วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

พระอารามหลวงในเขตจอมทอง
(เปลี่ยนทางจาก วัดโอรสาราม)

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1] เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาก่อนการสร้างกรุงเทพมหานคร เดิมชื่อวัดจอมทอง ต่อมาพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงสถาปนาวัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม เนื่องจากเมื่อครั้งที่ทรงยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี ใน พ.ศ. 2363 เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึงวัดจอมทอง ทรงหยุดพักและทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม พร้อมทรงอธิษฐานขอให้การไปราชการทัพครั้งนี้ได้ชัยชนะ แต่ปรากฏว่าไม่มีทัพพม่ายกเข้ามา เมื่อยกทัพกลับ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่และถวายเป็นพระอารามหลวงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชโอรส ซึ่งหมายถึงพระราชโอรสคือพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในปัจจุบันมีพระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช) เป็นเจ้าอาวาส

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
ประตูทางเข้าวัดราชโอรสารามราชวรวิหารจากฝั่งคลองบางขุนเทียน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดราชโอรสาราม
ที่ตั้งเลขที่ 258 ซอยเอกชัย 4 ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร[1]
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช)
ความพิเศษวัดประจำรัชกาลที่ 3
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

เขตพระอุโบสถ

แก้

พระอุโบสถ

แก้
 
พระอุโบสถ

พระอุโบสถวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแรกที่ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบประเพณีนิยมมาเป็นแบบ "พระราชนิยม" โดยมีลักษณะคือ เป็นศิลปกรรมแบบไทยผสมจีน มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลังคาโดยเฉพาะส่วนหน้าบันที่เปลี่ยนจากเครื่องไม้มาเป็นการก่ออิฐถือปูน ไม่ประดับเครื่องลำยองคือ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง และประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องลวดลายอย่างจีน ทางด้านตัวอาคารเปลี่ยนมาใช้ระบบเสารับน้ำหนักที่มีขนาดใหญ่เป็นทรงสี่เหลี่ยมทึบไม่ทำย่อมุม ไม่ประดับบัวหัวเสา เป็นส่วนรับน้ำหนังของหลังคาทั้งหมด มีการขยายส่วนด้านข้างโดยรอบอาคารที่เรียกว่า เฉลียง และใช้เสาเฉลียงที่เป็นเสาสี่เหลี่ยมทึบตันทำหน้าที่รับน้ำหนักหลังคากันสาดที่คลุมรอบอาคารทั้งหมด ซึ่งเสาที่มีขนาดใหญ่นี้สามารถรับน้ำหนักได้ดีจึงไม่มีคันทวยและบัวหัวเสา ส่งผลให้อาคารแบบพระราชนิยมซึ่งจะนิยมทำต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นสามารถสร้างให้มีขนาดใหญ่ทั้งด้านกว้าง ยาว สูงให้มีความมั่นคงแข็งแรง นอกจากนั้นยังมีการประดับตกแต่งรูปแบบใหม่อื่นๆ เช่น ซุ้มประตู-หน้าต่าง เปลี่ยนมาเป็นงานประดับลวดลายอย่างเทศ คือ เป็นงานที่ได้รับจากอิทธิพลศิลปะตะวันตก[2] และรอบพระอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ

หน้าบัน

แก้
 
ลวดลายบนหน้าบันพระอุโบสถ

หน้าบันของพระอุโบสถเป็นการประดับลวดลายกระเบื้องเคลือบเต็มพื้นที่ ลักษณะลวดลายจัดอยู่ในกลุ่มลายที่เป็นสัญลักษณ์มงคลและทิวทัศน์อย่างจีน โดยหน้าบันแบ่งออกเป็น 2 ตับคือ ตับบนและตับล่าง หน้าบันตับบนเป็นลายสัญลักษณ์มงคล ประกอบด้วยแจกันและช่อดอกไม้ขนาดใหญ่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยมังกรคู่ ถัดขึ้นไปเป็นหงส์คู่ นอกนั้นเป็นลายมงคลของจีนลายอื่นๆ ที่จัดวางให้สมมาตรกันทั้งสองข้างเต็มพื้นที่ เช่น ลายกระบี่ ลายเมฆ ลายลูกท้อ น้ำเต้า ผีเสื้อ ดอกไม้ ไม้มงคลต่างๆ เป็นต้น หน้าบันตับล่าเป็นภาพทิวทัศน์ ประกอบด้วยตรงกลางเป็นบ้านที่ถายในมีคนอยู่อาศัย ด้านหน้าประดับด้วยสิงโตคู่ ด้านข้างประดับด้วยเขามอ มีภูเขา ต้นไม้ และสัตว์ต่างๆ เช่น สิงโต วัว ควาย กวาง ไก่ และนก[2]

พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร

แก้
 
พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 3.10 เมตร สูง 4.50 เมตร พุทธลักษณะแสดงถึงพระพุทธรูปช่วงก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 มีลักษณะใกล้เคียงกับพระศรีสรรเพชญ์พระประธานในพระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 มีอิทธิพลพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่น 2 ของศิลปะอยุธยาปรากฏอยู่มาก จัดเป็นงานที่ยังสืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา แต่นับเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์แรกที่รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาขึ้นจึงถือได้ว่าได้เริ่มพัฒนาเป็นลักษณะพระพุทธรูปแบบรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริงซึ่งมี "พระพักตร์อย่างหุ่น" ในเวลาต่อมา ใต้ฐานชุกชีเป็นที่ประดิษฐานพระสรีรางคารและดวงพระชันษาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการถวายฉัตร 9 ชั้นแด่พระพุทธรูปองค์นี้ วัดราชโอรสารามจึงถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3[2]

จิตรกรรมฝาผนัง

แก้
 
จิตรรมภายในพระอุโบสถ

งานจิตนกรรมภายในพระอุโบสถถือเป็นงานศิลปกรรมที่มีความสำคัญ โดยมีการปรับเปลี่ยนแบบแผนประเพณีนิยมเป็นแบบใหม่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อีกประการของศิลปะเบบพระราชนิยมคือ งานจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนลวดลายอย่างจีนเต็มฝาผนังทุกด้าน โดยแต่ละภาพที่เขียนจะอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายกรอบภาพที่นำมาติดผนังไว้ ในแต่ละกรอบจะวาดเป็นลายโต๊ะเครื่องบูชาและลายสัญลักษณ์มงคลต่างๆ อย่างจีน รวมทั้งลายบนประตู-หน้าต่างภายในก็เป็นลวดลายแบบเดียวกัน เช่น ลายพระอาทิตย์ ลายหยิน-หยาง ค้างคาว เป็นต้น แต่ละภาพมีการจัดองค์ประกอบภาพอย่างงดงามหลายองค์ประกอบ โดยหลักจะประกอบด้วยเครื่องตั้งที่ทำเป็นชั้นวางของตามตู้โชว์ที่มีลักษณะโค้งเรียกว่า "กี๋" ซึ่งหมายถึงฐานที่ตั้งวางของ แต่ละชั้นวางแจกัน ไห กระถาง พาน และภาชนะอื่นๆ ที่มีความแตกต่างและมีขนาดที่ไม่เท่ากัน มีการวางพวกผักหรือผลไม้ขนาดใหญ่บนจาน ส่วนแจกันใส่ดอกไม้ ผัก ผลไม้มงคล เช่น ดอกโบตั๋น ฟักทอง ท้อ ส้ม ส้มโอมือ เป็นต้น ซึ่งงานจิตรกรรมฝาผนังลักษณะนี้จะปรากฎขึ้นในอีกหลายวัดที่ใช้ศิลปะแบบพระราชนิยม[2]

