สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พระนามเดิม เจริญ คชวัตร ฉายา สุวฑฺฒโน (3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 – 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556) เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2535 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกที่มีพระชันษามากกว่าพระสังฆราชในอดีตและเป็นพระองค์แรกของไทยที่มีชันษา 100 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต[1]
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร | |
---|---|
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
ดำรงพระยศ | 21 เมษายน พ.ศ. 2532 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 (24 ปี 186 วัน) |
สถาปนา | 21 เมษายน พ.ศ. 2532 พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ |
ถัดไป | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) |
พรรษา | 80 |
สถิต | วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
ประสูติ | 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศสยาม เจริญ คชวัตร |
สิ้นพระชนม์ | 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 (100 ปี) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
พระชนก | น้อย คชวัตร |
พระชนนี | กิมน้อย คชวัตร |
ลายพระนาม |
พระประวัติ
แก้ขณะทรงพระเยาว์
แก้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 ที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนโตของพระชนกน้อย คชวัตร และพระชนนีกิมน้อย คชวัตร พระองค์มีน้องชาย 2 คน ได้แก่ นายจำเนียร คชวัตร และนายสมุทร คชวัตร พระชนกของพระองค์ป่วยเป็นโรคเนื้องอกและเสียชีวิตไปตั้งแต่พระองค์ยังเล็ก หลังจากนั้น พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของนางกิมเฮ้ง หรือกิมเฮงซึ่งเป็นพี่สาวของพระชนนีกิมน้อยที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู[2] และนางกิมเฮ้งจึงตั้งชื่อหลานชายผู้นี้ว่า "เจริญ"[3]
พระชนกน้อย คชวัตร เป็นบุตรคนที่สามจากทั้งหมดสี่คนของเล็ก กับแดงอิ่ม คชวัตร เป็นหลานปู่-หลานย่าของหลวงพิพิธภักดี ผู้เคยเป็นข้าราชการชาวกรุงเก่า[4] กับนางจีนผู้ภริยาหลวงพิพิธภักดีเป็นหลานยายของท้าวเทพกระษัตรี[5] ส่วนพระชนนีกิมน้อย หรือน้อย ซึ่งเคยเปลี่ยนชื่อเป็นแดงแก้วนั้น มีบิดาเป็นคนเชื้อสายจีนคือนายเฮงเล็ก แซ่ตั๊น กับมารดาเชื้อสายญวนชื่อนางทองคำ[4] ครั้นนายเฮงเล็กถึงแก่กรรม นางทองคำจึงสมรสใหม่กับนายสุข รุ่งสว่าง มีบุตรด้วยกัน 4 คน[5]
เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2468 ในขณะที่มีพระชันษา 12 ปี หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน ทรงเล่าว่า "เมื่อเยาว์วัยมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย" จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น[2]
บรรพชาและอุปสมบท
แก้เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ โดยมีอยู่คราวหนึ่งที่ทรงป่วยหนักจนญาติ ๆ ต่างพากันคิดว่าคงไม่รอดแล้วและได้บนไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน แต่เมื่อหายป่วยแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถม 5 แล้ว พระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนในปี พ.ศ. 2469 ขณะมีพระชันษาได้ 14 ปี ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทฺธโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล[2]
ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษา และได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมาคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี”[6] จนกระทั่งพระชันษาครบอุปสมบทจึงทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ. 2476 ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยและที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เอง พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2477) โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี (จู อิสฺสรญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
การศึกษาพระปริยัติธรรม
แก้พระองค์ทรงเริ่มเรียนพระปริยัติธรรมตามคำชักชวนของพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทฺธโชติ) พระอุปัชฌาย์ ที่ตั้งใจจะให้พระองค์กลับมาสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามและจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเตรียมไว้ให้ โดยพระอุปัชฌาย์นำพระองค์ไปฝากไว้กับพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสน่หา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2470 แล้วจึงเริ่มเรียนภาษาบาลีโดยมีพระเปรียญจากวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นอาจารย์สอน หลังจากนั้น จึงเดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร[6] พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473[7]
พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างมากในการสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค แต่ผลปรากฏว่าทรงสอบตก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้และคิดว่า "คงจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว" แต่เมื่อทรงคิดทบทวนและไตร่ตรองดูว่าทำไมจึงสอบตก ก็ทรงตระหนักได้ว่าเหตุแห่งการสอบตกนั้นเกิดจากความประมาทโดยแท้ กล่าวคือ ทรงทำข้อสอบโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว ทั้งยังมุ่งอ่านเฉพาะเนื้อหาที่เก็งว่าจะออกเป็นข้อสอบเท่านั้น ซึ่งพระองค์ทรงพบว่าเป็นวิธีการเรียนที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์สอบตก เมื่อพระองค์ทรงตระหนักได้ดังนี้แล้วจึงทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีเรียนแบบสม่ำเสมอและทั่วถึง พระองค์จึงสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค ในปี พ.ศ. 2475[7]
