งตะเภาได้ทำการบูรณะและต่อเติมศาลาการเปรียญครั้งใหญ่ (ปัจจุบันยังคงทำการบูรณะต่อเติมอยู่) มีการรื้ออาคารประกอบทั้งหมดออก โดยยังคงรักษาโครงไม้ตัวศาลาประธานเดิมไว้อยู่ ซึ่งหลังบูรณะเสร็จ หากมองจากภายนอกศาลาจะไม่สามารถเห็นตัวหลังคาศาลาเดิมได้อีกต่อไป เพราะการบูรณะนั้นมีการเสริมมุขและสร้างอาคารประกอบปิดรอบตัวศาลาประธานทั้งสี่ด้าน
สถาปัตยกรรมล้านนา
แก้ซุ้มประตูโขงวัดคุ้งตะเภา
แก้ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดริมทางแยกคุ้งตะเภา (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 หรือ ถนนสายเอเชีย) ลักษณะซุ้มเป็นซุ้มประตูทรงไทยประยุกต์ศิลปะล้านนาขนาดใหญ่ ออกแบบโดยสล่าเมืองเหนือ ประยุกต์จากรูปแบบเจดีย์ล้านนาผสมรูปแบบซุ้มประตูโขงแบบล้านนา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 3 องค์บนองค์เจดีย์บนยอดซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ซุ้มจรนัมทั้ง 4 ด้าน ประดับเสาและตัวซุ้มด้วยลวดลายปูนปั้นสัตว์หิมพานต์และลายเครือเถาศิลปะล้าน นาสวยงาม โครงซุ้มประตูทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งซุ้ม ฐานเสาเข็มเทปูนแท่งเสริมเหล็กลึก 5 เมตร ขนาดกว้าง 5 เมตร สูง 19 เมตร ซุ้มประตูนี้สร้างแล้วเสร็จบริบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2545
พระธรรมเจดีย์
แก้วัดคุ้งตะเภามีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนเก่าแก่อยู่องค์หนึ่ง มีสัณฐานแบบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองประยุกต์ องค์เจดีย์มีซุ้มจรนัมทั้ง 4 ทิศ ยอดปล้องไฉนนพศูรย์ ล้วนทำด้วยปูนปั้นทั้งสิ้น สัณฐานสูง 3 เมตรโดยประมาณ ซุ้มจรนัมเจาะช่องเล็ก ๆ สำหรับไว้ช้างไม้และเครื่องบูชาปิดหน้าซุ้มด้วยแผ่นกระจก ปัจจุบันคงเหลือสมบูรณ์เพียงด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ บริเวณคอองค์เจดีย์มีกรอบอักษรทำด้วยปูนมีอักษรจารึกว่า "เดือนมิถุนายน ๒๔๙๓ นายบุตร นางไฝ ก่อพระธรรมเจดีย์อุทิศให้เจ้าอธิการกอง"
เจดีย์นี้ชาวบ้านคุ้งตะเภาคนรุ่นก่อนเรียกว่าพระธรรมเจดีย์ หรือธรรมเจดีย์ ไว้สำหรับบรรจุใบลานธรรมสำหรับบูชา ผู้ที่ยังทันมาเห็นขณะสร้างเจดีย์กล่าวว่าผู้สร้างเจาะช่องบริเวณองค์เจดีย์ สำหรับไว้บรรจุพระธรรมใบลาน ปัจจุบันคาดว่าใบลานคงเปื่อยยุ่ยหมดแล้ว เนื่องจากความชำรุดและความชื้นขององค์เจดีย์
นอกจากนี้บริเวณทิศตะวันออกของพระธรรมเจดีย์ยังมีผู้มาสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษด้วยโดยลอกแบบพระธรรมเจดีย์ไปสร้าง โดยเรียงจากทิศเหนือไปทิศใต้ ท่านเล่าว่าเจดีย์องค์แรกเป็นเจดีย์รวมสำหรับบรรจุอัฐิของบรรพบุรุษชาวบ้านคุ้งตะเภา โดยเคยมีซุ้มไม้กระดานเล็ก ๆ เขียนไล่สายบรรพบุรุษบ้านคุ้งตะเภาอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว[33]
สถาปัตยกรรมแบบผสม
แก้อุโบสถวัดคุ้งตะเภา
แก้อุโบสถวัดคุ้งตะเภา เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2492 และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2498 อาคารอุโบสถนี้เป็นอาคารปูนหลังแรกของหมู่บ้านคุ้งตะเภา สถาปัตยกรรมเดิมเป็นรูปแบบอุโบสถทรงไทยประยุกต์ช่างฝีมือพื้นบ้าน ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานมีนามว่า "พระพุทธสุวรรณเภตรา" ผู้ดำริให้จัดสร้างคือ พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) อธิบดีสงฆ์วัดดอยท่าเสา และเกจิอาจารย์รูปสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น
อุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะใหญ่ใน ปี พ.ศ. 2537 โดยดำริของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน) โดยทำการบูรณะเสร็จในปี พ.ศ. 2539 มีการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมไปจากเดิมมาก โดยการบูรณะครั้งหลังสุด ได้มีการก่อสร้างเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมทั้งไทยกลางและล้านนา เพื่อแสดงให้เห็นถึงบริบทวัฒนธรรมของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เป็นแหล่งศูนย์รวมของกลุ่มชาติพันธ์ไทที่หลากหลาย ทั้งไทยและล้านนาที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
อาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติ
แก้"อาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติ" หรือ "อาคารเฉลิมพระเกียรติอสีติวัสสายุมงคล" เป็นโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ล้อมรอบศาลาการเปรียญทรงโรงไม้เครื่องสับโบราณของวัด บนพื้นที่ตั้งรอบศาลาการเปรียญหลังเก่า โดยอาคารใหม่ได้เริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2550 เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งสมัยโบราณและใหม่ มีซุ้มหน้าบันปูนปั้น พื้นปูด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งอาคาร นับเป็นอาคารศาลาการเปรียญปูพื้นด้วยไม้เนื้อแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์
ปัจจุบันโครงการในส่วนอาคารคืบหน้าไปได้ร้อยละ 90 (พ.ศ. 2553) เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้น จะสามารถรองรับประชาชนได้ถึง 1,500 คน และพื้นที่ในอาคารจะถูกใช้เป็นสำนักงานวัดคุ้งตะเภา, ศูนย์สารสนเทศ, สำนักงานสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา, หอสุวรรณเภตรามหาสังฆสมาคม (ห้องประชุมสงฆ์ปรับอากาศ), หอสังฆกิตติคุณาณุสรณ์, หอสมุดวัดคุ้งตะเภา และห้องพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคุ้งตะเภา
สถาปัตยกรรมร่วมสมัย
แก้หมู่กุฎิไม้วัดคุ้งตะเภา
แก้หมู่กุฎิไม้วัดคุ้งตะเภา สร้างขึ้นในที่ตั้งปัจจุบันในช่วง พ.ศ. 2500 โดยย้ายมาจากที่ตั้งเดิมบริเวณหลังวัดริมแม่น้ำน่านเก่า เพื่อปรับทิศทางให้ต้องตามหลักทักษาวัดโบราณ หลังการสร้างอุโบสถของวัดในปี พ.ศ. 2498 เป็นอาคารกลุ่มกุฎิสงฆ์หลังคาทรงปั้นหยาไม้เนื้อแข็ง 2 ชั้น ที่ได้รับอิทธิพลต่อเนื่องมาจากยุคเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างสถาปัตยกรรมบ้านในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่มีการสร้างชานนั่งลดระดับแบบอาคารบ้านทรงไทยโบราณ ซึ่งเคยเป็นรูปแบบหมู่กุฎิสงฆ์ฝาไม้ประกนแบบภาคกลางโบราณอายุนับร้อยปีของวัดที่ถูกรื้อทิ้งเพราะความทรุดโทรม
หมู่กุฎิสงฆ์วัดคุ้งตะเภาเก่า มีการต่อเติมและสร้างมาโดยตลอด โดยอาคารหลังแรกคือกุฎิเก่าที่สร้างโดยกำนันหลง ฟักสด และมีการก่อสร้างหอสวดมนต์ และกุฎิเจ้าอาวาส มาตามลำดับ ทุกอาคารมีทางเดิมเชื่อมถึงกันหมด ทุกอาคารยังคงอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี ปัจจุบันกุฎิเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภายังได้เป็นที่ตั้งของตู้จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาอีกด้วย
อาณาเขตที่ตั้งวัด
แก้วัดคุ้งตะเภาได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2313[34] ไม่มีหลักฐานระบุว่ามีพื้นที่วัดเท่าใด สันนิษฐานว่าพื้นที่ตั้งวัดเก่าอยู่ติดริมแม่น้ำน่าเก่า ปัจจุบันตัววัดที่จำพรรษาของพระสงฆ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ดอน ห่างจากริมแม่น้ำน่านเก่าประมาณ 20 เมตร
เขตติจีวราวิปวาส
แก้ปัจจุบันตัววัดตั้งอยู่บนพื้นที่ดอน ห่างจากริมแม่น้ำน่านเก่าประมาณ 20 เมตร มีอาณาเขตสมมุติติจีวราวิปวาส หรือเขตที่ตั้งภายในกำแพงวัด เนื้อที่ 10 ไร่เศษ เมื่อรวมกับพื้นที่อาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ตั้งวัดด้านศาลาหลังเก่านอกกำแพงทางทิศเหนือลงไปพื้นที่ท้องแม่น้ำน่านโบราณ จะมีพื้นที่กรรมสิทธิ์รวม 14 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา เป็นพื้นที่หลักของวัด สำหรับพระสงฆ์สามเณรจำพรรษาและเป็นสถานที่ประกอบสังฆกรรมและกิจกรรมทางศาสนาของพระสงฆ์และชาวบ้าน
เขตติจีวราวิปวาสวัดคุ้งตะเภา มีอุโบสถเป็นจุดศูนย์กลาง มีพื้นที่ติดต่อกับที่ดินข้างเคียง ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ จดกับที่ดินมีกรรมสิทธิ์ของชาวบ้าน (เดิมติดแม่น้ำน่านเก่า) มีกำแพงวัดกั้นเป็นเขต
