ขนมจีน

อาหารไทยชนิดหนึ่ง

ขนมจีน เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งเป็นเส้นกลม ๆ คล้าย เส้นหมี่ กินกับน้ำยา น้ำพริก เป็นต้น อาหารชนิดนี้ ภาษาไทยถิ่นเหนือเรียก "ขนมเส้น" ภาษาอีสานเรียก "ข้าวปุ้น" และภาษาไทยถิ่นใต้เรียก "หนมจีน"

ขนมจีน
ประเภทเส้นหมี่
มื้ออาหารจานหลัก
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ภูมิภาคภาคกลาง
ส่วนผสมหลักข้าว
จานอื่นที่คล้ายกันนมบัญเจาะ, หมี่เซี่ยน

ประวัติ แก้

ขนมจีนไม่ใช่อาหารจีน หากแต่เป็นอาหารมอญ คำว่า ขนมจีน มาจากภาษามอญว่า ขฺนํจินฺ (ခၞံစိန်) [ขะ-นอม-จิน] คำว่า ขะนอม (ခၞံ) มีความหมายอย่างหนึ่งว่าเส้นขนมจีน คำว่า จิน (စိန်) มีความหมายว่าสุก[1][2][3]

คำว่า "ขนมจีน" หรือ "หนมจีน" คำนี้พบได้ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกินเลี้ยง คราวที่เจ้าล้านช้างถวายนางสร้อยทองแก่พระพันวษาความว่า

ถึงวังยับยั้งศาลาชัย วิเสทในยกโภชนามา
เลี้ยงเป็นเหล่าเหล่าลาวคอยชี้ ข้าวเหนียวหักหลังดีไม่เมื่อยขา
แจ่วห้าแจ่วหกยกออกมา ทั้งน้ำยาปลาคลุกหนมจีนพลัน"[4]

เส้นขนมจีน แก้

เส้นขนมจีนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1 ขนมจีนแป้งหมัก เป็นเส้นขนมจีนที่นิยมทำทางภาคอีสาน เส้นมีสีคล้ำออกน้ำตาล เหนียวนุ่มกว่าขนมจีนแป้งสด และเก็บไว้ได้นานกว่า ไม่เสียง่าย การทำขนมจีนแป้งหมักเป็นวิธีการทำเส้นขนมจีนแบบโบราณ ต้องเลือกใช้ข้าวแข็ง คือข้าวที่เรียกว่า ข้าวหนัก เช่น ข้าวเล็บมือนาง ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวพลวง ถ้าข้าวยิ่งแข็งจะยิ่งดี เวลาทำขนมจีนแล้ว ทำให้ได้เส้นขนมจีนที่เหนียวเป็นพิเศษ นอกจากนี้แหล่งน้ำธรรมชาติก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จากคลองชลประทาน หรือน้ำบาดาล ไม่ควรใช้น้ำประปา เพราะเส้นขนมจีนจะเละทำให้จับเส้นไม่ได้ ไม่น่ากิน

2 ขนมจีนแป้งสด ใช้วิธีการผสมแป้ง ขนมจีนแป้งสด เส้นจะมีขนาดใหญ่กว่าขนมจีนแป้งหมัก เส้นมีสีขาว อุ้มน้ำมากกว่า ตัวเส้นนุ่ม แต่จะเหนียวน้อยกว่าแป้งหมัก วิธีทำจะคล้าย ๆ กับขนมจีนแป้งหมัก แต่จะทำง่ายกว่าเพราะไม่ต้องแช่ข้าวหลายวัน และได้เส้นขนมจีนที่มีสีขาว น่ากิน การเลือกซื้อขนมจีนแป้งสด ควรเลือกที่ทำใหม่ ๆ เส้นจับวางเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ เส้นขนมจีนไม่ขาด ดมดูไม่มีกลิ่นเหม็นแป้ง ไม่มีเมือก ขนมจีนแป้งสดจะเก็บได้ไม่นาน ควรนำมานึ่งก่อนกิน

ขนมจีนในแต่ละถิ่นของประเทศไทย แก้

ภาคกลาง แก้

 
ขนมจีนน้ำยา

นิยมกินกับน้ำพริก น้ำยาและแกงเผ็ดชนิดต่าง ๆ น้ำยาของภาคกลาง นิยมกินกับน้ำยากะทิ เน้นกระชายเป็นส่วนผสมหลัก ส่วนน้ำพริกเป็นขนมจีนแบบชาววัง ปนด้วยถั่วเขียว ถั่วลิสง กินกับเครื่องเคียงทั้งผักสด ผักลวก และผักชุบแป้งทอด ขนมจีนซาวน้ำ เป็นขนมจีนที่นิยมในช่วงสงกรานต์ กินกับสับปะรด ขิง พริกขี้หนู กระเทียม มะนาว ราดด้วยหัวกะทิเคี่ยว ทางสมุทรสงครามและเพชรบุรีจะปรุงรสหวานด้วยน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลมะพร้าว

