ชุมนุมเจ้าพระฝาง
ชุมนุมเจ้าพระฝาง เป็นชุมนุมอิสระภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2310 โดยมีผู้นำชุมนุมเป็นพระสงฆ์ คือ พระพากุลเถระ[2] (มหาเรือน) พระสังฆราชาแห่งเมืองสวางคบุรี (ฝาง) ชุมนุมดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพมาปราบปราม เมื่อ พ.ศ. 2313
ชุมนุมเจ้าพระฝาง | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2310–2313 | |||||||||
ชุมนุมเจ้าพระฝางในพื้นที่สีม่วง | |||||||||
สถานะ | ราชอาณาจักร | ||||||||
เมืองหลวง | สวางคบุรี | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาไทยถิ่นเหนือ | ||||||||
ศาสนา | ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท | ||||||||
การปกครอง | เทวาธิปไตย | ||||||||
พระมหากษัตริย์ | |||||||||
• 2310–2313 | เจ้าพระฝาง | ||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | ยุคใหม่ | ||||||||
• สถาปนา | พ.ศ. 2310 | ||||||||
• ผนวกชุมนุมพระพิษณุโลก | พ.ศ. 2311 | ||||||||
• สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง | พ.ศ. 2313 | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ |
โดยชุมนุมเจ้าพระฝาง เป็นชุมนุมอิสระสุดท้ายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝางได้นั้น นับเป็นการพระราชสงครามสุดท้ายที่ ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงบรรลุพระราชภารกิจสำคัญ ในการรวบรวมพระราชอาณาเขตให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวดังเดิมหลังภาวะจลาจลเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 และนับเป็นการสถาปนากรุงธนบุรีได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เมื่อสำเร็จศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝาง ในปี พ.ศ. 2313[3]
ประวัติเจ้าพระฝาง
แก้พระพากุลเถระ (เรือน) หรือ "เจ้าพระฝาง" เป็นชาวเหนือ (เวียงป่าเป้า) บวชพระแล้ว ลงมาร่ำเรียนพระไตรปิฎกที่อยุธยา สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เชี่ยวชาญได้ชั้นมหา เรียกตามชื่อเดิมว่า “มหาเรือน”
ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาเรือนเป็นพระราชาคณะ ที่ พระพากุลเถระ คณะฝ่ายอรัญวาสี อยู่วัดศรีโยธยาได้ไม่นาน ก็โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระสังฆราชาเจ้าคณะ และกลับขึ้นไปจำวัดอยู่ที่วัดพระฝาง ณ เมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) มีผู้คนเคารพนับถือมาก ท่านเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องสำคัญไว้ในโบสถ์วัดพระฝางสวางคบุรี
หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 ท่านจึงได้ตั้งตนเป็นเจ้าทั้งที่อยู่ในสมณเพศ แต่ผู้คนก็พานับถือเรียกกันว่า เจ้าพระฝาง หรือ พระเจ้าฝาง เนื่องจากชาวบ้านนับถือว่าเป็นผู้วิเศษ
หลังชุมนุมเจ้าพระฝางแตก เจ้าพระฝางได้หนีไปขึ้นต่อโปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทำให้โปมะยุง่วนได้กำลังจากเจ้าพระฝางเพิ่ม และท่านได้ยุยงให้พม่ายกทัพมาหยั่งเชิงที่เมืองสวรรคโลกในปี พ.ศ. 2313 ซึ่งเป็นการสงครามกับเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกในสมัยธนบุรี และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคิดยกทัพไปยึดเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า แต่หลังจากตีเชียงใหม่ได้แล้วก็ไม่พบเจ้าพระฝางอีกเลยซึ่งเชื่อว่าคงหลบหนีไปได้จนหายสาปสูญ โดยไม่ทราบว่า ท่านมรณภาพที่ใด เมื่อใด
