ก๋วยเตี๋ยว
ก๋วยเตี๋ยว เป็นหนึ่งในอาหารประเภทเส้นของจีนที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าโดยมากจะลวกให้สุกในน้ำเดือด สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาใส่เครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ นิยมรับประทานทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง นิยมใช้ตะเกียบเป็นเครื่องมือช่วยรับประทาน
บะหมี่เกี๊ยวหมูแดง | |
มื้อ | อาหารเช้า กลางวัน หรือ เย็น |
---|---|
แหล่งกำเนิด | จีน |
ส่วนผสมหลัก | เส้น น้ำกระดูกหมู หรือกระดูกสัตว์อื่น ๆ |
จานอื่นที่คล้ายกัน | hủ tiếu |
คำว่า "ก๋วยเตี๋ยว" (จีนตัวย่อ: 粿条; จีนตัวเต็ม: 粿條) อาจจะมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยนหรือภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยแต้จิ๋วอ่าน "ก๋วยเตี๊ยว" ฮกเกี้ยนอ่าน "ก๊วยเตี๋ยว" ส่วนในจีนกลางจะอ่านว่า "กั่วเถียว" (guǒtiáo) แปลว่า เส้นข้าวสุก เป็นคนละคำกับ 粉条/粉條 (fěntiáo) ที่หมายถึงวุ้นเส้น หรือ 面条/麵條 (miàntiáo) ที่หมายถึงบะหมี่
ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารประเภทเส้นของชาวจีนแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน มีลักษณะคล้ายกับป่านเถียว (粄条/粄條, bǎntiáo) ของชาวจีนฮากกา, เหอเฝิ่น (河粉, héfěn) ของชาวจีนกวางตุ้ง เฝอของชาวเวียดนาม และข้าวซอยก็นับเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือของไทย ส่วนก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ใส่เส้นจะเรียกว่าเกาเหลา[1]
ประวัติ
แก้สันนิษฐานกันว่าก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทยมีมาเมื่อประมาณสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[2] ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากมาย และชาวจีนก็ได้นำเอาก๋วยเตี๋ยวเข้ามากินกันในเรือ โดยต้มในน้ำซุป มีการใส่หมู ใส่ผักและเครื่องปรุงเพื่อความอร่อย แต่สำหรับคนไทยแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในยุคนั้น และได้นำมาประกอบเป็นอาหารอื่น ๆ บริโภคกันจนมีความเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และเริ่มมีการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทย
ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายรัฐนิยมที่สนับสนุนให้ประชาชนบริโภคก๋วยเตี๋ยว ซึ่งจอมพล ป. เห็นว่าหากประชาชนหันมาร่วมกันบริโภคก๋วยเตี๋ยว จะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติในตอนนั้น เพื่อให้เงินหมุนเวียนในประเทศ ดังคำกล่าวของจอมพล ป. ในสมัยนั้นว่า[3]
อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยว มีประโยชน์ต่อ ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละ หนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้น ก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกันไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยขน์เต็มที่ในค่าของเงิน
— จอมพล ป.พิบูลสงคราม
สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างในคนทุกระดับชั้น การรณรงค์ให้บริโภคก๋วยเตี๋ยวถือว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัยนั้น เดิมจะไม่มีการใส่ถั่วงอกลวกในก๋วยเตี๋ยว ซึ่งการใส่ถั่วงอก เกิดจากแนวความคิดและนโยบายของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เพราะถั่วงอกเพาะปลูกได้ง่ายและใช้พื้นที่น้อย
ชนิดของเส้นก๋วยเตี๋ยว
แก้- เส้นหมี่ หรือภาษาท้องถิ่นบางที่เรียก "หมี่ขาว" หรือ "เส้นหมี่ขาว" เพื่อป้องกันการสับสนระหว่างบะหมี่ ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า เป็นเส้นเรียวเล็ก ยาว มักใช้เครื่องจักรผลิต ก่อนนำมาทำอาหาร ต้องนำไปแช่น้ำเสียก่อน
- เส้นเล็ก ลักษณะกว้างกว่าเส้นหมี่ และตัดเป็นท่อน ๆ เพื่อความง่ายในการรับประทาน เมื่อลวกเสร็จแล้วจะเหนียวกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวอื่น ๆ มักจะใช้นำไปทำผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก
- เส้นใหญ่ มีขนาดความกว้างกว่าเส้นเล็ก ประมาณ 3–4 เท่าตัว เมื่อลวกเสร็จแล้วจะนิ่ม รับประทานง่าย มักนำไปทำก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ผัดซีอิ๊ว เย็นตาโฟ และราดหน้า
- วุ้นเส้น คล้ายกับเส้นหมี่แต่จะบางกว่าและสามารถซดกินได้ง่าย ไม่เหนียว
