เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา

เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา

พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต)
วัดใหม่เจริญธรรม (อุตรดิตถ์)
เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน
วัดในเขตปกครอง 7 วัด
สำนักสงฆ์ในเขตปกครอง 2 สำนักสงฆ์
พื้นที่ปกครอง ตำบลคุ้งตะเภา และพื้นที่บางส่วนของตำบลผาจุก
นิกาย เถรวาท มหานิกาย
(ในสังกัดการปกครองของมหาเถรสมาคม)

เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา เป็นเขตปกครองของพระภิกษุสงฆ์เถรวาท ฝ่ายมหานิกายระดับตำบล ขึ้นตรงต่อเจ้าคณะเหนือกว่าภายในเขตปกครองคณะสงฆ์อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ตามการแบ่งเขตพื้นที่การปกครองคณะสงฆ์ไทยในกำกับของมหาเถรสมาคม

เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา มีอาณาเขตการปกครองคณะสงฆ์และรับผิดชอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาทครอบคลุมพื้นที่ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ และบางส่วนของตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (ไม่มีวัดธรรมยุติในเขตพื้นที่ปกครองตำบลนี้) ปัจจุบันมีพระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) (วัดใหม่เจริญธรรม) เป็นเจ้าคณะตำบลแห่งนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548

เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา มีสำนักเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับพระสงฆ์ครบสองแผนกทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี โดยมีสำนักเรียนอยู่ที่วัดใหม่เจริญธรรม อันเป็นวัดเจ้าคณะตำบลในปัจจุบัน และมีสำนักศาสนศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ (ธรรมศึกษา) จำนวน 1 แห่ง คือ สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา

ในปัจจุบันเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา ได้ครอบคลุมถึงพื้นที่บางส่วนในตำบลผาจุกด้วย โดยมีวัดในเขตการปกครองจำนวน 7 วัด และ 2 สำนักสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2552 มีพระภิกษุและสามเณรจำพรรษาในวัดในเขตปกครองประมาณ 40 รูป

เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา แก้

ปัจจุบัน พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) วัดใหม่เจริญธรรม (อุตรดิตถ์) เป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา (พ.ศ. 2548 - ปัจจุบัน)

รายชื่อเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แก้

ข้อมูลรายชื่อเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภาตั้งแต่ พรบ.คณะสงฆ์ ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2536
รูป ชื่อ ตำแหน่งทางคณะสงฆ์และเผยแผ่ วุฒิ ปีดำรงตำแหน่ง
เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา
หมายเหตุ
  1. พระครูประดิษฐ์ ฐานกโร น.ธ.เอก พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2539 ลาสิกขาบท
  2. พระครูประดิษฐ์ธรรมธัช
(ธง ฐิติธมฺโม)
  • เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา
    (เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท)
  • เจ้าสำนักศาสนศึกษาตำบลคุ้งตะเภารูปที่ 1
  • คู่สวดกรรมวาจาสังฆกรรม
  • ครูสอนพระปริยัติธรรม
  • ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
  • พระธรรมทายาท (วัดชลประทานรังสฤษดิ์)
  • กรรมการกำกับสนามสอบธรรมสนามหลวง
น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2540 - 2542 ลาออก
จากตำแหน่งเจ้าคณะตำบล
  3. พระครูวิจิตรธรรมรส
(สนั่น วชิรญาโณ)
  • เจ้าอาวาสวัดเขาแก้ว
    (พระครูเจ้าคณะตำบลชั้นเอก)
  • รองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ (ตำแหน่งในปัจจุบัน)
  • พระอุปัชฌาย์
  • ครูสอนพระปริยัติธรรม
  • ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
  • ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลงิ้วงามเขต 1 (อปต.)
น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2543 - 2547 ได้รับเลื่อน
ให้ดำรงตำแหน่ง
รองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
  4. พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต)
  • เจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญธรรม
  • เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา (ตำแหน่งในปัจจุบัน)
  • เจ้าสำนักศาสนศึกษาตำบลคุ้งตะเภารูปที่ 2
  • พระอุปัชฌาย์
  • ครูสอนพระปริยัติธรรม
  • ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
  • ประธานศูนย์พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
  • ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา (อปต.)
น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2548 - ปัจจุบัน ยังคงดำรงตำแหน่ง

อาณาเขตการปกครองคณะสงฆ์ แก้

ในอดีต เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลพระภิกษุสงฆ์เฉพาะในเขตตำบลคุ้งตะเภาเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา อาณาเขตการปกครองสงฆ์ได้เพิ่มไปถึงเขตตำบลผาจุก (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์) บางส่วน