การตั้งชุมนุมเจ้าพระฝาง (ก๊กพระฝาง)
แก้ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 เจ้าพระฝางก็ซ่องสุมผู้คนได้หลายเมือง ตั้งตัวเป็นเจ้า แต่ไม่ยอมสึกจากพระ เปลี่ยนสีจีวรจากสีเหลืองเป็นสีแดง นับเป็นชุมนุมใหญ่ฝ่ายเหนือ ประชาชนเรียกกันว่า “เจ้าพระฝาง”
ปีชวด (พ.ศ. 2311) เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ผู้นำชุมนุมสำคัญถึงแก่พิราลัย พระอินทรอากรผู้น้องขึ้นครองเมือง เจ้าพระฝางยกกองทัพไปตีพิษณุโลก สู้รบกันสามเดือน ชาวเมืองไม่ชอบเจ้าพิษณุโลกองค์ใหม่ แอบเปิดประตูรับกองทัพเจ้าพระฝางเข้าเมือง เมื่อชนะพิษณุโลก ประหารพระอินทรอากรแล้ว เจ้าพระฝางก็สั่งให้ขนทรัพย์สินจากเมืองพิษณุโลก และอพยพผู้คนไปปักหลักอยู่ที่เมืองสวางคบุรี ชื่อเสียงของชุมนุมเจ้าพระฝางก็ยิ่งเลื่องลือระบือไกล
สองปีต่อมา กรมการเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท กราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า เจ้าพระฝางประพฤติเป็นพาลและทุศีลมากขึ้น ตัวยังห่มผ้าเหมือนพระ แต่ประกอบกรรมปาราชิก พวกพระที่เป็นแม่ทัพนายกองก็ออกปล้นข้าวปลาอาหารจากราษฎร เดือดร้อนกันไปทั่ว
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง
แก้ต่อมาหลังจากการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบข่าวเรื่องที่เจ้าพระฝางยกทัพยึดชุมนุมพิษณุโลกได้ และถึงกับส่งกองทัพไปปล้นแย่งชิงข้าวปลาราษฎรลงมาถึงเมืองอุทัยธานี และชัยนาท พระองค์จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบในปี พ.ศ. 2313 โดยมีพระยายมราช (บุญมา) เป็นแม่ทัพหน้า กองทัพหน้าของพระยายมราชได้เข้าโจมตีเมืองพิษณุโลกด่านหน้าของเจ้าพระฝาง ซึ่งมีหลวงโกษา (ยัง) คุมกำลังมาตั้งรับอยู่ภายในคืนเดียว แล้วจากนั้นกองทัพหลวงก็ยกไปตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝางสู้รบได้ 3 วัน เห็นศึกหน้าเหลือกำลังจึงพาพรรคพวกหลบหนีไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นพม่าปกครองอยู่ กองทัพหลวงจึงยึดเมืองสวางคบุรีได้ และยังได้ลูกช้างเผือกซึ่งตกลูกระหว่างศึกมาอีกด้วย
ล่วงมาถึงปีขาล พ.ศ. 2313 มีข่าวมาถึงกรุงธนบุรีว่า เมื่อเดือน 6 ปีขาล เจ้าพระฝางให้ส่งกำลังลงมาลาดตระเวณถึงเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท เป็นทำนองว่าจะคิดลงมาตีกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพ จะยกไปตีเมืองเหนือในปีนั้น
ขณะนั้นพวกฮอลันดาจากเมืองยะกะตรา (จาร์กาตา) ส่งปืนใหญ่มาถวาย และแขกเมืองตรังกานู ก็นำปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย จำนวน 2,000 กระบอก พอเหมาะแก่พระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่จะใช้ทำศึกต่อไปในครั้งนี้
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนทัพเรือ ยกกำลังออกจากกรุงธนบุรี เมื่อวันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8 ไปประชุมพล ณ ที่แห่งใดไม่ปรากฏหลักฐาน จัดกำลังเป็น 3 ทัพ
- ทัพที่ 1 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินไปโดยขบวนเรือมีกำลังพล 12,000 คน
