มะม่วงหิมพานต์
มะม่วงหิมพานต์ | |
---|---|
มะม่วงหิมพานต์สุกพร้อมเก็บ ใน Guinea-Bissau | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Sapindales |
วงศ์: | Anacardiaceae |
สกุล: | Anacardium |
สปีชีส์: | A. occidentale |
ชื่อทวินาม | |
Anacardium occidentale L. |
มะม่วงหิมพานต์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Anacardium occidentale) เป็นไม้ดอกยืนต้น ในวงศ์ Anacardiaceae กลุ่มเดียวกับมะม่วง (mango) และถั่วพิสตาชีโอ มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ซึ่งเรียกเป็นภาษาโปรตุเกสว่า "กาฌู" (caju - ผล) หรือ "กาฌูเอย์รู" (cajueiro - ต้น) ปัจจุบันเติบโตแพร่หลายทั่วไปในภูมิภาคเขตร้อน เพื่อใช้ประโยชน์จากเมล็ด และผล นำเข้ามาปลูกครั้งแรกที่ภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2444 โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เป็นพืชที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง ประกอบด้วยโปรตีนที่ย่อยง่าย ไขมันที่ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว (เมื่อบริโภคเข้าไปจะไม่เพิ่มไขมันในเส้นเลือด) คาร์โบไฮเดรต วิตามินเอ, บี, อี และเกลือแร่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และด้วยพื้นดินที่ติดทะเลส่งผลให้ผลมะม่วงหิมพานต์มีความหวานกว่าภาคอื่น ๆ จังหวัดภาคใต้ที่ติดทะเล เช่น นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล เป็นต้น
มะม่วงหิมพานต์เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นมีความสูง 10-12 เมตร ต้นเตี้ย สยายกิ่งก้านไม่สม่ำเสมอ ใบจัดเรียงเป็นแบบเกลียว ผิวมันลื่น รูปโค้งจนถึงรูปไข่ ความยาว 4-22 เซนติเมตร และกว้าง 2-15 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ส่วนดอกนั้นเกิดจาก ที่ยาวถึง 26 เซนติเมตร แต่ละดอกตอนแรกมีสีเขียวซีด จากนั้นสีสดเป็นแดงจัด มี 5 กลีบ ปลายแหลม เรียว ยาว 7-15 มิลลิเมตร
ส่วนที่จะปรากฏไปเป็นผลของมะม่วงหิมพานต์นั้น ก็คือ ผลวิสามัญ (accessory fruit) รูปไข่หรือรูปลูกแพร์ ซึ่งจะเติบโตจากฐานดอกขึ้นมา ผลมะม่วงหิมพานต์นี้มีชื่อเรียกในแถบอเมริกากลางว่า "มารัญญอน" (marañón) เมื่อสุกจะมีสีเหลืองหรือส้มแดง มีความยาวประมาณ 5-11 เซนติเมตร
ผลแท้ของมะม่วงหิมพานต์นั้นเป็นผลเมล็ดเดียว รูปไต หรือรูปนวมนักมวย งอกออกจากปลายของผลเทียม ก้านดอกจะขยายตัวออกมาเป็นผลเทียม ภายในผลแท้นั้น เป็นเมล็ดเดี่ยว แม้ว่าโดยทั่วไปจะมองว่าส่วนเนื้อขาวนวลนั้นเป็นผลที่มีเปลือกแข็ง (nut) แต่ในทางพฤกษศาสตร์ถือว่า เป็นเมล็ด (seed) อย่างไรก็ตาม ส่วนของผลแท้นั้น นักพฤกษศาสตร์บางท่านถือว่าเป็นผลที่มีเปลือกแข็งก็มี เมล็ดนั้นห่อหุ้มด้วยเปลือกสองชั้น ประกอบด้วยยางฟีโนลิก (caustic phenolic resin) น้ำมัน urushiol, พิษที่ระคายเคืองต่อผิวหนังอย่างรุนแรง บางคนแพ้มะม่วงหิมพานต์ แต่ปกติถือว่าก่อให้เกิดอาการแพ้น้อยกว่าผลเปลือกแข็งชนิดอื่น ๆ
ชื่อ
แก้ในประเทศไทย มะม่วงหิมพานต์พบได้ทั่วไปในภาคใต้ และมีชื่อเรียกตามสำเนียงภาษาถิ่นใต้แตกต่างกันไป เช่น กาหยู กาหยี (เข้าใจว่าเป็นคำยืมจากภาษามลายู ซึ่งยืมจากภาษาโปรตุเกสอีกทอดหนึ่ง) เม็ดล่อ ยาร่วง หัวครก ยาโห้ย เป็นต้น ซึ่งกระบวนการผลิตในภาคใต้นิยมเอาไปคั่วหรือเผาไฟร้อน ๆ
ประโยชน์
แก้คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์) | |
---|---|
พลังงาน | 2,314 กิโลจูล (553 กิโลแคลอรี) |
30.19 g | |
น้ำตาล | 5.91 g |
ใยอาหาร | 3.3 g |
43.85 g | |
18.22 g | |
วิตามิน | |
ไทอามีน (บี1) | (37%) .42 มก. |
ไรโบเฟลวิน (บี2) | (5%) .06 มก. |
ไนอาซิน (บี3) | (7%) 1.06 มก. |
(17%) .86 มก. | |
วิตามินบี6 | (32%) .42 มก. |
โฟเลต (บี9) | (6%) 25 μg |
วิตามินซี | (1%) .5 มก. |
แร่ธาตุ | |