- ทิศใต้ จดกับที่ดินมีกรรมสิทธิ์ของชาวบ้าน มีกำแพงวัดกั้นเป็นเขต
- ทิศตะวันออก จดกับทางสาธารณประโยชน์ มีกำแพงวัดกั้นเป็นเขต
- ทิศตะวันตก จดแม่น้ำน่าน ตรงข้ามค่ายพิชัยดาบหัก มทบ.๓๕
เขตวิสุงคามสีมา
แก้วัดคุ้งตะเภาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หรือพื้นที่ตั้งสำหรับทำอุโบสถสังฆกรรม เมื่อวันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2490[35] เนื้อที่กว้าง 10 เมตร ยาว 29 เมตร มีเนื้อที่กว้าง 10 เมตร ยาว 29 เมตร ตั้งอยู่ภายในเขตติจีวราวิปวาสของวัด
ตัวอาคารที่ตั้งบนวิสุงคามสีมาหรืออุโบสถนั้น เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2492 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2498 โดยอาคารอุโบสถนี้เป็นอาคารปูนหลังแรกของหมู่บ้านคุ้งตะเภา ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานมีนามว่า "พระพุทธสุวรรณเภตรา" ผู้ดำริให้จัดสร้างคือ พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) อธิบดีสงฆ์วัดดอยท่าเสา และเกจิอาจารย์รูปสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น
อุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะใหญ่ใน ปี พ.ศ. 2537 โดยดำริของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน) โดยทำการบูรณะเสร็จในปี 2539 ใช้เงินบูรณะจำนวน 1.6 ล้านบาท
ที่ธรณีสงฆ์
แก้วัดคุ้งตะเภามีที่ธรณีสงฆ์เป็นกรรมสิทธิ์จำนวน 2 แปลง ธรณีสงฆ์แปลงที่หนึ่ง มีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา (โฉนดที่ดิน เลขที่ 5014 เล่ม 51 หน้า 14) และที่ธรณีสงฆ์แปลงที่สอง มีเนื้อที่ - ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา (โฉนดที่ดิน เลขที่ 76233 เล่ม 763 หน้า 33) ที่ธรณีสงฆ์ทั้งสองแปลง ตั้งอยู่ห่างจากตัววัดคุ้งตะเภาประมาณ 100 เมตรไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่ธรณีสงฆ์นี้ เดิมเป็นพื้นที่สุสานของหมู่คุ้งตะเภาที่มีการกันเขตแน่นอน ต่อมาในประมาณปี พ.ศ. 2510 ชาวบ้านจึงได้ยกที่ธรณีสงฆ์นี้เป็นพื้นที่ฌาปนสถานวัดคุ้งตะเภา สำหรับใช้ประโยชน์หลักในการตั้งเมรุและศาลาธรรมสังเวช ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2539 มีการแบ่งพื้นที่ด้านติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สำหรับตั้งร้านค้าชุมชน ธนาคารหมู่บ้าน ที่ธรณีสงฆ์วัดคุ้งตะเภา ปัจจุบันตั้งอยู่ติด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) ขาขึ้น มีซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภาเป็นจุดสังเกต
พระภิกษุสงฆ์สามเณรในสังกัด
แก้ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีจำนวนพระภิกษุสามเณรจำพรรษาในพรรษากาลพ.ศ. 2553 ตามทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนา รวมทั้งสิ้น 68 รูป แบ่งเป็นพระสังฆาธิการ 2 รูป และพระลูกวัดในสังกัดวัดคุ้งตะเภาตามพฤตินัยและตามทะเบียนสุทธิสงฆ์อีก 15 รูป โดยเป็นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นพระครูสัญญาบัตร 1 รูป, พระฐานานุกรม 1 รูป, พระเปรียญ 1 รูป, สามเณรเปรียญ 1 รูป, พระวิปัสสนาจารย์ 3 รูป ในจำนวนนี้เป็นพระกรรมวาจาจารย์จำนวน 5 รูป, ครูสอนพระปริยัติธรรม 8 รูป, ครูสอนศีลธรรมในโรงเรียนในสังกัดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 3 รูป และครูสอนศีลธรรมในโรงเรียนในสังกัดมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจำนวน 7 รูป จบนักธรรมชั้นเอกจำนวน 9 รูป, นักธรรมชั้นโท 2 รูป และนักธรรมชั้นตรี 2 รูป มีพระนักศึกษาในระดับนักธรรมชั้นตรีจำนวน 5 รูป สามเณรนักเรียนที่เข้าสอบนักธรรมชั้นตรีในสังกัดวัดคุ้งตะเภา 52 รูป นักธรรมชั้นโท จำนวน 2 รูป และนักธรรมชั้นเอกจำนวน 2 รูป มีพระสงฆ์ที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญารวมทั้งที่กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาบัณฑิต (ปริญญาตรี) และปริญญามหาบัณฑิต (ปริญญาโท) ทั้งสิ้น 7 รูป
ลำดับเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา
แก้แม้วัดคุ้งตะเภาจะมีอายุมากกว่าสองร้อยปี แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกหลักฐานลำดับเจ้าอาวาสไว้ ทำให้ไม่สามารถพบรายชื่อลำดับเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาตั้งแต่แรกสร้างวัด อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ. 2535 มีการจัดทำบัญชีลำดับเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา โดยอาศัยคำบอกเล่าจากคนรุ่นเก่าในหมู่บ้านที่ยังจำได้ สามารถสืบได้ 11 ลำดับด้วยกัน โดยไม่สามารถสันนิษฐานช่วงระยะเวลาดำรงตำแหน่งของเจ้าอาวาสแต่ละรูปได้ชัดเจน
ลำดับเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาเท่าที่สามารถสืบค้นได้มีดังต่อไปนี้ (ประมาณ พ.ศ. 2450 ถึง ปัจจุบัน)
ลำดับเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เท่าที่มีหลักฐานสืบค้นได้* | ||
รายนามเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา | วาระการดำรงตำแหน่ง | อ้างอิง |
---|---|---|
-พระพิมลธรรม (พระราชาคณะในสมัยกรุงธนบุรี) เจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง | พ.ศ. 2313 - (ไม่ทราบปี) | [36][37] |
-พระครูสวางคมุนี (เจ้าอธิการจัน) เจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง[38] | ก่อน พ.ศ. 2431 - ก่อน พ.ศ. 2442 | [39] |
-พระอธิการรอด (สมัยรัชกาลที่ 5) | ร.ศ.118 -(ไม่ทราบปี) | [40] |
-พระอธิการโต๊ะ เลี้ยงประเสริฐ | ไม่ปรากฏหลักฐาน | [41] |
-พระอธิการตี๋ | ไม่ปรากฏหลักฐาน | [33] |
-พระอธิการเจิม | ไม่ปรากฏหลักฐาน | [33] |
-พระอธิการเพิ่ม | ไม่ปรากฏหลักฐาน | [33] |
-พระอธิการกลอง | ไม่ปรากฏหลักฐาน | [33] |
-พระสมุห์ปลาย | ไม่ปรากฏหลักฐาน | [33] |
-พระปลัดป่วน | ไม่ปรากฏหลักฐาน | [33] |
-พระอธิการสังวาล | พ.ศ. 2500 - ไม่ปรากฏหลักฐาน | [33] |
-พระอธิการท้วน โฆสโก (นิยมเดช) | ก่อน พ.ศ. 2509 - ไม่ทราบ | [33] |
-พระอธิการเมี้ยน ขนฺติพโล (สิทธิชัย) | ไม่ปรากฏหลักฐาน | [33] |
-พระอธิการผลิศร์ ญาณธมฺโม | ไม่ปรากฏหลักฐาน - พ.ศ. 2530 | [33] |
รักษาการเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา | ||
รายนามผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา | วาระการดำรงตำแหน่ง | อ้างอิง |
พระครูไพโรจน์ธรรมสาร (อ็อด สคารโว) | พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2531 | [33] |
พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) | พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2532 | [33] |
รายนามเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา | ||
รายนามเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา | วาระการดำรงตำแหน่ง | อ้างอิง |
พระครูประดิษฐ์ธรรมธัช (ธง ฐิตธมฺโม) (อิ่มชม) | 25 ธันวาคม พ.ศ. 2533 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554[42] | [33] |
พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554- ปัจจุบัน | [43][2] |
*หมายเหตุ: พระที่รักษาวัดก่อนหน้านั้นไม่อาจทราบชื่อได้ |
ลำดับพระอุปัชฌาย์วัดคุ้งตะเภา
แก้นับแต่องค์ปฐมเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คือ พระพิมลธรรม (พระราชาคณะในสมัยกรุงธนบุรี) ที่ได้รับอาราธนาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยทางราชการ ให้ขึ้นมาอยู่ประจำสั่งสอนพระธรรมวินัยในเมืองสวางคบุรี ในปี พ.ศ. 2313 พร้อมกับการสถาปนาวัดคุ้งตะเภาขึ้นในปีนั้น ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นนับตั้งแต่นั้น ก่อนที่จะมีกฎหมายระบุการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยอนุมัติจากทางราชการไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 วัดคุ้งตะเภาคงมีพระอุปัชฌาย์ไปตามพระธรรมวินัย อย่างไรก็ดีการกำหนดให้มีการแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์โดยฝ่ายบ้านเมืองพึ่งเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีประกาศเรื่องผู้จะบวชเป็นพระภิกษุให้มีประกันและการตั้งอุปัชฌาย์ จุลศักราช 1237 (พ.ศ. 2419) และพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ. 2445) ประกอบกับประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง ตั้งอุปัชฌายะ พ.ศ. 2456 ในสมัยรัชกาลที่ 6 วัดคุ้งตะเภาก็ไม่เคยมีพระภิกษุรูปใดได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์โดยถูกต้องจากทางราชการอีกเลย ดังนั้นในส่วนนี้จึงเป็นการแสดงลำดับพระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งโดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และตามความในข้อ 9 แห่ง กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 ( พ.ศ. 2536 ) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ซึ่งมีเพียงจำนวน 3 รูป ดังต่อไปนี้
