อวิชชา
อวิชชา (บาลี: อวิชฺชา, สันสกฤต: อวิทฺยา) หมายถึง ความไม่รู้แจ้ง คือ ความไม่รู้ความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ โดยถูกต้องแจ่มแจ้ง มิได้หมายถึงความไม่รู้ศิลปะวิชาการต่าง ๆ หรือไม่รู้ร้อนรู้หนาวเป็นต้น แต่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่จะนำคำว่า อวิชชา ไปใช้เฉพาะกับวิชาในทางไสยศาสตร์เท่านั้น โดยเข้าใจกันว่า อวิชชาเป็นวิชาที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือหาประโยชน์เข้ามาใส่ตนเองโดยไม่สนใจผู้อื่น
อวิชชา หมายถึงความไม่รู้ในอริยสัจ คือ
- ไม่รู้ในทุกข์ ได้แก่ ไม่รู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นตัวทุกข์ เช่นไม่รู้ความเกิด ความแก่ ความตาย ความผิดหวัง เป็นตัวทุกข์
- ไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์ ได้แก่ ไม่รู้ว่าทุกข์นั้นเกิดมาจากตัณหาในจิตของตนเอง มิใช่เกิดจากผีสาง เทวดา มิใช่เกิดจากการบันดาล
- ไม่รู้ในความดับทุกข์ ได้แก่ ความไม่รู้ว่าทุกข์นั้นเมื่อเกิดแล้วสามารถดับได้ โดยการกำจัดตัณหาให้หมดไป
- ไม่รู้ในข้อปฏิบัติสำหรับดับทุกข์ ได้แก่ ไม่รู้ว่าทุกข์นั้นจะดับสนิทได้ด้วยมรรค 8 มีสัมมาทิฐิเป็นต้น มิใช่ดับได้ด้วยการวิงวอนขอร้องให้คนอื่นช่วย
ความไม่รู้สึกตัวทั่วพร้อมโดยไม่สมบูรณ์ในความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ ในขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับมัน กล่าวคือไม่รู้กายในกาย ไม่รู้เวทนาในเวทนา ไม่รู้จิตในจิต และไม่รู้ธรรมในธรรม ก็คือไม่มีสติปัฏฐาน 4 ที่บริบูรณ์นั้นเองคือ อวิชชา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏในกาลก่อนแต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชามีข้อนี้เป็นปัจจัยจึงปรากฏ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่านิวรณ์ 5
แม้นิวรณ์ 5 เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มี อาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ 5 ควรกล่าวว่า ทุจริต 3
แม้ทุจริต 3 เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต 3 ควรกล่าวว่า การไม่สำรวมอินทรีย์
แม้การไม่สำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่าความไม่มีสติสัมปชัญญะ
แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่าการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย
แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรกล่าวว่าความไม่มีศรัทธา
แม้ความไม่มีศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรกล่าวว่า การไม่ฟังสัทธรรม
แม้การไม่ฟังสัทธรรมเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การไม่คบสัปบุรุษ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้
การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์
การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์
ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์
การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์
ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์
การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต 3 ให้บริบูรณ์
ทุจริต 3 ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ 5 ให้บริบูรณ์
นิวรณ์ 5 ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์
อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขาเมื่อฝนตกหนัก ๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็มย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็มย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้น มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์
การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์
ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์
การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์
ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์
การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต 3 ให้บริบูรณ์
ทุจริต 3 ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ 5 ให้บริบูรณ์
นิวรณ์ 5 ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์
อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้น เหมือนกันแลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ 7
แม้โพชฌงค์ 7 เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ 7 ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน 4
แม้สติปัฏฐาน 4 เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน 4 ควรกล่าวว่า สุจริต 3
แม้สุจริต 3 เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต 3 ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์
แม้การสำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ
แม้สติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย
แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคายเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่าศรัทธา
แม้ศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม
แม้การฟังสัทธรรมเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบสัปบุรุษ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้
การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์
การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์
ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์
การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์
สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์
การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต 3 ให้บริบูรณ์
สุจริต 3 ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน 4 ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์ 7 ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนัก ๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและห้วยที่เต็มย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้นมีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์
การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์
ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์
การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์
สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์
การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต 3 ให้บริบูรณ์
สุจริต 3 ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน 4 ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์ 7 ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแลฯ
อ้างอิง
แก้- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548