- บะหมี่ คล้ายวุ่นเส้นแต่มีลักษณะหนึบกว่า และมีสีเหลือง
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- กวยจั๊บ เส้นมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยม เมื่อนำไปต้มในน้ำร้อนก็จะม้วนตัวเป็นหลอด
- เกี้ยมอี๋ ลักษณะคล้ายลอดช่อง มีสีขาว มักทำเป็นก๋วยเตี๋ยวเกี้ยมอี๋
อาหารเส้นของชาติต่าง ๆ
แก้อาหารประเภทเส้นนอกจากก๋วยเตี๋ยวในอาหารไทยแล้ว ยังพบในอาหารของชาติอื่นอีก ดังนี้ [4]
- จีน ส่วนใหญ่เป็นบะหมี่น้ำ, บะหมี่แห้ง มีหลายรูปแบบและหลายรสชาติตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ
- ญี่ปุ่น อาหารประเภทเส้นของญี่ปุ่นมีหลายแบบ ได้แก่ โซบะ ลักษณะของเส้นใหญ่กว่าเส้นบะหมี่ธรรมดา ทำจากบักวีตผสมแป้งสาลี, ราเม็ง ทำจากแป้งสาลีผสมไข่ นิยมทำเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ มีหลายแบบตามเครื่องที่ราดบนหน้า, อุด้ง ทำจากแป้งสาลีผสมเกลือและน้ำ ไม่ใส่ไข่
- เกาหลี มีเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น เส้นแนงเมียน ทำจากบักวีตผสมแป้งมันฝรั่ง ดาวเมียน ทำจากแป้งมันเทศ เป็นต้น
- เวียดนาม เรียกเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าว่า เฝอ ส่วนเส้นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าหมักเคลือบด้วยแป้งมันสำปะหลังเรียก จ๋าว คนไทยเรียกจ๋าวว่าก๋วยจั๊บญวน
- ลาว พบทางชายแดนที่ติดกับจีน ซึ่งชาวไทลื้อและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ มีข้าวซอยแบบเดียวกับชาวไทใหญ่และชาวไทลื้อในจีน
- พม่า มีอาหารเส้นที่คล้ายข้าวซอยของทางภาคเหนือของไทย เรียกเข้าโซย ได้รับอิทธิพลจากชาวไทใหญ่
- ชาวมลายูในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีอาหารเส้นเรียกละก์ซา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก lakhsha ในภาษาเปอร์เซีย ละก์ซาในแต่ละถิ่นจะต่างกันไป เช่น ละก์ซาในรัฐกลันตันคล้ายขนมจีนน้ำยาของไทย ส่วนละก์ซาปีนังใช้เส้นหมี่ขาว ละก์ซาเลอมักใช้เส้นที่คล้ายจ๋าวของเวียดนาม เป็นต้น
- ฟิลิปปินส์ เรียกอาหารเส้นว่าปันสิด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคนจีนที่เข้ามาค้าขายในฟิลิปปินส์ คำว่าปันสิด มาจาก pan it sit ในภาษาจีนฮกเกี้ยน
- อิตาลี อาหารเส้นที่มีชื่อเสียงคือพาสตา อาจจะมาจากขนมปังสมัยกรีก-โรมันหรือจาก lakhsha ของชาวอาหรับ พาสตาของอิตาลีมีหลายแบบ แบบหนึ่งที่เป็นที่รู้จักทั่วไปคือ มะกะโรนี
ชนิดของอาหารที่ใช้เส้นก๋วยเตี๋ยว
แก้มีตัวอย่างดังนี้:
- ก๋วยเตี๋ยวหมู ไก่ เป็ด เนื้อ ปลา
- เย็นตาโฟ
- ก๋วยเตี๋ยวเรือ หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำตก
- ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่
- ก๋วยเตี๋ยวแห้ง
- ผัดซีอิ๊ว
- กวยจั๊บ
- ผัดไทย
- ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย หรือ ก๋วยเตี๋ยวชากังราว
- ราดหน้า
- ก๋วยเตี๋ยวต้มยำน้ำข้น หรือ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำน้ำใส
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน (2009). พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (PDF). กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุลตร้าไวโอเร็ต. p. 11. ISBN 978-616-707-304-0.
- ↑ "ตำนานก๋วยเตี๋ยว". วิชาการ.คอม. 4 กันยายน 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2011. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ สายน้ำพระราชทานในรัชกาลที่ 5 เมืองข้าว เมืองนาแห่งราชอาณาจักรสยาม. พินิจนคร. ไทยพีบีเอส. 5 ตุลาคม 2011.
- ↑ ศิริลักษณ์ รอตยันต์, บ.ก. (มิถุนายน 2007). noodle varieties อาหารเส้นนานาชาติ. กรุงเทพฯ: แสงแดด. ISBN 978-974-9665-82-4.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- khongpu (ตุลาคม 2007), "ก๋วยเตี๋ยว...สร้างชาติ", OKnation, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 มิถุนายน 2022, สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2008
- ベトナム二都麺類学 [Vietnam Two Cities Noodle Science] (PDF), Nikkei Asia (ภาษาญี่ปุ่น), vol. 77, pp. 21–27, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 26 มีนาคม 2016, สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2022