ลำดับพระอุปัชฌาย์วัดคุ้งตะเภา เท่าที่สามารถสืบค้นได้มีดังต่อไปนี้ (พ.ศ. 2313 ถึง ปัจจุบัน)
ลำดับพระอุปัชฌาย์แห่งวัดคุ้งตะเภา ที่ได้รับการแต่งตั้ง* | ||
รายนามพระอุปัชฌาย์แห่งวัดคุ้งตะเภา | ได้รับแต่งตั้งเมื่อ | อ้างอิง |
---|---|---|
-พระพิมลธรรม (พระราชาคณะในสมัยกรุงธนบุรี) | พ.ศ. 2313 | [44][45] |
-พระครูสวางคมุนี (เจ้าอธิการจัน) เจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง[46] | พ.ศ. 2431 | [47] |
-พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ | 28 มกราคม พ.ศ. 2561 | [48] |
การปกครองวัด
แก้คณะ (กลุ่มกุฎิ)
แก้เนื่องจากวัดคุ้งตะเภามีพระสงฆ์จำพรรษามาก ประกอบกับพื้นที่วัดมีขนาดใหญ่ มีกลุ่มกุฎิหลายหลังตั้งอยู่ในทิศต่าง ๆ กระจายทั่วบริเวณวัด ลำบากแก่การปกครองดูแล เพื่อให้สะดวกแก่การปกครอง เพื่อแบ่งพื้นที่ในการดูแลรักษาวัด เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาจึงได้ออกคำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เรื่อง ตั้งคณะในวัดคุ้งตะเภา พ.ศ. 2553 [50] โดยมีการกำหนดเจ้าคณะ อำนาจหน้าที่ และพื้นที่ปกครองดูแล โดยมีการแบ่งคณะออกเป็น 7 คณะ เรียงตามทิศวนเข็มนาฬิกา โดยเริ่มจากกุฎิอธิบดีสงฆ์ (เจ้าอาวาส) เป็นต้นไป มีนามคณะคล้องจองสัมผัสกัน ดังนี้ คณะ 1 นามว่า คณะสถิตย์อธิบดี, คณะ 2 นามว่า คณะวสีพุทธมนต์, คณะ 3 นามว่า คณะอนันตเภสัช, คณะ 4 นามว่า คณะวิเวกวาสี, คณะ 5 นามว่า คณะมหาศาลาวิหาร, คณะ 6 นามว่า คณะอัษฏางคกุฎิ และ คณะ 7 นามว่า คณะสันติสถาน
และหากนำศัพท์แรกของนามคณะทั้ง 7 มาเข้าสนธิศัพท์ในภาษาบาลีแล้ว จะได้เป็นคำสมาสบาลีดังนี้ "ฐิตวสิยานนฺตวิเวกมหนฺตฏฺฐมสนฺติ" (อ่านว่า: ฐิ-ตะ-วะ-สิ-ยา-นัน-ตะ-วิ-เว-กะ-มะ-หัน-ตัฏ-ฐ-มะ-สัน-ติ) แปลความว่า ความสงบอันยิ่งใหญ่ทั้ง 8 (อริยมรรคมีองค์แปด) อันเกิดจากสภาวะสงัด (สงัดจากกิเลสคือนิพพาน) อันไม่มีที่สิ้นสุดอันตั้งอยู่แล้ว
โดยทั้ง 7 คณะ มีพื้นที่และสภาพด้านกายภาพภายในคณะต่าง ๆ ดังนี้
คณะ 1 (คณะสถิตย์อธิบดี)
แก้คณะ 1 มีเขตอุปจารคณะครอบคลุมกุฎิเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาทั้งสองชั้น อาคารห้องน้ำสงฆ์ 2 ชั้น หอระฆัง 2 ชั้นแรก บริเวณพื้นที่ใต้ทางเดินเชื่อมระหว่างคณะ 1 และคณะ 2 ซุ้มป้ายประชาสัมพันธ์ มีพื้นที่อุปจารโดยรอบ จรดบริเวณพื้นที่กุฎิทิศเหนือนับจากชายคา 2 เมตร บริเวณพื้นที่หน้ากุฎิทิศตะวันออกนับจากชายคา 6 เมตร จรดขอบถนนหลักของวัด บริเวณพื้นที่กุฎิทิศใต้นับจากชายคาห้องน้ำสงฆ์ 2 เมตร และบริเวณป้ายประชาสัมพันธ์โดยรอบนับจากชายคา 2 เมตร
คณะ 2 (คณะวสีพุทธมนต์)
แก้คณะ 2 คณะวสีพุทธมนต์ มีเขตอุปจารคณะครอบคลุมอาคารหอสวดมนต์วัดคุ้งตะเภาทั้งสองชั้น ห้องน้ำห้องสมุด 1 ห้อง หอระฆังชั้นที่ 3 บริเวณบนทางเดินเชื่อมระหว่างคณะ 1 และ 2 แทงค์น้ำ ถนนลาดปูนเข้าคณะ 1 เส้น มีพื้นที่อุปจารโดยรอบ จรดบริเวณพื้นที่รอบอาคารหอสวดมนต์วัดคุ้งตะเภาทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือ 5 เมตร เว้นทิศตะวันออก ให้มีพื้นที่นับจากชายคาออกไปอีก 12 เมตร จนสุดขอบถนนหลักของวัด
คณะ 3 (คณะอนันตเภสัช)
แก้คณะ 3 คณะอนันตเภสัช ประกอบด้วย ห้องกุฎิสงฆ์ 7 ห้อง ห้องน้ำประจำคณะ 3 ห้อง มีเขตอุปจารคณะครอบคลุมอาคารกุฎิเก่ากำนันหลงทรงปั้นหยาทั้งสองชั้น บริเวณทางเดินเชื่อมระหว่างคณะ 2 และ 3 ทั้งสองชั้น ทางเดินลาดปูนเข้าคณะ 1 เส้น ถนนลาดปูนเข้าคณะ 1 เส้น มีพื้นที่อุปจารโดยรอบ จรดบริเวณพื้นที่รอบอาคารกุฎิเก่ากำนันหลงทรงปั้นหยาทิศใต้ 8 เมตร ทิศตะวันตกนับจากชายคาทางเดินเชื่อมระหว่างคณะ 2 และ 3 จนจรดสุดกำแพงวัดทิศตะวันตก ทิศเหนือ 3 เมตร สุดที่ต้นมะขามป้อมใหญ่ ทิศตะวันออก มีพื้นที่นับจากชายคากุฎิเก่ากำนันหลงทรงปั้นหยาออกไปอีก 7 เมตร ครอบคลุมป่าสมุนไพร จนสุดทางเดินเท้าเข้าคณะ 4 และนับจากทางเดินเชื่อมระหว่างคณะ 2 และ 3 ไปอีก 23 เมตร จนสุดขอบถนนหลักของวัด
คณะ 4 (คณะวิเวกวาสี)
แก้คณะ 4 คณะวิเวกวาสี มีเขตอุปจารคณะครอบคลุมอาคารกุฎิกรรมฐานกลางป่าสมุนไพรทั้งสองชั้น มีพื้นที่อุปจารโดยรอบ จรดบริเวณพื้นที่รอบอาคารกุฎิกรรมฐานทิศใต้ 5 เมตร ทิศตะวันตก จรดสุดกำแพงวัดทิศตะวันตก และทิศเหนือ 42 เมตร จรดสุดกำแพงวัดทิศเหนือ ครอบคลุมป่าสมุนไพรทั้งหมด ทิศตะวันออก มีพื้นที่นับจากอาคารกุฎิกรรมฐาน 15 เมตร สุดที่แทงค์เครื่องกรองน้ำประจำวัด และมีอุปจารครอบคลุมพื้นที่ลานดินหน้าอาคาร และทางเดินเท้าเข้าคณะจากถนนหลักและจากถนนลาดปูนเข้าคณะ 3 ยาว 30 เมตร
คณะ 5 (คณะมหาศาลาวิหาร)
แก้คณะ 5 คณะมหาศาลาวิหาร มีเขตอุปจารคณะครอบคลุมอาคารมหาศาลาการเปรียญของวัดคุ้งตะเภาทั้งอาคาร รวมถึงอาคารหอฉัน ห้องน้ำประจำคณะ 20 ห้อง มีพื้นที่อุปจารโดยรอบ ทิศใต้นับจากชายคาอาคาร 11 เมตร จรดถนนรอบอุโบสถ ทิศตะวันตกนับจากชายคาอาคารหอฉัน 8 เมตร ทิศเหนือนับจากชายคาจนสุดเขตกำแพงวัด และพื้นที่นอกกำแพง 1 เมตร ทิศตะวันออก นับจากชายคาอาคาร 30 เมตรจนสุดกำแพงวัดทิศตะวันออก
คณะ 6 (คณะอัษฏางคกุฎิ)
แก้คณะ 6 คณะอัษฏางคกุฎิ มีเขตอุปจารคณะประกอบด้วย พระธรรมเจดีย์ กลุ่มกุฎิเดี่ยว 8 หลัง ห้องน้ำ 8 ห้อง ถนนลาดปูนภายในคณะ 55 เมตร ป่าสมุนไพร และป้ายประชาสัมพันธ์ ที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของวัด ทิศตะวันตกนับจากถนนหลักของวัดเข้ามา ทิศตะวันออกนับจากกำแพงวัดเข้ามา ทิศใต้นับจากกำแพงวัดเข้ามา ทิศเหนือนับจากถนนจุฑามาศวิถีเข้ามา รวมถึงบริเวณพื้นที่นับจากชายคาหน้าอุโบสถจนสุดกำแพงวัด ถนนหลักของวัดเส้นเหนือโบสถ์เข้ามาจนสุดกำแพงทิศใต้ และพื้นที่รอบต้นไทรใหญ่หลังอุโบสถ
คณะ 7 (คณะสันติสถาน)
แก้คณะ 7 คณะสันติสถาน ประกอบด้วย กุฎิสงฆ์ 1 หลัง ห้องรับรองพระมหาเถระปรับอากาศ 1 หลัง ห้องน้ำประจำคณะ 2 ห้อง มีเขตอุปจารคณะดังนี้ ทิศตะวันออก จากกำแพงวัดทิศตะวันตกจรดถนนหลักของวัด ทิศเหนือจากกำแพงวัดทิศใต้จรดชายคาคณะ 1 และ 2
การบริหารวัด
แก้เนื่องด้วยวัดคุ้งตะเภา จัดตั้งขึ้นโดยเป็นวัดพุทธศาสนานิกายเถรวาท ฝ่ายมหานิกาย จึงอยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคม อันเป็นองค์กรปกครองหลักของคณะสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย วัดคุ้งตะเภาในปัจจุบันจึงดำเนินการศาสนกิจอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย[51] แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535[52] โดยปัจจุบันมีบุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกิจการภายในวัดที่ได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของมหาเถรสมาคมจำนวน 4 คน แบ่งเป็นพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส (ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เจ้าอาวาสถือเป็นผู้ปกครองวัดตามมาตรา 36 เป็นผู้แทนของวัดตามมาตรา 31 วรรค 3 เป็นเจ้าพนักงานวัดตามมาตรา 45) จำนวน 1 รูป และคฤหัสถ์ผู้ทำหน้าที่ไวยาวัจกรจำนวน 3 คน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีพระสงฆ์ผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำนวน 3 รูป แบ่งเป็นพระฐานานุกรมจำนวน 1 รูป และพระเปรียญจำนวน 2 รูป ตำแหน่งสมณศักดิ์ดังกล่าวเป็นเพียงการยกย่องเชิดชูเช่นเดียวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการบริหารจัดการวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แต่อย่างใด
