วิสุงคามสีมา
วิสุงคามสีมา แปลว่า เขตแดนส่วนหนึ่งจากแดนบ้าน คือที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินของไทยพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถโดยประกาศเป็นพระบรมราชโองการ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาถือว่าเป็นวัดที่ถูกต้องและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย[1]
ประวัติ
แก้สมัยพุทธกาล แม้พระพุทธองค์จะได้ทรงอนุญาตให้มีอารามหรือมีการตั้งวัดแล้ว แต่สงฆ์ส่วนใหญ่ก็ยังอาศัยป่าหรือถ้ำคูหาเป็นที่พักอาศัย เมื่อมีการทำสังฆกรรมก็จะกำหนดเขตแดนในการประชุมที่เรียกว่า "สีมา" ซึ่งอาจกำหนดในลักษณะ "พัทธสีมา" คือ เป็นเขตแดนที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง โดยอาจกําหนดเขตสีมามีเครื่องหมายหรือนิมิต 9 ประการ คือ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอปลวก ปนทาง แมกไม้ คูน้ำ สระน้ำหรือหนองน้ำ เป็นต้น ส่วนอีกแบบหนึ่งเรียกว่า "อพัทธสีมา" คือ เขตที่กําหนดไว้ตามปกติของบ้านเมือง แบงออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ "คามสีมา" คือ เขตตำบลที่บ้านเมืองจัดไว้เป็นบ้านหรือแขวง "สัตตัพภันดร" คือ เขตพื้นที่ในป่า ให้วัดจากศูนย์กลางออกไปรอบด้าน ด้านละ 7 อัพภันดร และ "อุททุกเขปสีมา" คือ การกําหนดพื้นที่กรณีอยู่ในทะเล ในสระ ในบึง หรือหนองน้ำ โดย "วิสุงคามสีมา" จัดเป็นอพัทธสีมาประเภทหนึ่ง แต่เมื่อทำพิธีผูกสีมาแล้วถือเป็นพัทธสีมา[2]
ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยแต่โบราณ ที่ดินทั่วราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์ การที่ราษฎรอยู่ได้เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทาน และการมีพระบรมราชานุญาตพระราชทานที่ดินนั้นเป็นเขตพุทธาวาสแก่หมู่สงฆ์ที่ดินที่พระราชทานนั้นก็เป็นสิทธิ์ขาดของพระพุทธศาสนา ซึ่งใคร ๆ จะทําการซื้อขาย จําหน่ายจ่ายโอนมิได้โดยเด็ดขาด ถือเป็นเขตพุทธาวาส[3]
การสร้างวัดมิได้มีการกำหนดกฎหมายมารับรอง แม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาในกฎหมายตราสามดวง รวมถึงกฎหมายพระสงฆ์ที่มีพระบรมราชโองการออกในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังไม่ได้กล่าวถึงวัด คงกล่าวถึงการควบคุมพระสงฆ์เท่านั้น จนในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2445 โดยได้กําหนดประเภทของวัดไว้ในมาตรา 5 แบ่งวัดเป็น 3 ประเภท
- พระอารามหลวง วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง หรือทรงพระกรุณาโปรดให้เข้าจำนวนในบัญชีที่นับว่าเป็นพระอารามหลวง
- อารามราษฎร์ คือ วัดซึ่งได้พระราชทานวิสุงคามสีมา แต่มิได้เข้าปัญชีนับว่าเป็นวัดหลวง
- ที่สํานักสงฆ์ คือ วัดซึ่งยังไม่ได้รับพระราชทานที่วิสุงคามสีมา
ในมาตรา 9 ยังบัญญัติว่า "ผู้ใดจะสร้างวัดขึ้นใหม่ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนจึงจะสร้างได้" โดยกำหนดขั้นตอนการสร้างวัด และบัญญัติเรื่องการพระราชทานวิสุงคามสีมาไว้ ผลของกฎหมายนี้ จึงทำให้วัดที่สร้างภายหลัง หากมิได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็ไม่มีฐานะเป็นนวัดที่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมามีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 โดยบทบัญญัติ ของมาตรา 72 (2) ส่งผลให้วัดมีสถานะเป็นนิติบุคคล ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2484 บัญญัติวัดไว้สองประเภท คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมากับสำนักสงฆ์[4]
จากกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2520) ว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์อื่น ประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การสร้างวัดคณะสงฆ์อื่นอันได้แก่ อนัมนิกายและจีนนิกาย ยังได้มีบทบัญญัติกําหนดหลักเกณฑ์ในการสร้างวัด การตั้งวัด การรวมวัด การย้ายวัด การยุบเลิกวัด และการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา โดยกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนเช่นเดียวกับการขอจัดตั้งวัดของคณะสงฆ์ไทย[5]
เขตวิสุงคามสีมา
แก้เขตวิสุงคามสีมาเป็นเขตของสงฆ์ พระสงฆ์จะกำหนดผูกสีมาได้เพื่อให้เป็นพัทธสีมา จะต้องอิงอาศัยวิสุงคามสีมา เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเรียบร้อยแล้ว ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงนำมาใช้ผูกเขต
ที่ที่พระราชทานแล้วจะมีเครื่องหมายเป็นเครื่องบอกเขต เครื่องหมายนี้เรียกว่า นิมิต ภายในวิสุงคามสีมานิยมสร้างโรงอุโบสถไว้เพื่อทำสังฆกรรม