ซุ้มสีมา

แก้
 
ซุ้มสีมาและใบสีมา

ซุ้มสีมาพระอุโบสถวัดราชโอรสารามจัดอยู่ในกลุ่มซุ้มสีมาแบบใหม่ในศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือ เป็นซุ้มทรงเรือน สลักจากหินอ่อนสีเทาทั้งหลัก ประกอบด้วยส่วนฐานที่เป็นแท่งหินอ่อนทั้งแท่ง มีฐานสูงเป็นรูปกึ่งฐานบัวคว่ำบัวหงาย คล้ายผนังของเรือน มีส่วนเสาอิงที่ทำเซาะร่อง กลางฐานตกแต่งเป็นบายเฟี้ยมแบบฝาเรือน ไม้รองรับส่วนเรือนธาตุที่เป็นเป็นหินอ่อนแผ่นเดียวทรงสี่เหลี่ยมเจาะเป็นช่องวงโค้งทั้ง 4 ด้าน ผนังเรียบทั้งหมดไม่มีลาดลายประดับตกแต่ง ส่วนหลังคาทำลักษณะเป็นกระโจมสี่เหลี่ยมลาดเอียง ส่วนยอดทำเป็นหัวเสาเม็ดขนาดใหญ่ ที่มุมชายคาทั้ง 4 เป็นหัวเม็ดขนาดเล็กคล้ายตัวเม็ดของหมากรุกไทย ลักษณะซุ้มสีมาแบบนี้แสดงถึงอิทธิพลที่ได้รับมาจากตะวันตก ภายในประดิษฐานใบสีมา[2] ใบสีมาเป็นใบสีมาคู่ มีลักษณะคือ มีฐานเป็นบัวคว่ำ ส่วนโคนมีเค้าโครงของลายดอกสี่กลีบผ่าครึ่งมีแกนกลางประดับวงกลมตรงกลาง ส่วนบนเป็นกลีบดอกบัวทรงชายคลุมสามแฉก ยอดสุดเป็นรัดเกล้า[3] ซึ่งเป็นรูบแบบใบเสมาที่พบมากในสมัยรัชกาลที่ 3

สุสานพระธรรม

แก้
 
สุสานพระธรรม

ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถในเขตกำแพงแก้วพระอุโบสถ เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดเล็กทรงจีนทำจากหินภายในเป็นช่องว่าง สร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นเตาไฟใช้เผาหนังสือพระธรรมหรือพระคัมภีร์ที่ชำรุดจนไม่สามารถเก็บไว้ใช้ได้ เนื่องจากหนังสือพระธรรมเป็นของสูงที่มีคุณค่าจึงไม่เหมาะที่จะเผาเรี่ยราดตามดินแบบขยะทั่วไป มี 2 เตา วางตามทิศเหนือ-ใต้ โดยมีเจดีย์ทรงจีนคั่นกลาง เตาทิศเหนือมีลักษณะที่เตี้ยแต่ยาวกว่า เตาทิศใต้มีลักษณะสั้นแต่สูงกว่า ปัจจุบันไม่ได้ใช้เป็นเตาสำหรับเผาหนังสือพระธรรมแล้ว

เขตพระวิหารพระพุทธไสยาสน์

แก้

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์

แก้
 
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์หรือวิหารพระนอนมีรูปแบบอาคารแบบเดียวกับพระอุโบสถ แต่มีขนาดกว้างยาวกว่าและยกฐานสูงกว่าเนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีขนาดใหญ่ โดยมีระบบการสร้างอาคารแบบเดียวกับพระอุโบสถคือ ใช้เสาทรงสี่เหลี่ยมทึบรับน้ำหนักหลังคา มีเฉลียงและเสาเฉลียงล้อมรอบตัวอาคาร มีหลังคาซ้อน 2 ชั้น 4 ตับ หน้าบันเป็นแบบก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องเคลือบลวดลายแบบจีน ไม่ประดับเครื่องลำยองคือ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง พระวิหารพระพุทธไสยาสน์มีระเบียงคดล้อมรอบภายนอกระเบียงมีจารึกตำรายารอบระเบียงคด[4]