พระสังฆาธิการวัดคุ้งตะเภา
แก้รายนามพระสังฆาธิการวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน | ||||
รูป | ชื่อ | ตำแหน่ง พระสังฆาธิการ |
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ | ปีดำรงตำแหน่ง พระสังฆาธิการ |
---|---|---|---|---|
พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) น.ธ.เอก, ป.บส., พธ.บ. (การจัดการเชิงพุทธ) |
เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (จร.) |
|
พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน (ตำแหน่ง จร.วัดคุ้งตะเภา) พ.ศ. 2536 – 2553 (ตำแหน่ง รจร.วัดคุ้งตะเภา) | |
ดร.พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี (มากคล้าย) น.ธ.เอก, ป.ธ.๔, น.บ. (นิติศาสตรบัณฑิต), รป.ม. (รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต), Ph.D (Public Administration) |
รองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (รจร.) [53] |
|
พ.ศ. 2557 – ปัจจุบัน (ตำแหน่ง รจร.วัดคุ้งตะเภา) |
ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีไวยาวัจกร ทำหน้าที่ช่วยเหลือพระสงฆ์ที่ได้รับการแต่งตั้งในเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน ตามความในข้อ 10 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2536) โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 7 วรรคแรก แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505[54] แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535[55] จำนวน 6 ตำแหน่ง แบ่งเป็นไวยาวัจกรคนที่ 1 รับผิดชอบงานฝ่ายบัญชี (บัญชีและการบริหารงบดุลภายในวัด) ไวยาวัจกรคนที่ 2 รับผิดชอบงานฝ่ายศาสนพิธี ไวยาวัจกรคนที่ 3 รับผิดชอบงานฝ่ายพุทธสาธารณสถาน ไวยาวัจกรคนที่ 4 รับผิดชอบงานฝ่ายพุทธศาสนศึกษา ไวยาวัจกรคนที่ 5 รับผิดชอบงานฝ่ายพุทธศาสนสงเคราะห์ และไวยาวัจกรคนที่ 6 รับผิดชอบงานส่งเสริมการปฏิบัติธรรม รวมเป็น 6 คน
รายนามไวยาวัจกรในตำแหน่งของวัดคุ้งตะเภาคนปัจจุบัน ในพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ | |||||
รูป | ชื่อ | เครื่องราชอิสริยาภรณ์ | ตำแหน่ง | หน้าที่ | วันที่ได้รับการแต่งตั้งครั้งแรก |
---|---|---|---|---|---|
1. พ.อ. สิงหนาท โพธิ์กล่ำ[56] |
|
ไวยาวัจกร คนที่ 1 | ไวยาวัจกรฝ่ายบัญชี | 12 สิงหาคม พ.ศ. 2542 | |
2. จ.ส.อ. บุญเลี่ยม แสงวิจิตร |
|
ไวยาวัจกร คนที่ 2 | ไวยาวัจกรฝ่ายศาสนพิธี | 2 สิงหาคม พ.ศ. 2549[57] | |
3. ร.ต.ต. ณรงค์ ถิ่นประชา |
|
ไวยาวัจกร คนที่ 3 | ไวยาวัจกรฝ่ายพุทธสาธารณสถาน | 1 มกราคม พ.ศ. 2553 | |
4. นายศักดิ์ตระกูล เลี้ยงประเสริฐ |
|
ไวยาวัจกร คนที่ 4 | ไวยาวัจกรฝ่ายพุทธศาสนศึกษา | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555[58] | |
5. นายสมชาย สำเภาทอง | ไวยาวัจกร คนที่ 5 | ไวยาวัจกรฝ่ายพุทธศาสนสงเคราะห์ | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555[58] | ||
6. นายทรงชัย มาสูตร |
|
ไวยาวัจกร คนที่ 6 | ไวยาวัจกรฝ่ายส่งเสริมการปฏิบัติธรรม | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555[58] | |
7. ร.อ. พรณรงค์ บุรุษานนท์ |
|
ไวยาวัจกร คนที่ 7 | ไวยาวัจกรฝ่ายศาสนพิธี | 13 เมษายน พ.ศ. 2558 |
กิจกรรมหลักของวัด
แก้ปัจุจบันวัดคุ้งตะเภา เป็นที่ตั้งของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติยศพัดและประกาศเกียรติคุณหน่วย อปต.ดีเด่น ระดับประเทศ[59] ดังนั้นวัดคุ้งตะเภา นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การจัดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชนแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่เยาวชน (กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน) เป็นที่ตั้งศูนย์การศึกษาของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาสำหรับคฤหัสถ์ในเขตตำบลคุ้งตะเภา (สำนักศาสนศึกษาประจำตำบล) มีห้องสมุดทางพระพุทธศาสนาที่มีหนังสือเอกสารและตำราทางพระพุทธศาสนา กว่า 5000 เล่ม (สุวรรณเภตราบรรณาคาร) เป็นศูนย์กลางอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมของฝ่ายปกครองและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ทั่วไปของชุมชนคุ้งตะเภา รวมทั้งเป็นศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ (ตามโครงการของทางคณะสงฆ์) ซึ่งมีสมุนไพรหายากหลากชนิดกว่า 500 ชนิด
งานบุญประเพณี
แก้เนื่องด้วยวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ในชุมชนโบราณอายุกว่าสามร้อยปี ที่มีความสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมอยุธยา ดังนั้นประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมส่วนใหญ่ของหมู่บ้านคุ้งตะเภาจึงคล้ายกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางตอนบน เพราะโดยพื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น “คนไทยเหนือ” ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา คือเป็นคนไทยเดิมที่ตั้งถิ่นฐานแถบเมืองพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ฯ โดยคนคุ้งตะเภานั้นมีสำเนียงการพูดคล้ายคนสุโขทัย,เมืองฝางสวางคบุรีและทุ่งยั้ง มีประเพณีและวัฒนธรรมไม่แตกต่างจากชาวพุทธเถรวาทในแถบภาคกลางตอนบนของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่การจัดประเพณีหรือกิจกรรมของหมู่บ้านมักจะจัดที่วัดประจำหมู่บ้าน
ปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภา เป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านคุ้งตะเภา ในการจัดงานกิจกรรมประเพณีตลอดทั้งปี เรียกว่า ประเพณี 9 เดือน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน 2 ไปจนสิ้นสุดเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย คือในเดือน 2 มีประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก เดือน 3 ประเพณีวันมาฆบูชา เดือน 4 ประเพณีวันตรุษไทย เดือน 5 ประเพณีวันสงกรานต์ เดือน 6 ประเพณีวันวิสาขบูชา เดือน 7 ประเพณีสลากภัต เดือน 8 ประเพณีวันวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เดือน 10 งานบุญมหาชาติ และประเพณีวันสารทไทย เดือน 11 ประเพณีวันออกพรรษาตักบาตรเทโว และประเพณีกฐินสามัคคี
ดูเพิ่มได้ที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภา#วัฒนธรรมประเพณี
การจัดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชน
แก้วัดคุ้งตะเภา เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 (สำนักปฏิบัติธรรมภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม)[15][16] มีพระภิกษุผู้ได้รับการฝึกอบรมและผ่านหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ (หลักสูตรของมหาเถรสมาคม) จำนวน 3 รูป[60] คือ พระทองเพียร อุปสนฺโต (สำเร็จหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ รุ่น 1) และพระเที่ยง นิติสาโร (สำเร็จหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ ปี 2553) พระนพรัตน์ สุธีโร (สำเร็จหลักสูตรกัมมัฏฐานสายภัตทันตะธรรมาจาริยะ) นอกจากนี้เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน คือหลวงพ่อพระสมุห์สมชาย ท่านเป็นศิษย์สายธุดงค์พระกัมมัฏฐาน ที่เคยออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมกับองค์พ่อแม่ครูอาจารย์สายหลวงปู่มั่น และเคยเป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อพุทธทาส หรือ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) วัดคุ้งตะเภาจึงมีศักยภาพสูงในการจัดการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชนในท้องถิ่น ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีการจัดกิจกรรมสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชนในวันหยุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนวัดคุ้งตะเภา
