จังหวัดพระตะบอง
พระตะบอง[2] หรือ บัตดอมบอง[2] (เขมร: បាត់ដំបង แปลว่า "ตะบองหาย") เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศกัมพูชา อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ มีเขตติดต่อกับจังหวัดสระแก้วและจังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย พื้นที่นี้อดีตเคยเป็นจังหวัดพระตะบองในมณฑลบูรพาของสยาม
จังหวัดพระตะบอง ខេត្តបាត់ដំបង | |
---|---|
บนลงล่าง ซ้ายไปขวา: อนุสาวรีย์ตาตัมบอง (พญาโคตรตะบอง), วัดถ้ำสังหาร พนมสำเภา, ปราสาทบานัน วัดบานัน, ทะเลสาบพระตะบอง, วัดสังแก, วัดก็อนดึงในพระตะบอง, วัดกอร์ พระตะบอง | |
สมญา: ชามข้าวแห่งกัมพูชา | |
แผนที่แสดงที่ตั้งของจังหวัดพระตะบอง | |
ประเทศ | กัมพูชา |
ตั้งถิ่นฐาน | ก่อนพระนคร |
ปกครองไทย | คริสต์ศตวรรษที่ 18 |
ปกครองโดยฝรั่งเศส | 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 |
ยึดครองโดยญี่ปุ่น | ค.ศ. 1941-1946 |
กลับคืนแก่กัมพูชา | กัมพูชาได้เอกราช |
เมืองหลัก | พระตะบอง |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ปราชญ์ จัน (พรรคประชาชนกัมพูชา) |
• รองผู้ว่าราชการ | อีล ซาย สัง สกตูม |
• ที่นั่งรัฐสภาในพระราชอาณาจักร | 8 / 125
|
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 11,702 ตร.กม. (4,518 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 5 |
ความสูง | 11.89 เมตร (39.01 ฟุต) |
ประชากร (พ.ศ. 2551)[1] | |
• ทั้งหมด | 1,036,523 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 4 |
• ความหนาแน่น | 89 คน/ตร.กม. (230 คน/ตร.ไมล์) |
เขตเวลา | UTC+07 |
รหัสโทรศัพท์ | +855 (023) |
อำเภอ | 14 |
ตำบล | 102 |
หมู่บ้าน | 799 |
เว็บไซต์ | battambang.gov.kh |
จังหวัดพระตะบองมีเมืองหลักคือ เมืองพระตะบอง
ประวัติ
แก้ประวัติศาสตร์ยุคต้น
แก้ชื่อของพระตะบองในภาษาเขมรคือ บัตฎ็อมบอง แปลว่ากระบองหาย มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จสินธพอมรินทร์เป็นกษัตริย์ โหรได้ทำนายว่าเชื้อสายของราชวงศ์เก่าจะได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์ พระองค์จึงให้ทหารฆ่าเชื้อสายราชวงศ์เก่าให้หมด มีเพียงกุมารองค์เดียวที่ตากุเหเอาไปเลี้ยงไว้ ที่รอดชีวิตได้ ตากุเหพากุมารไปต้อนโคด้วยแล้วทำกระบองหายไปในลำห้วย หาเท่าใดก็ไม่พบ ที่ที่กระบองหายจึงเรียก "บัตฎ็อมบอง" ต่อมา กุมารนั้นได้ครองราชย์ที่พระนครหลวง มีนามว่าพระบาทสมเด็จพระกมรแดงอัญ[3]
พระตะบองเป็นหัวเมืองที่มีความสัมพันธ์กับสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีบทบาทสำคัญเมื่อกษัตริย์กัมพูชายกทัพมาตีสยาม ซึ่งจะเดินทัพทางบกผ่านมาทางพระตะบอง ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อยกทัพไปตีกรุงละแวก ก็ได้ยึดพระตะบองไว้ด้วย ใน พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพไปตีเสียมราฐและพระตะบองและจัดให้อยู่ภายใต้การปกครองของไทยโดยตรง ในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากที่สถาปนานักองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาแล้ว ได้ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน - ต้นสกุลอภัยวงศ์) ปกครองพระตะบองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ[4]และมีเจ้าเมืองในสกุลอภัยวงศ์สืบทอดต่อมาอีก 5 คน จนพระตะบองกลายเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส
ในสมัยนักองค์จันทร์ เวียดนามพยายามขยายอิทธิพลเข้ามาในกัมพูชา ขุนนางกัมพูชาที่นิยมไทยได้ลี้ภัยมายังพระตะบองและพาพระอนุชาของนักองค์จันทร์ คือนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วงมาด้วย หลังจากที่นักองค์ด้วงได้ครองราชย์สมบัติในกัมพูชา พระตะบองยังคงอยู่ใต้อำนาจของไทย หลังจากที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองกัมพูชาและบังคับให้สยามยอมรับว่ากัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็ยังยอมรับอำนาจของสยามเหนือเสียมราฐ พระตะบองและศรีโสภณ[4] (ปัจจุบันคือจังหวัดพระตะบอง จังหวัดเสียมราฐ จังหวัดบันทายมีชัย และจังหวัดอุดรมีชัย) ที่เรียกว่าเขมรส่วนใน จนเมื่อสยามมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนกับฝรั่งเศส จึงยอมยกเขมรส่วนในให้ฝรั่งเศสแลกกับอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จังหวัดตราด และให้ฝรั่งเศสผ่อนคลายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตต่อสยาม ตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449
หลังจากนั้นในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ได้มีพระบรมราชโองการให้แบ่งเขตการปกครองของเมืองพระตะบองออกเป็น 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดเสียมราฐ และจังหวัดศรีโสภณ ต่อมาจึงแบ่งเขตการปกครองใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2468 เป็น 2 เขต คือ จังหวัดพระตะบองและจังหวัดเสียมราฐ โดยจังหวัดพระตะบองมีเมือง (อำเภอ) ในความปกครอง 2 เมือง คือ เมืองพระตะบองกับเมืองศรีโสภณ ถึงปี พ.ศ. 2483 จังหวัดพระตะบองก็มีเมืองในความปกครองเพิ่มขึ้นเป็น 7 เมือง คือ เมืองพระตะบอง เมืองสังแก เมืองระสือ (โมงฤๅษี) เมืองตึกโช เมืองมงคลบุรี เมืองศรีโสภณ และเมือง Bei Thbaung
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
แก้ในปี พ.ศ. 2484 หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีนไทย-ฝรั่งเศส ไทยได้ดินแดนส่วนที่เรียกว่าเขมรส่วนในและลาวฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืน จึงได้ประกาศจัดตั้งจังหวัดขึ้นใหม่ในดินแดนเหล่านี้ 4 จังหวัดคือ จังหวัดพระตะบอง, จังหวัดพิบูลสงคราม, จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง เฉพาะจังหวัดพระตะบองนั้นเมื่อแรกตั้งจังหวัดนั้น ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ ตามประกาศเรื่องตั้งอำเภอ ลงวันที่ 23 กรกฎาคม พุทธศักราช 2484 ดังนี้
- อำเภอเมืองพระตะบอง ตามเขตอำเภอพระตะบองเดิม
- อำเภอพรหมโยธี ตามเขตอำเภอสังแกเดิม ตั้งชื่อตามพันเอก หลวงพรหมโยธี (มังกร พรหมโยธี ยศสุดท้ายเป็นที่พลเอก)
- อำเภออธึกเทวเดช ตามเขตอำเภอระสือเดิม ตั้งชื่อตามพลอากาศโท หลวงอธึกเทวเดช (บุญเจียม โกมลมิศร์) แม่ทัพอากาศสนาม ภายหลังในเดือนเมษายน 2486 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภออธึกเทวเดชเป็นอำเภอรณนภากาศ เนื่องจากแม่ทัพอากาศ/ผู้บัญชาการทหารอากาศ (พลอากาศโท หลวงอธึกเทวเดช) ได้ลาออกจากตำแหน่ง
- อำเภอมงคลบุรี ตามเขตอำเภอมงคลบุรีเดิม
- อำเภอศรีโสภณ ตามเขตอำเภอศรีโสภณเดิม
- อำเภอสินธุสงครามชัย ตามเขตอำเภอตึกโชเดิม (ภายหลังโอนไปขึ้นกับจังหวัดพิบูลสงคราม) ตั้งชื่อตามพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน ยศสุดท้ายเป็นที่พลเรือเอก) ผู้บัญชาการทหารเรือและแม่ทัพเรือในขณะนั้น
- อำเภอไพลิน ตามเขตอำเภอไพลินเดิม