การที่จะได้เป็นอุโบสถถูกต้องตามพระวินัยนั้นจะต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน แล้วพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันสวดถอนพื้นที่ทั้งหมดในเขตสีมานั้นเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นสีมาเก่า เรียกว่าถอนสีมา หลังจากนั้นจึงสวดประกาศให้เป็นพื้นที่นั้นเป็นสีมา เรียกว่า ผูกสีมา ทำดังนี้จึงจะเป็นสีมาหรือเป็นอุโบสถถูกต้องตามพระวินัย
การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา วัดต้องเป็นวัดที่ได้สร้างขึ้นหรือได้ปฏิสังขรณ์จนเป็นหลักฐานถาวร และมีพระภิกษุพำนักอยู่ประจำไม่น้อยกว่าห้ารูปติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี โดยเจ้าอาวาสวัดจะรายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาไปยังผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด[6]
ในสมัยโบราณให้ความสำคัญกับเขตนี้ กล่าวคือใครเข้าไปอยู่ในเขตนี้แล้วเป็นอันพ้นภัยราชการ แม้พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจทั้งแผ่นดิน แต่เขตนี้ยกให้สงฆ์ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรหนัก ใกล้จะสวรรคต พระองค์ไปนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชมาพร้อมทั้งพระสงฆ์ให้ครบทำสังฆกรรมได้ พระองค์ทรงประกาศยกวังถวายเป็นของสงฆ์ เพื่อให้รอดจากการถูกจับฆ่า กล่าวคือเป็นเขตสงฆ์อันพ้นภัยแผ่นดิน[7]
สิทธิและหน้าที่
แก้เมื่อวัดอยู่ในฐานะนิติบุคคล ก็ย่อมมีสิทธิหน้าที่ตามที่กฎหมาย เช่น วัดอาจเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน มีความสามารถเข้าทำนิติกรรมสัญญา เป็นโจทก์และจำเลยทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา หรือเป็นคู่สัญญาโดยไม่ต้องใช้นามเจ้าอาวาสหรือไวยาวัจกร[8]
ทรัพย์สินของวัดในศาสนาพุทธ อันได้แก่ ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา ที่ศาสนสมบัติกลาง ตลอดจนอาคาร เสนาสนะ และสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ทรัพย์สินเหล่านี้ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ ซึ่งแตกต่างจากทรัพย์สินของศาสนสถานในศาสนาอื่นเช่น มัสยิดหรือมิสซัง กล่าวคือ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัดหรือ ศาสนสมบัติโดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ (1) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของพระศาสนาที่มิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง (2) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใด วัดหนึ่ง โดยผู้ดูแลศาสนสมบัติกลาง เป็นอำนาจหน้าที่ของสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น[9]
อย่างไรก็ตาม การจัดการศาสนสมบัติของวัดตามที่กําหนดในกฎกระทรวง มีข้อจำกัด ไม่เอื้อประโยชน์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสมบัติของวัด กฎหมายก็ไม่มีบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม และอาจทำให้เกิดปัญหาที่เกิดขึ้นจากลักษณะของการผูกพันในนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ และผลผูกพันตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ต่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ รวมถึงข้อจำกัดของอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาในคณะสงฆ์ในการควบคุมการจัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัด[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ "วิสุงคามสีมา". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
- ↑ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, วินัยมุข เล่ม 3, 43.
- ↑ พระสิทธินิติธาดา, 241.
- ↑ พระสิทธินิติธาดา, 65.
- ↑ พระสิทธินิติธาดา, 67.
- ↑ "ขั้นตอนการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา".
- ↑ "ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา ปุจฉา-วิสัชนา". วัดญาณเวศกวัน.
- ↑ พระสิทธินิติธาดา, 71.
- ↑ พระสิทธินิติธาดา, 72.
- ↑ พระสิทธินิติธาดา, 74.
บรรณานุกรม
แก้- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- ดร. พระสิทธินิติธาดา. "สถานภาพทางกฎหมายของวัดที่มิได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมาและสํานักสงฆ์". วารสารรามคําแหง ฉบับนิติศาสตร์.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิสุงคามสีมา - คลังปัญญาไทย เก็บถาวร 2010-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน