ตัณหา เป็นหลักธรรมข้อหนึ่งในพุทธศาสนา หมายถึง ความติดใจอยาก ความยินดี ยินร้าย หรือติดในรสอร่อยของโลก ประกอบด้วย ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ และ ตัณหาย่อมเจริญแก่ผู้ประพฤติประมาท ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ดังนั้น ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อบุคคลยังถอนเชื้อตัณหาไม่ได้

ในหลักปฏิจจสมุปบาท ตัณหาเกิดจากเวทนาเป็นปัจจัย โดยมี อวิชชาเป็นมูลราก ควรเห็นตัณหา เป็นดังเครือเถาที่เกิดขึ้น แล้ว จงตัดรากเสียด้วยปัญญา

ประเภทของตัณหา แก้

ตัณหาแบ่งออกเป็น 3 อย่าง แก้

  1. กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกาม ความอยากหรือไม่อยาก ใน สัมผัสทั้ง 5 เพราะความยินดีพอใจในกามคุณ5 ที่ตนปรารถนา
  2. ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความอยากมีอยากเป็น คือความอยากเป็นเป็นนั่นเป็นนี่ หรืออยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เมื่อได้เป็นแล้วหรือได้สิ่งนั้นมาแล้ว ไม่ต้องการให้มันเปลี่ยนแปลงไป
  3. วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ไม่อยากเป็นนั่นไม่อยากเป็นนี่ หรือไม่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ตลอดจนความอยากดับสูญ

ควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละตัณหา 3 อย่างนี้

ตัณหาได้ชื่อว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ ดังอรรถว่าตัณหาเพียงดังเนิน คือความทะยานอยากนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ความอยากเสพความสุขทุกอย่างทุกชนิดที่มีอยู่บนโลก ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ แล้วเชื่อว่าจะพอใจ หรือปรารถนาความสุขที่ไม่รู้จัก แต่คิดเอาเองว่ามีอยู่ เชื่อว่าถ้าได้เสพทุกอย่างครบถ้วน แล้วเชื่อว่าจะพอใจ หรืออาจเพียงแค่ติดใจยินดีพอใจในบางสิ่งบางอย่างเพียงแค่นั้น พอใจแค่นั้น แต่ต้องได้เสพสิ่งนั้นตลอด ไม่งั้นจะเกิดความทุกข์ได้ บางครั้งเสพนานๆไปก็เกิดความเบื่อหน่าย นำไปสู่ความทุกข์เช่นกัน

ถ้าได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา จะเอาสิ่งเหล่านั้นไปวางกองไว้ที่ไหน โลกย่อมไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทรัพยากรโลกก็มีให้ใช้ ไม่เพียงต่อความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด และอายุขัยก็ไม่ยืนยาวพอที่จะเสพทุกความปรารถนาที่ไม่สิ้นสุดได้

ตัณหา แก้

ตัณหา 6 หมวด ได้แก่

  1. รูปตัณหา คือ อยากได้รูป (ที่มองเห็นด้วยตา)
  2. สัททตัณหา คือ อยากได้เสียง
  3. คันธตัณหา คือ อยากได้กลิ่น
  4. รสตัณหา คือ อยากได้รส
  5. โผฏฐัพพตัณหา คือ อยากได้โผฏฐัพพะ (ความรู้สึกทางกายสัมผัส)
  6. ธัมมตัณหา คือ อยากในธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจนึกคิด)

ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งตัณหาทั้ง6นี้ เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ความดับโดยไม่เหลือ ความสงบระงับ ความสูญแห่งตัณหาทั้ง6นี้ เป็นความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ ตัณหาทั้ง 6 นี้ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง แก้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจใน รูปตัณหา นี้เป็นอุปกิเลสแห่งจิต ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสัททตัณหา ฯลฯ ใน คันธตัณหา ฯลฯ ในรสตัณหา ฯลฯ ในโผฏฐัพพตัณหา ฯลฯ ในธรรมตัณหา ฯลฯ นี้เป็นอุปกิเลสแห่งจิต. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล ภิกษุละอุปกิเลสแห่งจิตในฐานะ 6 นี้ได้ เมื่อนั้น จิตของเธอย่อมเป็นจิตน้อมไปในเนกขัมมะ อันเนกขัมมะอบรมแล้ว ควรแก่การงาน ปรากฏในธรรมที่พึงทำให้แจ้งด้วยอภิญญา

— ตัณหาสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 17

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล 9 ประการ เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล 9 ประการเป็นไฉน การแสวงหาเพราะอาศัยตัณหา 1 การได้เพราะอาศัยการแสวงหา 1 การวินิจฉัยเพราะอาศัยการได้ 1 ฉันทราคะเพราะอาศัยการวินิจฉัย 1 ความหมกมุ่นเพราะอาศัยฉันทราคะ 1 ความหวงแหนเพราะอาศัยความหมกมุ่น 1 ความตระหนี่เพราะอาศัยความหวงแหน 1 การจัดการอารักขาเพราะอาศัยความตระหนี่ 1 ธรรมอันเป็นบาปอกุศลหลายประการ คือ การจับท่อนไม้ จับศาตราการทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท กล่าววาจาส่อเสียดว่ามึงๆ และพูดเท็จย่อมเกิดขึ้น 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมมีตัณหาเป็นมูล 9 ประการนี้แล ฯ

— ตัณหาสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23

อ้างอิง แก้