หมู่บ้านหัวหาด

หมู่บ้านในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ประเทศไทย
หมู่บ้านหัวหาด
Ban Hua Hat


วงดนตรีไทยเดิมผู้สูงอายุบ้านหัวหาด
บรรเลงในพิธีของวัดประจำหมู่บ้าน

พิกัดภูมิศาสตร์:17.61891° 100.18991°

ข้อมูลทั่วไป
ตำบล คุ้งตะเภา
อำเภอ เมืองอุตรดิตถ์
จังหวัด อุตรดิตถ์
รหัสไปรษณีย์ 53000
การปกครอง
ผู้ใหญ่บ้าน จ.ส.อ.ประสิทธิ์ พรหมมณี[1]
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ -
ประชากร 1,894 (ชาย 874) (หญิง 1,020)

หมู่บ้านหัวหาด หรือ บ้านหัวหาด เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง และ โรงเรียนระดับพื้นฐาน 1 โรง เส้นทางคมนาคมหลักคือ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1247 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1213) ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่[2]

ประวัติ แก้

ความเป็นมาชื่อหมู่บ้าน แก้

หมู่บ้านหัวหาดนั้นเดิมชื่อ หมู่บ้านศีรษะหาด และใช้กันเรื่อยมาตลาด จนมาในคราว ปู่นาค อักษรไชย เป็นผู้ใหญ่บ้านจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น หมู่บ้านหัวหาด เพื่อให้เรียกง่าย เหตุที่ใช้คำว่าหัวหาดหรือศีรษะหาดนั้น มาจากสภาพภูมิประเทศบริเวณริมแม่น้ำน่านของหมู่บ้านที่เป็นลานหาดทราบตะกอนแม่น้ำพัดจากแม่น้ำน่าน ที่ไหลมาทับทมจนเป็นหาดทรายขนาดกว้างใหญ่ตั้งแต่ทางทิศเหนือน้ำของหมู่บ้านจนไปจรดทิศใต้น้ำของหมู่บ้านคือแถบบ้านไร่คุ้งตะเภา[3]

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แก้

 
วัดป่าสักเรไร วัดประจำหมู่บ้าน

หมู่บ้านหัวหาด เดิมเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงได้เริ่มมีกลุ่มคนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบนี้ เล่ากันมาว่าผู้ที่เข้ามาตั้งรกรากนั้นคือต้นตระกูลอักษรไชย ที่เป็นพ่อค้าภาคกลางจากอ่างทอง ทำมาค้าขายสินค้าขึ้นล่องอยู่แถบหัวเมืองฝ่ายเหนือ เดินเรือผ่านมาตามแม่น้ำน่านเห็นบริเวณนี้มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ดีจึงเข้ามาจับจองปลูกบ้านเรือนขึ้น ในปี พ.ศ. 2344

ต้นตระกูลของคนในหมู่บ้านคือปู่กร ย่าพัน อักษรไชย ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ ปู่หล่ำ อักษรไชย ต่อมาปู่นาค พี่ของปู่หล่ำ ได้ตั้งสร้างวัดขึ้นชื่อว่าวัดป่าสักเรไรในปัจจุบัน[4]

สภาพด้านสังคม แก้

บ้านหัวหาด อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ เป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร เป็นหมู่ที่ 5 ในตำบลคุ้งตะเภา มีบ้าน จำนวน 255 หลังคาเรือน เป็นชาย 874 คน เป็นหญิง 1,020 คน (ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2550) ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรมก็จะหันมารับจ้างทั่วไป ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง และ โรงเรียนระดับพื้นฐาน 1 โรง บ้านหัวหาดมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 1 ศูนย์

สภาพภูมิศาสตร์ แก้

บ้านหัวหาด ตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ประมาณ 14 กิโลเมตร มีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1047 และ 1213 มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง บ้านพักอาศัยตั้งอยู่แบบเป็นกลุ่ม

อาณาเขตติดต่อ แก้

บ้านหัวหาด มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียงดังนี้

  1. ทิศเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำน่าน
  2. ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านบ่อพระ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
  3. ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านหาดเสือเต้น ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
  4. ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

ลักษณะโครงสร้างพื้นฐาน แก้

การคมนาคมบ้านหัวหาด เดินทางติดต่อทางบกเป็นหลัก โดยมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1047 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1213 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เป็นถนนสายหลักในการติดต่อเข้าสู่ตัวจังหวัดและถนนสายหลักในจังหวัด (ถนนเอเชีย)

