ประเทศกัมพูชา

ราชอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(เปลี่ยนทางจาก กัมพูชา)

กัมพูชา (เขมร: កម្ពុជា, กมฺพุชา) ชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระราชอาณาจักรกัมพูชา (เขมร: ព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជា, พฺระราชาณาจกฺรกมฺพุชา) เป็นประเทศตั้งอยู่ในส่วนใต้ของคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศไทย ทิศเหนือติดกับประเทศไทยและลาว ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับเวียดนาม และทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดอ่าวไทย ด้วยประชากรกว่า 15 ล้านคน กัมพูชาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับที่ 66 ของโลก ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งประชากรกัมพูชานับถือมากกว่า 97%[8] ชนกลุ่มน้อยในประเทศมีชาวเวียดนาม ชาวจีน ชาวจาม และชาวเขากว่า 30 เผ่า[9] เมืองหลวงและเมืองใหญ่สุด คือ พนมเปญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

พระราชอาณาจักรกัมพูชา

  • ព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជា (เขมร)
คำขวัญ
ជាតិ សាសនា ព្រះមហាក្សត្រ
"ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
เพลงชาติបទនគររាជ
นครราช
ที่ตั้งของ ประเทศกัมพูชา  (เขียว)

ในอาเซียน  (เทาเข้ม)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]

เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
พนมเปญ
11°33′N 104°55′E / 11.550°N 104.917°E / 11.550; 104.917
ภาษาราชการเขมร[1]
ภาษาราชการที่ยอมรับภาษาพื้นเมืองกว่า 19 ภาษา[2]
อักษรราชการอักษรเขมร
กลุ่มชาติพันธุ์
(2019)
ศาสนา
(2019)
เดมะนิม
การปกครองรัฐเดี่ยว ระบบพรรคเด่น ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยโดยเลือกตั้ง ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี
สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแณต
สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน
สมเด็จมหารัฐสภาธิการธิบดี ฆวน สุดารี
สภานิติบัญญัติสภาผู้แทนราษฎร
พฤฒสภา
รัฐสภา
ก่อตั้ง
ค.ศ. 50/68–ค.ศ. 550/627
ค.ศ. 550–802
ค.ศ. 802–1431
ค.ศ. 1431–1863
11 สิงหาคม ค.ศ. 1863
9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953
14 ธันวาคม ค.ศ. 1955
23 ตุลาคม ค.ศ. 1991
24 กันยายน ค.ศ. 1993
30 เมษายน ค.ศ. 1999
พื้นที่
• รวม
181,035 ตารางกิโลเมตร (69,898 ตารางไมล์) (อันดับที่ 88)
2.5
ประชากร
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2019
เพิ่มขึ้น15,552,211[4] (อันดับที่ 73)
87 ต่อตารางกิโลเมตร (225.3 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 96)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2019 (ประมาณ)
• รวม
76.635 พันล้านดอลลาร์[5]
4,645 ดอลลาร์[5]
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2019 (ประมาณ)
• รวม
2.6628 หมื่นล้านดอลลาร์[5]
1,614 ดอลลาร์[5]
จีนี (ค.ศ. 2013)36.0[6]
ปานกลาง
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019)เพิ่มขึ้น 0.594[7]
ปานกลาง · อันดับที่ 144
สกุลเงินเรียล (៛) (KHR)
เขตเวลาUTC+7 (เวลาอินโดจีน)
รูปแบบวันที่วว/ดด/ปปปป
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์+855
รหัส ISO 3166KH
โดเมนบนสุด.kh

ราชอาณาจักรกัมพูชาปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี มาจากการเลือกตั้งโดยราชสภาเพื่อราชบัลลังก์ เป็นประมุขแห่งรัฐ ประมุขรัฐบาล คือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ปกครองกัมพูชามาเป็นระยะเวลากว่า 25 ปี

ใน พ.ศ. 1345 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ปราบดาภิเษกตนเป็นพระมหากษัตริย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิขะแมร์ อำนาจและความมั่งคังมหาศาลของจักรวรรดิขะแมร์ที่มีพระมหากษัตริย์ครองราชสมบัติสืบต่อกันมานั้นได้มีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลากว่า 600 ปี กัมพูชาถูกปกครองเป็นเมืองขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งถูกฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคมในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 กัมพูชาได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2496 สงครามเวียดนามได้ขยายเข้าสู่กัมพูชา ทำให้เขมรแดงขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งยึดกรุงพนมเปญได้ใน พ.ศ. 2518 ก่อนจะผงาดขึ้นอีกหลายปีให้หลังภายในเขตอิทธิพลสังคมนิยมเป็นสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชากระทั่ง พ.ศ. 2536 ภายหลังสนธิสัญญาสันติภาพปารีส พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นการยุติสงครามกับเวียดนามอย่างเป็นทางการ กัมพูชาถูกควบคุมโดยสหประชาชาติในช่วงสั้น ๆ (พ.ศ. 2535-2536) หลังจากหลายปีแห่งการโดดเดี่ยว ชาติซึ่งเสียหายจากสงครามก็ได้รวมเข้าด้วยกันอีกครั้งภายใต้ระบอบราชาธิปไตยในปีเดียวกันนั้นเอง

ในการบูรณะประเทศหลังสงครามกลางเมืองนานหลายทศวรรษ กัมพูชามีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ ประเทศกัมพูชาได้มีหนึ่งในบันทึกเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในเอเชีย โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6.0% เป็นเวลานาน 10 ปี ภาคสิ่งทอ เกษตรกรรม ก่อสร้าง เสื้อผ้าและการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งได้นำไปสู่การลงทุนจากต่างชาติและการค้าระหว่างประเทศ[10] ใน พ.ศ. 2548 มีการพบแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติใต้น่านน้ำอาณาเขตของกัมพูชา การขุดเจาะเชิงพาณิชย์เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2556 รายได้จากน้ำมันสามารถมีผลต่อเศรษฐกิจกัมพูชาอย่างมาก[11]

กัมพูชาเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก องค์การการค้าโลก ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และ องค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส ตามรายงานขององค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง ปัญหาหลักของประเทศคือความยากจน[12] การทุจริต[13] การขาดเสรีภาพทางการเมือง อัตราการพัฒนามนุษย์ต่ำ และความอดอยากสูง

นิรุกติศาสตร์

Cambodia และ Kâmpŭchéa (កម្ពុជា ) เป็นชื่อประเทศในภาษาอังกฤษและภาษาเขมรซึ่งทั้งสองคำมาจากการแผลงคำในภาษาฝรั่งเศส Cambodge ซึ่งชาวฝรั่งเศสใช้เรียกดินแดนจักรวรรดิจักรเขมรในยุคโบราณ และชาติตะวันตกอื่น ๆ เริ่มมีการกล่าวถึงชื่อประเทศกัมพูชาตั้งแต่ ค.ศ. 1524 เมื่ออันโตนิโอ พิกาเฟตตา (นักสำรวจชาวอิตาลีที่ติดตามเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ในการแล่นเรือรอบโลก) มีการอ้างถึงชื่อประเทศกัมพูชาในบันทึกการเดินทางของเขาในชื่อ Camogia[14] และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนได้เรียกคำนี้ว่า Cambodia

ชาวกัมพูชาส่วนมากนิยมเรียกประเทศตนเองว่า Srok Khmer (ស្រុកខ្មែរ Srŏk Khmêr, ออกเสียงว่า [srok kʰmae]; หมายถึง "ดินแดนแห่งเขมร") และนับตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมเป็นต้นมา ชื่อ Cambodia เป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไปในกลุ่มประเทศโลกตะวันตก ในขณะที่ Kampuchea เป็นที่นิยมมากว่าในกลุ่มชาติตะวันออก[15][16][17]

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ยุคแรกของกัมพูชา

 
เครื่องเคลือบหินเคลือบย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ 12

ความรู้เกี่ยวกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ของกัมพูชานั้นมีอยู่น้อยมาก แหล่งโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดของกัมพูชาที่ค้นพบในปัจจุบัน คือ ถ้ำ แลง สแปน (Laang Spean) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าผู้คนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันเมื่อประมาณ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล และแหล่งโบราณคดีสำโรง เซน (Samrong Sen) ซึ่งเชื่อว่าเริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อราว 230 ถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล

ชาวกัมพูชาเริ่มรู้จักการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกข้าวได้ตั้งแต่เมื่อราว 2,000 ก่อนคริสตกาล สามารถทำเครื่องมือจากเหล็กได้ตั้งแต่ราว 600 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนหน้าที่อิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียจะแผ่นเข้ามาถึงดินแดนแถบนี้ ในราวปีที่ 100 ก่อนคริสตกาล

หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าพื้นที่หลายส่วนของดินแดนประเทศกัมพูชาในปัจจุบันเริ่มมีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่เมื่อราวสหัสวรรษแรกและสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยจัดเป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ ซึ่งผู้คนกลุ่มนี้อาจอพยพมาจากทางพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ในก่อนช่วงคริสต์ศตวรรษแรก ผู้คนในแถบได้มีวิวัฒนาการสู่การตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง มีการจัดโครงสร้างของสังคมอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาทักษะวิทยาการต่าง ๆ ได้ก้าวหน้ากว่ายุคก่อน ๆ เป็นอย่างมาก กลุ่มที่มีพัฒนาการก้าวหน้าที่สุดอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่ง ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง สามารถเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงปศุสัตว์ได้ นักประวัติศาสตร์หลายคนมีความเห็นว่า ผู้คนกลุ่มนี้ได้ตั้งหลักแหล่งอาศัยก่อนหน้าผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม ไทย และลาว

ผู้คนกลุ่มนี้อาจจัดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) หรืออย่างน้อยก็มีความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษของมนุษย์กลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทั่วไปในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาะแก่งต่าง ๆ ของมหาสมุทรแปซิฟิกในปัจจุบัน ผู้คนเหล่านี้มีความรู้ในงานโลหะ เช่นเหล็กและสำริด โดยเป็นเป็นทักษะที่คิดค้นขึ้นเอง งานวิจัยในปัจจุบันได้ค้นว่า ชาวกัมพูชาในยุคนี้สามารถปรับปรุงสภาพภูมิประเทศมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ โดยปรากฏรูปแบบเป็นพื้นที่รูปวงกลมขนาดใหญ่

อาณาจักรฟูนัน

 
อาณาเขตของอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรครั้งแรกของชาวเขมร

อาณาจักรฟูนันเป็นรัฐที่รุ่งเรืองอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1 – 6 ที่ตั้งของรัฐอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งประเทศกัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคใต้ของไทย ลงมาถึงแหลมมลายู ฟูนานรวมตัวกันเป็นรัฐแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรัฐชลประทานภายในแผ่นดินที่ประชาชนดำรงชีพด้วยการเกษตร โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี นอกจากนั้น ฟูนานยังมีเมืองท่าสำหรับจอดเรือและค้าขายต่างประเทศ ฟูนาน จึงมีรายได้จากการค้าขาย การเดินเรืออีกด้วย

เรื่องราวของรัฐฟูนาน ทราบจากบันทึกของชาวจีนที่เดินทางมาแถบนี้ ได้เขียนเล่าถึงความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ในชุมชนที่มีระเบียบ มีคุณธรรม มีการปกครองระบอบกษัตริย์ มีเมืองต่าง ๆ มาขึ้นด้วยหลายเมือง มีวัฒนธรรมแท้ ๆ ของตนเอง มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ทั้งในทวีปเอเชียด้วยกัน และโลกตะวันตก ชนชั้นสูงเป็นพวกมาลาโยโพลีนีเซียน ชาวจีนว่าพวกชนชั้นพื้นเมืองของฟูนันหน้าตาน่าเกลียด ตัวเล็ก ผมหยิก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพวกเนกริโตและเมลานีเซียน ฟูนานมีประวัติความเป็นมา เริ่มจากการรวมตัวกันของผู้คน เป็นชุมชนเล็กขนาดหมู่บ้าน จากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐ วิธีการพัฒนาจากสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐมีปัจจัยและขั้นตอนหลายประการ