ปัจจุบัน มีวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ทั้งหมด 7 วัด และ 2 สำนักสงฆ์ เรียงตามลำดับปีได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดดังนี้

วัดมีวิสุงคามสีมา แก้

วัดมีวิสุงคามสีมา (อุโบสถ) มีจำนวน 5 วัด คือ

  1. วัดคุ้งตะเภา
  2. วัดป่ากล้วย
  3. วัดป่าสักเรไร
  4. วัดหาดเสือเต้น
  5. วัดใหม่เจริญธรรม

วัดไม่มีวิสุงคามสีมา แก้

วัดไม่มีวิสุงคามสีมา มีจำนวน 2 วัด คือ

  1. วัดหนองปล้อง
  2. วัดบ่อพระ

สำนักสงฆ์ แก้

สำนักสงฆ์ มีจำนวน 2 วัด คือ

  1. ที่พักสงฆ์บ้านเด่นกระต่าย (ตำบลผาจุก)
  2. ที่พักสงฆ์บ้านหนองบัว (ตำบลผาจุก)

พระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา แก้

พระสังฆาธิการเจ้าอาวาส แก้

เจ้าอาวาสวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา มีจำนวน 7 รูป ประจำวัดที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดจำนวน 7 วัด ดังต่อไปนี้

ข้อมูลรายชื่อเจ้าอาวาสวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาในปัจจุบัน พ.ศ. 2552
(เรียงตามลำดับพรรษากาล)
รูป ชื่อ เจ้าอาวาสวัด วุฒิ ปีดำรงตำแหน่ง
เจ้าอาวาส
หมายเหตุ
  1. พระครูประดิษฐ์ธรรมธัช
(ธง ฐิติธมฺโม)
น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2533 อดีตเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา รูปที่ 2
  2. พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2546 เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา รูปที่ 4
  3. พระวินัยธรสมศักดิ์ สิรินฺธโร น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2541
  4. พระครูสุธรรมาจารย์
(พร้อม ธนปาโล)
น.ธ.เอก
  5. พระอธิการชอุ่ม จนทธมฺโม น.ธ.เอก พ.ศ. 2539
  6. พระอธิการบุญธรรม ปุญฺญกาโม น.ธ.เอก
  7. พระสันติ สุทธสีโล น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2551

พระสังฆาธิการระดับรองเจ้าอาวาส แก้

ปัจจุบันในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภามีรองเจ้าอาวาสที่ได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม มีจำนวน 1 รูป ดังนี้

ข้อมูลรายชื่อรองเจ้าอาวาสวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาในปัจจุบัน พ.ศ. 2552
รูป ชื่อ รองเจ้าอาวาสวัด วุฒิ ปีดำรงตำแหน่ง
รองเจ้าอาวาส
หมายเหตุ
  1. พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ
(แสงสิน)
น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2537 เลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ฝ่ายการศึกษาคณะสงฆ์

ข้อมูลทั่วไปภายในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา แก้

การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ แก้

ประวัติการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ แก้

 
คณะนักเรียนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนพระปริยัติธรรมวัดป่ากล้วย ครั้งแรกก่อตั้ง

ก่อนที่จะมีการแยกเขตการปกครองคณะสงฆ์จากตำบลท่าเสามาตั้งเป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลใหม่นั้น คณะสงฆ์ในตำบลคุ้งตะเภามีการศึกษาพระปริยัติธรรมมาก่อนแล้ว โดยในปี พ.ศ. 2500 วัดป่ากล้วยได้เคยเป็นสถานที่ตั้งของสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแห่งแรกของตำบลคุ้งตะเภา โดยได้ก่อตั้งขึ้นตามดำริของพระมหาจรูญ คุตฺตจิตฺโต (พรหมน้อย) ซึ่งทำให้หลังจากนั้นไม่นาน พระมหาปรีชา ปริญฺญาโณ (คืนประคอง) ลูกศิษย์ของพระมหาจรูญที่เป็นคนบ้านป่ากล้วย ได้เข้าอุปสมบทและศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เป็นพระภิกษุเปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นรูปแรกของจังหวัดอุตรดิตถ์[1]

 
กุฎิสงฆ์วัดป่ากล้วย สถานที่ทำการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแห่งแรกในตำบลคุ้งตะเภา (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2499)

