รหัสไปรษณีย์ เป็นรหัสที่ทางไปรษณีย์ใช้ในการคัดแยกจดหมายเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งปลายทางแต่ละพื้นที่จะมีการกำหนดรหัสแตกต่างกัน รหัสที่ใช้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สหรัฐอเมริกาจะใช้ตัวอักษรย่อของรัฐสองตัวตามด้วยตัวเลขห้าหลัก เช่น CA 90210 ที่เรียกว่า ZIP code ส่วนประเทศไทยใช้ตัวเลข 5 หลัก ชาติแรกที่ใช้รหัสไปรษณีย์คือประเทศเยอรมนี เมื่อคริสต์ทศวรรษ 1960

รหัสไปรษณีย์ของประเทศไทย แก้

รหัสไปรษณีย์ของไทย เริ่มใช้งานในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ประกอบไปด้วยตัวเลขห้าหลัก โดย

  • หลักแรกแทนภูมิภาค เช่น 1 แทนภาคกลางตอนล่าง 2 แทนภาคตะวันออก เป็นต้น
  • เลขหลักที่สองแทนจังหวัดในภูมิภาคนั้น จะมียกเว้นก็กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการที่ใช้เลข 0 เหมือนกัน
  • หลักที่สามและสี่แทนท้องที่ (ซึ่งมักเป็นอำเภอ) ที่มีไปรษณีย์รับผิดชอบในการนำจดหมายไปส่งยังบ้าน
  • หลักสุดท้ายคือรหัสของที่ทำการไปรษณีย์ในท้องที่นั้น ๆ

ตัวอย่างเช่น 10100 รหัสไปรษณีย์ของเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและสัมพันธวงศ์ ตัวแรกเป็น 1 หมายถึงภาคกลางตอนล่าง ถัดมา 0 คือกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ ถัดมา 10 แทนเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและสัมพันธวงศ์ ส่วน 0 ตัวสุดท้ายแทนที่ทำการไปรษณีย์พลับพลาไชย ซึ่งมีบุรุษไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งถึงบ้านในเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและสัมพันธวงศ์ เรียกไปรษณีย์ดังกล่าวว่าที่ทำการไปรษณีย์รับจ่าย ส่วน 10101 เป็นรหัสไปรษณีย์ของที่ทำการไปรษณีย์ป้อมปราบ ซึ่งอยู่ในท้องที่เดียวกัน ไปรษณีย์ป้อมปราบเป็นที่ทำการไปรษณีย์รับฝาก กล่าวคือเปิดให้บริการรับจดหมายอย่างเดียว ไม่มีการนำจดหมายไปส่งตามบ้าน ดังนั้นในการจ่าหน้าจดหมายถึงผู้รับในเขตทั้งสองตามปกติจะใช้รหัส 10100 แต่จะใช้รหัส 10101 แทนก็ต่อเมื่อต้องการส่งไปยังตู้ไปรษณีย์ หรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ที่ที่ทำการไปรษณีย์ป้อมปราบ

รหัสไปรษณีย์ไทย ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศ ใช้แทนระบบ แขวงไปรษณีย์ ซึ่งริเริ่มในช่วง พ.ศ. 2499-2509 ซึ่งใช้เฉพาะภายในกรุงเทพโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 29 แขวงไปรษณีย์ ได้แก่ แขวงไปรษณีย์กรุงเทพ 1 ไปจนถึง กรุงเทพ 29 ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาในการส่งจดหมายภายในกรุงเทพ จาก 3-4 วันเหลือเพียง 1-2 วัน

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  • ปัญหาแสตมป์ ตอน จดหมายจะถึงไว ถ้าใส่รหัสไปรษณีย์, วารสารตราไปรษณียากร, เมษายน พ.ศ. 2550

แหล่งข้อมูลอื่น แก้