หน้าบัน

แก้
 
ลวดลายหน้าบันพระวิหารพระพุทธไสยาสน์

หน้าบันของพระวิหารพระพุทธไสยาสน์แบ่งเป็น 2 ตับเช่นเดียวกับหน้าบันของพระอุโบสถ กรอบหน้าบันประดับลวดลายด้วยปูนปั้นลายดอกไม้เรียงกันเป็นแถวมีพื้นสีเหลืองหน้าบันตับบนมีลวดลายตรงกลางเป็นสัญลักษณ์รูปไก่อยู่ในวงกลมตรงกลางมีพื้นสีแดง มีหงส์คู่อยู่ด้านข้าง นอกนั้นเป็นลายนกกระเรียน ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และเมฆสลับกันเต็มพื้นที่ สันนิษฐานว่ารูปไก่ที่อยู่ตรงกลางหน้าบันเป็นสัญลักษณ์ของปีระกา หน้าบันตับล่างเป็นรูปสวน ตรงกลางเป็นรูปศาลา มีเขามอ ลายเมฆ ต้นไม้และสัตว์ เช่น สิงโต มังกร ประดับเต็มพื้นที่ โดยรูปแบบของหน้าบันตับล่างมีเนื้อหาเป็นทิวทัศน์แบบเดียวกับหน้าบันตับล่างของพระอุโบสถ สิ่งที่ต่างจากพระอุโบสถคือกระประดับหน้าบันพระวิหารเป็นปูนปั้นทั้งหมดและใช้การเขียนสีหรือทาเคลือบสีภายหลัง แต่การประดับหน้าบันพระอุโบสถใช้การประดับลาดลายโดยกระเบื้องเคลือบ[4]

พระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์ ชินสากยบรมสมเด็จ สรรเพชญพุทธบพิตร

แก้
 
พระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์ ชินสากยบรมสมเด็จ สรรเพชญพุทธบพิตร พระประธานในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์

ภายในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานพระประธานมีพระนามว่า "พระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์ ชินสากยบรมสมเด็จ สรรเพชญพุทธบพิตร" เป็นพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ขนาดใหญ่ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธไสยาสน์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีลักษณะที่เป็นแบบอย่างของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ มีพระวรกายเพรียวบาง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่จรดพระนาภี พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งไข่ ขมวดพระเกษาเล็ก มีพระรัสมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดและมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็กแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย เส้นพระโอษฐ์โค้งเล็กน้อยเกือบเป็นเส้นตรง เรียกว่า "พระพักตร์อย่างหุ่น" อันเป็นลักษณะของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ปรากฏขึ้นในอีกหลายวัดที่รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาและบูรณะปฏิสังขรณ์[4]

เจดีย์บริวารรอบพระวิหาร

แก้
 
เจดีย์รายรอบพระวิหารพระพุทธไสยาสน์

รอบพระวิหารพระพุทธไสยาสน์มีเดีย์บริวารล้อมรอบวิหารรวม 32 องค์ ทั้งหมดเป็นเจดีย์ทรงเครื่องมีขนาดเท่ากันทั้ง 32 องค์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ 3 มีลักษณะสำคัญคือ ส่วนฐานประกอบด้วยชุดฐานสิงห์ 2 ชั้น จากฐานล่างถึงองค์ระฆังอยู่ในผังย่อมุมไม้ 12 มุมทุกมุมมีขนาดเท่ากัน มีบัวคลุ่มรองรับองค์ระฆังเป็นทรงบัวคลุ่มแบบรัตนโกสินทร์ ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถาอันเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ทรงเครื่องที่พัฒนามาจากปล้องไฉน ต่อจากบัวคลุ่มเถาต่อด้วยปลีคั่นด้วยลูกแล้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้างตามลำดับ การมีเจดีย์บริวาร 32 องค์ที่มีขนาดเท่ากัน ถือเป็นรูปแบบแผนผังที่ปรากฎในงานช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งพบในหลายแห่ง จึงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามคติเรื่องอดีตพระพุทธเจ้าที่มีจำนวนมากนับไม่ถ้วน[4]