อาณาจักรเจนละ (อาณาจักรอิศานปุระ)

ในระหว่าง พ.ศ. 1170-1250 นั้นอาณาจักรเขมรโบราณมีกษัตริย์ครองราชย์คือ พระเจ้าภววรมันที่ 2 พระโอรสของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 โอรสของพระเจ้าภววรมันที่ 2 ยุคนี้ได้สร้างศิลปเขมรแบบไพรกเมง ขึ้นระหว่างพ.ศ. 1180-1250 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 นั้นอาณาจักรเจนฬา (เจนละ) นั้นได้แตกแยกเป็นพวกเจนละบกคืออยู่ลุ่มน้ำโขงตอนใต้ และพวกเจนละน้ำ อยู่ในดินแดนลาวตอนกลาง พ.ศ. 1250-1350 ยุคนี้ได้มีการสร้างศิลปเขมรแบบกำพงพระขึ้น

อาณาจักรเขมรโบราณนั้นล่มสลายมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 หรือพระเจ้าปรเมศวร พ.ศ. 1345-1393 พระองค์ได้รวบรวมพวกเจนละบกและพวกเจนละน้ำเป็นอาณาจักรใหม่โดยรับเอาลัทธไศเลนทร์หรือ เทวราชาเข้ามาทำการสถานปนาอาณาจักรใหม่ขึ้น โดยทำการสร้างราชธานีขึ้นใหม่หลายแห่งและสร้างปราสาทหินหรือเทวาลัยเป็นการใหญ่ ซึ่งมีเหตุการณ์ย้ายราชธานีขึ้นหลายครั้งจนกว่าจะลงตัวที่เมืองหริหราลัยราชธานีแห่งแรกของอาณาจักรเขมร ต่อมาคือ เมืองยโศธรปุระ และ เมืองนครธมในที่สุด ด้วยเหตุนี้อาณาจักรเขมรสมัยนี้จึงรุ่งเรืองด้วยการสร้างราชธานีขึ้นหลายแห่งและมีปราสาทหินที่เป็นศิลปะเขมรเกิดขึ้นหลายแบบ กล่าวคือ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 นั้นพระองค์ได้ทำการสร้างเมืองอินทรปุระเป็นราชธานี ขึ้นที่บริเวณใกล้เมืองกำแพงจาม สร้างเมืองหริหราลัยหรือร่อลวย เป็นราชธานี สร้างเมืองอมเรนทรปุระ เป็นราชธานี และสร้างเมืองมเหนทรบรรพต หรือ พนมกุเลนเป็นราชธานี ยุคนี้ได้สร้างศิลปเขมรแบบกุเลนขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1370-1420

เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 พระโอรสได้ครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 3 หรือ พระเจ้าวิษณุโลก ครองราชย์ พ.ศ. 1393-1420 พระองค์ได้กลับมาใช้เมืองหริหราลัยหรือร่อลอย เป็นราชธานี ต่อมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 หรือ พระเจ้าอิศวรโลก ครองราชย์ พ.ศ. 1420-1432 ยุคนี้ได้สร้างศิลปะเขมรแบบพระโคขึ้นในพ.ศ. 1420-1440

ในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 หรือ พระเจ้าบรมศิวโลก พระโอรสของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 ซึ่งครองราชย์เป็นกษัตริย์เขมรในพ.ศ. 1432-1443 นั้น พระองค์ได้สร้างเมืองยโศธรปุระหรือเมืองพระนครแห่งแรกขึ้นที่เขาพนมบาเค็ง เมื่อ พ.ศ. 1436 ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือทะเลสาบเมืองเสียมราฐ เมืองนี้คนไทยเรียก เสียมราฐ การสร้างปราสาทหินขึ้นบนเขาพนมบาเค็งนั้น เป็นอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่แผ่อิทธิพลเข้ามายังดินแดนแถบนี้ ซึ่งถูกสมมติขึ้นเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อนั้น นับเป็นศิลปะเขมรแบบบาเค็ง

เมืองยโศธรปุระ ราชธานีแห่งนี้มีกษัตริย์ครองราชย์ต่อมาคือ พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 หรือ พระเจ้ารุทรโลก พระโอรสของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ครองราชย์ พ.ศ. 1443-1456 และพระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 หรือพระเจ้าบรมรุทรโลก พระอนุชาของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ครองราชย์ พ.ศ. 1456-1468 จึงเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแผ่นดิน

ในที่สุดพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 หรือพระเจ้าบรมศิวบท ซึ่งเป็นน้องเขยของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อาณาจักรเขมรใน พ.ศ. 1471-1485 พระองค์ได้สร้างราชธานีขึ้นที่เมืองโฉกการยกยาร์หรือเกาะแกร์ และพระเจ้าหรรษวรมันที่ 2หรือพระเจ้าพรหมโลก พระโอรสขององค์ได้ครองราชย์ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 1485-1487 ยุคนี้ได้สร้างศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ พ.ศ. 1465-1490 ต่อมาพระเจ้าราเชนทรวรมัน หรือพระเจ้าศิวโลก พระนัดดาของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ได้ครองราชย์ใน พ.ศ. 1487-1511 ได้ย้ายราชธานีมาที่เมืองยโศธรปุระ หรือเมืองพระนครแห่งแรก ยุคนี้ได้สร้างศิลปะเขมรแบบแปรรูป พ.ศ. 1490-1510

เมืองยโศธรปุระ ราชธานีเก่าแห่งนี้มีกษัตริย์ครองราชย์ต่อมาหลายพระองค์ ได้แก่

- พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 หรือพระบรมวีรโลก ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเจ้าราเชนทรวรมัน ครองราชย์ พ.ศ. 1511-1544 สมัยนี้สร้างศิลปะเขมรแบบบันทายศรี พ.ศ. 1510-1550 ขึ้น

- พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 พระนัดดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ครองราชย์ พ.ศ. 1544 สร้างศิลปะเขมรแบบคลังขึ้น พ.ศ. 1510-1560

- พระเจ้าชัยวีรวรมัน ครองราชย์ พ.ศ. 1545 (สวรรคต พ.ศ. 1553)

- พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์ พ.ศ. 1545-1593สมัยนี้พระองค์ได้ทำการสถาปนาราชวงศ์ขึ้นใหม่ และน่าจะมีการสร้างเมืองพระนครขึ้นใหม่เป็นแห่งที่สองเป็นยุคที่สร้างศิลปแบบปาบวนขึ้นใช้ใน พ.ศ. 1560-1630 เมืองพระนครแห่งที่สองนี้ ยังไม่มีรายละเอียด จึงสรุปไม่ได้ว่าอยู่ที่ใด

ในดินแดนพายัพนั้น เดิมหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติลาว ครั้นเมื่อเขมรมีอำนาจขยายอาณาจักรมาสู่ดินแดนพายัพ จึงตั้งเมืองละโว้ให้เจ้านครเขมรคอยดูแล และพระนางจามเทวีพระธิดาของเจ้าผู้ครองเมืองละโว้ได้ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงของเขมรละโว้ พระธิดาเจ้าผู้ครองเมืองนี้จึงได้ปกครองพวกลาวทั้งปวงในมณฑลพายัพ เมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) จึงเป็นเมืองลูกหลวงของเขมรละโว้ ที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้ดูแลดินแดนพายัพ ต่อมาได้ตั้งเมืองนครเขลางค์ (เมืองลำปาง) ขึ้นและปกครองร่วมกัน

จักรวรรดิเขมร

 
อาณาเขตของจักรวรรดิเขมร (สีแดง)

จักรวรรดิขแมร์ หรือ อาณาจักรเขมรโบราณ หรือบางแหล่งเรียกว่า อาณาจักรขอม เป็นหนึ่งในอาณาจักรโบราณ เริ่มต้นขึ้น ราวพุทธศตวรรษที่ 6 โดยเริ่มจากอาณาจักรฟูนัน มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณประเทศกัมพูชา โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ ประเทศไทย ลาว และบางส่วนของเวียดนามในปัจจุบัน นับเป็นอาณาจักรที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาได้อ่อนกำลังลงจนเสียดินแดนบางส่วนให้กับอาณาจักรสุโขทัยและแตกสลายในที่สุดเมื่อตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรเขมรสืบทอดอำนาจจากอาณาจักรเจนฬา มีสงครามผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะกับอาณาจักรข้างเคียง เช่น อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรจามปา มรดกที่สำคัญที่สุดของอาณาจักรเขมรคือ นครวัด และ นครธม ซึ่งเคยเป็นนครหลวงเมื่อครั้งอาณาจักรแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุด และยังมีลัทธิความเชื่อต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ศาสนาหลักของอาณาจักรนี้ได้แก่ ศาสนาฮินดู พุทธศาสนามหายาน และพุทธศาสนาเถรวาทซึ่งได้รับจากศรีลังกา เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13

ยุคมืดของกัมพูชา

ยุคมืดของกัมพูชา เริ่มตั้งแต่อาณาจักรอยุธยาได้โจมตีอาณาจักรเขมร และ ได้เผา พระนคร เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ราบเป็นหน้ากลอง ทำให้อาณาจักรเขมรเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศตั้งแต่บัดนั้นมา เขมรเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาในฐานะดินแดนประเทศราช อาณาจักรอยุธยาปกครองเขมรเป็นเวลาเกือบ 400 ปี ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เขมรตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจักรวรรดิสยามอย่างเข้มงวด ในสมัยรัชกาลที่3 ได้เกิด สงครามอานามสยามยุทธทำให้กัมพูชาเป็นรัฐอารักขาระหว่างสยามกับญวณ ก่อนที่จะตกเป็นของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

อาณานิคมของฝรั่งเศส

กัมพูชาตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาอารักขาระหว่างฝรั่งเศส-กัมพูชาเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2406 ในสมัยพระนโรดม โดยสยามพยามยามคัดค้านแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในช่วงแรก ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาโดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการภายในมากนัก และช่วยค้ำจุนราชบัลลังก์ของกัมพูชา โดยช่วยปราบกบฏต่าง ๆ จน พ.ศ. 2426 - 2427 หลังจากยึดครองเวียดนามได้ทั้งหมด โดยพยายามลิดรอนอำนาจของกษัตริย์และยกเลิกระบบไพร่ทาส ทำให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนอย่างรุนแรง จนต้องเจรจากับพระนโรดม กษัตริย์ในขณะนั้น ให้ประกาศสันติภาพ และระงับการแทรกแซงกัมพูชา จนกระทั่งพระนโรดมสวรรคต ฝรั่งเศสได้สนับสนุนให้พระสีสุวัตถ์ขึ้นเป็นกษัตริย์ พร้อมทั้งมอบอำนาจการปกครองทั้งหมดให้ฝรั่งเศส[18] หลังจากฝรั่งเศสเข้าปกครองกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2406 ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจในเวียดนาม โดยปรับปรุงการเก็บภาษี ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวกัมพูชา และยังนำชาวเวียดนามเข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในระบบราชการของฝรั่งเศส และเป็นแรงงานทางด้านเกษตรกรรม

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงกลางปี พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนเข้าสู่กัมพูชาแต่ยอมให้รัฐบาลวิชีปกครองดังเดิม รัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เรียกร้องดินแดนบางส่วนในลาวและกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศสจนนำไปสู่กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสที่เริ่มขึ้นเมื่อ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในที่สุด ญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยที่ไทยได้จังหวัดพระตะบอง เสียมราฐและบางส่วนของจังหวัดสตึงแตรง ยกเว้นปราสาทนครวัดยังอยู่ในเขตแดนของฝรั่งเศส พระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์กษัตริย์กัมพูชาสิ้นพระชนม์หลังกรณีพิพาทนี้ไม่นาน ฝรั่งเศสเลือกพระนโรดม สีหนุขึ้นเป็นกษัตริย์ทั้งที่ยังทรงพระเยาว์ ต่อมา ญี่ปุ่นได้สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2488 กัมพูชาได้ประกาศเอกราชภายใต้วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่น โดยมีพระนโรดม สีหนุเป็นประมุขรัฐ หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ามาในพนมเปญ สถาปนาอำนาจของฝรั่งเศสในกัมพูชาอีก