อนึ่ง ชื่ออำเภอที่ไทยตั้งขึ้นใหม่ในทั้ง 4 จังหวัดที่ได้คืนมาจากฝรั่งเศสนั้น ส่วนหนึ่งตั้งชื่อตามบุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงในการรบสงครามอินโดจีนในจังหวัดพระตะบอง มีชื่ออำเภอลักษณะดังกล่าว 3 อำเภอดังกล่าวข้างต้น ต่อมาทางการไทยได้ปรับปรุงเขตการปกครองจังหวัดพระตะบองเสียใหม่ โดยโอนท้องที่อำเภอศรีโสภณและอำเภอสินธุสงครามชัยไปขึ้นจังหวัดพิบูลสงครามแทนในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน จังหวัดพระตะบองจึงมีเขตการปกครองตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 จนถึง พ.ศ. 2489 รวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ คือ อำเภอเมืองพระตะบอง อำเภอพรหมโยธี อำเภออธึกเทวเดช อำเภอมงคลบุรี และอำเภอไพลิน
ในระหว่างที่จังหวัดนี้อยู่ในการปกครองของประเทศไทย ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 นายชวลิต อภัยวงศ์ได้เป็นส.ส. ของจังหวัดพระตะบอง และเมื่อเลือกตั้งเพิ่มเติมเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้นายสวาสดิ์ อภัยวงศ์ และพระพิเศษพาณิชย์เป็น ส.ส.จังหวัดพระตะบองเพิ่มเติม ก่อนจะคืนดินแดนดังกล่าวให้ฝรั่งเศส[5]
สำหรับตราประจำจังหวัดนั้น กรมศิลปากรได้กำหนดให้จังหวัดพระตะบองใช้ตราประจำจังหวัด เป็นรูปพระยาโคตรตระบองยืนทำท่าจะขว้างตะบอง ตามตำนานในท้องถิ่นที่เล่าถึงที่มาของชื่อจังหวัด
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน
แก้ไทยคืนดินแดนที่ได้มาเหล่านี้รวมทั้งพระตะบองให้ฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และพระตะบองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาเมื่อได้รับเอกราช ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2496 ได้มีการจัดตั้งเขตบริหารปอยเปต (Poi Pet administration) โดยอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองศรีโสภณ (เมืองนี้ได้ถูกแบ่งเป็น 2 เมืองในปีนั้น คือ เมืองศรีโสภณและเมืองบันทายฉมาร์) ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองชื่อว่า เมือง O Chrov ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2508 และในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ได้มีการแบ่งเขตการปกครองของเมืองระสือส่วนหนึ่งออกเป็นเขตการปกครองใหม่ คือ เขตบริหาร Kors Kralor หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2509 รัฐบาลกัมพูชาก็ได้ตั้งเมืองถมอปวก (Thmar Pouk) ขึ้นเป็นเมืองในความปกครองของจังหวัดพระตะบอง และได้แบ่งเมืองบันทายฉมาร์ไปขึ้นกับจังหวัดอุดรมีชัยซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในปีนั้น
แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาแล้ว แต่พระตะบองก็ยังมีความห่างเหินจากศูนย์กลางอำนาจที่พนมเปญ ในสมัยระบอบสังคม พระตะบองเป็นที่ตั้งของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ การลุกฮือที่สัมลวต พ.ศ. 2510 เป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล พระนโรดม สีหนุได้สั่งให้ลน นลปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง[4] ในสมัยการปกครองของเขมรแดง ได้มีการอพยพประชาชนออกจากเมืองต่าง ๆ ไปอยู่ในชนบทเพื่อขยายผลผลิตทางการเกษตร จังหวัดพระตะบองกลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้ชื่อว่าทุ่งสังหาร อันเนื่องมาจากการปกครองที่เลวร้ายของเขมรแดง ในยุคนี้ เขมรแดงได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเขตจังหวัดพระตะบองอีก 2 เมือง คือ เมืองบานันและเมืองโกรส ลอร์ (Kors Lor)
