อุปสมบท
อุปสมบท (อ่านว่า อุปะ อุบปะ-) แปลว่า การเข้าถึง คือการบวชในศาสนาพุทธ ใช้หมายถึงการบวชเป็นภิกษุและภิกษุณี เรียกเต็มว่า อุปสมบท
อุปสมบทเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง พระโคตมพุทธเจ้าทรงวางหลักเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติไว้รัดกุมและละเอียดมากโดยทรงบัญญัติให้สวดอนุสาวนาไม่ต้องระบุนามแต่ระบุเพียงโคตร (สกุล) ได้และสวดประกาศครั้งละ 2-3 รูปได้โดยมีอุปัชฌายะ และทรงอนุญาตให้นับอายุผู้บวชว่าครบ 20 ปี โดยคิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ศาสนทายาทที่ดีไว้สืบสานพระพุทธศาสนา ในประเทศไทยจะถือเป็นประเพณีว่า ลูกชายของครอบครัวเป็นพุทธต้องบวชสักครั้งในชีวิตเพื่อ ให้แม่เกาะชายผ้าเหลือง ชดใช้ค่าน้ำนม สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาโดยเปลี่ยนจากผู้นับถือพระรัตนตรัยขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย
ประเภท
แก้- เอหิภิกขุอุปสัมปทาการอุปสมบทที่กล่าวคำว่าท่านจงมาเป็นภิกษุเถิด เป็นการอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าบวชให้โดยพระองค์เอง
- ติสรณคมนูปสัมปทาการอุปสมบทที่ผู้บวชกล่าวว่าพระรัตนตรัยเป็นที่พึง ที่รำลึก เป็นการอุปสมบทโดยพระเถระที่พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งอนุญาตแทนพระองค์ (เกิดจากการลำบากในการเดินทางมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงประทานอุปสมบทให้)
- ญัตติจตุตถกรรมวาจาการอุปสมบทด้วยการเห็นชอบของสงฆ์ ตามพระบรมพุทธานุญาติ ที่ใช้กันในปัจจุบันนี้ (เกิดจากการที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้สงฆ์เป็นผู้ตัดสินใจในการให้อนุญาตกุลบุตรผู้มาขออุปสมบท)
มีการอุปสมบทที่พิเศษแตกต่างไปจากนี้ เช่น การประทานโอวาท 3 ประการแก่พระมหากัสสปะ การให้อุปสมบทด้วยการประทานครุธรรม 8 ประการ แก่พระนางกีสาโคตมี และทรงเปลี่ยนให้การบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทา ให้เป็นรูปแบบการบวชของสามเณร สามเณรี สิกขมานา แทน
ส่วนคำว่า บรรพชา ซึ่งหมายถึงการบวชเป็นสามเณรสามเณรี สิกขมานา แม่ชี และพราหมณ์ (ผู้ถืออุโบสถศีล) ส่วนอาชีวัฏฐมกศีลแม้บางคนอาจถือแล้วนุ่งขาวปฏิบัติธรรม แต่จะไม่ใช่การบรรพชาแต่เป็นเพียงการรับศีลที่สูงกว่าปัญจศีลเท่านั้น
บุคคลที่ห้ามบวช
แก้ในพระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 พระพุทธเจ้าระบุว่าบุคคลดังต่อไปนี้ มิให้อุปสมบท ได้แก่
- คนลักเพศ[1]
- ผู้นับถือศาสนาอื่น[1]
- สัตว์เดรัจฉาน[2]
- ผู้ทำมาตุฆาต[3]
- ผู้ทำปิตุฆาต[3]
- ผู้ฆ่าพระอรหันต์[3]
- ผู้ข่มขืนภิกษุณี[4]
- ผู้ทำสังฆเภท[4]
- ผู้ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต[4]
บุคคล 9 จำพวกนี้ ทรงห้ามมิให้อุปสมบท ที่อุปสมบทไปแล้วก็ให้สึกเสีย
อ้างอิง
แก้- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548