แคลเซียม | (4%) 37 มก. |
เหล็ก | (51%) 6.68 มก. |
แมกนีเซียม | (82%) 292 มก. |
ฟอสฟอรัส | (85%) 593 มก. |
โพแทสเซียม | (14%) 660 มก. |
สังกะสี | (61%) 5.78 มก. |
ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่ แหล่งที่มา: USDA FoodData Central |
ปัจจุบันมะม่วงหิมพานต์พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเขตร้อน เพราะเติบโตได้อย่างเหมาะสมในสภาพอากาศที่ชื้น และอบอุ่น ทั้งในเอเชีย และอเมริกาใต้ นิยมใช้เนื้อภายในเมล็ดเป็นอาหารว่าง และยังเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกของอินเดีย เวียดนาม และบราซิล ทั้งสามประเทศนี้ มีอัตราการส่งออกถึง 90% ของผลิตภัณฑ์เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ทั่วโลก
ส่วนผลมะม่วงหิมพานต์นั้นเนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ แต่มีรสเปรี้ยว รับประทานได้ทั้งห่ามและสุก ทางภาคใต้ของไทย นิยมนำผลห่ามแกงส้ม แกงเลียง ส่วนผลสุก รับประทานกับเกลือเป็นของกินเล่น บางครั้งออกรสฝาดเล็กน้อย นอกจากนี้ยังสามารถนำไปหมักเป็นไวน์ น้ำส้มสายชู หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ได้ ผลมะม่วงหิมพานต์มีส่วนประกอบของแทนนินมาก และเน่าเสียเร็วมาก ด้วยเหตุนี้ โดยทั่วไปจึงมักจะทิ้งผลเทียม หลังจากเก็บเมล็ดออก
ส่วน urushiol นั้น จะต้องนำออกจากเปลือกเมล็ดสีเขียวเข้มก่อนที่จะรับประทานเนื้อสีขาวนวลข้างใน ยางจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์นี้ในอินเดีย ควาญช้างนำมาใช้เพื่อคุมช้างให้เชื่อง
เมล็ดมะม่วงหิมพานต์นับเป็นส่วนประกอบอาหารหลายชนิดในเอเชีย อาจบดให้ป่น เป็นเนยเมล็ดมะม่วงสำหรับใช้ทาขนมปังแบบเดียวกับเนยถั่วก็ได้ เมล็ดมะม่วงนี้มีน้ำมันพืชสูงมาก มีการนำไปใช้ในเนยถั่วอื่น ๆ บางชนิด เพื่อเพิ่มน้ำมันพิเศษ เมล็ดมะม่วงบรรจุหีบห่อที่พบในสหรัฐอเมริกา ปริมาณ 30 กรัม มีพลังงาน 180 แคลอรี (750 กิโลจูล) โดยมีไขมัน 70% เม็ดมะม่วงหิมพานต์สดได้จากการกะเทาะเปลือกของผลแก่ออก นำมาแช่น้ำปูนใสเพื่อป้องกันไม่ให้ดำ นำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่นใส่ในแกงไตปลา แกงส้ม นำไปอบแล้วผัดกับน้ำตาลปี๊บเคี่ยว กินเป็นของหวาน เช่นหัวครกฉาบ[1]
ของเหลวที่มีอยู่ในเปลือก ที่หุ้มเนื้อข้างใน เรียกว่า Cashew Nut Shell Liquid (CNSL) มีประโยชน์หลายประการในด้านอุตสาหกรรม ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในราวทศวรรษ 1930 ของเหลวชนิด CNSL นี้ถูกนำไปผ่านกระบวนการคล้ายการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โดยได้ผลผลิตเบื้องต้นสองอย่าง นั่นคือ ของแข็งบดละเอียด ใช้หุ้มเบรก และของเหลวสีอำพัน ที่ใช้เพื่อสร้างตัวทำให้แข็งแบบฟีนอลคามีน (phenalkamine) และตัวปรับปรุงคุณภาพเรซิน สารฟีนอลคามีนนั้นเดิมใช้ในการเคลือบอีพอกซีสำหรับตลาดผลิตภัณฑ์ปูพื้นและเกี่ยวกับการเดินเรือ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่มีไฮโดรโฟบิกเข้มข้น และสามารถมีปฏิกิริยาเคมีได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ
อ้างอิง
แก้- ↑ พจน์ สัจจะ. ฟู้ดอับเดต: หัวครกฉาบ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ผัดน้ำผึ้ง. ครัว. ปีที่ 20 ฉบับที่ 229 กรกฎาคม 2556 หน้า 14
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
แก้- Jostock, Carolyn. "Cashew Industry" in Encyclopedia of Latin American History and Culture, vol. 2, p. 5. New York: Charles Scribner's Sons 1996.
- Olaya, Clara Inés. "Cajú/ Marañon/ Merey/Acaiu/Cashew Nut", in Americas 42, no. 3 (1990), 52–53.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มะม่วงหิมพานต์
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Anacardium occidentale ที่วิกิสปีชีส์