- ทัพที่ 2 พระยาอนุชิตราชา ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช ถือพล 5,000 คน ยกไปทางบกข้างฟากตะวันออกของแม่น้ำแควใหญ่
- ทัพที่ 3 พระยาพิชัย ถือพล 5,000 คน ยกไปทางข้างฟากตะวันตก
ฝ่ายเจ้าพระยาฝาง เมื่อทราบว่ากองทัพกรุงธนบุรียกกำลังขึ้นไปดังกล่าว จึงให้หลวงโกษา (ยัง) ยังคุมกำลังมาตั้งรับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก
กองทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก เมื่อวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 9 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้เข้าปล้นเมืองในค่ำวันนั้น ก็ได้เมืองพิษณุโลก หลวงโกษา (ยัง) หนีไปเมืองเมืองสวางคบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองพิษณุโลกแล้ว กองทัพที่ยกไปทางบกยังขึ้นไปไม่ถึงทั้งสองทัพ ด้วยเป็นฤดูฝนหนทางลำบาก พระองค์ประทับที่เมืองพิษณุโลกอยู่ 9 วัน กองทัพพระยายมราชจึงเดินทางไปถึง
ต่อมาอีก 2 วัน กองทัพพระยาพิชัยราชาจึงยกมาถึง เมื่อกำลังพร้อมแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงให้กำลังทางบก รีบยกตามข้าศึกที่แตกหนีไปยังสวางคบุรี พร้อมกันทั้งสองทาง รับกำลังทางเรือให้คอยเวลาน้ำเหนือหลากลงมาก่อน ด้วยทรงพระราชดำริว่า ในเวลานั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อย หนทางต่อไปลำน้ำแคบ และตลิ่งสูง ถ้าข้าศึกยกกำลังมาดักทางเรือจะเสียเปรียบข้าศึก ทรงคาดการณ์ว่าน้ำจะหลากลงมาในไม่ช้า และก็เป็นจริงตามนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็เสด็จพระราชดำเนินยกกำลังทางเรือขึ้นไปจากเมืองพิษณุโลก
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาพิชัยราชา คุมทัพไปทางตะวันตก ให้พระยายมราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1) คุมทัพไปทางตะวันออก สองทัพสมทบกันโจมตีเมืองสวางคบุรี
สภาพเมืองสวางคบุรี ที่มั่นเจ้าพระฝาง ไม่มีกำแพง มีแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน เจ้าพระฝางสู้ได้สามวันก็แตกพ่ายหนี พาลูกช้างพังเผือกหนีไปด้วย กองทัพพระเจ้ากรุงธนฯ ติดตามไป ได้ช้างพังเผือกคืน ตัวเจ้าพระฝางหายสาบสูญไป
พรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีละครหญิง สมโภชพระประธานวัดสวางคบุรี 7 วัน นับเป็นงานใหญ่เทียบเท่างานสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ที่พิษณุโลก
"เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว ก็เท่ากับได้เมืองเหนือกลับมาทั้งหมด"
พระองค์ได้ประทับจัดการปกครองเมืองเหนืออยู่ตลอดฤดูน้ำ เกลี้ยกล่อมราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็น ให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม จัดการสำรวจไพร่พลในเมืองเหนือทั้งปวง พบว่า
- เมืองพิษณุโลก มีพลเมือง 15,000 คน
- เมืองสวรรคโลก มี 7,000 คน
- เมืองพิชัย รวมทั้งเมืองสวรรคบุรี มี 9,000 คน
- เมืองสุโขทัย มี 5,000 คน
- เมืองกำแพงเพชร และเมืองนครสวรรค์ มีเมืองละ 3,000 คนเศษ
จากนั้นได้ทรงตั้งข้าราชการซึ่งมีบำเหน็จความชอบในการสงครามครั้งนั้นคือ
- พระยายมราช ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช อยู่สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก
- พระยาพิชัยราชา ให้เป็นเจ้าพระยาพิชัยราชา สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก
- พระยาสีหราชเดโชชัย ให้เป็นพระยาพิชัย
- พระยาท้ายน้ำ ให้เป็นพระยาสุโขทัย
- พระยาสุรบดินทร์ เมืองชัยนาท ให้เป็นพระยากำแพงเพชร
- พระยาอนุรักษ์ภูธร ให้เป็นพระยานครสวรรค์
- เจ้าพระยาจักรี (แขก) นั้นอ่อนแอในสงคราม มีรับสั่งให้เอาออกเสียจากตำแหน่งสมุหนายก
- พระยาอภัยรณฤทธิ์ ให้เป็นพระยายมราช และให้บัญชาการกระทรวงมหาดไทยแทนสมุหนายกด้วย
เมื่อจัดการหัวเมืองเหนือเสร็จแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงธนบุรี[4]
ภายหลังการปราบราม
แก้หลังชุมนุมเจ้าพระฝางแตก เจ้าพระฝางได้หนีไปขึ้นต่อโปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทำให้โปมะยุง่วนได้กำลังจากเจ้าพระฝางเพิ่ม และท่านได้ยุยงให้พม่ายกทัพมาหยั่งเชิงที่เมืองสวรรคโลกในปี พ.ศ. 2313[5] ซึ่งเป็นการสงครามกับเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกในสมัยธนบุรี และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคิดยกทัพไปยึดเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า แต่หลังจากตีเชียงใหม่ได้แล้วก็ไม่พบเจ้าพระฝางอีกเลยซึ่งเชื่อว่าคงหลบหนีไปได้จนหายสาปสูญ โดยไม่ทราบว่า ท่านมรณภาพที่ใด เมื่อใด [6]
ดูเพิ่ม
แก้- อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน อนุสรณ์สถานการสิ้นสุดสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในเมืองสวางคบุรี
- เมืองสวางคบุรี
- วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ศูนย์กลางเมืองสวางคบุรีโบราณ
- ชุมนุมพระเจ้าฝาง ชุมนุมอิสระหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
- โบราณสถานวัดคุ้งตะเภา สถานที่เกี่ยวเนื่องกับที่ตั้งค่ายพระตำหนักหาดสูงคราวปราบชุมนุมพระเจ้าฝางตามพระราชพงศาวดาร
- พระฝางจำลอง (พระพุทธรูป) องค์จำลองสร้างใหม่ ที่ประดิษฐานในอุโบสถวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
- พระฝาง (พระพุทธรูป) องค์จริงที่ประดิษฐานในวิหารสมเด็จ วัดเบญจมบพิตร
- บานประตูวิหารวัดพระฝาง บานประตูพุทธศาสนสถานที่มีความสวยงามมากที่สุด 1 ใน 3 คู่ของจังหวัดอุตรดิตถ์
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
แก้- ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
อ้างอิง
แก้- ↑ ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2559). "ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. 2313 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับการปราบ "พวกสงฆ์อลัชชี" ที่เมืองสวางคบุรี," ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 5 มีนาคม
- ↑ Smith, S.J., "Brief Sketches of Siamese History, (Facts from H.S.M. the late King Phra Chaum Klau in 1850," Siam Repository, (October, 1869): หน้า ๒๖๕
- ↑ กิเลน ประลองเชิง. "ชักธงรบ : หลังศึกเจ้าพระฝาง" ไทยรัฐ. 23 มี.ค. 2559. เข้าถึงได้จาก Link
- ↑ _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.). หน้า 49-51
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2478). พงศาวดาร เรื่องไทยรบพะม่าครั้งกรุงธนบุรี. พระนคร : อักษรเจริญทัศน์
- ↑ _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐ เก็บถาวร 2011-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.).