แก้วัดคุ้งตะเภาได้จัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนติดต่อกันมาทุกปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ซึ่งนับเป็นวัดแรก ๆ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้จัดให้มีโครงการนี้ขึ้น ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 15 (พ.ศ. 2555) ซึ่งทางวัดจะมีการจัดการอบรมศาสนศึกษาระยะสั้นให้แก่กุลบุตร กุลธิดา ตลอดระยะเวลาการบรรพชา 30 วันรวมทั้งมีการจัดให้มีการนำคณะสามเณรศีลจาริณีไปทัศนศึกษาตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดโครงการยังมีการจัดธุดงค์วัตร นำคณะสามเณรผู้สนใจไปธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์ ฝึกความอดทนและความมีน้ำใจให้แก่เยาวชนอีกด้วย
ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทุนปัจจัยทั้งหมดอาศัยแรงศรัทธาความสามัคคีร่วมใจของชาวบ้านคุ้งตะเภาและใกล้เคียงที่เล็งเห็นถึงผลของการพัฒนาลูกหลานเยาวชนให้กลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพต่อไป[60]
สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา
แก้การจัดให้การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมศึกษาหรือการศึกษาวิชาธรรมของคฤหัสถ์ (ผู้ไม่ใช่นักบวช) ของวัดคุ้งตะเภา หรือ สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภานั้น เริ่มจัดการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2540 อันเป็นช่วงแรก ๆ ที่แม่กองธรรมสนามหลวงเปิดโอกาสให้มีการสอบไล่ธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ในต่างจังหวัดขึ้น โดยในช่วงแรก พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ได้ดำเนินการประสานงานไปยังโรงเรียนในเขตตำบลคุ้งตะเภาขอนำพระสงฆ์เข้าสอนจริยธรรมและธรรมศึกษาในโรงเรียน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในครั้งนั้นประสบผลสำเร็จไปด้วยดี มีนักเรียนและผู้สนใจสอบไล่ได้ธรรมศึกษาเป็นจำนวนมาก ต่อมาเจ้าคณะตำบลในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาธรรมของคฤหัสถ์ดังกล่าว จึงได้ดำเนินการขอจัดตั้งสำนักศาสนศึกษาประจำตำบลคุ้งตะเภา ขึ้นที่วัดคุ้งตะเภาเป็นต้นมา และยังคงมีการดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน จนในปี พ.ศ. 2554 นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ลงนามในประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ 1/2554 จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นในวัดคุ้งตะเภาอย่างเป็นทางการ สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภาจึงมีภารกิจด้านการจัดแหล่งการเรียนรู้ในวัดเพิ่มเติมจากการทำการเรียนการสอนตามปกติในสถานศึกษาระดับพื้นฐาน โดยในส่วนของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดคุ้งตะเภานั้นอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม[61][60]
ห้องสมุดพระพุทธศาสนาสุวรรณเภตราบรรณาคาร
แก้ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีห้องสมุดจำนวน 2 ห้อง[60] โดยไม่มีอาคารแยกจำเพาะเป็นเอกเทศ หนังสือส่วนใหญ่ได้มาจากการรวบรวมของเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน และจากการได้รับบริจาค โดยวัดคุ้งตะเภาได้ใช้แนวคิดการปรับปรุงอาคารศาสนสถานที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อเป็นตัวอย่างแก่วัดอื่น ๆ โดยวัดคุ้งตะเภาได้ใช้พื้นที่อาคารหอสวดมนต์ จัดเป็นมุมหนังสือเก่า มีตู้หนังสือพระไตรปิฎก หนังสือธรรมะ หนังสือเรียนนักธรรม-บาลี เทปคาสเซตธรรมะ และเอกสารอื่น ๆ และได้จัดพื้นที่ด้านทิศเหนือของอาคารศาลาการเปรียญเป็นห้องสมุดของวัด เรียกว่า “สุวรรณเภตราบรรณาคาร” ประกอบไปด้วยหนังสือทั้งหนังสือธรรมะทั่วไป พระไตรปิฎก อรรถกถา ธรรมะประยุกต์ หนังสือเรียนธรรม หนังสือเชิงวิชาการ ทั้งด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และวิทยานิพนธ์พระพุทธศาสนา รวมไปถึงหนังสือเชิงปกิณกะอื่น ๆ กว่า 5,000 เล่ม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งความรู้ทางธรรมะของสาธุชนผู้เข้ามาใช้สถานที่ในวัดคุ้งตะเภาในโอกาสต่าง ๆ [33]
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา
แก้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา หรือ พิพิธภัณฑ์สุวรรณเภตราภัณฑาคาร (อังกฤษ: Wat Kungtapao Local Museum ) เป็นแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นขนาดเล็กของวัด จัดแสดงเอกสารโบราณและวัตถุโบราณของวัดและชุมชนหมู่บ้านคุ้งตะเภา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยพระอาจารย์อู๋ วชิรญาโณ (แสงสิน) และพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาในสมัยนั้น เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรวบรวมเอกสารโบราณและวัตถุโบราณของวัดและที่ทางวัดได้รับบริจาคจากชาวบ้าน เช่น พระพุทธรูปโบราณ สมุดไทย สมุดข่อย ใบลาน นำมาจัดแสดงให้คนในท้องถิ่นได้ศึกษาขนบวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต ของบรรพบุรุษ และเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกและความเป็นมา ของชุมชนบ้านคุ้งตะเภาที่มีอายุความเป็นมายาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย[60]
ศูนย์กลางในการจัดและเผยแพร่กิจกรรมสำคัญของชุมชน
แก้วัดคุ้งตะเภา ในฐานะศูนย์กลางของชุมชนคุ้งตะเภา ได้มีการจัดกิจกรรมแก่ประชาชนในวัดในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นสถานที่ประชาชนผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเพื่อเพิ่มพูนพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การพัฒนาทักษะด้านสมุนไพรไทย รวมถึงเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลคุ้งตะเภาอีกด้วย ผลของการมีบทบาทดังกล่าวทำให้วัดคุ้งตะเภาเป็นที่ตั้งของสำนักงานสหกรณ์สมาพันธ์เกษตรกรเพื่อการพัฒนา ภาคเหนือตอนล่าง หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา (อปต.) รวมทั้งอาคารธนาคารหมู่บ้านคุ้งตะเภา ซึ่งมีที่ตั้งอาคารทำการอยู่ที่บริเวณวัดคุ้งตะเภา[33]
นอกจากนี้วัดคุ้งตะเภายังมีหอติดตั้งเครื่องกระจายเสียงจำนวน 1 เสา มีรัศมีการกระจายเสียงประมาณ 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภาทั้งหมู่บ้าน และบางส่วนของหมู่บ้านหัวหาด หมู่บ้านป่าขนุน รวมทั้งบางส่วนของตำบลท่าเสา โดยใช้เป็นเครื่องประกาศกิจกรรมและการเผยแพร่ธรรมของวัด และใช้เป็นเครื่องประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของหมู่บ้าน โดยวัดคุ้งตะเภามีกองทุนเครื่องกระจายเสียงเพื่อนำเงินบูรณะซ่อมแซมให้หอกระจายข่าวใช้งานได้ตลอดเวลา[60]
ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
แก้สวนป่ารุกขชาติวัดคุ้งตะะเภา
แก้วัดคุ้งตะเภาได้จัดพื้นที่ตั้งวัดด้านทิศเหนือ และบางส่วนของพื้นที่ตั้งวัด สำหรับเป็นพื้นที่สวนรุกขชาติ สระน้ำ แปลงสวนป่าปลูกพรรณไม้เนื้อแข็ง อาคารเพาะชำ บรรยากาศโดยทั่วไปมีพื้นที่ร่มรื่น เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางวัดใช้พื้นที่ส่วนนี้ยางส่วนสำหรับปลูกพรรณไม้ชนิดล้มลุก หรือพืชลงหัว ซึ่งจะแตกใบสวยงามในช่วงฤดูฝน ส่วนในช่วงฤดูแล้ง จะเป็นพื้นที่ลานโล่งใต้ต้นไม้ สลับกับพื้นที่เนินดินไหล่เขาขนาดเล็กสวยงามเหมาะกับการปฏิบัติธรรมและหย่อนใจ บริเวณติดกันนั้นเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของประชาชน[60]
สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา
แก้สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา หรือ สวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ได้รับการจัดตั้งให้เป็น ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2547 เนื่องจากวัดคุ้งตะเภามีพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรแผนโบราณ ได้เป็นผู้รวบรวมสมุนไพรหายากจากสถานที่ต่าง ๆ มารวมไว้ในวัด (ในปัจจุบันในวัดมีต้นยาสมุนไพรทั้งสิ้นกว่า 500 ชนิด) เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจและเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านการอนุรักษ์สมุนไพร[33]