และหลังจากนั้นได้มีชาวตำบลคุ้งตะเภาได้เข้ามาอุปสมบทเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมและสอบได้เป็นเปรียญหลายคน จนในปี พ.ศ. 2539 สามเณรสัญญา โปร่งใจ (พระมหาสัญญา ปญฺญาวิจิตฺโต) คนบ้านป่ากล้วย ได้สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคในขณะเป็นสามเณร (ประโยค ๙ นาคหลวง) ขณะอายุได้ 21 ปี (สำนักเรียนวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร) ทำให้ท่านเป็นสามเณรชาวอุตรดิตถ์รูปแรกและรูปเดียวในปัจจุบัน (2552) ที่ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นนาคหลวง อุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งบาลีและนักธรรมสำนักวัดป่ากล้วยได้ล้มเลิกไปเมื่อพระมหาจรูญได้ลาสิกขาบท ทำให้พระสงฆ์และสามเณรที่สนใจศึกษาภาษาบาลีต้องไปศึกษาในสำนักเรียนนอกตำบล โดยส่วนใหญ่จะเข้าศึกษาที่วัดคลองโพธิ์หรือวัดอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ส่วนการศึกษานักธรรมนั้นคงเรียนกันตามวัดตามปกติ โดยจะมีการอบรมก่อนสอบบ้างในวัดเจ้าคณะตำบลท่าเสา ซึ่งจะตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำน่านและต่างตำบลกัน แต่อยู่ในสังกัดเขตปกครองคณะสงฆ์เดียวกัน (เขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลท่าเสา) ซึ่งเมื่อได้มีการแยกเขตการปกครองคณะสงฆ์มาตั้งเป็นตำบลใหม่ในภายหลังแล้ว พระสงฆ์ก็ยังคงทำการเรียนการสอนนักธรรมอยู่ตามวัดของตนตามปกติ โดยไม่มีสำนักเรียนอย่างเป็นทางการที่พระสงฆ์ต้องมารวมตัวกันเรียนในห้องเรียนแต่อย่างใด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 สมัยเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภารูปที่ 4 ได้มีมติที่ประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสในตำบลคุ้งตะเภา โดยดำริของพระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) ตกลงให้ยกวัดใหม่เจริญธรรมในฐานะวัดเจ้าคณะตำบล เปิดทำการสอนห้องเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นในแผนกนักธรรมและบาลี (พ.ศ. 2552) ป็นครั้งแรกหลังจากได้แยกเขตการปกครองคณะสงฆ์มาตั้งเป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลใหม่

การศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ภายในตำบล แก้

 
การเรียนการสอนนักธรรมของคณะสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาในวัดใหม่เจริญธรรม

ตามมติที่ประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสในตำบลคุ้งตะเภา พ.ศ. 2552 โดยดำริของพระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) ตกลงให้วัดใหม่เจริญธรรมในฐานะวัดเจ้าคณะตำบล เปิดทำการสอนห้องเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี โดยยกให้เป็นห้องเรียนแผนกบาลีของคณะสงฆ์ประจำตำบล ทำการเรียนการสอนในระดับชั้นบาลีไวยากรณ์ในระดับพื้นฐาน เนื่องด้วยความขาดแคลนบุคลากร และขาดการสนับสนุนบุคลากรเพิ่มเติมจากวัดคลองโพธิ์ พระอารามหลวง สำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีอันดับ 1 ของเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 5 ที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ในปีแรกห้องเรียนแผนกบาลีของคณะสงฆ์ประจำตำบลคุ้งตะเภา จะอยู่ในฐานะของห้องเรียนทดลอง เพราะมีครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำทำการสอนเพียง 1 รูป (พระมหาสมาน อคฺคปญฺโญ) เท่านั้น[2]

การศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์และคฤหัสถ์ภายในตำบล แก้

การศึกษานักธรรมสำหรับพระสงฆ์ในตำบลคุ้งตะเภา แก้

ตามมติที่ประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสในตำบลคุ้งตะเภา พ.ศ. 2550 พระสงฆ์จากทุกวัดในเขตตำบลคุ้งตะเภาผู้ที่ยังสอบไม่ได้นักธรรมชั้นเอกทุกรูป ต้องเรียนนักธรรมจนกว่าจะสอบไล่ชั้นเอกได้ โดยพระสงฆ์ในเขตตำบลจะศึกษาวิชานักธรรมในช่วงก่อนและในระหว่างพรรษากาล โดยรวมมาเรียนนักธรรมทุกชั้นที่วัดใหม่เจริญธรรมซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะตำบล เมื่อพระสงฆ์รูปใดสอบสนามหลวงไล่ได้ชั้นเอกแล้ว เจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์จะขึ้นทะเบียนพระสงฆ์รูปนั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำอำเภอฯ (ตามมติเจ้าคณะภาค 5) ให้เป็นครูสอนปริยัติธรรม ช่วยเหลืองานคณะสงฆ์ในด้านการศึกษาและช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

การศึกษาธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ในตำบลคุ้งตะเภา แก้
 
สนามสอบธรรมศึกษาหอประชุมโรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา
 
นักเรียนธรรมศึกษาในสำนักศาสนาศึกษาวัดคุ้งตะเภา

การศึกษาแผนกธรรมศึกษาหรือการศึกษาวิชาธรรมของคฤหัสถ์ (ผู้ไม่ใช่นักบวช) ในตำบลคุ้งตะเภานั้น เริ่มจัดการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2540 อันเป็นช่วงแรก ๆ ที่แม่กองธรรมสนามหลวงเปิดโอกาสให้มีการสอบไล่ธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ในต่างจังหวัดขึ้น โดยในช่วงแรก พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ดำเนินการประสานงานไปยังโรงเรียนในเขตตำบลคุ้งตะเภาขอนำพระสงฆ์เข้าสอนจริยธรรมและธรรมศึกษาในโรงเรียน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในครั้งนั้นประสบผลสำเร็จไปด้วยดี มีนักเรียนและผู้สนใจสอบไล่ได้ธรรมศึกษาเป็นจำนวนมาก ต่อมาเจ้าคณะตำบลในขณะนั้นคือ เจ้าอธิการธง ฐิติธมฺโม (อิ่มชม) วัดคุ้งตะเภา เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาธรรมของคฤหัสถ์ดังกล่าว จึงได้ดำเนินการขอจัดตั้ง สำนักศาสนศึกษาประจำตำบลคุ้งตะเภา ขึ้นที่วัดคุ้งตะเภา และต่อมามีการเปลี่ยนเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภาในปี พ.ศ. 2543 จึงเกิดการลักลั่นในการบริหารงานสำนักศาสนศึกษาในระยะหนึ่ง แต่วัดคุ้งตะเภาโดยการนำของพระสมุห์สมชาย ก็ได้จัดการสอนธรรมศึกษาเช่นเดิม โดยดำเนินการและออกทุนดำเนินการเองทั้งหมด และมีผู้สอบไล่ได้ธรรมศึกษาเป็นจำนวนมากทุกปี และในปี พ.ศ. 2549 พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) วัดใหม่เจริญธรรม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา จึงได้จัดเปิดสนามสอบธรรมศึกษาแห่งที่ 5 ของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ที่โรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา เพื่อเป็นสนามสอบสำหรับนักเรียนในสังกัดสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นการเปิดสนามสอบธรรมศึกษาที่ตำบลคุ้งตะเภาเป็นครั้งแรก[3]

การเผยแผ่และสำนักปฏิบัติธรรมประจำตำบล แก้

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ในตำบลคุ้งตะเภา แก้

 
การจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนของคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา

ปัจจุบันวัดในเขตตำบลคุ้งตะเภา (วัดใหม่เจริญธรรม) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ศูนย์พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ในความรับผิดชอบของ พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งมีการจัดโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรมตลอดทั้งปี เช่น การบรรพชาสามเณรเฉลิมพระเกียรติ การอบรมบำบัดผู้ติดยาเสพติด การอบรมปรับสภาพนักเรียน การเข้าค่ายพุทธบุตร ฯลฯ รวมทั้งมีการนำคณะพระสงฆ์ไปให้การอบรมคุณธรรมแก่นักเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งในและนอกจังหวัดอุตรดิตถ์

สำนักปฏิบัติธรรมประจำตำบลคุ้งตะเภา แก้

 
บรรยากาศสำนักปฏิบัติธรรมวัดป่ากล้วย

ตำบลคุ้งตะเภามีสำนักปฏิบัติธรรมประจำตำบล ตามนโยบายของมหาเถรสมาคม จำนวน 1 แห่ง คือ สำนักปฏิบัติธรรมวัดใหม่เจริญธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการปฏิบัติกิจกรรมด้านการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมตลอดทั้งปี โดยคงเป็นสำนักปฏิบัติในนามประจำตำบลเท่านั้น

ปัจจุบันโดยพฤตินัย สำนักปฏิบัติธรรมในเขตตำบลคุ้งตะเภาที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือ สำนักปฏิบัติธรรมวัดป่ากล้วย ตั้งอยู่ที่วัดป่ากล้วย มีสำนักปฏิบัติธรรมแยกเป็นเอกเทศจัดภูมิทัศน์แบบวัดป่า โดยมีพระอาจารย์เฉลิมโชค ฉนฺทชาโต เป็นเจ้าสำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งมีผู้สนใจเข้ามาอุปสมบทและศึกษาปฏิบัติสมาธิภาวนาตลอดทั้งปี สำนักปฏิบัติธรรมนี้มีสำนักอุบาสิกา รับสตรีผู้สนใจเข้ามาบวชถือศีล 8 ด้วย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สตรีได้เข้ามาปฏิบัติธรรมได้ตลอดทั้งปีเช่นกัน