วิหารพระยืน

แก้
 
วิหารพระยืน

อยู่นอกกำแพงแก้วพระอุโบสถด้านทิศเหนือ เป็นอาคารขนาดเล็กกว่าพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานเขียงมีกำแพงแก้วที่ต่อออกมาจากกำแพงแก้วพระอุโบสถล้อมรอบอาคาร เดิมมุงหลังคากระเบื้องแบบไทย ปัจจุบันมุงหลังคากระเบื้องแบบจีนแทน ตัววิหารเป็นทรงโรงไม่มีระเบียงรอบอาคาร มีประตูทางเข้า 2 ช่อง หลังคามีชั้นซ้อน 2 ซ้อน หลังคาชั้นบนมีถะแบบจีนขนาบด้วยมังกรซ้าย-ขวา หน้าบันเป็นลายประแจจีนประดับลวดลายดอกพุดตานเครือเถา กรอบหน้าบันเป็นจิตรกรรมเขียนสีลวดลายแบบจีน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประธานอภัย หล่อด้วยสำริด สูง 6.25 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง[5]

ศาลาการเปรียญ

แก้
 
ศาลาการเปรียญ

อยู่นอกกำแพงแก้วพระอุโบสถด้านทิศใต้ เป็นอาคารขนาดเล็กกว่าพระอุโบสถลักษณะอาคารเป็นทรงโรงภายนอกตกแต่งด้วยเครื่องมงคลแบบจีนเหนือบางประตู มีประตูทางเข้าด้านหน้า 2 ช่อง และมีทางเข้าด้านข้างด่นละ 1 ช่อง หลังคาซ้อน 2 ชั้นรูปแบบจีนแต่มุงกระเบื้องไทย บนหลังคาประดับรูปถะระหว่างมังกรกระเบื้องเคลือบสีอย่างศาลเจ้าจีนการตกแต่งหน้าบันมีลักษณะเดียวกับหลังคาของวิหารพระยืน การตกแต่งภายในศาลาการเปรียญ บนเพดานเป็นลายดอกพุดตานเครือเถาประกอบลายมงคลจีนรูปผีเสื้อ นก และผลไม้มงคล ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ถือตาลปัตร หน้าตักกว้า 2.25 เมตร สูง 3.15 เมตร มีพระนามว่า "พระพุทธะชะยะสิทธิธัมมะนาท"[5]

ภาพศิลปกรรมอื่น ๆ

แก้

ลำดับเจ้าอาวาส

แก้

นับตั้งแต่วัดจอมทองได้รับสถาปนาเป็นวัดราชโอรสารามเป็นต้นมา มีเจ้าอาวาสตามลำดับ ดังนี้[6]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระสุธรรมเทพเถร (ทอง) พ.ศ. 23?? พ.ศ. 23??
2 พระธรรมเจดีย์ (จีน) พ.ศ. 2395 พ.ศ. 2416
3 พระสังวรวิมล (เหม็ง) พ.ศ. 2416 พ.ศ. 24??
4 พระปรากรมมุนี (อยู่) พ.ศ. 24?? พ.ศ. 24??
5 พระปรากรมมุนี (ยอด) พ.ศ. 24?? พ.ศ. 24??
5 พระสังวรวิมล (เนียม) พ.ศ. 24?? พ.ศ. 2454
6 พระธรรมุเทศาจารย์ (มุ่ย ธมฺมปาโล) พ.ศ. 2454 พ.ศ. 2486
7 พระเทพญาณมุนี (ผวน ภทฺธโร) พ.ศ. 2486 พ.ศ. 2515
8 พระราชโมลี (ณรงค์ ฐิตญาโณ) พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2524
9 พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช) พ.ศ. 2525 ปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๘๔
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 223-233
  3. ธนภัทร์ ล้มหัสนัยกุล, ศิลปกรรมวัดราษฎร์ในย่านเก่ากรุงเทพ, (นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2561), 25.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 233-238
  5. 5.0 5.1 ณัฐวัตร จินรัตน์, การออกแบบสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 (ศึกษาเฉพาะเขตพุทธาวาสของพระอารามหลวงที่สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์), (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546), 90-92. link : http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/thapra/Nattawat_Jinrat/Fulltext.pdf
  6. วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท., 2549. 193 หน้า. หน้า 103.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°42′08″N 100°27′54″E / 13.70226°N 100.465089°E / 13.70226; 100.465089