วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา; อักษรโรมัน: Āsāḷha Pūjā) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน
วันอาสาฬหบูชา | |
---|---|
ภาพพระพุทธเจ้าทรงให้โอวาสในสวนกวางที่วัดเจดีย์เหลี่ยม ประเทศไทย | |
ชื่ออื่น | วันพระธรรม |
จัดขึ้นโดย | ชาวพุทธนิกายเถรวาท โดยเฉพาะในกัมพูชา, ลาว, พม่า, ศรีลังกา และไทย |
ประเภท | วันสำคัญในศาสนาพุทธ |
วันที่ | ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 |
วันที่ในปี 2023 | 1 สิงหาคม |
วันที่ในปี 2024 | 20 กรกฎาคม |
วันที่ในปี 2025 | 10 กรกฎาคม |
วันที่ในปี 2026 | 29 กรกฎาคม |
ส่วนเกี่ยวข้อง | Esala Mangallaya และ Kandy Esala Perahera ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวันอาสาฬหบูชาที่ศรีลังกา Chokor Duchen Festival (ในทิเบต) Drukpa Tshe Zhi (ในภูฏาน) |
วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ[2] ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์[3]
การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ในปัญจวัคคีย์ ประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรกในโลก และทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดว่าเป็น"วันพระรัตนตรัย" อีกด้วย
เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)[4] โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501[5] กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล
อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา
ความสำคัญ
วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ" คือเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ซึ่งแตกต่างจาก "พระปัจเจกพุทธเจ้า" ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระธรรม"
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลคนแรก และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นภิกษุองค์แรกในพระศาสนา และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลกดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระสงฆ์"[6]
ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว ซึ่งควรพิจารณาเหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้
- เป็นวันแรกที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาพุทธ
- เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร ประกาศสัจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ
- เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น
- เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
— ประกาศสำนักสังฆนายก เรื่อง กำหนดพิธีอาสาฬหบูชา
ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2501[5]
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชาในพระพุทธประวัติ
หลังจากได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณสัตตมหาสถานโดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์
และในขณะทรงนั่งประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 5 หลังการตรัสรู้ ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้ทรงมานั่งคำนึงว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง คนจะรู้และเข้าใจตามได้ยาก ตามความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์[7] ว่า
... บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้ เพราะธรรมที่เราตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วไป ที่ถูกราคะ โทสะครอบงำอยู่จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย, คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คืออวิชชา) หุ้มไว้มิดทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะของเราที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา) ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย...
— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม
พรหมอาราธนา
ตามความในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย เมื่อพระพุทธองค์ดำริจะไม่แสดงธรรมเช่นนี้ ปรากฏว่าท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบความดังกล่าวจึงคิดว่า[8] "โลกจะเป็นเยี่ยงไรละหนอ เพราะจิตของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม" ท้าวสหัมบดีพรหม จึงเสด็จลงจากพรหมโลกเพื่อมาอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงตัดสินใจที่จะทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้แก่คนทั้งหลาย โดยท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่" จากนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวอาราธนาเป็นนิพนธ์คาถาอีก ใจความโดยสรุปว่า[8]2
... ขณะนี้ ธรรมะที่ไม่บริสุทธิ์ได้เกิดขึ้นในแคว้นมคธมาเนิ่นนาน. ขอให้พระองค์เปิดประตูนิพพานอันไม่ตาย เพื่อสัตว์ทั้งหลายจักได้ฟังธรรมและตรัสรู้ตามเถิด, คนยืนบนยอดเขา ย่อมเห็นได้โดยรอบฉันใด. ข้าแต่พระองค์ พระองค์ย่อมเห็น! พระองค์เห็นเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่จมอยู่ในความทุกข์โศกทั้งปวง ถูกความเกิดแก่เจ็บตายครอบงำอยู่ไหม!. ลุกขึ้นเถิดพระองค์ผู้กล้า! พระองค์ผู้ชนะสงคราม (คือกิเลส) แล้ว!... ขอพระองค์เสด็จจาริกไปในโลกเถิด, ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ที่จะรู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์ มีอยู่แน่นอน!
— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คาถาพรหมอาราธนา2
บุคคลเปรียบบัวสามเหล่า-ตัดสินใจแสดงธรรม
หลังจากพระพุทธองค์ทรงพิจารณาตามคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมที่เชิญให้พระองค์แสดงธรรม พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาตรวจสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ และทรงเห็นว่า สัตว์โลกที่ยังสอนได้มีอยู่ เปรียบด้วยดอกบัว 3 จำพวก พวกที่จักสอนให้รู้ตามพระองค์ได้ง่ายก็มี พวกที่สอนได้ยากก็มี ฯลฯ ดังความต่อไปนี้[9]
... ครั้นอาตมภาพทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา และอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางเหล่า ตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่า ตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี...
— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า
ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์พิจารณาบุคคลเปรียบด้วยบัวสามเหล่าดังกล่าว พระพุทธองค์จึง ทรงตัดสินใจที่จะแสดงธรรม เพราะทรง อาศัยบุคคลที่สามารถตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้เป็นหลัก ดังความที่ปรากฏใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ว่า[10]
... บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้อง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น เพราะเห็นแก่ บุคคลผู้ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนถูกต้องในกุศลธรรม เมื่อไม่ได้เห็นไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลง เราจึงอนุญาตการแสดงธรรมไว้ และก็เพราะ อาศัยบุคคลเหล่านี้เป็นหลักอีกเหมือนกัน จึงจำต้องแสดงธรรมแก่บุคคลประเภทอื่นด้วย...
— อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต คิลานสูตร สูตรที่ ๒
หาผู้รับปฐมเทศนา
หลังจากทรงตั้งพระทัยที่จะนำสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้มาสอนแก่มนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงพิจารณาหาบุคคลที่สมควรจะแสดงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้โปรดก่อนเป็นบุคคลแรก ในครั้งแรกพระองค์ทรงระลึกถึง อาฬารดาบส กาลามโคตร และ อุทกดาบส รามบุตร ก่อน ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระอาจารย์ที่พระองค์ได้เข้าไปศึกษาในสำนักของท่านก่อนปลีกตัวออกมาแสวงหาโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ก็ทรงทราบว่าทั้งสองท่านได้เสียชีวิตแล้ว จึงได้ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ผู้ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์ในระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และทรงทราบด้วยพระญาณว่า ปัญจวัคคีย์พำนักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์จึงตั้งใจเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันเพื่อแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นครั้งแรก[11]
เสด็จสู่พาราณสี-โปรดปัญจวัคคีย์
พระพุทธองค์ใช้กว่า 11 วัน เป็นระยะทางกว่า 260 กิโลเมตร เพื่อเสด็จจากตำบลอุรุเวลา ตำบลที่ตรัสรู้ ไปยังที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ (สถานที่แห่งนี้ชาวพุทธในยุคหลังได้สร้างสถูปขนาดใหญ่ไว้ ปัจจุบันเหลือเพียงซากกองอิฐมหึมา เรียกว่า เจาคันธีสถูป) เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงที่อยู่ของเหล่าปัญจวัคคีย์ในวันเพ็ญเดือน 8 (อาสาฬหมาส) ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จเข้าไปที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแต่ไกล ด้วยเหตุที่ปัญจวัคคีย์รังเกียจว่า "เจ้าชายสิทธัตถะผู้ได้เลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยาหันมาเสวยอาหารเป็นผู้หมดโอกาสบรรลุธรรมได้เสด็จมา" จึงได้นัดหมายกันและกันว่า "พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จักประทับนั่งเอง"
ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปถึงกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์นั้นกลับลืมข้อตกลงที่ตั้งกันไว้แต่แรกเสียสิ้น ต่างลุกขึ้นมาต้อนรับพระพุทธเจ้า รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าจึงประทับนั่งบนอาสนะที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวายไว้
พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร 'จักทำให้เข้าใจแจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์' ที่คนทั้งหลายผู้พากันออกบวชจากเรือนต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง"
แรกทีเดียวพระปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ จึงค้านถึงสามครั้งว่า "แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษ อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ (อุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส) ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐอย่างสามารถได้เล่า"
พระพุทธองค์ตรัสว่า "พวกเธอยังจำได้หรือว่า เราได้เคยพูดถ้อยคำเช่นนี้มาก่อน" และตรัสว่า
... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไรก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่...
— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
ด้วยพระดำรัสดังกล่าว พระปัญจวัคคีย์จึงได้ยอมเชื่อฟังพระพุทธองค์ เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง[12]
ประกาศพระสัจธรรม-แสดงปฐมเทศนา
เมื่อปัญจวัคคีย์ตั้งใจเพื่อสดับพระธรรมของพระองค์แล้ว[14] พระพุทธองค์ทรงจึงทรงพาเหล่าปัญจวัคคีย์ไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันอันร่มรื่น แล้วทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (ฟัง) ซึ่งเรียกว่า "ปฐมเทศนา"[15] เป็นการยังธรรมจักรคือการเผยแผ่พระธรรมให้เป็นไปเป็นครั้งแรกในโลก[16]
พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรุปถึงเนื้อหาของการแสดงพระปฐมเทศนาไว้ในสัจจวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า[17]
... ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี, เป็นพระธรรมจักรที่สมณะพราหมณ์, เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก จะต้านทานให้หมุนกลับไม่ได้ (คือความจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้) ข้อนี้คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก และการทำให้ง่าย ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่ประการ: สี่ประการนั้นได้แก่ ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, และความจริงอันประเสริฐคือทางที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์...
— มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัจจวิภังคสูตร
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแสดงพระปฐมเทศนานี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา" ท่านโกณฑัญญะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้ว
พระพุทธองค์ทรงทราบความที่พระโกณฑัญญะเป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในคำสอนของพระองค์[18] จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" ท่านผู้เจริญ ท่านโกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า "อัญญา" นี้ จึงได้เป็นคำนำหน้าชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ[19]
เมื่อท่านพระโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาบันแล้ว จึงได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์จึงทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"[20]
ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะจึงนับเป็น "พระสงฆ์อริยสาวกองค์แรก" ในพระพุทธศาสนา1 ซึ่งวันนั้นเป็นวันเพ็ญ กลางเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน 8 เป็น วันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือมี "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์" ครบบริบูรณ์[21]
ปัจจุบันสถานที่พระพุทธเจ้าประกาศพระอนุตตรสัจธรรมเป็นครั้งแรก และสถานที่บังเกิดพระสงฆ์องค์แรกในโลก อยู่ในบริเวณที่ตั้งของ ธรรมเมกขสถูป (แปลว่า: สถูปผู้เห็นธรรม) ภายในอิสิปตนมฤคทายวัน หรือ สารนาถในปัจจุบัน
สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชา
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชา เกิดในบริเวณที่ตั้งของ กลุ่มพุทธสถานสารนาถ ภายในอาณาบริเวณของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 9 กิโลเมตรเศษ ทางเหนือของเมืองพาราณสี อันเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ สมัยนั้นแถบนี้อยู่ใน แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล (ในปัจจุบันอยู่ใน รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) ปัจจุบัน สารนาถ จัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 (1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ[22])
เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถเนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย แต่บ้างก็ว่ามาจากศัพท์ว่า สารงฺค+นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง[21][23]
ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระสัจจธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่ และ เจาคันธีสถูป อยู่ไม่ไกลจากสารนาถ เป็นมหาสถูปที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสถานที่พำนักของเหล่าปัญจวัคคีย์ และสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงพบกับเหล่าปัญจวัคคีย์ครั้งแรก ณ จุดนี้ ก่อนที่จะพาไปแสดงปฐมเทศนาในสารนาถ[24]
ความสำคัญและสภาพสารนาถในสมัยพุทธกาล
สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แปลว่า เขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ที่เป็นที่บำเพ็ญตบะของฤษี เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมมันตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์ ทำให้เหล่าปัจจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน
หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว[25] ได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก พระองค์ได้สาวกเพิ่มกว่า 54 องค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระยสะ[26] และบริวารของท่าน 54 องค์[27] ซึ่งรวมถึงบิดามารดาและภรรยาของพระยสะ ที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์และได้ยอมรับนับถือเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกในโลกด้วย[28] ทำให้ในพรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มีพระอรหันต์ในโลกรวม 60 องค์ และองค์พระพุทธเจ้า
นอกจากนี้ ในบริเวณสารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว[29] (เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมเมกขสถูป) ดังปรากฏความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค[30] ว่า
...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน ๒ รูป โดยทางเดียวกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง...
— สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕
และด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้ สารนาถจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้น
ซึ่งในช่วงหลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกจากสารนาถหลังประกาศส่งพระสาวกออกเผยแพร่ศาสนานั้น ไม่ปรากฏในหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามีการสร้างอารามหรือสิ่งก่อสร้างในป่าสารนาถแห่งนี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตคงจะได้มาเริ่มสร้างขึ้นกันในช่วงหลังที่พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมั่นคงในแคว้นมคธแล้ว
สารนาถหลังพุทธกาล
หลังพุทธกาล ประมาณ 300 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมาที่สารนาถ[31] ในปี พ.ศ. 295 ครั้งนั้นพระองค์ได้พบว่ามีสังฆารามใหญ่โตที่สารนาถแล้ว ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการบูรณะและก่อสร้างศาสนสถานเพิ่มเติมในสารนาถครั้งใหญ่ โดยพระองค์ได้สร้างสถูปและสิ่งต่าง ๆ มากมายในบริเวณกลุ่มสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนาและพระธรรมเทศนาอื่น ๆ แก่เบญจวัคคีย์ และหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ในบริเวณสารนาถ เพื่อถวายเป็นอนุสรณียสถานแก่พระพุทธเจ้า
กลุ่มพุทธสถานเหล่านี้ได้เจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คุปตะ ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Chinese traveler Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาราว พ.ศ. 1280 ท่านได้กล่าวไว้ในบันทึกของท่านว่า ท่านได้พบสังฆารามใหญ่โต มีพระอยู่ประจำ 1,500 รูป ภายในกำแพงมีวิหารหลังหนึ่งสูงกว่า 33 เมตร มีบันไดทางขึ้นปูด้วยแผ่นหินกว่า 100 ขั้น กำแพงบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้น ๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารมีสถูปหินอ่อนสูง 70 ฟุต (เสาอโศก) บนยอดเสามีรูปสิงห์สี่ตัวเป็นมันวาวราวกับหยกใสสะท้อนแสง มหาสถูป (ธรรมเมกขสถูป) มีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ทุกช่อง ฯลฯ[32]
กลุ่มพุทธสถานสารนาถได้เจริญรุ่งเรืองสลับกับความเสื่อมเป็นช่วง ๆ ต่อมา จนในที่สุดได้ถูกกองทัพมุสลิมเตอร์กบุกเข้ามาทำลายในปี พ.ศ. 1737[33] ทำให้มหาสังฆารามและพุทธวิหารในสารนาถถูกทำลายล้างและถูกทิ้งร้างไปอย่างสิ้นเชิงในระยะต่อมากว่า 700 ปี เหลือเพียงกองดินและมหาสถูปใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเมกขสถูปและเจาคันธีสถูป ที่เป็นกองสถูปอิฐใหญ่โตมาก[34]
สภาพของสารนาถหลังจากนั้นกลายเป็นกองดินกองอิฐมหึมา ทำให้หลังจากนั้น ชาวบ้านได้เข้ามารื้ออิฐจากสารนาถไปก่อสร้างอาคารในเมืองพาราณสีเป็นระยะ ๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญคือเหตุการณ์ที่ราชาเชตสิงห์ (Chait Singh) มหาราชาแห่งเมืองพาราณสี ได้สั่งให้ชคัตสิงห์อำมาตย์ไปรื้ออิฐเก่าจากสารนาถเพื่อนำไปสร้างตลาดในเมืองพาราณสี (ปัจจุบันตลาดนี้เรียกว่า ชคันคุนช์) โดยได้รื้อมหาธรรมราชิกสถูป ที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชลง และได้พบกับผอบศิลาสีเขียวสองชั้น ชั้นในมีไข่มุก พลอยและแผ่นเงินทองอยู่ปนกับขี้เถ้าและอัฐิ 3 ชิ้น ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชบรรจุไว้ แต่คชัตสิงห์กลับนำกระดูกไปลอยทิ้งที่แม่น้ำคงคา เพราะเชื่อว่าเจ้าของกระดูกในผอบคงจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์เพราะไม่ได้นำกระดูกไปลอยน้ำตามธรรมเนียมฮินดู ในปี พ.ศ. 2337[23]
จนเมื่ออินเดียตกไปอยู่ในความปกครองของอังกฤษในปี พ.ศ. 2420[35] ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องตั้งเจ้าหน้าที่มาขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักโบราณคดี โดยสานงานต่อจากพันเอกแมคแคนซี่ ที่เข้ามาดูแลการขุดค้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2358 ซึ่งใช้เวลากว่าร้อยปีจึงจะขุดค้นสำเร็จในปี พ.ศ. 2465 ในสมัยที่ท่าน เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นหัวหน้ากองโบราณคดีอินเดีย[36] จนช่วงหลังที่ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ได้มาบูรณะฟื้นฟูสารนาถให้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยท่านได้ซื้อที่เพื่อสร้างวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ซึ่งนับเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในบริเวณสารนาถหลังจากถูกทำลาย[37] หลังจากนั้นเป็นต้นมา สารนาถได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา ทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน[21]
จุดแสวงบุญและสภาพของสารนาถในปัจจุบัน
ปัจจุบัน สถานที่แสวงบุญในบริเวณสารนาถได้รับการขุดค้นบ้างเป็นบางส่วน บางส่วนก็ยังคงจมอยู่ใต้ดิน แต่ซากพุทธสถานสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ในพุทธประวัติก็ได้รับการขุดค้นขึ้นมาหมดแล้ว เช่น
- ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาและประกาศส่งพระสาวกไปเผยแพร่พระศาสนา
- ยสสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงพบท่านยสะ ซึ่งต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันตสาวกองค์ที่ 6 ในโลก[38]
- รากฐานธรรมราชิกสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณะสูตร และสถานที่เคยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
- พระมูลคันธกุฏี พระคันธกุฏีที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธองค์ในพรรษาแรก[39]
- ซากเสาพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งหักเป็น 5 ท่อน ในอดีตเสานี้เคยมีความสูงถึง 70 ฟุต และบนยอดเสามีรูปสิงห์ 4 หัวอีกด้วย ปัจจุบันสิงห์ 4 หัว ได้เหลือรอดจากการทำลายและรัฐบาลอินเดียได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ โดยสิงห์ 4 หัวนี้ ได้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย และข้อความจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่จารึกไว้ใต้รูปสิงห์ดังกล่าวคือ "สตฺยเมว ชยเต" (เทวนาครี: सत्यमेव जयते) หมายถึง "ความจริงชนะทุกสิ่ง"[40]) และได้ถูกนำมาเป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศอินเดียอีกด้วย
บริเวณโดยรอบสถานที่สำคัญดังกล่าว มีหมู่พุทธวิหารและซากสถูปมากมายอยู่หนาแน่น แสดงถึงความศรัทธาของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี และนอกจากสถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติแล้ว ผู้มาแสวงบุญยังนิยมมาเยี่ยมชมวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ที่สร้างโดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ พระสงฆ์ชาวศรีลังกา ผู้ฟื้นฟูพุทธสถานสารนาถให้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญเหมือนในอดีต วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบจากรัฐบาลอินเดียและวัดนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากภายในพุทธวิหารอีกด้วย และใกล้กับสารนาถ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ภายในบริเวณสารนาถ ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญคือ ยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศก และพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ซึ่งมีผู้ยกย่องว่ามีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งของโลก[41]
จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันอาสาฬหบูชา (ธรรมเมกขสถูป)
ปัจจุบัน สามารถสันนิษฐานได้ว่าจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันอาสาฬหบูชา คือที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เพราะแม้ในพระไตรปิฎกจะไม่ระบุว่าจุดใดคือที่ตั้งของสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และแม้สารนาถจะถูกทำลายและถูกทอดทิ้งไปนานกว่าเจ็ดร้อยปี แต่ด้วยหลักฐานบันทึกของสมณทูตจีนที่บันทึกไว้[42] และชื่อเรียกของสถูปแห่งนี้ที่มีนามว่า ธรรมเมกขะ ที่แปลว่า "ผู้เห็นธรรม" บอกชัดเจนว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา (ซึ่ง ธรรมเมกขะ เป็นศัพท์จากภาษาบาลีว่า ธมฺม (ธรรม) + อิกข (เห็น) แปลได้ว่า เห็นธรรม หรือสถูปที่อุทิศให้แด่ผู้เห็นธรรม ซึ่งก็ได้แก่พระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรกในโลกนั่นเอง)
สถูปธรรมเมกขะในปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่โตมากที่สุดในสารนาถ แม้สถูปแห่งนี้จะถูกผู้บุกรุกพยายามรื้อถอนทำลายอย่างเป็นระบบหลายครั้ง แต่มหาสถูปองค์นี้ก็ยังคงตั้งอยู่ เป็นโบราณสถานที่เด่นที่สุดในสารนาถจนปัจจุบัน
ปัจจุบัน หลังโบราณสถานสารนาถได้รับการบูรณะ รัฐบาลอินเดียได้มีการเทพื้นซีเมนต์รอบธรรมเมกขสถูปและตกแต่งบริเวณโดยรอบเป็นสวนหย่อม เป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การเจริญจิตภาวนาและปฏิบัติธรรม
-
กวางที่รัฐบาลอินเดียเลี้ยงไว้ เพื่อรำลึกถึงสารนาถที่เคยเป็นสวนกวางในอดีต
-
อักษรพราหมี บนเสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช
-
กลุ่มพุทธสถานโบราณในสารนาถ
-
เจาคันธีสถูป สถานที่ ๆ พระพุทธเจ้าพบปัญจวัคคีย์
-
ซากเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชที่ถูกทุบทำลาย
-
ซากฐานเจดีย์ธรรมราชิกสถูป สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดปัญจวัคคีย์ ทำให้ปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์
-
ยสสถูป สถานที่พระยสเถระบรรลุพระอรหันต์ (พระอริยสาวกองค์ที่ 6) พร้อมกับบิดาของท่านที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นอุบาสกคนแรกของโลก
-
หัวสิงห์ยอดเสาอโศกในสารนาถ โบราณวัตถุที่สำคัญที่สุดของอินเดีย หัวสิงห์นี้ถูกใช้เป็นตราแผ่นดินของอินเดียในปัจจุบัน
-
วัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ สร้างโดยพระสงฆ์ศรีลังกา (อนาคาริก ธรรมปาละ) เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
-
พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ภายในวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น[43]
โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันอาสาฬหบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20.00 น. โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันอาสาฬหบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้
- บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
- บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
- บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
- บทสวดพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรบาลี (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:เอวัมเม สุตัง เอกัง ฯลฯ) (ฟัง)
- บทสวดบูชาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:ยะมัมหะ โข มะยัง ฯลฯ)
จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี
หลักธรรมในวันอาสาฬหบูชา
เนื่องด้วย วันอาสาฬหบูชา มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงขึ้นในโลก และได้ทรงแสดงเป็นครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชานี้ หลักธรรมสำคัญในพระสูตรบทนี้จึงเป็นธรรมะสำคัญที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปพิจารณาและทำความเข้าใจ และอาจจะเรียกได้ว่าหลักธรรมในพระสูตรดังกล่าวเป็นหลักธรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชา[44] ซึ่งเนื้อหาในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มี 3 ตอน ดังนี้
สิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง
ส่วนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค กล่าวคือทรงแสดงสิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง อันได้แก่ การปฏิบัติตนย่อหย่อนสบายกายเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค) และการปฏิบัติตนจนทรมานกายเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค) คือทรงแสดงการปฏิเสธลักษณะของลัทธิทั้งปวงที่มีในสมัยนั้นดังนี้
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
- การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1
- การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1"
— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
การที่พระพุทธองค์ตรัสปฏิเสธแนวทางสองอย่างดังกล่าวมาในขณะเริ่มปฐมเทศนา เพื่อแสดงให้รู้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้พ้นจากทุกข์ด้วยการแก้ปัญหานอกกายคือ หนีความทุกข์ด้วยการมัวแต่แสวงหาความสุข (หนีความทุกข์อย่างไม่ยั่งยืน เพราะต้องแสวงหามาปรนเปรอตัณหาไม่สิ้นสุด) หรือหาทางพ้นทุกข์ด้วยการกระทำตนให้ลำบาก (สู้หรืออยู่กับความทุกข์อย่างโง่เขลา ขาดปัญญา ทำตนให้ลำบากโดยใช่เหตุ) เพื่อที่จะทรงขับเน้นหลักการที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงต่อไปว่า มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากแนวคิดพ้นทุกข์เดิม ๆ ซึ่ง เป็นการประกาศแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก อันได้แก่การแก้ทุกข์ที่ตัวต้นเหตุ คือ แก้ที่ภายในใจของเราเอง คือ มัชฌิมาปฏิปทา ของพระพุทธองค์
มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)
สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในปฐมเทศนาต่อมาคือ มัชฌิมาปฏิปทา คือ หลังจากทรงกล่าวปฏิเสธแนวทางพ้นทุกข์แบบเดิม ๆ แล้ว ได้ทรงแสดงเสนอแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง คือ การปฏิบัติที่ไม่สุดตึงด้านใดด้านหนึ่ง อันได้แก่การดำเนินตามมรรคมีองค์ 8 ซึ่งควรพิจารณาจากข้อความจากพระโอษฐ์โดยตรง ดังนี้
"ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตา ให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั้น เป็นไฉน?
ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ 8 นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1"
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
อริยสัจสี่
สุดท้ายทรงแสดงสิ่งที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้ คือทรงแสดงอริยสัจ 4 ประการ และ "กิจ" ที่ควรทำในอริยสัจ 4 ประการ เพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ โดยแก้ที่สาเหตุของทุกข์ กล่าวคือ ทุกข์ ควรรู้ สมุทัย ควรละ นิโรธ ควรทำให้แจ้ง มรรค ลงมือปฏิบัติ
โดยข้อแรกคือ ทุกข์ ในอริยสัจทั้งสี่ข้อนั้น ทรงกล่าวถึงสิ่งเป็นความทุกข์ทั้งปวงในโลกไว้ดังนี้
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ ก็เป็นทุกข์ ความตาย ก็เป็นทุกข์ การเจอสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์"
— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าการ ยึดถือ ในสิ่งทั้งปวงนั่นเองเป็น "สาเหตุแห่งความทุกข์" คือ
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ "ตัณหา" อันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา."
— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าทุกข์สามารถดับไปได้ โดยการ ดับที่ตัวสาเหตุแห่งทุกข์ คือ ไม่ยึดถือว่ามีความทุกข์ หรือเราเป็นทุกข์ กล่าวคือ สละถอนเสียซึ่งการถือว่ามีตัวตน อันเป็นที่ตั้งของความทุกข์ (เมื่อไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในใจว่าตนนั้นมี "ตัวตน" ที่เป็นที่ตั้งของความทุกข์ ทุกข์ย่อมไม่มีที่ยึด จึงไม่มีความทุกข์[45]) ดังนี้
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือ "หมดราคะ" "สละ" "สละคืน" "ปล่อยไป" "ไม่พัวพัน"."
— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถึงผลของการปฏิบัติกิจในศาสนาแล้ว จึงได้ตรัสแสดงมรรค คือวิธีปฏิบัติตามทางสายกลางตามลำดับ 8 ขั้น เพื่อหลุดพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง คือ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1
— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
โดยสรุป พระพุทธองค์ตรัสเรียงวิธีแก้ทุกข์ โดยแสดงให้เห็นปัญหา (ทุกข์) สาเหตุของปัญหา (สมุทัย) และจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาคือการดับทุกข์ (นิโรธ) โดยทรงแสดงวิธีปฏิบัติ (มรรค) ไว้ท้ายสุด เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ทราบจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติก่อน เพื่อการเข้าใจไม่ผิด และจะได้ปฏิบัติโดยมุ่งไปยังจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้โดยไม่คลาดเคลื่อน
การประกอบพิธีอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย
วันอาสาฬหบูชาได้รับการกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรี (มหาเถรสมาคม) ในสมัยนั้น ได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา (ในประเทศไทย) ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) [4] โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501[5]
ไม่ปรากฏหลักฐานในประเทศไทยว่าในสมัยก่อน พ.ศ. 2501 เคยมีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชามาก่อน ทำให้การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของสำนักสังฆนายกในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดแบบแผนการประกอบพิธีนี้อย่างเป็นทางการ โดยหลังจากปี พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมใจกันประกอบพิธีนี้กันอย่างกว้างขวางและแพร่หลายไปทุกจังหวัด จนกลายเป็นพิธีสำคัญของพุทธศาสนิกชนไทยตั้งแต่นั้นมา ดังนั้นในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงได้ลงมติให้ประกาศกำหนดเพิ่มให้วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีไม่มีอธิกมาส) และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง (ในปีมีอธิกมาส) เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีก 1 วัน[1] เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับวันสำคัญยิ่งของชาวพุทธนี้และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่จะไปประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วยอีกประการหนึ่ง
วันอาสาฬหบูชาในปฏิทินสุริยคติไทย
อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่นับถือพุทธศาสนาอาจกำหนดวันไม่ตรงกับของไทยในบางปี เนื่องจากประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งบนโลกที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไป[46]
ปี | วันที่ | วันที่ | วันที่ |
---|---|---|---|
ปีชวด | 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 | 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 | 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 |
ปีฉลู | 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 | 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 | 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 |
ปีขาล | 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 | 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 | 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 |
ปีเถาะ | 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 | 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2566 |
ปีมะโรง | 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 | 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555 | 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 |
ปีมะเส็ง | 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 | 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 | 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 |
ปีมะเมีย | 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 | 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 | 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2569 |
ปีมะแม | 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 | 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 | 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2570 |
ปีวอก | 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 | 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 | 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2571 |
ปีระกา | 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 | 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 | 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2572 |
ปีจอ | 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 | 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 | 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2573 |
ปีกุน | 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 | 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 | 3 สิงหาคม พ.ศ. 2574 |
การประกอบพิธีทางศาสนาในวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
พระราชพิธี
การพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชานี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา[47] ซึ่งเดิมก่อน พ.ศ. 2501 เรียกเพียง การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันเข้าพรรษา[48] แต่หลังจากมีการกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2501 แล้ว[5] สำนักพระราชวังจึงได้กำหนดเพิ่มวันอาสาฬหบูชาเพิ่มเติมขึ้นมา[49] การพระราชพิธีนี้โดยปกติมี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล[50] และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน[51] โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีหลักจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และภายในพระบรมมหาราชวัง การสำคัญของพระราชพิธีคือการถวายพุ่มเทียนเครื่องบูชาแก่พระพุทธปฏิมาและพระราชาคณะ รวมทั้งการพระราชทานภัตตาหารแก่พระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ซึ่งรับอาราธนามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังจำนวน 150 รูป ทุกปี[52] เป็นต้น ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พิธีสามัญ
การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชาของประชาชนทั่วไปนี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยโดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่าง ๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
โดยแนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชาตามประกาศสำนักสังฆนายก[5] ที่คณะสงฆ์ไทยได้ถือเป็นแบบแผนมาจนถึงปัจจุบันนี้คือ ให้คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนจัดเตรียมสถานที่ก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา โดยมีการทำความสะอาดวัด และเสนาสนะต่าง ๆ จัดตั้งเครื่องพุทธบูชา ประดับธงธรรมจักร และเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก็ให้จัดการแสดงพระธรรมเทศนาตลอดทั้งวัน เมื่อถึงเวลาค่ำให้มีการทำวัตรสวดมนต์และสวดบทพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร มีการแสดงพระธรรมเทศนาในเนื้อหาเรื่องในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร นำสวดบทสรภัญญะบูชาคุณพระรัตนตรัย และให้พระสงฆ์นำเวียนเทียนบูชาพระพุทธปฏิมา อุโบสถ หรือสถูปเจดีย์ เมื่อเสร็จการเวียนเทียนอาจให้มีการเจริญจิตตภาวนา สนทนาธรรม แต่กิจกรรมทั้งหมดนี้ควรให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา 24.00 น. ของวันนั้น เพื่อพักผ่อนเตรียมตัวก่อนเริ่มกิจกรรมวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) ในวันรุ่งขึ้นต่อไป
การประกอบพิธีวันอาสาฬหบูชาในปัจจุบันนี้นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตรฯ ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันอาสาฬหบูชา เป็นต้น
การจัดสร้างตราไปรษณียากรที่ระลึกวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
นอกจากภาครัฐจะประกาศให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดราชการและให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในวันอาสาฬหบูชาแล้ว ยังได้เคยมีการจัดพิมพ์จำหน่ายตราไปรษณียกรที่ระลึกในวันอาสาฬหบูชาอีกด้วย โดยจะให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันเริ่มจำหน่ายตราไปรษณียกร ซึ่งรูปแบบที่จัดพิมพ์ลงในตราไปรษณียกรที่ระลึกวันอาสาฬหบูชานั้น ส่วนใหญ่จะจัดพิมพ์เป็นรูปพระพุทธประวัติ[53] หรือพระพุทธรูป[54][55] มีบ้างที่จัดพิมพ์เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องชาดก[56]
โดยตราไปรษณียากรชุดวันอาสาฬหบูชานี้ รัฐบาลไทยได้เริ่มจัดพิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึกและร่วมเฉลิมฉลองในฐานะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537[54] แต่ไม่ได้มีการจัดพิมพ์ออกจำหน่ายทุกปีดังเช่นวันวิสาขบูชา[57][58] และปรากฏว่าภาพที่นำมาตีพิมพ์ส่วนใหญ่ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวันอาสาฬหบูชาแต่อย่างใด เช่น ตีพิมพ์เป็นภาพพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร นิทานมโหสถชาดก เป็นต้น โดยปรากฏภาพที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับวันอาสาฬหบูชาในไปรษณียากรที่ออกจำหน่ายเนื่องในโอกาสอื่นแทน เช่น วันเด็กแห่งชาติ[59] เป็นต้น
ตราไปรษณียากรที่ตีพิมพ์ภาพที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับวันอาสาฬหบูชาเท่าที่ปรากฏในประเทศไทย คือตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดวันเด็กแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2539 โดยในครั้งนั้นตีพิมพ์เป็น 1 ราคา มี 3 แบบ ด้วยกัน โดยแต่ละแบบเป็นรูปภาพเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย คือ ภาพวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ซึ่งภาพที่ตีพิมพ์รูปภาพวันอาสาฬหบูชาในครั้งนั้น เป็นตราไปรษณียากรราคาจำหน่าย 2 บาท เป็นรูปวาดผลงานของเด็กนักเรียนที่ชนะการประกวด โดยเป็นรูปวาดพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี มีรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ด้านซ้ายของรูปบนพระแท่นดอกบัวใต้ร่มไม้ใหญ่ ข้าง ๆ มีรูปกวางแสดงถึงสวนป่าสารนาถตามตำนานป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ด้านขวาล่างมีรูปฤๅษีเบญจวัคคีย์ในชุดฤๅษี 4 ท่าน และรูปพระโกณฑัญญะในชุดพระสงฆ์ 1 องค์ นั่งพนมมือสดับพระปฐมเทศนา แสดงถึงการอุบัติของพระสงฆ์องค์แรกในโลกครบเป็นองค์พระรัตนตรัย ด้านบนกลางภาพเป็นรูปพระธรรมจักรเปล่งรัศมี แสดงถึงการเริ่มประกาศพระสัจจธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขอบด้านซ้ายมีคำว่า "วันเด็กแห่งชาติ ๒๕๓๙ CHILDREN'S DAT 1996" มุมขวาล่างมีคำว่า "2 บาท BAHT" ทั้งหมดพิมพ์เป็นชนิดราคา 2 บาท มีราคาเดียวเท่านั้น ซึ่งกล่าวได้ว่าแม้ตราไปรษณียากรดังกล่าวจะไม่ใช่ตราไปรษณียากรที่ตีพิมพ์เนื่องในวันอาสาฬหบูชาโดยตรง แต่ก็เป็นตราไปรษณียากรไทยรูปแบบเดียวที่ตีพิมพ์ภาพที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับวันอาสาฬหบูชามากที่สุดเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน
การจัดงานเฉลิมฉลองอาสาฬหบูชาในต่างประเทศ
การที่วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่พึ่งถูกกำหนดมาไม่นานนัก และถูกกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะสงฆ์ไทยเท่านั้น ความนิยมอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชนในการให้ความสำคัญกับการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาในวันนี้จึงยังคงมีจำกัดเฉพาะอยู่ในประเทศไทย
ส่วนในประเทศที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นศาสนาหลักอื่น ๆ เช่น ศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาในฐานะวันสำคัญของรัฐหรือวันหยุดราชการของประเทศ[60][61][61][62] และไม่นิยมปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาในวันนี้โดยให้ความสำคัญเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาเลย แต่พุทธศาสนิกชนในประเทศเหล่านั้นก็ได้ถือวันนี้เป็นวันทางพระพุทธศาสนาตามปกติอยู่แล้ว เนื่องจากวันอาสาฬหบูชาเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 อันเป็นวันอุโบสถ หรือวันพระใหญ่ตามปกติของนิกายเถรวาท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายก่อนวันเริ่มต้นเทศกาลเข้าพรรษาตามปฏิทินจันทรคติของพระสงฆ์เถรวาท พิธีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนเถรวาทในประเทศเหล่านั้นจึงให้ความสำคัญในวันนี้ไปกับการเตรียมตัวเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ เช่น ในประเทศลาว วันนี้จะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปทำบุญตักบาตรและมีการถวายเทียนพรรษาผ้าอาบน้ำฝนเป็นพิเศษ ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่พุทธศาสนิกชนจะจัดงานถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือวันเข้าพรรษาโดยตรง
แม้ว่าชาวพุทธในประเทศอื่นจะไม่ให้ความสำคัญกับการจัดงานวันอาสาฬหบูชาในฐานะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนาและเป็นวันที่เกิดพระรัตนตรัยครบองค์ 3 แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันการจัดพิธีเฉลิมฉลองวันอาสาฬหบูชาในต่างประเทศ ก็มีการจัดขึ้นบ้างตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยส่วนใหญ่จะจัดโดยคนไทยในวัดไทย ซึ่งจะจัดต่อเนื่องกันไปสองวัน คืองานวันอาสาฬหบูชาต่อด้วยงานวันเข้าพรรษาเช่นเดียวกับในประเทศไทย[63] การจัดงานจะมีการทำบุญใส่บาตร และมีการเวียนเทียนรอบศาสนสถานสำคัญของวัดเหมือนประเทศไทย แต่การเวียนเทียนส่วนใหญ่จะจัดในเวลากลางวันของวันอาสาฬหบูชา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ตามวัดไทยที่ยังไม่มีเจดีย์สถานหรืออุโบสถ วิหารภายในวัดก็จะจัดพิธีเวียนเทียนรอบพระพุทธรูป หรือเดินเวียนรอบวัดหรือที่พักสงฆ์แทน[64] และอาจกล่าวได้ว่าการจัดงานดังกล่าวตามวัดไทยในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นเพียงการจัดโดยคนไทยที่จัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์ประเพณีและไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากนักในหมู่ชาวต่างประเทศ และผู้ร่วมพิธีจะเป็นกลุ่มชาวไทยและพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดเท่านั้น