สถานที่ลงอุโบสถสังฆกรรมตามพระวินัยของคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา แก้

ปัจจุบัน คณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาจะลงฟังพระปาฏิโมกข์ตามพระวินัยทุกกึ่งเดือนในช่วงเข้าพรรษา โดยเวียนสถานที่ไปในแต่ละวัดที่มีวิสุงคามสีมา เป็นช่วงที่พระสงฆ์ทั้งตำบลมาลงกระทำสังฆกรรมร่วมกัน ซึ่งเรียงลำดับการลงฟังพระปาฏิโมกข์ตามลำดับจำนวน 6 ลำดับวัดตามรอบกึ่งเดือนตามปฏิทินในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษาดังนี้

ครั้งที่ ภาพวิสุงคามสีมา วัด วัน หมายเหตุ
1   วัดป่ากล้วย วันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
2   วัดใหม่เจริญธรรม (ครั้งที่ 1) แรม 15 ค่ำ เดือน 8 วัดเจ้าคณะตำบล
3   วัดคุ้งตะเภา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9
4   วัดป่าสักเรไร แรม 15 ค่ำ เดือน 9
5   วัดหาดเสือเต้น ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
6   วัดใหม่เจริญธรรม (ครั้งที่ 2) แรม 15 ค่ำ เดือน 10 วัดเจ้าคณะตำบล

อุปัชฌาย์ผู้มีสิทธิทำการบรรพชาอุปสมบทในตำบลคุ้งตะเภา แก้

ปัจจุบัน พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) วัดใหม่เจริญธรรม (อุตรดิตถ์) ได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์ประจำตำบลคุ้งตะเภา มีสิทธิที่จะทำการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรได้ภายในวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา

นอกจากอุปัชฌาย์ประจำตำบลคุ้งตะเภา และเจ้าคณะเหนือขึ้นไปแล้ว พระภิกษุรูปอื่นแม้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์โดยชอบตามกฎมหาเถรสมาคม ไม่มีสิทธิทำการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรผู้จะบวชภายในวัด (วิสุงคามสีมา) ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาได้

 
การบรรพชาอุปสมบทพระสงฆ์ในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา

โดยพระสังฆาธิการเจ้าคณะเหนือกว่าเจ้าคณะตำบลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ที่สามารถให้การอุปสมบทพระสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาได้โดยถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคมนั้นคือ พระครูเกษมธรรมาลังการ (อุดร) วัดหมอนไม้ ในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์, พระเทพปริยัติวิธาน (อำนวย จนฺทสโร) วัดคลองโพธิ์ พระอารามหลวง ในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์, พระธรรมปัญญาภรณ์ (สุชาติ ธมฺมรตโน) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ในตำแหน่งเจ้าคณะภาค 5, สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ในตำแหน่งเจ้าคณะหนเหนือ และสมเด็จพระสังฆราช หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช โดยพระสังฆาธิการเจ้าคณะเหนือกว่าในระดับใดจะมาทำการอุปสมบทได้ เจ้าคณะในระดับรองกว่าเจ้าคณะผู้จะมาเป็นอุปัชฌาย์นั้นต้องทำหนังสือนิมนต์มาเท่านั้น หากทำผิดขั้นตอนจะเป็นการละเมิดจรรยาพระสังฆาธิการ อาจถูกสอบสวนและถูกถอดจากตำแหน่งพระสังฆาธิการได้

อ้างอิง แก้

  1. สภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์. (2539). มุทิตาจิตสามเณร ป.ธ.๙ บ้านป่ากล้วย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง
  2. เทวประภาส มากคล้าย. (2552). แผนงานการปกครองคณะสงฆ์ในเขตตำบลคุ้งตะเภา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒. (เอกสารประกอบการประชุม). อุตรดิตถ์ : สำนักงานเลขานุการเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา. อัดสำเนา
  3. "สนามสอบธรรมศึกษาชั้นตรี-โท-เอก ส่วนภูมิภาค (มหานิกาย)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-03. สืบค้นเมื่อ 2007-11-07.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

17°39′24″N 100°08′55″E / 17.65679°N 100.14849°E / 17.65679; 100.14849