การติดต่อภายในตำบลคุ้งตะเภาและตำบลใกล้เคียง ใช้เส้นทาง รพช. และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 และ 1047 เชื่อมโยงระหว่างตำบลผาจุก ตำบลป่าเซ่า และตำบลงิ้วงาม

การบริการขนส่งสาธารณะ มีรถประจำทางผ่านตลอดสาย ส่วนการขนส่งผลผลิตการเกษตรนิยมใช้รถไทยแลนด์และรถปิคอัพ เข้าสู่ตลาดหรือแหล่งรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร

สาธารณูปโภค แก้

บ้านหัวหาดมีพื้นที่ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก นอกจากนั้นยังอาศัยแหล่งน้ำจากะรรมชาติที่มีอยู่ภายในหมู่บ้าน คือ แม่น้ำน่าน ช่วยในการทำนา ปลูกพืชไร่

การปกครอง แก้

เศรษฐกิจ แก้

ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน มีอาชีพหลัก 2 ประเภท คือ อาชีพการเกษตรและอาชีพรับจ้าง การประกอบอาชีพทางการเกษตรได้แก่ การปลูกพืชไร่และพืชล้มลุก เช่น ถั่ว แตงกวา ต้นหอมผักชี เป็นต้น ส่วนอาชีพรับจ้าง ปัจจุบันส่วนใหญ่จะออกไปรับจ้างในถิ่นอื่น

วัฒนธรรมประเพณี แก้

ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเถรวาท ประเพณีต่าง ๆ ยึดถือปฏิบัติเหมือนกันกับชาวพุทธเถรวาทในแถบใกล้เคียง เช่น บวชพระ ประเพณีแต่งงาน งานศพ ฯลฯ

วัดประจำหมู่บ้าน แก้

 
อุโบสถวัดหัวหาด (วัดป่าสักเรไร) วัดประจำหมู่บ้าน

วัดป่าสักเรไร เริ่มก่อตั้งและมีพระภิกษุมาจำพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 เป็นพุทธศาสนสถานแห่งเดียวในหมู่บ้าน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินที่ตั้งวัดจำนวน 9 ไร่ 21 ตารางวา

ประชาชนชาวบ้านหัวหาดได้ร่วมใจกันสร้างวัดนี้เพื่อเป็นที่ประกอบศาสนกิจและกิจกรรมของชุมชน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (อนุญาตให้สร้างอุโบสถ) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2520 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 30 เมตร ยาว 50 เมตร

โรงเรียนประจำหมู่บ้าน แก้

 
ป้ายหน้าโรงเรียนบ้านหัวหาด

โรงเรียนบ้านหัวหาด เป็น โรงเรียนประจำหมู่บ้านหัวหาด ตั้งอยู่ที่ บ้านหัวหาด ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนบ้านหัวหาดเป็นโรงเรียนในกลุ่ม คุ้งตะเภา-ถ้ำฉลอง แบ่งการเปิดการสอนเป็น ระดับประถมศึกษา และระดับก่อนประถมศึกษา

โรงเรียนบ้านหัวหาด เดิมชื่อว่า โรงเรียนวัดป่าสักเรไร หมู่ที่ 5 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2482 โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดป่าสักเรไรเป็นสถานที่เรียน (ได้อาศัยเรียนอยู่ที่วัดป่ากล้วยจนถึง พ.ศ. 2504 จึงย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบัน)

โรงเรียนบ้านหัวหาดได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน โดยทำการสอนครั้งแรก ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มี นายอนันต์ เอี่ยมสรรพางค์ เป็นครูใหญ่คนแรก ปัจจุบันเปิดทำการสอนเป็น 2 ระดับชั้น คือระดับก่อนประถมศึกษา และระดับประถมศึกษา มีนายอำนวย คงอินทร์ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวหาด

อ้างอิง แก้

  1. "ข้อมูลรายชื่อผู้ใหญ่บ้านจาก เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-18. สืบค้นเมื่อ 2008-01-10.
  2. กลุ่มอำนวยการงานพัฒนาข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนบ้านหัวหาด.เอกสาร : ข้อมูลสารสนเทศโรงเรียนบ้านหัวหาด ประจำปีการศึกษา 2550.อุตรดิตถ์ : โรงเรียนบ้านหัวหาด, 2550
  3. เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. (2551). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์: วัดคุ้งตะเภา
  4. ชัยชนะ เมฆฉาย. (2545). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษาบ้านหัวหาด หมู่ที่ 5 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. สารนิพนธ์ ป.กศ. (หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและการประเมินโครงการ). อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. อัดสำเนา

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

17°39′32″N 100°09′29″E / 17.658941°N 100.158114°E / 17.658941; 100.158114