หลังจากนั้น พระองค์ทรงกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่โรงเรียนเทวานุกูล วัดเทวสังฆาราม เพื่อสนองพระคุณพระเทพมงคลรังษีเป็นเวลา 1 พรรษา แล้วจึงทรงกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป โดยทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค โดยในระหว่างที่ทรงอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระองค์ก็ยังคงกลับไปช่วยสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามอยู่เสมอ พระองค์ยังทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปี พ.ศ. 2484[7]
การปฏิบัติหน้าที่ด้านคณะสงฆ์
แก้หลังจากที่พระองค์สอบได้เปรียญธรรม 9 แล้ว พระองค์ทรงเริ่มงานอันเกี่ยวเนื่องกับคณะสงฆ์อีกมากมาย ซึ่งนอกเหนือจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาของภิกษุสามเณรทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี รวมทั้งทรงเป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่งในฐานะเป็นพระเปรียญ 9 ประโยค ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2488 พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการสภาการศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์และรักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกาในกาลต่อมา นอกจากนี้ ยังทรงเป็นเลขานุการในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์อีกด้วย[8]
เมื่อมีพระชันษาได้ 34 ปี พระองค์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระโศภนคณาภรณ์ โดยพระองค์ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทบ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2499 ต่อมา ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ โดยราชทินนามทั้ง 2 ข้างต้นนั้นเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่พระองค์เป็นรูปแรก[9]
ในปี พ.ศ. 2504 พระองค์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาคและเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ในปีเดียวกันนี้เองพระองค์ได้รับการสถาปนาที่ พระสาสนโสภณ[9] พระองค์เข้ารับตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 นอกจากนั้น ยังได้ทรงนิพนธ์ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนาไว้มากมาย[10]
สมเด็จพระสังฆราช
แก้พ.ศ. 2515 พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานสถาปนาสมเด็จพระอริยวงษญาณ (สุก ญาณสังวร) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2359 ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร จึงเป็นตำแหน่งพิเศษที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น[9]
เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2531 ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิมคือ สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งราชทินนามดังกล่าวนับเป็นราชทินนามพิเศษ กล่าวคือ สมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์นั้น โดยปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ บางพระองค์ ครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งครั้งมีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเพื่อเป็นการยกย่องพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์[9]
ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช
แก้ในช่วงที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช มีศาสนกิจที่จะต้องเสด็จไปต่างประเทศ พระองค์จะมีพระบัญชาแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช โดยเมื่อครั้งพระองค์เสด็จประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำกราบทูลอาราธนาของทบวงศาสนกิจ ประเทศจีน และเสด็จปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศเนปาล พระองค์มีพระบัญชาแต่งตั้งให้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช[11][12] นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินเดีย พระองค์มีพระบัญชาแต่งตั้งสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช[13][14]
ช่วงปี พ.ศ. 2547 หลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ประชวรและประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[15] ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระบัญชาว่า “ทราบและเห็นชอบ” เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547 ต่อมา การแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงได้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โดยประกอบด้วยพระราชาคณะ รวม 7 รูป จากพระอาราม 7 วัด โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ทำหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[16][17]
สิ้นพระชนม์
แก้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์เนื่องจากการติดเชื้อในพระกระแสโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 19.30 น.[18]
วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในเวลานั้น) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[19]
อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทราบฝ่าละอองทุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 15 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ถึงวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 และโปรดถวายพระโกศกุดั่นใหญ่ทรงพระศพ ประดิษฐานพระศพไว้ ณ ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และถวายเกียรติตามราชประเพณีทุกประการ[20]
เมื่อถึงวาระที่จะพระราชทานเพลิงพระศพอันเป็นปัจฉิมวาระแห่งการพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดถวายพระโกศทองน้อยทรงพระศพโดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น กางกั้นพระโกศ ถวายเป็นเครื่องเพิ่มเติมพระเกียรติยศให้ปรากฏสืบไป[21]
วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในเวลานั้น) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร[22] ประดิษฐานพระอัฐิ ณ ตำหนักเดิม วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และประดิษฐานพระสรีรางคาร ณ พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[23]
ในปี พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระอัฐิของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในฐานะพระราชกรรมวาจาจารย์เมื่อครั้งทรงผนวช ขึ้นเป็น "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร" ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ เชิญมาประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป[24]
พระกรณียกิจ
แก้ด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ
แก้พระองค์ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการมาโดยลำดับ ดังนี้
- พ.ศ. 2509 ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ ได้เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ ในพิธีเปิดวัดพุทธประทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และดูกิจการพระธรรมทูตในประเทศอังกฤษและอิตาลี
- พ.ศ. 2511 เสด็จไปดูการพระศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ อันเป็นผลให้ต่อมาได้มีการวางแผนร่วมกับชาวพุทธอินโดนีเซีย ในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น และได้ส่งพระธรรมทูตชุดแรกไปยังอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้ส่งพระภิกษุจากวัดบวรนิเวศ ออกไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2516, และตั้งสำนักสงฆ์ในปี พ.ศ. 2518
- พ.ศ. 2514 เสด็จไปดูการพระศาสนา และการศึกษาในประเทศเนปาล และอินเดีย ปากีสถาน ตะวันออก (บังคลาเทศ) ทำให้เกิดงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเนปาล ในขั้นแรก ได้ให้ทุนภิกษุ สามเณรเนปาลมาศึกษาพระพุทธศาสนาในไทย ที่วัดบวรนิเวศฯ
- พ.ศ. 2520 เสด็จไปบรรพชาชาวอินโดนีเซีย จำนวน 43 คน ที่เมืองสมารัง ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย
- พ.ศ. 2528 ทรงเป็นประธานคณะสงฆ์ ไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ วัดจาการ์ต้าธรรมจักรชัย ณ ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการผูกพันธสีมาอุโบสถวัดพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นครั้งแรกของประเทศอินโดนีเซีย และในปีเดียวกันนี้ ได้เสด็จไปเป็นประธานบรรพชากุลบุตรศากย แห่งเนปาล จำนวน 73 คน ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
- พ.ศ. 2536 เสด็จไปเจริญศาสนาสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เป็นครั้งแรก ที่ประเทศจีน ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลจีน
- พ.ศ. 2538 เสด็จไปเป็นประธาน วางศิลาฤกษ์วัดไทย ณ ลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งรัฐบาลไทยจัดสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
ด้านสาธารณูปการ
แก้ได้ทรงบูรณะซ่อมสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ
- ปูชนียสถาน
- ได้แก่ มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระบรมธาตุ เจดีย์ศรีนครินทรมหาสันติคีรี ดอยแม่สลอง
พระอาราม ได้แก่ วัดสันติคีรี ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย วัดรัชดาภิเศก อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี วัดล้านนาสังวราราม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพุมุด อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นอกจากนั้นยังทรงอุปถัมภ์วัดไทยในต่างประเทศอีกหลายแห่งคือ วัดพุทธรังสี นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย วัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร เมืองกิรติปูร เนปาล
- โรงเรียน
- ได้แก่ โรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร ยโสธร โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี
- โรงพยาบาล
- ได้แก่ การสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี, โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี, และโรงพยาบาลสกลมหาสังฆปรินายก เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ รวม 19 แห่ง ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วหลายแห่ง
พระภารกิจ
แก้- พ.ศ. 2484 เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย และเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
- พ.ศ. 2489 เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์ และเป็นกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2493 เป็นกรรมการเถรสมาคม คณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราว
- พ.ศ. 2494 เป็นกรรมการอำนวยการมหามงกุฎราชวิทยาลัย และเป็นกรรมการแผนกตำราของมหามกุฏราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2496 เป็นกรรมการตรวจชำระ คัมภีร์ฎีกา
- พ.ศ. 2497 เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทถาวร
- พ.ศ. 2499 เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งทรงพระผนวชและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมวราภรณ์ และรักษาการวินัยธรชั้นฎีกา
- พ.ศ. 2501 เป็นกรรมการคณะธรรมยุติ และเป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการพระศาสนา และมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)
- พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง[25] สั่งการองค์การปกครองฝ่ายธรรมยุต