ภาคเหนือ แก้

 
ขนมจีนน้ำเงี้ยว

เรียกว่า ขนมเส้น หรือข้าวเส้น หรือข้าวหนมเส้น นิยมกินร่วมกับน้ำเงี้ยวที่มีเกสรดอกงิ้วป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ กินกับแคบหมูและข้าวกั้นจิ๊น (ข้าวเงี้ยว, จิ๊นส้มเงี้ยว) เป็นเครื่องเคียง[5] ในจังหวัดแพร่มีขนมจีนน้ำต้ม เป็นขนมจีนแบบหนึ่ง ลักษณะคล้ายขนมจีนน้ำเงี้ยวแต่น้ำเป็นน้ำใส ไม่ใส่น้ำแกง น้ำซุปได้จากการต้มและเคี่ยวกระดูกหมู ใส่รากผักชี เกลือและน้ำปลาร้า มีรสเปรี้ยวจากมะเขือเทศ [6]

เดิมทีนั้นขนมจีนน่าจะยังไม่แพร่หลายในภาคเหนือ เนื่องจากว่าน้ำเงี้ยวเดิมนิยมกินกับเส้นก๋วยเตี๋ยว และภาคเหนือมีน้ำขนมจีนเพียงชนิดเดียวคือน้ำเงี้ยว คำว่า เงี้ยว ในภาษาคำเมืองหมายถึง ชาวไทใหญ่ และปัจจุบันมีขนมจีนน้ำย้อย โดยจะกินขนมจีนคลุกกับน้ำพริกน้ำย้อย แล้วใส่น้ำปลาหรือผงปรุงรสตามชอบ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แก้

เรียกว่า ข้าวปุ้น กินกับน้ำยาที่ต้มด้วยเครื่องแกงเผ็ดใส่ปลา ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าและน้ำปลา ไม่มีกะทิ เน้นกระชายเป็นส่วนผสมเพื่อให้กลิ่นหอม กินกับผักสะระแหน่ ยอดแมงลักหรือผักอื่น ๆ

อีสานใต้เรียกว่า นมปันเจ๊าะ หรือ นมรูย หรือ นมเวง คล้ายกับกัมพูชา นิยมกินกับน้ำยากะทิใส่ปลาร้า ใส่กระชายเหมือนน้ำยาภาคกลาง และข้าวปุ้นน้ำแจ่วที่กินขนมจีนกับน้ำต้มกระดูก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ไม่ใส่เนื้อปลา และขนมจีนที่มาทำส้มตำเรียกตำซั่ว นิยมใช้ขนมจีนแป้งหมัก

ภาคใต้ แก้

เรียกว่า โหน้มจีน โดยเป็นอาหารเช้าที่สำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันตก เช่น ระนอง พังงา ภูเก็ต กินกับผักเหนาะชนิดต่าง ๆ ทางภูเก็ตนิยมกินกับห่อหมก ปาท่องโก๋ ชาร้อน กาแฟร้อน ทางชุมพรนิยมกินขนมจีนเป็นอาหารเย็น กินกับทอดมันปลากราย ส่วนที่นครศรีธรรมราชกินเป็นอาหารเช้าคู่กับข้าวยำ น้ำยาทางภาคใต้ใส่ขมิ้นไม่ใส่กระชายเหมือนภาคกลาง ถ้ากินคู่กับแกงจะเป็นแกงไตปลา