จังหวัดพระตะบองได้รับการปลดปล่อยจากระบอบเขมรแดงในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2522 และได้มีการจัดตั้งคณะกรมการเมืองขึ้นปกครองจังหวัดนี้จนกระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2526 โดยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 - 2529 จังหวัดพระตะบองมีเมืองในปกครอง 9 เมือง และ 1 เขตการปกครอง ในปี พ.ศ. 2529 ตั้งมีการจัดตั้งเมืองบานัน เมืองโบเวล และเมืองเอกพมนขึ้น ทำให้จังหวัดพระตะบองมีเมืองในความปกครองรวม 12 เมือง แต่สองปีต่อมา ก็ได้แบ่งเอาเมือง 5 เมืองในความปกครอง ไปจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบันทายมีชัยหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2536 พระตะบองยังเป็นที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายเขมรแดงจนกระทั่ง พล พตเสียชีวิตใน พ.ศ. 2541[4]
ในปี พ.ศ. 2542 หลังจากการสลายตัวของเขมรแดงอย่างแท้จริงแล้ว ก็ได้มีการแบ่งอาณาเขตของจังหวัดพระตะบองไปจัดตั้งเป็นกรุงไพลิน และในปี พ.ศ. 2543 ก็ได้แบ่งเอาเขตเมืองระสือส่วนหนึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นเมืองกะห์กรอลอ[6]
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้จังหวัดพระตะบองแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ (ស្រុក สฺรุก)
รหัสอำเภอ | ชื่ออำเภอ (ภาษาเขมร) |
เขียนด้วยอักษรไทย | เขียนด้วยอักษรโรมัน |
---|---|---|---|
0201 | បាណន់ | บานัน (บาณาน่) | Bananh |
0202 | ថ្មគោល | ทมอโกล (ถฺมโคล) | Tamor Coul |
0203 | បាត់ដំបង | พระตะบอง (บาต̍ฎํบง) | Batdombong |
0204 | បវេល | บอเวล (บเวล) | Bowel |
0205 | ឯកភ្នំ | เอกพนม (เอภฺนุ˚) | Ek Pnum |
0206 | មោងប្ញស្សី | โมงรืซเซ็ย, เมืองระสือ (โมงฤสฺสี) | Moung Ruessie |
0207 | រតនមណ្ឌល | รัตนมณฑล (รตนมณฺฑล) | Rotana Mondol |
0208 | សង្កែ | สังแก (สฺงแก) | Sangcae |
0209 | សំឡូត | ซ็อมลูต (สํฬูต) | Samlut |
0210 | សំពៅលូន | ซ็อมปึวลูน (สํเพาลูน) | Sampoulun |
0211 | ភ្នំព្រឹក | พนมพรึก (ภฺนุ˚พฺรึก) | Pnumpruek |
0212 | កំរៀង | ก็อมเรียง (กํเรียง) | Camriang |
0213 | គាស់ក្រឡ | กะห์กรอลอ (คาส่กฺรฬ) | Cahcrala |
อาณาเขต
แก้- ทิศเหนือ จรดจังหวัดบันทายมีชัยและจังหวัดเสียมราฐ
- ทิศใต้ จรดจังหวัดโพธิสัตว์
- ทิศตะวันตก จรดจังหวัดไพลิน จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด (ประเทศไทย)
- ทิศตะวันออก จรดจังหวัดเสียมราฐและจังหวัดโพธิสัตว์
อ้างอิง
แก้- ↑ "General Population Census of Cambodia 2008 - Provisional population totals" (PDF). National Institute of Statistics, Ministry of Planning. 3 September 2008.
- ↑ 2.0 2.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
- ↑ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา แปลโดย พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์). นนทบุรี. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.2550
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 ธีระ นุชเปี่ยม. พระตะบอง ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 410 - 412
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชาและกรณีศึกษาปราสาทพระวิหาร. กทม. โครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ.2552
- ↑ "Welcome to Battambang District". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-03. สืบค้นเมื่อ 2008-06-23.