- พ.ศ. 2504 เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้รักษาการณ์เจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค และเป็นพระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการเถรสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการชุดแรก ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
- พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ
- พ.ศ. 2517 เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุต
- พ.ศ. 2521 เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในพระราชพิธีทรงผนวช พันตรี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[26]
- พ.ศ. 2528 เป็นรองประธานกรรมการสังคีติการสงฆ์ ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก และเป็นสังฆปาโมกข์ปาลิวิโสธกะพระวินัยปิฎก เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- พ.ศ. 2531 รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย และเป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พระนิพนธ์
แก้ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา และทั่วไป พอประมวลได้ดังนี้:
ประเภทตำรา ทรงเรียบเรียง
- วากยสัมพันธ์ ภาค 1-2 สำหรับใช้เป็นหนังสือประกอบ การศึกษาของนักเรียนบาลี และทรงอำนวยการจัดทำ
- ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
ประเภทพระธรรมเทศนา มีอยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่พิมพ์เป็นเล่มแล้ว เช่น:
- ปัญจคุณ 5 กัณฑ์
- ทศพลญาณ 10 กัณฑ์
- มงคลเทศนา
- โอวาทปาฏิโมกข์ 3 กัณฑ์
- สังฆคุณ 9 กัณฑ์
ประเภทงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ทรงริเริ่มและดำเนินการให้แปลตำราทางพุทธศาสนา จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการศึกษาพระพุทธศาสนา เช่น:
- นวโกวาท
- วินัยมุข
- พุทธประวัติ
- ภิกขุปาติโมกข์
- อุปสมบทวิธี
- ทำวัตรสวดมนต์
ประเภททั่วไป มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น:
- การนับถือพระพุทธศาสนา
- หลักพระพุทธศาสนา
- พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านล้ำเลิศ
- 45 พรรษาพระพุทธเจ้า
- พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร (ไทย-อังกฤษ)
- วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ
- พระพุทธศาสนากับสังคมไทย
- เรื่องกรรม ศีล (ไทย-อังกฤษ)
- แนวปฏิบัติในสติปัฎฐาน
- อาหุเณยโย
- อวิชชา
- สันโดษ
- หลักธรรมสำหรับการปฏิบัติอบรมจิต
- การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่
- บัณฑิตกับโลกธรรม
- แนวความเชื่อ
- บวชดี
- บุพการี-กตัญญูกตเวที
- คำกลอนนิราศสังขาร
- ตำนานวัดบวรนิเวศ
- วิธีสร้างบุญบารมี
- แสงส่องใจ
- ความซับซ้อนของกรรม
- พุทธวิธีแก้หลง
พระเกียรติยศ
แก้ลำดับสมณศักดิ์
แก้ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร | |
---|---|
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พะย่ะค่ะ/เพคะ |
ลำดับโปเจียม | เสมอศักดิ์พระอนุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ทรงกรม |
- พ.ศ. 2490 พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโศภณคณาภรณ์[27]
- พ.ศ. 2495 พระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม
- พ.ศ. 2498 พระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม
- พ.ศ. 2499 พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกคุณวิภูสิต ธรรมวิทิตคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[28]
- พ.ศ. 2504 รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า พระสาสนโสภณ วิมลญาณสุนทร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูสิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[29]
- พ.ศ. 2515 สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ อุดมศีลจารวัตรสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี [30]
- 21 เมษายน พ.ศ. 2532 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต[31] ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช[32]
ภายหลังการสิ้นพระชนม์
แก้- 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ทรงได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วชิราลงกรณราชาภินิษกรมณาจารย์ สุขุมธรรมวิธานธำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร [24]
ตำแหน่งที่ได้รับการถวาย
แก้- ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา (Supreme Holiness of World Buddhism) อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับการทูลถวายจากผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศเข้าร่วมประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุด รวมทั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแห่งประเทศไทย ผู้สอนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ในพระปัญญาธรรมและพระกรุณาธรรมนำ ไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมีพระบารมีปกแผ่ไพศาลไปทั่วราชอาณาจักรไทยและทั่วโลก นับเป็นแบบอย่างของสากลโลก ซึ่งเป็นการมอบตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกของโลก[33][34][35]
ปริญญากิตติมศักดิ์
แก้พระองค์ได้รับการถวายปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษา ดังต่อไปนี้[36][37]
- พ.ศ. 2529: ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- พ.ศ. 2532: อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2533: พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2537: ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- พ.ศ. 2538: การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยนเรศวร
- พ.ศ. 2539: ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- พ.ศ. 2540: ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น[38]
- พ.ศ. 2543: ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[39]