ขนมจีนนานาชาติ แก้

  • เวียดนาม มีเส้นคล้ายขนมจีนเรียกบุ๋น นิยมกินกับน้ำซุปหมูและเนื้อ ซึ่งเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของเว้ เรียก บู๊นบ่อเฮว้[7] ทางภาคเหนือมีขนมจีนกินกับหมูย่างเรียกบุ๊นจ๋า
  • ลาว เรียกว่าข้าวปุ้น นิยมกินกับน้ำยาปลาหรือน้ำยาเป็ด ทางหลวงพระบางกินกับน้ำยาผสมเลือดหมูเรียกน้ำแจ๋ว [7]
  • กัมพูชา เรียกว่า นมปันเจ๊าะ นิยมกินกับน้ำยาปลาร้า [7] ชาวกัมพูชากินขนมจีนกับน้ำยาสองแบบคือแบบใส่กะทิและแบบไม่ใส่กะทิซึ่งคล้ายน้ำยาป่า เนื้อปลาที่ใส่นิยมเป็นปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุกและปลาช่อน เครื่องแกงเป็นแบบเกรืองเขียวที่ประกอบไปด้วยกระเทียม หอม ตะไคร้ ผิวมะกรูด กระชาย ขมิ้น ใส่ปลาร้าด้วย โดยนำมาต้มรวมกับเนื้อปลา ถ้าเป็นแบบใส่กะทิ จะนำเกรืองและเนื้อปลามาผัดกับกะทิก่อน แต่ใส่กะทิน้อย น้ำยาจึงใสกว่าน้ำยากะทิแบบไทย แบบใส่กะทินี้นิยมที่เสียมราฐ พระตะบองและกัมปอต นอกจากนั้น น้ำยาแบบเขมรไม่ใส่พริก ถ้าต้องการรสเผ็ด จะโรยพริกป่นลงไปปรุงรสต่างหาก[8]
  • พม่า มีอาหารประจำชาติเรียกโมนฮีนกา ซึ่งมีลักษณะคล้ายขนมจีนน้ำยาปลาของไทย แต่ใส่หยวกกล้วย ไม่มีกะทิและกระชาย[7]

การกิน แก้

ชาวไทยมีรสนิยมในการกินขนมจีน ดังนี้

เมื่อเรียงจับขนมจีนลงในจับแล้ว ผู้กินจะราดน้ำยาลงไปบนเส้นขนมจีนให้ทั่ว น้ำยาขนมจีนนั้น มีลักษณะคล้ายน้ำแกง ไม่เหลวจนเกินไป ใช้ราดไปบนเส้นขนมจีนในจาน แต่ละท้องถิ่นจะมีน้ำยาแตกต่างกันไป เช่น น้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำพริก แกงกะทิต่าง ๆ เช่น แกงเขียวหวาน น้ำเงี้ยว แกงไตปลา ซาวน้ำ สำหรับเด็กก็ยังมี น้ำยาหวานที่ไม่มีรสเผ็ดและมีส่วนผสมของถั่ว เป็นต้นใช้ช้อนตัดเส้นขนมจีนให้มีความยาวพอดีคำ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำยา บางท่านนิยมกินขนมจีนกับน้ำปลา นอกจากน้ำยาแล้ว ยังมีเครื่องเคียงเป็นผักสดและผักดอง ตามรสนิยมในแต่ละท้องถิ่น เครื่องเคียงประเภททอด เช่น ทอดมัน ดอกไม้ทอด หรืออื่น ๆ ตามแต่ความชอบและความนิยมในแต่ละภาค

ผักที่กินคู่กับขนมจีน แก้

ผักที่กินกับขนมจีนแต่ละภาคของประเทศไทยมีความแตกต่างกัน ดังนี้ [5]

เทศกาล แก้

เทศกาลขนมจีนหม้อยักษ์ แก้

มีการจัดเทศกาลขนมจีนหม้อยักษ์ ขึ้นในเดือนมีนาคมของทุกปี ที่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช[9]

อ้างอิง แก้

  1. "ขนม ที่ไม่ใช่ขนม". ราชบัณฑิตยสถาน. 29 June 2012. สืบค้นเมื่อ 22 September 2014.
  2. "Khanom Jeen! - Austin Bush Photography". austinbushphotography.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-22. สืบค้นเมื่อ 2012-05-02.
  3. Hanuman Thaifoodmaster (9 May 2015). "[Thaifoodmaster] Fermented Rice Flour Noodles (เส้นขนมจีน ; sen khanohm jeen)". Thaifoodmaster.
  4. เอกสารในเทศกาลขนมจีนหม้อยักษ์
  5. 5.0 5.1 ขนมจีน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กทม. แสงแดด. 2552
  6. สิริรักษ์ บางสุด และ พลวัฒน์ อารมณ์. โอชะล้านนา. กรุงเทพฯ: แสงแดด. 2558 หน้า 201
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 อาหารเส้นนานาชาติ. กทม. แสงแดด. 2550
  8. นันทนา ปรมานุศิษฏ์. โอชาอาเซียน. กทม. มติชน. 2556 หน้า159 - 161
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-25. สืบค้นเมื่อ 2023-06-25.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้