เชิงอรรถ
หมายเหตุ 1: พระสงฆ์ที่อุปสมบทในช่วงแรกหลังพระพุทธเจ้าประกาศปฐมเทศนา นอกจากท่านพระโกณฑัญญะเถระที่เป็นพระสงฆ์องค์แรกแล้ว คือ กลุ่มปัญจวัคคีย์ที่เหลือ ได้แก่พระวัปปะเถระ พระภัททิยะเถระ พระมหานามะเถระ และพระอัสสชิเถระ และนอกจากนี้ยังมีท่านพระยสะเถระ บุตรแห่งตระกูลมหาเศรษฐีเมืองพาราณสี[38] และบรรดาสหายของท่านที่เป็นบุตรแห่งมหาเศรษฐีอีก 45 ท่าน ในจำนวนนั้นทราบชื่อ 4 ท่าน[65] คือ พระวิมละเถระ, พระสุพาหุเถระ, พระปุณณชิเถระ และพระควัมปติเถระ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์รุ่นแรกในพระพุทธศาสนา รวมช่วงแรกแห่งการเผยแพร่ศาสนาของพระพุทธองค์ มีพระอรหันต์ (รวมพระพุทธเจ้า) อุบัติขึ้นในโลกทั้งสิ้น 61 องค์[66]
หมายเหตุ 2: คาถาพรหมอาราธนาดังกล่าว เป็นคาถาพระพุทธพจน์ที่มาจากพระโอษฐ์โดยตรง ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เป็นคาถาที่เป็นที่มาของพิธีกล่าวคำอาราธนาธรรมของทายกก่อนพระสงฆ์เทศนาธรรมในปัจจุบัน ซึ่งคาถาของพระพรหมจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าจะมีความยาวของคาถามากกว่าคาถาอาราธนาธรรมที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน (บทบาลีที่ขึ้นต้นด้วย: พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ ฯเปฯ|ฟัง เก็บถาวร 2015-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) โดยคาถาอาราธนาธรรมที่แพร่หลายและใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนั้นเป็นคาถาที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธวงศ์ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 33[67] มีความยาวโดยย่อกว่าและเป็นคำกล่าวโดยคาถาประพันธ์ของพระสาวกในชั้นหลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าคาถาอาราธนาธรรมที่รู้จักกันทั่วไปนี้เป็นคาถาของพระพรหม แต่ที่จริงแล้วเป็นคาถาที่พระสาวกพรรณาการอาราธนาธรรมของพระพรหมเท่านั้น หาใช่คำจากโอษฐ์ของท้าวสหัมบดีพรหมแต่อย่างใด
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ ๑๔ ) พ.ศ. ๒๕๐๕, เล่ม ๗๕, ตอน ๕๒, ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕, หน้า ๑๓๗๕
- ↑ มธุรัตถวิลาสินี - สันติเกนิทานกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ โคตมพุทธวงศ์. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 9-7-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ 4.0 4.1 การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย. เว็บไซต์กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาธรรมจักรดอตเน็ต
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักสังฆนายก เรื่อง กำหนดพิธีอาสาฬหบูชา, เล่ม ๗๕, ตอน ๕๗, ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑, หน้า ๒๑๖๙
- ↑ สุรีย์ มีผลกิจและวิเชียร มีผลกิจ. พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คอมฟอร์ม, ๒๕๒๕.
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงมีความขวนขวายน้อย. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 24-6-52
- ↑ 8.0 8.1 พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ท้าวสหัมบดีพรหมทูลอาราธนา. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 24-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [5]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต คิลานสูตร สูตรที่ ๒. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [6]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงปรารภถึงคนที่จะทรงแสดงธรรมก่อน. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [7]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เสด็จเข้าไปหาพระปัญจวัคคีย์. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [8]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ อิสิปตนมฤคทายวัน สมัยหลังพุทธกาล เก็บถาวร 2009-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ห้องสมุดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. [ออนไลน์]. เรียกข้อมูลเมื่อ 12-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ปาสราสิสูตร (ม.มู. ๑๒/๓๒๖). พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [9]. เข้าถึงเมื่อ 11-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ปฐมเทศนา. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [10]. เข้าถึงเมื่อ 11-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก โคตมพุทธวงศ์ที่ ๒๕ (ว่าด้วยพระประวัติพระโคตมพุทธเจ้า). พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [11]. เข้าถึงเมื่อ 11-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัจจวิภังคสูตร. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [12]. เข้าถึงเมื่อ 11-6-52
- ↑ อรรถกถาพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย อุทาน จูฬวรรคที่ ๗ ตัณหักขยสูตร อรรถกถาตัณหักขยสูตรที่ ๖. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [13]. เข้าถึงเมื่อ 11-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ธัมมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒ ตถาคตสูตรที่ ๑ (ทรงแสดงพระธรรมจักร). พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [14]. เข้าถึงเมื่อ 11-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ปัญจวัคคีย์ทูลขอบรรพชาอุปสมบท. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [15]. เข้าถึงเมื่อ 11-6-52
- ↑ 21.0 21.1 21.2 พระราชรัตนรังสี (ว.ป.วีรยุทโธ).สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,____.
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สังเวชนียสูตร. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [16]. เข้าถึงเมื่อ 11-6-52
- ↑ 23.0 23.1 ไพโรจน์ คุ้มไพโรจน์.ตามรอยบาทพระศาสดา. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ธรรมสภา, 2539.
- ↑ ศรีกิตติโสภณ (สุกิตติ) , พระ. มหาชนบท 16 แคว้นในชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล และจดหมายเล่าเรื่องอนาคาริกธรรมปาละ. กรุงเทพมหานคร : ไม่ปรากฏชื่อสถานที่พิมพ์, ๒๕๓๙
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [17]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ เรื่องยสกุลบุตร. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [18]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของพระยสออกบรรพชา. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [19]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสได้ธรรมจักษุ. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [20]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มารสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ ทุติยปาสสูตรที่ ๕. อรรถกถาพระไตรปิฎก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [21]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [22]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ เสฐียร พันธรังษี. พุทธสถานในชมพูทวีป. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ยูไนเต็ด โปรดั๊กชั่น, ๒๕๒๘
- ↑ Description of Sarnath - บันทึกการเดินทางในสารนาถ เก็บถาวร 2008-09-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บันทึกการจาริกแสวงบุญของสมณะฟาเหียน Faxian (399-414 AC). เรียกข้อมูลเมื่อ 10-6-52 (อังกฤษ)
- ↑ อมตานันทะ,พระ และคณะ.เอกสารโครงการค้นคว้าพุทธสถานในแดนพุทธองค์ทางวิชาการ. กรุงเทพมหานคร : เอกสารตีพิมพ์ถ่ายสำเนาจากต้นฉบับ, ม.ป.ป.