รัฐบาลฝรั่งเศสอิสระได้ตัดสินใจที่จะรวมอินโดจีนเข้ากับสหภาพฝรั่งเศส ในพนมเปญ พระนโรดม สีหนุพยายามเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อเรียกร้องเอกราชที่สมบูรณ์ ในขณะที่กลุ่มต่อต้านที่เรียกตนเองว่าเขมรอิสระ ได้ใช้การสู้รบแบบกองโจรตามแนวชายแดน โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มฝ่ายซ้ายทั้งที่นิยมและไม่นิยมเวียดนาม รวมทั้งกลุ่มเขมรเสรีซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ของเซิง งอกทัญด้วย ใน พ.ศ. 2489 ฝรั่งเศสยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองในกัมพูชา และให้มีการเลือกตั้งภายในประเทศ พระนโรดม สีหนุยังคงต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชให้กัมพูชาเป็นอิสระจากสหภาพฝรั่งเศส จนฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง จึงยอมมอบเอกราชให้แก่กัมพูชา

ราชอาณาจักรกัมพูชาหลังเอกราช

 
ธงชาติราชอาณาจักรกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2498– 2513

หลังการประชุมเจนีวาได้มีการเลือกตั้งขึ้นในประเทศกัมพูชาใน พ.ศ. 2498 โดยมีคณะกรรมการควบคุมนานาชาติเป็นผู้สังเกตการณ์ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2498 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศสละราชสมบัติให้พระบิดาของพระองค์คือพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต และทรงตั้งพรรคการเมืองขึ้นคือพรรคสังคมราษฎร์นิยมหรือระบอบสังคม สมาชิกส่วนใหญ่เป็นฝ่ายขวา ซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยความรุนแรง แต่ก็มีสมาชิกฝ่ายซ้ายภายในพรรค เช่น เขียว สัมพัน ฮู ยวน เพื่อถ่วงดุลกับฝ่ายขวา การเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2498 พรรคสังคมชนะการเลือกตั้งโดยได้ 83% ของที่นั่งทั้งหมดในสภา

นอกจากนั้น พระนโรดม สีหนุ ยังดำเนินนโยบายที่จะดึงฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวากลุ่มต่าง ๆ ให้เข้าร่วมกับระบอบสังคมของพระองค์ และกดดันผู้ที่ไม่ยอมเข้าร่วมกับพระองค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป องค์กรที่ต่อต้านระบอบของพระนโรดม สีหนุถูกผลักดันให้กลายเป็นองค์กรใต้ดิน พรรคที่เป็นเอกเทศของฝ่ายซ้าย เช่น กรมประชาชนกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี สถานีวิทยุแห่งชาติได้ออกประกาศว่ากรมประชาชนเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม มีการติดโปสเตอร์ต่อต้านกรมประชาชนโดยทั่วไป หนังสือพิมพ์ของฝ่ายต่อต้านพระองค์ เช่น หนังสือพิมพ์ l'Observateur และหนังสือพิมพ์อื่นที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันถูกสั่งปิดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2506 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศชื่อของฝ่ายซ้ายจำนวน 34 คน ว่าเป็นพวกขี้ขลาด หลอกลวง ก่อวินาศกรรม หัวหน้ากบฏ และเป็นคนทรยศ ผลที่ตามมาทำให้ขบวนการฝ่ายซ้ายต้องออกจากเมืองหลวงไปตั้งมั่นในชนบท

การดำเนินนโยบายต่างประเทศของพระนโรดม สีหนุ เป็นการดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่มีแนวโน้มเป็นปฏิปักษ์กับไทยและเวียดนามใต้ ในขณะที่เป็นมิตรกับจีนและสนับสนุนเวียดนามเหนือในสงครามเวียดนาม [19] กัมพูชาในสมัยนี้มีกรณีพิพาทกับไทย ทั้งกรณีพิพาทเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร และการกวาดล้างชาวไทยเกาะกงในจังหวัดเกาะกง การปกครองระบอบสังคมของพระองค์สิ้นสุดลงเมื่อถูกรัฐประหาร โดยลน นล เมื่อ พ.ศ. 2513 ซึ่งได้จัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรขึ้นแทน พระนโรดม สีหนุต้องลี้ภัยไปจัดตั้งรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่น ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

สาธารณรัฐเขมรและสงคราม

 
ชาวเขมรนับหมื่นคนเสียชีวิตในช่วงการทิ้งระเบิดในกัมพูชาของสหรัฐ ในระหว่าง ปี ค.ศ. 1970 และ 1973[20]

สงครามกลางเมืองกัมพูชา เป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ) และเวียดกงฝ่ายหนึ่งกับรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐเวียดนาม (เวียดนามใต้) อีกฝ่ายหนึ่ง

สงครามนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นจากอิทธิพลและการกระทำของพันธมิตรคู่สงคราม การเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องของกองทัพประชาชนเวียดนาม (กองทัพเวียดนามเหนือ) เป็นไปเพื่อป้องกันฐานที่มั่นทางตะวันออกของกัมพูชา ซึ่งหากเสียไปการดำเนินความพยายามทางทหารในเวียดนามใต้จะยากขึ้น หรัฐประหาร 18 มีนาคม พ.ศ. 2513 ทำให้รัฐบาลนิยมอเมริกาและต่อต้านเวียดนามเถลิงอำนาจ และยุติความเป็นกลางในสงครามเวียดนาม กองทัพเวียดนามเหนือจึงถูกคุกคามจากทั้งรัฐบาลกัมพูชาใหม่ที่ไม่เป็นมิตรทางตะวันตก และกองกำลังสหรัฐและเวียดนามใต้ในเวียดนามทางตะวันออก

หลังจากการสู้รบผ่านไป 5 ปี รัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐเขมรพ่ายแพ้เมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 และเขมรแดงได้ประกาศตั้งกัมพูชาประชาธิปไตย ความขัดแย้งนี้แม้จะเป็นการสู้รบในประเทศ แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2502 – 2518) และมีความเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างราชอาณาจักรลาว เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ สงครามกลางเมืองนี้นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา

กัมพูชาประชาธิปไตยและเขมรแดง

 
ห้องของพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง มีภาพถ่ายนับพันของเหยื่อที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเขมรแดง
 
เจิงเอกสถานที่ฝั่งศพของประชาชนจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดง

กัมพูชาประชาธิปไตย (อังกฤษ: Democratic Kampuchea; ฝรั่งเศส: Kampuchea démocratique; เขมร: កម្ពុជាប្រជាធិបតេយ្យ อ่านว่า ก็อมปูเจียประเจียทิปะเต็ย) คือชื่อของประเทศกัมพูชาระหว่างปี พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2522 ซึ่งเกิดจากการโค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรของนายพลลอลนอล และได้จัดปกครองในรูปแบบรัฐคอมมิวนิสต์โดยพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาหรือเขมรแดง ในสมัยนี้องค์กรของรัฐบาลจะถูกอ้างถึงในชื่อ "อังการ์เลอ" (เขมร: អង្គការលើ; องฺคการเลี - องค์การบน หรือ หน่วยเหนือ) ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชานั้น แกนนำของพรรคให้เรียกชื่อว่า "อังการ์ปะเดะวัด" (เขมร: អង្គការបដិវត្ត; องฺคการปฏิวัตฺติ - องค์การปฏิวัติ) โดยผู้นำสูงสุดของประเทศที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดคือนายพล พต ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของเขมรแดงด้วย

ในปี พ.ศ. 2522 กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาภายใต้การนำของเฮง สัมริน และกองทัพเวียดนามได้รุกเข้ามาทางชายแดนตอนใต้ของกัมพูชาและสามารถโค่นล้มรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยได้สำเร็จ พร้อมทั้งได้จัดการปกครองประเทศใหม่ในชื่อ สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา กองทัพเขมรแดงจึงได้ถอยร่นไปตั้งมั่นในทางภาคเหนือของประเทศและยังคงจัดรูปแบบการปกครองตามระบบของกัมพูชาประชาธิปไตยเดิมต่อไป

สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา

สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (อังกฤษ: People's Republic of Kampuchea; PRK; เขมร: សាធារណរដ្ឋប្រជាមានិតកម្ពុជា สาธารณรฏฺฐปฺรชามานิตฺกมฺพูชา) เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งในกัมพูชาโดยแนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มของกัมพูชาฝ่ายซ้ายที่อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มของเขมรแดง ล้มล้างรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยของพล พต โดยร่วมมือกับกองทัพของเวียดนาม ทำให้เกิดการรุกรานเวียดนามของกัมพูชา เพื่อผลักดันกองทัพเขมรแดงออกไปจากพนมเปญ มีเวียดนามและสหภาพโซเวียตเป็นพันธมิตรที่สำคัญ

สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาไม่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากจีน อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่นั่งในสหประชาชาติของประเทศกัมพูชาในขณะนั้นเป็นของแนวร่วมเขมรสามฝ่ายที่จัดตั้งรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย ซึ่งกลุ่มเขมรแดงของพล พตเข้าร่วมกับกลุ่มที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์อีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของนโรดม สีหนุ และซอน ซาน อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาได้ประกาศเป็นรัฐบาลของกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2522-2536 โดยมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่จำกัด

สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐกัมพูชา (อังกฤษ: State of Cambodia (SOC); เขมร: រដ្ឋកម្ពុជា) ในช่วงสี่ปีสุดท้าย เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับนานาชาติ ในขณะเดียวกันได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงระบบจากระบบรัฐเดียวไปสู่การฟื้นฟูราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ ในช่วง พ.ศ. 2522 - 2534 โดยนิยมลัทธิมากซ์-เลนินแบบสหภาพโซเวียต การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังอ่อนแอ จากการทำลายล้างของระบอบเขมรแดง และเป็นรัฐหุ่นเชิดของเวียดนามที่เข้ามาแทรกแซงทางเศรษฐกิจ จนรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเป็นรัฐที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ก็ฟื้นฟูและสร้างชาติกัมพูชาได้ใหม่

กัมพูชายุคใหม่

หลังการล่มสลายของกัมพูชาประชาธิปไตย กัมพูชาตกอยู่ภายใต้การรุกรานของเวียดนามและรัฐบาลที่นิยมฮานอยซึ่งก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา สงครามกลางเมืองหลัง พ.ศ. 2523 เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพประชาชนปฏิวัติกัมพูชาของรัฐบาลกับแนวร่วมเขมรสามฝ่ายซึ่งถือเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของกลุ่มต่างๆสามกลุ่มคือ พรรคฟุนซินเปกของพระนโรดม สีหนุ พรรคกัมพูชาประชาธิปไตยหรือเขมรแดง และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร มีการเจรจาสันติภาพตั้งแต่ พ.ศ. 2532 และนำไปสู่การประชุมสันติภาพที่ปารีสเพื่อสงบศึกใน พ.ศ. 2534 ในที่สุดมีการจัดการเลือกตั้งโดยสหประชาชาติใน พ.ศ. 2536 เพื่อเริ่มต้นฟื้นฟูประเทศ พระนโรดม สีหนุกลับมาเป็นกษัตริย์อีกครั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลผสม หลังจากมีการเลือกตั้งโดยปกติใน พ.ศ. 2541 การเมืองมีความมั่นคงขึ้น หลังการล่มสลายของเขมรแดง ใน พ.ศ. 2541

การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์

 
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ หลังพระองค์เสด็จนิวัติกัมพูชาและประเทศได้มีการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว

ในปี พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุได้รับอัญเชิญให้เสด็จกลับกัมพูชาและได้มีการฟื้นฟูในฐานะพระมหากษัตริย์ของกัมพูชา แต่อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นหลังจากการเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนจาก UNTAC เสถียรภาพที่เกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 โดยการทำรัฐประหารซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนร่วมกับพรรคที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในรัฐบาล[21] หลังจากที่รัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพภายใต้การบริหารของสมเด็จฮุนเซนแล้วกัมพูชาก็ได้รับการยอมรับเข้าสู่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542[22][23] ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความพยายามในการฟื้นฟูได้ก้าวหน้าและนำไปสู่ความมั่นคงทางการเมืองผ่านประชาธิปไตยระบบการเมืองหลายพรรคภายใต้ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[8] แม้ว่าการปกครองของฮุนเซนจะถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคอรัปชั่น,[24] พลเมืองกัมพูชาส่วนใหญ่ในช่วงปี 2000 ยังคงได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล การสัมภาษณ์ชาวเขมรในชนบทในปี 2551 แสดงให้เห็นว่าสถานะที่มั่นคงต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรง[25]

การเมืองการปกครอง

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหมุนี
พระมหากษัตริย์กัมพูชา
(พ.ศ. 2547 – ปัจจุบัน)
สมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาแณต
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
(พ.ศ. 2566 – ปัจจุบัน)

สภาพการเมืองในกัมพูชาปัจจุบันถือว่ามีเสถียรภาพ พรรคการเมืองสองพรรคหลักซึ่งประกอบขึ้นเป็นรัฐบาลกัมพูชา คือ พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ของสมเด็จฮุน เซน และพรรคฟุนซินเปก (FUNCINPEC) ของสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ สามารถร่วมมือกันได้อย่างราบรื่น ทั้งในด้านบริหารและด้านนิติบัญญัติ รวมทั้งมีท่าทีที่สอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ในประเด็นทางการเมืองสำคัญ ๆ ของประเทศ อาทิ เรื่องการนำตัวอดีตผู้นำเขมรแดงมาพิพากษาโทษ เป็นต้น

 
คณะรัฐบาลในพระราชอาณาจักรกัมพูชา

กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลยังไม่มีความเข้มแข็งมากพอ และคงสามารถทำได้เพียงแต่สร้างผลกระทบทางลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล โดยในทางการเมือง พรรคสม รังสี พรรคการเมืองฝ่ายค้านหนึ่งเดียวในสภาแห่งชาติกัมพูชา ได้เคลื่อนไหวตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลกัมพูชาอย่างแข็งขัน พยายามชี้ให้สาธารณชนและนานาชาติ เห็นถึงการทุจริตและประพฤติมิชอบของรัฐบาล รวมทั้งการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและของพรรค อย่างไรก็ดี ในด้านความมั่นคง มีปรากฏการณ์ใหม่ คือ ได้เกิดกลุ่มติดอาวุธที่มีวัตถุประสงค์จะโค่นล้มรัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน ที่สำคัญคือ Cambodian Freedom Fighters (CFF) ซึ่งมีชาวกัมพูชาสัญชาติอเมริกันเป็นหัวหน้า กลุ่มดังกล่าวได้ก่อการร้ายขึ้นในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 แต่รัฐบาลกัมพูชาสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ และอยู่ระหว่างกระบวนการพิพากษาตัวผู้กระทำผิด

รัฐบาล

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาถือเป็นหัวหน้าฝ้ายบริการในพระราชอาณาจักรกัมพูชา ส่วนองค์พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา (ปัจจุบันคือพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี) ทรงเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำและโดยความเห็นชอบของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะใช้อำนาจบริหารประเทศ

ในปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชามีทั้งสิ้น 36 คน โดยมี สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแณต เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 36 แห่งพระราชอาณาจักร ต่อจากสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน

พระมหากษัตริย์

 
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนีราชธานีพนมเปญ

สถาบันพระมหากษัตริย์ในพระราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขที่เคารพสักการะ ไม่มีพระราชอำนาจปกครองโดยตรง ทรงยึดถือหลัก "ให้ทรงปกเกล้า แต่ไม่ทรงปกครอง" คล้ายกับระบบพระมหากษัตริย์ในสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ อย่างเป็นทางการและเป็นสัญลักษณ์แห่งสัญลักษณ์ของสันติภาพ เสถียรภาพและสวัสดิภาพของชาติและชาวเขมร ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของกัมพูชา[26]

สถาบันพระมหากษัตริย์กัมพูชาถือเป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในทวีปเอเชียรองจากญี่ปุ่น (จักรพรรดิญี่ปุ่น) พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 114 (รัชกาลที่ 114) ทรงสืบพระราชสันตติวงศ์มาจากราชวงศ์วรมัน

การสืบราชสันตติวงศ์

ระบบกษัตริย์ของกัมพูชาไม่เหมือนกับระบบกษัตริย์ส่วนใหญ่ในประเทศอื่น ๆ ที่ราชบัลลังก์จะตกไปสู่ผู้มีลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ลำดับถัดไป (ผู้ที่มีศักดิ์สูงสุดในราชวงศ์ หรือพระราชโอรสองค์โตของกษัตริย์พระองค์ก่อน เป็นต้น) และพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถเลือกผู้ที่จะมาสืบราชสันตติวงศ์ได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ที่มีสิทธิ์ในการเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่นั้นคือ กรมปรึกษาราชบัลลังก์ (Royal Council of the Throne) ซึ่งมีสมาชิกดังนี้

  1. นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
  2. ประธานรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
  3. ประธานพฤฒสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
  4. รองประธานรัฐสภาคนที่หนึ่ง
  5. รองประธานรัฐสภาคนที่สอง
  6. รองประธานพฤฒสภาคนที่หนึ่ง
  7. รองประธานพฤฒสภาคนที่สอง
  8. สมเด็จพระสังฆราชในศาสนาพุทธ ฝ่ายคณะสงฆ์มหานิกาย
  9. สมเด็จพระสังฆราชในศาสนาพุทธ ฝ่ายคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

กรมปรึกษาราชบัลลังก์จะจัดการประชุมในสัปดาห์ที่พระมหากษัตริย์สวรรคตหรือไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ต่อไป และเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่จากรายชื่อผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ และเป็นสมาชิกราชวงศ์

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 
เอกอัครราชทูตพระราชอาณาจักรกัมพูชาประจำรัสเซียในพระนามพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี ขณะเข้าพบนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ดมีตรี เมดเวเดฟ
 
ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพระราชอาณาจักรกัมพูชาได้ถูกบริหารจัดการโดยกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาภายใต้การดูแลของ ฯพณฯ ท่านปรัก สุคน

พระราชอาณาจักรกัมพูชายังเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ, ธนาคารโลก, และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นประเทศสมาชิกของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB), สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน), และได้เข้าร่วมองค์การการค้าโลก ในปี ค.ศ. 2004 และในปี ค.ศ. 2005 กัมพูชาได้เข้าร่วมประชุมพิธีการสถาปนา การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่ได้จัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย

กัมพูชาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับหลายประเทศและได้มีสถานทูตต่างประเทศ 20 แห่งในประเทศ[27] รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียหลายประเทศและประเทศที่มีบทบาทสำคัญในระหว่างการเจรจาสันติภาพที่ปารีสรวมถึงสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, แคนาดา, จีน, สหภาพยุโรป (EU),ญี่ปุ่นและรัสเซีย[28] อันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำให้องค์กรการกุศลต่าง ๆ ได้ช่วยเหลือโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม,เศรษฐกิจและวิศวกรรมโยธา

ในขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ได้ผ่านไปแล้วข้อพิพาทชายแดนระหว่างกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีอยู่ มีความขัดแย้งในหมู่เกาะนอกชายฝั่งและบางส่วนของเขตแดนกับเวียดนามและเขตแดนทางทะเลที่ไม่ได้กำหนด กัมพูชาและไทยก็มีปัญหาความขัดแย้งชายแดนด้วยการปะทะทางการทหารในกรณีพิพาทพรมแดนไทย–กัมพูชาในปี ค.ศ. 2008 ที่เกิดขึ้นใกล้บริเวณปราสาทพระวิหาร นำไปสู่การเสื่อมสภาพในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับไทย [29][30]

กองทัพ

 
กองทัพพระราชอาณาจักรกัมพูชา (กองยุทธพลเขมรภูมินท์) เดินสวนสนามในช่วงกรณีพิพาทพรมแดนไทย–กัมพูชา พ.ศ. 2554

กองทัพพระราชอาณาจักรกัมพูชา มีชื่อทางการว่า (กองยุทธพลเขมรภูมินท์) ประกอบไปด้วย กองทัพบกกัมพูชา, กองทัพเรือกัมพูชา, กองทัพอากาศกัมพูชาและกองราชอาวุธหัตถ์ จัดตั้งโดยกระทรวงกลาโหมแห่งชาติพระราชอาณาจักรอยู่ภายใต้คำสั่งของ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและมีองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหมุนีทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพและมีนายกรัฐมนตรีสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

การริเริ่มโครงสร้างการบังคับบัญชาที่ได้รับการปรับปรุงในต้นปี ค.ศ. 2000 เป็นการนำเสนอที่สำคัญสำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรทหารกัมพูชา สิ่งนี้เห็นว่ากระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานย่อยสามแห่งที่รับผิดชอบด้านโลจิสติกส์และการเงินวัสดุและบริการด้านเทคนิคและบริการด้านการป้องกันภายใต้กองบัญชาการสูงสุด (HCHQ)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือ สมเด็จพิชัยเสนา เตีย บัญ เตียบัญได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979

ในปี ค.ศ. 2010 กองกำลังทหารกัมพูชาประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่ประจำการประมาณ 102,000 คน (200,000 กองพลสำรอง) ยอดการใช้จ่ายทางทหารของกัมพูชาอยู่ที่ 3% ของ GDP ของประเทศ จำนวนกำลังพลทหารของกองราชอาวุธหัตถ์อยู่ที่ 7,000 คน หน้าที่ด้านกิจการภายในพระราชอาณาจักรของกองทัพ ได้แก่ การจัดหาความปลอดภัยและความสงบสุขของประชาชน, การตรวจสอบและป้องกันอาชญากรรมองค์กรการก่อการร้ายและกลุ่มความรุนแรงอื่น ๆ ; เพื่อปกป้องทรัพย์สินของรัฐและเอกชน เพื่อช่วยเหลือและช่วยเหลือพลเรือนและกองกำลังฉุกเฉินอื่น ๆ ในกรณีฉุกเฉิน, ภัยธรรมชาติ, เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและความขัดแย้งทางอาวุธ

สมเด็จฮุนเซนได้สะสมอำนาจอย่างมากในกัมพูชารวมถึง "กองกำลังป้องกัน" ที่ดูเหมือนว่าจะเทียบเคียงความสามารถของหน่วยทหารปกติของประเทศ ซึ่งมักถูกใช้โดยฮุนเซนเพื่อระงับการต่อต้านทางการเมือง[31] พระราชอาณาจักรกัมพูชายังได้ลงนามในสนธิสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์[32]

ภูมิศาสตร์

 
ทะเลสาบยักษ์ลูม
 
โตนเลสาบ
 
น้ำตกบริเวณทิวเขาพนมกุเลน

กัมพูชา มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายชามหรืออ่าง คือ ตรงกลางเป็นแอ่งทะเลสาบและลุ่มแม่น้ำโขงอันกว้างขวาง มีภูเขาล้อมรอบอยู่ 3 ด้าน ได้แก่

  • ด้านตะวันออกมีแนวเทือกเขาอันนัมที่เป็นพรมแดนกับประเทศเวียดนาม
  • ด้านเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือมีแนวเทือกเขาพนมดงรักที่เป็นพรมแดนกับประเทศไทย
  • ด้านใต้และตะวันตกใต้มีแนวเทือกเขาบรรทัดที่เป็นแนวพรมแดนกับประเทศไทย