ทางวัดได้แบ่งเขตสังฆาวาสส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่รวบรวมมาได้จากที่ต่าง ๆ นำมาปลูกไว้ ทั้งชนิดต้นและชนิดไม้ลงหัว ไปจนกระทั่งไม้เลื้อยขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รวบรวมพืชสมุนไพรไทยที่หาชมได้ยากนำมาปลูกในเขตพื้นที่บริเวณวัดหลายร้อยชนิด โดยเริ่มทำการจัดหาสมุนไพรมาอนุรักษ์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มการปลูกอนุรักษ์สมุนไพรในวัดคุ้งตะเภาก็คือ พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา พระอู๋ ปญฺญาวชิโร และพระธง ฐิติธมฺโม ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในการจำแนกพืชสมุนไพรไทย ปัจจุบันสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่ศึกษาของสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย โดยมีร่วมมือกับบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข[62] โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[63] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลทางพฤษศาสตร์เพื่อการศึกษาต่อยอดทางวิชาการพืชสมุนไพรในระดับประเทศ[60]
ในปัจจุบัน สวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ยังคงปล่อยให้เป็นบรรยากาศธรรมชาติอันร่มรื่นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของสมุนไพร ซ่อนเร้นสมุนไพรไทยหายากอันมีคุณประโยชน์ยิ่งในบริเวณป่า เป็นพื้นที่ป่าปลูกที่เงียบสงบเหมาะแก่การเจริญจิตตภาวนาห่างไกลจากสิ่งรบกวน สมกับคำว่า "สวนป่า" โดยแท้จริง[64]
สำนักงานเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
แก้ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภาเป็นที่ตั้งสำนักงานเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ในความดูแลของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน รับผิดชอบงานทะเบียนครูสอนพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และงานการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมของพระสงฆ์และธรรมศึกษาของทุกโรงเรียนและสำนักเรียนในสังกัดอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ทั้งอำเภออีกด้วย[33]
เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ
แก้วัดคุ้งตะเภา โดยพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน มีผลงานการพัฒนาจนเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับ ทำให้วัดคุ้งตะเภา ได้รับพระราชทานรางวัลและถวายรางวัลเกียรติยศต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นวัดพัฒนาที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคมในด้านต่าง ๆ จากพระบรมวงศานุวงศ์ และจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในวาระโอกาสต่าง ๆ หลายครั้งด้วยกัน ตามลำดับดังนี้
นามรางวัลที่วัดคุ้งตะเภาได้รับ | องค์กรที่ถวายรางวัล | ผู้มอบรางวัล/องค์พระราชทานรางวัล | ปีที่ได้รับ | อ้างอิง | |
---|---|---|---|---|---|
- รางวัลประกาศเกียรติคุณ โล่และพัดวัดพัฒนา "วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๓" (อันดับที่ ๑ ระดับประเทศ: พัดวัดพัฒนา พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ) | สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช | พ.ศ. 2563 | [65] | |
- รางวัล วัฒนคุณาธร ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ระดับประเทศ (ประเภทบุคคล) | กระทรวงวัฒนธรรม | นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม | พ.ศ. 2563 | [66] | |
- รางวัลประกาศเกียรติคุณ "ลานธรรมลานวิถีไทยตัวอย่าง" | กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม | นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา | พ.ศ. 2562 | [67] | |
- รางวัลประกาศเกียรติคุณ "วัดพัฒนาตัวอย่าง ประจำปี ๒๕๕๙" (อันดับที่ ๑ ระดับประเทศ) | สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช | พ.ศ. 2559 | [68][69] | |
- โล่รางวัลโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ชนะเลิศอันดับ ๑ ระดับจังหวัด | กองบัญชาการทหารสูงสุด | พลโท สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 | พ.ศ. 2558 | [70] | |
- รางวัล วัฒนคุณาธร ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ด้านองค์กรเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ๑ ใน ๒ แห่ง ระดับประเทศ | สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม | นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม | พ.ศ. 2558 | [71][72] | |
- โล่รางวัล "การจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดระดับดีเยี่ยม" | สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม | กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม | พ.ศ. 2558 | [73] | |
- โล่ "รางวัลเสาอโศก" โล่รางวัลประทานแด่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา | ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์ | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ | พ.ศ. 2558 | ||
- รางวัลประกาศเกียรติคุณ "วัดต้นแบบด้านควบคุมปัจจัยเสี่ยง ๑ ใน ๓๐ วัด ระดับประเทศ" | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) | พ.ศ. 2558 | [74][75] | |
- รางวัลประกาศเกียรติคุณวัดพัฒนา "อุทยานการศึกษาในวัด" | สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ | สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช | พ.ศ. 2557 | [76][77] | |
- โล่รางวัลเกียรติยศ "วัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น ชนะเลิศอันดับ ๑ ระดับเขต" | ศูนย์อนามัยที่ ๙ พิษณุโลก กระทรวงสาธารณสุข | นายแพทย์วีรชัย สิทธิปิยะสกุล ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ ๙ พิษณุโลก | พ.ศ. 2557 | [78][79] | |
- รางวัลเกียรติยศพัดและประกาศเกียรติคุณ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ระดับประเทศ | สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ | สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช | พ.ศ. 2555 | [80][81] | |
- รางวัลหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ดีเด่นอันดับหนึ่ง ระดับจังหวัด (อปต.) | สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ | พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) เจ้าคณะภาค ๕ (พิษณุโลก,อุตรดิตถ์, ตาก, สุโขทัย) | พ.ศ. 2555 | [82] | |
- รางวัลหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ระดับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ (อปต.) | สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ | พระเทพปริยัติวิธาน (อำนวย จันฺทสโร) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ | พ.ศ. 2555 | [83] | |
- รางวัลเสาเสมาธรรมจักรพระราชทาน | กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม | สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | พ.ศ. 2554 | ||
- รางวัลพุทธคุณูปการรัชตเกียรติคุณ | สภาผู้แทนราษฎร | สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช | พ.ศ. 2553 | ||
- รางวัลประกาศเกียรติคุณวัดปลอดเหล้า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ | ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ | นายโยธินศร์ สมุทร์คีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ | พ.ศ. 2552 | [84] | |
- รางวัลเกียรติยศศูนย์พัฒนาคุณธรรมตัวอย่าง ดีเด่นระดับประเทศ | กองบัญชาการทหารสูงสุด | พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด | พ.ศ. 2546 | [85] | |
- รางวัลเกียรติยศ "พิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้" ประเภทวัดและชุมชน | สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) | ดร.ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) | พ.ศ. 2557 | [86] |