- พ.ศ. 2545: ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาไทศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม[40]
- พ.ศ. 2547: ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
- พ.ศ. 2548: ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม[41]
- พ.ศ. 2554: ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต[42]
- พ.ศ. 2556: ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย[43]
สถานที่เนื่องด้วยพระนาม
แก้- ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี
- โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 (เจริญ สุวฑฺฒโน) จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
- โรงพยาบาลญาณสังวร เชียงราย
- โรงพยาบาลญาณสังวร ชลบุรี
- ตึก 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี
- อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สภากาชาดไทย
- วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
- อาคารสมเด็จพระญาณสังวร โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 (เจริญ สุวฑฺฒโน) จังหวัดกาญจนบุรี
- ศูนย์สุขภาพพระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 ตำบลวังด้ง อำเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
งานฉลองพระชันษา 96 ปี (8 รอบ)
แก้3 ตุลาคม พ.ศ. 2552 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเจริญพระชันษาครบ 96 ปี รัฐบาลจัดให้มีการบำเพ็ญกุศล และงานฉลองเนื่องในโอกาสมงคลนี้[44]
งานฉลองพระชันษา 100 ปี
แก้งานแสดงมุทิตาจิต ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ณ ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[45]
- เวลา 08.00 น. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จฯ ออกทรงรับบาตรจากศิษยานุศิษย์ และ ประชาชนทั่วไป
- เวลา 09.00 น. ศิลปิน ดารา นักร้อง ที่จะมาร่วมรณรงค์รับบริจาคเงิน เพื่อโดยเสด็จพระกุศล สมเด็จพระสังฆราชให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรและรับประทานเกียรติบัตร และออกรณรงค์รับบริจาคตามคลินิกผู้ป่วยนอก / หอผู้ป่วยพิเศษ / สำนักงาน
- เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล ณ ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร ชั้น 5
- เวลา 13.00 น. การบรรยายพิเศษ “ใส่บาตรอย่างไร ได้บุญ ไกลโรค” ณ ห้องประชุมเฉลิม พรมมาส ตึก อปร.
- เวลา 13.30 น. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับน้ำสรงพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และบรมวงศานุวงศ์ทุก พระองค์ เนื่องในงานฉลองพระชันษา 100 ปี
- เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานทอดผ้าป่าสามัคคี 84,000 กอง
- เวลา 15.30 - 16.45 น. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โปรดฯ ให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร
- เวลา 17.00 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์แสดงมุทิตาจิตฉลองสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในงานฉลองพระชันษา 100 ปี
- เวลา 18.00 น. พิธีลาบวชเนกขัมมบารมี 101 คน
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร[5][46] | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ "พุทธศาสนิกชนร่ำไห้ "สมเด็จพระสังฆราช" สิ้นพระชนม์ลงแล้ว!". มติชน. 24 ตุลาคม 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2013.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 1) เก็บถาวร 2013-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ บวรธรรมบพิตร พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, หน้า 21
- ↑ 4.0 4.1 บวรธรรมบพิตร พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, หน้า 20
- ↑ 5.0 5.1 5.2 บวรธรรมบพิตร พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, หน้า 18-19
- ↑ 6.0 6.1 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 2) เก็บถาวร 2013-08-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ 7.0 7.1 7.2 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 3) เก็บถาวร 2013-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 4) เก็บถาวร 2013-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 5) เก็บถาวร 2013-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ พระศาสนกิจทางการคณะสงฆ์ เก็บถาวร 2011-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สังฆราชดอตคอม, เข้าถึงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร), เล่ม ๑๑๐, ตอน ๘๙ ง, ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๓๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร), เล่ม ๑๑๒, ตอน พิเศษ ๔๓ ง, ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๑๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม ๑๑๕, ตอนพิเศษ ๓๒ ง, ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม ๑๑๖, ตอน ๒๗ ง, ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒, หน้า ๓๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑, ตอนพิเศษ ๓ง, ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗, หน้า ๒๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๐/๒๕๔๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, เล่ม ๑๒๑, ตอนพิเศษ ๗๙ ง, ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗, หน้า ๑
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์, สำนักนายกฯแถลง “สมเด็จญาณฯ” ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชแต่เพียงพระองค์เดียว เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 3 พฤศจิกายน 2548
- ↑ "แถลงการณ์สำนักพระราชวังเรื่องสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์". www.thairath.co.th. 2013-10-25.