เฉพาะด้านตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง

แม่น้ำและทะเลสาบ

  1. แม่น้ำโขง ไหลจากลาวเข้าสู่ภาคเหนือของกัมพูชาแล้วไหลผ่านเข้าเขตเวียดนาม มีความยาวในเขตกัมพูชารวม 500 กิโลเมตร
  2. แม่น้ำทะเลสาบ เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงกับทะเลสาบ ความยาว 130 กิโลเมตร
  3. แม่น้ำบาสัก (Bassac) เชื่อมต่อกับแม่น้ำทะเลสาบที่หน้าพระมหาราชวัง กรุงพนมเปญ ความยาว 80 กิโลเมตร
  4. ทะเลสาบโตนเลสาบ อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 100 กิโลเมตร ฤดูน้ำหลากน้ำท่วมถึง 7,500 ตารางกิโลเมตร ลึกถึง 10 เมตร โตนเลสาบครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กำปงธม กำปงซะนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ ในโตนเลสาบมีปลาชุกชุมกว่า 300 ชนิด

ภูเขา

ยอดเขาสูงที่สุดของกัมพูชาคือ พนมอาออรัล สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,813 เมตรทิศเหนือของกัมพูชามีเขตแดนติดกับประเทศไทยระยะทางยาว 750 กิโลเมตร ติดกับจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด โดยมีเทือกเขาพนมดงรัก และเทือกเขาบรรทัดกั้น

ป่าไม้

กัมพูชาเป็นประเทศที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากที่สุดหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันป่าไม้ลดลงอย่างมากหลังจากที่รัฐบาลเปิดให้สัมปทานป่ากับบริษัทเอกชนจากประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่นส่วนในลาวนั้นก็ตกกำลังอยู่สภาวะเดียวกัน

ภูมิอากาศ

  • มีอากาศมรสุมเขตร้อนเป็นแบบร้อนชื้นแถบมรสุม ฤดูฝนเริ่มจากเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูแล้ง เริ่มจากเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เดือนเมษายนมีอุณหภูมิสูงสุดที่สุด เดือนมกราคมมีอุณหภูมิต่ำที่สุด เดือนตุลาคมมีฝนตกชุกที่สุด
ข้อมูลภูมิอากาศของกรุงพนมเปญ, ประเทศกัมพูชา
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 31.5
(88.7)
32.8
(91)
34.9
(94.8)
34.9
(94.8)
34.3
(93.7)
33.5
(92.3)
32.5
(90.5)
32.5
(90.5)
32.3
(90.1)
31.1
(88)
29.9
(85.8)
30.1
(86.2)
32.5
(90.5)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 21.9
(71.4)
23.0
(73.4)
24.1
(75.4)
25.0
(77)
25.3
(77.5)
25.0
(77)
24.7
(76.5)
24.6
(76.3)
24.3
(75.7)
23.8
(74.8)
22.7
(72.9)
21.7
(71.1)
23.84
(74.92)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 25.5
(1.004)
11.5
(0.453)
58.0
(2.283)
101.0
(3.976)
111.6
(4.394)
177.1
(6.972)
195.9
(7.713)
172.0
(6.772)
248.8
(9.795)
318.9
(12.555)
135.0
(5.315)
80.3
(3.161)
1,635.6
(64.394)
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย (≥ 0.1 mm) 2.8 2.4 5.2 8.6 16.4 16.6 19.6 21.4 19.8 24.0 11.8 4.8 153.4
จำนวนชั่วโมงที่มีแดด 279 252 248 240 217 180 155 155 150 186 240 279 2,581
แหล่งที่มา: HKO

การแบ่งเขตการปกครอง

เมืองหลวง (ราชธานี) และจังหวัด (เขต) เป็นเขตการปกครองระดับแรกสุดของประเทศกัมพูชา แบ่งเป็น 25 จังหวัด (รวมเมืองหลวง) แต่ละจังหวัดจะแบ่งเป็นเทศบาลและอำเภอ ซึ่งเป็นเขตการปกครองระดับที่สอง มีทั้งหมด 159 อำเภอ และ 26 เทศบาล แต่ละอำเภอและเทศบาลแบ่งเป็นตำบล และแต่ละตำบลแบ่งเป็นหมู่บ้าน

ที่ จังหวัด เมืองหลัก พื้นที่ (ตร.กม.) ประชากร
1 กระแจะ กระแจะ 11,094 318,523
2 กันดาล ตาเขมา 3,568 1,265,805
3 กำปงจาม กำปงจาม 4,549 1,010,098
4 กำปงชนัง กำปงชนัง 5,521 472,616
5 กำปงธม สตึงแสน 13,814 908,398
6 กำปงสปือ จบามอน 7,017 718,008
7 กำปอต กำปอต 4,873 585,110
8 เกาะกง เขมรภูมินทร์ 11,160 139,722
9 แกบ แกบ 336 80,208
10 ตโบงฆมุม[33] สวง 4,928 754,000
11 ตาแก้ว โฎนแกว 3,563 843,931
12 บันทายมีชัย ศรีโสภณ 16,679 678,033
13 พนมเปญ 758 2,234,566
14 พระตะบอง พระตะบอง 11,702 1,036,523
15 พระวิหาร พนมตะแบงมีชัย 13,788 170,852
16 พระสีหนุ พระสีหนุ 2,536.68 199,902
17 โพธิสัตว์ โพธิสัตว์ 12,692 397,107
18 ไพรแวง ไพรแวง 4,883 947,357
19 ไพลิน ไพลิน 803 70,482
20 มณฑลคีรี แสนมโนรมย์ 14,288 60,811
21 รัตนคีรี บานลุง 10,782 567,459
22 สตึงแตรง สตึงแตรง 11,092 111,734
23 สวายเรียง สวายเรียง 2,966 498,785
24 เสียมราฐ เสียมราฐ 10,229 1,000,309
25 อุดรมีชัย สำโรง 6,158 185,443
จังหวัดของประเทศกัมพูชา
 

เศรษฐกิจ

 
ธนบัตรสกุลเงินเรียลกัมพูชาที่ระลึกในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนีทรงครองสิริราชสมบัติครบ 15 พรรษา
 
ถนนแห่งหนึ่งในราชธานีพนมเปญ

พระราชอาณาจักรกัมพูชา ใช้สกุลเงิน เรียลกัมพูชา เป็นหน่วยสกุลเงินประจำชาติ

เศรษฐกิจในพระราชอาณาจักรได้รับการชี้นำและบริหารโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพระคลัง คือ ดร. หลวงเศรษฐการ อุน พรมนนิโรธ อุนพรมนนิโรธได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013

ธนาคารแห่งชาติพระราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นธนาคารกลางของพระราชอาณาจักรและให้การกำกับดูแลภาคการธนาคารของประเทศและรับผิดชอบส่วนหนึ่งในการเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศ ระหว่างปี ค.ศ. 2010 ถึง ค.ศ. 2012 จำนวนธนาคารที่อยู่ภายใต้การควบคุมและสถาบันการเงินขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจาก 31 หน่วยงานที่ครอบคลุมเป็นสถาบันมากกว่า 70 แห่งซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเติบโตในภาคการธนาคารและการเงินของกัมพูชา

เศรษฐกิจในพระราชอาณาจักรกัมพูชาที่สำคัญประกอบไปด้วย

  1. เกษตรกรรม อยู่บริเวณที่ราบภาคกลาง รอบทะเลสาบเขมร พืชที่สำคัญคือ ข้าวเจ้า ยางพารา พริกไทย
  2. การประมง บริเวณรอบทะเลสาบเขมร เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค
  3. การทำป่าไม้ บริเวณเขตภูเขาทางภาคเหนือโดยล่องมาตามแม่น้ำโขง
  4. การทำเหมืองแร่ ยังไม่ค่อยสำคัญ
  5. อุตสาหกรรม เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม ส่วนใหญ่เป็นโรงสีข้าว โรงเลื่อย รองเท้า

ภาวะเศรษฐกิจของกัมพูชาหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสังคมนิยมเป็นระบอบประชาธิปไตย และหลังจากสงครามภายใน ประเทศกัมพูชาเริ่มสงบลง และเริ่มพัฒนาฟื้นฟูบูรณะประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้ ประเทศทำการค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น กัมพูชาจึงกำหนดนโยบายที่มุ่งหวังการพัฒนาศักยภาพทางการเกษตร การท่องเที่ยว และส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติ โดยกำหนดยุทธการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐและได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงกฎหมายด้านเศรษฐกิจ การเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างประเทศ การปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีเงินได้ และเร่งรัดพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น สนามบิน ถนน ไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น ภายใต้ความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และ UNDP รวมทั้งประเทศที่ให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ

แต่การพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาได้เติบโตอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะในช่วงปี 2540-2541 กัมพูชาต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศถอนตัวออกจากประเทศกัมพูชา ส่งผลให้การฟื้นฟูบูรณะและการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า แต่หลังจากปี 2542 สถานการณ์การเมืองกัมพูชาเริ่มมีความมั่นคงพอสมควร และนับเป็นปีแรกที่กัมพูชามีสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในหมดไป ปัจจุบัน กัมพูชากำลังพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (ตุลาคม 2543 - กันยายน 2548) ทั้งนี้เพื่อให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในเกณฑ์ร้อยละ 6-7 ต่อปี ภาวะเศรษฐกิจของกัมพูชาในอดีตที่ผ่านมาสามารถสรุปได้ดังนี้

 
ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวในจังหวัดพระตะบอง
 
ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ

สินค้าเกษตรกรรมถือว่าเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศประมาณร้อยละ 43 ของ GDP มาจากข้าวและปศุสัตว์ ส่วนการประมงและป่าไม้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 สินค้าเกษตรที่ส่งออกได้แก่ข้าว ไม้ และยางพารา รองลงมาได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง สัตว์มีชีวิต ผลไม้ และปลา เป็นต้น ทั่วไปกัมพูชามีสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ไม้ ยางพารา ข้าว และปลา สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง บุหรี่ ทอง วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและเครื่องยนต์

เศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2546 คาดการณ์โดย The Economist Intelligence Unit (EIU) มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือ 5.0 % และ International Monetary Fund (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 4.7 % เทียบกับที่ขยายตัวราว 5.5 % ในปี 2545 ปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ได้แก่ รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ลดลง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์การก่อความไม่สงบ โดยมีการเผาสถานทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เกิดปัญหาการระบาดของโรคทางเดินหายใจ เฉียบพลันรุนแรง (SARS) ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในกัมพูชา (หลังการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2546 ที่ผ่านมา) ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในความปลอดภัยและ ปัญหาการเมืองที่ยังคงไร้เสถียรภาพ ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการเข้าไปลงทุนในกัมพูชา ถึงแม้ว่าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 สภาแห่งชาติของกัมพูชา (The National Assembly) ได้อนุมัติการออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการลงทุนฉบับลงวันที่ 5 สิงหาคม 2534 (Law on the Amendment to the Law on Investment of the Kingdom of Cambodia) เพื่อเอื้อสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ ส่วนภาคธุรกิจก่อสร้างยังคงอยู่ในภาวะซบเซา

ปี 2547 EIU และ IMF คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 % - 5.8 % ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกัมพูชาคาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 5.5 % - 6.0 % เนื่องจากรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับเมื่อเดือนธันวาคม 2546 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศเพิ่มโควตานำเข้าสิ่งทอสำหรับปี 2547 ให้กัมพูชาเพิ่มขึ้นอีก 14 % ซึ่งคาดว่าจะทำให้กัมพูชามีรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจก่อสร้างเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และจากการที่กัมพูชาได้เข้าเป็นสมาชิก ใหม่ของ WTO อย่างสมบูรณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ทำให้กัมพูชามีพันธกรณีที่ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายด้านการลงทุนให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าไปลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย้ายฐานการผลิตเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชาเพื่อส่งออก เนื่องจากกัมพูชายังมีอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ ทางด้านอัตราเงินเฟ้อ EIU และ IMF คาดว่าปี 2547 กัมพูชาจะมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 % - 3.5 % จากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยราว 1.3 % - 2.6 % ในปี 2546 เนื่องจากราคาอาหารในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, 2547)