อื่น ๆ
แก้พระเครื่องที่จัดสร้างโดยวัดคุ้งตะเภา
แก้วัดคุ้งตะเภาจัดสร้างพระเครื่องนับแต่ พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 3 รุ่น ดังนี้[33]
- พระเครื่องรุ่นบูรณะอุโบสถ (รุ่น 1) แบ่งเป็นเหรียญโลหะรมดำรูปอาร์ม และรูปไข่ และล็อกเก็ต รูปหลวงพ่อสุวรรณเภตรา สร้างในปี พ.ศ. 2538 ปลุกเสกโดย พระนิมมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ) เพื่อแจกแก่ผู้สมทบทุนบูรณะอุโบสถวัดคุ้งตะเภา[33]
- พระเครื่องรุ่นสร้างซุ้มประตู (รุ่น 2) แบ่งเป็นเหรียญโลหะรมดำรูปอาร์ม (บรรจุกล่อง) รูปหลวงพ่อสุวรรณเภตรา สร้างในปี พ.ศ. 2546 ปลุกเสกโดย พระนิมมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ) เพื่อแจกแก่ผู้สมทบทุนก่อสร้างซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา[33]
- พระเครื่องรุ่นบูรณะศาลาการเปรียญ (รุ่น 3) แบ่งเป็นเหรียญโลหะสุวรรณชาด (เหรียญทองแดง) และเหรียญทองเหลือง รูปหลวงพ่อสุวรรณเภตรา สร้างในปี พ.ศ. 2549 เพื่อแจกแก่ผู้สมทบทุนบูรณะศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา[33]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ประวัติพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ฯ (หลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี) จากเว็บไซด์วัดคุ้งตะเภา[ลิงก์เสีย]
- ↑ 2.0 2.1 2.2 เจ้าอาวาส (จร.) : พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ คำสั่งเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์. (2554, 29 ธันวาคม). คำสั่งที่ 10/2554 เรื่อง ตราตั้งเจ้าอาวาส [พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ].
- ↑ 3.0 3.1 พระครูสุจิตพัฒนพิธาน. (2554). เอกสารรายงานคณะสงฆ์-บัญชีสำรวจพระภิกษุตำบลคุ้งตะเภา ปี 2554. อุตรดิตถ์ : สำนักงานเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา. ถ่ายเอกสาร.
- ↑ วรนุชนันท์ พงศ์สุรางค์. (2555). พาเที่ยววัดในอุตรดิตถ์ : ชมความงาม 1 ใน 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ อุตรดิตถ์. วารสารเพื่อการประชาสัมพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์. 3 (12), 39.
- ↑ เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. เอกสาร : เอกสารแนะนำวัดคุ้งตะเภา . อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา , 2549.
- ↑ _____. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 40 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 - 66) พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
- ↑ ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
- ↑ _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.). หน้า 49-51
- ↑ กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2558). วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [1] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). จำนวนวัดจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2554. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [2] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2560). ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น วัดพัฒนาตัวอย่างและอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี 2559. ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560
- ↑ กลุ่มงานมหาเถรสมาคม (2559). สรุปการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๙ วันจันทร์ ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [3] เก็บถาวร 2016-08-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 19-8-59
- ↑ 15.0 15.1 หนังสือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ พศ ๐๐๐๙/๐๕๓๖๕ เรื่อง แจ้งมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๙ เรื่อง ขออนุมัติจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ ๓ วัดคุ้งตะเภา ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙
- ↑ 16.0 16.1 มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๙ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มติที่ ๓๓๘/๒๕๕๙ เรื่อง ขออนุมัติจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ ๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ "มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา", เล่ม ๑๓๓ ตอน ๔๔ ง, ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙, หน้า ๔๙-๕๐
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2556). ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕. ลงวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ กองพุทธศาสนศึกษา. (2556). หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๕. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. หน้า 154-155
- ↑ _____. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 40 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 - 66) พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
- ↑ _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.). หน้า 49-51
- ↑ กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2558). วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [4] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2558). วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [5] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
- ↑ จดหมายเหตุ ร.๕ ศ. เอกสารเย็บเล่ม กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง รายงานการศึกษามณฑลพิศณุโลก (๒๒ ธันวาคม - ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๘)
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๖๕). พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ ในรัชกาลที่ ๕ นับในหนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆเปนภาคที่ ๕. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทย.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายอินทร์บุรี-บ้านหมี่-ตากฟ้า-ท่าตะโก-บ้านเขาทราย-วังทอง-อุตรดิตถ์-แพร่-ลำปาง-เชียงใหม่ ตอนพิษณุโลก-เด่นชัย พ.ศ. ๒๕๒๑, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๓๐, ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑, ฉบับพิเศษ หน้า ๔๔
- ↑ สำนักงานเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๑. (๒๕๕๕). หนังสือกำกับพระบรมสารีริกธาตุ จากพระธรรมธีรราชมหามุนี เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร. ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
- ↑ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 4. (2555). วัดคุ้งตะเภาจัดพิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=18988 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ หนังสือสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่ พ ๐๔๓๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ประทานพระบรมสารีริกธาตุ
- ↑ วัดคุ้งตะเภา. (2555). พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/puchaniyawatthu/boromsaririkkathat/from_india เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 33.00 33.01 33.02 33.03 33.04 33.05 33.06 33.07 33.08 33.09 33.10 33.11 33.12 33.13 33.14 33.15 33.16 33.17 33.18 33.19 33.20 33.21 เทวประภาส มากคล้าย. (2553). คุ้งตะเภา จากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ISBN 9789743648847
- ↑ กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมา, เล่ม ๖๔, ตอน ๔๑, ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐, หน้า ๕๔๘
- ↑ "พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)," (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 339.