- ↑ สมัย สิงห์ศิริ (ผู้แปล). พระพุทธศาสนาในชมพูทวีป. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ ประพาสต้น, 2504.
- ↑ "History : Indian Freedom Struggle (1857–1947)" เก็บถาวร 2009-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. National Informatics Centre (NIC). http://india.gov.in/knowindia/history_freedom_struggle.php เก็บถาวร 2009-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 2007-10-03. "And by 1856, the British conquest and its authority were firmly established." (อังกฤษ)
- ↑ Cunningham, A. (1848) Essay on the Aryan Order of Architecture, as exhibited in the Temples of Kashmir, Calcutta
- ↑ พระราชธรรมมุนี (เกียรติ สุกิตฺติ). จดหมายเล่าเรื่องอนาคาริกธรรมปาละ. กรุงเทพ 2543
- ↑ 38.0 38.1 พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ยสบรรพชา. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [23]. เข้าถึงเมื่อ 26-6-52
- ↑ มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์ การอยู่จำพรรษาของพระพุทธเจ้า. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [24]. เข้าถึงเมื่อ 9-7-52
- ↑ "State Emblem -Inscription" เก็บถาวร 2009-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. National Informatics Centre (NIC). http://www.india.gov.in/knowindia/state_emblem.php. Retrieved on 2007-06-17.
- ↑ ที.ดับบลิว.ริส.เดวิสส์ แต่ง, สมัย สิงหศิริ แปลและเรียบเรียง, “พระพุทธศาสนา ในชมพูทวีป”. กรุงเทพ: สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยมหาวิทยาลัย. พ.ศ. 2515
- ↑ เคงเหลียน สีบุญเรือง. “พระถังซัมจั๋ง”. มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์. กรุงเทพฯ: ไม่ทราบสำนักพิมพ์. พ.ศ. 2484
- ↑ วันสำคัญของเรา, กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. 2520, หน้า 6
- ↑ วันอาสาฬหบูชากับแนวปฏิบัติตามคุณธรรมศาสนา เก็บถาวร 2008-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ เทวประภาส ญาณเมธี. พุทธพจน์บรมธรรมปฐมภาค (ภาค ๑). กรุงเทพ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พ.ศ. 2551
- ↑ ปัณณวัฒน์. ปฏิทิน 100 ปี พ.ศ. 2468-2568 คัมภีร์พยากรณ์คู่บ้าน. กรุงเทพฯ : ไพลิน, 2550. ISBN 974-455-535-1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๑๑/๒๕๔๕ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๔๕ เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙, ตอน พิเศษ ๖๗ ง , ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕, หน้า ๓๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ พระราชกุศลเข้าวรรษา ๒๔๙๙, เล่ม ๗๓, ตอน ๕๗, ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๒๐๖๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๑๒/๒๕๐๑ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศการเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๐๑, เล่ม ๗๕, ตอน ๕๘ ง ฉบับพิเศษ, ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๑๔/๒๕๓๙ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๙, เล่ม ๑๑๔, ตอน พิเศษ ๖๑ ง, ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐, หน้า ๘๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๑๗/๑/๒๕๕๑ หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๑ (ฉบับเปลี่ยนแปลง), เล่ม ๑๒๕, ตอน ๑๔ ข , ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๑๙๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๑๓/๒๕๔๖ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๔๖ เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐, ตอน พิเศษ ๗๖ ง, ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖, หน้า ๗๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรชุดวันอาสาฬหบูชา, เล่ม ๑๑๑, ตอน ๖๒ ง, ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๑๕๓๗, หน้า ๔
- ↑ 54.0 54.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรชุดวันสำคัญทางพุทธศาสนา (วันอาสาฬหบูชา), เล่ม ๑๑๗, ตอน ๗๒ ง, ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓, หน้า ๑๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรชุดวันสำคัญทางพุทธศาสนา (วันอาสาฬหบูชา) เก็บถาวร 2015-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐, ตอน ๕๖ ง, ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖, หน้า ๑๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรชุดวันสำคัญทางพุทธศาสนา (วันอาสาฬหบูชา), เล่ม ๑๑๔, ตอน ๖๐ ง , ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐, หน้า ๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรชุดวันสำคัญทางพุทธศาสนา (วันวิสาขบูชา), เล่ม ๑๑๕, ตอน ๔๐ ง, ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๑๓
- ↑ ตราไปรษณียากรชุดวันสำคัญทางพุทธศาสนา (วันวิสาขบูชา) ประจำปี 2552 เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์บริษัทไปรษณีย์ไทย. เรียกข้อมูลเมื่อ 12-5-52
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดวันเด็กแห่งชาติ, เล่ม ๑๑๓, ตอน ๑ ง, ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙, หน้า ๑๐
- ↑ Sri Lanka Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
- ↑ 61.0 61.1 Burma Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
- ↑ Cambodia Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
- ↑ ขอเชิญร่วมทำบุญวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา[ลิงก์เสีย]. เว็บไซต์ Wat Rattanavanaram : วัดรัตนวนาราม สหรัฐอเมริกา. เรียกข้อมูลเมื่อ 24-6-52
- ↑ งานวันอาสาฬหบูชา พ.ศ. 2550 เก็บถาวร 2009-02-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์วัดไทยมินเนโซต้า สหรัฐอเมริกา. เรียกข้อมูลเมื่อ 24-6-52
- ↑ แม่กองธรรมสนามหลวง. ธรรมศึกษาชั้นโท ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน. กรุงเทพ. สำนักพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สำนักพิมพ์กรมการศาสนา), พ.ศ. ๒๕๕๐
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของพระยสออกบรรพชา. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [25]. เข้าถึงเมื่อ 26-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์ ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงเนรมิตที่จงกรมแก้ว. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [26]. เข้าถึงเมื่อ 26-6-52
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
|
|
ดูเพิ่ม
- วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8)
- รายการวันสำคัญทางพุทธศาสนา
- วันมาฆบูชา (วันสำคัญทางพุทธศาสนา และวันหยุดราชการในประเทศไทย)
- วันวิสาขบูชา (วันสำคัญทางพุทธศาสนา และวันหยุดราชการในประเทศไทย)
แหล่งข้อมูลอื่น
- ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]
- ธัมมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒ ตถาคตสูตรที่ ๑. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]
- อรรถกถาธัมมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒ ปฐมตถาคตสูตร. คัมภีร์อรรถกถา. [ออนไลน์]