การท่องเที่ยว

 
นครวัด ศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกัมพูชา และได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรองจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ[34] ผู้มาเยือนจากต่างประเทศในปี 2018 มีจำนวนถึงหกล้านคน เพิ่มขึ้นสิบเท่านับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21[35] การท่องเที่ยวกระตุ้นการจ้างงานกว่า 26% ในประเทศ ซึ่งคิดเป็น 2.5 ล้านอัตราสำหรับชาวกัมพูชา นอกจากพนมเปญและนครวัดแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่ เมืองพระสีหนุทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีชายหาดยอดนิยมหลายแห่ง และพระตะบองทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งทั้งสองแห่งนี้เป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับนักเดินทางแบ็คแพ็คซึ่งเป็นส่วนสำคัญของผู้มาเยือนกัมพูชา พื้นที่รอบ ๆ กำปอตและแกบรวมถึงสถานีโบกอร์ฮิลล์ก็เป็นที่สนใจของผู้มาเยือนเช่นกัน การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1993[36] ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในปี 2018 ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน รายรับจากการท่องเที่ยวเกิน 4.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018 คิดเป็นเกือบสิบเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของราชอาณาจักร อุทยานประวัติศาสตร์นครวัดในจังหวัดเสียมราฐ ชายหาดในพระสีหนุ เมืองหลวงพนมเปญ และกาสิโน 150 แห่งของกัมพูชา (เพิ่มขึ้นจากเพียง 57 แห่งในปี 2014) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ประชากร

ในปี พ.ศ. 2556 ประเทศกัมพูชามีประชากร 15,205,539 คน กว่าร้อยละ 90 มีเชื้อสายเขมรและพูดภาษาเขมรอันเป็นภาษาราชการ นอกจากนี้ยังมีชนกลุ่มน้อยที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศได้แก่ชาวเวียดนาม ร้อยละ 5 และชาวจีน ร้อยละ 1[8] นอกจากนี้ยังมีชนกลุ่มน้อยเชื้อสายไทยในจังหวัดเกาะกง[37][38][39] ชาวจามในจังหวัดกำปงจามและจังหวัดกระแจะ[40] ชาวลาวในจังหวัดรัตนคีรีและจังหวัดสตึงแตรง และชนเผ่าทางตอนเหนือต่อชายแดนประเทศลาวที่เรียกรวม ๆ ว่า แขมรเลอ

อัตราการเกิดของประชากรเท่ากับ 25.4 ต่อ 1,000 คน อัตราการเติบโตของประชากรเท่ากับ 1.7% สูงกว่าของประเทศไทย, เกาหลีใต้ และอินเดียอย่างมีนัยยะสำคัญ[41]

ภาษา

 
อักษรเขมรโบราณที่จารึกบนแท่นศิลา โดยเป็นอักษรที่พัฒนามาจากอักษรปัลลวะจากชมพูทวีป[43]

ภาษาราชการของกัมพูชาคือ ภาษาเขมร อันเป็นภาษาที่จัดอยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร อันเป็นภาษากลุ่มย่อยของตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาฝรั่งเศสในกลุ่มชาวเขมรผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นภาษาราชการหลักของอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส ปัจจุบันภาษาฝรั่งเศสยังถูกจัดอยู่ในการเรียนการสอนในโรงเรียนบางแห่ง และบางมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้การสนับสนุน ซึ่งภาษาฝรั่งเศสได้ตกทอดจากยุคอาณานิคมมาถึงในยุคปัจจุบันและยังมีใช้ในรัฐบาลบางวาระโดยเฉพาะในศาล[44]

ในอดีตปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลกัมพูชาเคยประกาศห้ามมิให้บุคคลเชื้อสายไทยพูดภาษาไทย และห้ามมีหนังสือไทยไว้ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่ค้นพบจะถูกทำลายให้สิ้นซาก โดยเฉพาะหากพูดภาษาไทยจะถูกปรับคำละ 25 เรียล และเพิ่มขึ้นเป็น 50 เรียลในปีต่อมา[45] เพื่อตอบโต้รัฐบาลไทยในคดีเขาพระวิหาร[46]

ศาสนา

ศาสนาในประเทศกัมพูชา
ศาสนา ร้อยละ
พุทธ
  
96.4%
อิสลาม
  
2.1%
คริสต์
  
1.3%
อื่น ๆ
  
0.3%
 
พระสงฆ์ขั้นสูงแห่งพระราชอาณาจักร สมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นธรรมประดับด้วยเครื่องอิสริยยศพระราชาณาจักรกัมพูชา

ประเทศกัมพูชา มีศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาประจำชาติ ที่มีศาสนิกชนกว่าร้อยละ 95 ถือเป็นศาสนาที่แข็งแกร่งและเป็นที่แพร่หลายในทุกจังหวัด มีอารามในพุทธศาสนา 4,392 แห่งทั่วประเทศ[47] ชาวเขมรมีความผูกพันกับพุทธศาสนามากทั้งประเพณีและวัฒนธรรม แม้ศาสนาพุทธรวมถึงศาสนาอื่น ๆ จะถูกยกเลิกในช่วงปี ค.ศ. 1970 แต่ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ในกลุ่มชนเชื้อสายจีน ยังมีการนับถือควบคู่กันระหว่างมหายานกับลัทธิเต๋า[48]

ศาสนาอิสลาม เป็นที่ยอมรับนับถือในชุมชนที่มีเชื้อสายจามและมลายู มีศาสนิกชนราว 300,000 คน ในจังหวัดกำปงจามมีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามจำนวนหลายแห่ง ส่วนศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก ตามด้วยนิกายโปรเตสแตนต์ มีชาวคาทอลิกราว 20,000 คนหรือร้อยละ 0.15 นอกจากนี้ยังมีนิกายอื่น ๆ เช่น แบปทิสต์ เมทอดิสต์ พยานพระยะโฮวา และมอรมอน[49]

การศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางการศึกษาระดับชาติในประเทศกัมพูชา ระบบการศึกษาของกัมพูชามีการกระจายอำนาจอย่างมาก โดยมีการดูแลในสามระดับได้แก่[50] ส่วนกลาง ระดับจังหวัด และเขต ซึ่งรับผิดชอบในการบริหารจัดการ รัฐธรรมนูญของกัมพูชาประกาศใช้การศึกษาภาคบังคับฟรีเป็นเวลาเก้าปี รับรองสิทธิสากลในการศึกษาคุณภาพขั้นพื้นฐาน สำมะโนกัมพูชาปี 2019 ประมาณการว่า 88.5% ของประชากรเป็นผู้รู้หนังสือ (91.1% ของผู้ชายและ 86.2% ของผู้หญิง) เยาวชนชาย (15–24 ปี) มีอัตราการอ่านออกเขียนได้ 89% เทียบกับ 86% ในผู้หญิง

สุขภาพ

ชาวกัมพูชามีอายุขัยเฉลี่ย 75 ปีในปี 2021[51] ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี[52] การดูแลสุขภาพมีทั้งภาครัฐและเอกชน และการวิจัยพบว่าความไว้วางใจในผู้ให้บริการด้านสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงการรับบริการดูแลสุขภาพในชนบทกัมพูชา รัฐบาลมีแผนที่จะเพิ่มคุณภาพการดูแลสุขภาพในประเทศโดยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ มาลาเรีย และโรคอื่น ๆอัตราการเสียชีวิตของทารกในกัมพูชาลดลงจาก 86 ต่อการเกิด 1,000 คนในปี 1998 เป็น 24 ในปี 2018 ในจังหวัดที่ประขากรมีสุขภาพที่แย่ที่สุด รัตนคีรี พบว่ามี 22.9% ของเด็กเสียชีวิตก่อนอายุห้าปี[53] กัมพูชาเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทุ่นระเบิดมากที่สุดในโลก ตามการประมาณการ ทุ่นระเบิดที่ยังไม่ได้ระเบิดมีส่วนทำให้พลเรือนเสียชีวิตกว่า 60,000 ราย และบาดเจ็บหรือบาดเจ็บอีกหลายพันคนตั้งแต่ปี 1970[54] จำนวนผู้เสียชีวิตจากทุ่นระเบิดที่รายงานลดลงอย่างมากจาก 800 คนในปี 2005 เป็น 111 คนในปี 2013 (เสียชีวิต 22 คนและบาดเจ็บ 89 คน) ผู้รอดชีวิตจากทุ่นระเบิดมักจะต้องตัดแขนหรือขาหนึ่งข้างหรือมากกว่านั้น รัฐบาลกัมพูชาคาดว่าประเทศจะปลอดจากทุ่นระเบิดภายในปี 2020[55] แต่ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงเด็กกำพร้าและจำนวนผู้พิการทางร่างกาย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกัมพูชาไปอีกหลายปี

วัฒนธรรม

 
การแข่งขันพายเรือประจำปีในงาน บุญอมตูก
 
เจ้าบ่าวสวมชุดครุยและถือดาบ ส่วนเจ้าสาวสวมชุดสไบ ตามประเพณีแต่งงานของกัมพูชาที่ถือคติตำนานพระทอง-นางนาค
 
ซัมเปี๊ยะห์ (การทักทายแบบกัมพูชา)

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมกัมพูชา ได้แก่ พุทธศาสนานิกายเถรวาท ศาสนาฮินดู ลัทธิล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส วัฒนธรรมอังกอร์ และโลกาภิวัตน์สมัยใหม่ กระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์กัมพูชามีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมกัมพูชา วัฒนธรรมกัมพูชาไม่เพียงแต่รวมวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยในที่ราบลุ่มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวเขากว่า 20 เผ่าที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เรียกขานว่าแขมรเลอ (Khmer Loeu) ซึ่งเป็นคำที่สมเด็จนโรดม สีหนุ บัญญัติขึ้นเพื่อส่งเสริมความสามัคคีระหว่างชาวเขาและชาวลุ่มน้ำ ชาวกัมพูชาในชนบทสวมผ้าพันคอแบบกรอมซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเสื้อผ้ากัมพูชา

ซัมเปี๊ยะห์ เป็นคำทักทายแบบกัมพูชาดั้งเดิมหรือวิธีการแสดงความเคารพต่อผู้อื่น วัฒนธรรมกัมพูชาที่พัฒนาและเผยแพร่โดยอาณาจักรเขมรมีรูปแบบการฟ้อนรำ สถาปัตยกรรม และประติมากรรมที่โดดเด่น ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนกับลาวและไทยที่อยู่ใกล้เคียงตลอดประวัติศาสตร์ นครวัด (นครวัด แปลว่า "เมือง" และวัด แปลว่า "วัด") เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมเขมรที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุดในสมัยนครวัด พร้อมด้วยวัดอื่น ๆ อีกหลายร้อยแห่งที่มีการค้นพบรอบ ๆ ภูมิภาค[56]

บุญอมตูก (เทศกาลน้ำและพระจันทร์ของกัมพูชา) การแข่งขันพายเรือประจำปีเป็นเทศกาลประจำชาติกัมพูชาที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุด จัดขึ้นในช่วงปลายฤดูฝนเมื่อแม่น้ำโขงเริ่มจมกลับสู่ระดับปกติทำให้แม่น้ำโตนเลสาบไหลย้อนกลับได้ ประมาณ 10% ของประชากรกัมพูชาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ในแต่ละปีเพื่อขอบคุณดวงจันทร์ ชมดอกไม้ไฟ รับประทานอาหาร และเข้าร่วมการแข่งเรือในบรรยากาศแบบงานรื่นเริง กีฬายอดนิยม ได้แก่ ฟุตบอล เตะทราย และหมากรุก ตามปฏิทินสุริยคติคลาสสิกของอินเดียและพุทธศาสนานิกายเถรวาท ปีใหม่กัมพูชาเป็นวันหยุดสำคัญที่จัดขึ้นในเดือนเมษายน

ทุกปี ชาวกัมพูชาจะไปเยี่ยมชมเจดีย์ทั่วประเทศเพื่อเฉลิมฉลองวันบรรพบุรุษ ในช่วงเทศกาล 15 ​​วัน ผู้คนจะสวดมนต์และอาหารให้กับวิญญาณของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว สำหรับชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ เป็นเวลาที่ต้องระลึกถึงญาติพี่น้องซึ่งเสียชีวิตระหว่างการปกครองของเขมรแดง ค.ศ. 1975-1979