- ↑ "'พระบรมฯ'ถวายน้ำสรงพระศพ'พระสังฆราช'". คมชัดลึกออนไลน์. 2013-10-25.
- ↑ "แถลงการณ์สำนักพระราชวังเรื่องสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์". www.thairath.co.th. 2013-10-25.
- ↑ "โปรดเกล้าฯถวายพระโกศทองน้อยทรงพระศพสมเด็จพระสังฆราช". dailynews. 2015-12-14.
- ↑ "'สมเด็จพระบรมฯ' เสด็จพระราชทานเพลิงพระศพ 'พระสังฆราช'". www.thairath.co.th. 2015-12-16.
- ↑ "เผย "พระสุสาน" ของสมเด็จพระสังฆราช". mgronline.com. 2015-12-16.
- ↑ 24.0 24.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (40 ข): 2. 28 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2019.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่ม 77, ตอนที่ 41, 17 พฤษภาคม 2503, หน้า 1437-9
- ↑ หมายกำหนดการ พระราชพิธีทรงผนวช พันตรี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๖๔, ตอน ๒๗ ง, ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐, หน้า ๑๕๒๖
- ↑ ราชกิจจานุบเกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๔, ตอน ๖ ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, ตอนที่ 104, เล่ม 78, วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2504, หน้า 13-16
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ (พระสาสณโสภณ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ), ตอนที่ 102, เล่ม 89, วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2515, หน้า 1-5
- ↑ "แก้คำผิด จดหมายเหตุพระราชพิธีสถาปนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (16 ง): 1080. 28 มกราคม 1992. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2013.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช, ตอนที่ 63, เล่ม 106, วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532, หน้า 1-7
- ↑ "ผู้นำชาวพุทธ 32 ประเทศทูลถวายพระเกียรติยศอันสูงสุด สมเด็จพระสังฆราช ให้เป็น "ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา" เป็นครั้งแรกของโลก". สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์. 10 กันยายน 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2013.
- ↑ ถวาย "ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพุทธ", ไทยรัฐออนไลน์, เข้าถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ สมเด็จพระสังฆราช“ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา”, เดลินิวส์ออนไลน์, เข้าถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ ปริญญาดุษฎีบัณฑิต เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สังฆราชดอตคอม, เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ (หน้า 12) เก็บถาวร 2014-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วัดบวรนิเวศวิหาร, เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ รายพระนามและรายนามผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2511 - ปัจจุบัน เก็บถาวร 2012-07-18 ที่ archive.today, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เก็บถาวร 2008-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ "รายพระนามและรายนามปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2544". จดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-04. สืบค้นเมื่อ 2021-11-04. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564.
- ↑ "ม.ราชภัฏมหาสารคามทูลถวายดุษฎีบัณฑิตแด่สมเด็จพระสังฆราช". ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2013.
- ↑ บำเพ็ญพระกุศล สังฆราช 98 พรรษา, ไทยรัฐออนไลน์, เข้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556
- ↑ มมร.ทูลถวายปริญญาเอกพุทธศาสน์ศึกษาแด่พระสังฆราช ฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มติชนออนไลน์, เข้าถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556
- ↑ ""ในหลวง" โปรดฯ ให้ถอดคำเทศน์ใน "สังฆราช" เป็นซีดีและ MP3 ให้เข้าถึงวัยรุ่น". ผู้จัดการออนไลน์. 24 กันยายน 2009. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2021.
- ↑ "ฉลอง 100 ปีสังฆราชประชาชนแห่ทำบุญ". โพสต์ทูเดย์. 3 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2021.
- ↑ พระองค์ที่ ๑๙: สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
- บรรณานุกรม
- พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย), ธงทอง จันทรางศุ, สุเขาวน์ พลอยชุม (2015). บวรธรรมบพิตร พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (PDF). กรุงเทพฯ: วัดบวรนิเวศวิหาร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2017. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2015.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
ก่อนหน้า | สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ | สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2532 – 2556) |
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) | ||
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ | ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต (พ.ศ. 2532 – 2556) |
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) | ||
พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) | เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (พ.ศ. 2504 – 2556) |
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) | ||
ไม่มี | ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร (พ.ศ. 2525 – 2556) |
พระธรรมบัณฑิต (อภิพล อภิพโล) |