ทอดมัน เป็นอาหารไทยชนิดหนึ่ง ที่นำกุ้งหรือปลา (ส่วนใหญ่ใช้เนื้อปลากราย ปลาดาบลาว ปลาทู ปลาน้ำดอกไม้ ปลายี่สก ปลาสลาด) มาขูดตำ นวดกับน้ำเกลือจนเหนียว คลุกเคล้าผสมพริกแกง ถั่วฝักยาวหรือถั่วพูซอย ใบมะกรูดหั่นละเอียด บางสูตรผสมไข่ไก่ ปั้นแผ่เป็นแผ่นกลมหนา ทอดน้ำมันจนสุก กินกับน้ำจิ้มอาจาดสามรส โรยถั่วลิสงคั่วบด แนมแตงกวาหั่น ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดเพชรบุรี นิยมกินทอดมันกับขนมจีน โดยเนื้อทอดมันจะแผ่เป็นแผ่นบางใหญ่ และร้านส่วนมากจะผสมใบกะเพราลงไปในเนื้อทอดมันด้วย[1]

ทอดมัน
ชื่ออื่นปลาเห็ด
ประเภททอด
มื้ออาหารจานหลัก
แหล่งกำเนิดไทย
ส่วนผสมหลักปลาหรือกุ้ง พริกแกง ถั่วฝักยาวหรือถั่วพูซอย ใบมะกรูดหั่นละเอียด

ชื่อและประวัติ

แก้

ในบางพื้นที่เรียกทอดมันว่า "ปลาเห็ด" โดยเฉพาะตามชุมชนริมแม่น้ำทุกสายในภาคกลางตอนบน อย่างจังหวัดพิษณุโลกหรือจังหวัดสุโขทัยเป็นต้น คำว่า ปลาเห็ด เพี้ยนมาจากคำเขมรว่า ปฺรหิต (อ่านว่า [ปรอเหิต]) หมายถึง ลูกชิ้นหรืออาหารที่เอาเนื้อสับปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วทำให้สุก บางพื้นที่เรียก "ปลาเห็ด" เมื่อใช้ปลาน้ำจืดหรือปลาเล็กปลาน้อยสับทั้งก้าง เมื่อใช้เนื้อปลากราย ปลายี่สก หรือปลาสลาดขูด จึงเรียกว่า "ทอดมัน" แต่บางพื้นที่ก็เรียกทอดมันทั้งสองแบบว่า "ปลาเห็ด" เหมือนกัน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าคำว่า ปลาเห็ด เป็นคำเกิดใหม่ เพราะปรากฏการใช้คำว่า ทอดมัน มานานตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว[2] เช่นในเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ความว่า[3]

๏ ฝ่ายว่าสายทองกับข้าคน ทำสำรับสับสนทอดมันกุ้ง
พริกส้มข่าตะไคร้ใส่ปรุง แกงอ่อมหอมฟุ้งทั้งต้มยำฯ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ปรากฏสูตรทอดมันปลากรายในหนังสือ ประติทินบัตรแลจดหมายเหตุ เล่ม 1 (พ.ศ. 2432) และ ตำหรับสายเยาวภา ของสายปัญญาสมาคม (พ.ศ. 2478) ซึ่งดูใกล้เคียงทอดมันปัจจุบัน ใน ปะทานุกรม การทำของคาวหวานอย่างฝรั่งแลสยาม (พ.ศ. 2441) ปรากฏชื่อทอดมันปลาและทอดมันหมู[2]

อ้างอิง

แก้
  1. อรุณวตรี รัตนธารี. "ความหลากหลายของ 'ทอดมัน' ตำรับฉันและเธอ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-30. สืบค้นเมื่อ 2022-12-30.
  2. 2.0 2.1 "เปิดข้อสันนิษฐาน คำว่า "ปลาเห็ด" มาจากไหน? ใช่อาหารชนิดเดียวกับ "ทอดมัน" หรือไม่!?". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. "ตอนที่ ๘ พลายแก้วถูกเกณฑ์ทัพ". วัชรญาณ.