อาหาร

อาหารกัมพูชาที่มีชื่อเสียง ตามเข็มนาฬิกาจากซ้ายบน ลงล่าง: สัมลอร์การี (แกงกะหรี่เขมร), ปรอฮก (ปลาร้าเขมร), นมบัญเจาะ (ขนมจีนเขมร), สัมลอร์มะจู (แกงส้มเขมร) และอาม็อกเตร็ย (ห่อหมกเขมร)

ข้าวเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลาจากแม่น้ำโขงและโตนเลสาบก็เป็นส่วนสำคัญของอาหารเช่นกัน อุปทานของปลาและผลิตภัณฑ์จากปลาสำหรับอาหารและการค้า ณ ปี 2000 คือ 20 กิโลกรัม (44 ปอนด์) ต่อคนหรือ 2 ออนซ์ต่อวันต่อคน[57] ปลาบางชนิดสามารถถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้ได้นานขึ้น อาหารของกัมพูชาประกอบด้วยผลไม้เมืองร้อน ซุป และก๋วยเตี๋ยว ส่วนผสมหลักคือ มะกรูด ตะไคร้ กระเทียม น้ำปลา ซีอิ๊ว มะขาม ขิง ซอสหอยนางรม กะทิ และพริกไทยดำ อาหารบางอย่าง ได้แก่ น้ำบาลโชค (នំបញ្ចុក), ปลาอามก (អាម៉ុកត្រី) และ aping (អាពីង) ได้รับความนิยม กัมพูชายังขึ้นชื่อในด้านการมีอาหารข้างทางที่หลากหลายซึ่งได้รับความนิยมสูง[58] อิทธิพลของชาวฝรั่งเศสที่มีต่ออาหารกัมพูชา ได้แก่ แกงเผ็ดกัมพูชากับขนมปังบาแกตต์ปิ้ง ขนมปังบาแกตต์ที่ปิ้งแล้วจุ่มลงในแกงและรับประทาน แกงเผ็ดกัมพูชายังนิยมทานกับข้าวและวุ้นเส้น อาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด กุ้ยเตียว ก็คือ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำหมูใส่กระเทียมเจียว หอมใหญ่ หัวหอมใหญ่ ที่อาจมีท็อปปิ้งต่าง ๆ เช่น ลูกชิ้น กุ้ง ตับหมู หรือผักกาดหอม พริกไทยกำปอตขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลกและมักทานพร้อมกับปูและปลาหมึกในร้านอาหารริมแม่น้ำ

ส่วนอาหารกัมพูชาที่มีชื่อเสียงได้แก่ สัมลอร์การี (សម្លការី) แกงกะหรี่, ปรอฮก (ប្រហុក) ปลาร้าเขมร, นมบัญเจาะ (នំបញ្ចុក) ขนมจีนเขมร, สัมลอร์มะจู (សម្លម្ជូរ) แกงส้มเขมร และอาม็อกเตร็ย (អាម៉ុកត្រី) ห่อหมกเขมร

ชาวกัมพูชาดื่มชาในปริมาณมาก[59] ซึ่งปลูกในจังหวัดมณฑลคีรีและรอบ ๆ te krolap เป็นชาที่เข้มข้น ทำจากการใส่น้ำและใบชาจำนวนมากลงในแก้วขนาดเล็ก วางจานรองไว้ด้านบน แล้วพลิกสิ่งทั้งหมดกลับหัวเพื่อชง ก่อนจะจะถูกเทลงในถ้วยอีกใบและเติมน้ำตาลในปริมาณมาก แต่ไม่ใส่นม ชามะนาว te kdau kroch chhma ทำจากชาจีนฝุ่นแดงและน้ำมะนาว ให้ความสดชื่นทั้งร้อนและเย็น และโดยทั่วไปจะเสิร์ฟพร้อมกับน้ำตาลในปริมาณมาก ในส่วนของกาแฟ เมล็ดกาแฟมักจะนำเข้าจากประเทศลาวและเวียดนาม แม้ว่ากาแฟที่ผลิตในประเทศจากจังหวัดรัตนคีรีและจังหวัดมณฑุลคีรีจะสามารถพบได้ในบางพื้นที่ กาแฟกัมพูชามักคั่วด้วยเนยและน้ำตาล รวมทั้งส่วนผสมอื่น ๆ ตั้งแต่เหล้ารัมไปจนถึงไขมันหมู ทำให้เครื่องดื่มมีกลิ่นแปลก ๆ แต่เป็นเอกลักษณ์ กัมพูชามีโรงเบียร์อุตสาหกรรมหลายแห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดพระสีหนุและพนมเปญ[60] นอกจากนี้ยังมีโรงเบียร์ขนาดเล็กจำนวนมากในพนมเปญและเสียมราฐ ระหว่างปี 2014 ถึงปี 2018 จำนวนโรงเบียร์คราฟต์เพิ่มขึ้นจากสองเป็นเก้าแห่ง ณ ปี 2019 มีโรงเบียร์หรือโรงเบียร์ขนาดเล็ก 12 แห่งในกัมพูชา ไวน์ข้าวเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยม และมักจะผสมกับผลไม้หรือสมุนไพร[61]

กีฬา

ฟุตบอล เป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ฟุตบอลถูกเผยแพร่ในกัมพูชาโดยชาวฝรั่งเศสและกลายเป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้านทั่วไป ฟุตบอลทีมชาติกัมพูชาครองอันดับที่ 4 ในเอเชียนคัพ 1972[62] แต่การพัฒนาได้ชะลอตัวลงตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมือง กีฬาตะวันตก เช่น บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เพาะกาย กีฬาฮอกกี้ รักบี้ยูเนี่ยน กอล์ฟ และเบสบอล กำลังได้รับความนิยม วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศ กีฬาพื้นเมืองรวมถึงการแข่งเรือแบบดั้งเดิม รวมถึง การแข่งควาย Pradal Serey มวยปล้ำแบบดั้งเดิมของเขมร และ Bokator กัมพูชาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในโอลิมปิกฤดูร้อน 1956 ในกีฬาขี่ม้า

ศิลปะการแสดง

การแสดงกัมพูชา ตามเข็มนาฬิกาจากซ้ายไปขวา บนลงล่าง: ภาพสลักนางอัปสรที่นครวัด, การแสดงนาฏศิลป์ระบำเทพอัปสรา, ศิลปะเรียมเกร์ (รามเกียรติ์ฉบับกัมพูชา), ละโคนโขล (โขนเขมร) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร รัชกาลที่ 109 แห่งกัมพูชา

การเต้นรำของกัมพูชาสามารถแบ่งออกเป็นสามประเภทหลัก: นาฏศิลป์ท้องถิ่น นาฏศิลป์พื้นบ้าน และนาฏศิลป์ทั่วไป ต้นกำเนิดที่แท้จริงของนาฏศิลป์กัมพูชาเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นักวิชาการพื้นเมืองส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าการเต้นรำสมัยใหม่ย้อนไปในสมัยของพระนคร[63] โดยเห็นความคล้ายคลึงกันในการแกะสลักของวัดในสมัยนั้น ขณะที่คนอื่น ๆ เชื่อว่ารูปแบบการรำสมัยใหม่ได้เรียนรู้ (หรือเรียนรู้ใหม่) จากนักเต้นในราชสำนักสยามใน ค.ศ. 1800 นาฏศิลป์เขมรเป็นรูปแบบของศิลปะการแสดงที่มีสไตล์ซึ่งจัดตั้งขึ้นในราชสำนักของกัมพูชาซึ่งจัดแสดงเพื่อความบันเทิงและเพื่อวัตถุประสงค์ในพิธีการ การเต้นรำเป็นกิจกรรมโดยชายและหญิงที่แต่งกายอย่างประณีตและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีในโอกาสสาธารณะ หรือเพื่อสร้างเรื่องราวดั้งเดิมและบทกวีมหากาพย์ เช่น ละโคนโขล ที่มักนำบทในวรรณคดีอย่าง เรียมเกร์ เวอร์ชันเขมรของรามเกียรติ์มาละเล่น โดยมักรู้จักกันอย่างเป็นทางการในชื่อ ระบำพระราชทรัพย์ (របាំព្រះរាជទ្រព្ "โรงละครแห่งความมั่งคั่งของราชวงศ์") ถูกกำหนดให้เป็นเพลงของวงดนตรีพร้อมด้วยนักร้องนำ นอกจากนี้นาฏศิลป์ในราชสำนักกัมพูชายังมีการแสดงอย่างระบำเทพอัปสรา ที่นักแสดงมักจะแต่งกายอย่างนางอัปสรในยุคจักรวรรดิเขมรโบราณ

ส่วนการเต้นรำพื้นบ้านกัมพูชามักแสดงกับดนตรีมาโฮริ เป็นการเฉลิมฉลองกลุ่มวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของกัมพูชา การเต้นรำพื้นบ้านมีถิ่นกำเนิดในหมู่บ้านและส่วนใหญ่ทำโดยชาวบ้าน การเต้นรำเข้าสังคมคือการเต้นรำของแขกในงานเลี้ยง งานเลี้ยง หรืองานสังสรรค์ทางสังคมอื่น ๆ ที่ไม่เป็นทางการ การเต้นรำทางสังคมแบบดั้งเดิมของกัมพูชามีความคล้ายคลึงกับการเต้นรำของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเช่น รำวงร่มวงษ์ รวมทั้งศรวรรณและลำลีฟ การเต้นรำยอดนิยมของชาวตะวันตกสมัยใหม่ ได้แก่ Cha-cha, Bolero และ Madison ก็มีอิทธิพลต่อสังคมกัมพูชาเช่นกัน[64]

ดนตรี

 
วัณณ์ดา (VannDa) ศิลปินฮิปฮอปและแร็ปเปอร์กัมพูชา
 
นโรดม เจนณา นักร้องและนักแสดงกัมพูชา

ดนตรีกัมพูชาดั้งเดิมมีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรเขมร[65] ระบำของราชวงศ์ เช่น ระบำอัปสราเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมกัมพูชา เช่นเดียวกับระบำ Mahori รูปแบบดนตรีในชนบท ได้แก่ Chapei และ Ayai เป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นเก่าและส่วนใหญ่มักจะเป็นการแสดงเดี่ยวของนักดนตรีชายด้วยกีตาร์กัมพูชา (chapei) เนื้อเพลงมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับศีลธรรมหรือศาสนา[66]

ดนตรียอดนิยมของกัมพูชาแสดงด้วยเครื่องดนตรีสไตล์ตะวันตกหรือผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีดั้งเดิมและดนตรีตะวันตก เพลงแดนซ์แต่งขึ้นในสไตล์เฉพาะสำหรับการเต้นรำทางสังคม เพลงของนักร้องประสานเสียง สิน ศรีสมุทร, รส เสรีสุทธา และ แปน รอน ในทศวรรษที่ 1960 ถึง 1970 ถือเป็นเพลงป๊อปคลาสสิกของกัมพูชา ในยุคเขมรแดง นักร้องคลาสสิกและเป็นที่นิยมมากมายในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ถูกสังหาร อดอยากจนเสียชีวิต หรือถูกบังคับใช้งานหนักจนตาย และมาสเตอร์เทปดั้งเดิมจำนวนมากจากยุคนั้นสูญหายหรือถูกทำลาย ในช่วงทศวรรษ 1980 แก้ว สุทัต (ผู้ลี้ภัยที่อพยพไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา) และคนอื่น ๆ ได้สืบทอดมรดกของนักร้องคลาสสิก ซึ่งได้ทำเพลงยอดนิยมสมัยใหม่