- ↑ ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2559). "ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. 2313 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับการปราบ "พวกสงฆ์อลัชชี" ที่เมืองสวางคบุรี," ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 5 มีนาคม
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
- ↑ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ศ. เอกสารเย็บเล่ม กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง รายงานการศึกษามณฑลพิศณุโลก (๒๒ ธันวาคม - ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๘) ในปี ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) หรือเมื่อกว่า ๑๑๖ ปี ที่ผ่านมา วัดคุ้งตะเภา มีพระ ๘ รูป ศิษย์วัด ๖ คน มีเจ้าอธิการรอดเป็นเจ้าอาวาส และผู้ใหญ่ชื่น เป็นมรรคนายก
- ↑ สมพงษ์ แจ้งเร็ว. 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ ศิษย์ร่วมสำนักพระยาพิชัยดาบหัก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 (11). กันยายน 2527. หน้า 44 - 53
- ↑ สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์. (2554). คำสั่งคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ 02/2554 เรื่อง ให้พระสังฆาธิการออกจากตำแหน่ง. ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ สำนักงานเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา. (2554). คำสั่งเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา ที่ 1/2554 เรื่อง แต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา. ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
- ↑ "พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)," (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 339.
- ↑ ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2559). "ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. 2313 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับการปราบ "พวกสงฆ์อลัชชี" ที่เมืองสวางคบุรี," ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 5 มีนาคม
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
- ↑ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ. (2561, 28 มกราคม). ตราตั้งพระอุปัชฌาย์ ที่ 20/2561 [พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ].
- ↑ เทวประภาส มากคล้าย. (2552). แผนงานการปกครองคณะสงฆ์ในเขตตำบลคุ้งตะเภา ประจำปี พ.ศ. 2552. (เอกสารประกอบการประชุม). อุตรดิตถ์ : สำนักงานเลขานุการเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา. ถ่ายเอกสาร.
- ↑ คำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เรื่อง ตั้งคณะในวัดคุ้งตะเภา พ.ศ. ๒๕๕๓. วัดคุ้งตะเภา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก[6]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 26-8-53
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕. เล่มที่ ๗๙ ตอนที่ ๑๑๕ ก ฉบับพิเศษ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕. เล่มที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๑๖ ก วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ หน้า ๕
- ↑ คำสั่งเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ ๑๙/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เรื่อง ตราตั้งรองเจ้าอาวาส (พระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕. เล่มที่ ๗๙ ตอนที่ ๑๑๕ ก ฉบับพิเศษ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕. เล่มที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๑๖ ก วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ หน้า ๕
- ↑ ประวัติพันเอกสิงหนาท โพธิ์กล่ำ เก็บถาวร 2009-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย (Thailand Political Base). เรียกข้อมูลเมื่อ 17-7-52
- ↑ คำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาที่ ๑/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เรื่อง คำสั่งแต่งตั้งไวยาวัจกรวัดคุ้งตะเภาเพิ่มเติม
- ↑ 58.0 58.1 58.2 ไวยาวัจกร : ________ คำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา. (2555, 29 สิงหาคม). คำสั่งที่ คสว. ๐๔๑๑๑๓/๕๕๓๒.๑ เรื่อง ตราตั้งไวยาวัจกรวัดคุ้งตะเภา [_______].
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (๒๕๕๖). ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕. ลงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖
- ↑ 60.0 60.1 60.2 60.3 60.4 60.5 60.6 60.7 สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). แบบรายงานอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี 2555 : วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์ : สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (อัดสำเนา). หน้า 1-233
- ↑ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์. (2554, 19 มกราคม). ประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ประจำปี 2554.
- ↑ หนังสือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ สธ ๐๕๑๔.๐๒/๘๖๒ ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕
- ↑ หนังสือวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่ ศธ ๐๕๑๒.๗๘/๕๓๗๙๓๑๐๓๕๓ ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔
- ↑ "ข้อมูลและภาพสวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา (ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์) จากเว็บไซด์วัดคุ้งตะเภา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-13. สืบค้นเมื่อ 2012-07-13.
- ↑ วัดคุ้งตะเภา. (2563). วัดคุ้งตะเภา รับรางวัลโล่และพัดวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๓ (อันดับที่ ๑ ระดับประเทศ) เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์วัดคุ้งตะเภา : เข้าถึงเมื่อ 19-10-63
- ↑ ประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง ผลการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓
- ↑ ประกาศกรมการศาสนา เรื่อง ลานธรรมลานวิถีไทยตัวอย่าง ประจำปี ๒๕๖๒ เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๓
- ↑ หนังสือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ พศ ๐๐๐๓/๐๒๖๗๗ เรื่อง การจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2560). ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น วัดพัฒนาตัวอย่างและอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี 2559. ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560
- ↑ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ส.ปชส.อุตรดิตถ์. (2558). ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ มอบรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณ โครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทองจังหวัดอุตรดิตถ์ . [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://pr.prd.go.th/uttaradit/ewt_news.php?nid=2676&filename=index เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (2558). ผลการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวง ระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ด้านการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม (ระดับประเทศ). [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.m-culture.go.th/surveillance/index.php/2013-06-07-06-47-37/2013-06-19-04-16-42/item/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87 เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ เดลินิวส์. (2558). วธ.ดึงเยาวชนร่วมบริหารงานวัฒนธรรม. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.dailynews.co.th/education/351637
- ↑ หนังสือสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ ทส ๐๘๐๕/ว.๖๖๔ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘
- ↑ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2558). ยก 32 วัดต้นแบบ แก้ไขปัญหาเหล้าบุหรี่. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.thaihealth.or.th/Content/28527-%E0%B8%A2%E0%B8%81%2032%20%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%20%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88%20.html
- ↑ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2558). ประกาศเกียรติคุณวัดต้นแบบรูปธรรมควบคุมปัจจัยเสี่ยง ในโครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง. ลงวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘
- ↑ ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น วัดพัฒนาตัวอย่าง และอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี ๒๕๕๖ ประกาศ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗
- ↑ กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2557). ปประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น วัดพัฒนาตัวอย่าง และอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี ๒๕๕๖. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา [7] เก็บถาวร 2015-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11-10-57
- ↑ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์. (๒๕๕๗). ประกาศเกียรติคุณวัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น ชนะเลิศระดับจังหวัด ในงานมหกรรมผู้สูงอายุสุขภาพดี ๘๐ ปี ยังแจ๋ว วัดส่งเสริมสุขภาพ และชมรมเข้มแข็ง ระดับจังหวัด ปี ๒๕๕๗. ลงวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗
- ↑ วัดคุ้งตะเภา. (2557). วัดคุ้งตะเภา รับโล่รางวัลวัดส่งเสริมสุขภาพ ชนะเลิศระดับเขต ประจำปี ๒๕๕๗ . [ออนไลน์]. แหล่งที่มา [8] เก็บถาวร 2016-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ หนังสือศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ อต ๐๐๓๔/๓๕๕ ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๖ เรื่อง แจ้งผลการคัดเลือกหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๕
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (๒๕๕๖). ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ผลการคัดเลือกหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕. ลงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (๒๕๕๕). ประกาศเกียรติคุณหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่นอันดับหนึ่ง ระดับจังหวัด ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕. ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (๒๕๕๕). ประกาศเกียรติคุณหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่นในระดับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕. ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
- ↑ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์. (๒๕๕๒). ประกาศเกียรติคุณวัดปลอดเหล้าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดอุตรดิตถ์ ปี ๒๕๕๒. ลงวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
- ↑ กองบัญชาการทหารสูงสุด. (๒๕๔๖). รางวัลเกียรติยศดีเด่น ศูนย์พัฒนาคุณธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ในฐานะศูนย์พัฒนาคุณธรรมตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพ ตามโครงการ กองทัพธรรม กองทัพไทย ต้านภัยยาเสพติด ประจำปี ๒๕๔๖. ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
- ↑ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. (๒๕๕๗). ประกาศเกียรติคุณพิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้ ประเภทวัดและชุมชน ๒๕๕๗. ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซด์วัดคุ้งตะเภา https://sites.google.com/site/watkungtaphao เก็บถาวร 2015-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดคุ้งตะเภา
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์