สำนักมิสซัง (โรมันคาทอลิก) หรือ ศูนย์มิชชัน (โปรเตสแตนต์) (อังกฤษ: mission) คือสำนักงานของมิชชันนารี[1]

สำนักมิสซังเซนคราเบียล รัฐแคลิฟอร์เนีย

ที่มา

แก้

การประกาศข่าวดีถือเป็นพันธกิจ (mission) ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคริสต์ศาสนิกชน คริสตจักรท้องถิ่นต่าง ๆ จึงส่งอาสาสมัครเป็นตัวแทนของคริสตจักรไปปฏิบัติพันธกิจนั้นตามสถานที่ต่าง ๆ ที่คริสต์ศาสนายังไม่แพร่หลาย อาสาสมัครนี้เรียกว่า มิชชันนารี หรือ ธรรมทูต (missionary) มิชชันนารีอาจทำงานกันเป็นกลุ่มเรียกว่ามิสซัง (โรมันคาทอลิก) หรือมิชชัน (โปรเตสแตนต์) (mission) และเรียกสำนักงานของมิชชันว่า สำนักมิสซัง (โรมันคาทอลิก) หรือ ศูนย์มิชชัน (โปรเตสแตนต์)

เมื่อคริสต์ศาสนิกชนในท้องถิ่นมีจำนวนมากพอและมีความสามารถจะปกครองดูแลกันเองได้ มิสซังหรือมิชชันก็จะสลายตัวลงเป็นเพียงผู้ร่วมงานพันธกิจ เพื่อให้คริสตจักรใหม่ของคนในท้องถิ่นนั้นปกครองตนเอง

ในประเทศไทย

แก้

มิสซังโรมันคาทอลิก

แก้

สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 ทรงอนุญาตให้ตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสขึ้นในปี ค.ศ. 1660 เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่มิชชันนารีประกาศข่าวดีในดินแดนตะวันออกไกล คณะมิชชันนารีกลุ่มนี้ได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในอาณาจักรอยุธยาตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้ตั้งมิสซังสยามขึ้นมีสถานะเป็นเขตผู้แทนพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 1662[2] โดยมีมุขนายกหลุยส์ ลาโน เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประมุขมิสซังสยามองค์แรก

การเผยแผ่ศาสนานิกายคาทอลิกดำเนินสืบมาจนสามารถตั้งมิสซังขึ้นอีกหลายแห่งในราชอาณาจักรสยาม เช่น ตั้งมิสซังลาว (ปัจจุบันคือมิสซังท่าแร่) ในปี ค.ศ. 1889[3] ตั้งมิสซังราชบุรีในปี ค.ศ.1941[4] ตั้งมิสซังจันทบุรีในปี ค.ศ. 1944[5] ตั้งมิสซังอุดรธานีและมิสซังอุบลราชธานีในปี ค.ศ. 1953[6][7] ตั้งมิสซังเชียงใหม่ในปี ค.ศ. 1959 ตั้งมิสซังนครสวรรค์ในปี ค.ศ. 1967 ตั้งมิสซังสุราษฎร์ธานีในปี ค.ศ. 1969 และตั้งมิสซังเชียงรายในปี ค.ศ. 2018 ปัจจุบันเขตปกครองของทุกมิสซังได้รับสถานะเป็นมุขมณฑลหมดแล้ว จึงมีสำนักมิสซังคาทอลิกทั้งสิ้น 11 แห่งในประเทศไทย[8]

มิชชันโปรเตสแตนต์

แก้

คริสตจักรคณะต่าง ๆ ในนิกายโปรเตสแตนต์ เช่น เพรสไบทีเรียน คองกริเกชันนัล แบปทิสต์ ได้ส่งมิชชันนารีมาเผยแผ่คริสต์ศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1828[9] จนสามารถตั้งศูนย์มิชชันขึ้นตามหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ ในราชอาณาจักรสยาม และได้รวมศูนย์มิชชันต่าง ๆ นั้นเป็น "มิชชันสยาม" ในปี ค.ศ. 1920 และพัฒนาต่อมาเป็น "คริสตจักรในสยาม" ในปี ค.ศ. 1934[10] เปลี่ยนชื่อเป็น "สภาคริสตจักรในประเทศไทย" จนปัจจุบัน ส่วนมิชชันคณะต่าง ๆ ที่มาจากต่างประเทศและร่วมก่อตั้งสภาคริสตจักรในตอนแรกก็ได้สลายตัวจากการเป็นมิชชัน กลายเป็นผู้ร่วมงานมิชชันของสภาคริสตจักรในปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  1. mission, Cambridge Dictionaries Online
  2. Archdiocese of Bangkok, The Hierarchy of the Catholic Church
  3. Archdiocese of Thare and Nonseng, The Hierarchy of the Catholic Church
  4. Diocese of Ratchaburi, The Hierarchy of the Catholic Church
  5. Diocese of Chanthaburi, The Hierarchy of the Catholic Church
  6. Diocese of Udon Thani, The Hierarchy of the Catholic Church
  7. Diocese of Ubon Ratchathani, The Hierarchy of the Catholic Church
  8. Thailand:Current Dioceses, The Hierarchy of the Catholic Church
  9. ประสิทธิ์ พงศ์อุดม, ประวัติสภาคริสตจักรในประเทศไทย เก็บถาวร 2014-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สภาคริสตจักรในประเทศไทย
  10. ประวัติสภาคริสตจักรในประเทศไทย เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,