ส่วนด้านดนตรีสมัยใหม่ผสมผสานกับดนตรีพื้นบ้านเขมรโบราณที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ วัณณ์ดา (VannDa) เป็นศิลปินแร็ปและฮิปฮอปที่ผสมผสานกับดนตรีพื้นบ้านเขมรโบราณ ผลงานเขาซึ่งเป็นที่รู้จักจากเพลง Time To Rise และ Queen Bee ในปี ค.ศ. 2021 , นโรดม เจนณา นักแสดงและนักร้องกัมพูชารุ่นเยาว์, วง KMENG Khmer ที่ออกผลงานเพลงเศรษฐี (សេដ្ឋី) และ โขกเจิง (ខកជើង) ในปี ค.ศ. 2023 และ Pou Khlaing KHMER ในเพลง (NekaNe 2023) នឹកនា 2023 ทั้งนี้ยังมี ตอน จันสีมา (Ton Chanseyma) ศิลปินฮิปฮอปและป็อปกัมพูชาที่มีผลงานเพลง Cambodian Pride

อ้างอิง

  1. "Constitution of the Kingdom of Cambodia". Office of the Council of Ministers. អង្គភាពព័ត៌មាន និងប្រតិកម្មរហ័ស. สืบค้นเมื่อ 26 September 2020.
  2. "Ethnic minorities and indigenous people". Open Development Cambodia. 15 July 2016. สืบค้นเมื่อ 1 June 2020.
  3. "Cambodia Socio-Economic Survey 2019-20" (PDF). Ministry of Planning. National Institute of Statistics. December 2020. สืบค้นเมื่อ 16 May 2021.
  4. 4.0 4.1 "General Population Census of the Kingdom of Cambodia 2019 – Final Results" (PDF). National Institute of Statistics. Ministry of Planning. 26 January 2021. สืบค้นเมื่อ 26 January 2021.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "Cambodia". International Monetary Fund.
  6. "Income Gini coefficient". hdr.undp.org. World Bank. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-10. สืบค้นเมื่อ 29 January 2020.
  7. Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
  8. 8.0 8.1 8.2 Cambodia เก็บถาวร 2010-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. CIA World FactBook.
  9. "Cambodia to celebrate day for indigenous people near Angkor Wat". News.xinhuanet.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 August 2013. สืบค้นเมื่อ 15 March 2013.
  10. Cambodia to outgrow LDC status by 2020 | Business | The Phnom Penh Post – Cambodia's Newspaper of Record เก็บถาวร 2011-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Phnom Penh Post (May 18, 2011). Retrieved on June 20, 2011.
  11. Ek Madra (January 19, 2007). "Oil Revenue Not Likely Until 2013: Ministry". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-18. สืบค้นเมื่อ December 19, 2011.
  12. "Consumerism booms as Cambodia embraces once-forbidden capitalism". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2014-09-28. สืบค้นเมื่อ 2021-10-08.
  13. "2013 Corruption Perceptions Index -- Results". archive.ph. 2013-12-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-03. สืบค้นเมื่อ 2022-04-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  14. "Relazione del primo viaggio intorno al mondo - Wikisource". it.wikisource.org (ภาษาอิตาลี).
  15. "No. 20 Thai-Yunnan Project Newsletter March 1993". www.nectec.or.th.
  16. "Definition of Kampuchea | Dictionary.com". www.dictionary.com (ภาษาอังกฤษ).
  17. Cambodia (ภาษาอังกฤษ). PediaPress.
  18. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (2552). สยามประเทศไทยกับดินแดนกัมพูชาและลาว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ. หน้า 29–44. ISBN 978-616-7202-01-3.
  19. นภดล ชาติประเสริฐ (2540). เจ้านโรดม สีหนุ กับนโยบายความเป็นกลางของกัมพูชา. สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 974-8954935.
  20. Owen, Taylor; Kiernan, Ben (ตุลาคม 2006). "Bombs Over Cambodia" (PDF). The Walrus: 32–36. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 20 เมษายน 2016. The evidence of survivors from many parts of [Cambodia] suggests that at least tens of thousands, probably in the range of 50,000 to 150,000 deaths, resulted from the US bombing campaigns ..." See Kiernan, Ben; Owen, Taylor (26 April 2015). "Making More Enemies than We Kill? Calculating U.S. Bomb Tonnages Dropped on Laos and Cambodia, and Weighing Their Implications". The Asia-Pacific Journal. สืบค้นเมื่อ 19 September 2016.
  21. STATEMENT BY AMBASSADOR THOMAS HAMMARBERG, SPECIAL REPRESENTATIVE OF THE SECRETARY-GENERAL OF THE UNITED NATIONS FOR HUMAN RIGHTS IN CAMBODIA. UN OHCHR Cambodia (9 July 1997)
  22. Carolyn L. Gates; Mya Than (2001). ASEAN Enlargement: impacts and implications. Institute of Southeast Asian Studies. ISBN 978-981-230-081-2.
  23. "Statement by the Secretary-General of ASEAN Welcoming the Kingdom of Cambodia as the Tenth Member State of ASEAN: 30 April 1999, ASEAN Secretariat". ASEAN Secretariat. 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 May 2011. สืบค้นเมื่อ 28 August 2009.
  24. Strangio, Sebastian (2014). Hun Sen's Cambodia. Yale University Press. ISBN 978-0-300-19072-4.
  25. Brinkley, John (2011). Cambodia's Curse: The Modern History of a Troubled Land. Hachette UK. pp. 460–463. สืบค้นเมื่อ 17 November 2019. [Javier Merelo de Barbera] spoke to dozens of [villagers] during the 2008 election campaign, and he said he observed a constant theme: 'People were very afraid of the CCP losing. They were very afraid of change.' After all, for centuries change in Cambodia has generally led to misery or death.
  26. "Cambodia 1993 (rev. 2008)". Constitute. สืบค้นเมื่อ 17 April 2015.
  27. Royal Government of Cambodia."Foreign Embassies". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 February 2007.
  28. Dalpino, Catharin E.; Timberman, David G. (26 March 1998). "Cambodia's Political Future: Issues for U.S. Policy". Asia Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 October 2005.
  29. "Preah Vihear temple: Disputed land Cambodian, court rules". BBC News. 11 November 2013. สืบค้นเมื่อ 11 November 2013.
  30. L.Tanggahma (Recorded). "Judgment: Request for Interpretation of the Judgment of 15 June 1962 in the Case Concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand)" (PDF). The Hague, Netherlands: International Court of Justice. 11 พฤศจิกายน 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2013.
  31. Fuller, Thomas (6 January 2014) Cambodia Steps Up Crackdown on Dissent With Ban on Assembly. New York Times
  32. "Chapter XXVI: Disarmament – No. 9 Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons". United Nations Treaty Collection. 7 July 2017.
  33. Mom Kunthear. "Kampong Cham's great divide". Phnom Penh Post. สืบค้นเมื่อ 28 October 2014.
  34. "Cambodia". U.S. Department of State.
  35. "Tourism statistics report, Year 2018" (PDF). Statistics and Tourism Information Department, Ministry of Tourism.
  36. "Tourism statistics report, March 2010" (PDF). Statistics and Tourism Information Department, Ministry of Tourism. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 มีนาคม 2011.
  37. สามก๊กวิว. การพลัดถิ่นของคนเชื้อสายไทยจากเกาะกงสู่ประเทศไทยในยุคเขมรแดง เก็บถาวร 2016-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 12 มีนาคม 2556
  38. วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล; ภิญโญ วีระสุขสวัสดิ์. "ปัญหาความไร้รัฐของคนเชื้อชาติไทยจากเกาะกง (๒)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013.
  39. "ผู้อพยพเชื้อสายไทย จ.เกาะกง : เรื่องเล่าบนเส้นทาง พ.ร.บ.สัญชาติ" (Press release). อิศรา. 21 มิถุนายน 2012. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013.
  40. "Missions Atlas Project, Southeast Asia, Cambodia" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-05-12. สืบค้นเมื่อ 2014-02-17.
  41. "Birth Rate". CIA – The World Factbook. Cia.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-23. สืบค้นเมื่อ 15 March 2013.
  42. World Gazetteer
  43. Punnee Soonthornpoct (มีนาคม 2006). From Freedom to Hell: A History of Foreign Interventions in Cambodian Politics And Wars. page 29, Vantage Press ISBN 978-0533150830
  44. "U.S. helps English program for poor Cambodian students". News.xinhuanet.com. 30 June 2010. สืบค้นเมื่อ 16 March 2013.
  45. นิติภูมิ นวรัตน์ (17 สิงหาคม 2000). "เขตร์เขมรัฐภูมินทร์". เปิดฟ้าส่องโลก. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2020.
  46. รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ:บ้านพระอาทิตย์, 2551, หน้า 87. ISBN 978-9740578420
  47. "Cambodia". State.gov. สืบค้นเมื่อ 15 March 2013.
  48. Brandon Toropov, Chad Hansen. The Complete Idiot's Guide to Taoism. Alpha Books. p. 121. ISBN 0028642627.
  49. Bureau of Democracy, Human Rights, and Labour of the US Department of State. International Religious Freedom Report 2005.. Retrieved 24 July 2006.
  50. "Cambodia Education System". www.scholaro.com.
  51. "Life expectancy increases to 75 years - Khmer Times" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-01-28.
  52. "World Development Indicators - เครื่องมือสำรวจของ Google ข้อมูลสาธารณะ". www.google.com.
  53. "National Child Mortality and Malnutrition (Food Insecurity Outcome) Maps". United Nations World Food Programme. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มีนาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2021.
  54. "July 25, 2003 ~ Cambodia Land Mines | July 25, 2003 | Religion & Ethics NewsWeekly | PBS". Religion & Ethics NewsWeekly (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2003-07-25.
  55. "Landmine Casualties Increase in 2014 - Khmer Times" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-06-07.
  56. "VietNamNet - A Khmer pagoda stores unique leaf prayer books". web.archive.org. 2008-09-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-10-08.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  57. "Coastal and Marine Ecosystems -- Cambodia" (PDF). EarthTrends. 20 กรกฎาคม 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 20 กรกฎาคม 2004.
  58. Chan, Wing Yan (2015-07-21). "10 Delicious Street Food Dishes You Must Try in Cambodia". Culture Trip.
  59. Smits, Johann. "Khmer brew: exploring the parviflora tea strain". www.phnompenhpost.com (ภาษาอังกฤษ).
  60. AsiaLIFE. "Craft Beer in Cambodia". AsiaLIFE Cambodia (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-11. สืบค้นเมื่อ 2021-10-08.
  61. "Brewing up nicely: Cambodia's rapidly growing taste for craft beer | ASEAN Today". www.aseantoday.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-05-12.
  62. "AFF - The Official Website Of The Asean Football Federation". web.archive.org. 2008-06-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-26. สืบค้นเมื่อ 2021-10-08.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  63. Cravath, Paul (1986). "The Ritual Origins of the Classical Dance Drama of Cambodia". Asian Theatre Journal. 3 (2): 179–203. ISSN 0742-5457.
  64. Sam-Ang Sam; Chan Moly Sam (1987). Khmer Folk Dance (PDF). Newington, CT: Khmer Studies Institute. ISBN 0-941785-02-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 20 กันยายน 2009.
  65. "Cambodian music history". University of Maryland, Baltimore County.
  66. "Cambodia". Nat Geo Music. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 สิงหาคม 2012.

บรรณานุกรม

  • Deth, Sok Udom, and Serkan Bulut, eds. Cambodia's Foreign Relations in Regional and Global Contexts (Konrad-Adenauer-Stiftung, 2017; comprehensive coverage) full book online free.
    • Path Kosal, "Introduction: Cambodia’s Political History and Foreign Relations, 1945–1998" pp 1–26
  • Strangio, Sebastian (20 ตุลาคม 2020). Cambodia: From Pol Pot to Hun Sen and Beyond. Yale University Press. ISBN 978-0300211733.
  • Un, Kheang. Cambodia: Return to Authoritarianism (2019) excerpt
  • Morris, Stephen J. (1999). Why Vietnam Invaded Cambodia. Stanford University Press. ISBN 0-8047-3049-0.
  •   บทความนี้รวมข้อความจากงานที่มีเนื้อหาเสรี (free content) ลิขสิทธิ์ภายใต้ CC-BY-SA IGO 3.0 ข้อความนำมาจาก UNESCO Science Report: Towards 2030, 698-713, UNESCO, UNESCO Publishing.

แหล่งข้อมูลอื่น

รัฐบาล
ประชาสังคม